แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
เมื่อสัก 30-40 ปีก่อนที่คณะอักษรศาสตร์จุฬา มีอาจารย์ญี่ปุ่นท่านหนึ่ง อาจารย์โยนิ อิชิอิ ท่านสอนวิชาประวัติศาสตร์ ประวัติศาสตร์นี่ไม่ใช่ประวัติศาสตร์ญี่ปุ่น แต่เป็นประวัติศาสตร์ไทย โดยเฉพาะประวัติศาสตร์ในภูมิภาคเอเชียอาคเนย์ ท่านสอนประวัติศาสตร์โดยการพูดภาษาไทย ก็พูดได้คล่อง ไม่ต้องพูดถึงการอ่านและการเขียน อันที่จริงแล้วท่านก็เรียนรู้หลายภาษา ภาษาอังกฤษ ฝรั่งเศส อาจจะรวมถึงภาษาอิตาลีด้วย ภาษาเก่าๆ อย่างสันสกฤต บาลี เทวนาครี และดูเหมือนจะลาตินนี่ท่านก็รู้เหมือนกัน ทั้งๆ ที่ท่านเรียนไม่จบปริญญาตรี แล้วก็ไม่ได้เรียนภาษาต่างประเทศจากมหาวิทยาลัยไหนเลย ท่านเรียนด้วยตัวเอง แล้วคนก็ว่าท่านเป็นอัจฉริยะ ท่านบอกเปล่าเลย มันเป็นเรื่องที่ต้องอาศัยความเพียรล้วนๆ
ท่านเปรียบเทียบว่าการเรียนภาษาต่างประเทศ โดยเฉพาะการท่องศัพท์ มันเหมือนกับการตักน้ำให้เต็มแก้วด้วยกระชอน เรานึกภาพออกหรือเปล่ากระชอนที่เขาใช้ตักลูกน้ำที่มันเป็นผ้าบางๆ เวลาจะใช้กระชอนตักน้ำ น้ำมันก็จะรั่วหมด จะเหลือน้ำที่ค้างอยู่ในกระชอนก็แค่หยดสองหยด แล้วกว่าจะเติมน้ำให้เต็มแก้วมันจะใช้เวลานานเท่าใด เขาบอกว่าภาษาต่างประเทศ ศัพท์คำหนึ่งต้องเปิดพจนานุกรม เปิดแล้วเปิดอีก ๆ เพราะว่าใหม่ๆ ก็จำไม่ค่อยได้ การเปิดบ่อยๆ ก็ทำให้จำศัพท์นั้นได้ อันนี้ก็เป็นเรื่องของความเพียรล้วนๆ ไม่ใช่เพราะว่าเป็นอัจฉริยะหรือว่าความจำดี ความจำดีอย่างเดียวแต่ถ้าไม่มีความเพียรพยายามก็ไม่ได้ การที่คนเราจะจำศัพท์ภาษาต่างประเทศได้ มันต้องอาศัยความระลึกได้ซึ่งก็คือหน้าที่ของสตินั่นเอง เวลาเราอ่านหรือได้ยินศัพท์ต่างประเทศแล้วเราแปลเป็นไทยได้เลย นั้นเป็นเพราะว่าเรามีความจำดี เรามีความสามารถในการระลึกได้ไว นั่นก็คือมีสตินั่นเอง
อย่างที่บอกไว้เมื่อวานว่าสติหมายถึงความระลึกได้ แล้วความระลึกได้โดยเฉพาะในเรื่องที่มันเป็นเรื่องที่ยาก ที่ใหม่ อย่างเช่น ภาษาต่างประเทศ เราจะระลึกได้ไวก็ต้องทำซ้ำๆ ทำบ่อยๆ เช่น เปิดพจนานุกรมบ่อยๆ หรือว่านึกถึงคำนั้นบ่อยๆ มันก็ทำนองเดียวกับสูตรคูณหรืออาขยาน เราต้องนึกบ่อยๆ ท่องบ่อยๆ ท่องในใจบ่อยๆ อันนี้รวมถึงบทสวดมนต์ด้วย