แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ขอคารวะพระคุณเจ้าและขอเจริญพรญาติโยมสาธุชนทุกท่าน หลายคนที่มาในงานนี้ โดยเฉพาะถ้าหากว่าไม่คุ้นเคยกับคำสอนของหลวงพ่อคำเขียน ก็อาจจะสงสัยว่าทำไมถึงตั้งชื่องานนี้ รวมทั้งการบรรยายเมื่อสักครู่ แล้วก็ที่จะบรรยายต่อไปนี้ว่า“ไม่เป็นอะไรกับอะไร” คำนี้เป็นคำที่หลวงพ่อคำเขียนได้พูดไว้ค่อนข้างบ่อยในช่วงท้ายๆ ของชีวิตท่าน ท้ายๆ นี่หมายถึงว่า 5 ปี 10 ปี แล้วยิ่งเมื่อมาถึงระยะท้ายของชีวิตท่านตอนที่ท่านอาพาธหนักด้วยโรคมะเร็งครั้งที่ 2 เมื่อต้นปี 57 ซึ่งท่านไม่สามารถจะพูดได้ เพราะว่ามีการเจาะคอ ท่านก็จะเขียนและในข้อเขียนของท่านที่บันทึกยามอาพาธ ก็จะเขียนและพูดถึงคำว่า“ไม่เป็นอะไรกับอะไร”หลายครั้ง และพูดโดยการให้ความสำคัญในฐานะที่มันเป็น“มรรควิธี” คือแนวการปฏิบัติสำหรับลูกศิษย์ของท่าน ที่อยากจะฝากเอาไว้ ทั้งในฐานะที่เป็นสภาวะที่ท่านได้อาศัยใช้ประโยชน์ รวมทั้งเป็นจุดมุ่งหมายของการปฏิบัติที่ลูกศิษย์ลูกหาควรจะไปให้ถึง นั่นก็ถือเป็นวัตถุประสงค์หรือจุดหมายปลายทางด้วย
เมื่อปีที่แล้วอาจารย์กำพล ทองบุญนุ่ม ได้มาพูดที่นี่ เรียกว่าเป็นการบรรยายธรรมครั้งสุดท้ายของท่าน ซึ่งท่านประกาศว่าจากนี้ไปท่านจะแขวนไมค์แล้ว ไม่ใช่แขวนนวมแต่แขวนไมค์ ก่อนที่ท่านจะแขวนไมค์ ในวันนั้นที่นี่ท่านก็พูดว่า “คำสอนของหลวงพ่อเรื่องไม่เป็นอะไรกับอะไร มันเป็นมงกุฎเลย มันเป็นเพชรประดับมงกุฎ คือมันเป็นสุดยอดคำสอนของท่าน” เพราะฉะนั้นเมื่อเราจะมาระลึกถึงคุณของหลวงพ่อ โดยเฉพาะในโอกาส 80 ปี แห่งชาตกาลของท่าน ก็คงจะไม่มีประเด็นใดที่เราควรจะมาพูดถึง หรือให้ความสำคัญเท่ากับเรื่อง“ไม่เป็นอะไรกับอะไร”
อย่างไรก็ตาม แม้จะได้กล่าวว่าคำสอนเรื่องนี้ของท่าน ท่านจะได้พูดได้ย้ำในช่วงท้ายของท่าน แต่ก็ไม่ได้หมายความว่ามันเป็นเรื่องใหม่เสียทีเดียว นับถอยหลังไปเมื่อ 20 ปีที่แล้ว ตอนที่อาจารย์กำพล ทองบุญนุ่ม ตอนนั้นท่านยังมีความทุกข์เพราะความพิการในปี 38 ได้ทราบว่าหลวงพ่อคำเขียนเป็นลูกศิษย์ของหลวงพ่อเทียน ซึ่งหลวงพ่อเทียนละสังขารไปนานแล้ว ในปี 31 อาจารย์กำพลสนใจการปฏิบัติของหลวงพ่อเทียน ก็เลยเขียนจดหมายมาปรึกษาธรรมะกับหลวงพ่อคำเขียน หลวงพ่อคำเขียนก็เขียนตอบกลับไป ซึ่งจดหมายนั้นก็ได้มีการถ่ายสำเนาไว้ อยู่ในหนังสือที่แจกในวันนี้ เกี่ยวกับประวัติตอนต้นของอาจารย์กำพล มีข้อความตอนหนึ่งบอกไว้ว่า“เวลามันทุกข์ อย่าไปเป็นผู้ทุกข์ เวลาเกิดความเบื่อหน่ายความอึดอัดขัดเคือง ให้เห็น ให้รู้ ว่ามันเป็นแค่อาการของจิต อย่าไปเป็นกับอะไรนั่น” อันนี้แหละคือจุดเริ่มต้นของคำสอนที่ตอนหลังงอกออกมาเป็นว่า“ไม่เป็นอะไรกับอะไร” แต่ถ้าเริ่มต้นด้วยคำที่ว่า“อย่าเข้าไปเป็นอะไรกับอะไร” คราวนี้อาตมาอยากจะขยายความสักหน่อย ในเรื่องนี้ จริงอยู่ไม่เป็นอะไรกับอะไรมันเป็นสภาวะ มันเป็นสภาวะที่จะรู้ได้เข้าใจได้ด้วยการปฏิบัติ ด้วยการสัมผัสด้วยตัวเอง มันเป็นเรื่องที่ไม่ได้อาศัยการคิด
ประเด็นนี้ หลวงปู่ดุลย์ อตุโล ซึ่งท่านเป็นลูกศิษย์หลวงปู่มั่นรุ่นแรกๆ ท่านจะพูดว่า“คิดเท่าไรก็ไม่รู้ ต่อเมื่อหยุดคิดถึงจะรู้ แต่จะรู้ได้ต้องอาศัยคิด” นั่นก็หมายความว่าเรื่อง“ไม่เป็นอะไรกับอะไร”นี้ มันเข้าใจไม่ได้ถ้าหากใช้ความคิด มันต้องรู้และต้องสัมผัสด้วยตัวเอง แต่.. อย่างน้อยการที่เราอาศัยความคิดบ้าง ก็อาจจะช่วยทำให้รู้ได้ เพราะฉะนั้นแม้จะพูดว่า“ไม่เป็นอะไรกับอะไร” เป็นเรื่องลุ่มลึก ไม่สามารถจะรู้ได้ด้วยการคิด แต่ว่าถ้าจะมาพูดถึงเรื่องนี้อยู่บ้าง โดยอาศัยความคิด ผสมกับประสบการณ์ของครูบาอาจารย์ และจากการที่ได้ปฏิบัติ ก็คงจะช่วยทำให้เราเข้าใจ สิ่งที่อาจารย์กำพลเรียกว่าเป็นเพชรแห่งมงกุฎ หรือว่าเป็นเพชรแห่งธรรมได้
