แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
รู้จักหมอคนหนึ่ง เธอเล่าให้ฟังว่า เคยเจอคนไข้คนหนึ่ง ผู้ชายอายุสัก 50 เห็นจะได้ ติดเหล้า มาหาหมอคนนี้บ่อยมาก เพราะว่าตับเริ่มจะพัง ทำท่าจะแย่ลงไปเรื่อยๆ หมอก็กำชับแล้วกำชับอีกว่าอย่ากินเหล้า อย่ากินเหล้า ต้องเลิกได้แล้ว แต่คนไข้ก็เลิกไม่ได้สักที มาหาหมอก็เพราะความเจ็บป่วยที่ทรุดลงไปเรื่อยๆ หมอพอเห็นคนไข้คนนี้ก็เริ่มหงุดหงิด เพราะเจอซ้ำซากด้วยปัญหาเดิม ๆ สุดท้ายเลยถามว่าทำไมถึงยังไม่ยอมเลิกเหล้าเสียที แกก็ตอบว่าแกก็พยายามเลิก พยายามเลิก อยากจะเลิกให้ได้ แต่ทำเท่าไหร่มันก็เลิกไม่ได้เสียที แกเลยกลุ้มใจ พอกลุ้มใจก็เลยต้องหันไปหาเหล้าอีก ก็กลายเป็นว่าเลิกไม่ได้เสียที เพราะความอยากจะเลิกเหล้าให้ได้ เลยทำให้ต้องหันไปหาเหล้าทุกครั้งที่เลิกไม่สำเร็จ ฟังดูก็เหมือนเขาหาข้ออ้าง
คนเราบางคนมีข้ออ้าง ข้ออ้างที่จะกินเหล้า หาข้ออ้างมาสารพัด จนแม้กระทั่งว่ากลุ้มใจเพราะเลิกเหล้าไม่ได้ ก็ไปหาเหล้า อันนี้มันอาจจะบ่งบอกถึงกิเลสของคนเราก็ได้ พออยากจะกินเหล้าก็สรรหาสารพัดเหตุผลมาเป็นข้ออ้างในการกินเหล้า ถ้ามองให้ดีมันอาจจะมีอะไรมากกว่านั้นก็ได้ คือจริงๆ เขาอาจอยากเลิกเหล้าจริงๆ คงจะอยากเลิกเหล้ามากทีเดียว พอมีความอยากจะเลิกเหล้า หวังจะเลิกให้ได้ พอเลิกไม่ได้ก็ผิดหวังมาก ยิ่งมีความอยากมากเท่าไหร่พอผิดหวังก็จะผิดหวังรุนแรง ทำให้เกิดความทุกข์ความเครียด สุดท้ายก็ต้องดับความทุกข์ความเครียดด้วยเหล้า
มันบอกอะไรเรา ยิ่งไปยึดติดอะไรก็ตาม บางทีมันกลับส่งผลตรงกันข้าม เป็นเพราะความอยากจะเลิกเหล้าให้ได้ อยากจะเลิกเหล้าจริง ๆ สุดท้ายมันทำให้เขากลับมากินเหล้ามากขึ้น ดูมันขัดแย้งกัน อยากจะเลิกเหล้าให้ได้ อยากจะเลิกเหล้าจริงๆ แต่กลับกินเหล้ามากขึ้น แต่มันก็มักจะเป็นอย่างนั้น เพราะความยึดติด พอยึดติดอะไรก็ตาม มันสามารถจะทำให้เรา swing กลับไปในทางตรงข้ามได้
