แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ระหว่างที่อาตมาบรรยาย ใครจะนั่งนิ่ง ๆ หรือว่าจะยกมือสร้างจังหวะก็ได้ ขอเพียงแต่ว่าอย่าปล่อยใจลอย ถ้าหากว่าจะนั่งฟังคำบรรยายก็ให้ฟังอย่างมีสติ ไม่ต้องยกมือก็ได้ ถ้าจะยกมือก็เพื่อให้มีสติอยู่กับการเคลื่อนไหวมือ บางคนอย่างเช่นชาวต่างประเทศอาจจะฟังไม่รู้เรื่อง เขาก็ใช้เวลาช่วงนี้เจริญสติ ด้วยการรู้กายเคลื่อนไหว เสียงที่กระทบหูเขา ก็คงจะไม่มีความหมายอะไร เพราะฟังไม่รู้เรื่อง แต่ถ้าหากว่าเราตั้งใจจะฟังคำบรรยายก็ ให้มีสติอยู่กับการฟัง ถ้าตั้งใจฟังแล้วยกมือไปด้วยก็เป็นการทำสองอย่างในเวลาเดียวกัน อาจจะทำให้การฟังของเราไม่ได้ผลอย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วย เดี๋ยวก็จะฟังคำบรรยาย เดี๋ยวก็จะไปรู้กาย จะเจริญสติก็ให้ทำเป็นอย่าง ๆ โดยเฉพาะสำหรับผู้ฝึกใหม่ ถ้าอยากจะฟังก็ไม่ต้องยกมือ ให้มีสติอยู่กับการฟัง
สมัยที่ปฏิบัติอยู่กับหลวงพ่อเทียน เวลาท่านบรรยายทุกคนก็นั่งฟังนิ่ง ๆ ไม่มีใครยกมือ เพราะว่าทุกคนก็เอาจิตมากำหนดอยู่กับการฟัง กับถ้อยคำที่ได้ยิน หลวงพ่อคำเขียนเวลาบรรยายท่านก็ไม่ได้บอกให้ใครยกมือไปด้วย ท่านก็ให้นั่งฟังเฉย ๆ อันนี้เราก็ต้องเข้าใจให้ถูกว่าถ้าจะยกมือนี้เพื่ออะไร ยกมือเพื่อที่จะให้มีสติอยู่กับการยก ส่วนเสียงที่ได้ยินก็แค่ปล่อยให้มันผ่านหูไป ไม่ต้องไปจดจ่อสนใจกับเสียงหรือถ้อยคำที่ได้ยิน ถ้าเกิดว่าเรากำลังยกมือสร้างจังหวะ ให้รู้กายไป กายในที่นี้ก็คือการเคลื่อนไหว แต่ถ้าอยากจะฟังให้รู้เรื่องก็ไม่ต้องยกมือ มีสติอยู่กับการฟัง มีสติอยู่กับการฟังหมายความว่า เวลาใจมันลอยไปโน่นมานี่ รู้ตัวก็ดึงกลับมา ให้จิตมันอยู่ตรงหอไตรนี้ แล้วก็รับรู้ถึงเสียงที่มันกระทบที่หู รับรู้ถ้อยคำ บางถ้อยคำอาจจะทำให้เราสงสัย แล้วเกิดเราไปติดอยู่กับถ้อยคำหรือประโยคนั้น ผู้พูดนี่พูดไปไกลแล้ว แต่เราก็ยังติดอยู่กับถ้อยคำหรือประโยคที่พูดไปเมื่อครึ่งนาทีที่ผ่านมา อันนี้ก็เรียกว่าไม่มีสติแล้ว เพราะว่าไม่ได้อยู่กับปัจจุบันแล้ว ต้องรู้จักสลัดความสงสัยนั้นไปก่อน แล้วก็ตามคำบรรยายไป คำพูดบางอย่างอาจจะทำให้เราไม่ถูกใจ เกิดความโกรธ หรือว่าเกิดความขุ่นเคือง ก็มีสติรู้ รู้แล้วก็หลุด ผ่าน เพื่อที่จะให้จิตไปรับรู้ติดตามคำบรรยายได้อย่างต่อเนื่อง เรียกว่าคลอกันไปคู่กันไป
