แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
หลวงพ่อคำเขียนเคยสรุปสั้นๆ เกี่ยวกับการปฎิบัติธรรมว่า การปฎิบัติธรรมคือการปล่อยวางทางจิต และท่านก็เขียนต่อว่าอย่ามุ่งแต่สร้างจังหวะ ท่านย้ำว่าการปล่อยวางทางจิตมันคือหัวใจของกรรมฐาน นี้เป็นข้อความที่หลวงพ่อได้เขียนเอาไว้ก่อนที่ท่านจะมรณภาพสองสามเดือน พวกเราคงทราบว่าช่วงที่ท่านป่วยท่านพูดไม่ได้ ท่านก็สื่อสารด้วยการเขียน และก็เป็นโอกาสให้ท่านได้เขียนบันทึกหรือว่าคำแนะนำที่เป็นประโยชน์แก่พวกเรา สิ่งที่หลวงพ่อได้เขียนเอาไว้ ที่อาตมายกมากล่าวเมื่อสักครู่นี้การปล่อยวางทางจิตเป็นหัวใจของการปฎิบัติธรรมเลย
เมื่อเรามาที่นี่ก็ให้เราระลึก หรือตระหนักถึงข้อความนี้เป็นสำคัญ มันคือจุดมุ่งหมายของการปฎิบัติธรรม อย่าไปติดที่รูปแบบ รูปแบบก็หมายถึงการยกมือสร้างจังหวะซึ่งเป็นแค่วิธีการ บางคนก็ไปติดที่รูปแบบหรือการสร้างจังหวะ จุดมุ่งหมายสูงสุดก็คือเพื่อการปล่อยวางทางจิต บางทีทำแล้วก็ไปยึดติดรูปแบบบ้าง หรือไปยึดติดกับผลที่อยากเห็น อยากมี อยากได้จากการปฎิบัติ เช่นความสงบเป็นต้น การปล่อยวางทางจิตอันนี้ก็เป็นคำที่ควรใส่ใจสักหน่อย เพราะมันหมายความว่าการปล่อยวางนั้นเกิดขึ้นที่ใจ ส่วนหน้าที่การงานก็ยังทำอยู่ไม่มีคำว่าปล่อยปละละเลย ปล่อยวางนี้ไม่ได้หมายความว่าปล่อยวางการงานความรับผิดชอบ ในเรื่องการทำกิจหรือการทำงานก็ยังคงต้องทำต่อไปตามเหตุตามปัจจัย แต่ว่าใจนั้นมันปล่อยวาง
การปล่อยวางทางจิตก็เริ่มต้นจากการที่เราเรียนรู้ที่จะไม่ยึดติดความคิดและอารมณ์ที่มันเกิดขึ้นในใจโดยเฉพาะความคิดเกี่ยวกับเรื่องราวในอดีตหรือว่าปรุงแต่งเกี่ยวกับสิ่งที่จะเกิดขึ้นในอนาคต จะว่าไปแล้วความทุกข์ใจคนเราก็ล้วนแล้วแต่เกิดเพราะความยึดติด และที่ยึดติดจนทำให้เป็นทุกข์ก็คือยึดติดเรื่องอดีตเรื่องอนาคตนั่นแหละ เรื่องอดีตก็หมายถึงเหตุการณ์ที่ผ่านพ้นไปแล้วที่มันเป็นการพลัดพรากสูญเสีย ทำให้เจ็บปวด ถูกต่อว่าด่าทอ หรือว่าทำความผิดพลาดบางอย่างกับผู้มีพระคุณ ทำให้เศร้าโศกเสียใจ ทำให้รู้สึกผิด ทำให้โกรธแค้น