แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
หลวงพ่อชา สุภัทโท วัดหนองป่าพงท่านเคยตั้งข้อสังเกตเอาไว้น่าสนใจ ท่านบอกว่าเวลามีหลุมแล้วคนเอามือล้วงเข้าไปในหลุม ถ้าหากว่ามือล้วงไม่ถึงก้นหลุม ร้อยทั้งร้อยเลยจะบอกว่าหลุมลึก แต่ไม่มีใครที่จะบอกว่าเป็นเพราะแขนเราสั้น แล้วทำไมเป็นอย่างนั้น เป็นเพราะว่าคนเรามักจะมองออกไปนอกตัว แล้วมันก็ไม่ค่อยมองตัวเองเท่าไหร่ เวลามีปัญหาก็จะมองหรือโทษสิ่งอื่น หลุมมันลึกแต่ไม่ได้มองมาที่ตัวเองว่าเป็นเพราะไม่ใช่แขนสั้นเหรอ แล้วข้อสังเกตนี้ก็ทำให้นึกถึงเรื่องหนึ่ง ประเทศจีนหลายร้อยปีมานี้ ชายตาบอดคนหนึ่งไปเยี่ยมเพื่อน ก็เดินเหินได้ปกติ ไม่ต้องใช้ไม้เท้าเลย ก็ได้สนทนากับเพื่อนตั้งแต่บ่ายจนค่ำ พอได้เวลาที่จะกลับบ้าน เพื่อนก็ยื่นโคมให้ เป็นโคมผ้า เขาก็บอกว่าเอามาให้ฉันทำไม เพราะว่าฉันเดินได้ คนตาบอดค่ำมืดแค่ไหนก็ไม่ต่างจากเวลากลางวัน เพื่อนก็บอกว่าถึงแม้ท่านจะไม่ต้องการใช้โคมแต่ว่าคนที่สัญจรเขาตาดี ถ้ามีแสงสว่างจากโคมของท่าน เขาก็จะได้ไม่เดินมาชนท่าน ชายตาบอดก็เลยรับเอาโคมไปจุดไฟพร้อมเดินไปได้พักใหญ่ เกือบจะถึงบ้านอยู่แล้วก็เกิดมีคนเดินมาชนอย่างแรงจนล้ม เขาโกรธมากแม้ว่าชายผู้นั้นจะขอโทษขอโพย ก็ยังไม่คลายความโกรธ พูดว่าตาบอดหรือไง ไม่เห็นโคมที่ฉันจุดเหรอ มาเดินชนฉันได้ยังไง ชายผู้นั้นก็บอกว่าขอโทษครับ ขอโทษจริงๆ แต่ว่าโคมที่ท่านจุดมันดับไปนานแล้วครับ แล้วเรื่องก็จบเท่านี้
นี่เป็นนิทานที่สอนธรรมะได้ดี บางคนสงสัยว่าสอนอะไร นิทานดีๆเขาไม่ขมวด จบแบบนิทานอีสป แต่เขาจะให้เราคิดว่าเรื่องนี้มันบอกอะไรเรา มันบอกเราว่าคนเราเวลาจะทำอะไร ก็ให้นึกถึงคนอื่นไว้ด้วย บางอย่างเราไม่จำเป็นต้องใช้ แต่ถ้าเอาไปเปรียบกับคนอื่นก็ควรใช้หรือควรทำให้มันดีขึ้น อย่างชายตาบอดเขาไม่ต้องการโคม แต่โคมมีประโยชน์ต่อคนอื่น ทำให้คนอื่นเขาเห็นทาง คนตาดีเขาเห็นทางแล้วมันก็เป็นประโยชน์ต่อตัวเองด้วย เพราะว่าเขาก็เห็นทางแล้วเขาก็ไม่เดินมาชน แต่ว่าก่อนที่จะนึกถึงตัวเองก็ลองนึกถึงคนอื่นไว้ก่อน นึกถึงประโยชน์ที่จะเกิดขึ้นกับคนอื่น มีเด็กคนหนึ่งเป็นวัยรุ่น