ถ้าเกิดว่าผู้บรรยายพูดไปไกลแล้ว คนฟังก็ยังขลุกขลักอยู่กับประโยคหรือถ้อยคำที่พูดเมื่อนาทีที่ผ่านมา อันนี้ก็เรียกว่าไม่มีสติแล้ว ต้องสลัดทิ้งไป การเจริญสติคือการที่ให้ใจมันผ่านตลอด อยู่กับปัจจุบันอย่างต่อเนื่อง คำพูดบางอย่างฟังแล้วดีใจชวนให้เราหวนคิดไปถึงเหตุการณ์ดี ๆ กับความสุขที่เคยสัมผัส อันนั้นก็ไม่มีสติแล้ว มันไปอดีตแล้ว ให้กลับมา ให้เข้าใจ การมีสติอยู่กับการฟังนี้คือการที่เรารับรู้ถ้อยคำ คำพูดที่ได้ยินอย่างต่อเนื่อง แล้วก็ต้องระวังไม่ให้ใจไปติดตามแนบแน่นอยู่กับคำพูดจนกระทั่งลืมตัว อันนี้ก็ไม่ถูกเหมือนกัน เราลืมตัวเพราะฟังคำบรรยายนี้ก็ยังไม่ใช่ ต้องมีความรู้สึกตัวไปด้วยพร้อม ๆ กันก็คือว่าจิตใจรับรู้กับคำพูดอย่างไม่ใช่ไปจดจ่อแนบแน่นจนลืมเนื้อลืมตัว เวลาทำงานก็เหมือนกัน ถ้าใจเรามันจมอยู่กับงานแล้วลืมตัว ลืมเวล่ำเวลาว่ามันกี่โมงแล้ว อันนี้ก็ไม่มีสติแล้ว บางคนทำงานเพลิน มันก็ดีแต่ว่ามันไม่ได้แปลว่ามีสติ เพราะว่าคนทำงานหลายคน อาจจะทำงานหรืออ่านหนังสือหรือว่าเล่นไลน์ เล่นเฟสบุ๊ค มันก็เพลินจนลืมเวล่ำเวลา ลืมเวลาหลับเวลานอน บางคนจดจ่ออยู่กับการอ่านนิยายกำลังภายใน
เคยมีสามเณรเอาหนังสือกำลังภายในไปอ่านเวลากลางคืน อ่านจนไม่ได้หลับไม่ได้นอน จนลืมเวล่ำเวลา เสร็จแล้วก็ไม่ได้ไปทำวัตร บิณฑบาตก็ไม่ได้ไป อันนี้มันไม่ใช่แล้ว การที่มีสมาธิจนลืมตัวก็ไม่ใช้วิธีการเจริญสติ เพราะฉะนั้นเวลาเราฟังคำบรรยายก็อย่าถึงกับส่งจิตออกนอกมาที่ผู้พูดผู้บรรยายจนลืมตัว ให้มันพอดี ๆ ไม่ลืมตัวแต่ก็ฟังรับรู้เข้าใจคำบรรยายอย่างต่อเนื่อง สงสัยตรงไหนก็ไม่สะดุดคือไม่ไปหยุดอยู่ตรงนั้น บางอย่างไม่เข้าใจก็ผ่านไปก่อน ตามคำบรรยายไปอย่างต่อเนื่อง ฟังจบแล้วค่อยไปใคร่ครวญ ว่าตรงไหนติดขัด สงสัยก็ไปพิจารณาเอา อันนี้ก็เมื่อเรามีสติอยู่กับการฟังก็ไม่จำเป็นต้องยกมือ เว้นแต่ว่ามันเริ่มง่วงแล้ว การยกมือก็อาจจะช่วยเพราะบางคนอย่างที่พูดไว้หลายวันก่อน นิ่งเป็นหลับต่อเมื่อขยับจึงตื่น ทีนี้พอนิ่งก็เริ่มง่วงจึงต้องต้องขยับมือยกมือสร้างจังหวะเพื่อไม่ให้ง่วง แต่ที่จริงมันก็ไม่น่าง่วงเพราะนี่ก็เพิ่งหัวค่ำ แต่บางคนพอนิ่ง ๆ แค่ห้านาทีสิบนาทีก็ง่วงโงกแล้ว ความรู้ตัวยังไม่มากเท่าไร ฟังแล้วง่วงก็ยกมือหรือว่าจะพลิกมือไปมาก็ได้
