แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
วันนี้เป็นวันสุดท้ายของการปฏิบัติธรรม เพื่อเป็นอาจาริยบูชาต่อหลวงพ่อคำเขียน สุวัณโณ สองสามวันที่ผ่านมา พวกเราก็คงจะได้สัมผัสกับบรรยากาศของการปฏิบัติธรรมที่นี่อย่างเต็มที่ พวกเราหลายคนในที่นี้ เชื่อว่าเคยไปปฏิบัติธรรมในป่า ในชนบทท่ามกลางธรรมชาติ หลายคนก็ได้เคยไปปฏิบัติธรรมที่วัดป่าสุคะโต ก็คงจะสังเกตเห็นความแตกต่างของบรรยากาศ
ขณะที่ปฏิบัติที่นี่กับที่เราเคยปฏิบัติในป่า ระหว่างปฏิบัติธรรมกันในเมือง อาจจะมีความสะดวกสบายหลายอย่าง แมลงก็ไม่ค่อยรบกวนมาก บางครั้งก็อยู่ในห้องที่ปรับอากาศ แต่ว่าความสงบก็คงจะแตกต่าง อยู่ที่นี่แม้จะอยู่ติดชิดกับสวน แต่ว่าถ้าเราเดินออกไปไม่เท่าไหร่ ก็เจอถนน เจอรถ รอบๆก็เป็นตึกสูงใหญ่ เดินออกไปอีกนิดก็เจอความพลุกพล่านจอแจ การปฏิบัติธรรมในเมืองแม้จะเป็นที่ที่เราคุ้นเคย หลายคนก็เกิดในเมือง แต่ว่ามันคงไม่ใช่เรื่องง่าย ส่วนหนึ่งก็เพราะความคุ้นเคยนี่แหละ เพราะความคุ้นเคยนี้ทำให้เกิดเป็นนิสัย นิสัยที่จะคล้อยตามสิ่งแวดล้อมที่มาเชิญชวนให้เราหลง ให้เราเพลิดเพลิน หรือว่านิสัยที่ชอบตอบโต้กับสิ่งที่มากระทบ โดยเฉพาะความไม่พอใจ เมื่อมีสิ่งที่มากระทบทางตาบ้าง ทางหูบ้าง สภาพแวดล้อมแบบนี้จะทำให้การปฏิบัติธรรมไม่ใช่เรื่องง่ายทีเดียวนัก มันมีหลายสิ่งหลายอย่างที่พอเราเห็นด้วยตา ได้ยินทางหู ใจเราก็จะแว๊บไปยังที่ที่เราคุ้นเคย ไปยังเหตุการณ์ สถานการณ์ที่เรามักจะปล่อยใจให้หลงไป และเดี๋ยวนี้มันก็มีสิ่งใหม่ๆ ที่จะมาทำให้เราส่งจิตออกนอก มีสิ่งกระตุ้นให้เราอยากรู้ อยากเห็น อยากหาโน่นอยากหานี่ แสวงหาสิ่งใหม่ๆ ไม่จบไม่สิ้น มีสินค้าตัวใหม่ๆ มีประสบการณ์ใหม่ๆ ที่เชิญชวนหรือว่ายั่วยวนให้เราเข้าไปหามัน ไปเสพมัน ไปครอบครองมัน
ล่าสุดเดี๋ยวนี้ ทุกวันนี้ก็มีปรากฎการณ์ที่แพร่ระบาดในหมู่คนที่อยู่ในเมือง ก็คือตามหาตัวโปเกมอน อันนี้เป็นกันมากทีเดียว ไม่ใช่เฉพาะในต่างประเทศ ในเมืองไทยก็เป็นกันมาก ได้ข่าวว่าหลายคนก็ไปตามหาตัวโปเกมอนในสถานปฏิบัติธรรมหลายแห่งทีเดียว แต่ว่าวัดป่าสุคะโตยังไม่มี ไม่มีใครมาหา แต่ก็ไม่รู้จะมาหากันเมื่อไร มีการตามหาตัวโปเกมอนกันอย่างที่เรียกว่าเป็นบ้าเป็นหลังเลย
เรื่องทำนองนี้ทำให้นึกถึงเรื่องราวในสมัยพุทธกาล ตอนที่พระพุทธเจ้าตรัสรู้ใหม่ๆ แล้วหลังจากที่ออกพรรษา เราก็คงทราบว่าพระองค์มุ่งหน้าไปยังกรุงกบิลพัสดุ์ เพื่อกลับไปหาพระญาติ กลับไปหาอดีตภรรยาและลูก พระราหุล เพื่อไปโปรด ระหว่างทางพระองค์ได้พักอยู่ในที่ที่เป็นที่รื่นรมย์ เป็นรมณียสถานแห่งหนึ่ง ใกล้ๆ กันนั้นก็เป็นสถานที่ที่ลูกเศรษฐี ลูกขุนนางที่เรียกว่า“มาณพ” มาณพหนุ่ม 30 คนกำลังสำเริงสำราญกัน ต่างคนต่างก็หาคู่มาแสวงหาความบันเทิงเริงรมย์
