แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ชีวิตความเป็นอยู่ของผู้คนสมัยนี้เต็มไปด้วยความสะดวกสบาย แต่ถ้าดูให้ดีๆ มันสบายกายแต่ว่าใจเครียด ความเครียดเป็นปัญหาของคนในยุคนี้มาก ทั้งๆ ที่เต็มไปด้วยสิ่งอำนวยความสะดวก มีเครื่องทุนแรง มีเครื่องช่วยผ่อนเวลา และแถมยังมีสิ่งบันเทิงเริงรมย์มากมาย ความบันเทิงเริงรมย์ได้ซึมซาบแผ่ไปทุกอณูในรูปของสัญญาณโทรศัพท์ สัญญาณอินเทอร์เน็ต อยากจะฟังเพลงที่ไหน ดูหนังเรื่องอะไร ตอนไหน เวลาไหน ก็ได้ทั้งนั้น และก็มีให้เลือกมากมาย หนังก็ไม่รู้กี่ช่องดูทางยูทูปก็ดูได้เป็นแสนเป็นล้านเรื่อง แต่คนเรากลับมีความเครียดที่สูง ส่งผลต่อสุขภาพร่างกาย เจ็บป่วยเพราะความเครียดก็มากขึ้นเรื่อยๆ
มีคนทำวิจัยพบว่าโรคภัยไข้เจ็บที่พาคนไปหาหมอ ไม่นับประเภทที่อยู่บ้าน ประเภทที่ทำให้คนต้องไปหมอหรือไปโรงพยาบาล 50-75% เกี่ยวข้องกับความเครียด รวมไปถึงโรคหัวใจ โรคซึมเศร้า ไม่ใช่เฉพาะโรคทางใจอย่างเดียว โรคทางกายก็เยอะ ในประเทศอังกฤษพบว่า 1 ใน 3 ของความเจ็บป่วยที่ทำให้คนไปโรงพยาบาลไม่ได้เกิดจากความผิดปกติทางกาย คือหาสาเหตุยังไงก็หาไม่เจอ บางทีคนป่วยก็มีอาการลมชัก อัมพาต ตาบอด หรือว่ามีอาการใจสั่น หน้ามืด ความดันขึ้น หรือมีอาการปวด ปวดหัว ปวดท้อง ยืดเยื้อเรื้อรัง แต่หาสาเหตุทางกายไม่พบ ซึ่งไม่น่าเชื่อว่าตาบอดหรืออัมพาตเป็นเพราะมันผิดปกติจากที่ไหน และเขาก็เชื่อว่าเป็นเพราะเรื่องของใจ ซึ่งสาเหตุสำคัญก็คือความเครียด ถึงกับฟันธงว่าความเครียดนี้เป็นภัยที่ร้ายแรงกว่าการกินเหล้าสูบบุหรี่ด้วยซ้ำ ดูจากความตายโดยความตายที่เกิดจากความเครียดมันสูงกว่าตายเพราะเหล้าและบุหรี่ เป็นเรื่องน่ากลัวเพราะบางคนถึงแม้ว่าไม่ได้กินเหล้าสูบบุหรี่ ก็ไม่ได้แปลว่าชีวิตจะปลอดภัย ถ้าปล่อยให้ความเครียดมาสะสมมากๆ
คนเราเมื่อเครียดมันก็จะซ้ำเติมตัวเองและก็ซ้ำเติมตัวเองอีกวิธีหนึ่งคือ การเข้าไปหาเหล้า หาบุหรี่ หายาเสพติด พวกนี้ก็เกิดจากความเครียดทั้งนั้น เพราะคนธรรมดาก็คงไม่อยากเข้าไปหาเหล้า บุหรี่ ยาเสพติด ถ้าหากไม่มีความเครียดเป็นตัวกระตุ้นผลักดัน มันก็เท่ากับว่าซ้ำเติมตัวเองหนักเข้าไปใหญ่ ระยะหลังจะเห็นว่า ไม่ใช่ว่าความเครียดจะเลวไปหมด