แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
สมัยพุทธกาล มีเศรษฐีคนหนึ่งรวยมาก แต่ว่าอยู่แบบตระหนี่ถี่เหนียว ข้าวก็กินแบบจำกัดจำเขี่ย กินข้าวปลายหัก เสื้อผ้าก็ปุปะแล้วปุปะอีก แล้วก็ไม่ค่อยจะเผื่อแผ่บริจาคให้ทาน หรือว่าใช้เงินเพื่อการเลี้ยงดูลูกหลานให้มีความสุข พอตายก็ไม่มีทายาท ทรัพย์สมบัติทั้งหลายก็ตกเป็นของหลวง สมัยก่อนมันมีธรรมเนียมว่าถ้ามีทรัพย์สมบัติมากมายแล้วไม่มีผู้รับมรดก พอเจ้าของทรัพย์นั้นตายไปสมบัติก็ตกเป็นของหลวงไป
อันนี้ก็เป็นเหตุผลที่พ่อแม่ของพระสุทินมาขอร้องให้พระสุทินสึก เพราะว่าถ้าไม่สึกแล้วจะไม่มีคนรับมรดก เพราะพระสุทินก็มาบวชตั้งแต่ยังหนุ่ม ทายาทก็ไม่มี พ่อแม่บอกให้พระสุทินสึกมาแต่งงาน พระสุทินก็ไม่ยอมเพราะว่าตั้งใจบวชอย่างมาก กว่าจะบวชได้ก็ต้องอดอาหารประท้วงพ่อแม่ จนกระทั่งพ่อแม่ยอมให้บวช ที่นี้พอพระสุทินไม่สึก แม่ก็บอกว่า ถ้าไม่สึกแล้วเกิดแม่ตายไปพ่อตายไป สมบัติก็ต้องตกเป็นของหลวง ถ้าพระสุทินไม่สึกก็หาทายาทให้แม่ก็แล้วกัน พระสุทินอยากจะอยู่ในผ้าเหลืองนานๆ ก็เลยยอม ไม่สึกก็ได้แต่ว่าให้หาทายาทมาให้แม่ พระสุทินก็เลยยอมเสพกาม เพราะว่าตั้งใจที่จะรักษาชีวิตพระเอาไว้ แต่ปรากฏว่าการเสพกามครั้งนั้นทำให้กลายเป็นเรื่องใหญ่เพราะว่ามันผิด สมัยนั้นยังไม่มีการกำหนดเป็นสิกขาบทว่าการเสพเมถุนเป็นปาราชิก แต่ว่าก็เป็นที่รู้กันว่านักบวชจะต้องละเว้นจากการเสพเมถุน พอเรื่องนี้ไปทราบถึงพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าก็เลยตำหนิ ต่อว่า แล้วก็เลยเป็นที่มาของปฐมปาราชิก เป็นที่มาของการบัญญัติสิกขาบทข้อแรกว่า การเสพเมถุนเป็นปาราชิกสำหรับภิกษุ
อันนี้เขาเรียกว่า ทำไปด้วยความผิดพลาดโดยสุจริตของพระสุทินก็ได้ คืออยากจะอยู่ในผ้าเหลือง แต่ว่าทนการรบเร้าของพ่อแม่ไม่ได้ ก็พบกันครึ่งทาง ยังเป็นพระอยู่แต่ว่าผลิตหลานให้พ่อแม่ จะได้เป็นผู้รับมรดก หาไม่หลวงก็ต้องยึดทรัพย์ไป ด้วยความเสียดาย ก็เป็นความไม่รู้ของพระสุทิน ว่าแม้จะเป็นความผิดพลาดโดยสุจริต แต่ว่าก็เป็นเหตุการณ์สำคัญที่ต้องจารึกไว้ในประวัติศาสตร์ของคณะสงฆ์ ว่าเป็นที่มาของปฐมปาราชิก แต่ก็น่าสนใจตรงที่ว่า