เราจะสวดมนต์ท่องขึ้นใจได้เราก็ต้องทบทวนซ้ำๆ นึกซ้ำๆ กันบ่อยๆ ถึงจะระลึกได้ไว การเจริญสติก็เหมือนกัน อย่างที่บอกไว้แล้วว่าสติที่เรามาฝึกกันที่นี่ มันไม่ใช่สติที่เราเคยมี หรือได้ใช้ในชีวิตประจำวัน อันนั้นเป็นความระลึกได้ในสิ่งนอกตัว จำศัพท์ต่างประเทศได้ จำอาขยาน จำบทกวี หรือว่าจำได้ว่าบ้านเราอยู่ถนนไหน ซอยไหน กุฏิเราเบอร์อะไร อันนั้นมันเป็นสติเกี่ยวกับสิ่งนอกตัว ความระลึกได้เรื่องนอกตัว
แต่ว่าสิ่งที่คนเรามีกันน้อยก็คือ ความระลึกได้ในเรื่องกายเรื่องใจ การที่เราจะสร้างความระลึกได้เกี่ยวกับกายใจ หรือว่าระลึกรู้เรื่องกายใจ มันก็ไม่ต่างจากการฝึกให้มีความระลึกได้ในเรื่องนอกตัว คือต้องทำซ้ำๆ การเจริญสติที่เราทำก็คือการพยายามฝึกให้มีความระลึกได้ บ่อยๆ ๆ ๆ แล้วก็ต้องตระหนักว่ามันใช้เวลาไม่ต่างจากการตักน้ำด้วยกระชอนให้เต็มแก้ว มันคล้ายกันเลย การเรียนภาษาต่างประเทศต้องทำซ้ำๆ อย่างไร มันค่อยๆ จำได้ทีละนิดทีละหน่อย หรือว่าระลึกได้ทีละนิดทีละหน่อย เหมือนกับการเติมน้ำด้วยกระชอนให้เต็มแก้วฉันใด การที่เราจะมีสติระลึกรู้กายใจ มันก็ใช้เวลาและก็ต้องอาศัยการทำซ้ำๆ เช่นเดียวกัน
เมื่อรู้เช่นนี้แล้วก็อย่าท้อเพราะว่าการที่เราระลึกได้แต่ละครั้ง ๆ ว่าตอนนี้เรากำลังทำอะไรอยู่ ตอนนี้กำลังยกมือสร้างจังหวะ ตอนนี้กำลังนั่งฟังคำบรรยายนี่ รู้บ่อยๆ รู้บ่อยๆ ก็จะทำให้สติเรามีความคล่องแคล่วระลึกรู้ได้ไว เวลาใจมันลอยไปไหนและเราระลึกได้ สิ่งที่ทำให้เราระลึกได้คือสติ สตินี่ทำให้ใจกลับมาอยู่กับปัจจุบัน อยู่กับเนื้อกับตัว อยู่กับการกระทำ ไม่ว่าเป็นการสร้างจังหวะ เดินจงกรม หรือว่าอาบน้ำ ถูฟัน ล้างหน้า ให้ตระหนักว่าแม้ว่าใจมันจะฟุ้งแค่ไหน ใจมันจะหลงอย่างไร อันนั้นมันไม่สำคัญ อย่าไปกังวลกับมันเพราะว่าเป็นธรรมดา สิ่งสำคัญอยู่ที่ว่าระลึกรู้ให้ไว พาใจกลับมาอยู่กับปัจจุบัน
หลวงพ่อคำเขียนบอกว่า นักปฏิบัติจะเก่งหรือไม่ ก็อยู่ที่ว่าระลึกรู้ได้ไว หรือพาใจกลับมาได้ไวหรือเปล่า ความเก่งมันไม่ได้อยู่ที่ว่านั่งนานแค่ไหน หรือว่าเดินนานแค่ไหน แล้วก็อาจจะเพิ่มเติมต่อไปว่า ความเก่งมันไม่ได้อยู่ที่ว่าใจไม่คิดหรือเปล่า บางคนไปคิดว่าถ้าใจไม่คิดนี่ดี เพราะฉะนั้นต้องหาทางทำให้ใจไม่คิด