แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ท่านอาจารย์พุทธทาส สวนโมกขพลาราม เคยกล่าวว่า ถ้าให้เลือกระหว่างวิมานบนสวรรค์ กับ กระดาษชำระ ๑ ม้วน ท่านเลือกเอาอย่างหลัง คือเลือกเอากระดาษชำระ เหตุผลก็คือวิมานนี้เอาไปทำอะไรไม่ได้ ส่วนกระดาษชำระสามารถเอาไปทำประโยชน์ได้หลายอย่าง เหตุผลของท่านก็น่าสนใจ หลายคนอาจจะนึกไม่ถึง โดยเฉพาะในยุคนี้ เพราะว่าเดี๋ยวนี้กระดาษชำระมันเป็นสิ่งที่หาได้ง่าย จนกระทั่งดูเหมือนว่าไม่ค่อยมีความสำคัญเท่าไหร่ แต่สมัยที่ท่านอาจารย์พุทธทาสยังมีชีวิตอยู่โดยเฉพาะในช่วงก่อน 50 ปีที่ผ่านมามันไม่ใช่เป็นของหาง่าย แม้แต่กระดาษชำระก็เป็นของที่ไม่ใช่ว่าจะใช้ได้อย่างฟุ่มเฟือย เป็นของที่หาได้ยาก มันไม่ใช่แค่กระดาษชำระเท่านั้นอย่างอื่นด้วย
โดยเฉพาะสวนโมกข์ในช่วงตั้งใหม่ๆ อยู่ในป่าไกลจากถนน ต้องเดินเป็นชั่วโมงจากสถานีรถไฟพุมเรียง ตอนนั้นยังไม่มีถนนสายเอเชียผ่าน เพราะฉะนั้นมันก็ไม่มีความสะดวกสบายเท่าไหร่ แม้แต่กระดาษชำระก็มีค่า เวลาท่านจะใช้กระดาษชำระ ท่านจะดึงมาใช้ทีละแผ่น ๆ ทีละตอน ๆ กระดาษชำระมันก็จะมีรอยประเป็นตอน ๆ สมัยนี้เวลาจะใช้กระดาษชำระที่เป็นม้วน ก็จะดึงมาหลายตอน เพียงเพื่อทำในสิ่งที่ไม่จำเป็นขนาดนั้น เช่นเช็ดรอยเปรอะเปื้อน หรือว่าเช็ดน้ำที่มันซึมไหลกระเฉาะออกมา เวลาที่อาจารย์พุทธทาสจะใช้กระดาษชำระเพื่อที่จะเช็ดน้ำที่มันเปรอะเปื้อน หรือแม้แต่น้ำแกงที่มันเปรอะเปื้อนโต๊ะท่านก็จะดึงมาแค่ตอนเดียว แล้วก็จะใช้ให้คุ้มค่า ถ้าเป็นการเช็ดน้ำท่านจะไม่ทิ้ง ท่านก็จะปล่อยให้มันแห้ง เหตุผลก็คือว่าจะได้เอามาใช้ต่อ เพราะว่าเอากระดาษชำระเช็ดน้ำที่เปื้อนมันก็ไม่ได้สกปรกอะไร ถ้าปล่อยไว้ให้แห้งเดี๋ยวก็เอามาใช้ใหม่ได้ อันนี้ในแง่หนึ่งก็ชี้ให้เห็นถึงความประหยัดของท่านอาจารย์พุทธทาส