มีความเครียดที่ดีเหมือนกันถ้าเป็นความเครียดพอประมาณ ซึ่งพบว่าคอเลสเตอรอลก็มีที่ดีและที่เลว คอเลสเตอรอลที่เลวก็จะทำให้เป็นโรคหัวใจได้ง่าย ความเครียดที่ดีก็มีถ้าเครียดพอประมาณ ความเครียดที่พอประมาณก็จะทำให้การเรียนรู้ของคนเราดีขึ้น อันนี้ก็เห็นได้ไม่ยากเวลาไปเรียนหนังสือ ถ้าไม่มีการบ้านเรียนแบบสบายๆ ครูก็ไม่ซักถามอะไร บรรยายอย่างเดียวไม่ให้การบ้านหรือให้การบ้านง่ายๆ การเรียนรู้ก็จะเป็นไปได้อย่างเชื่องช้า แต่ถ้ามีการบ้าน มีรายงานยากๆ บางทีครูก็ซักถามทำให้เกิดการแสดงความคิดเห็น อันนี้จะทำให้เกิดความเครียดต่อผู้เรียน แต่ว่ามันเป็นความเครียดที่ดีที่กระตุ้นให้เกิดการเรียนรู้ จะพบว่าเวลาทำงานถ้ามีความเครียดอยู่บ้างหรือพอประมาณ มีการแข่งขันหรือมีเส้นตาย เราก็จะทำงานได้ดี
เห็นได้ง่ายจากถ้าให้งานไปไม่มีเส้นตาย ไม่มีการซักถาม ไม่มีการทวงถาม หรือไม่มีการแข่งขัน ส่วนใหญ่งานออกมาไม่เป็นเรื่องเป็นราวซักเท่าไรเผลอๆไม่เสร็จด้วย การแข่งขันหรือว่าเส้นตายมันทำให้คนเกิดความเครียด แต่ว่ามันเป็นความเครียดในระดับพอประมาณ ทำให้ผลงานออกมาดีกว่าไม่มีความเครียดเสียเลย หรือว่าดีกว่าความเครียดหนักๆเยอะๆ ล่าสุดก็พบว่าสิ่งสำคัญไม่ได้อยู่ที่ว่ามีเครียดระดับไหน แต่สิ่งสำคัญอยู่ที่ว่าเรามองความเครียดอย่างไร ซึ่งอันนี้เป็นข้อสรุปที่เพิ่งเกิดขึ้นมาเมื่อเร็วๆ นี้ว่า สิ่งสำคัญไม่ได้อยู่ที่ว่าเราเครียดระดับไหน จะเครียดสูงก็ได้แต่ถ้าหากว่าเรามีทัศนคติที่ดีต่อความเครียดหรือว่ามองมันในมุมบวก ความเครียดนั้นก็จะเป็นประโยชน์ก็ได้ สิ่งที่น่าสนใจก็คือว่าทัศนคติของเราต่อความเครียดมันส่งผลต่อปฏิกิริยาของเราในร่างกาย หมายความว่าถ้าเรามองความเครียดที่กำลังเกิดขึ้นเป็นของดีมีประโยชน์ ร่างกายเราก็จะมีปฏิกิริยาแตกต่างกับที่เรามองว่าความเครียดนี้มันแย่เหลือเกิน มันน่ากลัวมาก หรือมันกดดันเหลือเกิน อันนี้ร่างกายเราก็จะมีปฏิกิริยาอีกแบบหนึ่ง