และวิธีทำให้ใจไม่คิดก็คือไปจ้องไปเพ่งจิตไม่ให้มันคิด ถ้ามันคิดก็ไปกดไปเบรกมันเอาไว้ หรือไม่ก็ไปบังคับจิตให้ไปเพ่งที่เท้าที่มือ อันนี้คือสิ่งที่หลายคนทำเพราะมีความเข้าใจว่า ความก้าวหน้าในการปฏิบัติมันวัดกันที่ว่า จิตคิดน้อยลงไปเรื่อยๆ แต่จริงๆ แล้วมันไม่ใช่เลย ความเก่งไม่ได้อยู่ที่ว่าจิตมันไม่คิด หรือว่ามันสงบหรือเปล่า หลวงพ่อคำเขียนบอกว่าความเก่งมันอยู่ที่ว่า เราระลึกรู้ได้ไวหรือเปล่า พาใจกลับมารู้กลับมาอยู่กับความรู้สึกตัวหรือเปล่า เพราะฉะนั้นใจมันจะลอยจะฟุ้งอย่างไรอย่าไปวิตกกังวล สิ่งที่เราจะต้องทำก็คือกลับมาให้ไวกลับมาให้เร็ว การที่เรากลับมาให้ไวกลับมาให้เร็ว มันก็เป็นการสร้างสติให้โตมากขึ้นเรื่อยๆ ให้ไวขึ้น ๆ และเราก็จะรู้ตัวได้ไว การลืมตัวก็จะน้อยลง
ลืมนี้ มันมีสองอย่าง ลืมข้าวลืมของ ลืมกุญแจ ลืมโทรศัพท์ ลืมอีกอย่างหนึ่งคือลืมตัว คนส่วนใหญ่ไปมัวพะวงหรือว่าไปห่วงกับว่าเราจะลืมโน่นลืมนี่หรือเปล่า แต่สิ่งคนไม่ค่อยตระหนักก็คือการลืมตัวนั้นแหละ ลืมตัวนี้มันก่อความเสียหายมากกว่าลืมข้าวลืมของ เพราะถ้าลืมตัวแล้วก็อาจจะเกิดความเสียหายถึงขั้นเกิดอุบัติเหตุ รถชน ตกบันได หรือว่าเกิดเพลิงไหม้ อันนี้เป็นเพราะความลืมตัว ลืมข้าวลืมของนั้นมันมักจะเกิดเพราะว่าเราวางของไม่เป็นที่ เราวางกุญแจรถ วางกระเป๋าเงินไม่เป็นที่ แต่ลืมตัวนี้มันตรงข้าม มันเป็นเพราะใจไปยึดตะพึดตะพือ ยึดอะไร ไปยึดความคิด ไปยึดสิ่งที่ผ่านไปแล้ว เหตุการณ์ในอดีตที่ผ่านไปแล้ว ก็พยายามไปคิดถึงมัน เวลาเราใจลอยอันนั้นคือว่าเรากำลังลืมตัว และที่เราใจลอยเพราะอะไร เพราะเรากำลังไปยึดติดกับอะไรบางอย่าง จนกระทั้งจมไปในความคิด หลงไปในอดีต หรือว่าลอยไปในอนาคต นั่นคือการยึด ที่นอนไม่หลับนั้นเพราะอะไร นอนไม่หลับก็เพราะว่าใจเรานี้วางความคิดไม่ได้
ดังนั้นมันตรงข้าม ลืมของเพราะว่าวางของไม่เป็นที่ วางไปแล้วนึกไม่ออกว่าเราวางตรงไหน กุญแจ กระเป๋าเงิน หรือบางทีก็เป็นสร้อย แต่ลืมตัวนี้เป็นเพราะว่าจิตมันไปยึดเอาไว้ แล้วพอยึดไปแล้วมันก็จะเกิดอารมณ์ตามมา เช่น ไปยึดความคิดเหตุการณ์ในอดีต ความสูญเสียพลัดพราก การถูกต่อว่าด่าทอ พอคิดแล้วก็เกิดความโกรธ เกิดความเสียดาย