มีผู้ชายคนหนึ่ง ที่เมืองนอก คนอเมริกันเขาจะใส่ใจกับเรื่องการปลูกหญ้ามาก ปลูกหญ้าที่หน้าบ้าน หลายบ้านในเมืองนอกไม่มีรั้วแต่เขาจะทำสนามหญ้าหน้าบ้านให้สวย แล้วคนนี้แกก็ทุ่มเทกับการรักษาสนามหญ้ามาก ให้มันสวยเขียวขจีไม่ใช่ปล่อยทิ้งเอาไว้ อุตส่าห์ไปหาปุ๋ยนานาชนิดมาบำรุงหญ้าให้มันสวยงาม เป็นความภาคภูมิใจของแก
วันหนึ่งพบว่ามันมีตุ่นมาอาศัยอยู่ใต้สนามหญ้า มันขุดรูอยู่ พอมันขุดมากๆ หญ้ามันก็จะไม่เรียบ มีบางส่วนที่ทรุดเพราะมีรูอยู่ข้างใต้ เนื่องจากความรักความหวงแหนสนามหญ้ามาก แกทนไม่ได้ต้องจัดการกับตุ่น พยายามทำทุกอย่างเอากับดักมาล่อ แต่ก็ไม่ได้ผล ทำอย่างไรก็ไม่ได้ผล เคยฉีดน้ำให้น้ำท่วม ปล่อยน้ำท่วมรู ตุ่นก็อยู่ได้ สุดท้ายแกโกรธมากที่ทำอย่างไรก็ไม่สำเร็จ สนามหญ้ามันไม่สวยตะปุ่มตะป่ำเป็นรอยเป็นแนวไปทั่ว แกโกรธมากและเป็นกังวลมาก สุดท้ายแกใช้วิธีเด็ดขาดจะกำจัดตุ่นให้ได้ แกใช้วิธีพ่นไฟเข้าไปในรูของตุ่น ต้องฉีดน้ำมันเข้าไปแล้วจุดไฟเผา ปรากฏว่าตุ่นก็ตาย แต่สนามหญ้าแกก็พังไปด้วย กลายเป็นว่าเพราะความรักความหวงแหนสนามหญ้ากลับกลายเป็นแกเป็นคนทำลายสนามหญ้าเสียเอง ยิ่งรักยิ่งหวงแหนมากเท่าไหร่ ก็สามารถกลายเป็นคนทำลายสิ่งนั้นได้ ดูเหมือนตรงกันข้าม แต่ว่ามันเป็นอย่างนั้นอยู่บ่อยๆ ยึดติดอะไรก็สามารถจะทำในสิ่งที่ตรงข้ามกับสิ่งที่ยึดติดได้
เมื่อวานนี้เล่าเรื่องพ่อที่รักลูกมาก ยึดติดในความดี อยากให้ลูกเข้าวัด ธรรมะธรรโม อยากให้เป็นคนดีเชื่อฟังพ่อแม่ แต่คราวนี้พอลูกไม่เป็นไปอย่างที่คิด ไม่เป็นคนดีอย่างที่ตัวเองปรารถนา หรือไม่ดีตามแบบของตัว สุดท้ายเป็นยังไง แกก็เอาปืนมายิงลูกตาย จากคนที่รักษาศีลห้า ยุงไม่ตบไม่ตี กลับลงเอยด้วยการไปฆ่าลูกตัวเองแล้วสุดท้ายก็ฆ่าตัวตาย
การยึดติดในความดี แม้จะเป็นความดีมันสามารถส่งผลให้ทำชั่วได้ อันนี้เป็นเรื่องเดียวกันหมดเลย ยึดติดในสนามหญ้าก็อาจลงเอยด้วยการทำลายสนามหญ้าที่ตัวเองรัก อยากจะเลิกเหล้าให้ได้สุดท้ายกลายเป็นกินเหล้าหนักขึ้น อันนี้มันเหมือนกันอย่างหนึ่ง คือ ความยึดติดถือมั่น พอยึดติดมากเท่าไหร่ มันก็สามารถทำในสิ่งตรงข้ามได้ เพราะว่าเมื่อยึดติดแล้วไม่ได้อย่างที่ปรารถนา มันก็จะเกิดความหงุดหงิด ความโมโห ความเสียใจ ตรงนี้แหละที่มีโอกาสที่จะเกิดความลืมตัวได้ พอลืมตัวแล้วตัวกิเลสอื่นๆ มันก็เข้ามาได้
