แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ที่ภูฏานมีโยคีท่านหนึ่ง ซึ่งเป็นที่นับถือเคารพรักของชาวภูฏานอย่างกว้างขวาง โยคีท่านนี้ที่จริงท่านเป็นชาวทิเบต เกิดเมื่อสักประมาณห้าร้อยปีที่แล้ว เกิดมาในครอบครัวที่ร่ำรวย มีอำนาจ มีบารมี และในภายหลังท่านก็ได้มาบวชพระ พอบวชพระก็ได้มาเป็นเจ้าอาวาส วัดใหญ่ วัดมีชื่อ ร่ำรวยด้วย แต่ว่าสุดท้ายท่านก็ละทิ้งวัดนั้น และก็มาใช้ชีวิตแบบภิกขาจาร แบบโยคี เพราะท่านไม่ชอบลาภสักการะและก็ไม่ชอบกฎระเบียบที่มันรุงรัง มันกลายเป็นกระพี้ ก็หันมาบำเพ็ญตนมาเป็นโยคี ท่านมีนิสัยแปลกๆ ทำอะไรแปลกๆ อารมณ์ขันก็เยอะ และหลายครั้งก็มักจะทำในสิ่งที่มันขัดกับขนบธรรมเนียมประเพณี เรียกว่ายิ่งกว่าเซนอีก แต่ว่าท่านก็ทำได้เพราะเป็นโยคี
วันหนึ่งก็จาริกไปใกล้ๆ กับชานเมืองเมืองแห่งหนึ่ง ท่านเห็นมีถ้ำก็จะไปพักในถ้ำ ชาวบ้านละแวกนั้นก็เตือนว่าต้องระวังเพราะมันมีโจรที่ดุร้ายและก็ชอบปล้นทรัพย์ผู้ที่ผ่านไปผ่านมา โยคีท่านนี้ชื่อว่า ดรุกปะ คุนเลย์ ก็บอกว่าจ็ ไอ กกกไม่เป็นไร ขอให้มีที่นอนก็แล้วกัน แต่ในใจท่านคิดจะสั่งสอนให้บทเรียนแก่โจร แล้วท่านก็ออกอุบาย ท่านตั้งใจว่าจะให้โจรคนนี้กินขี้ให้ได้ คนธรรมดาเขาก็ไม่กินขี้กัน แต่จะทำยังไงถึงจะให้โจรกินขี้ ตกค่ำท่านก็เข้านอน แต่ก่อนจะนอนก็เอาถุงใส่เงิน ที่จริงเงินท่านก็มีไม่มากหรอก พอเอาเหรียญออกก็ถ่ายอุจจาระลงไป แล้วก็ปิดถุงอย่างดีและวางไว้ข้างตัว พอตกดึกโจรก็เข้ามา มันรู้เพราะว่าถ้ำนี้มีคนผ่านมาสัญจรบ่อยๆ แสงสว่างก็ลอดเข้ามาในถ้ำพอที่จะเห็นอะไรอยู่บ้าง โจรเห็นถุงเงินก็คว้า คว้าเสร็จก็เปิดถุงเลย แล้วเอามือล้วง พอเอามือล้วงก็รู้ว่าข้างในเป็นอะไร ก็ตกใจ มันเป็นปฏิกิริยาอัตโนมัติ พอรู้ว่ามือมันติดขี้ ก็สะบัดอย่างแรง มือนิ้วก็ไปถูกก้อนหินบนพื้นจนเจ็บจึงต้องเอามาดูดเพื่อให้หายเจ็บ พอเอานิ้วจิ้มเข้าในปากแล้วดูดนี่ก็หายเจ็บเลย เพราะรู้ว่ากินอะไรเข้าไป อันนี้เป็นวิธีแก้เผ็ดของท่านดรุกปะ คุนเลย์