ส่วนคนที่อยากจะยกมือก็ไม่ต้องสนใจคำบรรยาย ให้มันผ่านหูไปเฉย ๆ อย่างนั้นแหละ ไม่ใช่ว่ายกไปด้วยฟังไปด้วยอันนี้มันก็ไม่ถูก ทำสองอย่างพร้อมกันมันก็ไม่ต่างจากกินข้าวไปด้วยคุยไปด้วย หรือกินข้าวไปด้วย ยกมือสร้างจังหวะไปด้วย ก็ไม่มีใครทำอย่างนั้นอยู่แล้ว เวลากินข้าว ใจก็มีสติอยู่กับการกินข้าว เวลาอาบน้ำใจก็มีสติอยู่กับการอาบน้ำ ไม่ใช่ว่าอาบน้ำไปด้วยยกมือไปด้วย แบบนั้นมันไม่เข้าท่า ให้มีสติอยู่กับสิ่งใดสิ่งหนึ่งเป็นอย่าง ๆ ไป ถ้าจะฟังก็ฟังอย่างมีสติ ถ้าไม่ฟังอยากจะสร้างจังหวะก็ให้มีสติอยู่กับการสร้างจังหวะไป อันนี้เราต้องเข้าใจให้ชัด บางคนไปเพ่งโทษคนอื่นว่า ไม่เห็นยกมือเลย ไปเพ่งโทษว่าเขาไม่ปฏิบัติ อันนี้ก็ไม่ถูกแล้ว แสดงว่าไปส่งจิตออกนอกแล้ว ไม่ไปดูใจตัวเอง การปฏิบัตินี้เป็นเรื่องของใครของมัน ไม่ได้อยู่ที่รูปแบบ แต่อยู่ที่ใจมากกว่า ธรรมทั้งหลายมีใจเป็นหัวหน้า มีใจเป็นใหญ่สำเร็จได้ด้วยใจ
บางคนแม้ว่าจะไม่ได้เดินจงกรมสร้างจังหวะ กำลังอยู่ในอิริยาบถนอน แต่ถ้าเกิดว่ามีนิวรณ์เกิดขึ้น มีอกุศลธรรมเกิดขึ้น แล้วรักษาใจไม่ให้อกุศลธรรมมันครอบงำจิตใจ ไม่เข้าไปในอารมณ์นั้น ถอนจิตออกมาหรือขจัดมันออกไปจากจิตใจ อันนี้พระพุทธเจ้าก็ตรัสว่าเป็นผู้ทำความเพียรเหมือนกัน แม้ว่าอยู่ในอิริยาบถนอน จะไปมองว่าคนที่นอนเขาเป็นคนขี้เกียจ อันนี้ก็ยังพูดไม่ได้ เพราะว่าเขาอาจจะยังเจริญสติอยู่ หรือว่าทำความเพียรอย่างที่เราไม่รับรู้ก็ได้ เพราะฉะนั้นเมื่อเราไม่รู้ใจคนอื่น เราก็หันมาดูใจตนเอง แล้วก็อย่าไปตัดสินว่าคนนี้ไม่ปฏิบัติ คนนั้นไม่ปฏิบัติ เพียงเพราะดูที่อาการหรืออากัปกิริยาภายนอก บางทีการพูดเช่นนั้น การตัดสินเช่นนั้น มันก็บ่งบอกว่าตัวเองก็ไม่ได้ปฏิบัติ เพราะว่าส่งจิตออกนอกไปเพ่งโทษคนอื่น ไม่ดูใจตัวเอง ว่ากำลังยกตนข่มท่านหรือเปล่า