“ไม่เป็นอะไรกับอะไร” คำถามแรกคือว่า “อะไร”ตัวหลังนี้มันคืออะไร อันนี้ง่ายสุด อะไรตัวหลังนี้มันคืออะไร ต้องเข้าใจตรงนี้ก่อนว่า“อะไร”ตัวที่สองนี้หมายความว่าอะไร อันนี้เราอาจจะดูได้จากหลวงพ่อคำเขียนท่านเคยพูดเอาไว้ เขียนบันทึกเอาไว้ ท่านบอกว่า“มีแต่เห็น อย่าเข้าไปเป็นอะไร”กับสิ่งที่เกิดขึ้นกับรูปและนาม อีกตอนหนึ่งท่านก็บอกว่า การเข้าถึงพระนิพพาน ก็คือ การไม่เข้าไปเป็นกับอาการต่างๆ ที่เกิดกับกายและใจ นั่นก็หมายความว่า “อะไร”ในที่นี้ที่หลวงพ่อพูด หมายถึงสิ่งที่เกิดขึ้นกับกายและใจหรืออาการของกายและใจ พูดง่ายๆ ให้เป็นรูปธรรม ก็คือว่าความปวด ความเมื่อย ทุกขเวทนา รวมถึงสุขเวทนาด้วย รวมถึงความคิดและอารมณ์ เพราะนี่คืออาการที่เกิดกับใจ ความคิด และอารมณ์ สิ่งที่เกิดกับกายก็คือเวทนา หรือว่าผัสสะ เพราะฉะนั้นไม่เป็นอะไรกับอะไร ขอให้เข้าใจ อะไรตัวหลังนี้ คือสิ่งที่เกิดขึ้นกับกายและใจ ซึ่งมันเกิดขึ้นกับเราอยู่ตลอดเวลา ตอนนี้ก็เกิดแล้วใช่ไหม ปวดเมื่อย ร้อน อาจจะมีความหงุดหงิด อาจมีความรำคาญ อาจจะมีความกังวล นั่นแหละคือสิ่งที่หลวงพ่อบอกว่า ไม่เป็นอะไร กับสิ่งเหล่านี้
คราวนี้คำว่า ไม่เป็นอะไร อะไรตัวแรก หมายถึงอะไร อาตมาจะพูดให้เข้าใจง่าย โดยจำแนกออกมาอย่างแรก ก็คือไม่เป็นมัน ไม่เข้าไปเป็นมัน มันนี่คืออะไร อารมณ์ ความคิด ความปวด ความเมื่อย มันเกิดขึ้นอย่าไปเป็นมัน มีความปวดเกิดขึ้นอย่าไปเป็นผู้ปวด มีความเมื่อยเกิดขึ้นอย่าเป็นผู้เมื่อย ท่านจะกำกับด้วยคำว่า “เห็น” เห็น.. ไม่เข้าไปเป็น ขณะนี้ถ้าปวดเมื่อยก็แค่เห็น ไม่เข้าไปเป็นผู้ปวดผู้เมื่อย หรือเหมือนกับที่ท่านบอกกับอาจารย์กำพลว่า เมื่อมันทุกข์ อย่าไปเป็นผู้ทุกข์ ให้เห็นมัน อันนี้จะรวมถึงคำว่าดีใจ พอใจ ชอบใจ ก็อย่าเข้าไปเป็นมัน เห็นมัน ตรงนี้ถามว่า จะทำอย่างไร ก็อาศัย“สติ” สติทำให้เห็นอาการที่เกิดกับกายและใจ โดยไม่เข้าไปเป็น ปกติคนเรา พอมีอาการอะไรเกิดขึ้นกับกายและใจ มันจะเข้าไปเป็นเลย แต่ถ้ามีสติ มันจะช่วยเหมือนกับถอนใจออกมา ออกมาเป็นผู้เห็น
คราวหนึ่งมีนักปฏิบัติเป็นผู้หญิงมาจากในเมือง ปฏิบัติกับหลวงพ่อสักพัก สัก 2-3 วัน ก็มาปรึกษาหลวงพ่อว่า “หลวงพ่อทำอย่างไรดี หนูเครียดเหลือเกิน” หลวงพ่อไม่ตอบ หลวงพ่อกลับพูดกลับไปว่า “ยังถามไม่ถูกให้ถามใหม่” เธอนิ่งสักพัก แล้วพูดขึ้นว่า “หนูเห็นมันเครียดเหลือเกิน” ต่างกันไหมระหว่าง “หนูเครียด” กับ “หนูเห็นมันเครียด หรือหนูเห็นความเครียด” หนูเครียดก็คือเข้าไปเป็นแล้ว เป็นผู้เครียด แต่ถ้าหนูเห็นมันเครียด ความเครียดก็อันหนึ่ง หนูก็อันหนึ่ง มันมีระยะห่าง ตรงนี้ความเครียด พอมันถูกเห็น มันจะหมดพิษสง มันจะคลายพิษสง ความโกรธ ความเศร้า ถ้าถูกเห็นเมื่อไร อานุภาพหรือพลานุภาพของมันจะลดลง ความปวดความเมื่อยถ้าเราเห็นมัน มันก็จะทำอะไรใจเราไม่ได้ แต่มันก็ยังปวดยังเมื่อยอยู่ที่กายที่ขา พวกนี้มันกลัวถูกเห็นหรือพ่ายแพ้ต่อการเห็น พอเห็นปุ๊บ มันจะซา มันจะสงบ มันจะหมดพิษสง เพราะฉะนั้น การไม่เข้าไปเป็นนี้ เอาเฉพาะความหมายเบื้องต้น ก็ช่วยได้มากเลย ไม่ไปเป็นกับทุกขเวทนา ความปวด ความเมื่อย ความเครียด รวมทั้งความคิดฟุ้งซ่านต่างๆ ซึ่งทำได้ด้วยการมีสติเห็น หลวงพ่อคำเขียน ท่านจะพูดอยู่เสมอ ซึ่งคำพูดนี้ ก็เป็นประเด็น เป็นหัวข้อที่จัดงานเมื่อปีที่แล้ว คือ“เห็น ไม่เป็น” สติช่วยมาก
“ไม่เป็นอะไรกับอะไร” ในความหมายที่สอง คือว่าไม่เป็นปฎิปักษ์กับอะไรเลย มีความปวดความเมื่อยตอนนี้ที่แขนที่ขา ก็รู้เฉยๆ อย่าไปทะเลาะเบาะแว้งกับมัน อย่าไปผลักไสมัน มีความโกรธเกิดขึ้นในใจ ก็เห็นมัน อย่าไปผลักมัน อย่าไปกดข่มมัน ตรงนี้มันเป็นหลัก มันเป็นเคล็ดลับของการปฏิบัติ จริงๆ ความทุกข์ของคนเรานี้ บ่อยครั้งมันเกิดที่ใจ เพราะใจมันเป็นปฏิปักษ์กับสิ่งต่างๆ ที่ผ่านเข้ามาทางผัสสะ บ่อยครั้งที่เราหงุดหงิดเพราะมีเสียงดัง ไม่ทราบว่าเมื่อตอนอภิปราย หลายคนรู้สึกรำคาญที่มีเสียงดังมาจากข้างบน หลายคนก็อาจจะรู้สึกหงุดหงิด แต่ที่จริงมันไม่ใช่ปัญหาที่เสียงที่เราได้ยินนะ แต่เป็นเพราะใจเราที่ไปเป็นปฏิปักษ์กับมัน
มีเรื่องเล่าว่าเมื่อ 40 ปีที่แล้ว หลวงพ่อชา สุภัทโท ได้รับนิมนต์ไป ประเทศอังกฤษ อาจารย์สุเมโธ ตอนนั้น 14-15พรรษาก็ตามไปด้วย สมัยนั้นไม่มีวัดอมราวดี ไม่มีวัดป่าปลีกวิเวก เจ้าภาพก็ให้คณะหลวงพ่อชาขึ้นวิหารกลางกรุงลอนดอน ชื่อวิหารฮัลสเตต หลวงพ่อชาก็มีสอนเทคนิคการบรรยายธรรม การทำสมาธิ การสวดมนต์ เป็นประจำ โดยเฉพาะตอนเย็น เย็นวันหนึ่งท่านก็นำทำสมาธิเช่นเคย แต่บังเอิญตรงข้ามวิหารฮัลสเตต มันเป็นคลับเป็นบาร์ แล้วตอนนั้นก็เป็นเย็นวันศุกร์ด้วย เพราะฉะนั้นก็จะมีคนไปเที่ยวและมีดนตรีส่งเสียงอึกทึกครึกโครม เข้ามาถึงในวิหาร อาจารย์สุเมโธตอนนั้นบอกว่า