เรื่องที่เป็นความคิดเกี่ยวกับอนาคตนั้นก็คือการปรุงแต่ง และถ้าปรุงแต่งเกี่ยวกับเรื่องฝันกลางวัน อันนี้ก็ยังไม่เท่าไหร่ แต่ส่วนใหญ่ที่เป็นทุกข์เพราะว่าไปนึกถึงเรื่องร้ายๆที่ยังไม่เกิดขึ้น นึกไปนึกมาก็ไปคิดว่ามันจะเกิดขึ้นจริงๆ พอคิดว่ามันจะเกิดขึ้นจริงๆ ก็เลยวิตกกังวล กลุ้มอกกลุ้มใจ ความคิดเหล่านี้ที่มันมารบกวนจิตใจเราเพราะเราไม่รู้จักปล่อย ไม่รู้จักวาง หรือเกี่ยวข้องกับมันไม่ถูก
เมื่อเช้าก็พูดถึงเรื่องความเครียด ว่ามันมีความเครียดที่ดีและความเครียดที่ไม่ดี ความเครียดที่ดีมันไม่ได้หมายถึงอะไรเลย มันก็หมายถึงว่าถ้าเรารู้สึกดีกับความเครียดนั้น มันก็เป็นความเครียดที่ดี ถ้าเรารู้สึกแย่กับความเครียดนั้น มันก็เป็นความเครียดที่แย่ มันอยู่ที่ว่าเรารู้สึกหรือเราคิดยังไงกับความเครียดนั้น อดีตก็เหมือนกัน อดีตที่ดีก็มีอดีตที่ไม่ดีก็มี แต่อดีตที่ดีหมายถึงว่าเป็นเรื่องราวเกี่ยวกับความสำเร็จ ความสนุกสนาน การได้อยู่กับคนรัก หรือว่าอดีตที่ไม่ดีไม่ได้หมายถึงความเจ็บปวด ความสูญเสีย ความพลัดพรากที่เกิดขึ้น อันนั้นไม่ใช่ อดีตที่ดีหมายถึงอดีตที่เรารู้สึกดีกับมัน หรือว่าเห็นประโยชน์ของมัน อดีตที่ไม่ดีก็คืออดีตที่เรารู้สึกแย่กับมัน อดีตที่เรารู้สึกดีกับมันนี้อาจจะเป็นความผิดพลาดหรือความเจ็บปวดก็ได้ แต่ว่าเมื่อเวลาผ่านไปเราขอบคุณที่เหตุการณ์นั้นได้ทำให้เราเข้มแข็งขึ้น ทำให้เราเป็นอย่างที่เราเป็นอยู่ ทำให้เรามีประสบการณ์ ทำให้เราเกิดปัญญา
บางคนตอนที่ตกงานก็กลุ้มใจเป็นบ้าเป็นหลัง แต่ภายหลังก็พบว่าตกงานนี้ดีเพราะทำให้ขวนขวายที่จะมาทำอาชีพของตัวเอง เปิดกิจการของตัวเองแทนที่จะกินเงินเดือน เป็นเหตุให้มีความเจริญก้าวหน้ามากขึ้น พอนึกไปถึงเหตุการณ์ที่ตกงานเมื่อสิบปีที่แล้ว ก็เลยนึกขอบคุณมากที่เราตกงาน หรือบางคนตกงานแล้วเลยจำให้ต้องไปอยู่กับพ่อแม่ ไม่มีทางไปต้องไปอยู่กับพ่อแม่ ไปอยู่แล้วก็ได้ดูแลท่าน แต่เมื่อท่านจากไปอย่างกระทันหัน แม้จะเสียใจแต่ก็ดีใจตรงที่ว่าได้ดูแลท่านในบั้นปลายชีวิต ถ้าไม่ตกงานก็คงจะไม่ได้ดูแลท่าน และเมื่อไม่ได้ดูแลท่านก็คงจะเสียใจ รู้สึกผิดว่าเราละทิ้งท่านไป ต้องขอบคุณที่ตกงานทำให้ได้มาดูแลท่านก่อนที่ท่านจะเสียชีวิต อันนี้ถึงแม้จะเป็นอดีตที่เจ็บปวด แต่ว่าเป็นอดีตที่ดี เพราะเรารู้สึกดีกับมันในเวลาต่อมา