ทีนี้ในระหว่างที่เรานั่งอยู่ แม้ว่าจะฟังคำบรรยายแต่ก็ยังมีผัสสะอย่างอื่นมากระทบ ก็ต้องรู้ทันด้วยว่าใจมันกระเพื่อมหรือเปล่า การเจริญสตินี้มันมีอยู่สองส่วนใหญ่ ๆ ส่วนหนึ่งคือว่ารู้กายเคลื่อนไหว กายเคลื่อนไหวนี้บางครั้งก็ต้องเจตนาสร้างอิริยาบถขึ้นมา เช่นเดินจงกรม สร้างจังหวะ อันนี้เป็นเจตนาสร้างขึ้นเพื่อฝึกจิตให้มีสติ ทำให้จิตมีเครื่องอยู่ มีแบบฝึกหัด เพราะว่าถ้าไม่มีเครื่องอยู่ มันก็จะลอยไปโน่นลอยไปนี่ออกจากปัจจุบัน เครื่องอยู่นี้ก็เป็นเครื่องอยู่ที่เป็นกลาง ๆ เช่น ลมหายใจบ้าง มือที่เคลื่อนไหว เท้าก้าวเดินเพื่อให้ใจมันอยู่กับเนื้อกับตัว อีกส่วนหนึ่งก็คือการที่มีสติเมื่อมีผัสสะเกิดขึ้น มันจะมีหลายสิ่งหลายอย่างที่มากระทบตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ โดยที่เราไม่ได้ตั้งใจ ไม่ปรารถนา มันมาเองเราเลือกไม่ได้ แล้วบางอย่างมันก็เป็นสิ่งที่เราไม่ชอบ เช่นเสียงดัง อากาศร้อน หรือว่ายุงกวน พวกนี้เราอย่าไปผลักไสมัน ให้เรามาดูใจว่าใจเราเป็นอย่างไร มันบ่นโวยวายตีโพยตีพายหรือเปล่า มันมีโทสะเกิดความหงุดหงิดขึ้นหรือเปล่า นี่แหละคือโอกาสที่เราจะได้ฝึกสติ เพราะไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้นกับใจก็ตาม ถ้ารู้ทันมันดีทั้งนั้น โกรธที่เกิดขึ้นในใจก็รู้ว่าโกรธอันนี้เป็นสิ่งดี ในทางตรงกันข้าม ถ้าดีใจแต่ไม่รู้ว่าดีใจ หลงเพลินไปกับความดีใจ อันนี้กลับไม่ดี หรือว่าฟุ้งซ่านรู้ว่าฟุ้งซ่าน รู้เฉย ๆ ไม่ใช่รู้แบบรู้ไปบ่นไป ถ้ารู้เฉย ๆ ว่าใจมันฟุ้งซ่าน อันนี้ดี แต่ถ้าสงบแล้วจิตมันดื่มด่ำอยู่กับความสงบจนเพลิน จนลืมตัว อันนี้ไม่ดี อย่าไปคิดว่าสงบแล้วมันจะดีเสมอไป
สำหรับสมถะแล้ว สงบคือดี ฟุ้งซ่านคือไม่ดี แต่สำหรับการเจริญสติที่จะมุ่งไปสู่วิปัสสนานี้ สงบแล้วไม่รู้ตัวนั้นไม่ดี ฟุ้งซ่านหรือว่าหงุดหงิดแล้วรู้ อันนี้ดี แต่ก็ต้องรู้แบบเป็นกลาง ๆ รู้เฉย ๆ เห็นมันเกิดขึ้นก็“อือ” อย่างหลวงพ่อคำเขียนท่านว่ามีอะไรเกิดขึ้น แม้เป็นสิ่งที่ไม่ชอบก็“อือ” ไม่ใช่“โอ๊ย” มียุงมากัดมาตอมก็“โอ๊ย” แดดร้อนก็ “โอ๊ย” เห็นรถติดหรือว่าเจอไฟแดงขณะที่กำลังรีบก็“โอ๊ย” อันนั้นไม่ถูกแล้ว “โอ๊ย”กับ“อือ”มันต่างกัน “อือ”นี้คือว่ามันเห็นแล้วมันเฉย ๆ แต่ถ้า“โอ๊ย”มันแปลว่าไม่ไหวแล้ว หลวงพ่อคำเขียนท่านว่า“โอ๊ย”แปลว่าไม่ไหวแล้ว ถ้า“อือ”แสดงว่าไม่เป็นไร เมื่อเรา“อือ”เมื่อไหร่ นั่นแสดงว่าเราเห็นมัน มันอาจจะ“อือ”เมื่อเกิดรู้สึกถึงยุงกัด ยุงกัดก็“อือ” ไม่ใช่“โอ๊ย” “โอ๊ย”ไม่ใช่ว่าอาจจะไม่ได้ร้องให้คนได้ยิน