แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
พวกเราคงเคยได้ยินชื่อของหลวงปู่ดุลย์ อตุโล ลูกศิษย์รุ่นแรกๆของหลวงปู่มั่น ท่านมรณะภาพไปเกือบ 30 ปีแล้ว ตอนที่ท่านยังมีชีวิตอยู่ ก็เป็นที่เคารพนับถือของผู้คนมากมาย ทั้งพระทั้งโยม ลูกศิษย์ลูกหาก็มีมาก มีลูกศิษย์คนหนึ่งชื่อหลวงตาพวง ก็จะบวชเมื่อแก่ แต่บวชด้วยศรัทธา บวชแล้วก็ตั้งใจปฏิบัติ ปฏิบัติอย่างเอาจริงเอาจัง แต่พอปฏิบัติไปปฏิบัติไป แล้วก็เกิดวิปัสนู เรียกเต็มๆ ว่า “วิปัสสนูปกิเลส” คือสำคัญตนว่าเป็นพระอรหันต์ จิตใจก็พองโต พอคิดว่าตัวเองเป็นพระอรหันต์ ก็อยากจะสอน และก็นึกถึงหลวงปู่ดุลย์ผู้เป็นอาจารย์ อยากไปสอนหลวงปู่ดุลย์ให้รู้แจ้งเห็นจริงเหมือนตัวเองบ้าง ก็เลยเดินจากพนมรุ้ง จ.บุรีรัมย์ ไปที่วัดบูรพารามจังหวัดสุรินทร์ ระยะทาง 80 กิโลเมตร เดินทั้งวันทั้งคืน
ไปถึงวัดบูรพารามก็ค่ำแล้ว ไปตะโกนเรียกหลวงปู่ดุลย์ที่หน้ากุฏิให้ออกมา ออกมาฟังธรรม หลวงปู่ท่านก็เปิดกุฏิ ก็เปิดประตู พอหลวงตาพวงเห็นหลวงปู่ดุลย์ หลวงตาพวงก็บอกว่าทำไมอยู่เฉยๆ ทำไมไม่มากราบ เป็นผู้สำเร็จมาแล้ว มากราบสิ บอกให้ครูบาอาจารย์มากราบ หลวงปู่ดุลย์รู้ว่าวิปัสสนูกินแล้ว ก็พยายามที่จะช่วย พยายามเตือนสติให้รู้ตัว เช่น สอบถามปัญหาธรรมมะ หลวงตาพวงก็ตอบผิดๆ ถูกๆ ก็ยังไม่รู้ตัว เพราะว่าหลงเต็มที่ สุดท้ายหลวงปู่ดุลย์ก็บอกให้พระเณรพาหลวงตาพวงไปพักในโบสถ์ นึกว่าวันรุ่งขึ้นจะส่าง แต่ยังหลงอยู่ เที่ยวเทศน์เที่ยวสอนพระสอนเณร ทั้งวันทั้งคืนไม่มีเหน็ดเหนื่อย
เป็นอย่างนี้อยู่สามวันเต็มๆ หลวงปู่ดุลย์เห็นแล้วว่าในการนี้หนักอยู่ และก่อกวนพระเณรไม่สงบสุขเลย อยู่กันไม่สงบสุข และสุดท้ายท่านไปหาหลวงตาพวง และบอกว่า “ไอ้สัตว์นรก สัตว์นรกออกไปจากวัดเดี๋ยวนี้” หลวงปู่ดุลย์ปกติท่านพูดเรียบๆ เงียบๆ แต่คราวนี้ท่านพูดเสียงดังและก็ไม่เคยใช้คำอย่างนี้มาก่อน “ไอ้สัตว์นรก ออกไปจากวัดเดี๋ยวนี้” หลวงตาพวงตกใจและโกรธ “หนอยมาเรียกผู้สำเร็จ เรียกพระอรหันต์แบบนี้ ไปก็ได้ว่ะ” ก็แบกกลดออกไป จริงๆ ไม่ใช่กลด แต่ไปแบกอะไรสักอย่างออกไปที่คิดว่าเป็นกลด ด้วยความตกใจด้วยความโกรธ ไปก็ได้ว่ะ แต่พอเดินไปถึงกลางทาง ความหลงที่เกิดจากการที่จิตติดในอารมณ์ พอมันถูกความโกรธกระแทก ก็ค่อยหลุดจากอารมณ์ จิตที่เคยติดอารมณ์อย่างหนักเลย พอถูกกระแทกด้วยความโกรธ ปรากฏว่าพอเดินไปได้กลางทาง ความหลงก็หลุดออกไปจากใจ รู้ตัวแล้ว รู้ตัวว่าหลง แล้วก็รู้ตัวว่าทำอะไรลงไป ยังดีนะไม่เหมือนคนเมา เพราะคนเมาที่ทำอะไรลงไปแล้วไม่รู้ตัว แต่หลวงตาพวงนี่รู้ตัว ระลึกได้ว่าสองสามวันที่ผ่านมาทำอะไรไปบ้าง สุดท้ายก็กลับไปขอขมาหลวงปู่ดุลย์
จากคนที่หลงเกือบจะเป็นบ้าแล้ว กลับมารู้สึกตัวได้เพราะอำนาจของความโกรธ ถูกด่าแล้วก็โกรธ โกรธนี่ก็ทำให้หายหลงได้เหมือนกัน ปกติเราก็รู้หรือเห็นว่าความโกรธทำให้คนหลง ถ้าโกรธเมื่อไรมันก็จะจมอยู่ในอารมณ์ ไม่รู้เนื้อรู้ตัว อันนี้เห็นบ่อย แต่ความโกรธนี้ถ้าใช้เป็น มันก็จะทำให้คนกลับมารู้สึกตัวได้ แต่หลวงปู่ดุลย์ ท่านแก้อารมณ์ของหลวงตาพวง โดยการใช้หรือกระตุ้นให้เกิดความโกรธ แล้วความโกรธกระแทกใจที่มันติดอยู่ในอารมณ์ให้มันหลุดออกมา พอจิตมันหลุดจากอารมณ์ จิตก็รู้สึกตัวขึ้นมาทันที ถ้ามองในแง่นี้ความโกรธก็มีประโยชน์ ความโกรธไม่ได้มีแต่เพียงโทษที่ทำให้คนหลงหรือลืมเนื้อลืมตัว ถ้าใช้ให้เป็น ความโกรธนี้ก็จะทำให้คนกลับมารู้เนื้อรู้ตัวได้ อารมณ์ที่เป็นลบมันก็เป็นคุณเหมือนกันถ้าเราใช้ให้เป็น อันรวมถึงอารมณ์อย่างอื่นด้วย ความโศก ความเศร้า ความน้อยเนื้อต่ำใจ
ในสมัยพุทธกาลก็มีเรื่องราวของภิกษุณีท่านหนึ่ง เดิมมีสามี ที่จริงก็ไม่ได้อยากจะมีครอบครัว แต่พ่อแม่อยากจะให้มีสามีเป็นฝังเป็นฝา หลังจากที่ได้ดูแลปรนนิบัติสามีมาระยะหนึ่ง ทำหน้าที่ได้อย่างดี และเห็นว่าได้เวลาที่จะบวชแล้ว ก็ขออนุญาตสามีออกบวช สามีก็ให้ บวชภิกษุณี แต่บวชแล้วปรากฎว่าไม่นานก็ท้อง ก็เป็นเรื่อง ที่แรกก็สรุปกันว่าที่ท้องเพราะมีการเสพเมถุนในระหว่างบวชภิกษุณี ต้องอาบัติปาราชิก แต่ตอนหลังให้นางวิสาขามาช่วยนับวัน ก็สรุปได้ว่ามีเพศสัมพันธ์กับสามีก่อนที่จะมาบวช เพราะฉะนั้นเลยไม่ต้องอาบัติปาราชิก เมื่อเด็กอยู่ในครรภ์ครบ ก็คลอดออกมา คลอดออกมาแล้วอยู่วัดก็อยู่ไม่ได้ ก็ต้องหาครอบครัวรับไปเลี้ยง ปรากฏว่าพระเจ้าปเสนทิโกศลรับไปเลี้ยง แล้วก็ตั้งชื่อเด็กคนนี้ว่า “กุมารกัสสปะ”