ทั้งเมียของพระสุทินและลูกนี้ ภายหลังก็ได้เป็นพระอรหันต์ทั้งสองคน เมียมาบวชเป็นภิกษุณีก็ได้เป็นพระอรหันต์ ลูกมาบวชก็เป็นพระอรหันต์ ในแง่นี้ก็เรียกว่าพระสุทินได้ทำคุณประโยชน์ในความผิดพลาดของพระสุทิน ด้วยความไม่รู้นี้ก็มีประโยชน์ต่อพระศาสนา ทำให้มีพระอรหันต์เกิดขึ้นสองคน อันนี้เป็นเบื้องหลัง
แต่ประเด็นที่จะพูดในเช้านี้ก็ไม่เกี่ยวกับเรื่องพระสุทินโดยตรง เพียงแต่ก็ยกตัวอย่างว่าในสมัยพุทธกาลมันมีธรรมเนียมว่าถ้ามีทรัพย์แล้วตาย และไม่มีทายาท ทรัพย์นั้นก็ตกเป็นของหลวง เศรษฐีคนนี้ก็เหมือนกัน พอตายทรัพย์สมบัติก็ถูกยึดเป็นของหลวง ก็เป็นข่าวใหญ่ในเมืองสาวัตถี พระพุทธเจ้าเมื่อได้ทราบข่าวนี้ก็ได้พูดถึงเศรษฐีคนนี้ว่าเป็นโมฆะบุรุษ เป็นคนโง่ เพราะว่าไม่รู้จักใช้ทรัพย์ให้เกิดประโยชน์ เมื่อมีทรัพย์แล้วก็ต้องใช้ทรัพย์ให้เกิดประโยชน์ เช่น เลี้ยงตัวให้มีความสุข ไม่ใช่อยู่อย่างอดๆ อยากๆ เลี้ยงตัวให้มีความสุขแล้วไม่พอ ก็ต้องเลี้ยงลูกหลานให้มีความสุขด้วย แล้วก็รู้จักเอาทรัพย์นั้นมาเผื่อแผ่ให้ผู้อื่นให้เกิดประโยชน์ เช่น เลี้ยงสมณะชีพราหมณ์ บำรุงสมณะชีพราหมณ์ หรือว่าช่วยเหลือส่วนรวม อันนี้จึงจะเรียกว่าเป็นการใช้ทรัพย์อย่างผู้มีปัญญา มีแล้วไม่ใช้ มีแล้วอดออมแบบกระเบียดกระเสียน การอดออมก็ดีแต่ถ้าถึงขั้นตระหนี่ถี่เหนียว ถือว่าเป็นคนที่ไม่ฉลาดในการใช้ทรัพย์ ก็จัดว่าเป็นคนโง่อย่างหนึ่ง ในพระพุทธศาสนาเองไม่ได้ปฏิเสธเรื่องการมีทรัพย์สินเงินทองมากมาย ทรัพย์สินเงินทองมีมากมายก็ดี มีแต่มีแล้วก็ต้องใช้ให้เกิดความสุข ความสุขจากการใช้ทรัพย์ก็เป็นสิ่งที่พระพุทธเจ้าสนับสนุน มีทรัพย์แล้วก็ต้องใช้ให้มีความสุข แต่ก็ต้องระวังว่าอย่าไปยึดติดในทรัพย์นั้น ถ้ายึดติดในทรัพย์ อันนี้เป็นอันตรายเเล้ว เพราะว่าทรัพย์จะกลายเป็นตัวขัดขวางความเจริญงอกงามในชีวิต