อย่างที่พูดไว้แล้วเมื่อวานว่าความรู้สึกตัวมันทำให้เกิดกุศลธรรมตามมา แต่ในทางตรงข้ามถ้าไม่รู้สึกตัว หรือหลงตัว อกุศลธรรมมันก็เข้ามาได้ พอน้ำลดมดก็กินปลา อกุศลธรรมมันเข้าไปเล่นงานตัวกุศลธรรม ความรู้สึกผิดชอบชั่วดีมันก็หายไป ทำในสิ่งตรงข้าม ยึดติดแม้กระทั่งความดี ความดีมันก็กัดเจ้าของ
อาจารย์พุทธทาสท่านจึงพูดว่า ชั่วหรือดีก็อัปรีย์ทั้งนั้น ท่านพูดเตือนให้คนตระหนักระวังว่าอย่าไปยึดติดแม้กระทั่งความดี เพราะว่ามันสามารถทำให้เราตีกลับกลายเป็นทำชั่วได้ เจอมาเยอะแล้วพวกยึดติดความดีแล้วกลายไปทำชั่ว พวกก่อการร้ายในหลายประเทศทั่วโลกพวกนี้ไม่ใช่พวกเกกมะเหรกเกเร พวกนี้เป็นพวกที่เคร่งครัดในศาสนา ทำตามบทบัญญัติของศาสนาอย่างเคร่งครัด แต่พอเห็นสิ่งรอบตัว เห็นผู้คนทำตัวตรงข้ามกับความดี หรือความเชื่อที่ตัวเองยึดถือว่าเป็นสิ่งดีงาม เช่น พวกกินเหล้าเมายา ลุ่มหลงทางเพศ พวกเกย์ แต่งตัวไม่เรียบร้อย หมกมุ่นในกาม พวกนี้ทนไม่ได้ ก็เลยจัดการฆ่าเสียเลย ก่อการร้ายให้มันฉิบหายจะได้เกิดความดีงาม เกิดศีลธรรมกลับมา ยึดติดในความดีก็สามารถทำให้เราทำชั่วได้
อันนี้โยงถึงพวกเราด้วย เพราะพวกเราเป็นพวกใฝ่ธรรม เวลาใฝ่ธรรมก็ดีแล้ว แต่ต้องระวังตัวอย่าไปยึดติดถือมั่นมาก เพราะมันจะทำให้เรามีความโกรธ มีความเกลียดคนที่ไม่ดีอย่างที่เราคิด ไม่ดีอย่างที่เราเชื่อ เสร็จแล้วเราก็สามารถทำไม่ดีกับเขา ด่าว่าเขา หรือพอเขาไม่ยอมไม่ทำตาม เราก็ต้องพยายามหาทางเอาชนะเขาด้วยวิธีอื่น บางทีก็ใช้วิธีที่ชั่วร้าย กลั่นแกล้งเพื่อให้เขาไปจากเรา กำจัดเขาออกไปเพื่อจะไม่ให้มารกหูรกตา
ในการปฏิบัติธรรมก็เหมือนกัน ลองสังเกตดูว่าเรายึดติดถือมั่นอะไรหรือเปล่า ส่วนใหญ่ก็มักจะยึดติดในความสงบ อยากได้ความสงบเหลือเกิน มาปฏิบัติก็มุ่งมาเอาความสงบ ต้องระวังเวลายึดติดในความสงบแล้ว อยากจะได้เหลือเกิน พอมาปฏิบัติแล้วไม่ได้อย่างที่ต้องการ มันจะเกิดความว้าวุ่นใจขึ้นมา เกิดความหงุดหงิด เกิดความขุ่นเคือง สุดท้ายเกิดความท้อ จากคนที่ตั้งใจปฏิบัติกลายเป็นคนที่เลิกปฏิบัติไปเลย เพราะมันท้อแท้ ท้อแท้เพราะอะไร เพราะไม่ได้อย่างที่ต้องการ