มีมาณพคนหนึ่งไม่มีคู่ ก็ไปชักชวนนางคณิกาคนหนึ่งมาเป็นคู่ของตัว เพื่อจะได้มาสนุกสนาน เมื่อคนอื่นเขามีคู่ แต่เราไม่มีคู่ก็กระไรอยู่ จึงไปหานางคณิกาคนนี้มา ซึ่งในช่วงหนึ่งก็จะมีการสรงสนาน อาบน้ำในสระ ก็มีการถอดเสื้อผ้าเครื่องประดับ เพชร ทอง เงินเอาไว้ ก็ปรากฎว่านางคณิกาคนนี้ฉวยโอกาส กวาดเอาเครื่องประดับเพชรพลอยต่างๆ แล้วก็หนีไป มาณพทั้งหลายพอรู้ก็ไม่พอใจ แล้วก็ออกตามหา ก็ตามหาอยู่พักใหญ่ไม่เจอ มีช่วงหนึ่งที่เดินผ่านไปตรงที่พระพุทธเจ้ากำลังประทับนั่งอยู่ มาณพเหล่านี้ก็ถามพระพุทธเจ้าว่า เห็นผู้หญิงคนหนึ่งเดินผ่านไปบ้างไหม พวกเรากำลังตามหาเขาอยู่ พระพุทธเจ้าก็ตรัสว่า “ไปตามหาเขาทำไม ตามหาตัวเองประเสริฐกว่า” พูดเท่านี้ มาณพกลุ่มนี้ก็สะดุดใจขึ้นมา ไม่เคยได้ยินใครพูดแบบนี้ ตามหาตัวเองแปลว่าอะไร มันต้องตามหาด้วยหรือ ก็เลยหยุดมาซักถามสนทนากับพระพุทธเจ้า จึงเป็นโอกาสที่พระองค์ได้แสดงธรรม จนกระทั่งทำให้เหล่ามาณพได้เห็นจิตเห็นใจตัวเอง รู้จักตัวเอง แล้วก็เลยบรรลุธรรมเป็นพระโสดาบัน
เวลานึกถึง หรือได้ข่าวเรื่องตามหาตัวโปเกมอน ก็นึกถึงที่พระพุทธเจ้าตรัสว่า “ตามหาตัวเองดีกว่า” คนที่ตามหาโปเกมอน หาได้มากมาย 100 กว่าตัว แต่ว่าทำตัวเองตกหล่นหายไป ที่จริงการตามหาตัวเองสำคัญกว่ามากเลย เพราะว่าถ้ารู้จักหรือว่าตามพบ มันก็จะช่วยลดทุกข์ แก้ทุกข์ หรือว่าไกลจากทุกข์ได้ ตามหาแล้วเจออะไรก็ตาม ไม่ว่าจะเจอผู้หญิง อย่างที่มาณพหนุ่ม 30 คนนี้พยายามแสวงหา หรือว่าตามหาเจอตัวโปเกมอน 150 ตัวครบ มันก็ไม่ได้ช่วยทำให้พ้นทุกข์ได้เลย แต่ก็อาจจะมีความดีใจ ยินดีชั่วคราว แล้วก็ทุกข์ใหม่
ทีนี้ตามหาตัวเอง มันหมายความว่าอย่างไร ความหมายก็คือว่า ตามหาใจของตัวเองให้เจอ เพราะตัวเองก็มีแค่กายกับใจนั่นแหละ ที่เหลือก็เป็นสิ่งนอกตัว ตามหาใจของตัวเองให้เจอ ทำไมต้องตามหาใจของตัวเองให้เจอ ก็เพราะว่าใจของตัวเองหรือใจเรานี้ มันหลงมันหายไป ถูกกิเลสถูกอารมณ์ถูกความคิดต่างๆ ลักพาไป หรือว่าถูกขังอยู่ในเวทนาต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นสุขเวทนา หรือทุกขเวทนาก็ตาม คนเราทุกข์ก็เพราะว่าใจมันหลง มันหาย ถูกยึดถูกครอง ด้วยความคิดด้วยอารมณ์ที่เป็นอกุศล โดยมีกิเลสเป็นตัวบงการ
การตามหาใจให้เจอก็คือ การที่มารู้ทัน มาเห็นว่าใจตอนนี้กำลังถูกกิเลส ถูกอารมณ์ ถูกความคิดต่างๆ นี่เล่นงาน หรือว่าหลงพลัดเข้าไปในหลุมอารมณ์ ในกรงขังแห่งความคิดต่างๆ ถ้าลองสังเกตดู เมื่อไรก็ตามที่ใจเราพลัดเข้าไปในอารมณ์และความคิดเหล่านี้ มักไม่รู้เนื้อรู้ตัว แม้จะยังมีตามองเห็น หูได้ยิน แต่ว่ามันหมดเนื้อหมดตัวลืมเนื้อลืมตัวไปแล้ว บางทีก็ไม่ต่างจากคนละเมอ คราวนี้การที่เราจะพาใจของเราออกมาจากกรงขังแห่งความคิดหรือหลุมอารมณ์ได้นั้น การรู้ทัน การเห็นนี่สำคัญมาก เพียงแค่เห็น เพียงแค่รู้ทัน ก็ทำให้อารมณ์เหล่านี้มันหมดพิษสงได้ เปรียบก็เหมือนกับว่ามันคลายกรงเล็บ ที่เคยจับเคยเกาะกุมใจของเราไว้ ให้เป็นอิสระ เพียงแค่เห็นเท่านั้นแหละ หรือรู้ทัน แล้วเห็นหรือรู้ทันด้วยอะไรล่ะ ก็ด้วยสติ สตินี้มีความสามารถในการทำให้เราเห็น ทำให้เรารู้ทันอารมณ์ต่างๆ ได้ เป็นเสมือน“ตาใน” อารมณ์เหล่านี้มันมีกำลังนะ แต่มันมีกำลังก็ต่อเมื่อเราไม่รู้ทัน แต่ถ้ารู้ทันเมื่อไร เห็นมันเมื่อไร มันจะหมดพิษสงไปเลย