อาจารย์ประมวล เพ็งจันทร์ท่านเคยไปบวชพระ และต่อมาได้ไปเรียนถึงปริญญาเอกที่ประเทศอินเดีย ในตอนที่เรียนปริญญาโท ปริญญาเอกนั้นมีความทุกข์มากเลย รู้สึกเจ็บแค้นและผิดหวังกับเรื่องราว เหตุการณ์ รวมทั้งคนอินเดีย ทำให้ท่านต้องร้องไห้หลายครั้งและขมขี่นมาก แต่เมื่อเวลาผ่านไปสามสิบปีก็ได้นึกถึงเหตุการณ์ที่ท่านไปเรียนที่อินเดีย ท่านก็รู้สึกซาบซึ้ง ขอบคุณต่อเหตุการณ์นั้นที่ทำให้ท่านเป็นอย่างทุกวันนี้ และทำให้ท่านกลับไปอินเดียอีกครั้งหนึ่ง เพื่อไปขอบคุณครูบาอาจารย์ ขอบคุณมหาวิทยาลัย ขอบคุณอินเดีย คนเราบ่อยครั้งแม้เราจะผ่านประสบการณ์ที่เจ็บปวดขมขื่น แต่ในเวลาต่อมาเรากลับรู้สึกดี อดีตอย่างนั้นคืออดีตที่ดี ไม่ใช่อดีตที่เราสำเร็จราบรื่นแต่เป็นอดีตที่อาจจะมีความเจ็บปวด แต่ว่าในเวลาต่อมาเรารู้สึกดีกับมันเพราะเราเห็นคุณค่า ทีนี้ถ้าเรามีความรู้สึกดีกับอดีตมันก็ไม่ทุกข์ถึงแม้มันจะเป็นเหตุการณ์ที่เป็นความพลัดพรากสูญเสีย เป็นความเจ็บปวด แต่ว่าที่มันเป็นความทุกข์ของคนเรา เพราะว่าอดีตที่ไม่ดีก็ไปแบกเอาไว้
หากเป็นอดีตที่ดีแบกเอาไว้ไม่เป็นไรมันช่วยให้ระลึกนึกถึงแล้วทำให้เกิดความประทับใจ เกิดกำลังใจ แต่อดีตที่มันไม่ดีเมื่อแบกเอาไว้มันก็ทำให้เจ็บปวด แล้วมันก็จะมารบกวนจิตใจเรา เวลาเราสร้างจังหวะ เวลาเราเดินจงกลม มันก็จะมาก่อกวน ทำให้ใจไม่สงบ รอบตัวนี้สงบสงัดแต่ว่าใจมันรุ่มร้อน มีเสียงดังอยู่ในหัวตลอดเวลา การปฎิบัติช่วยให้เราปล่อยวางอารมณ์ความรู้สึกเหล่านี้ได้ ปล่อยวางเมื่อเรามีสติเมื่อเรารู้ทันว่าใจเผลอคิดไป มีความรู้สึกตัวเกิดขึ้นมันก็วางเลย เราปฎิบัติไป ๆ ก็จะพบว่าใจมันสงบขึ้นใจเพราะว่ารู้ทันความคิด รู้ทันอารมณ์ ไม่ปล่อยให้มันเข้ามาเกาะกุมจิตใจ หรือพูดอีกอย่างก็คือไม่ไปแบกมันเอาไว้ สติทำให้เราปล่อยทำให้เราวางความคิดในอดีตที่เจ็บปวดรวมทั้งอนาคตที่มันชวนให้วิตกกังวล มันทำให้เราได้คิดว่าอนาคตมันยังไม่เกิดเลย จะไปกลุ้มอกกลุ้มใจตีตนไปก่อนไข้ทำไม มันอาจจะไม่เกิดขึ้นก็ได้ สติมันทำให้เราได้คิดแล้วก็ปล่อยวางได้ง่ายขึ้น นี่คือการปล่อยวางทางจิต