แกไปเห็นคุณปู่คนหนึ่งปลูกต้นไม้ ต้นมะค่า ต้นตะเคียน ต้นไม้ดีๆทั้งนั้น ก็ปลูกมาโดยตลอด เหนื่อยก็เหนื่อย แดดร้อนก็ร้อน ก็ถามปู่ว่าทำไปแล้วได้อะไร ปู่ก็บอกปลูกแล้วมันได้ประโยชน์หลายอย่าง ต้นไม้มันให้ร่มเงา สิงสาราสัตว์ก็มาอาศัยอยู่ แล้วแถมยังได้เนื้อไม้ด้วย เอาไม้ไปทำบ้าน เอาไม้ไปทำสะพานก็ได้ ต้นไม้กว่าจะโตมันใช้งานต้องนานเท่าไหร่ ๒๐-๓๐ ปีเป็นอย่างน้อย บางต้นก็ ๕๐ ปี เด็กก็ถามแล้วลุงจะได้ใช้หรือ อาจจะตายก่อนที่จะได้ใช้ด้วย ชายชราก็บอกว่าปลูกไม่ได้คิดจะให้ตัวเองใช้ ปลูกเพื่อรุ่นลูกรุ่นหลานอย่างพวกเธอนี่แหละ ชายชราไม่ได้ปลูกเพื่อตัวเอง ปลูกเพื่อผู้อื่น
อย่างพวกเราไปปลูกป่าที่ภูหลงก็เหมือนกัน ปลูกแล้วหลายคนอาจจะไม่ได้ใช้ บางคนก็ไม่มีโอกาสได้ใช้เลย อาจจะไม่มีโอกาสได้กลับมาที่นี่อีก แต่ว่าต้นไม้ที่เราปลูก มันก็มีประโยชน์ต่อคนรุ่นหลัง มีบางคนถามว่าปลูกทำไม ทำแล้วฉันได้อะไร เดี๋ยวนี้มีคนคิดแบบนี้เยอะ ทำแล้วฉันจะได้อะไร นี้เป็นคำถามที่อาจารย์ประเวศบอกว่า เป็นคำถามที่น่าเกลียดที่สุดในโลก ทำไมเราไม่คิดบ้างว่าทำแล้วคนอื่นจะได้อะไรบ้าง คนที่คิดหรือถามว่าฉันทำแล้วได้อะไร มาปลูกป่าก็มาปลูกด้วยความทุกข์ เพราะรู้อยู่แล้วว่าปลูกไปแล้วก็คงไม่ได้ประโยชน์จากต้นไม้ที่ลงมือปลูก แต่ถ้าเราถามว่าทำแล้วสังคมจะได้อะไร โลกจะได้อะไร คำตอบมันก็จะชัด มันก็จะทำให้เราเกิดความเพียร เกิดฉันทะ ถึงแม้จะเหนื่อย แดดจะร้อนก็ปลูก และถึงแม้จะไม่มาปลูกต้นไม้ที่นี่ ในชีวิตประจำวัน มันก็มีอะไรต่ออะไรที่จะให้เราทำได้เยอะ ถ้าเกิดเราคิดถึงคนอื่นด้วย เช่น เราเข้าห้องน้ำสาธารณะ ก่อนจะออกจากห้องน้ำเราก็ทำความสะอาด ถึงแม้ตอนก่อนจะใช้เราก็ทำความสะอาดแล้ว ใช้เสร็จแล้วเราก็ทำความสะอาดเพื่อคนข้างหลัง เขาจะได้มาใช้ได้อย่างสบายใจ เราอาจจะไม่ได้กลับมาใช้ห้องน้ำนี้อีก แต่ว่าเราทำเพื่อผู้อื่น บางทีเราถ่ายหนักแล้วก็กระดาษชำระหมดพอดี หลายคนก็เดินออกเลยเมื่อเสร็จกิจ แต่ถ้าเรานึกถึงคนอื่น เราก็จะเอาม้วนใหม่มาใส่ ที่ห้องน้ำสาธารณะหลายแห่งก็จะมีกระดาษชำระที่สำรองเอาไว้ บางทีก็อยู่ในห้องน้ำนั่นแหละ แต่ละคนก็เดินออกเลยก็คิดว่าฉันใช้ฉันทำกิจเสร็จแล้ว คนที่เป็นคนดีหรือว่ามีน้ำใจเขาก็จะยอมเสียเวลาหน่อย เอากระดาษชำระม้วนใหม่มาใส่แทนม้วนเดิม แม้ว่าตนเองจะไม่ได้ใช้กระดาษม้วนนั้น แต่คนอื่นจะได้ใช้แน่นอน นี่แหละมันแสดงถึงน้ำใจ