มีธรรมหมวดหนึ่ง พระพุทธเจ้าพูดถึงการมีอายุยืนยาวเรียกว่าอายุวัฒนธรรม อายุวัฒนะและธรรมะเกี่ยวกับอายุวัฒนะ ก็มีสองในห้าข้อคือว่า รู้จักทำตนให้มีความสุขสบาย พุทธศาสนาไม่ได้สอนให้ทรมานตนหรือว่าทำตนให้ลำบาก ต้องรู้จักทำตนให้สบาย มันจะช่วยทำให้มีอายุยืนยาว แต่ต้องมีข้อที่สองกำกับคือว่า ให้รู้จักประมาณในความสบาย คือถ้าสบายเกินมากเกินไปก็ไม่ดี พระพุทธเจ้าพูดมา 2,600 ปีแล้ว มันก็ยังใช้ได้ทุกวันนี้ เพราะว่าทุกวันนี้ที่คนอายุสั้นตายเร็ว ก็เพราะว่ามันสบายมากไป เอาแต่กิน กินเสร็จก็นั่งๆ นอนๆ ทำงานทำการก็นั่ง ไม่ได้ออกไปไร่นาหรือใช้แรงเหมือนสมัยก่อน ทั้งวันไม่ค่อยได้ออกกำลังกาย นั่งอยู่หน้าจอ จะเป็นจอโทรทัศน์ จอคอมพิวเตอร์ หรือจอโทรศัพท์ก็แล้วแต่ เสร็จแล้วก็เกิดโรคอ้วน ไขมันในเส้นเลือดเพียบ ถ้าไม่เป็นโรคหัวใจ ก็โรคหลอดเลือดสมอง พอเส้นเลือดอุดตันก็หัวใจวายบ้าง หรือว่าเป็นอัมพาต อัมพฤกษ์บ้าง มะเร็งก็เหมือนกัน อันนี้เรียกว่าตายเร็วเพราะสบายมากไป ไม่รู้จักประมาณในความสบาย สบายแล้วก็ต้องออกกำลังกาย ต้องทำโน่นทำนี่ แล้วก็ไม่ให้บริโภคมากมายเกินไป
เรื่องทรัพย์ก็เหมือนกัน ทรัพย์นี้มีประโยชน์ แต่ว่าก็อย่าไปติดในทรัพย์ ต้องถือว่าทรัพย์เป็นเพียงแค่อุปกรณ์ที่จะช่วยทำให้เกิดความสุข แล้วก็ใช้ทรัพย์นั้นเพื่อทำให้ผู้อื่นมีความสุข สุขแล้วยังไม่พอ ก็ต้องเอาความสุขนั้นมาใช้ ในการพัฒนาจิตให้เจริญงอกงาม เช่น การทำสมาธิ สุขในพุทธศาสนา โดยเฉพาะสุขจากการใช้ทรัพย์ เพื่อ จะได้มีเรี่ยวแรง มีสิ่งอำนวยให้ไปทำประโยชน์ จะเป็นประโยชน์ตนก็ดี ประโยชน์ท่านก็ดี ถ้าสุขแล้วนั่งเฉยๆ อันนี้อันตราย สุขนั้น รวมทั้งสุขที่เกิดจากทรัพย์ อันนี้ต้องเป็นไปเพื่อธรรมะ มันไม่ใช่จุดหมายสูงสุด แต่เป็นแค่ปัจจัยที่จะนำไปสู่ธรรมะ เพราะฉะนั้นเมื่อถึงจุดหนึ่งที่จะต้องเลือกระหว่างทรัพย์กับธรรมะ ผู้มีปัญญาหรือบัณฑิต หรือชาวพุทธก็จะเลือกธรรมะ ถ้าจะต้องเลือกระหว่างทรัพย์กับธรรมะ ก็จะเลือกธรรมะ แม้จะต้องเสียทรัพย์ไปก็ ไม่อาลัย
ในสมัยพุทธกาล ก็มีเศรษฐีนีคนหนึ่ง ชื่อนางกาติยานี รวยมาก วันหนึ่งได้ข่าวว่ามีพระอรหันต์ท่านหนึ่งชื่อว่าพระโสณะกลับมาเยี่ยมบ้าน มาเยี่ยมโยมแม่ โยมแม่ก็เลยจัดให้มีการแสดงธรรมในตอนค่ำคืน นางกาติยานีก็ไปฟังธรรม พระโสณะก็แสดงธรรมอย่างไพเราะและลึกซึ้ง ใช้เวลาหลายชั่วโมงทีเดียวจนกระทั่งดึก ก็มีโจรอยู่กลุ่มหนึ่งรู้ว่าชาวบ้านจะไปฟังธรรม เลยฉวยโอกาสไปขึ้นบ้านนางกาติยานีในขณะที่นางกาติยานีไปฟังธรรม