เมื่อปล่อยวางเสร็จใจก็จะเบา ใจก็จะสบาย ใจก็จะโปร่งโล่งเย็นแล้วก็สงบ ถ้าปฎิบัติถูกวิธี สติมันไว ความรู้สึกตัวเกิดขึ้นได้เร็ว การปล่อยวางก็จะเกิดขึ้นได้ง่าย แล้วก็เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องจนกระทั่งความคิดมันน้อยลง พอความคิดมันน้อยลงมันก็จะสงบ เมื่อก่อนมันคิดตลอดเวลาเลยจนกระทั่งสงสัยว่าเราจะหยุดคิดได้หรือเปล่า พอเราปฎิบัติไป ๆ ความคิดมันก็น้อยลง ๆ มันมีช่องว่างระหว่างความคิดมากขึ้น ใจก็โปร่งโล่ง ใจก็สงบ จากที่มันสงบเราก็ต้องระวังอย่าไปติดความสงบ หลวงพ่อคำเขียนท่านก็เน้นว่า “เห็น อย่าเข้าไปเป็น” การเห็นความคิดรู้ทันอารมณ์มันทำให้ใจสงบ แต่พอสงบแล้วไม่เห็นความสงบ อันนี้ก็พลาดท่า เป็นกับดักของนักปฎิบัติธรรม เมื่อใจมันสงบแล้วก็ให้เห็นความสงบนั้นแต่อย่าเข้าไปเป็นผู้สงบ ความรู้สึกตัวก็ยังจำเป็นอยู่ กลับมารู้สึกตัว เห็นมัน เห็นความสงบที่เกิดขึ้นแต่ว่าไม่เข้าไปเป็นผู้สงบ อันนี้เรียกว่าเป็นการปล่อยวาง ปล่อยวางด้วยสติ ปล่อยวางเพื่อเกิดความรู้สึกตัว ต้องสังเกตด้วยว่าพอเรามีสติเมื่อไหร่ พอเรามีความรู้สึกตัวเมื่อไหร่ ความคิดฟุ้งซ่านก็หลุดไป อันนี้เรียกว่า“วาง”
แต่อย่างไรก็ตามนี่เป็นแค่จุดเริ่มต้น เพราะว่าคนเรายังแบกยังยึดอีกตั้งหลายอย่าง ที่เราทุกข์กับเรื่องราวในอดีตนี้ ไม่ใช่เพราะว่าเราไปยึดกับเรื่องราวในอดีตเท่านั้น แต่เป็นเพราะว่าเหตุการณ์ในอดีตมันไปเกี่ยวข้องกับสิ่งที่เรายึดเอาไว้ เช่นรถถูกยึด บ้านถูกไฟไหม้ เงินถูกโกง ถูกด่า ถูกทรยศหักหลัง นึกถึงทีไรก็ทุกข์ ถึงแม้เราไม่นึกถึงมันแต่มันยังทุกข์เพราะว่ามันไปเกี่ยวข้องกับสิ่งที่ยังยึดว่าเป็นของเราอยู่ เช่นรถของเรา บ้านของเรา หน้าตาของกู นี่คือสาเหตุสำคัญ ถ้ายังมีความยึดในสิ่งเหล่านี้ พอเกิดความสูญเสีย เกิดความพลัดพรากในวันข้างหน้า ก็ยังต้องทุกข์อีก หรือพอรู้ว่าถูกนินทาหรือว่าถูกด่าต่อหน้า ก็เป็นทุกข์อีกเพราะยังมีความยึดในหน้าตา ในสิ่งของ ในทรัพย์สมบัติ เราก็ต้องรู้จักปล่อยวางด้วย