กุมารกัสสปะคิดว่าตัวเองเป็นลูกของพระเจ้าปเสนทิโกศล จนกระทั่งเมื่อโตขึ้นก็รู้ว่าแม่ของตัว ก็คือภิกษุณีในวัดเชตวัน ก่อนหน้านั้นก็รู้สึกเป็นทุกข์มาก เพราะถูกเพื่อนล้อว่าไม่มีแม่ ตอนหลังพอรู้ ก็มาใคร่ครวญกับชีวิต เลยคิดว่าอยากจะบวช ก็เลยบวชเณร เมื่อบวชเณรก็ตั้งใจปฏิบัติ จนกระทั่งในที่สุดก็บรรลุธรรม ตอนบรรลุธรรม คัมภีร์พูดไม่แน่ชัดว่าบรรลุธรรมตอนเป็นเณรหรือว่าตอนเป็นพระแล้ว เมื่ออายุครบบวชก็บวชพระ ส่วนภิกษุณี หลังจากที่ลูกไปอยู่กับพระเจ้าปเสนทิโกศล ก็คอยฟังข่าวคราวด้วยความรักลูก จนกระทั่งรู้ว่าลูกบวชก็คอยติดตามดู ก็รู้ว่าลูกบวช รู้ว่าคนไหนคือลูกของตัว วันหนึ่งบิณฑบาตอยู่ก็เห็นกุมารกัสสปะ (ไม่รู้ว่าเป็นสามเณรหรือเป็นพระ ในตำราที่เขาพูดไม่ค่อยชัดเจนเท่าไร) ได้เห็นลูกตัวเองอยู่ข้างหน้า กำลังบิณฑบาต ก็ดีใจไม่เคยพูดคุยกันเลย ก็รีบตรงไปหาพระกุมารกัสสปะหรือเณรกุมารกัสสปะ เผอิญสะดุดหกล้ม เณรกุมารกัสสปะก็เลยรู้ ทีแรกก็นึกสงสารแม่ แต่ก็มานึกว่าถ้าพูดดีกับแม่ แม่ก็จะยิ่งติดพันตัวเองมากขึ้น เลยเปลี่ยนไปพูดด้วยถ้อยคำที่ไม่มีหางเสียงว่า “ท่านทำอะไรอยู่ ทำไมยังตัดใจรักลูกไม่ได้ ทำไมแม่ยังตัดความรักลูกไม่ได้” ภิกษุณีท่านนั้นได้ฟังก็เสียใจ น้อยใจด้วยว่าเราอุตสาห์รักลูก คิดถึงลูก แต่ลูกมาพูดแบบนี้กับเรา ภิกษณีท่านเสียใจมากเลย
แต่ปรากฏว่าหลังจากเหตุการณ์นั้นก็ทำให้ตัดใจลูกได้จริงๆ เมื่อลูกไม่สนใจเรา เราก็มาตั้งหน้าปฏิบัติดีกว่า ปรากฏว่าท่านปฏิบัติไม่นานก็บรรลุธรรมเป็นพระอรหันต์ อันนี้เรียกว่าบรรลุธรรมได้ด้วยความน้อยเนื้อต่ำใจ แล้วก็ผสมความโกรธด้วย ที่ลูกพูดกับเราแบบนี้ เราเป็นแม่ รักลูก คิดถึงลูกตลอดเวลา ทำไมทำกับเราแบบนี้ ถ้ามันเกิดขึ้นกับใครก็ทุกข์มาก แต่ว่ามันก็เป็นปัจจัยที่ทำให้ท่านหันมาปฏิบัติธรรมอย่างจริงจัง ตัดใจได้ และก็บรรลุธรรมเป็นพระอรหันต์ ความน้อยเนื้อต่ำใจไม่ดี เกิดขึ้นกับใครก็เป็นทุกข์ทั้งนั้น แต่ว่ามันสามารถเป็นปัจจัยที่ทำให้เกิดกุศล หรือว่าทำให้เกิดสิ่งดีได้ อันนี้ก็เป็นเรื่องราวของคนที่ใช้อารมณ์บางอย่าง เพื่อทำให้เกิดประโยชน์กับอีกฝ่ายหนึ่งได้ เช่นใช้ความโกรธกระแทกให้หายหลง หรือกระตุ้นให้เกิดความน้อยเนื้อต่ำใจ จะได้ตัดใจในตัวลูกเสียที มุ่งหน้าสู่การปฏิบัติ แต่ว่าจริงๆ แล้ว หากมันเกิดขึ้นกับเราเอง ถ้าเราฉลาดพอและมีสติพอ เราก็จะสามารถใช้อารมณ์ที่เป็นอกุศลมาทำให้เกิดประโยชน์ได้