นั่งสมาธิไม่เป็นสุขเลย เสียงดังยังพอว่า แต่ที่ร้องไม่เพราะนี่แย่มากเลย ส่วนหลวงพ่อชายังนั่งนิ่งสงบเหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้น เป็นเวลาสัก 40 นาที พอทำสมาธิจบ เจ้าภาพชาวอังกฤษก็เข้ามาหาหลวงพ่อชา แล้วกล่าวคำขอโทษ ขอโทษที่เสียงรบกวนหลวงพ่อและคณะ หลวงพ่อชาท่านตอบยังไง ท่านตอบว่า“โยม.. โยมไปคิดว่าเสียงมันรบกวนโยม แต่ที่จริงโยมไปรบกวนเสียงต่างหาก เข้าใจไหม ที่โยมคิด เพราะโยมไปรบกวนเสียง” อันนี้ขยายความได้ว่า ตัวโยมนั่งอยู่นี่ แต่ใจมันไปทะเลาะเบาะแว้งกับเสียง มันไปผลักไส มันไปต่อสู้กับเสียง “ดังทำไม” “ทำไมถึงดัง” “มาดังอะไรตอนนี้” “ร้องเพลงก็ไม่เพราะ เมื่อไรจะหยุดสักที หยุดได้แล้วโว้ย!” นี่ก็คือไปทะเลาะกับเสียง แสดงว่าเป็นแล้ว เป็นปฏิปักษ์กับเสียงนั้น คนเรานะ ถ้าใจมันเป็นปฏิปักษ์กับอะไรก็ตาม มันก็ทุกข์ทั้งนั้น กับหน้าตาที่ไม่สวย กับสิวไม่กี่เม็ดบนใบหน้า ไม่ยอมรับมันก็ทุกข์เลย ผมที่เริ่มหงอก ความเห็นที่ได้อ่านในไลน์ในเฟซบุ๊ค ความรู้สึกไม่ชอบ รังเกียจ นี่ก็เป็นทุกข์เลย เพราะฉะนั้นการที่เราไม่เป็นปฎิปักษ์กับอะไรเลย จึงเป็นสิ่งสำคัญในการช่วยทำให้ใจเราสงบ และเมื่อเราไม่เป็นปฏิปักษ์ การปล่อยวางก็เกิดขึ้นได้ง่าย การที่ไม่เป็นปฏิปักษ์ก็มีความหมายเดียวกับคำว่า“ยอมรับ” ยอมรับทุกอย่างที่เกิดขึ้น
ความหมายประการที่ 3 ของการ“ไม่เป็นอะไรกับอะไร” ก็คือไม่เป็นเจ้าของอะไรเลย นอกจากไม่เป็นมัน ไม่เป็นปฏิปักษ์กับมัน ก็ไม่เป็นเจ้าของมันด้วย การไม่เป็นเจ้าของมัน คืออาการที่เกิดกับกายและใจ เรามักไม่รู้ตัวว่าความโกรธ ความปวด ความเมื่อยที่เกิดขึ้น เราไม่ชอบแต่เผลอทีไร เราก็จะไปยึดว่ามันเป็นเรา เป็นของเรา ความโกรธเป็นเรา ความโกรธเป็นของเรา เราไม่ได้ยึดเฉพาะสิ่งที่ให้ความสุขกับเรา สิ่งที่ทำความทุกข์ให้กับเรา เราก็ยึดมาเป็นของเรา ความเจ็บความปวดเป็นของเรา และสุดท้ายมันยาวไปจนถึงความสำคัญมั่นหมายว่ากายและใจเป็นเรา เป็นของเรา ตรงนี้นี่แหละที่มันทำให้ทุกข์ เพราะพอกายนี้เริ่มเสื่อมไป ความทุกข์ก็เกิดขึ้นทันที กายของเรา กายของกู แต่ว่ามันเสื่อมไป มันเริ่มแก่ มันเริ่มหย่อนยาน ความคิดจิตใจที่เคยจำได้แม่น คิดอะไรได้คล่อง แต่ว่ามันไม่เป็นไปดั่งใจแล้ว ความรู้สึกที่ใจของเราไปยึดมั่นเมื่อไร พอแปรเปลี่ยนไปก็ทุกข์เลย
ประเด็นนี้คุณขุนเขาได้พูดเอาไว้แล้ว แต่อยากจะขยายความให้ชัดขึ้น โดยเฉพาะเรื่องกายกับใจ รวมทั้งอาการที่เกิดกับกายและใจ ไปคิดว่าเป็นเรา เป็นของเราเมื่อไร มันทุกข์ทันที มันทุกข์เมื่อเราเริ่มไปยึดว่ามันเป็นเรา เป็นของเรา แต่การปฏิบัติโดยเฉพาะการเจริญวิปัสสนา จะช่วยให้เราเห็น อย่างแรกเลย มันไม่มีเรา ความยึดว่าเป็นเรา กายของเรา มันเริ่มต้นจากความรู้สึกว่าเป็นเรา มีเรา เราเป็นผู้กระทำทุกอย่าง เดินก็เราเดิน คิดก็เราคิด ปวดก็เราปวด โกรธก็เราโกรธ มันมีแต่เรา แล้วของเรามันตามมา แต่ถ้าเราเจริญสติ หมั่นดูกายดูใจ เห็นกายและเห็นใจอยู่เนืองๆ มันจะเห็นเลยว่าไม่มีเรา มีแต่กายกับใจ เมื่อเดิน ไม่ใช่เราเดิน แต่มันเป็นรูปที่เดิน มันเป็นกายที่เดิน เมื่อเราโกรธ เราเครียด มันไม่ใช่เราโกรธเราเครียด แค่ใจมันโกรธ ใจมันเครียด แล้วสุดท้ายก็จะเห็นกระทั่งว่าความโกรธ ความเครียดมันเกิดขึ้นที่ใจ เริ่มเห็นละเอียดขึ้น แต่ก่อนเราปวด เราเมื่อย แต่ตอนหลังเห็นว่า มันไม่ใช่เราปวด เราเมื่อย มันเป็นขาที่ปวด แขนที่เมื่อย ตัวเรามันหายไปเลย หลวงพ่อคำเขียนใช้คำว่า“มันถลุง” สติมันช่วยถลุง จากเดิมทีเห็นมันเป็นก้อนใหญ่ แล้วมาเห็นแค่กายเป็นใจ แต่ก่อนเห็นเป็นเรา แต่พอมีสติ ไม่เห็นเป็นเรา เห็นแต่รูปกับนาม มันมีแต่กายกับใจ แล้วเราจะพบว่ามันเป็นสิ่งที่ปรุงขึ้นมาในใจ มันไม่มีอยู่แต่เดิม “เรา”หรือ“ฉัน”