อีกด้านหนึ่งก็ชี้ให้เห็นถึงว่ายุคสมัยนั้น แม้กระทั่งกระดาษชำระก็เป็นของหายาก แต่จะว่าไปแม้แต่กระทั่งของที่มีมากมาย ท่านก็ให้ใช้อย่างประหยัดหรือว่าบริโภคอย่างประหยัด เช่นน้ำดื่ม สวนโมกข์นี้อยู่ที่จังหวัดสุราษฎร์ สมัยก่อนฝนตกไม่ขาดหรอก ฝนแปดแดดสี่ เพราะฉะนั้นน้ำฝนก็มีเยอะ แต่แม้กระนั้นเวลาลูกศิษย์จะรินน้ำให้ท่าน ท่านก็กำชับว่าให้รินน้ำแค่ครึ่งแก้วเพราะว่าก็ฉันเท่านั้นแหละ แล้วก็แนะนำพระในวัดด้วยว่าส่วนใหญ่เวลาฉันน้ำดื่มน้ำก็ไม่ได้ดื่มทั้งแก้ว ก็ดื่มแค่ครึ่งแก้วแล้วที่เหลือก็ทิ้ง สวนโมกข์เวลานั้นน้ำก็ไม่ได้ขาดแคลนเท่าไหร่หรอก แต่ว่าท่านก็เห็นความจำเป็น ใช้อย่างประหยัด ใช้อย่างคุ้มค่า ยิ่งสมัยนี้ด้วยแล้วน้ำไม่ใช่ของฟรี น้ำแต่ละหยดมีค่ามีราคาทั้งนั้น แพงกว่าน้ำมันเสียอีก แต่ว่าเวลารินน้ำใส่แก้วก็มักจะรินน้ำจนเกือบจะเต็ม เสร็จแล้วดื่มหรือฉันส่วนใหญ่ก็ไม่หมด เหลือก็ทิ้ง ถ้าทิ้งครึ่งแก้วคิดเป็นเงินก็อาจจะเป็น 1 บาท 50 สตางค์ มันก็ไม่ใช่เป็นเงินเล็กน้อยถ้ารวมกันเป็นเดือนเป็นปี แต่ถึงแม้จะเล็กน้อยก็ไม่ควรจะใช้ให้มันเหลือทิ้งไปอย่างสูญเปล่า ที่สวนโมกข์ท่านก็ประหยัดหลายอย่าง แต่นั่นก็เป็นเรื่องของเมื่อ 50-60 ปีที่แล้ว
ที่จริงสุคะโตเมื่อ 30 ปีที่แล้วก็เรียกว่าขาดแคลนหลายอย่าง มันไม่ใช่มีสิ่งมากมายอย่างที่เราเห็นในปัจจุบัน จำได้ว่าสมัยเมื่อ 30 ปีที่แล้วแม้แต่พระพุทธรูป ก็มีแต่พระพุทธรูปองค์เล็กๆ ทำด้วยแก้ว ทำด้วยกระจก ราคาก็ถูกๆ วางอยู่บนโต๊ะเล็กๆ ที่ใช้เวลาทำวัตร มีประมาณ 4-5 องค์ แต่เดี๋ยวนี้เรามีพระพุทธรูปองค์ใหญ่ๆ มากมาย ทั้งที่ศาลาหน้า ทั้งที่หอไตร ทั้งที่ศาลาน้ำ เมื่อสัก ๓๐ ปีที่แล้วพระพุทธรูปองค์ใหญ่ที่สุดที่มี ก็คือหลวงพ่อขาว ซึ่งตอนนี้ก็เอามาไว้ที่ศาลาหน้าใต้ถุน แต่ก่อนนี้อยู่ข้างบนศาลาหน้า ทำด้วยปูน แต่ว่าเขาหล่อได้สวย ซึ่งก็มีเท่านั้นแหละ ไม่มีมากไปกว่านั้น แต่เดี๋ยวนี้มีพระพุทธรูปหลายองค์ทีเดียว ส่วนหนึ่งก็เป็นเรื่องของศรัทธาญาติโยม อีกส่วนหนึ่งเป็นเรื่องของยุคสมัยด้วย เพราะว่าเดี๋ยวนี้เป็นยุคที่เรียกว่าผู้คนมีความพรั่งพร้อมทางวัตถุ