มีเณรคนหนึ่งเขาอยู่ในสำนักหลวงพ่อชา สำนักหลวงพ่อชาวัดหนองป่าพง เมื่อถึงวันพระจะมีการเทศน์จนดึก และมีการปฏิบัติเนสัชชิกจนรุ่งเช้า มีวันพระหนึ่ง หลวงพ่อชาท่านขึ้นธรรมาสน์เทศน์ตอนดึกแล้ว ท่านเทศน์ยาว สามเณรคนนี้รำคาญ ในใจนึกว่าเมื่อไรหลวงพ่อจะเทศน์เสร็จเสียที นึกว่าจะเสร็จก็ไม่เสร็จ ตัวเองก็ง่วงเหลือเกิน หลวงพ่อชาก็เทศน์ต่อ เณรก็ยิ่งหงุดหงิด ลุกไม่ได้แต่ในใจนี้พลุ่งพล่าน บ่นในใจว่า หยุดเสียที หยุดเสียที ภาษาอีสานว่า เซาซะ เซาซะ ในใจก็บ่น เซาซะ เซาซะ ไม่รู้ว่าพวกเราเคยเป็นไหม ฟังบรรยายธรรม รอดูนาฬิกาเมื่อไรจะหยุดสักที บางทีก็ง่วง สัปหงกก็ยังไม่ยอมเลิกสักที เณรคนนี้ก็มีอาการแบบนี้ ในใจก็บ่นว่า หยุดสักที หยุดสักที เซาซะ เซาซะ จิตใจร้อนรุม แล้วจู่ๆ ก็ได้สติขึ้นมา ว่าทำไมเราอยากให้ครูบาอาจารย์ อยากให้หลวงพ่อหยุดแสดงธรรม แล้วเราล่ะเมื่อไรเราจะหยุดเห็นแก่ตัว เมื่อไรจะหยุดทำตามกิเลสเสียที เมื่อไรจะหยุดบ่นสักที พอได้สติ ความคิดที่นึกบ่นหลวงพ่อชาก็หยุด แต่ขณะเดียวกันก็กลับได้ความคิดว่า เอาคำว่าเซาซะมาเป็นอารมณ์ในการภาวนาเสียเลย ในขณะที่ยังมีความขุ่นเคืองอยู่ แต่พอได้สติก็บริกรรมเลยว่า เซาซะ เซาซะ จากเดิมที่หงุดหงิดก็ค่อยๆเย็นลงเย็นลง เพราะคำบริกรรมนี้ เซาซะ เซาซะ แล้วสติก็เย็นเรื่อยๆ จนกระทั่งจิตนี้นิ่ง ดิ่งรวมกันไป เปิดตาอีกทีปรากฏว่าสว่างแล้ว ไม่รู้ว่าเป็นช่วงเวลาบิณฑบาตหรือเลยเวลาบิณฑบาตไปแล้ว ปรากฏว่าจิตเป็นสมาธิมากจากคำว่าเซาซะ จากความหงุดหงิด แล้วมันก็ออกมาว่าเซาซะ เซาซะ เอาคำบ่นนี้มาเป็นอุปกรณ์ในการบริกรรมเสียเลย แล้วจิตก็สงบได้ ปกติเราจะใช้คำว่าพุทโธ สำนักหลวงพ่อชาก็ใช้คำว่า“พุทโธ” พ่อแม่ครูบาอาจารย์ส่วนใหญ่ก็ใช้คำว่า“พุทโธ” แต่ว่าถ้าเกิดว่าเราหงุดหงิดขึ้นมา บางทีคำบ่นนี้แหละ ที่สามารถจะใช้เพื่อทำให้ความหงุดหงิดคลายลงไปได้ อันนี้เข้าทำนองใช้ความโกรธละความโกรธ ใช้ความหงุดหงิดละความหงุดหงิด สิ่งที่เป็นกิเลสเป็นอกุศล ถ้าใช้ให้ดีก็จะสามารถทำให้เกิดเป็นคุณได้ ตัณหาก็เหมือนกัน ใช้ละกิเลสละตัณหาได้