ขอเปรียบเทียบง่ายๆ คำว่า ก.ไก่ กับ บ.ใบไม้ เวลาอยู่โดดๆ มันก็ไม่เป็นอะไร เป็นแค่ตัวอักษรใช่ไหม แต่พอมันเจอกันเข้าไป เรานึกถึงอะไร “กบ”สัตว์ชนิดหนึ่ง กบเหลาดินสอ ใช่ไหม ความหมายนี้มันไม่มีอยู่แต่เดิม แต่เป็นสิ่งที่สร้างขึ้นมาอยู่ในใจ จริงๆ มันก็เป็นแค่ตัวหนังสือ ก. กับ บ. แต่ความหมายมันเกิดขึ้นมาในใจ ความหมายมันเกิดขึ้นเพราะเราไปให้ความหมายมันในใจ ต.เต่าอันหนึ่ง ด.เด็กอันหนึ่ง รวมกันเป็น“ตด” ได้กลิ่นไหม เหม็นนะ ไม่ชอบ มันเป็นความหมายที่สร้างขึ้นมาในใจ ตัวหนังสือมันไม่ได้บอกเลยใช่ไหม คำว่าเรา คำว่าฉันก็เหมือนกัน มันเป็นสิ่งที่ปรุงขึ้นมาในใจ ของจริงมันมีแต่รูปกับนาม มีแค่กายกับใจแค่นั้น แต่เราไปปรุงไปสร้างขึ้นมา ว่าเป็นเรา มันมีตัวเราซ้อน เป็นภาพซ้อนขึ้นมา ซึ่งถ้าเราเจริญสติดูมัน เราจะเห็นเลยว่ามันไม่มีเรา มีแต่รูปกับนาม มีแต่กายกับใจ และตรงนี้แหละจะทำให้ตัวเราลดลง ลดความสำคัญ ความคิดว่า..ความสำคัญมั่นหมายว่า เราเป็นนั่น เราเป็นนี่ เราทำนั่น เราทำนี่ ก็จะลดลง เราก็จะเห็นว่า ที่ทำนี้คือรูปกับนาม กายกับใจ มันไม่มีเรา และรูปกับนามก็ไม่ใช่เรา ต่อไปก็จะเห็นว่า รูปกับนามก็ไม่ใช่ของเรา มันไม่เป็นไปตามอำนาจของเรา ตรงนี้แหละที่ทำให้การเป็นเจ้าของรูป เจ้าของนาม เจ้าของจิตใจ มันก็ลดสลายหายไป ลดทอนหายไป ไม่เป็นอะไรกับอะไร ก็คือไม่เป็นเจ้าของรูปกับนาม ไม่เป็นเจ้าของกายกับใจ เพราะว่ามันเป็นของธรรมชาติ มันไม่ใช่อยู่ในอำนาจที่เราจะบังคับบัญชาได้
ต่อไปก็จะเห็นในความหมายที่ 4 คือเห็นว่าไม่ใช่แค่กายกับใจที่เราไม่มีความสำคัญมั่นหมายว่าเป็นเจ้าของ ไม่เป็นอะไรกับอะไร ยังหมายถึงว่าไม่สำคัญมั่นหมาย ไม่เป็นเจ้าของอะไรเลย ไม่ใช่กายกับใจ แต่รวมถึงสิ่งที่อยู่นอกตัว ทรัพย์สมบัติ บริษัท บริวาร คนรัก อันนี้รูปธรรม หรือนามธรรม ก็ได้แก่ ชื่อเสียง ผลงาน ความสำเร็จ คำว่า“อะไร”ตัวหลังนี้มันไม่ใช่ได้หมายถึงแค่กายกับใจ มันหมายถึงทุกอย่างเลย อาตมาเชื่อว่าหลวงพ่อคำเขียนต้องการจะบอกอย่างนี้ด้วยว่า คำว่า“อะไร”นี้ มันคือทุกอย่าง ซึ่งทางพุทธศาสนาเรียกว่า“สังขาร” หรือภาษาชาวบ้านเรียกว่า“สรรพสิ่ง” ยกเว้นนิพพาน “อะไร”มีความหมายกว้างคลุมทั้งโลกเลย เริ่มจากกายกับใจ และไปถึงสิ่งอื่นที่ไม่ใช่กายและใจ ไม่ว่าจะเป็นรูปธรรมหรือนามธรรม ก็ไม่มีความสำคัญมั่นหมายว่าเป็นเจ้าของมัน เพราะรู้ว่ามันเป็นของใครไม่ได้ มันเป็นเช่นนั้นเอง แต่ถ้าไปคิดว่าเป็นเจ้าของเมื่อไร ก็ทุกข์เลย ไม่มีทางพ้นจากอำนาจของกิเลสหรืออำนาจของมาร
มันมีคำสนทนาของมารที่จารึกไว้ในพระไตรปิฎก สนทนากับพระพุทธเจ้าว่า “ชนเหล่าใดกล่าวถึงสิ่งใดว่านี้ของเรา ทั้งยังกล่าวว่า ของเรา ของเรา ของเรา ถ้าใจของท่านยังฝังอยู่ในสิ่งนั้น ท่านก็จะไม่พ้นจากอำนาจของเราได้” ก็คือว่าถ้าไปยึด สำคัญมั่นหมายว่าเป็นเจ้าเข้าเจ้าของอะไรก็ตาม นี้ของเรา นี้ของเรา จะไม่มีทางพ้นอำนาจ พ้นจากอำนาจของมาร และก็จะไม่มีทางพ้นจากเงื้อมมือของความทุกข์ได้ ประเด็นนี้ก็ได้พูดไปแล้วเมื่อรายการที่ผ่านมา เพราะฉะนั้นคำว่า“ไม่เป็นอะไร” ก็คือสิ่งที่ต้องถามตัวเองว่า เราไปยึดมั่น ไปสำคัญมั่นหมายว่าโน่นนี่เป็นของเราหรือเปล่า ถ้าเป็นเมื่อไร ทุกข์ทันที
เทวดาเคยสนทนากับพระพุทธเจ้าอยู่ตอนหนึ่งว่า มีบุตรก็สุขเพราะบุตร มีโคก็สุขเพราะโค พระพุทธเจ้าตรัสแย้งว่า มีบุตรก็ทุกข์เพราะบุตร มีโคก็ทุกข์เพราะโค “มี”ในที่นี้หมายถึงเป็นเจ้าเข้าเจ้าของ หรือสำคัญมั่นหมายว่าเป็นเจ้าของ เจ้าของ เจ้าของ ของฉัน ของฉัน ถามว่ามีโดยไม่ยึดได้ไหม... ก็ได้นะ พระพุทธศาสนาก็ไม่ได้ปฏิเสธว่า ในเมื่อเราไม่สามารถจะยึดว่าเป็นของเราได้ ก็สละทุกสิ่งทุกอย่าง ก็ไม่ถึงขนาดนั้น ไม่เหมือนกับลัทธิเชน ลัทธิเชนนั้นเขาถือว่าไม่มีอะไรเป็นของเราเลย เพราะฉะนั้นเขาสละหมด เวลาออกบวช จะเป็นเศรษฐี คหบดี เขาก็จะสละทุกอย่าง แล้วก็ออกบวช และไม่ใช่แค่นั้น แม้แต่เสื้อผ้าก็สละด้วย ไม่มีสมบัติเลยแม้แต่น้อย เพื่อแสดงให้เห็นถึงความไม่ยึดมั่นว่าเป็นเจ้าของอะไรเลย แต่พระพุทธศาสนาไม่ได้มองไปถึงขนาดนั้น มองว่ามีได้แต่ไม่ยึดว่าเป็นของเรา พระพุทธเจ้าก็มีไตรจีวร มีบาตร พระสิวลีท่านก็มีเยอะ มีมากกว่าพระพุทธเจ้าอีก ท่านไม่ยึดว่าเป็นของท่านเลย แจกหมด อะไรที่ยังใช้อยู่ก็ไม่ยึดว่าเป็นของเรา มีในที่นี้คือไม่ยึดมั่นสำคัญหมายว่าเป็นเจ้าของ มันไม่ได้แปลว่าทิ้งหมด ไม่เหลืออะไรเลยแม้กระทั่งเสื้อผ้า