ในสมัยพุทธกาลก็มีเรื่องราวเกี่ยวกับมาร ในพระไตรปิฎกมีบทหนึ่ง ชื่อว่า“มารสังยุตต์” เป็นเรื่องเกี่ยวกับ“มาร”ที่เข้ามารังควานมารบกวน ไม่ใช่เฉพาะพระเถระพระเถรีหรือภิกษุภิกษุณีเท่านั้น แม้กระทั่งพระพุทธเจ้าก็มารังควานมารบกวน มารนี้มีพลังมาก มีอานุภาพมาก บางทีสามารถจะเข้าสิงได้ แม้กระทั่งท้าวมหาพรหม ท้าวมหาพรหมนี่ก็เคยอยู่ในอำนาจของมารหลายครั้ง วิธีของมารก็คือ พยายามที่จะขู่ให้กลัว หรือว่าหลอกให้หลง เพื่อจะได้คลายความเพียร จะได้ลุ่มหลงอยู่ในกามสุข เพราะถ้าลุ่มหลงอยู่ในกามสุข ก็จะยังตกอยู่ในอำนาจของมารต่อไป พระเถระพระเถรีหลายท่าน ก็โดนมารเล่นงาน รังควานหลายครั้ง อย่างเช่นพระรูปหนึ่งชื่อพระสมิทธิ กำลังทำความเพียรอยู่ดีดี ก็เกิดแผ่นดินไหว ตกใจกลัวอันตราย ก็เลยกลับไปยังเชตวัน โดยที่ไม่รู้ว่านั่นเป็นฝีมือของมาร บางรูปก็เจอช้าง เจอเสือ ก็ตื่นตกใจหนีเลย ไม่ทำแล้วความเพียร
พระสมิทธิก็เหมือนกัน พอกลับไปพระพุทธเจ้าถาม พระสมิทธิก็ทูลตอบไปว่า เจอแผ่นดินไหว กลัว พระพุทธเจ้ารู้ว่านี่เป็นฝีมือของมาร ก็เลยบอกพระสมิทธิไปว่า ถ้าเจอแบบนี้อีก ให้พูดไปเลยว่า “มารผู้มีบาป เรารู้จักท่าน ท่านอย่าคิดว่าเราไม่รู้จักท่าน” ให้พูดอย่างนี้แหละ พระสมิทธิก็เชื่อ แล้วก็กลับเข้าไปในป่า ก็เจอแผ่นดินไหวอีก เพราะว่ามารมาแกล้งอีกแล้ว พระสมิทธิก็เลยพูดขึ้นมาเลย มารพอรู้ว่ามีคนรู้ทัน มารก็เสียใจ มารก็เสียหน้าไปเลย แล้วก็ล่าถอยไป อันนี้ก็เป็นวิธีที่พระพุทธเจ้าใช้ แม้กระทั่งกับพระองค์เองด้วย มีคราวหนึ่งพระองค์เสด็จขึ้นไปยังสวรรค์ ถึงชั้นพรหมเลยนะ แล้วก็ไปเทศน์ ไปว่า ไปทักท้วงท้าวมหาพรหม มารนี้ก็สิงท้าวมหาพรหม แล้วก็เถียงพระพุทธเจ้า ต่อว่าพระพุทธเจ้า พระองค์ก็เลยพูดดักคอว่า “มารผู้ใจบาป เรารู้จักท่าน อย่าคิดว่าเราไม่รู้จักท่าน” มารนี่มันกลัว กลัวถูกรู้ทัน กลัวคนรู้ทัน พอพระพุทธเจ้ารู้ทันแล้ว มารก็ล่าถอยไปเลย
บางทีมารก็เข้าสิงพระโมคคัลลานะ สิงเข้าในท้อง ปวดเลยนะ พระโมคคัลลานะใช้ฤทธิ์ยังไง ก็ไม่สำเร็จ มารไม่ยอมออกมา สุดท้ายพระโมคคัลลานะรู้ว่านี่เป็นฝีมือมาร ก็เลยพูดเหมือนกันว่า “มาร เรารู้จักท่าน ท่านอย่าคิดว่าเราไม่รู้จักท่าน” มารเสียใจมาก มารเสียใจเมื่อรู้ว่า พระพุทธเจ้ารู้จักเรา พระโมคคัลลานะรู้จักเรา เท่านี้แหละมารก็ยอมแพ้ ฤทธิ์ของมารนี่มันหมดไปเลย แม้จะมีมากขนาดที่เรียกว่า เล่นงานรังควานท้าวมหาพรหมได้ หรือเล่นงานรังควานพระโมคคัลลานะได้ แต่ว่าพอถูกรู้ทันเมื่อไร ยอมเลย
อารมณ์อกุศลก็เหมือนกัน จะว่าไปมันก็ไม่ต่างจากมาร อาจจะไม่ใช่เป็น“เทวปุตตมาร” มารมีหลายชนิด มารที่เล่าไปเมื่อสักครู่ เขาเรียกว่าเทวปุตตมาร เป็นมารที่อยู่ในสวรรค์ ในสวรรค์นี่ก็มีมาร แต่ว่านอกจากเทวปุตตมารแล้วก็ยังมีกิเลสมาร กิเลสมารนี้มันรบกวนรังควาน เล่นงานจิตใจเรา ครอบงำใจ หรือว่ากักขังโบยตีจิตใจของเราให้เป็นทุกข์ แต่แม้ว่ามันจะมีอานุภาพแค่ไหน จุดอ่อนของมันก็คือ มันพ่ายแพ้ต่ออำนาจของการเห็น เห็นด้วยสติ ถูกเห็นเมื่อไร ถูกรู้ทันเมื่อไร ยอมเลยนะ นี่เราสังเกตได้ด้วยตัวเราเอง เวลาจมเข้าไปในความคิด หลงเข้าไปในอารมณ์ พอมีสติเห็นมันเมื่อไรหลุดเลย กำลังโกรธๆ อยู่นี่ บางทีพอมีคนมาพูด เตือนสติให้รู้ตัว หลุดเลย บางคนกำลังบ่นโวยวาย ตีโพยตีพาย มีคนมาจับแขนได้สติ แล้วสตินี่แหละช่วยทำให้ความทุกข์ ความโกรธ ความแค้น มันหลุดไปเลย มันหลุดเพราะถูกเห็น ถูกรู้ทัน