แต่ว่ามัน“โอ๊ย”ในใจ อันนี้ไม่ใช่แล้ว ถ้า“โอ๊ย”ก็แปลว่ามันไม่ไหวแล้ว แต่ถ้า“อือ”แสดงว่าไม่เป็นไร “อือ”แสดงว่าเห็น ถ้า“โอ๊ย”แสดงว่าเข้าไปเป็นแล้ว เช่นคันเจ็บปวดเมื่อย แล้วมัน“โอ๊ย”ขึ้นมา อันนี้ไม่ถูกแล้ว ก็ต้องไปฝึกใหม่ให้มันแม้จะคัน เพราะถูกยุงกัด แม้จะปวดจะเมื่อยก็“อือ” คือรับรู้เฉย ๆ
อันที่จริงเวลาที่ยุงมากวน เป็นโอกาสดีที่จะฝึกการเจริญสติ เริ่มด้วยการที่ดูใจว่าใจมันเป็นอย่างไรเมื่อเวลาเห็นยุงมันมากวน มีความวิตก มีความกังวลหรือเปล่า มันเกิดความไม่ชอบหรือเปล่า เราก็ได้ดูใจ ยุงไม่ทันกัดเลย ยังไม่ทันถูกเนื้อถูกตัวเลย ใจทุกข์ซะแล้ว คราวนี้พอมันเกาะตามมือตามขา ดูใจเราเป็นอย่างไร ใจมันเกิดความวิตกกังวล มันเกิดความทุกข์หรือเปล่า เกิดความแขยงหรือเปล่า เกิดความรู้สึกอยากจะตบหรือเปล่า อันนี้แหละเป็นแบบฝึกหัดให้เราได้มาดูใจ พอมันกัดหรือพอมันเจาะแขนเราขาเรา ใจมันเป็นอย่างไร “โอ๊ย”หรือว่า“อือ” ถ้าหากว่า“โอ๊ย”นี้ ไม่ใช่แค่เจ็บที่แขนหรือเจ็บที่กาย ใจก็เจ็บด้วย อันนี้เราซ้ำเติมตัวเอง แต่ถ้าเราพอรู้ว่ามันคันมันเจ็บ เราก็“อือ”อันนี้แสดงว่าไม่เป็นไร แสดงว่าเราเห็นมัน แสดงว่ามันเจ็บแต่กาย ใจไม่เจ็บ ใจไม่ปวด แล้วตอนที่มันกัด เรารู้ทันกายหรือเปล่า กายมันเป็นอย่างไร กายมันขยับเขยื้อนแขนจะไปตบหรือเปล่า แล้วที่มันจะตบเพราะอะไร เพราะมันมีความอยาก เห็นความอยากหรือเปล่า แล้วที่มันอยากเพราะอะไร เกิดโทสะ เกิดความโกรธ ที่มันโกรธเพราะมันคัน มันเจ็บ เห็นโทสะที่เกิดขึ้นหรือเปล่า แล้วเห็นความอยากที่เกิดตามมาหรือเปล่า คืออยากตบอยากปัด บางคนไม่เห็น ปัดไปแล้ว ตบไปแล้ว ถึงค่อยรู้ตัว อันนี้ก็สอบตก ก็ไม่เป็นไร ก็เริ่มต้นใหม่
ฉะนั้นมันเป็นโอกาสที่เราจะได้ดูใจ แล้วก็ดูกายไปด้วย ตอนที่ยุงเริ่มบินวน เรามีความผิดปกติที่กายหรือเปล่า มีความเกร็งหรือเปล่า ลมหายใจเป็นอย่างไร ขนาดยุงไม่ใช่งูไม่ใช่อะไร บางคนก็หัวใจเต้นเร็ว ให้ดูกาย รวมทั้งให้ดูด้วยว่า มือมันเขยื้อนขยับเพื่อจะไปตบหรือเปล่า ไม่ได้ห้ามถ้าจะปัดมัน แต่ว่าถ้าจะปัดก็ให้ปัดอย่างมีสติ ไม่ใช่ทำด้วยความไม่รู้ตัวหรือทำด้วยอารมณ์ชั่ววูบ เหมือนกับเวลาปวดเวลาเมื่อย เราจะเปลี่ยนอิริยาบถก็ได้ แต่ว่าให้ทำอย่างมีสติ ไม่ใช่ผลุนผลัน ถ้าจะปัดก็ให้มีสติรู้ตัว รู้ตัวสักครู่ก่อนที่จะเคลื่อนมือไปปัดมัน หรือจะฝึกดูก็ได้ว่าเราจะทำใจให้เป็นปกติได้หรือเปล่าเวลามันกัด ให้เห็นกายเห็นใจ พอมันคันมันปวดก็เป็นโอกาสให้เราได้ฝึกดูเวทนาได้อีกเหมือนกัน ระหว่างที่เกิดความคันขึ้นมามันเป็นยังไง มัน“อือ”หรือมัน“โอ๊ย” หรือมันบ่นโวยวาย แต่ใหม่ ๆ จะไปรู้ทันเวทนาหรือดูเวทนามันยาก ส่วนใหญ่ดูทีไรก็ไปเป็นผู้ปวดผู้คันทุกที แทนที่จะเห็นความปวดความคันก็กลายเป็นผู้ปวดผู้คันไปซะแล้ว
ฉะนั้นใหม่ ๆ ก็มาดูใจก่อน ดูอารมณ์ที่มันเกิดขึ้นว่ามันมีความหงุดหงิดความโกรธความกลัว มีโทสะเกิดขึ้นหรือเปล่า ดูใจก่อน แล้วถ้าเราเห็นเรารู้ทัน ใจมันจะเป็นปกติ ถึงเวลามันคัน มันก็คันแต่กายหรือกายมันทุกข์แต่กายใจไม่ทุกข์ แต่ถึงแม้ไม่มียุงกัดก็ใช้เวทนาคือความปวดความเมื่อยขณะที่เรานั่งอยู่ทีนี้ก็ได้ เป็นครูสอนเรา พวกนี้เป็นครูสอนเราได้ทั้งนั้น ว่าเราจะเห็นความปวดโดยที่ไม่เป็นผู้ปวด เห็นความเมื่อยโดยไม่เป็นผู้เมื่อยได้หรือเปล่าให้ฝึกเอาไว้ เพราะว่าวิชานี้ต่อไปต้องใช้ในยามที่เกิดทุกขเวทนาที่มันรุนแรงกว่านี้ คนเราจะหนีความเจ็บความปวด ก็หนีไปได้ไม่ตลอดหรอก เพราะสักวันก็ต้องเจ็บต้องป่วย ที่จริงมันเป็นส่วนหนึ่งของชีวิต ความเจ็บความปวดความเมื่อยนี้ ถึงแม้มีสุขภาพดีมันก็ต้องมีบางช่วงบางจังหวะที่ต้องปวดต้องเมื่อย บางอย่างมันก็เปลี่ยนอิริยาบถเพื่อบรรเทาเพื่อแก้ บางอย่างมียาเพื่อระงับ เช่นถูกผึ้งต่อย ปวดหัวก็็H็มียา แต่ว่าเมื่อมาถึงจุดหนึ่งเราก็อาจจะต้องเจอกับทุกขเวทนาที่ไม่มียารักษา ยาเอาไม่อยู่ เช่นอาจจะเป็นมะเร็งเมื่อไรก็ไม่รู้ อาจจะเป็นโรคซึ่งมันไม่มียาที่จะระงับปวดได้ ถึงตอนนั้นมันจะไปพึ่งยาไม่ได้ มันต้องพึ่งใจ ใจที่สามารถจะช่วยให้เราอยู่กับทุกขเวทนาหรือความปวดได้ ฝึกวิชานี้ไว้ก่อนขณะที่เรายังไม่เจอศึกหนัก กับแค่ยุงกัดหรือว่าปวดเมื่อยมันเป็นเรื่องจิ๊บจ๊อยมาก ถ้าเราทิ้งโอกาสที่จะฝึกให้มีสติรู้ทันเวทนา อยู่กับเวทนาได้โดยที่ใจไม่ทุกข์ก็ถือว่าพลาดโอกาสทอง แล้วก็ถือว่าประมาทด้วย เพราะว่าสักวันเราต้องเจอของที่มันหนักกว่านี้ รุนแรงกว่านี้ เป็นร้อยเป็นพันเท่า โอกาสจะเจอมีมากทีเดียว ถ้าไม่ฝึกวิชานี้เอาไว้ก็จะมีความทุกข์ทรมานมาก