เกิดความอาลัยอาวรณ์ เกิดอารมณ์ตามมา อารมณ์ก็ขังใจเราไว้ แต่ที่จริงพูดอีกอย่างคือจิตมันไปยึดเอาไว้ พอจิตมันไปยึดกับอารมณ์หรือความคิดนั้น ตอนนั้นแหละเราลืมตัวแล้ว ยกมือก็ไม่รู้ว่ายก เดินลงบันไดก็ไม่รู้ว่าเดินลงบันได เพราะฉะนั้นก็อาจจะเดินพลาด ก้าวเท้าพลาดก็ได้ บางทีตอนที่ใจลอยก็อาจจะเป็นช่วงเดียวกับที่กำลังเสียบปลั๊กหม้อหุงข้าว โดยที่ไม่ได้เฉลียวใจว่ามือของเรามันเปียก ปลั๊กมันก็เปียก เพราะความลืมตัว ใจลอย พอเสียบปลั๊กเข้าไปก็โดนไฟช็อตอาจถึงตายได้ ลืมของเพราะวางไม่เป็นที่ ลืมตัวเพราะยึดตะพึดตะพือ แต่ถ้าเกิดเรามีสติเมื่อไหร่มันก็จะวาง เพราะรู้ว่ายึดไปมีแต่จะทำให้ทุกข์ และเรายิ่งยึดในอารมณ์ใดก็ตาม เราก็ค่อยๆ ถลำค่อยๆ จมไปในอารมณ์นั้น จนกระทั่งกลายเป็นทาสของมันก็ว่าได้ เราจะหวงแหนอารมณ์นั้น
เวลาเราเศร้าเราจะหวงแหนความเศร้ามาก พยายามปกป้องรักษาความเศร้าเอาไว้ เอาแต่นั่งซึม เพื่อนมาชวนให้ไปเที่ยวก็ไม่ยอมไป จะขอนั่งซึมนั่งเจ่าจุก เพราะอะไร มันเหมือนกับว่าหวงแหนความเศร้า พยายามปกปักษ์รักษาความเศร้า เวลาจะฟังเพลงก็จะฟังเพลงเศร้าๆ สังเกตรึเปล่าเวลาเราเศร้านี้เราชอบฟังเพลงอะไร ไม่มีใครอยากจะฟังเพลงสนุกสนานเพลงป๊อปอะไรหรอก อยากฟังเพลงที่เศร้าๆ นั่นแหละความเศร้ามันกำลังบงการจิตใจให้จมดิ่งอยู่ในอารมณ์นั้น หรือว่าให้เสพความเศร้าให้หนักขึ้น ปกป้องความเศร้าให้หนักแน่น เวลาโกรธก็เหมือนกัน เราจะหวงแหนความโกรธมากเลย ใครจะมาแนะนำว่าให้อภัยเขาไปเถิด ปล่อยวางไปเถิด เราจะไม่ยอม และถ้ายิ่งใครมาแนะนำให้ให้อภัยเขาไปเถิด เรายิ่งจะโกรธ โกรธคนที่แนะนำ
มีผู้หญิงคนหนึ่งมีความกลุ้มใจเกี่ยวกับแม่ แม่ก็อายุมากแล้ว เจ็ดสิบกว่าจะแปดสิบแล้ว แม่ก็เป็นคนดีมีเมตตาเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ แต่ว่ามีปัญหากับคนๆ หนึ่ง คนๆ นี้อกตัญญูเนรคุณ แม่ช่วยเขาเต็มที่แต่เขาก็เนรคุณ ทรยศหักหลัง เวลานึกถึงคนนี้ก็จะโกรธมาก และยิ่งแก่ตัวก็ยิ่งพูดถึงคนนี้บ่อยๆ พูดแล้วพูดอีก คนที่เป็นลูกก็กลัวว่าเวลาตายแม่จะตายไม่ดี เพราะว่ามีจิตที่ยึดติดถือมั่นในความโกรธ ชาวพุทธเราเชื่อว่า ถ้าตายและจิตมันเป็นอกุศล ก่อนตายก็ทุรนทุราย ตายแล้วก็ไปไม่ดีอีก