รู้กันมานานแล้วว่าเมื่อเราเครียดร่างกายเราจะมีปฏิกิริยาไม่สู้ก็หนี อันนี้เห็นชัด ทีแรกก็หนีก่อนแต่ถ้าหนีไม่ได้ก็จะสู้ยิบตาเหมือนหมาจนตรอก แต่ว่าทั้งสองปฏิกิริยานี้ก็จะเกิดอาการในร่างกายแบบเดียวกันคือ หัวใจเต้นเร็ว หายใจเร็ว เส้นเลือดหดแคบลงเพื่อจะได้สูบฉีดเลือดออกไปเลี้ยงกล้ามเนื้อให้พร้อมจะทำงาน ทำงานนี้ก็คือว่าถ้าไม่หนีก็สู้ มันจะมีฮอร์โมนต่างๆ ไหลออกมา เช่น อะดรีนาลีนทำให้สมองหรือสายตาของเราดีขึ้น เพื่อจะได้เห็นอะไรได้ชัดเจนขึ้นในภาพรวมแต่ไม่ใช่ในรายละเอียด เดี๋ยวนี้เขารู้กันแล้วว่าคนเราเมื่อเครียดหัวใจจะเต้นเร็วและสายตาก็จะดีมาก ซึ่งก็มีเหตุผลเพราะถ้าจะหนีหรือสู้มันก็จะต้องมีสายตาที่ละเอียด เช่นพวกนักมวยบางคนนี้ตาไวมาก อย่างมูฮัมหมัด อาลี ตาเขาไวมาก ใครจะชกใส่หน้าเขาก็แค่ถอยหลังหรือเอาหัวหลบไปทางข้างหลัง ไม่ใช่หลบไปทางซ้ายขวาแค่เอนหัวไปทางข้างหลังก็หลบได้แล้ว อันนี้ก็อธิบายได้ถึงการทำงานของร่างกาย แต่ที่เขาพบก็คือว่าถ้าเรามีความรู้สึกดีกับความเครียด คิดว่าความเครียดนี้มีประโยชน์ หรือว่าความเครียดนี้คือการท้าทายความสามารถ ไม่ใช่ภัยคุกคาม มันเป็นสิ่งที่ท้าทายความสามารถของเรา มันเป็นสิ่งที่เป็นอุปสรรคที่จะช่วยให้เราเข้มแข็งขึ้น ก็พบว่าร่างกายของคนเราจะมีปฏิกิริยาอีกแบบหนึ่ง หัวใจก็ยังเต้นเร็วอยู่ แต่ว่าจะมีฮอร์โมนบางอย่างที่หลั่งไหลออกมา ช่วยในการเรียนรู้ได้ดีขึ้น ช่วยในการฟื้นตัวของร่างกายได้ดีขึ้น ภูมิคุ้มกันในร่างกายก็จะทำงานแตกต่างกับตอนที่เรามองว่าความเครียดเป็นภัยคุกคาม หรือว่าเห็นสิ่งที่เกิดขึ้นนั้นเป็นสิ่งที่แย่มาก
แต่ละคนก็มีความเครียดในสถานการณ์แตกต่างกัน บางคนถ้าอยู่บนที่สูงก็จะกลัว แต่ว่าถ้าจะให้อยู่ในสถานที่ที่เต็มไปด้วยงูไม่มีความเครียดใดๆ เกิดขึ้นเลย บางคนแค่อยู่ในห้องสอบก็เครียดแล้ว แต่เวลาพูดในที่ชุมชนกลับเฉยมาก อันนี้คนเรามันจะมีความเครียดต่อเหตุการณ์ต่างๆ ไม่เหมือนกัน แต่ถ้ามองว่าสิ่งที่เกิดขึ้นกับเรานี้เป็นสิ่งที่ท้าทายความสามารถ เช่น ไปล่องแก่งซึ่งท้าทายความสามารถเรา ร่างกายจะมีปฏิกิริยาแบบหนึ่ง จะมีฮอร์โมนออกมาอีกแบบหนึ่ง แต่ถ้ามองว่าไปล่องแก่งนี้มันอันตรายถึงตายได้ ปฏิกิริยาในร่างกายก็ออกมาอีกแบบหนึ่ง ฮอร์โมนหรือภูมิคุ้มกันในร่างกายก็ออกมาอีกแบบหนึ่ง อันนี้เป็นเรื่องแปลกมาก มันชี้ให้เห็นว่าทัศนคติหรือมุมมองของคนเรามันส่งผลถึงการทำงานของร่างกาย เราพบว่ามุมมองต่อความเครียดของเรา มันไม่ได้มีผลต่อร่างกายในลักษณะที่มีปฏิกิริยาแตกต่างกันเท่านั้น แต่ว่ามันมีผลต่อการทำงาน