นิทานเรื่องนี้ก็สอนให้เห็นว่า คนเราถ้าหากตกใจ ลืมตัว มันก็สามารถทำอะไรได้ทั้งนั้น แม้กระทั่งกินขี้ของคนอื่น โจรมันลืมตัวพอรู้ว่ามือมีขี้ติด ตกใจแล้วก็รังเกียจ ขยะแขยง อากัปกิริยาที่ทำก็คือ สะบัด พอโดนหินมันเจ็บ พอเจ็บนี่ก็ไม่รู้ละ ดูดนิ้วไว้ก่อนเพื่อจะได้หายเจ็บ ทั้งหมดนี้เกิดขึ้นเพราะความลืมตัว พอลืมตัวแล้วนี่ก็รู้อยู่ว่ามือเปื้อนขี้ แต่พอลืมตัวเพราะความเจ็บก็ดี หรือเพราะอะไรก็ดี มันก็สามารถจะเอามือเอานิ้วใส่เข้าไปในปากได้ ความลืมตัวเมื่อเกิดขึ้นกับใคร อะไรๆ ก็ทำได้ แม้ว่าจะตั้งใจทำสิ่งใดสิ่งหนึ่ง แต่ถ้าลืมตัวก็อาจจะทำสิ่งตรงข้ามกัน อย่างแม่ค้า ธรรมชาติของแม่ค้าก็ต้องพยายามขายของให้ได้ แต่ถ้าเกิดตั้งราคาไว้หนึ่งร้อย ลูกค้าต่อเหลือยี่สิบ แม่ค้าบางคนก็ไม่พอใจ พอไม่พอใจก็ไล่ลูกค้าให้ไปซื้อของที่อื่น อันนี้ก็ทำด้วยความลืมตัวเพราะธรรมชาติของแม่ค้า ก็ต้องพยายามชักชวนให้ลูกค้าซื้อของของตนให้ได้ ถ้ามีสติดีเมื่อเขาต่อยี่สิบก็ต้องพยายามที่จะต่อรองกันเพื่อให้เขาซื้อสินค้าของเราให้ได้ อันนี้ก็เป็นวิสัยของแม่ค้าหรือพ่อค้า แต่พอโกรธแล้ว เพราะว่าลูกค้าต่อสินค้าแบบสะบั่นหั่นแหลก ถ้าไม่มีสติแล้วลืมตัวเพราะความโกรธ ก็ทำให้เสียลูกค้าไป และอาจจะไม่ใช่เสียคนเดียว อาจจะเสียอีกหลายคน สิ่งที่ทำถ้าแม่ค้ามีสติดีก็รู้ว่าไม่น่าพูดแบบนั้นเลย ไม่น่าไล่เขาไปเลย แต่ทำไมถึงทำ ก็เพราะลืมตัว คนเราเมื่อลืมตัวแล้วสิ่งที่ตั้งใจจะทำมันก็ไม่ได้ทำ แล้วก็กลับทำสิ่งที่ตรงกันข้ามกันได้ แต่ว่าความเสียหายอย่างนี้ยังถือว่าน้อย
บางคนก็เสียหายหนัก รักใครแล้วเขาไม่เป็นไปอย่างที่รัก ก็อาจจะเกิดความไม่พอใจ อาจจะเกิดความโกรธ รักลูก ลูกเถียงพ่อ ลูกเถียงแม่ บางทีพ่อหรือแม่ก็หักห้ามใจไม่ได้ เพราะยิ่งคาดหวังเขามากเท่าไร เขาไม่เป็นอย่างที่คาดหวังก็เสียใจ ความเสียใจพอเกิดขึ้นแล้วก็ทำให้ลืมตัว พอลืมตัวแล้วความโกรธความเกลียดมันเข้ามาเล่นงาน บางทีก็อาจจะทำร้ายเขา ตบเขา ตีเขา ด่าเขาก็ยังไม่เท่าไรนี่ทำร้ายเขาด้วยกำลัง บางทีถึงกับใช้ปืนยิงก็มี เคยมีนักจัดรายการวิทยุคนหนึ่งเป็นคนที่มีชื่อมากเมื่อสักสามสิบสี่สิบปีที่แล้ว แกก็ชอบอ่านหนังสือทางวิทยุ เพราะสมัยก่อนจะมีคนจำนวนหนึ่งที่ไม่ค่อยจะมีโอกาสอ่านหนังสือเท่าไร หนังสือพวกวรรณคดี สามก๊ก ตอนหลังแกก็มาอ่านหนังสือธรรมะ อ่านทางวิทยุกระจายเสียงตามสาย และคนก็ติดกันทั้งประเทศ โดยเฉพาะกรุงเทพ พอแก่ตัวก็เกษียณแล้วก็มาอยู่กับลูก ที่จริงพูดอย่างนั้นก็ไม่ถูก ลูกมาอยู่กับตัวเองมากกว่า เพราะตัวเองพอจะมีฐานะ มีบ้าน ลูกมาอยู่ในบ้านมีอาณาบริเวณ ต่อมาตัวเองก็คิดว่าอายุมากแล้ว เลยแบ่งมรดกให้ ลูกสาวลูกชาย จนเหลือเงินเป็นของตัวเองไม่มากเท่าไร