เวลาเห็นไฟเปิดค้างไว้แม้จะเป็นไฟหลวงหรือไฟของสถานที่สาธารณะ หรือแม้แต่เป็นของโรงแรมก็ตาม เราก็ควรจะเดินไปปิดเมื่อไม่ได้ใช้ หรือแม้แต่เครื่องปรับอากาศบางโรงแรม จะเปิดหรือปิดก็มีสวิตช์อยู่ในห้อง บางคนคิดว่าฉันจ่ายเงินไปแล้วต้องใช้ให้คุ้ม แต่สำหรับการนึกถึงคนอื่น ในที่นี้ก็อาจจะไม่ใช่เจ้าของโรงแรม แต่เป็นส่วนรวม หรือโลก ถ้าเราประหยัดไฟสักหน่อยมันก็ช่วยประหยัดพลังงาน แล้วก็จะช่วยลดอะไรอีกหลายอย่าง แม้จะเล็กน้อยก็ตาม ถึงแม้ว่าการไปปิดไฟหรือไปปิดเครื่องนี่ทำให้เราเดินอีกหลายก้าว แต่ว่ามันเป็นสิ่งที่มีประโยชน์ต่อส่วนรวมได้ มีหลายอย่างในชีวิตเรา ที่เราจะนึกถึงแต่ตัวเองอย่างเดียวไม่พอ ต้องคิดถึงคนอื่นด้วย เวลากินบุฟเฟต์ เราเห็นหลายคนตักเอา ๆ ตักให้เยอะ ยิ่งอะไรแพงยิ่งตักใหญ่ แล้วก็กินไม่หมด แต่ถึงจะกินหมดแต่ถ้าเรานึกถึงคนอื่นบ้าง มันจะทำให้สังคมนี้น่าอยู่แล้วมันก็จะกล่อมเกลาจิตใจเราด้วย ทำให้เราเป็นคนประณีต นิทานเรื่องนี้สอนให้เรา เวลาทำอะไรนึกถึงคนอื่นด้วย บางอย่างมันไม่จำเป็นสำหรับเรา เราไม่ได้ใช้แต่ว่าคนอื่นเขาจะได้ประโยชน์
แต่ในอีกด้านหนึ่ง นิทานเรื่องนี้เขาเตือนใจเราว่า เวลาเกิดปัญหา เกิดความผิดพลาดขึ้นมาอย่าเพิ่งโทษคนอื่น ให้กลับมามองตน อย่างพอมีคนมาเดินชนชายตาบอดให้ล้มลง ชายตาบอดแกก็ว่าเลย ว่าคนที่มาเดินชนเขาว่าตาบอดหรือไง เขาอุตส่าห์ติดโคมสว่างไม่เห็นเหรอ แต่ชายตาบอดไม่มีทางรู้เลยว่า เป็นเพราะโคมเขามันดับแล้ว คนที่โทษคนอื่นไม่ได้โทษตัวเองก็ไม่ต่างจากคนตาบอด คนที่มองไม่เห็นความผิดพลาดของตัวเองเลย เหมือนคนตาบอด เราถามตัวเองว่า เป็นคนตาดีหรือคนตาบอด เวลามีปัญหาเรามองที่ตัวเองหรือเปล่า หรือมองไปที่คนอื่น โทษคนอื่น คนที่เอาแต่โทษคนอื่นจะไม่มีทางเห็นความผิดพลาดของตัวเอง ก็เปรียบได้กับคนตาบอด แต่ถ้าเราฟังนิทานเรื่องนี้แล้ว แล้วเราครุ่นคิดกับมัน