ความอยากพอตั้งความอยากไว้มากๆ ตั้งความหวังไว้สูง มันก็ผิดหวังง่าย พอผิดหวังง่ายก็ทำให้ท้อแท้และเลิกปฏิบัติ จากคนตั้งใจปฏิบัติมาเต็มที่เลยทั้งวันทั้งคืน ปรากฏว่าทำได้ไม่กี่น้ำก็เลิก บางทีอาจทำได้แค่ 3-4 วัน หรือ 2-3 อาทิตย์ก็เลิกเสียแล้ว ยิ่งอยากมากๆ มันก็ยิ่งมีโอกาสเลิกกลางคันหรือยอมแพ้ง่ายๆ ขณะที่คนที่ไม่ได้ทำด้วยความอยาก เขาทำสบายๆ เขาก็ทำได้นาน นักปฏิบัติบางคนอุตส่าห์ตั้งใจจะมาบวชเพื่อบรรลุธรรม มีความมุ่งมั่นมีความอยากมาก พอทำแล้วไม่ได้อย่างที่อยาก ไม่ได้ความสงบ ไม่เกิดปัญญา รูปนามก็ไม่เห็น ทำอย่างไรก็ไม่เห็นๆ ความผิดหวังมันจะเพิ่มขึ้นตามลำดับขั้นของความอยาก หรือความยึดติด สุดท้ายไม่ถึงพรรษาก็สึกแล้ว บางคนตั้งใจบวชตลอดชีวิต ต้องเอานิพพานในชาตินี้ให้ได้ มาด้วยความมุ่งมั่นด้วยไฟที่แรงกล้า กะว่าจะบวชตลอดชีวิต บวชได้แค่พรรษาเดียวก็สึก เพราะว่ามันไม่ได้อย่างที่อยาก มีความรู้สึกผิดหวังมาก ฉะนั้นคนที่มาด้วยความอยากแบบนี้ต้องระวัง เพราะว่าจากความเพียรมันจะกลายเป็นความท้อและเลิกราไปในที่สุด
จะว่าไปแล้วยิ่งติดยึดในความอยากจะสงบ อยากได้ความสงบ มันทำให้การปฏิบัติ กลายเป็นไม่สงบได้ง่าย ยิ่งอยากสงบกลายเป็นไม่สงบ เพราะมันจะพยายามบังคับจิตไม่ให้คิด ไม่ให้ฟุ้งซ่าน พยายามบังคับให้จิตแนบแน่นอยู่กับกาย แนบแน่นอยู่กับลมหายใจ แนบแน่นอยู่กับมือ แนบแน่นอยู่กับเท้า คือพยายามมัดมันเอาไว้ พอทำอย่างนี้จิตมันก็ไม่สงบหรอก เพราะจิตมันจะต่อต้านทันที จิตมันไม่ชอบถูกบังคับ มันชอบอิสระ เราก็ให้อิสระเสรีกับมันมานาน ปล่อยมานาน 30-40 ปี พอจะไปบังคับมัน มันจะยอมที่ไหน มันก็สู้สิ สู้แล้วทำให้เกิดหงุดหงิด เกิดความกระวนกระวายขึ้นมา เป็นเพราะอะไร เป็นเพราะอยากสงบ จิตมันก็เลยว้าวุ่นได้ง่าย แล้วพอว้าวุ่นอย่างนี้ ในที่สุดก็ทำได้ไม่นาน บางทีก็มีอาการปวดเมื่อย หน้ามืด ปวดหัว แน่นหน้าอก ตัวแข็ง อาการทางกายมันฟ้อง มันบอกว่าทำด้วยความอยาก ทำด้วยความยึดติด มันก็เลยเครียดง่าย ยิ่งอยากสงบยิ่งไม่ได้ความสงบ ยิ่งยึดติดในความสงบก็กลับได้ผลตรงข้าม ก็คือความว้าวุ่นในจิตใจ ความเครียด