หรือว่าความสามารถที่ออกมา อย่างเช่นการทดลองให้พนักงานธนาคาร ๔๐๐ คน แบ่งออกเป็น ๓ กลุ่ม โดยกลุ่มแรกได้ดูวิดีโอที่ย้ำถึงอันตรายของความเครียด ความเครียดมีโทษอย่างไร อีกกลุ่มดูวิดีโอที่บอกว่าความเครียดมีประโยชน์อย่างไร มันเพิ่มพูนความสามารถอย่างไร อีกกลุ่มหนึ่งไม่ได้ดูอะไรเลย และหนึ่งอาทิตย์ต่อมากลุ่มที่สองที่ดูวิดีโอที่บอกถึงประโยชน์ของความเครียดว่ามีอะไรบ้าง มีการจดจ่อในการทำงานมากขึ้น มีส่วนร่วมในการทำงานมากขึ้น และผลการทำงานก็ดีกว่าอีกสองกลุ่มที่เหลือซึ่งไม่มีการเปลี่ยนแปลงใดๆ เกิดขึ้นเลย
อีกกรณีหนึ่ง มีการทำวิจัยกับนักศึกษาที่กำลังเตรียมสอบเข้าเรียนหลักสูตรปริญญาโทในอเมริกา โดยกลุ่มแรกก็มีการบรรยายก่อนจะไปสอบ ระหว่างที่เตรียมสอบก็มีการบรรยายว่าความเครียดช่วยส่งเสริมการเรียนรู้อย่างไรบ้าง อีกกลุ่มหนึ่งไม่มีการบรรยายใดๆ ทั้งสิ้น หลังจากนั้นก็ให้ทดลองสอบดูเอาข้อสอบที่เคยมีเอามาสอบ ปรากฏว่ากลุ่มแรกที่ได้รับคำแนะนำว่าความเครียดนั้นดี ปรากฏว่าทำคะแนนได้ดีกว่ากลุ่มที่สอง เขารู้เพราะเอาน้ำลายของทั้งสองกลุ่มมาตรวจสอบและพบว่ามีฮอร์โมนเครียดพอกัน ไม่ใช่ว่ากลุ่มแรกเครียดน้อยกว่า แต่ว่าผลการสอบดีกว่า และเมื่อเวลาสอบจริงในอีกสองสามเดือนต่อมา กลุ่มแรกก็สอบได้คะแนนดีกว่า ซึ่งก็ไปสอดรับกับการวิจัยที่พูดเมื่อครู่ที่ทำกับพนักงานธนาคาร อีกกรณีมีนักวิจัยอีกลุ่มหนึ่งเขาไปศึกษาผลการสำรวจทั้งประเทศเมื่อประมาณปี 2541 ประมาณ 17 ปีที่แล้ว เขาสอบถามคน 30,000 คน เกี่ยวกับความเครียดในปีที่ผ่านมาว่าเครียดมากเครียดน้อย และก็ถามอีกว่ารู้สึกกับความเครียดยังไง บางคนก็บอกว่าความเครียดมันแย่เหลือเกิน มันไม่ดี แต่บางคนก็บอกว่าความเครียดนี้ดี คงเป็นการแสดงความเห็นทางปรนัยว่ารู้สึกต่อความเครียดอย่างไร เสร็จแล้วก็มีการสืบต่อไปว่าคนเหล่านี้มีใครที่ตายไปแล้วบ้าง หลังจากผ่านไป 10 กว่าปี ก็พบว่าคนที่เครียดมากๆ และมีความรู้สึกไม่ดีต่อความเครียด เชื่อว่าความเครียดมันบั่นทอนร่างกายนั้นตายก่อนวัยอันควร เร็วกว่าค่าเฉลี่ยกว่าถึง 40 เปอร์เซ็นต์ แต่สำหรับคนที่เครียดมากและรู้สึกว่าความเครียดนั้นมีประโยชน์ ปรากฏว่าการตายก่อนวัยอันควรน้อยกว่าคนที่บอกว่าเครียดน้อยแต่ว่ารู้สึกไม่ดีต่อความเครียด