เพราะฉะนั้นเมื่อมีทุกขเวทนาเกิดขึ้นกับกายของเราไม่ว่าจากยุง ไม่ว่าจากแมลง ไม่ว่าจากท่านั่งที่นาน ๆ หรือว่าจากแดด เราก็ใช้โอกาสนี้เป็นเครื่องฝึกจิตฝึกใจเจริญสติของเราไป อย่าเอาแต่หนี เจอยุงก็ปัดอย่างเดียว หรือว่าหนีอย่างเดียว อันนี้ก็เรียกว่าพลาดโอกาสในการที่จะฝึกจิตฝึกใจของเรา มันไม่ใช่การทรมานตน แต่มันเป็นการฝึกเพื่อเราจะได้มีสติที่ว่องไว เราจะได้เรียนรู้ว่าการที่จะรู้เวทนามันทำอย่างไร เพราะว่าถ้าเราไม่ฝึกจากชีวิตประจำวันแล้วเราจะไปฝึกจากที่ไหน ดังนั้นอาจารย์ของเรามีอยู่รอบตัว เป็นอาจารย์ฝึกสติ เจริญปัญญา ยุงก็เป็นอาจารย์ของเราได้ มดก็เป็นอาจารย์ของเราได้ เสียงดังก็เป็นอาจารย์ของเราได้ แม้แต่คนที่ต่อว่าด่าทอเรา ก็เป็นอาจารย์ของเราได้ เพราะเขามาฝึกให้เรามีสติรู้ทัน ไม่ให้ใจกระเพื่อม ไม่ให้ใจเป็นทุกข์ สมัยที่หลวงพ่อพุธ ฐานิโย ยังเป็นพระหนุ่มเคยไปจำพรรษาอยู่แถวอุบล วันหนึ่งท่านก็เดินบิณฑบาตในเมืองอุบล ก็เห็นโยมผู้หญิงคนหนึ่งยืนรอใส่บาตรอยู่ ท่านก็เดินไปหา ข้าง ๆ ผู้หญิงคนนั้นก็เป็นเด็กชายอายุ 5 ขวบก็คงเป็นลูกชาย พอท่านเดินไปใกล้จะถึง เด็กคนนั้นก็พูดขึ้นมาว่า มึงบ่แม่นพระดอก ท่านไม่เคยได้ยิน แม้แต่ผู้ใหญ่ก็ไม่เคยพูดแบบนี้เลย มึงไม่ใช่พระ ทีแรกท่านก็โกรธ ขุ่นเคืองใจ แต่สักพักก็หนี ท่านก็ได้คิดว่า จริงของมัน ถูกของมัน เราไม่ใช่พระเพราะถ้าเราเป็นพระเราต้องไม่โกรธ พอคิดได้แบบนี้ความโกรธมันก็วูบไปเลย คนเรานี้พอมีสติความโกรธมันก็หลุดไปจากใจ แล้วท่านก็เดินด้วยสีหน้าปกติไปรับบาตร ไม่ได้มีความโกรธขุ่นเคืองเด็กหรือว่าแม่เด็กเลย ตอนหลังท่านก็พูดถึงเด็กคนนี้ว่าเป็นอาจารย์ของท่าน เพราะว่ามาสอนท่านหลายอย่าง สอนให้มีสติรู้ทันอารมณ์ที่เกิดขึ้น
นักปฏิบัตินี้ไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้นกับเรา ดีหรือร้าย โดยเฉพาะร้าย ๆ นี่มันเป็นโอกาสในการฝึกสติของเรา สร้างปัญญา คนบางคนพอเจออะไรที่ไม่ชอบก็หนีท่าเดียว อะไรที่ไม่คุ้นเคยก็หนี จะขลุกตัวอยู่แต่กับสิ่งที่คุ้นเคย อะไรที่แปลกใหม่ก็ไม่ยอม ไม่กล้า อันนี้เรียกได้ว่า ชอบอยู่กับไข่แดง จมอยู่กับไข่แดง ไม่กล้าออกไปนอกไข่แดง ไข่แดงนี้เขาเรียกว่า