มันก็จะได้ข้อเตือนใจเวลามีปัญหาขึ้นมา ก่อนที่จะไปโทษคนอื่น กลับมองตัวเองว่าเรามีส่วนหรือเป็นสาเหตุที่ทำให้ปัญหามันเกิดหรือเปล่า เวลาทำงานก็ดี หรือว่าเวลาใช้ชีวิตประจำวันก็ดี มันก็จะมีปัญหา แต่คนส่วนใหญ่จะไปโทษคนอื่นทันที เหมือนกับที่หลวงพ่อชาท่านบอก ถ้าหากล้วงไปไม่ถึงก้นหลุม ก็จะโทษว่าหลุมมันลึก ทำไมหลุมมันลึกแบบนี้ แต่ไม่มองมาที่ตัวเองว่าเป็นเพราะแขนเราสั้นต่างหาก ถ้าเราเลือกได้ จะเป็นอย่างชายตาบอดหรือเปล่า เพราะมีคนมาเดินชนก็ด่ากลับทันทีว่าตาบอดหรือไง
นี่รวมถึงเรื่องความทุกข์ด้วย เวลามีความทุกข์เราอย่าเพิ่งโทษคนอื่น ลองกลับมาดูจิตใจเราก่อน คนเวลามีความทุกข์ใจก็จะโทษคนอื่นได้ง่าย โทษว่าเป็นเพราะเขาด่าเรา เป็นเพราะเขานินทาเรา เป็นเพราะเสียงดัง เป็นเพราะแดดร้อน แต่ไม่ค่อยกลับมาดูใจของเรา ว่าใจเรามีส่วนหรือเปล่า ตบมือข้างเดียวไม่ดัง ใครเขาจะด่าเรายังไงถ้าใจเราไม่เก็บเอามาคิด ใจเราไม่ฉวยเอาคำพูดของเขามาทิ่มแทงหรือว่ากรีดแทงใจ เราไม่ทุกข์หรอก เขาพูดแล้วเราก็ไม่สนใจ เราไม่ทุกข์ แต่เป็นเพราะเราไปสนใจคำพูดของเขา นึกย้ำซ้ำทวนข้อความที่เขาพูดหรือเขียน มันก็ยิ่งทุกข์ยิ่งเจ็บปวดยิ่งขุ่นเคือง บางทีเขาพูดตั้งแต่เมื่ออาทิตย์ที่แล้ว เดือนที่แล้ว การกระทำบางอย่างของเขา โกหกเรา โกงเรา ผ่านไป ๑๐ ปีแล้ว ยังแค้นอยู่เลย ยังทุกข์อยู่เลย แล้วก็โทษเขาแต่ไม่ได้ดูใจตัวเอง ว่าเป็นเพราะเราไปเก็บเอามาคิดหรือเปล่า เสียงดังนั้นถ้าใจเราเฉยๆกับมันเราไม่ทุกข์หรอก แต่สังเกตไหมเวลาเสียงดังถ้าเราหงุดหงิดเท่าไหร่ นั่นเป็นเพราะใจเราบ่นโวยวายตีโพยตีพาย ใจที่ไม่ชอบเสียงต่างหากที่ทำให้ที่ทำให้ใจเราทุกข์ หรือมีความทุกข์เกิดขึ้นที่ใจเรา ถ้าเราไม่สนใจมัน ช่างมัน เราก็เป็นปกติสุข เป็นเพราะใจเราไปยึดเอาไว้ ยึดเสียงนั้น จดจ่อที่เสียงนั้น