เพราะฉะนั้นเวลาปฏิบัติก็ให้ลองปล่อยวางความอยาก อย่าไปอยากสงบ จริงๆ แล้วความอยากสงบมันทำให้จิตเราไม่อยู่กับปัจจุบันด้วยซ้ำ แต่ทำให้จิตเราไปอยู่กับอนาคต เพราะความสงบคือสิ่งที่ยังไม่เกิด แล้วพอจิตเราไปจดจ่ออยู่กับสิ่งที่ยังไม่เกิด นั่นแหละคือการที่ใจไม่อยู่กับปัจจุบันแต่ไปอยู่กับอนาคต มันผิดตั้งแต่แรกแล้ว เมื่อมันผิดตั้งแต่แรก มันจะเกิดผลดีได้อย่างไร เหมือนกับเรากลัดกระดุม ถ้าเรากลัดกระดุมผิดตั้งแต่เม็ดแรก เม็ดที่สองเม็ดที่สาม มันก็ผิดตลอด นักปฏิบัติหลายคนผิดตั้งแต่เริ่มต้นแล้ว ผิดตั้งแต่ก่อนที่จะยกมือสร้างจังหวะ ก่อนที่จะเดินจงกรมแล้ว เพราะมาด้วยความอยาก อยากจะสงบ จิตมันไม่อยู่กับปัจจุบันแล้ว มันไปอยู่กับอนาคตแล้ว แล้วมันจะปฏิบัติถูกได้อย่างไร จะไม่มีทางรู้จักคำว่า ความรู้สึกตัว เพราะจิตมันไม่อยู่กับเนื้อกับตัวแล้ว มันไปอยู่กับอนาคต ไปอยู่กับภาพฝัน ความหวัง ซึ่งมันยังไม่เกิดขึ้น
ปฏิบัติธรรมเจริญสติมันต้องอยู่กับของจริง สิ่งที่เป็นจริงในปัจจุบัน ผู้ใดเห็นธรรมที่เกิดขึ้นเฉพาะหน้าในที่นั้นๆ อย่างแจ่มแจ้งไม่ง่อนแง่นคลอนแคลน เขาควรพอกพูนอาการเช่นนั้นไว้ ธรรมเฉพาะหน้า คือ กายกับใจ ธรรมเฉพาะหน้าคือการเคลื่อนไหวของกาย เมื่อเรายกมือ หรือบางทีมันก็เป็นอารมณ์ที่เกิดขึ้นในใจเพราะใจลอย หน้าที่ของเราคือมาเห็นตรงนี้ เห็นสิ่งที่เกิดเฉพาะหน้า เห็นความจริง เห็นของจริง สิ่งที่ยังไม่เกิดขึ้นมันเป็นของจริงไปไม่ได้ สิ่งที่เป็นอดีตมันก็ผ่านไปแล้ว มันไม่ใช่ของจริง มันไม่ใช่ความจริงแล้ว มันอาจจะเคยเป็นความจริงมาก่อน แต่เมื่อมันเป็นอดีต มันก็ไม่ใช่ความจริงอีกต่อไป สิ่งที่ยังไม่เกิดขึ้น คือ อนาคตที่เราสร้างภาพเอาไว้ มันยังไม่เกิดขึ้น มันก็เป็นความจริงไม่ได้