นี้แสดงให้เห็นว่าจะเครียดมากเครียดน้อยไม่สำคัญ สิ่งสำคัญอยู่ตรงที่ว่ารู้สึกอย่างไรกับความเครียด ถ้ารู้สึกดีรู้สึกมีประโยชน์ ความเครียดก็จะส่งผลดีได้ส่งผลให้เกิดการเรียนรู้และทำงานได้ดีขึ้น มีผลเสียน้อยลง แต่ถ้าคิดว่าแย่ไม่ดีเลยตรงนี้มันทำให้ร่างกายนี้แย่จริงๆ และการทำงานก็แย่ด้วย เรื่องกายกับใจมันสัมพันธ์กันมากซึ่งเราก็รู้มานานแล้วว่าอารมณ์มีผลต่อกาย เช่น ความวิตกกังวล ความโกรธ ความกลัว ความเศร้า พวกนี้ทำให้ร่างกายแย่ลง ความโกรธทำให้ความดันขึ้น ความวิตกกังวลทำให้มีโรคต่างๆ มากมายที่อธิบายไม่ได้ ทำให้ใจสั่น หรือว่าทำให้ท้องไส้ปั่นป่วน บางคนอาหารไม่ย่อยเลยเพราะมีความโกรธ บางคนก็มีปัญหาตรงโน้นตรงนี้เพราะความวิตกกังวล ถึงตายก็มี อันนี้เรารู้มานานแล้วฝรั่งก็ยอมรับ นักวิทยาศาสตร์ก็ยอมรับมากขึ้น ว่าอารมณ์มันสัมพันธ์กับสุขภาพร่างกาย
แต่ที่มันแปลกจากที่เล่าคือว่า ไม่ใช่แค่อารมณ์เท่านั้น ทัศนคติหรือมุมมองของเราก็มีผลต่อสุขภาพร่างกายด้วย รวมทั้งมุมมองต่อความเครียด เครียดมากแต่ถ้ามองว่าความเครียดไม่ได้เลวร้ายอะไร มันกลับส่งผลดีหรือว่าผลร้ายมันลดน้อยถอยลงกว่าคนที่มองความเครียดมันแย่เหลือเกิน ที่น่าสนใจคือว่าทัศนคติของคนเราก็ส่งผลต่อร่างกายในกรณีอื่นด้วย เมื่อสามเดือนก่อนได้อ่านงานวิจัยของคณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัย Yale ซึ่งมีชื่อเสียงมาก ก็ทำวิจัยกันอย่างยืดเยื้อยาวนานกว่า 20 ปี สอบถามคนอายุ 40 ปีว่ารู้สึกอย่างไรกับความแก่ และเขาก็ตามสืบเนื่องไปจนกระทั่งคนเหล่านี้มีอายุ 65-70 ปี ก็คือ 25-30 ปีต่อมา ก็พบว่าคนที่รู้สึกลบต่อความแก่ เช่นคนแก่ขี้หลงขี้ลืม คนแก่ไม่เป็นประโยชน์อะไร ชอบเหม่อลอย เรียนรู้ช้า พบว่าคนเหล่านี้มีโอกาสเป็นอัลไซเมอร์สูงกว่าคนที่รู้สึกบวกกับความแก่ เขาดูจากสมองส่วนฮิปโปแคมปัสซึ่งเป็นสมองเกี่ยวกับความจำมันฝ่อมากกว่า มีลิ่มเลือดมากกว่า ซึ่งเป็นตัวบ่งชี้โอกาสของการเป็นอัลไซเมอร์ เป็นเรื่องน่าคิดว่าถ้ารู้สึกลบต่อความแก่ พอแก่ตัวลงก็แย่ลง ถ้ารู้สึกบวกกับความแก่ พอแก่ตัวลงแล้วมันไม่ได้แย่อย่างนั้น หัวใจก็เหมือนกัน คนที่รู้สึกลบต่อความแก่ 30-40 ปีให้หลังจะมีโอกาสเป็นโรคหัวใจสูงกว่าคนที่รู้สึกเฉยๆ หรือว่าเป็นบวกกับความแก่