Comfort Zone คือเขตที่มันสบาย คือประสบการณ์สถานที่ที่เราคุ้นเคย ไม่ค่อยกล้าทำอะไรใหม่ ๆ เวลาไปเมืองนอกก็จะกินแต่อาหารไทย ไม่เคยคิดที่จะกินอาหารพื้นบ้านบ้าง ไปเมืองแขกก็ขนอาหารไทยไปอย่างเดียวเลยเพราะว่าไม่คุ้น ไม่กล้าที่จะทำอะไรใหม่ ๆ เวลากลับบ้านก็ใช้แต่เส้นทางเดิม ไม่เคยเปลี่ยนเส้นทางเลย อันนั้นก็ยังไม่เท่าไร แต่พอเจออะไรที่มันไม่คุ้น เช่นสถานที่มันลำบาก อยากจะมาวัด อยากจะหาความสงบ แต่พอรู้ว่าวัดมันลำบากมีแมลงเยอะก็ไม่เอาแล้ว ฉันขออยู่บ้านดีกว่า เพราะว่ามันคุ้นเคย เพราะว่ามันสบาย อย่างนี้มันเรียกว่าเป็นความประมาท ทหารมีภาษิตว่า ยามสงบเราฝึก ยามศึกเรารบ ภาษิตนี้เราเอามาใช้ได้กับคนเราได้เหมือนกันถึงแม้จะไม่ใช่ทหาร ยามที่จะสบายก็ฝึกเอาไว้ เจออะไรที่ไม่ถูกใจก็เข้าหาเรียนรู้ที่จะอยู่กับมันโดยที่ใจไม่ทุกข์ อะไรที่ไม่ชอบไม่คุ้นเคยก็ลองเข้าไปเจอเข้าไปสัมผัสดู เรียนรู้ที่จะอยู่กับสิ่งที่ไม่คุ้น แดดร้อน อากาศหนาวก็ลองดู ยุงเยอะก็ลองดู เรียนรู้ในการที่จะปรับใจของเราให้อยู่กับสิ่งต่าง ๆ ได้ ทำอย่างไรกายทุกข์ใจไม่ทุกข์ นักปฏิบัติจึงต้องกล้าที่จะเข้าไปเผชิญกับสิ่งที่ไม่คุ้นเคย ไม่ใช่เก็บตัวอยู่แต่กับกุฏิหรือว่าบ้านที่มันคุ้นเคย อันนี้ต่อไปจะมีปัญหามาก พอเจ็บป่วยหรือว่าเกิดความพลัดพรากสูญเสียต้องไปอยู่ในสถานการณ์ที่ไม่คุ้นเคยเลยก็วางใจไม่ถูก ทำตัวไม่เป็น ปรับตัวไม่ได้ ก็ทุกข์ทรมาน
เพราะฉะนั้นโดยเฉพาะนักปฏิบัติด้วยแล้ว ก็ต้องให้ความสำคัญกับการฝึกตน เป็นประเพณีที่สมัยก่อนพระออกธุดงค์เพื่อจะได้ไปเจอกับสิ่งที่ไม่คุ้นเคย ไปเจอความยากลำบาก ออกจากไข่แดงไปเจอกับสิ่งที่ไม่ถูกใจ แล้วก็เรียนรู้ที่จะอยู่กับมันไม่ว่าสิ่งนั้นจะเป็นความอด ความอยาก ความยากลำบาก อันตรายที่ชวนให้น่าสะพรึงกลัว ในที่สุดก็จะรู้ว่าสิ่งสำคัญอยู่ที่ใจ ที่นี่มันก็ไม่ได้ยากลำบากอะไร แต่ว่ามันก็มีการบ้านให้เราฝึกได้หลายอย่าง เพราะฉะนั้นเวลาเราโดนยุงกัด เวลามียุงมากวนมากมาย ก็อย่าไปมัวแต่ส่งจิตออกนอกไปที่ยุง หรือว่าปล่อยจนให้ความโกรธ ความกลัว ความทุกข์มาเล่นงานจิตใจ ดูใจของเราด้วยอย่าไปดูแต่ยุง อย่าไปเพ่งสิ่งนอกตัวอย่างเดียว กลับมาดูใจเรา จะทำให้สติของเราเจริญงอกงามมากขึ้น