แล้วอะไรที่ทำให้เห็น ทำให้รู้ทัน ก็คือ“สติ” บางคนจะมีสติได้เพราะมีคนมาทัก มีคนมาบอก มีคนมาเตือน แต่ว่าแบบนี้อาจจะพลั้งพลาดได้ เพราะถ้าไม่มีคนเตือนเมื่อไร ไม่มีคนมาทักเมื่อไร ก็จะจมอยู่ในอารมณ์ จมอยู่ในความคิด ตกเป็นทาสของกิเลส เราต้องมีสติของเราเอง อย่าไปพึ่งจมูกคนอื่นหายใจ ต้องพึ่งตนเอง แล้วการพึ่งตนเองก็คือว่า การที่เรามีสติเพื่อทำให้เรามีความสามารถในการที่จะเห็น และรู้ทันได้อย่างรวดเร็ว อย่างที่บอกไว้แล้วอารมณ์เหล่านี้ ความโกรธ ความเศร้า ความท้อแท้ หรือความคิด... พอมันถูกเห็นเมื่อไร มันยอมเลย มันหลบลี้หนีหน้าหายไป เหมือนกับมารที่โดนทัก โดนดักคอ สิ่งที่เกิดขึ้นตามมาก็คือความสงบ ใจสงบ ใจเป็นปกติ ใจโปร่ง ใจเบา เพราะว่าเห็น การเห็นนี้ทำให้ใจไม่เข้าไปเป็น
หลวงพ่อคำเขียนท่านพูดบ่อยๆ ว่า “เห็น”อย่าเข้าไป“เป็น” หลวงพ่อพูด เวลาพูดว่า“เห็น” คนอาจจะไม่ค่อยเข้าใจว่า หมายความว่าอย่างไร ท่านก็เลยเสริมหรือย้ำด้วยคำว่า “ไม่เป็น”หรือว่า“อย่าเข้าไปเป็น” เพื่อให้เข้าใจชัดว่า “เห็น”เมื่อใดก็ตาม แต่ถ้า“เป็น”เข้าไปเมื่อไร แสดงว่าไม่เห็นแล้ว การเป็นผู้ทุกข์ เป็นผู้โกรธ เป็นผู้หงุดหงิด แสดงว่าไม่เห็นแล้ว มันเป็นตัวบ่งชี้ ทีนี้ถ้าเห็นเมื่อไร มันก็ไม่เข้าไปเป็น ก็ทำให้ใจเป็นอิสระ ไม่ใช่อิสระที่จะทำตามอำนาจกิเลส แต่เป็นอิสระที่หลุดจากอำนาจของกิเลสต่างหาก ใจก็จะเป็นปกติ โปร่งโล่งเบา ในภาวะนั้นมันเป็นภาวะที่ บางทีเราก็เรียกว่า เป็นความรู้สึกตัว “สติ”นี้ความหมายหนึ่งก็คือ ดึงจิตออกจากอารมณ์ และเป็นเครื่องผูกจิตให้อยู่กับตัว บางครั้งเราก็ใช้สติเพื่อผูกจิตไว้กับงานการ ทำให้เราทำงานอย่างมีสติ เวลาเราอ่านหนังสือ ใจมันวอกแวก เราก็เอาสติผูกจิตไว้กับการอ่าน เพื่อที่เราจะได้อ่านอย่างมีสมาธิ เวลาเราล้างจาน ซักผ้า ใจมันลอย เราก็ใช้สตินี่แหละผูกจิตไว้กับการงาน ซักผ้า ล้างจาน เราก็มีสติ เราก็ไม่เกิดความวิตกกังวล ไม่เกิดความหงุดหงิด แล้วเมื่อเรามาปฏิบัติธรรม จะเอาลมหายใจเป็นอารมณ์ของการปฏิบัติ อารมณ์ในที่นี้หมายถึง สิ่งที่จิตสนใจ หรือว่าปฏิบัติอย่างที่เราทำมา 2-3 วัน ก็คือมีกายเคลื่อนไหว สร้างจังหวะ หรือเดินจงกรม แต่ก็จะพบว่าจิตก็จะหลุดออกไปอยู่เรื่อย เพราะว่ามีสิ่งเย้ายวน เชิญชวนมากมาย รวมทั้งมันมีหลุมอารมณ์ต่างๆ ที่ซ่อนอยู่ในความทรงจำเกี่ยวกับอดีต นึกถึงอดีตเมื่อไร ตกเข้าไปในหลุมอารมณ์ ก็เกิดความโกรธเพราะถูกด่า เกิดความเจ็บปวดเพราะว่าสูญเสีย เกิดความเศร้าโศกเพราะว่าประสบความพลัดพราก รู้สึกผิดเพราะได้ทำความไม่ดีบางอย่างกับบุพพการี พวกนี้คือหลุมอารมณ์ที่มันซ่อนอยู่ในความทรงจำของเรา ไปนึกถึงอดีตเมื่อไรก็เสร็จ แล้วก็มักออกไม่ได้ ลืมเนื้อลืมตัว แต่พอมีสติปุ๊ปนี่ มันรู้ตัว หรือถ้าเกิดว่าก่อนที่จิตมันจะหลงเข้าไปในหลุมอารมณ์ ก็เอาสติมาใช้เพื่อผูกจิตไว้กับกาย กับกายเคลื่อนไหว กับการสร้างจังหวะ การเดินจงกรม ถ้าไม่มีสติ ใจมันก็เตลิดเปิดเปิง ยกมือก็ยกมือฟรีๆ เดินก็เดินฟรีๆ แต่มันก็ไม่ฟรีทีเดียว ก็เป็นการออกกำลังกายไปด้วย ไม่เสียประโยชน์ แต่ว่ามันได้ประโยชน์แค่กาย ส่วนใจอาจจะเกิดความทุกข์ หมดเนื้อหมดตัว สติมันช่วยผูกจิตเอาไว้กับอารมณ์ ผูกจิตเอาไว้กับกาย ผูกจิตเอาไว้กับสิ่งที่เรากำลังกระทำอยู่ ซึ่งจะทำให้เกิดสมาธิ แล้วสมาธิก็ตามมาด้วยความสงบ