ประการสุดท้ายคำว่า“ไม่เป็นอะไรกับอะไร” ยังหมายถึงว่าไม่สำคัญมั่นหมายว่าเป็นนั่นเป็นนี่ เป็นนั่นเป็นนี่ เช่นอะไร เป็นผู้หญิง เป็นผู้ชาย เคยมีมารมาล่อลวง มาชักจูงให้พระเถรีท่านหนึ่ง คลายความเพียรในการปฏิบัติ มาบอกว่าท่านเป็นผู้หญิง มาปฏิบัติธรรมจะได้อะไร สมองก็แค่นี้ มาพูดท้าทายให้คลายความเพียร พระเถรีท่านก็ตอบว่า เราไม่มีความสำคัญมั่นหมายว่าเป็นสตรีหรือบุรุษ ใครก็ตามที่สำคัญมั่นหมายว่าเราเป็นบุรุษ เราเป็นสตรี ให้ท่านไปหาคนเหล่านั้นเถิด ไปหาเพราะอะไร เพราะจะได้ครอบครองอยู่ในอำนาจ พระเถรีท่านนี้ ท่านพ้นแล้วจากความยึดมั่นว่าเป็นผู้หญิง ไปพ้นแล้ว
แต่คนเราไม่สำคัญมั่นหมายว่าเป็นผู้หญิง ผู้ชาย เราสำคัญมั่นหมายว่าเป็นอะไรหลายอย่าง และความสำคัญมั่นหมายที่คิดว่าเป็นเรานี้ เราเคยสังเกตไหมว่ามันไม่เคยคงที่เลย พอเจอลูกเราก็สำคัญมั่นหมายว่าเป็นแม่ พอเจอลูกศิษย์ก็เปลี่ยนไปฉันคืออาจารย์ พอเจอฝรั่งฉันคือคนไทย พอเจอคนกรุงเทพ ความรู้สึกว่าฉันคือคนอีสานก็ผุดขึ้นมา พอเจอคนขอนแก่น ความรู้สึกว่าฉันคือคนชัยภูมิก็เกิดขึ้น พอเจอคนท่าทำเกวียน ความรู้สึกฉันคือคนท่ามะไฟก็ปรากฏ ความเป็นเรานี้มันเลื้อยไปเรื่อยๆ มันเปลี่ยน มันเลื่อนไหลไปเรื่อยๆ แล้วอะไรที่เลื่อนไหลไปเรื่อยๆ มันจริงไหม มันไม่จริง แต่เราก็ไปคิดว่ามันจริง และที่สำคัญคือว่ามันทำให้ทุกข์ด้วย เพราะว่ายึดมั่นว่าเป็นอะไรก็ตาม มันก็ทุกข์ ยึดมั่นว่าฉันเป็นแม่ มันก็จะมีความสำคัญมั่นหมายว่าลูกต้องเชื่อฟังพ่อแม่ ลูกอย่าเถียงแม่ ลูกต้องเรียนตามที่แม่สอน แม่แนะนำ ถ้าลูกไม่ทำไม่เป็นอย่างที่แม่ต้องการ ทุกข์เลย เป็นเจ้าอาวาสก็มีกิเลสแบบเจ้าอาวาส ลูกวัดก็ต้องฟังต้องเชื่อฟัง มาถึงก็ต้องไหว้ก่อน หลวงพ่อคำเขียนไม่มีอย่างนี้ ท่านเจอใครท่านไหว้ก่อนคนแรกเลย อาจารย์ครรชิตบอกว่าหลวงพ่อคำเขียน เป็นเสือปืนไว ไม่มีใครที่จะได้ไหว้ท่านก่อนเลย ท่านไหว้ก่อน คือท่านไม่มีความสำคัญมั่นหมายในเรื่องนี้เลย ในเรื่องว่าฉันเป็นพระครู ฉันเป็นเจ้าอาวาส ฉันเป็นพันเต เธอต้องไหว้ฉัน เคารพฉันก่อน อะไรทำนองนี้ หรือว่ามาฉันอาหารก็ต้องมีลูกศิษย์ไปเตรียมจานชามมาให้อย่างที่อาจารย์ครรชิตเล่า อันนี้หลวงพ่อคำเขียนท่านไม่มีเลยความสำคัญมั่นหมายในลักษณะนี้ แต่คนส่วนใหญ่มี พอมีแล้วเป็นไง ทุกข์นะ มีแล้วทุกข์ คนเราทุกข์เพราะความเป็นนั่นเป็นนี่
อาตมาเคยเล่าให้ฟังเมื่อปีที่แล้ว มีฝรั่งถามหลวงพ่อชาว่า ทางเถรวาทถือว่าอรหันต์นี้เป็นสุดยอด เป็นอุดมคติ มหายาน ถือว่าพระโพธิสัตว์เป็นอุดมคติของชีวิต ฝรั่งสับสนมากเลยถามว่าจะเป็นอะไรดี ระหว่างโพธิสัตว์ กับ อรหันต์ หลวงพ่อชาบอกว่า “ไม่ต้องเป็นอะไรเลยนะ เพราะเป็นอะไรก็ทุกข์ทั้งนั้น”
พระพุทธเจ้ายังมีคนมาถามพระองค์ว่า ท่านเป็นเทวดาหรือ พระองค์บอกว่าไม่ใช่ ท่านเป็นคนธรรพ์ใช่ไหม พระองค์ก็ปฎิเสธ ท่านเป็นยักษ์ใช่ไหม พระองค์ปฏิเสธ เมื่อปฏิเสธก็เหลืออย่างเดียวคือเป็นมนุษย์หรือเปล่า พระองค์ก็ปฏิเสธ ก็งงเลยนะ ตกลงว่าพระองค์เป็นอะไร พระพุทธเจ้าก็ตรัสว่า กิเลสที่ทำให้เป็นเทวดา คนธรรพ์ เป็นยักษ์ เป็นมนุษย์ พระองค์ไม่มีแล้ว เป็นเหมือนดอกบัว ที่น้ำไม่อาจแปดเปื้อนได้ ก็คือกิเลสไม่อาจจะแตะต้องได้ พระองค์ไม่เป็นอะไรเลย แต่ก็บอกว่าถ้าจะเรียกพระองค์ก็เรียกว่า“ตถาคต” ถ้าจะเป็น ก็เป็นด้วยเพราะรู้ว่ามันเป็น“สมมติ” ถ้าจะเป็นก็เพราะตระหนักหรือเห็นว่ามันเป็นเพราะสมมติ พระพุทธองค์ท่านก็รู้จักสมมติ พระองค์ก็ใช้สมมติให้เป็น แต่คนส่วนใหญ่ถูกสมมติใช้ ถูกครอบงำด้วยสมมติ ถูกครอบงำด้วยชื่อ เราปล่อยให้สมมติเข้ามาครอบงำเรา
เวลาเรากินอาหาร กินไก่ย่าง กินหูฉลาม กินสเวนเซ่น เคี้ยวในปาก อร่อยไหม ...อร่อย ดื่มด่ำมากใช่ไหม แต่เวลาเราคายลงมา คายลงมา คายใส่จานก็ได้ มีใครบ้างที่คิดว่าพร้อมที่จะควักเข้าใส่ปากอีก ไม่ ไม่เพราะอะไร เพราะคายออกมา มันคือขยะ ใช่ไหม มันคือขยะ มันคือปฏิกูลไปแล้ว อำนาจของสมมติอย่างนี้ มันทำให้เราขยะแขยง สิ่งที่เรากิน ทั้งๆ ที่มันอยู่ในปากเราเมื่อกี้นี้นี่เอง หวานนะ อร่อยนะ ใช่ไหม แต่พออยู่ข้างหน้าเรา มันสภาพเปลี่ยนเป็นขยะไปแล้ว สภาพมันไม่เปลี่ยนนะ อยู่ในปากเราเป็นอย่างไร ออกมาก็เป็นอย่างนั้น ใช่ไหม มันไม่ได้เปลี่ยน แต่ชื่อมันเปลี่ยน แต่สมมติมันเปลี่ยน มันเป็นอาหาร อยู่ในปากมันเป็นอาหารใช่ไหม ตอนออกมามันคือขยะ เหมือนกันทุกอย่างเลยเพียงแต่ชื่อมันเปลี่ยน อันนี้สมมติเปลี่ยน เรานี่ติดภาพของสมมติมาก แล้วเราจะกิน ยังกินมันไม่ลงใช่ไหม ทั้งที่มัน เมื่อกี้ยังอร่อยอยู่เลย ยังอยากจะเคี้ยวนานๆ แต่พอเห็นมันตอนคายออกมา กินไม่ลงแล้ว เพราะไปยึดมั่นกับสมมติว่ามันคือขยะ มันคือปฏิกูล ก็เลยกินไม่ลง อันนี้เรียกว่าเราเป็นทาสของสมมติ เราไม่ได้ใช้สมมติ จริงๆ แล้วจะเรียกว่าสมมติมันใช้เราก็ได้ หรือว่าตกอยู่ในอำนาจของสมมติ