ปล่อยวางนี้ไม่ได้แปลว่าแจกจ่ายไปหมด มีนักพรตบางลัทธิบางศาสนา ปล่อยวางก็คือว่าไม่มีอะไรเลยแม้กระทั่งเสื้อผ้าอย่างเช่นนักกพรตศาสนาเชน เป็นพวกฑิฆัมพร ฑิฆัมพรก็คือว่านุ่งลมห่มฟ้า พวกนี้เขาไม่ใส่เสื้อไม่มีอะไรเลยนะ เขาถือว่าเป็นการปล่อยวาง ไม่มีทรัพย์สมบัติอะไรทั้งสิ้นเดินตัวเปล่าโทงๆ อย่างมากก็มีแค่หม้อสำหรับใส่อาหารที่บิณฑบาตรที่ขอมาได้ อันนั้นพวกเขาเรียกปล่อยวาง แต่ทางพุทธศาสนาเราเน้นทางเรื่องการปล่อยวางทางจิต หมายความว่ายังมีเสื้อผ้าอยู่ มีของติดตัวอยู่ ยังมีทรัพย์สมบัติห้อมล้อมอยู่ แต่ว่าใจไม่ได้ยึด ไม่ได้ยึดอะไร ไม่ได้ยึดว่าเป็นของเรา อันนี้เป็นสิ่งที่เราต้องฝึกอีกขั้นหนึ่งด้วย ไม่ใช่แค่ปล่อยวางความคิดเกี่ยวกับอดีต ความคิดเกี่ยวกับอนาคต ปล่อยวางอารมณ์ความรู้สึกต่างๆ ที่มันผุดขึ้นมาในใจ ปล่อยวางเหล่านี้ก็ยังปล่อยวางได้ไม่สมบูรณ์ตราบใดที่เรายังมีความคิดว่ารถของเรา บ้านของเรา ทรัพย์สินของเรา ตำแหน่งของเรา ลูกของเรา หน้าตา ศักดิ์ศรีของเรา จิตมันก็ยังจะต้องถูกรบกวนด้วยความทุกข์ มันก็จะต้องมีความอารมณ์อกุศลเกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำเล่า เมื่อสิ่งที่เราคิดว่าเป็นของเราเกิดมีอันเป็นไป เสื่อมไป เสียไป คนเอาไป หรือว่าเขาตายจากไป หรือว่าถูกกระทบด้วยคำพูดคำด่าที่มันกระทบกระแทกตัวกู นี้คือสิ่งที่เราจะต้องปล่อยวางด้วย
แต่คราวนี้การจะปล่อยวาง มันปล่อยวางไม่ได้ด้วยสติและความรู้สึกตัว จะปล่อยวางได้แท้จริงต้องอาศัยปัญญา คือเห็นความจริงว่าสิ่งหล่านี้ ว่ามันยึดไม่ได้เลยว่าเป็นของเรา มันไม่ใช่ของเราแล้วก็ยึดไม่ได้ว่าเป็นของเรา เพราะว่ามันไม่เที่ยงไม่จีรัง ต้องเสื่อมต้องดับไป และมันไม่ใช่ตัวไม่ใช่ตน อะไรก็ตามที่มันไม่ใช่ตัวไม่ใช่ตน จะยึดเอาไว้ยังไงมันก็ต้องผันแปรหรือว่าเสื่อมดับไป แล้วถ้าถามว่าจะมีอะไรที่เป็นของตนไหม มันก็ไม่มี อะไรที่จะเป็นตนไหม เป็นตัวเป็นตนหรืออัตตา มันก็ไม่มีเหมือนกัน อันนี้คือความจริงที่มีปัญญาถึงจะเห็นว่ามันไม่มีอะไรเป็นของเราเลย อย่าว่าแต่ของนอกตัว แม้แต่กายกับใจนี้ มันก็ไม่ใช่เราไม่ใช่ของเรา