อันนี้ก็เป็นการวิจัยที่เขาทำกันมายาวนาน ตามกันไป 30-40 ปีก็พบว่าทัศนคติมันมีความสำคัญไม่น้อยต่อสุขภาพร่างกาย ต่อสมอง ต่อหัวใจ ไม่ใช่แค่การกินการบริโภคเท่านั้น เราก็รู้มานานแล้วว่า กินเหล้าสูบบุหรี่มีผลต่อหัวใจมีผลต่อวัยวะต่างๆ ในร่างกาย แต่ถึงแม้ว่าไม่กินไม่แตะเลย บางทีไขมันก็กินน้อย ดูแลอาหารดี ควบคุมอาหารดี เนื้อนมไข่กินน้อย กินมังสวิรัติ เหล้าบุหรี่ไม่แตะ แต่ถ้ามีทัศนคติลบต่อความแก่ก็มีโอกาสเป็นโรคหัวใจสูงเหมือนกัน ชี้ให้เห็นว่าคนเรามุมมองสำคัญมาก สิ่งที่เรามองว่ามันไม่ดีเช่นความเครียด ถ้ามองว่าความเครียดมันดีมีประโยชน์มันก็มีผลต่อสุขภาพร่างกายและการใช้ชีวิตการทำงานของเรา ที่จริงอย่าว่าแต่ความเครียดเลย แม้แต่โรคร้ายเช่นมะเร็ง คนที่มองว่ามะเร็งนี้มันดี ขอบคุณมะเร็ง โชคดีที่เป็นมะเร็ง คนเหล่านี้จะอยู่กับมะเร็งได้อย่างมีความสุขและอายุยืนยาวกว่าคนที่รู้สึกว่ามะเร็งมันแย่ทำไมถึงต้องเป็นฉัน อันนี้มันชี้ให้เห็นว่าอะไรเกิดขึ้นกับเราไม่สำคัญว่าเรารู้สึกกับมันอย่างไร พระพุทธเจ้าตรัสสอนมานานแล้วว่าสิ่งที่เกิดขึ้นกับเราไม่สำคัญว่าเรารู้สึกกับมันอย่างไร สุขหรือทุกข์ที่แท้จริงมันอยู่ที่ใจ ไม่ได้อยู่ที่ว่าเราอยู่ในที่ไหน มีเหตุการณ์อะไรเกิดขึ้นกับเรา แม้มีความพลัดพรากสูญเสีย แม้มีความเจ็บป่วย แต่ว่าถ้ารักษาใจให้ปกติหรือว่าเปิดใจให้เห็นสัจธรรม มันก็สามารถทำให้เรามีความเครียดมีความทุกข์น้อยลง เผลอๆ สามารถที่จะเห็นธรรมจนพ้นจากความทุกข์ได้
ดังนั้นเขาดูจากเรื่องของจิตใจ คนที่พลัดพรากสูญเสียคนที่เจ็บป่วย วางใจถูก ใจก็สบายใจปกติ ตอนนี้เขาพบว่ามันมีผลต่อร่างกายด้วยถ้าเราวางใจให้ดี อะไรเกิดขึ้นไม่ว่าจะเป็นความเจ็บความป่วย ไม่ว่าจะเป็นความเครียดนี้มีประโยชน์ ร่างกายก็จะตอบสนองอีกอย่างหนึ่ง เคยมีหัวหน้าพยาบาลเป็นมะเร็ง และมะเร็งที่เธอเป็นต้องใช้เคมีบำบัดที่สูง มีการฉายแสงในปริมาณที่สูง คนส่วนใหญ่เมื่อเจอการฉายแสงและเคมีบำบัดในปริมาณหรือโดสที่สูงๆ ก็จะแพ้มาก แพ้หนัก แพ้จนเกือบอยู่ไม่ไหว บางคนก็ต้องหยุดไปเลยแบบว่าฉันตายดีกว่า แต่หัวหน้าพยาบาลคนนี้พอได้รับการฉายแสงทำคีโมในโดสสูงๆ ตามมาตรฐานปรากฏว่าไม่ค่อยแพ้เท่าไร คนก็แปลกใจไปถามว่าเธอมีอะไรดีไปทำอะไรมา