สิ่งที่เป็นความจริง คือ สิ่งที่เกิดขึ้นกับกายและใจในปัจจุบัน การเจริญสติ คือ การมาดู มารับรู้ มาเห็น เพราะฉะนั้นความสงบอะไรต่างๆ เมื่อเราจะปฏิบัติทั้งทีก็วางเสียก่อน จริงอยู่เรามาที่นี่เพื่อหวังความสงบ แต่พอเริ่มลงมือปฏิบัติ ทันทีที่ลงมือปฏิบัติก็วางมันลง และอยู่กับเนื้อกับตัว อยู่กับความจริงอยู่กับของจริงที่กำลังแสดงตัวให้เราเห็นอยู่เฉพาะหน้า เมื่อมือเคลื่อนไหวมันก็ต้องรู้สึก เพราะนั่นคือความจริงที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน
ความจริงที่เกิดขึ้น เมื่อมันเกิดขึ้นหน้าที่ของเราคือแค่เห็นเฉยๆ ไม่ต้องไปยึดมันด้วยซ้ำ ยึดติดในปัจจุบันก็ไม่ถูก บางคนไม่เข้าใจ ว่าให้วางอดีต วางอนาคตแล้วไปยึดติดปัจจุบัน มันไม่ถูก แม้ปัจจุบันก็ไม่ใช่สิ่งที่ต้องยึดติด แค่ดูเฉยๆ พระพุทธเจ้าเคยตรัสกับพระนันทิยะว่า ให้ปล่อยวางข้างหน้า ข้างหลัง และท่ามกลาง หมายความว่า ปล่อยวางอารมณ์ที่เป็นอดีต อนาคต และปัจจุบัน พระพุทธเจ้าไม่ได้สอนว่าให้ยึดติดกับปัจจุบัน แต่ให้ทิ้งอดีต อนาคต ไม่ใช่ แม้ปัจจุบันก็วาง
อารมณ์ที่เป็นปัจจุบันอาจเป็นความหงุดหงิดขุ่นเคืองที่เกิดขึ้น อันนี้มันเป็นของจริงที่เกิดขึ้นในขณะนี้ ก็รู้ ก็ดูมันเฉยๆ ความปวด ความเมื่อย ที่มันเกิดขึ้น ก็เป็นอารมณ์ปัจจุบัน หน้าที่ของเราคือดูมันเฉยๆ รู้มันเฉยๆ ถ้าเราไปยึดมันเมื่อไหร่เราก็จะทุกข์ ไม่ใช่ทุกข์ที่กายเท่านั้น ทุกข์ที่ใจด้วย มันก็น่าแปลกความปวดความเมื่อยเราไม่ชอบ แต่ก็อดยึดมันไม่ได้ ทั้งๆ ที่ไม่ชอบ แต่เพราะไม่ชอบนี่แหละทำให้เกิดความยึดติด อะไรที่เราไม่ชอบเราจะจดจ่ออยู่กับสิ่งนั้น เสียงดังไม่ชอบ แต่ทันทีที่เราผลักไสมัน ใจก็ไปยึดติด จดจ่ออยู่กับเสียงดังนั่นแหละ ยิ่งผลักไสก็ยิ่งยึดติด มันเป็นธรรมชาติที่เราควรสังเกตเอาไว้
กลับมาเรื่องการปฏิบัติ เมื่อใดก็ตามที่เรามีความยึดติดในความสงบให้วางมันลง เวลาปฏิบัติอย่าไปมัวแต่รู้ทันใจที่มันคิดนึกปรุงแต่งไปต่างๆ เท่านั้น เรา สก็ยิ่งยึดติดแหละทำให้เกิดความยึดติดยๆ ้ยึดติดกับปัจจุบัน แต่ให้ทิ้งอดีต ปัจจุบัน อนาคต นะ ไม่ใช่ าติดอะไรก็ ต้องรู้ทันแม้กระทั่งสิ่งที่อยู่เบื้องหลัง คือ ความอยากสงบ ความอยากสงบบางทีมันซ่อนอยู่เบื้องหลังการปฏิบัติของผู้คนเป็นจำนวนมาก เสร็จแล้วก็เลยไม่สงบสักที เพราะว่าจิตมันไม่เป็นปกติ ความอยากนี้เมื่อเกิดขึ้นในใจ มันทำให้เราไปพยายามบังคับจิต ในภาวะเช่นนั้นจิตมันไม่ปกติ เมื่อจิตไม่เป็นปกติ ความรู้สึกตัวก็ดี ความสงบก็เกิดขึ้นได้ยาก