เมื่อ 30 ปีก่อนนี้อะไรๆก็ขาดแคลน ไฟฟ้าไม่ต้องพูดถึง มันไม่มี จะใช้ไฟฟ้าก็ต่อเอาจากหมู่บ้านป่าไม้ เขาเรียกว่าแคมป์ สมัยก่อนนี้มันเป็น“อ.ป.” ก็มีหมู่บ้านป่าไม้ ตอนเช้าและตอนเย็นเขาก็ปั่นไฟ ครึ่งชั่วโมงหรือหนึ่งชั่วโมงเราก็ได้ใช้ไฟแค่นั้นแหละ แต่เดี๋ยวนี้ไฟก็มีอย่างสบายตลอดทั้งวันทั้งคืน ในอดีตแม้กระทั่งโต๊ะหมู่บูชาก็ไม่รู้จัก โต๊ะหมู่บูชานี้เป็นของหายาก โต๊ะที่จะตั้งพระพุทธรูปก็ต้องต่อเองเล็กๆ แบบชาวบ้าน แต่ตอนหลังก็เริ่มมีคนถวายโต๊ะหมู่บูชา อย่างที่วัดในชนบทก็มีโต๊ะหมู่บูชากันทั่วไปหมด ที่จริงมันเป็นธรรมเนียมเจ้า เป็นธรรมเนียมที่ออกมาจากในวัง สมัยก่อนอย่าว่าแต่วัดป่า วัดบ้านในเมืองก็ไม่มีโต๊ะหมู่บูชา เป็นของหายาก ราคาแพง แต่เดี๋ยวนี้สิ่งที่เคยเป็นของราคาแพงในอดีต ก็กลายเป็นสิ่งที่เห็นกันได้อย่างสามัญทั่วไป สมัยผมบวชใหม่ๆ บาตรสแตนเลสไม่ค่อยได้มีโอกาสใช้กันอย่างแพร่หลายสักเท่าไหร่ ใช้บาตรเหล็กมาจนกระทั่งพรรษาที่ 8 ถึงค่อยมีโอกาสใช้บาตรสแตนเลส แล้วก็ไม่ใช่บาตรสแตนเลสใหม่เอี่ยม รับทอดมาจากพระที่สึก เมื่อเขาสึกผมก็ได้ใช้บาตรสแตนเลส ตอนนั้นพรรษา 9 แล้วถึงได้มีวาสนาใช้บาตรสแตนเลส แต่เดี๋ยวนี้บวชแค่ 5 วัน 7 วันก็ใช้บาตรสแตนเลสแล้ว เพราะมันหาง่ายหรือว่าคนมีฐานะทางเศรษฐกิจดีขึ้น
ในความขาดแคลนของยุคสมัยเมื่อ 30 ปีก่อนสมัยนี้นึกไม่ออกแล้ว เพราะแม้กระทั่งวัดป่าที่อยู่ไกลๆ อย่างภูหลง วัดป่ามหาวัน เดี๋ยวนี้ก็ไม่รู้จักคำว่าขาดแคลนแล้ว ไม่ว่าจะเป็นสบู่ ยาสีฟัน จีวร ก็มีเยอะ จนกระทั่งไม่มีที่เก็บแล้ว นี่ขนาดอยู่ไกล อันนี้มันเป็นเรื่องของยุคสมัย ซึ่งเราก็ควรจะรับรู้เอาไว้ อย่าไปคิดว่าความสมบูรณ์พรั่งพร้อมนี้มันมีมานานแล้วหรือว่ามีมาตั้งแต่เกิด จริงๆ แล้วมันไม่ใช่ มันเป็นของที่เพิ่งมีเมื่อไม่กี่ 10 ปีมานี้ ถึงแม้จะมีความพรั่งพร้อมบริบูรณ์ก็ไม่ได้หมายความว่าเราควรจะใช้อย่างฟุ่มเฟือย บางคนไปเข้าใจว่าถ้ามีน้อยก็ต้องประหยัด แต่ถ้ามีมากก็ต้องใช้ฟุ่มเฟือย ไม่ต้องสนใจอะไรทั้งสิ้น อันนี้เป็นความเข้าใจที่ผิด เพราะว่าแม้จะมีมาก