“ไม่เป็นอะไรกับอะไร”นี้ ก็คือการที่เราไม่มีความสำคัญมั่นหมายว่าเป็นนั่นเป็นนี่ เพราะฉะนั้นอาตมาพยายามจำแนกว่า ความไม่เป็นอะไรกับอะไร ที่หลวงพ่อพูด มีความหมายอะไรบ้าง คือ 1.ไม่เข้าไปเป็นมัน 2.ไม่เป็นปฏิปักษ์กับมัน 3.ไม่ยึดมั่นไม่เป็นเจ้าของมัน กายกับใจ แล้วก็รวมทั้ง 4.ไม่ยึดมั่นสำคัญหมายว่าสิ่งที่ไม่ใช่กาย ไม่ควรยึดมั่นว่าเป็นเรา เป็นของเรา ไม่สำคัญหมายว่าเป็นเจ้าของมัน และสุดท้าย 5.คือไม่สำคัญมั่นหมายว่าเป็นนั่นเป็นนี่ อันนี้เป็นเรื่องยากที่สุด คือไม่สำคัญมั่นหมายเป็นนั่นเป็นนี่ ซึ่งเราใช้สติอย่างเดียวไม่พอ ต้องใช้ปัญญาด้วย จนกระทั่ง 6.สามารถเข้าใจเรื่องสมมติ สามารถที่จะมองทะลุสมมติที่เราไปยึดติด เข้าใจในเรื่องของความเป็น“อนัตตา” ความว่าง เพราะฉะนั้นสรุปได้ว่า “ไม่เป็นอะไรกับอะไร” ถึงที่สุดก็คือการ“ปล่อยวาง”นั่นเองกล่าวอย่างสั้นๆ ซึ่งอันนี้คือสิ่งที่หลวงพ่อคำเขียน ท่านพูดเอาไว้ว่าการปฏิบัติธรรม ถึงที่สุดแล้วก็คือการปล่อยวางทางจิต ปล่อยวางทางจิตนะ ทำกิจยังทำอยู่ ลูกไม่ใช่ของเรา แต่ยังดูแลลูก ส่งเสียลูก สั่งสอนลูก รถไม่ใช่ของเรา แต่ก็ยังทำความสะอาดดูแลมัน ร่างกายไม่ใช่ของเราแต่ยังทำความสะอาด ดูแลมันให้สะอาด ป่วยก็รักษา เข้าใจไหมว่า ปล่อยวาง คือ“ปล่อยวางทางจิต ส่วนกิจก็ยังทำอยู่ หน้าที่ก็ยังทำอยู่”
และคราวนี้หลวงพ่อ ด้วยความที่ท่านไม่เป็นอะไรกับอะไร ท่านไม่ได้สอน แต่ท่านทำด้วย และท่านเป็นด้วย เป็นในที่นี้ หมายถึงว่าท่านบรรลุถึงสภาวะนั้น เพราะฉะนั้นนี่คือคำอธิบายว่า ทำไมหลวงพ่อเป็นคนที่เปี่ยมไปด้วยเมตตา และคนเห็นหน้าท่าน อยู่ใกล้ท่าน ก็เย็น หนังสือเรื่องระลึกถึงหลวงพ่อคำเขียน ครั้งที่ 3 เห็นกันรึยัง มันมีภาพแค่ภาพตากับแว่น คนก็รู้แล้วว่านั่นคือหลวงพ่อ เพราะอะไร เพราะนั่นคือจุดเด่นของท่าน คือแววตาที่เปี่ยมไปด้วยเมตตา เมื่อไม่เป็นอะไรกับอะไร ก็ไม่มีความเห็นแก่ตัว จิตก็มีความเมตตาอย่างกว้างขวาง และเมื่อไม่มีความยึดมั่นว่าเป็นอะไร ตัวตนน้อย หรือไม่มีตัวตนเลย ก็เป็นคนที่อ่อนน้อมถ่อมตน อย่างเป็นธรรมชาติ ไม่ใช่เสแสร้ง และก็พอใจอยู่กับความเรียบง่าย มีหลายคนพูดว่า ความอ่อนน้อมถ่อมตัวของหลวงพ่อ ความเมตตาของหลวงพ่อ ความเรียบง่ายของท่านไม่มีกุฏิเลย
ท่านจริงๆ ดูร่างใหญ่ แต่เวลาท่านไปพักในป่า หาท่านไม่เจอนะ อาตมาตัวเล็กแต่ไปอยู่ในป่าเห็นชัดเลย คือท่านกลืนไปกับป่า กลืนไปกับป่าเลย อันนี้เป็นเรื่องที่ประหลาดมาก แต่ก่อนท่านจะไปค้างในป่า กลางคืนก็ไปนอนในป่าใต้ต้นไม้ ท่านเลือกเรียบง่ายมาก แต่ไม่ใช่มักง่าย เพราะพูดถึงความประณีตถี่ถ้วนท่านก็มี และเพราะว่าท่านไม่เป็นอะไรกับอะไร มีตัวตนน้อยหรือไม่มีตัวตนเลย เวลาใครว่าร้ายท่าน ใส่ร้ายท่าน ท่านไม่ทุกข์ ท่านไม่หวั่นไหว อาตมาก็ไม่เคยเห็นว่าท่านว่าร้ายใคร อาตมาอยู่กับท่าน สมัยที่ท่านยังถูกกล่าวหาว่าเป็นแนวร่วมคอมมิวนิสต์ เมื่อเกือบ 40 ปีที่แล้ว ถูกผู้นำในหมู่บ้านกล่าวหาใส่ร้าย เพราะว่าหลวงพ่อไม่เอื้อให้เขาได้ประโยชน์จากโครงการต่างๆ ที่สมัยนั้นอาตมาเป็นฆราวาสได้เอาเข้ามา โครงการสหกรณ์ข้าว กองทุนหมู่บ้าน แล้วคนเหล่านี้เขาไม่ได้ประโยชน์ เขาก็โมโหท่าน ด่าท่าน ใส่ร้ายท่าน ก็ไม่เคยเห็นท่านตอบโต้อะไรเลย แล้วสุดท้ายคนเหล่านั้นก็แพ้ภัยตัวเอง บางคนก็กลับมาขอโทษขอโพยท่าน คนเหล่านี้จะว่าไปแล้ว เวลาเขาด่าท่าน คำด่านั้นไม่เคยโดนตัวท่านเลย ไม่เคยโดนอัตตาของท่านเลย เหมือนกับที่อาจารย์ครรชิต ยกตัวอย่างที่หลวงพ่อบอกว่า เอามือ หรือเอาดินสอนี้พุ่งเข้าไป มันผ่าน คำด่ามันไม่เคยโดนตัวท่านเลย เพราะอะไร เพราะไม่มีตัวตนจะให้โดน หรือว่าตัวตนน้อยมาก เพราะไม่เป็นอะไรกับอะไรไง ไม่สำคัญมั่นหมายว่าฉันเป็นนั่นเป็นนี่ ฉันเป็นเจ้าอาวาส ฉันเป็นพระจะมาพูดกับฉันอย่างนี้ได้อย่างไร เป็นครู เป็นชาวบ้านธรรมดาใช้ทำอย่างนี้กับท่านได้อย่างไร ไม่มีความรู้สึกแบบนี้ ไม่โกรธนะ ท่านยืนยิ้ม ท่านไม่หวั่นไหว