โจรก็มีหลายคนตามเรื่องก็ว่าเป็นร้อยเลย ไปขึ้นบ้านแล้วก็ลักทรัพย์ เอาขนทรัพย์สมบัติไป ส่วนหัวหน้าโจรก็คอยดัก คอยเฝ้านางกาติยานีเอาไว้อยู่ข้างนอกศาลา เพื่อว่านางกัลยาณีเกิดไหวตัว หรือว่าเกิดรู้ข่าวแล้วก็จะมารักษาปกป้องทรัพย์ หัวหน้าโจรก็จะจัดการฆ่าเสียเลย เพื่อให้แผนการของตัวเองสำเร็จ ในระหว่างที่มีการขนทรัพย์ คนใช้หรือนางทาสีก็รู้ข่าว อยู่ในเหตุการณ์ก็คงไม่กล้าไปขัดขวางโดยตรง เพราะว่าโจรมีเยอะ เลยหนีไปแอบไปบอกนางกาติยานีระหว่างที่กำลังฟังธรรมอยู่ว่ามีโจรมาลักทรัพย์แล้ว นางกาติยานีได้ยินก็ไม่สนใจ บอกว่าอย่ามารบกวนฉัน ฉันกำลังฟังธรรม โจรจะมาขนก็ขนไป เพราะว่าการฟังธรรมนี้เป็นโอกาสสำคัญมาก นางกาติยานีไม่ใช่ว่าไม่ใช่หวงทรัพย์ มีความห่วงใยทรัพย์แต่เห็นว่าการฟังธรรมเป็นโอกาสฟังได้ยาก เพราะฉะนั้นขอฟังธรรมก่อน ส่วนทรัพย์มันจะหายไปอย่างไรก็ช่างมัน จึงปรามนางทาสีว่าอย่ามารบกวนฉัน ฉันกำลังฟังธรรม โจรมันจะขนทรัพย์ก็ช่างมัน
หัวหน้าโจรได้ฟังก็ประหลาดใจ ทีแรกคิดว่านางกาติยานีจะผลุนผลันไปปกป้องรักษาทรัพย์ แต่กลับไม่สนใจเพราะเห็นแก่ธรรมะ ในแง่หนึ่งก็เกิดความแปลกใจว่าผู้หญิงคนนี้ไม่เหมือนใคร แต่อีกด้านหนึ่งก็รู้สึกว่าธรรมะนี้คงมีความสำคัญมาก ถึงขนาดที่นางกาติยานียอมที่จะสละทรัพย์เพื่อธรรมะ ดังนั้นเมื่อนางกาติยานีฟังธรรมจบ หัวหน้าโจรก็เลยเข้าไปหาและแสดงตัวว่าเป็นใคร แล้วสนใจอยากจะรู้ว่าทำไมนางถึงยอมสละทรัพย์เพื่อธรรมะ สุดท้ายเรื่องนี้ก็ลงเอยด้วยว่า หัวหน้าโจรบอกให้ลูกน้องเอาทรัพย์สมบัติไปคืน หัวหน้าโจรนี้ก็ถึงกับมาบวช มาบวชเพราะว่าเกิดศรัทธาในธรรมของพระพุทธเจ้าที่พระโสณะได้แสดง และในที่สุดทั้งหัวหน้าโจรที่บวชพระ และลูกน้องที่บวชพระเหมือนกัน ก็บรรลุธรรมเป็นพระอรหันต์
อันนี้เป็นเรื่องที่จะมาเล่าเพื่อชี้ให้เห็นว่า ในทางพุทธศาสนาถือว่าทรัพย์เป็นสิ่งที่มีประโยชน์ที่ควรจะใช้ แต่ว่าเมื่อถึงเวลาที่ต้องเลือกระหว่างทรัพย์กับธรรมะ ก็ควรที่จะสละทรัพย์เพื่อธรรมะ แต่คนทุกวันนี้เห็นตรงข้าม พอมีทรัพย์มากก็ยึดติดในทรัพย์ แล้วก็เห็นว่าทรัพย์มีคุณค่ามากกว่าธรรมะ ถ้าเป็นเหตุการณ์อย่างนางกาติยานี เชื่อว่าเกือบจะร้อยทั้งร้อยคงไม่เอาแล้วธรรมะ ไม่ฟังแล้ว คงจะรีบผลุนผลันไปรักษาทรัพย์ ซึ่งถ้าเป็นอย่างนั้นก็คงตาย เพราะหัวหน้าโจรนี้รออยู่แล้ว รอที่จะจัดการถ้าเกิดว่ากระโตกกระตากไป ถ้าเป็นอย่างนั้นก็เรียกว่าธรรมะก็ไม่ได้ ทรัพย์ก็ไม่มีโอกาส เพราะตายเสียก่อน แต่นางกาติยานีเป็นคนฉลาด เมื่อถึงเวลาก็ที่จะต้องเลือก ก็เลือกธรรมะมากกว่าทรัพย์
คนเรานี้จะมีโอกาสบ่อยครั้งที่ต้องเลือกระหว่างธรรมะกับทรัพย์ อาจจะไม่ใช่สถานการณ์แบบเดียวกับนางกาติยานี แต่ตัวอย่างง่ายๆ ที่ว่าเห็นเงินเห็นทองของคนวางอยู่บนโต๊ะ เงินหลายหมื่น อาจจะเป็นทองหลายบาท หรือว่าไม่ต้องขนาดนั้นก็ได้ แค่โทรศัพท์ เห็นวางอยู่บนโต๊ะ หรือว่าวางอยู่ในที่ที่ไม่มีเจ้าของ หลายคนก็จะเลือก เลือกที่จะเอาทรัพย์เหล่านั้น คือขโมยนั่นแหละ ทั้งๆ ที่รู้ว่าการขโมยมันผิดศีล แต่ไม่สนใจแล้วศีล กูจะเอา เพราะคนจำนวนมาก เลือกทรัพย์มากกว่าธรรมะ บางทีมีสมบัติส่วนรวมเห็นอยู่ใกล้ตัว มีสมบัติของวัดอยู่ใกล้ๆ ไม่มีใครอยู่เห็นก็หยิบไป ก็รู้อยู่ว่ามันบาปแต่ก็ทำ เอากลับบ้าน เอาติดตัวไป อันนี้เรียกว่าเลือกทรัพย์มากกว่าธรรมะ หรือบางทีทำงานอยู่ มีโอกาสที่จะได้เงิน มีโอกาสที่จะโกง มีโอกาสที่จะคอรัปชั่น เป็นข้าราชการหรือพนักงานก็ติดต่อกับพ่อค้า เขาจะให้เงินใต้โต๊ะก็เอา ก็รู้อยู่ว่าผิดศีล รู้ว่ามันบาปก็ยังทำ อย่างนี้เรียกว่าเลือกทรัพย์มากกว่าธรรมะ
สมัยนี้มีโอกาสที่ยั่วยุให้คนทำผิดศีลมากทีเดียว มันมีตลอดเวลา แล้วคนส่วนใหญ่ก็เลือกที่จะผิดศีลผิดธรรม เพราะว่าเห็นแก่ทรัพย์ อันนี้ถ้าเกิดว่าเป็นคนฉลาดก็จะเลือกธรรมะมากกว่าทรัพย์ เห็นของมันอยู่ตรงหน้า มันยั่วยวนใจอย่างไรก็ไม่เอา เพราะคนฉลาดรู้ว่าไม่คุ้ม เอาไปแล้วถ้าตำรวจจับได้หรือว่าเจ้าทรัพย์รู้ ก็อาจจะติดคุก หรือถึงไม่ติดคุกมันก็เสียชื่อ ทำให้คนอื่นรู้ว่าเป็นเราคนที่ไว้ใจไม่ได้ ต่อไปจะทำมาหากิน จะติดต่อใครคนก็ไม่มรใครเขาไว้ใจ อาจจะเป็นอย่างนี้ตลอดชีวิตเลยก็ได้ มันไม่คุ้มเลย เอาไปสามหมื่น สี่หมื่นหรือเอาไปเป็นแสน แต่ว่าลงเอยการที่ติดคุก เงินก็ต้องคืนเขาไป หรือไม่ติดคุกก็เสียหน้าเสียชื่อ แล้วมิหนำซ้ำอาจจะมีนรกรออยู่ข้างหน้าก็ได้ ถึงแม้ว่าจะไม่มีใครรู้ ตำรวจจับไม่ได้ เจ้าทรัพย์ก็หาดมกลิ่นไม่เจอ แต่ว่าก็เจอนรกในภพหน้า ที่จริงนรกก็อาจจะเกิดขึ้นในขณะที่ยังไม่ตายก็ได้ เกิดความเดือดเนื้อร้อนใจ เกิดความหวาดกลัว เกิดความระแวงว่าเจ้าทรัพย์จะรู้ ตำรวจจะจับ ได้เงินแต่ว่านอนไม่เป็นสุข อันนี้เรียกว่าไม่คุ้มเลย เพราะว่าผิดธรรมผิดศีล ยิ่งเงินเอาไปไม่กี่บาท ยิ่งไม่คุ้มเลย
หรือบางทียืมเงินเขาไป ยืมเงินไปแล้ว ทีแรกก็ตั้งใจจะคืน แต่ว่าตอนหลังเสียดายก็อมเอาไว้ไม่คืน ภาษาชาวบ้านเรียกว่าชักดาบ อันนี้เขาเรียกว่าเลือกทรัพย์มากกว่าธรรมะ เพราะว่าถ้าเป็นคนที่มีสัจจะ มีศีลก็ต้องคืน ตอนที่ยืมไปก็รับปากเป็นมั่นเป็นเหมาะว่าฉันจะคืน ๆ แล้วพอได้มาก็กลับเสียดาย หาเงินมาได้ก็ไม่อยากคืน คนอย่างนี้เขาเรียกว่าเป็นคนโง่ เพราะว่าเมื่อเลือกทรัพย์มากกว่าธรรมะ มันก็จะต้องชดใช้ ต้องรับกรรม เช่น ไม่มีความน่าเชื่อถือ เป็นคนที่คนไม่ไว้ใจ คำพูดไม่น่าเชื่อถือ ต่อไปจะยืมเงินใครก็ยาก บางทีจะขอความช่วยเหลือจากใครเขาก็ไม่ช่วย เพราะเห็นว่าเป็นคนที่ไม่มีสัจจะ แล้วเงินที่เอาไปนี้มันก็ต้องชดใช้ อาจจะไม่ชดใช้ในชาตินี้ อาจต้องชดใช้ในชาติหน้า ยืมไป 100 บาท ยืมไป 1,000 บาท แต่พอชดใช้นี้มันหลายเท่า อาจจะชดใช้ในชาตินี้ก็ได้ เช่น ยืมเงินไป เสร็จแล้วตัวเองบ้านก็ถูกขโมย บางทีก็ถูกยึดรถ เพราะรถนี้มันหลายแสน อันนี้ก็อาจจะเป็นผลจากการที่ต้องใช้กรรม เพราะว่าไปลักทรัพย์หรือว่าไปชักดาบเอาไว้ มาคิดดูมันไม่คุ้มเลย คือถ้าหากว่าทำผิดธรรมแล้วมันต้องเกิดวิบาก แล้วต้องชดใช้มากกว่าเงินที่ตัวเองขโมยไปหรือลักเอาไป หรือว่าชักดาบไปหลายเท่าทีเดียว
คนไม่ค่อยคิดเท่าไหร่ คิดแต่เรื่องว่าประโยชน์เฉพาะหน้าว่าได้ของฟรี เพราะฉะนั้นคนฉลาดจริงๆ เมื่อจะต้องเลือกระหว่างธรรมะกับทรัพย์ เขาจะเลือกธรรมะ เขาจะไม่เลือกทรัพย์โดยทิ้งธรรมะไป เพราะรู้ว่ามันจะเกิดผลเสียตามมามากมาย แล้วในที่สุดก็ต้องชดใช้ด้วยทรัพย์ ด้วยเงินที่มากกว่าที่ได้มาหลายเท่า แล้วก็อาจจะตามไปชดใช้หนี้ถึงชาติหน้าก็ได้ เพราะฉะนั้นไม่ว่าทรัพย์จะมีประโยชน์ แต่ว่าเราก็อย่าถึงกับติดในทรัพย์ จนกระทั่งเลือกทรัพย์ แล้วก็ทิ้งธรรมะไป