หลวงพ่อเทียนท่านจะบอกผู้ปฏิบัติใหม่ๆ ว่าให้ทำเล่นๆ ทำเล่นๆ ทำเล่นๆ แปลว่า มันจะฟุ้งก็ไม่เป็นไร มันจะหลงไปบ้างก็ไม่เป็นไร ก็แค่ดูมันเฉยๆ แค่รู้ แต่ถ้าทำด้วยความอยาก ทำด้วยความยึดติดในความสงบ พอมันฟุ้งก็จะหงุดหงิดขึ้นมาทันที มันมีความไม่ชอบขึ้นมาทันที เกิดโทสะขึ้นมาทันที และนั่นแหละคือจุดเริ่มต้นของความไม่สงบ แต่ถ้าเราท่องคาถาว่าไม่เป็นไรๆ เช่น เราเล่นฟุตบอล หมากฮอส หมากรุก ทำเล่นๆ แพ้ก็ไม่เป็นไร เราก็ทำใหม่ เล่นใหม่ ถ้าเราเอาท่าทีทำเล่นๆ เช่นนี้มาใช้กับการปฏิบัติ บางทีกลับได้ความสงบเร็ว ได้สติ ได้ความรู้สึกตัวได้เร็วกว่าด้วยซ้ำ ไม่อยากกลับได้ แต่พออยากกลับไม่ได้ เหมือนคนที่อยากให้ถึงเร็วๆ อยากให้ถึงที่หมายเร็วๆ กลับถึงช้า รถที่พยายามไปให้ถึงที่หมายเร็วๆ เหยียบเป็น 100-150-200 บางทีไม่ถึงนะ แหกโค้ง หรือไปชนกับสิบล้อ ยิ่งอยากให้ถึงเร็วๆ กลับถึงช้า คนที่ไม่อยากให้ถึงเร็วๆ คือไปสบายๆ กลับถึงเร็วกว่า สังเกตไหม บางทีมันเป็นความรู้สึกด้วย ยิ่งอยากให้ถึงไวๆ จะรู้สึกว่าไม่ถึงสักทีๆ ความรู้สึกว่ามันช้าเหลือเกิน เพราะอะไร เพราะอยากจะให้ถึงไวๆ แต่พอไม่มีความอยากให้ถึงไวๆ หรือว่าวางความอยาก ไม่ยึดติดว่าจะต้องไปให้ถึงที่หมายเท่านั้นเท่านี้ในเวลากี่ชั่วโมง กลับรู้สึกว่า เออ มันถึงเร็ว บางทีถึงเร็วจริงๆ เพราะพอขับสบายๆ อุบัติเหตุก็ไม่เกิด ยางก็ไม่แตก ถึงที่หมายเร็วกว่า
การปฏิบัติธรรมก็เหมือนกัน ลองสำรวจจิตใจเราว่ายึดติดอะไรหรือเปล่า ความอยากก็เป็นความยึดติดอย่างหนึ่ง ซึ่งมักทำให้เกิดผลตรงข้าม อยากได้ความสงบยึดติดในความสงบ ก็กลับไม่สงบ อยากถึงไวๆ ยึดติดในจุดหมายปลายทาง ในความคาดหวังว่าจะต้องถึงให้ได้ภายในครึ่งชั่วโมง กลับใช้เวลาเป็นชั่วโมง ยึดติดในความดีกลับส่งผลให้ทำชั่วด้วยซ้ำ ลองพิจารณาดู