แต่ว่าเราก็ต้องรู้จักใช้อย่างรู้ค่า ใช้อย่างประหยัด อย่างเช่นจีวรนี้มีเยอะ แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าเราจะใช้กันอย่างฟุ่มเฟือย บางรูปมีจีวร 2-3 ผืน จริงๆ พระวินัยก็มีได้แค่ผืนเดียวแหละ เป็นจีวรที่ขาด ถ้ามีเกินเรียกว่าอติเรกจีวร เก็บไว้ได้แค่ 10 วันเป็นอย่างยิ่ง ตามพระวินัยถ้ามีเกิน 1 ก็ต้องวิกัป วิกัปนี้แปลว่ามีเจ้าของร่วม อย่างที่เราสวดในปาติโมกข์ ภิกษุวิกัปจีวรแก่ภิกษุหรือสามเณร ผู้รับยังไม่ถอนนุ่งห่มจีวรนั้นก็เรียกว่าปาจิตตีย์ วิกัปก็คือว่าเป็นเจ้าของร่วม จะใช้ได้ก็ต่อเมื่ออีกฝ่ายหนึ่งหรืออีกคนหนึ่งเขาถอนก่อน เราถึงจะใช้ได้ อันนี้ก็เป็นวินัยที่มุ่งให้พระอยู่อย่างเรียบง่าย แต่เดี๋ยวนี้นอกจากจะมีจีวรหลายผืนแล้วยังใช้อย่างฟุ่มเฟือย พอจีวรเริ่มจะสีซีดก็ไม่เอาแล้ว จะเป็นจีวรหรือผ้าอาบน้ำฝน อันนี้เป็นเรื่องที่เราต้องใช้อย่างประหยัด
หลวงพ่อคำเขียน ท่านมีผ้าอาบน้ำอยู่ผืนหนึ่ง ท่านใช้มาตั้งแต่บวชใหม่ๆ จนกระทั่งถึงตอนที่ผมมาอยู่กับท่าน ตอนนั้นท่านก็บวชมาได้ 16-17 พรรษาแล้วท่านก็ยังใช้อยู่ แล้วก็ใช้ต่อมาอีกหลายปี ที่ไม่ได้ใช้นี่ไม่ใช่เพราะมันขาดแต่ว่าเพราะมีคนทำหาย เขาคงไม่ได้คิดว่านั่นคือสิ่งที่หลวงพ่อท่านใช้มาอย่างยาวนาน หลวงพ่อท่านกวดขันแล้วก็แนะนำ เวลาซักจีวรก็ไม่ต้องบิด อย่าบิด ให้บีบเฉยๆ เพื่อรักษาเนื้อผ้า เพราะถ้าเราบิดแล้วมันก็จะอยู่ได้ไม่นาน ท่านให้บีบ หรือว่าไม่ต้องบีบเลยก็ได้ ก็ให้ตากเลย ถ้าไม่บีบไม่ต้องตากแดด ผึ่งลมไว้ก็ได้ ผ้าจะได้อยู่นานๆ อันนี้ก็เป็นสิ่งที่เรียกว่าเราเรียนรู้จากการสังเกต ทั้งหมดนี้ก็เพื่อให้เราใช้ชีวิตพระอย่างเรียบง่าย ถึงแม้ว่าจะมีของเยอะ ก็ควรจะใช้อย่างรู้ค่า สบู่ ยาสีฟัน ผงซักฟอก พวกนี้ต้องรักษา คอยรักษาคอยระวังไม่ให้หนูมาคาบเอาสบู่ไป ไม่ใช่วางสบู่ไว้ไม่เป็นที่ หนูก็คาบไป พอคาบไปก็ไม่ได้เดือดร้อนอะไร เพราะเดี๋ยวไปเบิกใหม่ มีเยอะ คิดแบบนี้ไม่ถูก เพราะมันทำให้เรากลายเป็นคนประมาท