การเจริญสตินี้มันช่วยทำให้เห็นว่ามันไม่มีเรา มีแต่กายกับใจ มีแต่รูปกับนาม แต่ก่อนเวลาทำอะไรก็ไม่มีสติ ตอนไม่ได้ปฎิบัติมันก็ไปคิดว่าเราทำเราเป็นผู้ทำ เวลาเดินก็เราเดิน เวลานั่งก็เรานั่ง เวลาโกรธเกิดขึ้นในใจก็เราโกรธ เวลามีความเกลียดเกิดขึ้นก็เราเกลียด มีความเครียดเกิดขึ้นก็เราเครียด มันมีแต่เราเป็นผู้กระทำ เป็นเจ้าของการกระทำ แต่พอเราปฎิบัติไปก็อาศัยการเตือนสตินี่แหละใช้เป็นอุปกรณ์ในการดู ดูอะไร ดูของจริง ก็คือกายกับใจมันก็จะเห็นความจริงว่ามันไม่มีเรา มันมีแต่กายกับใจ ทั้งหมดนี้มันก็เป็นเรื่องของรูปกับนาม ไม่ว่าจะทำอะไรก็ตามมันมีแต่รูปทำหรือไม่ก็นามทำ รูปโรคนามโรคสิ่งนี้ครูบาอาจารย์ท่านก็จะพูด หลวงพ่อเทียนท่านก็พูด หลวงพ่อคำเขียนท่านก็พูด มันหมายความว่าการกระทำทั้งหลายมันไม่ใช่เราทำ แต่มันเป็นรูปทำบ้าง มันเป็นนามที่ทำบ้าง เช่นรูปเดิน หรือว่านามคิด คิดปรุงแต่งต่างๆ ปรุงแต่งเป็นอารมณ์ก็มี แล้วโรคนี่เวลามีโรคเกิดขึ้นไม่ใช่เราเป็นโรค แต่มันเป็นโรคของกายบ้างเป็นโรคของใจบ้าง สติมันทำให้เราเห็นความจริงอย่างนี้ ต่อไปก็จะเห็นว่าแม้กระทั่ง แม้ไม่มีเรา มีแต่รูปกับนาม มีแต่กายกับใจ กายกับใจรูปกับนามก็ไม่ใช่ของเรา ยังเห็นต่อไปว่าสิ่งทั้งหลายทั้งปวงมันก็ไม่ใช่เรา ไม่ใช่ของเรา คราวนี้ก็จะทำให้วางได้ วางได้เพราะว่ามีปัญญา
นี่ก็เป็นจุดมุ่งหมายหรือขั้นตอนสูงสุดของการปฎิบัติธรรม ก็คือมีปัญญาเห็นความจริงของกายและใจ เห็นความจริงของสรรพสิ่งจนปล่อยวางไปเอง เพราะรู้ว่ามันไม่ใช่ของที่จะยึดเป็นตัวเป็นตนได้ ไม่สามารถจะยึดว่ามันเที่ยงได้ ไม่สามารถจะยึดว่ามันสุขได้ การเห็นว่าสิ่งทั้งปวงเป็นทุกข์นี้ก็เป็นสิ่งสำคัญที่ช่วยให้ปล่อยวางได้ มันวางเองเหมือนกับเราเคยจับอะไรบางอย่างที่เราคิดว่า มันเป็นของดีของประเสริฐ นึกว่าเป็นทอง แต่พอเห็นความจริงว่ามันไม่ใช่ทอง มันคือถ่าน ถ่านก้อนแดงๆ หรือเห็นว่ามันเป็นอาจม มันวางเองเลยไม่ต้องมีใครสั่ง คนที่แบกหีบสมบัติ ในหีบก็มีเงินธนบัตรเยอะแยะ แต่พอรู้ความจริงว่าในหีบนั้นมันไม่ใช่ธนบัตรแต่เป็นแบงค์กงเต็กก็วางเลยเหมือนกัน ไม่รู้จะแบกไปทำไม และนี่คือการปล่อยวางเพราะเห็นความจริง การเห็นความจริงนั่นแหละก็คือปัญญา