ไปอบาย ก็พยายามบอกแม่ให้ให้อภัยเขาไปเถิด มันก็ผ่านไปยี่สิบสามสิบปีแล้ว พอลูกสาวพูดอย่างนี้ทีไรแม่ก็จะโกรธลูกสาว แล้วก็ด่าว่าลูกสาว ไม่พอใจลูกสาว ราวกับว่าลูกสาวจะมาแย่งของรักของหวงของมีค่าไปจากแม่ ความโกรธนี้มันน่าหวงแหนที่ไหน ถ้าจะมาเอาสมบัติเอาเงินเอาทองเอาสร้อยไป มันก็ยังมีเหตุผล แต่การหวงแหนความโกรธ หวงแหนความพยาบาทนี้ มันไม่ใช่วิสัยของคนที่มีสติปัญญา
แต่คนส่วนใหญ่ก็ทำกัน หวงแหนความโกรธเอาไว้ เพราะความโกรธนี้มันก็เหมือนกับสิ่งมีชีวิต มันก็พยายามที่จะรักษาตัวมันเอง สิ่งมีชีวิตทุกอย่างก็จะพยายามรักษาชีวิตของมันให้คงอยู่ให้ได้ รักษาอย่างเดียวไม่พอต้องแพร่พันธุ์ด้วย อารมณ์ต่างๆ ก็เหมือนกับสิ่งมีชีวิตชนิดหนึ่ง มันก็พยายามจะรักษาตัวมันเอาไว้ แล้วมันก็บงการจิตใจเราให้คอยปกปักษ์รักษามัน และเพราะความไม่รู้ตัวนั่นแหละ เราจึงกลายเป็นทาสของมัน แต่เมื่อใดก็ตามที่เรารู้สึกตัว เราจะรู้เลยว่า อารมณ์เหล่านี้มันไม่น่าเอา ความรู้สึกตัวนี้มันทำให้เราปล่อยวางอารมณ์เหล่านี้ทันที หรือพอเรามีสติรู้ทันว่า มันมีอารมณ์เหล่านี้ขึ้นมาในใจ การปล่อยวางก็จะเป็นไปได้ มันไม่ใช่ห้ามคิด เพียงแค่รู้ มันก็ละ มันก็วาง ใจเราลอยไปไหนพอมีเสียงโทรศัพท์ดัง หรือมีเสียงหัวเราะดังในศาลานี้ จิตมันจะกลับมารับรู้ หรือมาดูว่าเกิดอะไรขึ้น ตอนนั้นแหละที่จะมีสติ จิตมันกลับมาอยู่กับปัจจุบันมาอยู่กับเนื้อกับตัว
สังเกตหรือเปล่าว่าอะไรที่มันทำให้ใจเราหลุดจากความคิดนั้น หลุดจากอารมณ์นั้น มันหลุดเอง เพราะอะไร เพราะว่าจิตมันรับได้อารมณ์เดียว ถ้าจิตมันจะมาอยู่กับปัจจุบัน มันก็ต้องวางเรื่องอดีตอนาคต มันต้องวางความคิดและอารมณ์ต่างๆ ที่ลักคิดหรือว่าอารมณ์ที่ปรุงแต่งเพื่อที่จะกลับมากับปัจจุบัน จิตจะมารู้สึกตัวได้มันต้องวางสิ่งอื่น และสิ่งที่ทำให้เรารู้สึกตัวได้ก็คือสติ สติทำให้ระลึกได้ไว ระลึกรู้กาย ระลึกรู้ใจ หรือพูดอีกอย่างหนึ่งก็คือว่าไม่ลืมกายไม่ลืมใจ ตอนที่ใจเราลอยนี้ เราลืมกาย ยกมือก็ไม่รู้ว่ายก และพอจมอยู่ในอารมณ์มันก็ลืมใจด้วย ลืมใจไม่รู้ว่าใจตอนนี้กำลังทำอะไรอยู่ เพราะว่าใจมันถูกครอบงำด้วยอารมณ์ไปแล้วก็เลยไม่รู้เนื้อรู้ตัว เราจะจำอะไรได้ไวได้เร็วก็ตาม