อย่างไรก็ตามความสงบไม่ใช่เป็นสิ่งที่เรามุ่งหวังสูงสุด เพราะความสงบแบบนี้ ก็ยังเป็นความสงบชั่วคราว สิ่งที่เราควรมุ่งหวังก็คือ ความสว่าง สว่างในที่นี้ก็คือ การมีปัญญาเห็นธรรม ถ้าสงบแต่ว่าไม่มีปัญญารองรับ มันก็สงบชั่วคราว เจอความสูญเสีย พลัดพราก ก็พลุ่งพล่าน ว้าวุ่นใหม่ เจอความสูญเสียก็ทุกข์ใหม่ ถูกด่าก็โกรธใหม่ แต่ถ้าเกิดว่าเรามีปัญญา คือความเข้าใจเห็นสัจธรรม มันก็จะเป็นความสงบที่ถาวร ไม่ว่ามีอะไรมากระทบจิต ก็ยังเป็นปกติได้
ทีนี้ความสว่างของใจนี้จะมาจากไหน มันก็ไม่ได้เกิดจากอะไรเลย มันก็เกิดจากการเห็นนั่นเอง คือเห็นกาย เห็นใจ ทีแรกพอมีสติเห็นกายเห็นใจ หรือรู้กายรู้ใจ ใจมันก็สงบเป็นสมาธิ จิตตั้งมั่น แต่ต่อไป ถ้าเราเห็น มันจะไม่ใช่เห็นว่า ตอนนี้กายเคลื่อนไหว ตอนนี้กำลังเดิน หรือมันไม่ใช่เพียงแค่เห็นว่า ตอนนี้จิตเราฟุ้งซ่าน มีความโลภ มีความโกรธความเกลียด มันไม่ใช่เห็นแค่ความโกรธความเกลียดที่กำลังครอบงำใจ และสามารถจะทำให้จิตกลับมาเป็นปกติได้เท่านั้น แต่เมื่อเห็นบ่อยๆ มันจะเห็นความจริง ที่กายและใจหรืออารมณ์ต่างๆ คืออาการของกายและใจที่มันแสดงออกมา ไม่ว่าสิ่งนั้นจะเป็นอะไรก็ตาม มันไม่ใช่เห็นสัจธรรมจากการที่เราได้ฟังธรรม อันนั้นก็ทำได้เหมือนกัน แต่สำหรับพวกเราแล้ว การเห็นสัจธรรมจะเกิดขึ้นได้ ก็เกิดจากการที่เราได้มีสติดู รู้กายและรู้ใจจนเห็นความจริงของกายและใจ มีสติดูอาการที่เกิดกับกายและใจ อาการที่เกิดกับกาย อาทิเช่น ความปวด ความเมื่อย อาการที่เกิดกับใจ รวมถึงความหงุดหงิด ความฟุ้งซ่าน ความวิตกกังวล ความโกรธ พวกนี้นี่ไม่ใช่แย่ไปหมด แม้จะเป็นอารมณ์อกุศล แต่ว่ามันก็มีประโยชน์ คือมันทำให้เราเห็นสัจธรรมได้
หลวงพ่อคำเขียนเคยพูดว่า “แม้ถูกด่า ก็ยังเห็นสัจธรรมได้” ไม่ใช่ว่าจะเห็นสัจธรรมเฉพาะเมื่อเวลาจิตเราสงบ เป็นหนึ่งเดียว“เอกัคคตา” แต่แม้กระทั่งในเวลาที่อารมณ์อกุศลเหล่านี้เกิดขึ้น ถ้าเราเห็นมัน มันก็สามารถจะกลายเป็นธรรมะที่เติมปัญญาให้กับเราได้ อารมณ์เหล่านี้ อย่างที่บอกไว้แล้วตอนแรกว่า เมื่อมันถูกเห็น มันจะคลายพิษสง ไม่ว่าจะเป็นความโกรธ ความเกลียด ความเศร้า พอถูกเห็นเมื่อไร มันหมดพิษสง แต่ยิ่งกว่านั้น เมื่อมาถึงขั้นระดับหนึ่ง ถูกเห็นเมื่อไร มันจะกลายเป็นสัจธรรม ถูกเห็นเมื่อไร มันจะกลายเป็นสัจธรรม การเห็นนี้ ไม่เพียงแต่มีอำนาจในการที่ทำให้มันหมดพิษสงเท่านั้น แต่ยังสามารถจะทำให้มันกลายเป็นสัจธรรมได้
ความโกรธ ความเกลียด ความเห็นแก่ตัว พวกนี้ ถ้าไม่เห็นเมื่อไรแล้วเข้าไปเป็นนะ มันจะกลายเป็น จะเรียกว่า อบายมุขเลยก็ได้ ในความหมายที่ว่าเป็นประตูสู่อบาย มุข ก็คือช่องทางหรือประตู ถ้ามีอารมณ์เหล่านี้เกิดขึ้นแล้วเข้าไปเป็นนะ ก็คือ เหมือนกับพลัดตกนรกเลย แต่ถ้าเห็นมัน และไม่เข้าไปเป็น มันจะถูกเปลี่ยนกลายเป็นสัจธรรม มันจะแสดงธรรมให้เราเห็นทันที เมื่อเราเห็นมันโดยไม่เข้าไปเป็น เห็นอย่างแรก คือเห็นว่ามันไม่ใช่เรา มันไม่ใช่เรา แต่ก่อน เกิดขึ้นทีไร กูโกรธถ้าความโกรธเกิดขึ้น แต่ถ้าความเศร้าเกิดขึ้นก็กูเศร้า ความดีใจเกิดขึ้นก็กูดีใจ กูดีใจมันไม่เท่าไร แต่พอกูโกรธ กูเศร้า นี่มันนรกเลย ถ้าไม่เห็นมันและเข้าไปเป็น แต่พอเห็นมัน มันจะเปลี่ยนเป็นสัจธรรม มันกำลังบอกเราว่า อารมณ์เหล่านี้ไม่ใช่เรา ความโกรธก็เป็นสักแต่ว่าความโกรธ ไม่ใช่เราโกรธ เวลาเดินก็เหมือนกัน ถ้าหากว่าการเดินถูกเห็นขึ้นมา มันก็จะแสดงธรรมให้เราเห็นว่า ไม่ใช่เรา มันเป็นแค่กายที่เดิน