เปรียบไปก็เหมือนกับก้อนหิน ก้อนหินถ้าเราไม่แบกเราก็ไม่เหนื่อยไม่หนัก ก้อนหินจะใหญ่แค่ไหนถ้าเราไม่แบกมัน เราจะเหนื่อยไหม เราจะหนักไหม ดังนั้นถ้าเราเหนื่อยเราหนัก เราก็โทษก้อนหินด่าก้อนหินว่าทำไมมันหนักแบบนี้สมควรหรือเปล่า ทำไมเราไม่ถามตัวเองว่าเราแบกทำไม ไม่ถามถึงตัวเองว่าทำไมเราแบก ถ่านก้อนแดงๆ กำไว้ในมือ แล้วก็บอกว่ามันร้อนอย่างนี้ ทำไมมันไม่เย็น อยากจะให้ถ่ายมันเย็นหรือมันดับ ไม่ถามตัวเองว่าแล้วเราถือมันทำไม ความทุกข์ใจเป็นเพราะเหตุนี้ เป็นเพราะเราไปแบกเรายึดไว้ ไม่ว่าสิ่งนั้นจะเป็นรูปธรรมหรือนามธรรมก็ตาม การที่ใจไปคิดนึกถึงมันบ่อยๆ นี่ก็คือการแบกอย่างหนึ่ง หรือไปจดจ่อกับมัน ก็คือกันแบกมัน คือการยึด ในหลายประเทศเขามีวิธีจับลิง บางทีรำคาญที่ลิงไปก่อกวนสวนเขา ต้องการจับหรือจัดการลิง เขาไม่ให้ใช้ปืน เขาให้ใช้กับดักกับ ตะแกรง อาจจะเป็นกระบอกไม้ไผ่อีกด้านหนึ่งก็อาจจะผูกเชือกยึดไว้กับต้นไม้ อีกด้านหนึ่งก็เจาะเป็นรูเล็กๆ พอให้วิ่งสอดมือเข้าไปได้ แล้วข้างในก็ใส่อาหาร เช่น ถั่ว ลิงมันได้กลิ่นมันก็จะลงมา แล้วมันก็จะเอามือล้วงเข้าไปในกระบอกไม้ไผ่ แล้วพอมันคลำเจอถั่วมันก็จะกำเอาไว้ แต่พอมันจะดึงมือออกมา มันก็ดึงออกมาไม่ได้ แล้วมันก็ติด
มันพยายามดึงมือออกมาจากกระบอกไม้ไผ่เท่าไหร่ ๆ ก็ไม่ออก มันก็ร้องโวยวาย ตรงนี้แหละที่จะเรียกให้เจ้าของสวนออกมาแล้วก็มาจับมัน บางทีก็ฆ่ามันด้วยซ้ำ ลิงเห็นเจ้าของสวนมา มันก็พยายามหนี แต่มันก็หนีไม่ได้เพราะมือมันติด บางทีเจ้าของสวนไม่ต้องทำอะไรเลย อยู่เฉยๆ บางแห่งเขาก็ไม่ใช้กระบอกไม้ไผ่ เขาก็ใช้พวกมะพร้าวเจาะรูเล็กๆ ไม่ต้องหาถั่วอะไรใส่เข้าไปเพราะเนื้อมะพร้าวเป็นอาหารล่อลิงได้อยู่แล้ว ด้านหนึ่งของมะพร้าวก็ผูกไว้กับต้นไม้ เขาจับลิงต้องการจะจับเป็นๆ เพื่อเอาไปให้พิพิธภัณฑ์บ้าง ให้สวนสัตว์บ้าง เหตุเพราะลิงหายาก พอลิงเอามือล้วงเข้าไปแล้ว พอพยายามดึงมือออกมา ก็ดึงไม่ได้ มันก็ดึงทั้งคืนทั้งวัน มนุษย์เราไม่ต้องทำอะไรมาก รอจนกระทั่งตกเย็นลิงมันหมดแรง แต่บางตัวมันดึงไม่ออก มันก็จะเอามืออีกข้างทุบกระบอกไม้ไผ่ เอามือทุบมะพร้าว เพราะมันโกรธ มันดึงไม่ออก มันก็โกรธ มันก็โทษกระบอกไม้ไผ่ มันก็เอามือทุบ ๆ ๆ มันไม่เฉลียวใจเลยว่า ถ้ามันคลายมือออกเท่านั้นแหละ ก็จะเป็นอิสระ ที่มันดึงไม่ออกเป็นเพราะมันไม่ยอมคลายมือ มันไปโทษไม้ไผ่ โทษมะพร้าว แล้วมันก็ทุบๆ ตีๆ ซึ่งทำให้หนักกว่าเดิม เพราะทำให้หมดแรงง่าย เจ็บมืออีกต่างหาก