แต่ก่อนจะเห็นความจริงมันก็ต้องเห็นความคิดและอารมณ์ที่เกิดขึ้น รวมทั้งเห็นกายเคลื่อนไหว พูดง่ายๆ คือเห็นกายเคลื่อนไหว เห็นใจคิดนึกก่อน เห็นตรงนี้ใช้สติๆ มันทำให้เห็นกายเคลื่อนไหวเห็นใจคิดนึก ต่อไปเห็นไปนานๆ เห็นของจริงไปบ่อยๆ มันก็จะเห็นความจริงคือสัจจธรรมว่า กายกับใจมันก็ไม่เที่ยงเป็นทุกข์ ไม่ใช่ตัวไม่ใช่ตน ตรงนี้เราเห็นสัจจธรรม เห็นลักษณะของกายกับใจ และสรรพสิ่งที่เรียกว่าไตรลักษ์ พอเห็นแบบนี้เข้ามันปล่อยวาง ปล่อยวางอย่างสิ้นเชิง ไม่ยึดอะไรว่าเป็นเราเป็นของเราอีกต่อไป หลวงพ่อคำเขียนท่านใช้คำว่า “ไม่เป็นอะไรกับอะไร” ความหมายคือไม่ยึดอะไรว่าเป็นเราเป็นของเรา ไม่ว่าอะไรนั้นจะเป็นรูปหรือนาม ไม่ว่ามันจะเป็นกายกับใจ หรือสิ่งที่เกิดขึ้นกับกายกับใจก็ไม่ยึดว่าเป็นเรา เป็นของเรา ไม่ยึดว่าเป็นเจ้าข้าวเจ้าของ จะเป็นกายกับใจนี้ก็ตาม หรือจะเป็นทรัพย์สมบัติ บ้าน รถยนต์ คนแวดล้อม ลูก พ่อแม่ ก็ไม่ยึดว่าเป็นเราเป็นของเรา เพราะรู้ว่าจริงๆ มันเป็นเช่นนั้นไม่ได้ และมันก็ไม่น่ายึดด้วยเพราะว่ายึดแล้วเป็นทุกข์ ก็ปล่อยนั่นแหละ สิ่งที่เกิดขึ้นก็คือความสงบเย็น สงบอย่างสิ้นเชิง มันไม่ใช่สงบเพราะว่าไม่คิด ไม่ใช่สงบเพราะว่าตัด ปิดหูปิดตา ไม่รับรู้อะไร แต่เป็นความสงบเพราะมีปัญญาเห็นความจริง ทำให้จิตเป็นอิสระพ้นทุกข์อย่างสิ้นเชิง
เราต้องเข้าใจตรงนี้เอาไว้เพราะถ้าเราเข้าใจจะช่วยให้การปฎิบัติของเรา ไม่ว่าจะเป็นระดับพื้นฐานเช่นการให้ทาน การรักษาศีล หรือภาวนามันจะเป็นไปอย่างถูกต้อง เวลาให้ทานก็ไม่ได้ให้ทานด้วยใจที่ยึด ใจที่เอา เข้าใจว่าการให้ทานก็คือการฝึกเพื่อลด เพื่อละ เพื่อการปล่อย เพื่อการวาง ทีแรกก็ลดความตระหนี่ ลดความเห็นแก่ตัวก่อน ลดความเป็นเจ้าข้าวเจ้าของสิ่งที่เราได้มอบ ได้ถวาย ได้บริจาค