อาจารย์ท่านพุทธทาส บอกว่าธรรมะเป็นเรื่องละเอียด คนจะเข้าใจธรรมะได้ต้องเป็นคนที่ละเอียดลออ แล้วความละเอียดลออส่วนหนึ่งก็เกิดจากการที่ใช้ข้าวของบริขารอย่างใส่ใจ อันนี้รวมถึงการขบฉันด้วย การฉันนี้เราก็ฉันอย่างรู้ค่า ตักมาเท่าที่พอกิน ไม่ใช่ตักมาโดยเอาความอยากเป็นประมาณ พอฉันไปแล้วอิ่ม เหลือก็ทิ้ง คนสมัยก่อนเขากินข้าวจนเม็ดสุดท้ายเลย ส่วนหนึ่งเพราะข้าวมันหายาก และมันต้องใช้แรงงาน กว่าจะได้ข้าวแต่ละเม็ดนี่มันยากเหลือเกิน แต่เดี๋ยวนี้เราไม่รู้ค่าเลย เพราะเราไม่ได้ทำนาด้วยตนเอง ข้าวมันก็หาได้ง่าย ราคาถูก แต่ก็ควรที่เราจะบริโภคหรือฉันอย่างใส่ใจ เพราะถ้าหากว่าเราไม่ใส่ใจ กินทิ้งๆ ขว้างๆ หรือว่าใช้ของอย่างไม่ประหยัด มันอาจจะไม่ค่อยเสียหายในเชิงวัตถุ แต่ว่ามันจะทำให้เกิดนิสัยที่ไม่ดีแก่จิตใจ เช่นนิสัยมักง่าย นิสัยมักง่ายพอมันเกิดขึ้นแล้วมันถอนยาก ทำอะไรก็จะทำแบบลวกๆ ทำแบบเร็วๆ หรือว่าทำแบบไม่ใส่ใจ แล้วที่มันจะเกิดขึ้นอีกอย่างก็คือว่าทำให้เป็นคนที่ติดสบาย โดยเฉพาะเดี๋ยวนี้เรื่องการขบการฉันมันมีเยอะ ถึงแม้เราเป็นพระในยุคที่มีสิ่งอำนวยความสะดวกมากมาย มีความพรั่งพร้อมบริบูรณ์ แต่การอยู่อย่างเรียบง่ายก็ยังจำเป็น เพราะถ้าเราใช้ชีวิตสบายมากไป ต่อไปมันก็จะติดสบาย คนเราพอติดสบายแล้วมันก็กลายเป็นอุปสรรคในการพัฒนาตน อุปสรรคในการทำสิ่งที่เป็นประโยชน์ อย่างเช่นพอรักสบายแล้ว จะไปอยู่ป่า จะไปที่กันดารเพื่อหาความสงบในการเจริญภาวนาก็ไปไม่ได้ คนเดี๋ยวนี้จะไปไหนก็จะต้องถามว่ามีสัญญาณโทรศัพท์หรือเปล่า มีสัญญาณอินเตอร์เน็ตหรือเปล่า ถ้าไม่มีก็ไม่ไป อันนี้ก็เรียกว่าติดความสบายแล้ว หรือว่าติดสัญญาณอินเตอร์เน็ต มันก็เลยกลายเป็นตัวขัดขวาง ทำให้การพัฒนาตนมันเกิดขึ้นได้ยาก