คนเราเป็นอย่างนี้ไม่น้อยเลย เราทุกข์แต่เราไม่ได้ทุกข์ที่กาย เราทุกข์ที่ใจ และทุกข์เพราะใจเราไปแบกเอาไว้ บางทีของหายไปแล้วเงินถูกโกงไปแล้ว ใจเราก็ยังไปหวนคิดแล้วยึดเอาไว้ ของกู ๆ ๆ มันไม่ใช่ของกูแล้ว มันเป็นของคนอื่นไปแล้วยังไม่ยอมวาง เพียงแค่ยอมวางเท่านั้นแหละใจมันก็สบายหาใหม่ดีกว่า แต่พอยึดเอาไว้ไม่ยอมก็เลยเครียด กินไม่ได้นอนไม่หลับ สุขภาพใจก็แย่ สุขภาพกายก็ทรุด ป่วย เพราะไม่ยอมกินไม่ยอมนอน งานการก็ทำไม่ได้ เสียงาน เสียสุขภาพ ใจก็เสีย หงุดหงิดมากๆรำคาญโมโห ไม่มีอารมณ์ก็ทะเลาะกับผู้คนไปทั่ว เสียสัมพันธภาพอีก เสียไปหมดเพียงเพราะใจไม่ปล่อยไม่วาง แล้วก็ไปโทษคนนั้นคนนี้ คนเรามีพฤติกรรมไม่ต่างจากลิง ที่มันทุบกระบอกไม้ไผ่ด้วยความโกรธว่าไปยึดมือมันเอาไว้ จริงๆแค่ปล่อยเท่านั้นแหละ แค่คลายมือเท่านั้นก็เป็นอิสระ ดังนั้นเวลาเราทุกข์ใจอย่าไปโทษคนอื่น กลับมาดูเป็นเพราะใจเราไปยึดอยู่หรือเปล่า แต่ว่าถ้ามันไม่ยึดก็มักจะเป็นเพราะว่าความหลง ความลืมตัว ลิงมันลืมตัว ยิ่งพอมีคนมามันยิ่งลืมว่ามันกำเอาไว้ มันไม่รู้ตัวว่ามันกำเอาไว้ ส่วนใหญ่เป็นความโลภด้วย ความโลภทำให้มันเสียดายถั่วที่มันกำไว้ในมือ แล้วความโลภก็ทำให้ไม่ปล่อยไม่วาง ไม่คลายไม่แบ ความลืมตัวด้วย ความกลัวด้วย เห็นคนมาแล้วกลัว พยายามหนี หนีไม่ได้เพราะมือมันติด มันลืมตัว
ที่เราแบกก็เพราะเราลืมตัว รู้ตัวเมื่อไหร่มันคลาย แต่คนจะรู้ตัวได้ต้องกลับมามองตัวเองก่อน ไม่ใช่ส่งจิตออกนอกหรือเอาแต่โทษคนนั้นคนนี้ ถ้าส่งจิตออกนอกไปโทษคนนั้นคนนี้ มันไม่มีทางเห็นตัวเอง ไม่มีทางที่จะรู้ว่าเป็นเพราะใจเราไปยึดไปแบบเอาไว้ การกลับมามองตนนั้นสำคัญ แต่ถ้าเป็นอย่างคนตาบอดมันไม่มีทางที่จะมองเห็น ว่าตัวเองทำอะไรผิดพลาด มองไม่เห็นว่าโคมที่ยืนถือไว้มันดับแล้ว คนที่มองไม่เห็นความผิดพลาดตัวเอง ก็เปรียบได้กับคนตาบอด และทุกวันนี้ก็ตาบอดกันมากขึ้นเรื่อยๆ เพราะเอาแต่โทษคนนั้นคนนี้ เจ้านายไม่เป็นธรรม เพื่อนเอาเปรียบ แฟนพูดจาไม่น่ารัก ลูกก็ดื้อ โทษตะพึดตะพือ แต่มองไม่เห็นตัวเอง อันนี้ก็คือตาบอดนั่นแหละ แต่ถ้าเราเริ่มหันมามองตน ตาก็จะเริ่มสว่างขึ้น ๆ เรื่องนี้พระพุทธเจ้าถึงตรัสเป็นพุทธภาษิตว่า บุคคลควรมองตน หมั่นพิจารณาตน แล้วเมื่อเราหันมามองตน ความรู้สึกตัวก็จะค่อยๆเพิ่งขึ้นมาเรื่อยๆ แล้วก็ทำให้เรารู้ว่า เป็นเพราะเราไปยึดไปแบกเอาไว้ สิ่งอื่นนั้นเป็นปัจจัยรอง ไม่ว่าจะเป็นเสียงดัง คนไม่น่ารัก รถติดแดดร้อน เศรษฐกิจวิกฤต การเมืองวุ่นวายไม่นิ่ง พวกนี้ถือเป็นปัจจัยรอง ถ้าหากว่าทุกข์ใจเมื่อไหร่ปัจจัยหลักอยู่ที่ใจเรา ความยึดติดถือมั่น แบกไม่รู้จักวาง ทั้งๆที่แบกแล้วทุกข์ก็ยังไม่ยอมวาง ไม่ยอมคลาย เพราะความไม่รู้ตัว ลืมตัว และเพราะว่ามัวไปโทษคนนั้นคนนี้ ซึ่งทำให้เกิดความโกรธเข้าไปใหญ่ เพราะฉะนั้นเวลามีความทุกข์ใจเมื่อไหร่ ให้บอกตัวเอง เตือนตัวเองว่า อย่าเพิ่งไปโทษคนนู้นคนนี้ อย่าเพิ่งไปโทษสิ่งภายนอก กลับมาดูใจของเรา
เวลารถติดแล้วหงุดหงิด อย่าเพิ่งไปโทษสัญญาณไฟจราจร อย่าเพิ่งไปโทษรถราที่ขวักไขว่ หรือตำรวจจราจร กลับมาดูใจตัวเองว่าเป็นเพราะอะไร ตอนนั้นใจเราอาจกำลังคิดถึงจุดหมายปลายทางข้างหน้า แล้วก็ปรุงเเต่งว่าถ้ารถติดอย่างนี้จะไปทำงานสาย หรือว่าจะไปส่งลูกช้าเดี๋ยวเกิดอะไรตามมา ใจมันไปแล้ว ตัวอยู่บนถนนแต่ใจไปถึงที่ทำงานแล้ว ไปถึงโรงเรียนแล้ว แล้วก็สร้างภาพว่า เดี๋ยวจะเกิดปัญหาอะไรขึ้นมาถ้าไปประชุมไม่ทัน ไปส่งลูกสาย หรือว่าผิดนัดกับเพื่อน แล้วก็ทุกข์เลย ทั้งๆ ที่มันยังไม่เกิดขึ้นเลย ที่วาดภาพไว้ยังไม่เกิดขึ้นเลย แต่ว่าทุกข์ซะแล้ว ทุกข์เพราะว่าอะไร เพราะว่าการปรุงแต่งของตัวเอง ไม่ใช่เพราะว่ารถติด รถติดไม่ทำให้เราทุกข์ รถติดแค่ทำให้เสียเวลา แต่ที่เหลือมันเกิดจากการปรุงแต่งของใจเรา ใจไปอยู่กับอนาคต ไม่อยู่กับปัจจุบันเราไปกังวลกับเรื่องที่ยังมาไม่ถึง แต่คนส่วนใหญ่มองไม่เห็น เพราะใจปรุงแต่งไปในลักษณะนั้น แต่ไปโทษว่าเป็นเพราะรถติด เป็นเพราะรถขยับช้า เป็นเพราะจราจรไม่ทำหน้าที่ เพียงแค่หยุดปรุงแต่งกับมาอยู่ปัจจุบัน ไม่ต้องไปนึกถึงอนาคต ดูใจของตัวเองว่ามันกำลังรุ่มร้อนหรือเปล่า กลับมาที่ลมหายใจ หายใจเข้าลึกๆ หายใจออกยาวๆ มองสัญญาณไฟที่เป็นสีแดงว่า มันกำลังเตือนให้เราหยุดฟุ้งซ่านได้แล้ว ไฟจราจรเป็นสัญญาณเตือนสติที่ดี สีแดงเตือนให้เรากลับมาอยู่กับตัวเอง เตือนให้เราหยุดฟุ้งซ่านเสียที เตือนให้เราหยุดฟุ้งซ่านกับอนาคตเสียที กลับมาอยู่กับปัจจุบัน