ถ้าไม่เข้าใจตรงนี้การให้ทานก็จะเป็นการเพิ่มพูนกิเลส เวลาทำบุญก็อยากจะเอา อยากจะได้ ถวายสิบอยากได้ร้อย ถวายร้อยอยากได้ล้าน หรือว่าทำบุญก็อยากจะให้คนเขาเห็นว่าเราทำ อยากจะให้เขารู้ว่าเราบริจาคเท่าไหร่ อันนี้มันไม่ได้เป็นไปเพื่อการลด การละ เพื่อการปล่อย การวาง แต่มันเป็นการทำเพื่อเพิ่มการยึดติดมากขึ้น ใครให้อะไรไปแล้วก็ปล่อยวาง ไม่ไปคอยดูว่าเขาจะใช้ของนั้นหรือเปล่า ถวายอาหารไปแล้วก็จะคอยดูว่าหลวงพ่อฉันอาหารของเราหรือเปล่า ถวายจีวรก็จะคอยดูว่าหลวงตาเขาจะห่มจีวรของเราหรือเปล่า อันนี้แสดงว่ายังไม่ปล่อยวางจริง เพราะว่ายังมีความรู้สึกว่าเป็นจีวรของเรา เป็นอาหารของเราอยู่ ในเมื่อถวายไปแล้วมันจะเป็นของเราได้อย่างไร ก็ต้องเป็นของท่าน ถ้ายังคิดว่าเป็นของเราอยู่ อาหารของเรา จีวรของเรา ก็แสดงว่าเราก็ยังมีเยื่อใย ยังไม่ได้ปล่อยวาง ถ้ารู้อย่างนี้ก็พยายามฝึกใจของเราให้ปล่อยวาง ถวายอะไรก็ถวายแบบสะเด็ดน้ำเลย ไม่มีเยื่อใย แล้วก็ไม่คิดที่จะเอาอะไรตอบแทน
รักษาศีลก็เหมือนกัน รักษาศีลก็ไม่ใช่เพื่อที่จะได้ไปเกิดเป็นเทวดา เพื่อจะได้มีทรัพย์สมบัติ ร่ำรวยในภพนี้ หรือภพหน้า แต่เพื่อลดละโลภ โกรธ หลง ซึ่งเป็นตัวการทำให้ผิดศีลไปเบียดเบียนผู้อื่น ภาวนาก็เหมือนกัน ภาวนาก็ไม่ใช่คิดแต่ว่าฉันจะได้อะไร ฉันจะได้อะไร นักปฎิบัติหลายคนจะถามอย่างนี้ ปฎิบัติมาตั้งนานยังไม่เห็นได้อะไรเลย ถามแบบนี้คือการถามผิด เคยมีคนไปถามหลวงพ่อเฟื่อง โชติโก แบบนี้ ผมภาวนามาตั้งนานแล้วยังไม่ได้อะไรเลย ท่านก็ตอบว่า เราภาวนาเพื่อละ ไม่ใช่เพื่อจะเอา เพื่อจะได้ เพราะฉะนั้นที่หลวงพ่อคำเขียนพูดมาที่อาตมายกมาตั้งแต่ต้นการปฎิบัติธรรมคือการปล่อยวางทางจิต จำเอาไว้ให้แม่น แล้วก็พยายามที่จะเอามาตรวจสอบกับการปฎิบัติของเราว่าทำแล้วมันปล่อยวางจริงหรือเปล่า แล้วก็ต้องรู้ด้วยว่าเป็นการปล่อยวางทางจิต ไม่ใช่ว่าทิ้งบ้าน ทิ้งเรือน ทิ้งครอบครัว หรือว่าไม่เอาใจใส่กับเรื่องของส่วนรวมเลยทิ้งหมด วัดจะเป็นยังไง ป่าจะเป็นยังไง ไม่สนใจเลย ปล่อยวาง นั่นไม่ใช่ งานการยังทำอยู่รับผิดชอบอยู่ แต่ว่าใจมันไม่ยึดไม่ติด