จำศัพท์ได้เร็ว แต่สิ่งที่เราขาดไม่ได้คือความระลึกรู้กายและใจให้เร็วด้วย เอากายมาเป็นฐาน เพื่อให้ใจกลับมา เหมือนกับว่ามันมีหลัก ถ้าเราไม่สร้างจังหวะไม่เดินจงกรม มันก็เหมือนกับว่าใจไม่มีหลัก มันก็จะล่องลอยได้ง่ายและมันก็จะลืมตัว การเจริญสตินี้มันก็มีหลักง่ายๆ ว่า “ตัวอยู่ไหน ใจอยู่นั่น” ง่ายมากเลยตัวอยู่ไหนใจอยู่นั่น ตัวอยู่นี่ใจก็อยู่นี่ ทำอะไรใจก็รับรู้หรือใจก็รู้สึก เมื่อเราทำอะไรใจก็รับรู้หรือรู้สึกนี้ มันก็เกิดความรู้สึกตัว
ในคำสอนเรื่องสติปัฏฐานสี่ หมวดกาย จะมีตอนหนึ่งที่พูดถึงเรื่องความรู้สึกตัว พระพุทธเจ้าสอนว่าให้ทำความรู้สึกตัว ในเวลาเดินไปข้างหน้าหรือว่าถอยกลับ ในเวลามอง ในเวลาเหลียว ให้ทำความรู้สึกตัว ในเวลาคู้เข้าและเหยียดออก ไม่ว่าจะเป็นขาหรือเท้า คู้เข้าเหยียดออกก็ให้รู้สึกตัว ตอนนี้ส่วนใหญ่เราคู้ขาเข้า ก็รู้ว่าคู้ขาเข้า พระพุทธเจ้าสอนให้ทำความรู้สึกตัว เวลาครองสังฆาฏิ อุ้มบาตร ห่มจีวร อันนี้ท่านสอนพระ แต่ว่าฆราวาสก็ทำได้ เวลาเราใส่เสื้อ ใส่กางเกงก็ให้รู้สึกตัว กลัดกระดุม รูดซิป ก็รู้สึกตัว เวลาเรากินดื่มเคี้ยวลิ้ม รวมทั้งอุจจาระ ปัสสาวะก็รู้สึกตัว เวลาเดิน ยืน นั่ง หลับ พูดแล้วก็นิ่ง ก็รู้สึกตัว อันนี้เป็นคำสอนที่ง่ายๆ เข้าใจง่าย แล้วก็ทำได้ง่ายด้วย ก็คือว่าเราก็ทำอิริยาบถซึ่งมันเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตประจำวัน ทำอยู่แล้วตั้งแต่ตื่นนอน อันที่พูดมาเราก็ทำหมด ขณะเดียวกันเราก็ทำเสริมหรือสร้างอิริยาบถเพิ่ม เช่น การเดินจงกรม การสร้างจังหวะ ทำความรู้สึกตัว
แต่ใหม่ๆ หลายๆ คนจะรู้สึกว่ามันยาก ความรู้สึกตัวคืออะไร บางคนอยากจะทำความรู้สึกตัวก็ไปจ้องไปเพ่งที่มือที่เท้า อันนั้นมันจะรู้เฉพาะจุด ถ้าเราไปเพ่งที่มือมันก็รู้เฉพาะมือ ไปเพ่งที่เท้าเราก็รู้เฉพาะเท้า มันไม่ใช่ความรู้ตัวทั่วพร้อม ความรู้ตัวทั่วพร้อมนี้มันคือรู้ทั้งตัว แต่ว่าส่วนที่เด่นชัดหน่อยก็คือส่วนที่เคลื่อน เช่น ยกมือ สร้างจังหวะ เดินจงกรม แต่ถ้าเรารู้สึกตัวทั่วพร้อมจนคุ้น แม้เวลาเรากระพริบตา แม้เวลาเรากลืนน้ำลายเราก็รู้ ก็หมั่นทำความรู้สึกตัว เวลาเราจะลุกขึ้นก็ให้ตั้งสติสักหน่อยก่อนที่จะลุก ไม่ใช่ผลุนผลันลุกตามความเคยชิน เวลายุงกัดเราจะปัดก็อย่าปัดไปด้วยอารมณ์ หรือปฏิกิริยาแบบอัตโนมัติ ปัดก็ปัดด้วยความรู้สึกตัว อันนี้เป็นสิ่งที่เราทำได้