อาตมาคิดว่า เวลาเราพูดถึงคุณธรรมของหลวงพ่อคำเขียน ก็ขอให้ตระหนักว่าจริงๆ แล้วเบื้องหลัง ก็คือความ “ไม่เป็นอะไรกับอะไร” และเมื่อถึงเวลาที่ท่านป่วย ท่านก็ป่วยอย่างไม่ทุกข์ อาจจะไม่สำคัญมั่นหมายว่าเป็นผู้ป่วย หรือผู้ป่วยด้วยซ้ำ หลวงพ่อคำเขียนพูดเสมอว่า เวลานี้ท่านอยู่กับความไม่เป็นอะไรกับอะไร ตอนที่ท่านป่วย ตอนนี้ปล่อยวางไม่เป็นอะไรกับอะไร บางทีท่านก็ตอบว่า ธาตุขันธ์ตอนนี้เหมือนกงล้อ เหมือนล้อเกวียนที่กำลังชำรุด แก้ไขไม่ได้แล้ว จึงอยู่กับความไม่เป็นอะไรกับอะไร ในความไม่เป็นอะไรกับอะไร นอกจากทำให้ท่านในยามที่ปกติ ท่านมีความสุขปกติ ไม่ทุกข์ไปกับเสียงสรรเสริญนินทา ถึงเวลาป่วย ท่านก็ไม่ได้ทุกข์ทรมานอะไร เพียงแต่ว่าร่างกายท่านไม่เอื้อให้ท่านทำอะไรได้อย่างที่เราเคยเห็น นั่นเรียกว่าเวลาป่วยท่านก็ไม่ได้ทุกข์ ไม่มีความสำคัญมั่นหมายว่าฉันป่วย เป็นผู้ป่วย และอาตมาคิดว่า ตอนที่ท่านมรณภาพ ท่านก็ไม่มีความสำคัญมั่นหมายว่าฉันกำลังตาย และคงทราบว่า อาตมาจะไม่กล่าวในที่นี้อีกว่า นาทีสุดท้ายของหลวงพ่อเป็นอย่างไร ท่านจากไปอย่างสงบ ทั้งที่ท่านหายใจไม่ออกแล้ว เขียนข้อความว่า พวกเรา..ขอให้หลวงพ่อตาย ไม่ต้องช่วยอะไรท่านแล้ว เพราะว่ามันไม่ได้ผล เขียนเสร็จท่านก็พนมมือ ขอบคุณ ลูกศิษย์นึกว่าพนมมือขอบคุณ ที่จริงไม่ใช่พนมมือขอบคุณเท่านั้น พนมมือลา แล้วท่านก็จากไป ไปอย่างสงบมาก ของวันที่ 23 สิงหาคม 2 ปีที่แล้ว
ในความ“ไม่เป็นอะไรกับอะไร” มันไม่ใช่เป็นแค่ความคิด แต่ว่ามันเป็นสิ่งที่เรียกว่าเป็นเนื้อเป็นตัวของท่าน หรือว่าเป็นสภาวะที่ช่วยหล่อเลี้ยงท่าน ทั้งในยามที่เป็นปกติ และในยามเจ็บป่วย และในยามตาย อาตมาลืมพูดไปว่าความไม่เป็นอะไรกับอะไรของท่าน ทำให้ท่านรับผิดชอบต่อส่วนรวม ต่อหมู่บ้าน ต่อสิ่งแวดล้อม ขยัน ทำงานหนัก แต่ว่ามีความสุข คำว่าปล่อยวาง ไม่ได้แปลว่าไม่ทำอะไรเลย หลวงพ่อปล่อยวางทางจิต แต่ว่าความรับผิดชอบ หรือว่าความใส่ใจการงาน ท่านทำเต็มที่ ไม่ว่าเรื่องวัด ไม่ว่าเรื่องญาติโยม ไม่ว่านักปฏิบัติ การสอนธรรม หรือว่าการอนุรักษ์ป่า รวมทั้งการช่วยเหลือชุมชน สมัยที่ท่านยังหนุ่มอยู่
ทีนี้ถามว่าเราจะทำอย่างไร “การไม่เป็นอะไรกับอะไร” มันเป็นสภาวะที่ทำได้เฉพาะกับหลวงพ่อเท่านั้นหรือ อาตมาคิดว่าเราแต่ละคนก็สามารถก้าวเข้าไปสู่สภาวะนั้นได้ เริ่มต้นจากการฝึกที่จะเห็น ไม่เข้าไปเป็น เจออะไรขึ้นมา ไม่ว่าที่กายหรือใจ ปวดเมื่อยที่กาย โกรธ โมโห พยายามเห็นมัน เห็น แต่ไม่เข้าไปเป็น ทำความเข้าใจให้ได้ว่า“เห็น”คืออะไร การปฏิบัติช่วยทำให้เราสามารถจะพูดได้ เห็นความแตกต่างได้ระหว่างคำว่า หนูเครียด กับหนูเห็นความเครียด อันนี้เป็นสิ่งที่ทำได้ อย่างที่อาตมาเคยยกตัวอย่าง พรอาจารย์ประสงค์ ปริปุณโณ ไปถามเด็กคนหนึ่ง เด็กอายุ 8 ขวบ เป็นเด็กฉลาดมาก
หลวงพ่อ “หนูเป็นเด็กฉลาด หลวงพ่อจะให้ของขวัญหนู” แล้วท่านก็หยิบลูกประคำออกมาจากย่าม
เด็กเห็นก็ร้อง “อู้หู”
หลวงพ่อประสงค์ ถามว่า “หนูร้องอู้หู หนูเห็นอะไร” ทีแรกคิดว่าเด็กจะตอบว่าหนูเห็นลูกประคำ
เด็กตอบว่า “หนูเห็นข้างในมันดีใจค่ะ” เด็กไม่ได้ตอบว่าหนูดีใจนะ เด็กตอบว่าหนูเห็นข้างในมันดีใจ เด็กเขาแยกออกระหว่าง“เห็น”กับ“เป็น” เข้าใจไหม
ท่านถามต่อว่า “แล้วหนูทำอย่างไรกับมัน”
เด็กตอบว่า “หนูไม่ได้ทำอะไรกับมันเลยค่ะ หนูก็แค่ดูมันเฉยๆ”
อันนี้คือสิ่งที่หลวงพ่อคำเขียนสอน คือ “รู้ซื่อๆ” ก็คือ “ดูเฉยๆ” เด็กคนนี้ คือ 8 ขวบ สามารถจะเข้าใจและทำได้ หนูไม่ได้ทำอะไรกับมันเลย หนูแค่ดูมันเฉยๆ ตอนนี้ข้างในมันเบาลงแล้ว ความดีใจมันลดลงแล้ว ความดีใจ ความเสียใจเหมือนกัน มันกลัวถูกเห็น หรือพ่ายแพ้ต่อการถูกเห็น ถูกเห็นมันเมื่อไร มันจะสงบ ความดีใจถูกเห็นเมื่อไร มันก็สงบ ความเสียใจถูกเห็นเมื่อไรมันก็เพลาลง เพราะฉะนั้นการเห็นนี้สำคัญมาก และเห็นแล้ว ก็ให้รู้ซื่อๆเข้าไป ก็คือรักษาใจให้เป็นกลางกับทุกอย่าง ไม่เป็นปฏิปักษ์ เวลามีเสียงดัง รำคาญ แทนที่จิตจะไปเพ่งที่เสียง ส่งออกนอก ก็กลับมาดูใจเรา เมื่อใจเรามันมีสติ มันก็จะค่อยเพลาลง แต่ถ้าเกิดมันยังไม่ลดลง ก็อย่าไปโกรธแค้นมัน ช่างมัน ไม่เป็นไร
หลวงพ่อคำเขียนท่านพูดว่า คนเรามักจะมีปฏิกิริยาอย่างใดอย่างหนึ่ง เวลามีอะไรมากระทบ มันจะโอ้ย หลวงพ่อบอกว่ามันไม่ถูก..ต้องอือ อย่าโอ้ย..ให้อือ เสียงดัง ของแหลมแทง รถติด อย่าโอ้ย...อือ อือแปลว่าอะไร “อือ”แปลว่าเห็น รู้เฉยๆ “โอ้ย”แปลว่าอะไร แปลว่าไม่ไหวแล้ว อือแปลว่าอะไร..ไม่เป็นไร ทำแค่นี้แหละทำได้ไหม คือให้รู้ว่าเวลา“โอ้ย” ให้รู้ว่ามันเข้าไปเป็นแล้ว เปลี่ยนให้มา“อือ” ช่างมัน ไม่เป็นไร เห็นผมหงอก ก็ไม่ต้องโอ้ย..อือ มันเหี่ยวไม่ต้องโอ้ย..อือ เอาอย่างนี้นะ ฝึกในชีวิตประจำวัน ไม่มีเวลาไปปฏิบัติธรรมในวัด ก็ฝึกปฏิบัติแบบนี้แหละ แต่อย่างที่ว่า คือว่าอะไรที่สมควรทำก็ต้องทำ ป่วยอย่าโอ้ย..อือ แต่ก็ต้องรักษานะ ผมหงอกคุณยังย้อมก็ได้ไม่เป็นไร แต่ว่าก็ให้อือไว้ก่อน
อันนี้แหละคือความหมายที่หลวงพ่อบอกว่า นักภาวนาต้องเปลี่ยนจากร้ายให้กลายเป็นดี เปลี่ยน“โอ้ย”ให้กลายเป็น“อือ”ให้ได้ ท่านพูดเสมอว่าเปลี่ยนทุกข์ให้เป็นธรรม เปลี่ยนความหลงให้เป็นความไม่หลง เราต้องฉลาดในการเปลี่ยนร้ายให้กลายเป็นดี ของร้ายๆ ถ้าเรามีสติเห็นมัน มันจะกลายเป็นดี ความโกรธถ้าเรามีสติเห็นมัน มันจะสอนธรรมให้กับเรา มันจะเข้าใจเรื่องรูปเรื่องนามก็จากตรงนี้แหละ จากอาการที่เกิดขึ้นกับกายและใจ ไม่ว่าบวกหรือลบ ไม่ว่ากุศลหรืออกุศล เราก็จะเห็นว่า อ๋อ..ความปวด ความปวดนี้เราไม่ชอบ แต่พอเราดูมันไม่เข้าไปเป็นมัน ก็จะ อ๋อ..ความปวดมันเกิดกับกาย มันไม่ใช่เราปวด แล้วจริงๆ มันก็ไม่ใช่ขาปวดด้วยซ้ำ ความปวดมันแค่อาศัยกายเป็นที่เกิด ตอนนี้แหละที่เราจะเริ่มเห็นว่า “เวทนา”กับ“รูป”มันคนละอันกัน สิ่งที่เรียกว่าแยกขันธ์ก็คืออันนี้ ไฟ เวลาขัดไม้ ไฟก็จะเกิดขึ้น อย่าไปเข้าใจว่าไฟอยู่ในไม้ มีใครคิดว่าไฟอยู่ในไม้บ้าง ไม่มีนะ ไฟกับไม้มันคนละตัวกัน ไฟไม่ได้อยู่ในไม้ แต่ไฟอาศัยไม้เป็นที่เกิด เหมือนกัน เวลาคุณปวด ไม่ใช่ขาปวด ความปวดไม่ใช่คุณ และความปวดก็ไม่ใช่ส่วนหนึ่งของขาคุณด้วย แต่มันอาศัยขาเป็นที่เกิด
เวทนากับรูปมันคนละอัน คุณเห็น คุณมองอยู่ คุณก็ได้ธรรมะ ได้ปัญญา ปัญญามาจากไหน ปัญญาก็มาจากที่อาศัยความปวดที่เกิดขึ้น ทุกขเวนาที่เกิดขึ้น ซึ่งมันไม่ได้ดีสำหรับคนทั่วไป แต่พอคุณเห็นมัน คุณกำลังเปลี่ยนทุกข์ให้เป็นธรรม เปลี่ยนความปวดให้แสดงสัจธรรมออกมา และถ้าสามารถทำได้มากกว่านั้น คือ ทำอย่างที่หลวงพ่อพูดอยู่เสมอ “รู้กายเคลื่อนไหว เห็นใจคิดนึก” รู้กายเคลื่อนไหว ขยายความหน่อย เมื่อเวลาทำอะไร ตื่นนอนขึ้นมา ล้างหน้าแปรงฟัน อาบน้ำ ตัวอยู่ไหนใจอยู่นั่น เวลาทำอะไร ใจก็รับรู้ เวลาเราทำอะไร อาศัยกายเคลื่อนไหว เมื่อกายเคลื่อนไหวก็รู้ เมื่อกายทำกิจ ซึ่งคนเรานอกจากการทำกิจ ก็จะเจอกกันเป็นประจำคือผัสสะ ทั้งวันคนเราจะทำอยู่ 2 อย่าง คือ ทำกิจกับเจอผัสสะ ไม่เกินไปจากนี้ เมื่อทำกิจก็รู้กาย เพราะเราทำกิจก็อาศัยกาย รู้กายเคลื่อนไหว เมื่อเกิดผัสสะ ใจกระเพื่อม ใจมันคิดนึก ใจมันปรุงแต่ง ก็รู้ใจคิดนึก “รู้กายเคลื่อนไหวเมื่อทำกิจ เห็นใจคิดนึกเมื่อเกิดผัสสะ” และตรงนี้จะเป็นกระบวนการที่ทำให้เราก้าวไปสู่ความ“ไม่เป็นอะไรกับอะไร” จากหยาบไปสู่ละเอียด
เราใช้เวลาพอสมควรแล้ว ก็คิดว่าไม่มีเวลาที่จะอธิบายมากไปกว่านี้ เพราะตอนนี้ก็ล่วงเลยเวลาไปมากแล้ว ขอยุติการบรรยายเท่านี้ ขออนุโมทนาที่ทุกท่านที่ได้มาร่วมกันฟังสิ่งที่เป็นประโยชน์ต่อการปฏิบัติ หลายท่านก็มีความเคารพนับถือหลวงพ่อคำเขียนเป็นการส่วนตัว หลายคนอาจเคยได้ยิน ได้ฟังคำสอนของท่านทาง You Tube ฟังเทป บางท่านอาจไม่เคยได้ฟังเลย แต่ก็ฟังจนถึงเวลานี้ ก็ต้องขอบคุณและก็เชื่อว่า หากเรานำเอาสิ่งที่ได้เรียนรู้ตรงนี้ นำไปปฏิบัติก็จะเป็นการปฏิบัติบูชาอย่างแท้จริง และก็เป็นประโยชน์ต่อเราด้วย เป็นการสืบต่อพระพุทธศาสนาไปในตัว และขอขอบคุณทางผู้จัดงานนี้โดยร่วมกับสวนโมกข์กรุงเทพ หอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ ก็ถือว่าได้ช่วยกันทำให้ปณิธานของหลวงพ่อได้แพร่หลายกระจาย ซึ่งก็คือการเผยแผ่คำสอนของพระพุทธองค์นั่นเอง และขออ้างคุณพระศรีรัตนไตร อำนวยอวยผล ให้ทุกท่าน เจริญด้วย อายุ วรรณ สุขะ พละ เพื่อเป็นพลวัตปัจจัย ดีงานและถึงพร้อมด้วยทาน ศีล ภาวนา ขอให้ได้เกิดปัญญาพาชีวิตให้ออกจากความทุกข์ ได้เข้าถึงภาวะ“ไม่เป็นอะไรกับอะไร” จนสามารถเข้าถึงบรรลุความสุขเกษมศานต์ มีพระนิพพานเป็นที่หมายด้วยกันทุกคนทุกท่านเทอญ สาธุ