แล้ววันหนึ่งตัวเองก็ป่วยเป็นมะเร็ง และต้องใช้เงินในการรักษาพยาบาลค่อนข้างเยอะ รักษามาหลายปีตอนหลังเงินที่ตัวเองมีก็หมด ก็ไม่เชิงหมดหรอก แต่ต้องเก็บไว้บ้าง ก็เลยขอเงินลูก ซึ่งเงินลูกก็คือเงินที่ตัวเองโอนให้เป็นมรดกนั่นเอง ทีแรกลูกก็ให้ดี ตอนหลังลูกเริ่มจะอิดออดไม่ค่อยให้ แกโกรธมากเลย ทั้งน้อยเนื้อต่ำใจทั้งโกรธ และก็คงมีการทะเลาะเบาะแว้งกัน และทำอีท่าไหนไม่รู้แกก็โกรธ ปกติแกก็เป็นคนที่มีโทสะอยู่แล้ว อาตมาเคยเจอตอนสมัยที่เป็นฆราวาส แกเป็นคนที่มีโทสะจริต พอเกิดเหตุแบบนี้ลูกสาวก็ลูกสาวแท้ๆ เอาเงินของตัวเองไปเป็นเงินมรดกและไม่ยอมจ่ายไม่ยอมแบ่งปันให้พ่อเอาไปรักษาโรค ผิดหวังมาก แค้นมาก สุดท้ายก็ยิงลูกตาย คนเราพอโกรธและทำอะไรตามความโกรธไปแล้ว ความโกรธก็จะจางคลาย ตอนนั้นแหละความรู้สึกตัวจะเกิดขึ้น หลายคนรู้สึกตัวเมื่อได้ทำตามอำนาจของความโกรธไปแล้วจนสุดสาย เรียกว่าหมดแม็ก ทำตามความโกรธจนหมดแม็กไปแล้วมันค่อยรู้สึกตัว พอรู้สึกตัวว่าทำอะไรไป แกก็เสียใจมาก เป็นคนธรรมะธัมโม พากย์รายการสารคดีธรรมะ เสร็จแล้วมาเป็นอย่างนี้ สุดท้ายแกก็ยิงตัวตาย
ก็เป็นข่าวอยู่พักใหญ่เมื่อสักสิบกว่าปีที่แล้ว คนก็สงสัยว่าคนที่ธรรมะธรรมโม พากย์รายการสารคดีธรรมะ เป็นพิธีกรหลายงานล้วนแต่เป็นเรื่องของธรรมะทั้งนั้น แล้วทำไมถึงมาลงเอยแบบนี้ มันผิดวิสัย แต่มันก็อธิบายได้ว่าเมื่อคนเราลืมตัวแล้วก็สามารถทำอะไรก็ได้ทั้งนั้น ดังนั้นความลืมตัวเป็นเรื่องที่น่ากลัวมาก และคนเราจะลืมตัวก็เพราะหลายสาเหตุ มันเริ่มต้นจากการคิด ความคิดที่เรียกว่าเป็นลักคิด มันเผลอคิด มันไม่ตั้งใจคิด ตอนที่เราคิดนี้เราจมเข้าไปอยู่ในโลกของความคิด ตอนนั้นแหละที่เราลืมตัวแล้ว แต่ทำอย่างไรถึงจะรู้สึกตัวได้ ตรงนี้แหละสติจะมีบทบาทมาก เพราะสติมันจะทำให้เรารู้ตัวว่าเผลอไป ทำให้เรารู้ทันความคิด สติสมาธิทำหน้าที่ดึงจิตกลับมาอยู่กับเนื้อกับตัว และธรรมชาติของจิตพอมันมีสติรู้ตัว ความคิดหรืออารมณ์ต่างๆ มันก็หดหายไป หลุดไปเลย อย่างสมมุติตอนนี้ขณะที่อาตมากำลังบรรยายอยู่ แล้วมีบางคนปล่อยใจลอย คิดไปถึงบ้าน คิดไปถึงงาน คิดไปแล้วก็พัวพันติดพันต่อเนื่องเป็นสาย คิดจากเรื่องโน้นต่อไปเรื่องนั้นแล้วไปเรื่องโน้นอีกที กำลังคิดอย่างเมามัน คิดอย่างจมหลงอยู่ในภาวะอารมณ์นั้น จู่ๆ เกิดมีสียงโทรศัพท์ดังขึ้นมาในห้องนี้ ในศาลานี้ จิตมันจะกลับมาเลย มันรู้ตัวทันที เหมือนกับว่าเสียงโทรศัพท์เตือนให้จิตกลับมาอยู่ที่หอไตร ตรงนั้นแหละที่สติมันทำงาน ความคิดที่เราคิดเป็นวักเป็นเวรนี่มันหลุดไปทันทีเลย เหมือนกับว่าสะบัดมันทิ้งเพราะว่าจิตกลับมาอยู่กับเนื้อกับตัวแล้วเพราะจิตมันรู้สึกตัวแล้ว แต่พอรู้ว่าไม่มีอะไรเกิดขึ้น ที่โทรศัพท์ดังเป็นความบังเอิญ เดี๋ยวสักพักก็ไปอีกแล้ว
แต่อยากจะพูดก็คือว่า พอคนเรามีสติมีความรู้สึกตัวนี่ ความคิดต่างๆ ที่มันชักพาจิตใจไปเตลิดเปิดเปิงมันจะหลุดหายไป รวมทั้งอารมณ์ด้วย กำลังโกรธๆ อยู่หรือกำลังเศร้าๆ อยู่ พอมีเสียงโทรศัพท์ดังในศาลา ในหอไตรนี่ กลับมาเลย มันได้สติ หรือว่าบางทีอาตมาพูดเสียงดังๆ เข้าไป มันผิดไปจากโทนเสียงที่เมื่อสักครู่พูด ก็ได้สติขึ้นมา ความคิดอะไรที่ปรุงแต่งไปสารพัดยืดยาวมันก็หายไปทันที ไม่ต้องไปกดข่มมันกัน ไม่ต้องไปห้ามมัน แต่ว่ามันหลุดของมันเองเมื่อเรามีสติเมื่อเรากลับมารู้สึกตัว สติความรู้สึกตัวนี่มันเป็นเกลอกัน ความรู้สึกตัวนี้ภาษาบาลีเขาใช้คำว่า สัมปชัญญะ อย่างที่เราสวดเมื่อสักครู่ว่า สัมปชาโน สติมา สติมาก็คือสติ สัมปชาโนคือสัมปชัญญะความรู้ตัว เราจะรู้ตัวได้เมื่อสติมาอยู่กับเนื้อกับตัว เพราะว่าจิตไม่หลงลอยไปที่ไหน หรือว่าหลงลอยไปแล้วมีสติรู้ทันเห็นความคิด สติก็จะดึงจิตกลับมา อย่างที่บอกไปแล้วเมื่อวานว่าสติมันเป็นตัวผูกจิตไว้กับอารมณ์ กำลังฟังคำบรรยายอยู่ ถ้าเรามีสติคือว่าเรามีจิตจดจ่อกับเสียงคำบรรยาย ฟังคำบรรยายตามไปเรื่อยๆ ที่เราฟังคำบรรยายได้อย่างต่อเนื่องเพราะเรามีสติผูกจิตไว้กับเสียงที่มันมากระทบหู แต่ถ้าไม่มีสติเมื่อไร ไปเลย จิตไปไหนไม่รู้ เสียงมันกระทบหูก็จริงแต่ว่าใจไม่ไปรับรู้ด้วย ใจไม่รับรู้ด้วยก็เรียกว่าไม่มีวิญญาณ ไม่มีโสตะวิญญาณเกิดขึ้นในส่วนของเรื่องคำบรรยาย เพราะตอนนั้นจิตมันเข้าไปในความคิดแล้ว และตอนที่เราเข้าไปในความคิดนั่นแหละเราก็จะลืมตัว เราจะไม่รู้สึกตัว รวมทั้งไม่รู้สึกตัวว่ากายทำอะไร เช่นกำลังยกมือแต่ใจลอย สังเกตไหมว่าเวลาเราใจลอยขณะยกมือหรือเดินจงกรม ความรู้สึกว่ามือยก เท้าขยับมันจะหายไป มันอาจจะหายไปเป็นพักๆ หรือว่าหายไปเป็นช่วงยาวเลย เพราะตอนนั้นใจมันไม่อยู่กับเนื้อกับตัวแล้ว ใจมันเข้าไปในอดีตบ้าง หลงไปในอนาคตบ้าง และคนเราไม่ว่าจะเป็นคนที่มีความจำดีแค่ไหน ก็อาจจะเผลอตัวบ่อย
ที่จริงสติแปลว่าความระลึกได้ ความระลึกได้มันระลึกได้สองแบบ อันที่หนึ่งคือระลึกได้ในเรื่องที่เกี่ยวกับนอกตัวเรา เช่น เราจำได้ว่าบ้านเราอยู่ที่ไหน ถนนอะไร ซอยอะไร เราจำได้ว่ากุฏิเราเบอร์อะไร อยู่ตรงไหน เราจำได้ว่าเราวางรองเท้าไว้ตรงไหน บนชั้นหรือว่าตรงหน้าหอไตร เราจำได้ว่าเราเอาเงิน กุญแจรถไว้ตรงไหน กระเป๋าซ้ายกระเป๋าขวา อันนี้พอจะใช้กระเป๋า พอจะใช้กุญแจนี่ นึกขึ้นมาได้อันนี้เรียกว่าสติ สติมันทำให้เราระลึกขึ้นมาได้ว่า กระเป๋าเงินอยู่ตรงนี้ หรือว่ากุญแจอยู่ตรงนั้น หรือว่ารองเท้าถอดไว้ตรงโน้น นี่คือสติ แต่ว่าสติอีกแบบหนึ่ง เป็นสติที่ทำให้ระลึกรู้เรื่องกายเรื่องใจ ไม่ใช่เรื่องนอกตัว แต่เป็นเรื่องตัวเอง สติแบบนี้คนที่มีความจำดี ความจำเก่ง คนที่มีความจำเบอร์โทรศัพท์ จำวันเกิดเพื่อนได้เป็นสิบเป็นร้อยคน แต่พอเป็นสติที่ระลึกได้เกี่ยวกับตัวเองจะไม่ค่อยมีเท่าไร ใจลอย ลอยไปยืดยาวกว่าจะรู้ตัว สติที่มันเป็นความระลึกได้เรื่องนอกตัว ส่วนหนึ่งก็เป็นเรื่องเกี่ยวกับสมอง คนแก่พออายุมากๆ จำอะไรจะไม่ค่อยได้แล้ว เราเรียกว่าหลงๆ ลืมๆ ไม่ใช่แค่จำเรื่องราวที่ยากๆ บางทีเรื่องราวที่เพิ่งผ่านมาสักครู่ก็จำไม่ได้
มีคุณยายคนหนึ่งเดินทางมาจากต่างจังหวัดมาเยี่ยมหลาน หลานก็โตแล้วเป็นวัยรุ่น นานๆ มาเยี่ยมสักทีก็ชวนหลานไปกินอาหารร้านหรูร้านดัง หลานสองคนก็ไป พอกินอาหารสักพักก็คุยกันตามประสาย่าหลาน สักพักย่าก็ถามหลานว่าตอนนี้มีเงินพอใช้ไหม หลานบอกมีพอครับ แต่ว่าย่าก็ยังห่วงหลาน ถึงแม้หลานจะบอกว่ามีเงินพอใช้ ก็ยังอยากจะช่วยหลาน ควักเงินมาให้หลานคนละหมื่นสองคน หลานก็ดีใจ ก็คุยกันต่อไม่ถึงห้านาที ย่าก็ถามอีกว่ามีเงินใช้พอใช้ไหม พอครับ เสร็จแล้วย่าก็จะควักเงินมาให้ ไม่ทันควักหลานก็บอกว่าย่าเพิ่งให้เมื่อกี้เอง อ้อเหรอแล้วไป ผ่านไปอีกไม่ถึงห้านาทีถามอีก คราวนี้หลานต้องการแกล้งย่า ตอนนี้ไม่ค่อยมีเงินเลยครับย่า เงินไม่พอใช้เลย ย่านี่รีบเลยรีบเปิดกระเป๋า พอเปิดกระเป๋าก็ตกใจ เอ๊ เงินหายไปไหน เตรียมเงินให้หลานสองหมื่น ตกใจเงินหายไปไหน หลานก็เลยบอกว่าย่าเพิ่งให้เมื่อกี้นี้เอง เมื่อกี้แกล้งย่าเล่น อันนี้เรียกว่าไม่มีสติแม้กระทั่งเรื่องนอกตัว ความหลงความลืมมาเร็วมากเมื่ออายุมาก แต่นี่เป็นเพราะสมองของคนชรานี่มันเริ่มเสื่อม ความลืมหลงแบบนี้จะมาเร็วมาก จำได้แค่ห้านาทีนั่นแหละ บางทีจำได้แค่สองสามนาทีว่าให้เงินหลานไป เสร็จแล้วความลืมก็เข้ามา
แต่ว่าพวกเราหนุ่มสาว แม้จะไม่มีความหลงลืมแบบนี้ แต่ความหลงลืมอีกแบบหนึ่งจะเกิดขึ้นบ่อยๆ นั่งฟังอยู่ดีๆ จิตไปแล้ว ตรงนั้นแหละที่เรียกว่าหลงลืม คือไม่มีสติ หรือว่าขณะที่ตอนเดินจงกรมสร้างจังหวะรู้ตัวสักพักเดี๋ยวไปแล้ว ลืมแล้ว ลืมแล้วว่ากำลังเดิน ลืมไปแล้วว่ากำลังสร้างจังหวะ นี่คือไม่มีสติ และมันเกิดขึ้นแม้คนที่จำเก่ง จำโน้นจำนี่ได้ อย่างวัยรุ่นนี่จำโปรโมชั่นโทรศัพท์มือถือ จำแอปต่างๆ ได้ว่าทำอย่างไร จำวันเกิดดารา ใครเป็นคู่จิ้นใครนี่จำได้เยอะเป็นร้อยคู่ แต่ว่าความลืมตัวจะเกิดขึ้นบ่อยมาก รู้ตัวได้สักพักไปอีกแล้ว อันนั้นคือความลืมตัว คือความหลงลืม ซึ่งมันก็อาจจะไม่เกิดผลเสียมากถ้าหากว่าเราฟังเฉยๆ แล้วก็ลืมตัว แต่ว่าถ้าเราเกิดขับรถขึ้นมาหรือว่าเกิดเดินลงบันได เข้าห้องน้ำ ใจลอย ลืมตัว เดินก้าวเท้าผิด ตกบันได เหยียบพลาด ลื่นหกล้มในห้องน้ำ อันนี้เดือดร้อนแล้ว และถึงแม้ไม่เกิดเหตุการณ์แบบนี้แต่สิ่งที่เกิดขึ้นกับเราคือความทุกข์ ทุกข์เพราะความคิด ทุกข์เพราะคิดไปถึงอดีต เหตุการณ์ที่น่าเจ็บปวด คำต่อว่าด่าทอที่มันยังฝังใจของคนนั้นคนนี้ วิตกกังวลเกี่ยวกับลูก วิตกกังวลเกี่ยวกับพ่อแม่ งานการที่ยังค้างคา เส้นตายที่ใกล้มาถึง บางทีกำลังหลับกำลังนอนมันนอนไม่ได้ หรือบางทีกำลังคุยกับลูก ใจมันก็เผลอไปคิดเรื่องนั้นเรื่องนี้ หรือว่ากำลังปฏิบัติธรรม แต่ถ้าหากว่าเรามีสติที่ไวมันจะรู้ตัวได้เร็ว แล้วก็ดึงจิตกลับมา