เธอก็บอกว่าไม่มีอะไรดี ไม่มีของดีอะไรเลย เพียงแต่ว่าเวลาฉายแสงก็คิดว่ากำลังได้รับแสงสวรรค์ เวลาได้รับเคมีบำบัดก็คิดว่ากำลังได้รับน้ำทิพย์ มองว่าเป็นของดีมองว่าเป็นบวก ฉันกำลังได้รับแสงสวรรค์ ฉันกำลังได้รับน้ำทิพย์ มันก็ทำให้ใจยอมรับรังสีสารเคมีเหล่านั้น พอจิตใจยอมรับร่างกายก็พลอยยอมรับไปด้วย ร่างกายก็ไม่ต่อต้านหรือต่อต้านน้อยอาการแพ้ก็น้อยลง
อันนี้ก็เป็นเรื่องของมุมมองบวก ทำให้สิ่งที่มากระทบกับร่างกายมันมีพิษสงน้อยลงมีความเลวร้ายน้อยลง รวมถึงอารมณ์ด้วย ไม่ใช่เฉพาะความเครียด มีความโกรธเกิดขึ้น มีความกลัวเกิดขึ้น ถ้าเราเกี่ยวข้องกับมันถูก อารมณ์เหล่านี้มันก็มีประโยชน์ มีความโกรธเกิดขึ้นเห็นว่าเป็นธรรมดา เห็นว่ามันมาสอนเรา มาเป็นแบบฝึกหัดให้เราฝึกสติ ความกลัวเกิดขึ้นก็เหมือนกัน มันสอนเราว่าจะมีสติรู้ทันมันได้อย่างไร หรือมันมาสอนให้เราเห็นไตรลักษณ์ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ถ้ามีท่าทีแบบนี้ความโกรธความกลัวก็จะมีประโยชน์ หรือแม้แต่ว่าไม่ผลักไสแค่ยอมรับมันเฉยๆ ไม่ตีโพยตีพาย แค่ยอมรับเมื่อความโกรธเกิดขึ้นในใจ ไม่บ่นว่าฉันอุตสาห์ปฏิบัติธรรมทำไมมีความโกรธ ฉันอุตสาห์หนีมาวัดทำไมมีความโกรธเกิดขึ้น ถ้าคิดแบบนี้เสร็จ ยิ่งทุกข์มากขึ้น แต่ถ้ามองว่ามันเป็นธรรมดา หรืออย่างที่พูดเมื่อวานความปวดความเจ็บ ความเมื่อย ความคัน ยุงมา แทนที่จะเห็นว่ายุงนี้เป็นตัวร้าย ทำไมต้องมากวนฉันอย่างเดียว ถ้าคิดแบบนี้แย่เลย แต่ถ้าคิดอีกแบบหนึ่งว่าอาจารย์ยุงเขามาสอนเราเรื่องการเจริญสติ เราจะทุกข์น้อยลง ความเจ็บความปวดมันจะเบาบางลง
อันนี้ก็พบมานานแล้วว่า คนเราเมื่อกลัวเวลาโดนฉีดยามันจะปวดกว่าคนที่ไม่กลัว คนที่กลัวเข็มฉีดยาเวลาโดนเข็มทิ่มจะปวดกว่าคนที่ไม่กลัวสามเท่า ถ้าไม่กลัวความปวดมันจะลดลง ดังนั้นเรื่องใจนี้จึงสำคัญมาก ท่าทีของเราต่อสิ่งที่เกิดขึ้นไม่ว่าภายนอกหรือภายใน หรืออย่างน้อยๆถึงแม้จะไม่รู้สึกบวกกับมัน ไม่ว่าจะความฟุ้งซ่าน ความกลัวความโกรธ แต่ว่าใจเราควรเป็นกลางกับมัน ไม่รู้สึกลบกับมัน โกรธก็ดูกันไปอย่างพูดเมื่อวาน “อือ” หลวงพ่อท่านบอกว่ามีอะไรเกิดขึ้นก็“อือ” ไม่ใช่“โอ๊ย” “โอ๊ย”นี่แสดงว่าเรารู้สึกลบกับมันแล้ว เราไม่ไหวแล้ว