มีตัวอย่างมากเลยในสมัยพุทธกาล อย่างพระนันทะที่เป็นญาติของพระพุทธเจ้า นิมนต์พระพุทธเจ้ามางานหมั้น พอพระพุทธเจ้าฉันเสร็จ ก็ให้พระนันทะเดินถือบาตรตามไปที่สำนัก พอพระนันทะเดินไปถึงสำนักแล้ว พระพุทธเจ้าก็ชวนบวชเลย พระนันทะตอนนั้นที่เป็นฆราวาสเป็นเจ้าชายนันทะ ไม่กล้าปฏิเสธ ก็ยอมบวช บวชไปแล้วจิตใจยังถวิลหาถึงนางชนบทกัลยาณีคู่หมั้นซึ่งเป็นคนสวย เรียกว่าร้อนผ้าเหลืองเลย พระพุทธเจ้าเลยพาไปชมนางฟ้าในสวรรค์ คือบันดาลให้นิมิตรเห็นนางฟ้าซึ่งสวยทั้งนั้น พระนันทะเห็นแล้วก็เกิดความปฏิพัทธ์ เกิดความพึงพอใจขึ้นมา อยากได้นางฟ้าทำยังไง ก็ถามพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าบอกว่าก็ภาวนา นางฟ้าที่พระนันทะเห็นสวยงดงามกว่านางชนบทกัลยาณีมาก
ด้วยความที่อยากมีนางฟ้าหรือได้ครอบครองนางฟ้า พระนันทะจึงพยายามภาวนา ลืมนางชนบทกัลยาณีไปเลย ทำอย่างนี้ไปสักพัก เพื่อนพระในสำนักรู้ก็หยอกล้อหรือพูดกระทบว่า รับจ้างบวช รับจ้างภาวนา ไม่ได้ภาวนาด้วยศรัทธา พระนันทะเกิดความขุ่นเคืองใจ ถูกต่อว่าแบบนี้ไม่พอใจ จึงเกิดมานะขึ้นมา ว่าพูดแบบนี้กับเราได้อย่างไร หาว่าเรามาบวชด้วย มาภาวนาด้วยค่าจ้าง รู้สึกว่าอาย รู้สึกว่าเสียหน้า ทำให้เกิดความตั้งใจ เราจะพิสูจน์ให้ดูว่าเราก็ทำได้เหมือนกัน ไม่ได้เป็นอย่างที่ท่านว่า ก็เลยตั้งหน้าตั้งตาภาวนา ปรากฏว่าภาวนาจนบรรลุธรรมได้ อันนี้เรียกว่าอาศัยอำนาจของตัณหาและมานะ ทีแรกมาภาวนาเพราะตัณหา แต่ตอนหลังทิ้งตัณหามาเพราะเกิดมานะ ทั้งตัณหาและมานะถือว่าเป็นกิเลส แต่ก็สามารถนำการปฏิบัติไปสู่การพ้นทุกข์ จนกระทั่งละซึ่งตัณหามานะหรือว่ากิเลสได้
มีพระอยู่รูปหนึ่ง เดิมเป็นยาจกเข็ญใจ ขอทาน อดมื้อกินมื้อ วันหนึ่งเห็นพระภิกษุเดินบิณฑบาต และก็มารู้ว่ามีคนใส่บาตเป็นประจำไม่มีคำว่าอด อยากสบายบ้างก็เลยตัดสินใจบวช บวชแล้วก็คิดว่าคงจะบวชชั่วคราว เพราะฉะนั้นเสื้อผ้าที่ตัวเองสวมใส่ก็เลยไม่ได้ทิ้ง แขวนไว้ในป่า บวชแล้วเรื่องความหิวโหยก็หายไป แต่พอบวชไปนานๆ ก็รู้สึกไม่สบายใจ เพราะว่าวินัยข้อสิกขาบทมาก จะทำอะไรก็ทำไม่ได้อย่างใจตัวเองปรารถนา ไม่ว่าจะเป็นเวลานอน เวลาตื่น ไม่สามารถจะมีอิสระอย่างฆราวาสได้ ก็เกิดความกระสันจะสึก เมื่อจะสึกก็นึกถึงเสื้อผ้าที่ตัวเองแขวนไว้ในป่า เดินเข้าไปในป่าก็เห็นถึงความยากลำบากในสมัยที่เป็นขอทาน เลยเปลี่ยนใจไม่สึก ทำอย่างนี้อยู่หลายครั้ง เวลาเดินออกจากป่า เพื่อนพระเห็นก็ถามว่าไปไหน ท่านก็ตอบว่าไปหาอาจารย์ อาจารย์ไม่ใช่คนนะ อาจารย์ไม่ใช่พระพุทธเจ้า แต่เป็นเสื้อผ้าในป่า ท่านทำอย่างนี้อยู่หลายครั้ง และในที่สุดจิตใจน้อมสู่การปฏิบัติมากขึ้น เพราะว่าอาศัยกัลยาณมิตร อาศัยชุมชนที่ค่อยๆ กล่อมเกลาให้เกิดศรัทธาในการปฏิบัติ
จำเป็นมากเพราะว่าในสมัยพุทธกาลหรือสมัยหลังๆ คนที่มาบวชพระ มาบวชได้หลายสาเหตุ ที่อยากสบายก็มี บวชตามประเพณีก็มี แต่บวชแล้วพออยู่ไป จิตใจค่อยๆ น้อมเกิดศรัทธาในชีวิตพรหมจรรย์ ศรัทธาในพระรัตนตรัย ครูบาอาจารย์หลายๆ ท่านที่เป็นเกจิอาจารย์ ที่เรานับถือกันมาในอดีต หลังๆ ท่านก็บวชด้วยประเพณีก็มี บางทีบวชด้วยเพราะว่ามีความทุกข์ในชีวิตคฤหัสถ์ ไม่ได้มีความศรัทธาในการบวชเท่าไร แต่พอบวชไปบวชไปก็เกิดศรัทธาขึ้น อย่างภิกษุรูปนี้ก็เหมือนกัน แต่ตั้งใจปฏิบัติจนท่านบรรลุธรรมเป็นพระอรหันต์ หลังจากนั้นท่านก็ไม่เดินเข้าไปในป่าอีกเลย เพื่อนพระก็แปลกใจว่าเดี๋ยวนี้ท่านไม่ไปในป่า ก็ถามว่าเดี๋ยวนี้ท่านไม่ไปหาอาจารย์หรือ ท่านตอบว่าเราไม่ต้องอาศัยอาจารย์แล้ว เพื่อนพระก็หาว่าท่านอวดอุตริมนุสธรรม ก็เลยไปทูลฟ้องพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าเรียกมาถาม จริงๆ พระองค์ก็ตรัสรู้อยู่แล้วว่าท่านนี้บรรลุธรรมแล้ว แต่พระองค์ก็ต้องพยายามไต่ถาม เพื่อให้เป็นที่ประจักษ์รับรู้กันในหมู่สงฆ์ ก็เป็นอันรู้กันในขณะที่พระองค์ได้ซักไซร์ไต่ถาม ก็เป็นที่รู้กันในหมู่พระด้วยกันว่า ท่านนี้เป็นพระที่บรรลุธรรมแล้ว
นี่ก็เป็นตัวอย่างของคนที่บรรลุธรรมที่อาศัยกิเลส อาศัยตัณหา ที่เป็นแรงผลัก คือที่บวชต่อเพราะกลัวลำบาก ความกลัวลำบาก กลัวไม่มีกิน ก็เป็นตัณหาชนิดหนึ่ง ความขี้เกียจก็เป็นตัณหาชนิดหนึ่ง อยากสบายกลัวลำบาก ความอยากสบายทำให้ต้องกลับมาบวชพระใหม่ กลับมาบวช กลับมาปฏิบัติเป็นพระใหม่ สุดท้ายก็ค่อยๆ น้อมไปสู่อริยะมรรคมีองค์ 8 เพราะฉะนั้นเวลาเราเรียนรู้เกี่ยวกับเรื่องอารมณ์ต่างๆ ในจิตใจ ให้เราตระหนักว่า