สิ่งที่เรามาทำที่นี่คือฝึกให้มีสติที่ไว รู้ทันเมื่อใจเผลอคิดไปหรือว่าเมื่อเกิดอารมณ์ขึ้นมา โดยเฉพาะอารมณ์ที่เป็นอกุศล หลักการก็ง่ายๆ อันนี้ครูบาอาจารย์คงสอนพวกเราไปแล้ว ก็คือให้รู้กายก่อน กายยกมือก็ให้รู้สึก เมื่อใดที่ไม่รู้สึกแสดงว่าใจลอย เพราะถ้าใจไม่ลอยใจมันจะอยู่กับเนื้อกับตัว การยกมือสร้างจังหวะ การเดินจงกรมก็คือหาอุบายให้ใจมันมาอยู่กับตัว ให้มันมาอยู่กับปัจจุบัน ทีนี้ใจมันก็จะไม่ค่อยอยู่กับตัว ไม่ค่อยอยู่กับปัจจุบันเท่าไหร่ แต่บางครั้งขณะที่ใจลอย ความรู้สึกว่ามือยกอาจจะโผล่มาเป็นพักๆ ความรู้สึกตัวว่ามือเคลื่อนไหวหรือว่าเท้ากำลังเดินนี่ มันเป็นเหมือนเสียงที่กระซิบหรือนิ้วที่ทักเรา สะกิดเรา คือสะกิดใจให้กลับมา บางทีคนใจลอยอยู่ สักพักรู้สึกว่ามือกำลังเคลื่อนไหว รู้สึกว่าเท้าเดิน ก็ได้สติเลย อันนี้เรียกว่าความรู้สึกทางกายมันสะกิดใจให้กลับมาอยู่กับเนื้อกับตัว หรือจะเรียกว่า มือและเท้าหรือกาย มันส่งความรู้สึกมาสะกิดให้ใจนี้ให้กลับมาอยู่กับปัจจุบัน ประโยชน์ของมันมีตรงนี้
ในแง่หนึ่งนี่การยกมือสร้างจังหวะ มันเป็นการบ้านให้ใจมาอยู่กลับมาอยู่กับเนื้อกับตัว ให้ใจมารับรู้ว่ามือเคลื่อนไหว เท้ากำลังเดิน หรือว่ากายกำลังขยับ ที่จริงไม่ใช่ให้รู้เฉพาะจุด ให้รู้ทั้งตัวว่ากายกำลังเคลื่อนไหว ให้การบ้าน เหมือนกับให้กายนี้แหละมาเป็นการบ้านของใจ หมั่นดึงใจให้กลับมาอยู่บ้านก็คือกาย กายเป็นบ้านของใจ แต่ใจก็ไม่ค่อยชอบอยู่บ้านนี้เท่าไร ชอบระเหเร่ร่อนเหมือนเด็กใจแตก แต่ที่มันลอยๆไปนี่ก็จะมีเสียงมาเรียก หรือว่ามีอะไรมาสะกิดให้กลับมาที่บ้านนี้ การเคลื่อนมือ การเดินมัน คือสัญญาณ เป็นการส่งความรู้สึกมาสะกิดให้ใจได้สติและกลับมาอยู่กับเนื้อกับตัว แต่ใหม่ๆ มันยังไม่เป็นแบบนั้นหรอก พอทำไปสักพักจะรู้สึกได้ว่ากายมันสามารถส่งสัญญาณ ส่งความรู้สึกมาสะกิดใจเราได้ มันคล้ายๆ กับว่าเวลาเราใจลอยไป กำลังเหม่อลอยไป มีคนมาแตะที่ไหล่ มีคนมาจับมือ เราได้สติเลย