ลองมองสัญญาณไฟที่เป็นสีแดงว่าเป็นตัวเตือนสติ แล้วคุณจะหายหงุดหงิดเวลาเจอไฟแดง เป็นเพราะเราไปให้ค่าที่เป็นลบกับมัน เราถึงหงุดหงิดเมื่อเจอไฟแดง แต่ถ้าเรามองว่ามันเป็นเครื่องเตือนใจให้มีสติ ให้เราหยุดฟุ้งซ่าน ให้เราหยุดแบก เห็นไฟแดงทีไรใจเราก็เป็นปกติ แถมได้กำไรด้วย เสียเวลาแต่ได้ความสงบ อันนี้คุ้ม ความสงบที่ใจเพราะกลับมาอยู่กับลมหายใจ กลับมาอยู่กับเนื้อกับตัว ไม่ใช่ซ้ำเติมตัวเอง เสียเวลาแล้วยังซ้ำเติมตัวเองด้วยการทำให้ใจเสียใจ ใจเสียไปเยอะเลยเวลาเจอไฟแดง เพราะความวิตกกังวล ถ้าฉันผิดนัดจะทำยังไงเกิดไปประชุมสายจะทำยังไง เจ้านายจะว่าไหม ใจเสียเลย บางคนก็รีบไปขึ้นเครื่องบิน ปรุงแต่งสารพัดเลย เวลารถติดที่ดอนเมืองหรือสุวรรณภูมิ ถ้าตกเครื่องบินจะทำยังไง คิดไปสารพัด ใจเสีย ร้อนรุ่ม หัวใจเต้นเร็ว ความดันขึ้นเลย มันยังไม่ทันเกิดเลย แล้วพอมีอาการแบบที่ว่า ความทุกข์ หงุดหงิด ใจเสีย ก็ไปโทษนั่นโทษนี่ กลับมาดูใจของเรา กลับมาตามลมหายใจ กลับมาทำความรู้สึกตัว แล้วเราจะพบว่า เอาเข้าจริงเราก็ไปถึงที่หมายตรงเวลา ตามเวลา ไม่ตกเครื่องบิน ไปประชุมทัน ส่งลูกได้ตรงเวลา แต่ว่าก็ทุกข์ไปแล้วกับความปรุงแต่งของเรา ไม่เคยคิดว่าเราเสียเวลาไปปรุงแต่ง ทั้งที่มันไม่ได้เกิดขึ้นเลย เหมือนกับตกนรก ทั้งที่เอาเข้าจริงทุกอย่างก็เป็นไปตามแผนตามกำหนด ทุกข์ฟรีๆ แต่ถ้าเอามาเป็นบทเรียนว่าทีหลังอย่าปรุงแต่ง ทีหลังอย่ากังวล อันนี้ไม่เรียกว่าทุกข์ฟรี แต่ส่วนใหญ่ก็ทุกข์ฟรีทั้งนั้นแหละ
ดังนั้นก็อย่าลืมกลับมาดูใจของเรา เวลามันมีอะไรผิดปกติขึ้นมา เวลามีความทุกข์กลับมาดูที่ตัวเองก่อน แต่ถ้าในยามปกติจะทำอะไรก็นึกถึงคนอื่น ดูเหมือนขัดแย้งกัน แต่จริงๆไม่ได้ขัดแย้ง แต่เป็นเรื่องเดียวกัน เวลามีปัญหาก็มาดูใจเรากลับมามองตน เวลาไม่มีปัญหาทำอะไรก็นึกถึงคนอื่น ถึงแม้เราไม่จำเป็นต้องใช้แต่ถ้าเราทำแล้วมีประโยชน์ต่อคนอื่น ก็ควรทำ