ทุกวันนี้หลายคนก็ต้องการความสงบ แต่ความสงบมันมักจะอยู่ในที่ที่มันไม่สบาย มันไม่สะดวก อย่างเช่นที่นี่ กว่าคนจะมาถึงแล้วสัมผัสความสงบได้ก็ต้องใช้เวลา เราก็ต้องเลือกระหว่างความสงบกับความสะดวก บ่อยครั้งมันก็ไม่ได้อยู่ด้วยกัน ถ้าต้องการความสงบก็จะไม่สะดวกไม่สบาย อยากจะหาความสงบก็ไปไม่ได้เพราะว่าติดความสะดวกความสบาย หรือทุกวันนี้เราเคยชินกับชีวิตที่มันพรั่งพร้อมบริบูรณ์ พอจะไปอยู่ในที่ที่มันลำบาก ก็จะเกิดความทุกข์ เกิดความทรมาน มันก็กลายเป็นสิ่งกีดขวางต่อการที่เราจะได้พบสิ่งดีงามหรือความเจริญก้าวหน้าในจิตใจ แล้วความสบายที่มันเกิดขึ้นจนติด ก็เพราะการที่เรามีเสพสิ่งบริโภคมากมายและใช้สอยอย่างไม่ระมัดระวัง ใช้สอยอย่างฟุ่มเฟือย ก็กลายเป็นติด นอกจากจะเกิดความมักง่ายแล้ว ก็ยังเกิดความรู้สึกที่ติดความสบาย
เด็กที่ติดความสบายก็ยากที่จะเจริญก้าวหน้า ไม่อยากเรียนหนังสือ ไม่อยากทำการบ้าน ไม่อยากเตรียมตัวสอบ เพราะมันไม่สบาย มันก็เกิดขึ้นกับผู้ใหญ่เหมือนกัน ดังนั้นเวลาเราไปอยู่ที่ไหนก็ตาม ก็ให้มีสติ ระแวดระวัง ถึงแม้ว่ามันจะมีความอุดมสมบูรณ์ ความพรั่งพร้อม ความสะดวกสบาย ก็อย่าไปใช้โอกาสเหล่านั้นอย่างไม่ระมัดระวัง สิ่งที่เราสวดเมื่อซักครู่นี้ การนอนการนั่งในที่อันสงัด ความเป็นผู้รู้ประมาณในการบริโภค หรือว่าการอยู่อย่างเรียบง่าย เป็นสิ่งที่เราพึงสังวรณ์อยู่เสมอ ของมีมากแค่ไหนเราก็ใช้อย่างรู้ค่า ถึงเวลาที่ของมันขาดแคลนเราก็ไม่เดือดร้อน แล้วยิ่งเป็นพระด้วยแล้วมันยิ่งจำเป็นต้องอยู่อย่างเรียบง่าย ธรรมที่บรรพชิตควรพิจารณาเนืองๆ ๑๐อย่างนี้ เราก็หมั่นพิจารณาสังวรณ์อยู่เสมอ ต้องทำตัวให้เป็นคนเลี้ยงง่าย เพราะชีวิตเรานี้ต้องพึ่งพาอาศัย อยู่ได้เพราะผู้อื่นก็ต้องอยู่อย่างเรียบง่าย ถ้าเราจะพกนิสัยอย่างฆราวาสมาอยู่วัด โดยเฉพาะเมื่อบวชแล้ว มันไม่ได้ จะอยู่วัดอย่างมีความหมาย มันก็ต้องรู้จักที่จะหัดดัดแปลง
ที่จริงความเป็นอยู่ที่วัดป่าสุคะโตนี้ก็สบายกว่าที่อื่นเยอะแล้ว ใครลองไปอยู่วัดอื่นบนหลังเขานี้หรือไปภูหลงก็ได้ วัดป่ามหาวัน ก็จะรู้เลยว่าความสะดวกสบายต่างกันเยอะ หลายคนอยู่สุคะโตแล้วพอไปภูหลงก็บ่นว่ามันลำบาก อาหารก็ไม่อร่อย ไม่ถูกปาก ไม่ประณีต เราจะรู้เลยว่าที่สุคะโตนี่ จะว่าไปแล้วก็สะดวกสบายไม่น้อยเลย