อารมณ์แม้แต่อกุศล ก็มีประโยชน์เหมือนกัน ถ้าเรารู้จักใช้มัน แต่ส่วนใหญ่เราถูกมันใช้มากกว่า อารมณ์อกุศล ความโกรธ ความเศร้า มันใช้เรามากกว่า เวลาโกรธมันก็ใช้เราให้ด่า ใช้เราทำลายข้าวของ มันใช้เรากลั่นแกล้ง เวลามีความโลภ หรือเวลามีตัณหามันก็ใช้เราผิดศีล ลักขโมย โกงคอรัปชั้น หรือไม่ก็ทำตามความอยาก ไปหาของมากิน ไปหาของมาเสพตามกิเลส ที่มันเป็นปัญหา เพราะเราปล่อยให้มันใช้ เพราะเราไม่เห็นมัน เราเข้าไปเป็นมันหรือถูกมันครอบนั่นเอง
ของทุกอย่างถ้าเรารู้จักใช้ มีคุณทั้งนั้น เงินทองถ้าเรารู้จักใช้ก็จะเป็นประโยชน์ แต่ส่วนใหญ่แทนที่จะเป็นนาย กลับเป็นทาสของมัน มันใช้เรา เงินนี่มันใช้เรา มันใช้เราเพื่อให้ยอมตายเพื่อมัน ยอมโกงเพื่อมัน ยอมทำชั่วเพื่อมัน เงินเป็นบ่าวที่ดี แต่เป็นนายที่เลว อารมณ์อกุศลก็เหมือนกัน หากว่าเกิดขึ้นแล้วเราใช้มันให้มีประโยชน์ได้ แม้แต่จะใช้ในการดูมัน เห็นมัน มันก็ทำให้เราเห็นสัจจะธรรมด้วยเช่นกัน กิเลสหรืออารมณ์ความโกรธ ถ้าไม่เห็นมัน มันก็เล่นงานเรา แต่ถ้าเรามีสติเห็นมัน มันจะสามารถแสดงสัจจธรรมให้เราประจักษ์ก็ได้ เพราะว่าอารมณ์เหล่านี้ ล้วนแล้วแต่แสดงอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ให้กับเราได้ทุกเมื่อ มันทำให้เราเข้าใจเรื่องรูปเรื่องนามได้เหมือนกัน ถ้าเวลามันเกิดขึ้นในใจ อย่าไปผลักไสมัน เกี่ยวข้องกับมันให้ถูก ใช้มันให้เป็น แค่เห็นมันก็พอแล้ว ไม่เข้าไปเป็น ไม่ถูกมันครอบ มันก็จะทำประโยชน์ให้กับเราได้ถ้ารู้จักพิจารณา ถ้าไม่พิจารณาแล้วไปกดข่มต่อต้านมัน กลับทำให้มันยิ่งมีกำลัง อารมณ์พวกนี้ ถ้าไปกดข่ม ไปต่อต้านผลักไส มันจะยิ่งมีกำลัง ยิ่งสามารถจะครอบงำเราได้มากขึ้น เหมือนเวลาเราไปโกรธใคร เราเกลียดใคร นั่นแปลว่า เรากำลังทำให้เขามีอำนาจเหนือเรา เราโกรธนาย ก. ก็เท่ากับว่าเราให้นาย ก.มีอำนาจเหนือเรา เห็นหน้านาย ก.เมื่อไร หัวใจเต้นเร็วเกิดความรุ่มร้อนในใจขึ้นมาทันที เกลียดใครก็เช่นกัน เห็นหน้าคนนั้นเป็นทุกข์เลย นั่นคือเรากำลังให้อำนาจเขาในการมาสร้างทุกข์กับเรา อันนี้ไม่ใช่วิถีของคนฉลาด ถ้าไม่อยากให้เขามีอำนาจเหนือเรา หรือไม่ให้สิ่งนั้นมีอำนาจเหนือเรา เราก็ต้องรู้ทัน เห็นมัน ไม่เข้าไปเป็นมัน