เราไม่ต้องไปแสวงหาสัจธรรมที่ไหน หาสัจธรรมจากสิ่งที่เกิดขึ้นแล้วกับกายกับใจ เดี๋ยวนี้ ตอนนี้ ไม่ว่าสิ่งนั้นจะเป็นอะไรก็ตาม รวมทั้งความปวด ความเมื่อยด้วย ถ้าความปวดความเมื่อยเราไม่เห็นมัน มันก็เล่นงานกายและใจ ไม่ใช่กายปวดเท่านั้น กูปวดด้วย กูเมื่อยด้วย แต่พอมันถูกเห็น มันก็แสดงธรรมให้เราเห็นว่า อ้อ..มันไม่ใช่เราปวด ไม่ใช่เราเมื่อย ทีแรกก็เห็นว่าเป็นกายปวดกายเมื่อย แต่ต่อๆ ไปก็เห็นว่า ความปวด ความเมื่อย มันเกิดกับกาย เกิดกับใจ มันไม่ใช่กาย ไม่ใช่ใจด้วยซ้ำ แต่มันอาศัยกายเกิด ก็เหมือนกับไฟ ถ้าเราขัดสีมันนานๆ มันก็จะเกิดไฟ เอาไม้มาขัดสีกัน แต่ไม่ได้แปลว่าไฟมันอยู่ในเนื้อไม้ มันเพียงแค่อาศัยไม้เป็นที่เกิด ไฟกับไม้นี้คนละอัน มันไม่ใช่อันเดียวกัน ไฟไม่ได้อยู่ในเนื้อไม้ ใหม่ๆ เวลาเจ็บเวลาปวด เราก็กูปวดกูปวด พอมีสติเห็น ไม่ใช่กูปวดแล้ว มันเป็นกายปวด ตอนหลังมันเห็นความจริงมากกว่านั้น เห็นว่า ความปวดก็อันหนึ่ง กายก็อันหนึ่ง ปวดก็อันหนึ่ง ขาก็อันหนึ่ง มันคนละอันกัน
อันนี้ละที่เขาเรียกว่า “แยกขันธ์” แต่ก่อนแยกรูปแยกนามก่อน ก็คือ แต่ก่อนเวลาทำอะไรก็กูทำกูทำ มันมีแต่เราเป็นผู้ทำ มีแต่เราเป็นผู้คิด มีแต่เราทั้งนั้น หรือมีแต่ตัวฉันเท่านั้น แต่พอทำอะไรก็ตามด้วยสติ มีอะไรเกิดขึ้นก็มีสติรู้ทัน มันก็จะมองทะลุเลย ทะลุตัวฉัน ไปเห็นกายกับใจว่าเป็นผู้กระทำ ไม่ใช่ฉันทำ กายมันเดิน ไม่ใช่ฉันเดิน ใจมันคิด ไม่ใช่ฉันคิด กายมันปวด ไม่ใช่กูปวด แต่ต่อไปก็จะเห็นละเอียดไปกว่านั้นอีก ทีแรกมันสลายตัวฉัน เหลือหรือเห็นแค่รูปกับนาม กายกับใจ ตอนหลังเห็นละเอียดมากกว่านี้อีก เห็นว่าเวทนากับกายก็คนละอัน เวทนากับรูปก็คนละอัน ความเศร้ากับใจก็เป็นคนละอัน อันนี้เค้าเรียกว่า“แยกขันธ์” นี้คือการเห็นความจริง คือเห็นสัจธรรม ถามว่าเห็นจากอะไร ก็เห็นจากความโศก ความเศร้า ความโกรธ ความปวด ที่มันเกิดกับเรานั่นแหละ แต่ก่อนเราไม่รู้ทัน มันก็เลยเล่นงานเรา เราก็เลยหมดเนื้อหมดตัว ขาดทุน แทนที่จะป่วยแต่กาย ก็ป่วยใจด้วย แต่พอเราเห็น ทีแรกเราก็ป่วยกาย ใจไม่ป่วย กายเมื่อย ขาเมื่อย ใจไม่เมื่อย ใจมันสงบได้ละ ปวดก็ปวดไป ใจสงบ
แต่ต่อไปมันไม่ใช่แค่ใจสงบ มันสว่าง คือใจเกิด“ปัญญา” คือ เห็นเลยว่าอันนี้มันไม่ใช่เรา มันเป็น“รูป”กับ“นาม” แล้วเราก็จะเห็นมากขึ้นไปกว่านั้นอีก คือเห็น“ไตรลักษณ์” ไม่ได้เห็นจากไหน ไม่ได้รู้จากไหน ก็รู้จากอารมณ์ที่มันเกิดขึ้น รู้จากเวทนาที่มันเกิดขึ้นนี่แหละ เพราะฉะนั้นเมื่อมันเกิดขึ้นกับกายและใจของเรา หรือเกิดขึ้นกับเรา อย่าไปเป็นทุกข์กับมัน อย่าไปบ่น อย่าไปโวยวายตีโพยตีพาย ถ้าทำอย่างนั้น แสดงว่าเราเสร็จมันแล้ว ต้อนรับมันเพราะว่ามันกำลังจะมาแสดงธรรมให้เราเห็น แม้ว่าอารมณ์อกุศลหรืออกุศลธรรมนี้ จะทำให้เราทุกข์ก็จริง แต่ว่ามันก็สามารถจะเป็นครูสอนสัจธรรมได้ หลวงพ่อคำเขียนท่านสอนว่า นักปฏิบัติธรรม นักภาวนา ต้องเปลี่ยนร้ายให้กลายเป็นดี เราต้องรู้จักเปลี่ยนทุกข์ให้เป็นธรรม เปลี่ยนอกุศลให้เป็นธรรมให้เป็นสัจธรรมให้ได้ จะเปลี่ยนได้อย่างไร ก็เปลี่ยนด้วยการที่ เห็นมัน อย่างที่บอกไว้แล้วว่า พอมันถูกเห็นเมื่อไร มันจะเปลี่ยนกลายเป็นสัจธรรมขึ้นมาทันที อาการที่เกิดกับกายหรือใจทุกอย่าง