แต่ถ้าอยู่แล้วก็ยังรู้สึกอัดอัด ยังเรียกร้องอยากได้ความสะดวกสบายมากกว่านี้ อันนี้มันก็แสดงว่าติดความสบาย การฝึกให้ตัวเองอยู่อย่างเรียบง่ายเป็นสิ่งสำคัญมาก เพราะมันทำให้เราเป็นอิสระจากวัตถุมากขึ้นเรื่อยๆ อิสรภาพเป็นสิ่งที่มีความหมายและเป็นสิ่งที่ผู้คนต้องการ แต่ว่ามักจะถลำเข้าไปเป็นทาสของความสะดวกสบายโดยไม่รู้ตัว แล้วก็คิดว่าการมีสิ่งของมากมายจะทำให้มีอิสระ เวลาเข้าห้างแล้วมีของขายมากมายมียี่ห้อหลายยี่ห้อขายให้เลือกได้ คนคิดว่านี้คือเสรีภาพ แต่หารู้ไม่ว่ามันทำให้เราเป็นทาสสิ่งอำนวยความสะดวก ไปไหนไม่มีข้าวของเครื่องใช้มากมายแบบนั้นก็อยู่ไม่ได้ อึดอัด บางคนถึงขั้นทุรนทุราย เหมือนกับคนที่ติดโทรศัพท์ คิดว่าโทรศัพท์มันให้เสรีภาพกับเรา มีสัญญาณโทรศัพท์สามารถที่จะติดต่อผู้คนได้ทั่วโลก จะดูหนังฟังเพลงช่องไหนประเภทไหนก็ได้ เขาคิดว่านี่คือเสรีภาพ อิสรภาพ แต่พอไปที่ที่ไม่มีโทรศัพท์ไม่มีสัญญาณก็ลงแดง เพราะติดมันเสียแล้ว กลายเป็นทาส ที่ไหนที่ไม่มีสัญญาณโทรศัพท์ก็ไม่ไป จะไปเที่ยวทะเล จะไปเที่ยวน้ำตก มีสิ่งสวยงามมากมาย แต่พอรู้ว่าไม่มีสัญญาณโทรศัพท์ก็ไม่ไป อันนี้แสดงว่าเป็นทาสมันเสียแล้ว และเสรีภาพที่คิดว่ามันให้เรา ปรากฏว่ากลับกลายเป็นถูกจำกัดเสรีภาพ เพราะว่าการติดในความสะดวกสบาย
เพราะฉะนั้นการเป็นพระนั้น เรามาเพื่อฝึกให้จิตใจมีอิสระ อิสระอันหนึ่งก็คือการไม่พึ่งพาหรือว่าเป็นทาสของวัตถุ อาศัยมันก็จริงแต่ว่าไม่เป็นทาสของมัน มีก็ได้ ไม่มีก็ได้ หรือว่าก็มีเพียงแค่พออยู่ได้ ประทังชีวิตอยู่ได้ก็พอแล้ว ให้เรารู้จักกับเสรีภาพแบบนี้บ้าง เสรีภาพที่ไม่ถูกกำหนดครอบงำโดยความสะดวกสบายหรือว่าวัตถุสิ่งเสพ จะไปในที่ที่มันลำบากก็มีความสุขได้ ไม่มีน้ำอัดลม ไม่มีอาหารอร่อยกินก็มีความสุขได้ ให้เรารู้จักกับอิสรภาพและความสุขชนิดนี้บ้าง การบวชนี้มันเป็นโอกาสทำให้เราได้สัมผัสได้เจอกับอิสรภาพและความสุขอย่างนี้แหละ ไม่ต้องอิงวัตถุ ไม่ต้องอิงความสะดวกสบาย แต่มันเกิดจากความสงบภายใน