แต่ถ้ามีอะไรเกิดขึ้นก็“อือ” ฟุ้งซ่านก็“อือ” มีความหงุดหงิดเกิดขึ้นก็“อือ” มีความเครียดก็“อือ” คือรับรู้เฉยๆ รู้ซื่อๆ ไม่ต้องบวกก็ได้แค่ยอมรับมันด้วยใจที่เป็นกลาง อันนี้มันก็เป็นประโยชน์ เพราะฉะนั้นเวลาเจออะไรขึ้นมาให้ตระหนักว่าสิ่งสำคัญก็คือว่าใจของเรารู้สึกกับมันอย่างไร ท่าทีของเรารู้สึกกับมันอย่างไร ไม่ว่าจะเป็นสิ่งที่มีปัญหา เป็นอุปสรรค เป็นเหตุการณ์ที่ไม่พึงประสงค์ เช่น ความเจ็บ ความป่วย ความพลัดพรากสูญเสีย งานการที่ยากลำบาก ความวุ่นวาย อย่างน้อยๆ ก็รู้สึกเป็นกลางกับมัน ไม่บ่น ไม่โวยวาย ตีโพยตีพายที่มันเกิดขึ้น การยอมรับมัน หรือมองว่ามันเป็นสิ่งดี มันช่วยฝึกเรา มันช่วยเราระแวดระวัง มันช่วยทำให้เรามีสติมากขึ้น หรือว่ามันกำลังสอนธรรมให้กับเรา เจ็บป่วยก็นึกถึงคำอาจารย์พุทธทาสว่า ความเจ็บป่วยมันเตือนให้เราฉลาดเรื่องชีวิต อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ถ้าเรามีท่าทีแบบนี้มองแบบนี้ ความเจ็บป่วยจะบั่นทอนร่างกายเราน้อยลงและมันทำให้เราทุกข์น้อยลงด้วย
ในทำนองเดียวกันความเครียดเมื่อเกิดขึ้น ปฏิบัติธรรมนี้บางทีมันก็ไม่ใช่ว่าจะสบายปลอดโปร่ง แต่อาจจะเครียด จะเป็นเพราะอากาศ จะเป็นเพราะเราวางใจไม่ถูก มีสิ่งมากระทบ เสียงดัง แต่พอตั้งสติได้ก็ดูมันเฉยๆ ดูความเครียด อย่าไปคิดว่าฉันเครียดแต่ให้เห็นความเครียด ถ้าเราเห็นความเครียดไม่เข้าไปในความเครียดนั่นคือ เรากำลังได้ประโยชน์จากความเครียด มันกำลังสอนเรา มันทำให้เรามีสติมากขึ้น รู้ทันได้ไวขึ้น หรือถ้ามองว่าความเครียดนี้ดี มันมาฝึกเรา ตรงนี้มันจะเกิดประโยชน์ สิ่งที่เกิดขึ้นกับเราบ่อยครั้งเราเลือกไม่ได้ ไม่ว่าภายนอกหรือภายในเพราะเหตุปัจจัยมันเยอะมาก สิ่งที่เราทำได้คือวางใจให้เป็นกับสิ่งนั้น เช่นยอมรับมัน ดูมันด้วยใจที่เป็นกลาง หรือว่าเห็นความดี เห็นข้อดีของมัน ว่าเกิดขึ้นก็ดีเหมือนกัน อันนี้คือสิ่งที่เราทำได้และควรทำ การเจริญสติการปฏิบัติธรรมควรจะทำให้เรามาเจอตรงนี้ได้ คือทำเป็นนิสัย ไม่ใช่ปฏิบัติธรรมแบบหลบหลีกปัญหา หลบหลีกอุปสรรค หลบหลีกความยากลำบาก มันหลบหลีกยังไงก็ไม่พ้น ยังไงก็ต้องเจอ แต่ถ้าเจอแล้วเราทำใจให้เป็นบวกกับมัน รู้สึกดีกับมัน หรือทำใจให้เป็นกลาง อันนี้ดีกว่