หลายคนคงเป็นบ่อย ใจลอยกำลังรอเพื่อน ใจลอยไปคิดไปเป็นคุ้งเป็นแคว เสร็จแล้วมีเพื่อนมาแตะไหล่ จิตมันกลับมาเลย ตอนที่จิตมันกลับมา จิตมันจะทิ้งความคิดต่างๆ ที่คิดเป็นวรรคเป็นเวรและกลับมาอยู่กับปัจจุบัน นั่นเราได้สติเพราะมีตัวช่วยคือเพื่อนมาช่วยแตะมือแตะไหล่ แต่ว่าปฏิบัติแบบนี้เราไม่ต้องอาศัยใครเป็นตัวช่วย เราอาศัยกายของเรานี่แหละเป็นตัวช่วยเพื่อดึงจิตกลับมา สติที่เกิดขึ้นจากการที่ความรู้สึกทางกายมันไปเรียกสะกิดจิตให้กลับมา สติแบบนี้เราเรียกสัมมาสติ ไม่ใช่สติแบบธรรมดา ที่เราสวดเมื่อสักครู่ อาตาปี สัมปชาโน สติมา เป็นภาษาบาลี ก็คือความเพียรเผากิเลส สัมปชัญญะ สติ สัมมาสติมันจะประกอบไปด้วย ตัวสติหนึ่ง ซึ่งมีความรู้สึกตัวและความเพียรประกอบกันเข้าไป สติที่เราใช้ในชีวิตประจำวันนี่ ใช้ในการขับรถขับรา ใช้ในการทำงาน จำได้ว่ากระเป๋าเงินอยู่ที่ไหน กุญแจอยู่ที่ไหน มันเป็นสติเฉยๆ แต่เมื่อไรก็ตามที่มันมี สัมปชาโน คือสัมปชัญญะ มีอาตาปีหรือมีความเพียรเข้ามาด้วย มันจะกลายเป็นสัมมาสติทันที และจะเป็นสติที่ใช้ระลึกได้เรื่องกายเรื่องใจเรื่องตัวเอง ไม่ใช่เรื่องนอกตัว
ความระลึกได้นี้มันมีอยู่สองอย่างอย่างที่พูด ระลึกได้ในสิ่งที่เป็นเรื่องนอกตัว รถยนต์ กระเป๋าเงิน กุญแจ โทรศัพท์ เพื่อน คนรัก อะไรที่เกี่ยวกับความทรงจำ เกี่ยวกับสิ่งเหล่านั้นคนเหล่านั้นมันเป็นสติธรรมดา แต่ขณะที่ระลึกได้ในเรื่องตัวเองเช่น รู้ก็คือรู้กาย รู้ใจนั่นแหละ ถ้าขยายความให้ละเอียดก็คือรู้สี่ประการ กาย เวทนา จิต ธรรม สรุปสั้นๆ คือรู้กายรู้ใจ สติที่ทำให้ช่วยระลึกรู้เรื่องกายเรื่องใจ ระลึกว่าตอนนี้กำลังยกมือ ระลึกว่าตอนนี้กำลังเดิน ตอนนี้กำลังกระพริบตา ตอนนี้กำลังกลืนน้ำลาย ต่อไปมันจะละเอียดขึ้น ๆ สติแบบนี้เรียกว่าสติระลึกรู้กาย พอใจคิดไปมีอารมณ์ปรุงแต่งต่างๆ มันก็ระลึกได้ มันรู้ว่ากำลังเผลอคิดไป มันรู้ว่ากำลังจมอยู่ในความเศร้า ความโศก ความโกรธ อันนี้คือสติรู้ใจ ซึ่งบางทีครูบาอาจารย์ก็สรุปย่อๆ ว่า “รู้กายเคลื่อนไหว รู้ใจคิดนึก” ที่รู้กายเคลื่อนไหวรู้ด้วยสติ ใจคิดนึกก็รู้ด้วยสติ แต่เป็นสติแบบสัมมาสติหรือสติปัฏฐาน อันนี้ก็ให้เราแยกแยะให้ถูก บางทีเราก็พูดรวมๆ ว่าสติ ๆ แต่ให้เข้าใจว่าสติที่เรากำลังระหว่างฝึกนี้เป็นสัมมาสติ ไม่ใช่สติธรรมดาที่เราใช้ในชีวิตประจำวัน หรือที่ต้องใช้ในระหว่างการเรียนหนังสือหรือการทำงาน