ไม่ว่าบวกหรือลบ ถ้ามันถูกเห็นเมื่อไร มันเปลี่ยนไปเลย มันเปลี่ยนเป็นสัจธรรม แต่ตราบใดที่ยังไม่ถูกเห็น ถูกรู้ มันก็อาจจะกลายเป็นมาร อาจจะกลายเป็นตัวทุกข์ อาจจะกลายเป็นตัวรังควาน เป็นมารที่เล่นงานจิตใจ เป็นตัวที่ฉุดให้ใจเรากายเราลงนรกไปเลยก็ว่าได้ คนไม่ชอบเพราะเหตุนี้ ไม่ชอบเพราะทำให้เราเหมือนกับตกนรก แต่นั่นเป็นเพราะว่าเราเกี่ยวข้องกับมันไม่ถูก ถ้าเราเกี่ยวข้องกับมันเป็น ก็จะกลายเป็นของดี หรือว่าถ้าเรารู้จักเปลี่ยนมัน เปลี่ยนความโกรธ ความเกลียด ความเศร้า ความฟุ้งซ่านให้เป็นสัจธรรม เปลี่ยนได้ด้วยการมีสติเห็นมัน นี่คืออานุภาพของการเห็น ที่มันไม่เพียงแต่ว่าถอนพิษสง หรือทำให้มันหมดพิษสงลงไป แต่ยังทำให้มันกลายเป็นของดีด้วย ของดีคือทำให้มันเป็นสัจธรรม ฉะนั้นการเห็นนี่สำคัญมาก อย่าย่อท้อ แต่ควรปลูกฉันทะ มีฉันทะในการเห็นมัน ไม่เหนื่อยไม่หน่าย
หนังสือของหลวงพ่อที่จะเปิดตัววันนี้เล่มหนึ่ง ชื่อ“สนุกรู้สนุกเห็น” ตั้งชื่อไว้ดี หลวงพ่อท่านเคยพูดว่า สนุกป่วย ป่วยก็สนุก มีหนังสือเรื่อง“สนุกป่วย”มาแล้ว แต่ก็ยังไม่พอ ถ้ามี“สนุกรู้สนุกเห็น”ด้วยก็ยิ่งเป็นกำลังใจ เป็นแนวทางให้เราได้ปฏิบัติ จริงๆ การรู้การเห็นนี้ มันไม่ต้องทำอะไรที่แยกจากชีวิตประจำวันของเรา ไม่จำเป็นต้องแยกตัวออกมาอยู่ที่นี่ หรือว่าไปป่า เรากลับไปบ้าน เราเข้าเมือง เราก็ยังสามารถจะปลูกฉันทะให้เกิดความสนุกรู้สนุกเห็น หรือว่ายังสามารถจะเห็นกายและใจอย่างต่อเนื่องได้ วันๆ หนึ่งเราก็ทำอยู่แค่ 2 อย่าง หรือว่ามีอยู่ 2 อย่างเกิดขึ้นกับเราในแต่ละวัน อันแรกคือเรามีการทำกิจ เวลาทำกิจ เริ่มจากตื่นเช้าขี้นมา เราเก็บที่นอน ล้างหน้าแปรงฟัน เข้าห้องน้ำ อาบน้ำ เขาเรียกว่า“ทำกิจ” มันไม่ใช่การงาน แต่เป็นการทำกิจ กิจส่วนตัว หลังจากนั้นก็หุงอาหาร นี่ก็ทำกิจ ทำงานก็ทำกิจ ขับรถก็ทำกิจ ตั้งแต่เช้าจรดเย็น เราก็ทำกิจแทบจะตลอด เวลาทำกิจนี้ มันจะมีกายเคลื่อนไหว กายเคลื่อนไหวเกือบทุกครั้งเมื่อมีการทำกิจ ก็ให้มีสติเห็นกาย รู้กายเคลื่อนไหวเมื่อทำกิจ ขับรถบางทีก็มือจับพวงมาลัย เท้าเหยียบเบรค อันนี้ก็มีการเคลื่อนไหวของกาย เวลากินข้าวก็ตักอาหารใส่ปาก อันนี้ก็มีการเคลื่อนไหว แม้แต่เวลานั่งห้องน้ำ อาจจะอยู่นิ่งๆ เราก็ลองตามลมหายใจ หรือว่าคลึงนิ้วไป อันนี้ก็ทำกิจได้เหมือนกัน ก็ให้รู้กายเคลื่อนไหวเมื่อทำกิจ
คราวนี้ชีวิตเรานี้ ตลอดทั้งวันไม่ใช่มีแค่ทำกิจ ทำกิจนี่เป็นเรื่องเจตนาทำ ตั้งใจทำ แต่บางอย่างเราไม่เจตนาแต่เจอ คือเจอ“ผัสสะ” รูปกระทบตา เสียงกระทบหู มีเหตุการณ์บางอย่างเกิดขึ้น ไม่ได้ตั้งใจเลย แต่ต้องเจอ รถติด คนพลุกพล่าน ได้ยินข่าวร้าย เจอคนที่ไม่ชอบหน้า เจอคำพูดที่ไม่ถูกใจ งานไม่สำเร็จ เงินหาย ของหาย เหตุการณ์เหล่านี้ล้วนแล้วแต่เรารับรู้ผ่านผัสสะ ทั้งวันจะมีผัสสะมากระทบกับเราทางตา หู จมูก ลิ้น กาย และใจด้วย อยู่ว่างๆ ใจก็คิดนึกไปผัสสะ แล้วตามมาด้วยอะไร อารมณ์ก็อาจจะเกิดความคิดปรุงแต่งขึ้นมา ได้ยินเสียงนกก็นึกถึงเดือนที่แล้วที่ไปเขาใหญ่ ไปส่องนกดูนก ไปแล้วผัสสะ มันพาปรุงแต่งให้เกิดความคิดแล้ว หรือเกิดอารมณ์นึกถึงนก การดูนกที่เขาใหญ่ก็สบายใจมีความสุข หรือพอนึกถึงเขาใหญ่ก็ชวนไประลึกถึงเหตุการณ์ที่ไปทะเลาะกับเพื่อน เกิดความไม่พอใจ แค่ได้ยินเสียงนก อาจทำให้เกิดความพอใจ และไม่พอใจ ดีใจ หรือโกรธก็ได้ สุดแท้แต่ความคิดมันจะพาไปไหน เกิดอารมณ์ขึ้นมา ไม่เป็นไร มันเกิดก็เกิดไป ก็ให้รู้ใจคิดนึกก็พอ รู้ใจคิดนึกเมื่อเกิดผัสสะ
ทำสองอย่างแค่นี้ ก็คือปฏิบัติธรรมทั้งวันแล้ว รู้กายเคลื่อนไหวเมื่อทำกิจ เห็นใจคิดนึกเมื่อเกิดผัสสะ ถ้าทำสองอย่างนี้ได้ ก็ปฏิบัติธรรมทั้งวันแล้ว แม้จะอยู่ที่บ้าน แม้จะอยู่ที่ทำงาน แม้จะอยู่ในเมือง และมันก็ไม่ได้ใช้เวลาอะไรเลย อย่าบอกว่าไม่มีเวลา ไม่มีเวลา เพราะว่าการรู้กายเคลื่อนไหวเมื่อทำกิจ รู้จิตคิดนึกเมื่อเกิดผัสสะ มันไม่ต้องใช้เวลา มันไม่ต้องแยกตัวออกมานั่งหลับตาตามลมหายใจ หรือว่ายกมือสร้างจังหวะอย่างที่เราปลีกตัวออกมาที่นี่ 2-3 วันที่ผ่านมา กลับไปบ้านกลับไปที่ทำงาน เราก็ปฏิบัติธรรมได้แล้ว คือ“รู้กายเคลื่อนไหวเมื่อทำกิจ เห็นใจคิดนึกเมื่อเกิดผัสสะ” แล้วความสงบก็จะเกิดขึ้น แล้วพอทำไปนานๆ ความสว่างก็จะปรากฎ จะเห็นสัจธรรมจากอารมณ์ต่างๆ ที่มันเกิดขึ้นมาในใจ ขอเพียงแต่เราต้องรู้จักเปลี่ยนร้ายให้กลายเป็นดี ซึ่งก็เปลี่ยนด้วยการเห็นนั่นแหละ เพราะมันถูกเห็นเมื่อไร มันก็จะกลายเป็นสัจธรรมแสดงแก่เราทันที ต้องขยันเปลี่ยน ขยันเปลี่ยนทุกข์ให้เป็นธรรม เปลี่ยนอารมณ์อกุศลให้เป็นสัจธรรมให้ได้
เพราะฉะนั้นที่หลวงพ่อคำเขียนจึงว่าไว้ว่า แม้ถูกด่าก็ยังเห็นสัจธรรม มันจริงนะ และเราทดลองดูได้ แต่ว่ามันต้องมีสติ ถูกด่าไม่มีสติก็ลงนรกเลย แต่ถ้าถูกด่าแล้วมีสติ มันก็เห็นสัจธรรม ใหม่ๆ เราจะเห็นสัจธรรมเรื่องโลกธรรมก็ได้ ว่า“สรรเสริญ”กับ“นินทา”เป็นของคู่กัน นั่นคือเข้าใจเรื่องโลกธรรม 8 แต่ต่อไปมันจะเห็นสัจธรรมเรื่องรูปนาม เห็นสัจธรรมเรื่องไตรลักษณ์ได้ โลกธรรมเป็นเรื่องภายนอก แต่รูปนามและไตรลักษณ์มันเกี่ยวกับเราโดยตรง หรือมันเป็นเรื่องของเรายิ่งใกล้เข้าไปอีก อย่างไรก็ตาม มันก็จำเป็นที่เราต้องมีเวลาปลีกตัวมาบ้าง ถึงแม้ว่าอยู่ที่บ้านอยู่ที่ทำงานก็ปฏิบัติธรรมได้ ฝึกรู้ฝึกเห็นได้ แต่ว่าก็จำเป็นที่จะต้องปลีกตัวอย่างที่เรามาทำใน 2-3 วันที่ผ่านมา อยู่ในสถานที่แบบนี้ กรุงเทพฯแม้มันว้าวุ่นยังไง ก็ยังดีที่ยังมีสถานที่แบบนี้ มีสวนสาธารณะที่สงบร่มรื่น ชีวิตเราก็ต้องมีแบบนี้บ้าง ก็คือมีพื้นที่ที่สงบ คำว่าพื้นที่นี่อาจจะไม่ใช่เป็นสถานที่ แต่อาจจะเป็นช่วงเวลาก็ได้ คือมีพื้นที่ในชีวิตของเราที่มันสงบ ที่ทำให้เราปลีกตัวมาค้นหาตัวเอง รู้จักตัวเอง บ้านเราอาจจะไม่มีสวน ไม่มีที่ที่จะมาหาความสงบร่มรื่นแบบนี้ แต่ว่าเราจัดเวลาเพื่อให้ใจของเรามีพื้นที่สำหรับความสงบ สำหรับการปฏิบัติวันละ 5 นาที 10 นาทีก็ได้ พื้นที่ที่ว่านี้อาจจะเกิดขึ้นในบ้านของเรา จัดเวลาให้เป็นพื้นที่แห่งความสงบ แห่งความตื่นรู้ ฝึกรู้ฝึกเห็น เพื่อจะได้ปลูกฉันทะ จนกระทั่งเกิดความสนุกรู้สนุกเห็น แล้วพอเราออกจากบ้าน พอเราไปทำงาน เราก็จะมีกำลังสติที่จะรักษาใจของเรา เหมือนกับร่มที่เราออกไปเจอที่โล่งเจอแดด เราก็ไม่ร้อน แดดมันร้อนแต่ว่าใจเราไม่ร้อน เพราะว่าเรามีร่ม ร่มนี้มันรักษากายให้เย็น แต่ถ้ามีธรรมะหรือมีสติ มันก็เป็นร่มที่รักษาใจให้สงบได้ ฉะนั้นเมื่อเรากลับไปบ้าน หลังจากวันนี้ก็ขอให้หมั่นรู้หมั่นเห็น สนุกรู้สนุกเห็นเป็นประจำ