ความรู้สึกตัวทั่วพร้อมนี้ มันไม่ใช่ความรู้สึกตัวเฉพาะจุด มันเหมือนกับเราดูรูป ปกติคนเราดูรูป เราก็ไม่ได้ดูรูปเฉพาะมุมซ้าย มุมขวา แต่เราดูรวมๆ เวลาเราดูโทรทัศน์ เราก็ดูภาพรวมๆ เราไม่ได้จ้องที่จุดใดจุดหนึ่งของจอ สังเกตหรือเปล่าว่าเราดูรวมๆ เวลาเรามองหน้าคน เราคุยกับคน เราก็ไม่ได้มองที่ตาไม่ได้มองที่จมูกหรือไม่ได้มองที่ปาก แต่เรามองรวมๆ สังเกตหรือเปล่า ความรู้สึกตัวทั่วพร้อมนี่มันแบบนั้นแหละ คือมันรู้สึกรวมๆ เวลาเราคุยกับคนถ้าเราไปมองเฉพาะตาเขา หรือไปจ้องที่ปากเขา เขาก็คงสงสัยว่าเรากำลังทำอะไรอยู่ แต่เราก็ไม่เคยทำอย่างนั้น เวลาเรามองหน้าคนขณะที่พูด เราก็มองรวมๆ อย่างดูหน้าอาตมานี่ก็ไม่ได้ดูเฉพาะจุด ก็ดูรวมๆ เวลาเราดูภาพไม่ว่าเล็กหรือใหญ่เราก็ดูรวมๆ อันนี้มันเป็นธรรมชาติของคนเราอยู่แล้ว
ฉะนั้นความรู้สึกตัวทั่วพร้อม มันก็เป็นเรื่องของสิ่งที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติ เมื่อใจเราอยู่กับเนื้อกับตัว การไปจ้องไปเพ่งต่างหากที่มันไม่ใช่ธรรมชาติ เช่น ไปจ้องที่มือ ไปเพ่งที่เท้า มันไม่ใช่ธรรมชาติ เวลาเราฟังใครพูด เราก็จะฟังรวมๆ เราจะไม่ได้เจาะเพ่งเป็นคำๆ ถ้าเราไปเพ่งเขาเป็นคำๆ ก็จะฟังไม่รู้เรื่อง แต่เราฟังแบบสบายๆ เวลาเราฟังสบายๆ ฟังรวมๆ นี่เราจะเข้าใจว่าเขาพูดอะไร เพราะเราจะฟังเข้าใจทั้งประโยค แต่ถ้าเมื่อใดก็ตามที่เราพยายามไปจ้องไปเพ่งเป็นคำๆ เราจะฟังไม่ค่อยรู้เรื่อง เพราะนั้นไม่ใช่วิธีที่เป็นธรรมชาติของการฟัง การฟังรวมๆก็ดี การมองหน้าคนรวมๆก็ดี มันเป็นธรรมชาติคนเราในการรับรู้
อันนี้ก็เปรียบได้กับการทำความรู้สึกตัว มันก็เป็นธรรมชาติของเรา ขอเพียงแต่ให้ใจเรากลับมาอยู่กับเนื้อกับตัว ไม่ต้องเพ่งไม่ต้องบังคับ แต่ว่าเรามักจะไม่ค่อยแน่ใจว่ารู้สึกตัวอยู่หรือเปล่า จริงๆ มันเกิดขึ้นกับเราอยู่แล้ว ในภาวะที่เป็นปกติธรรมดาธรรมชาติ แต่ว่ามันอาจจะไม่ต่อเนื่องเพราะว่ารู้สึกตัวแป๊บๆ เดี๋ยวก็ไปอีกแล้ว เข้าไปในความคิด ไหลไปอดีต ลอยไปอนาคต เดี๋ยวกลับมารู้ตัว รู้ตัวแป๊บๆ กลับไปอีกละ แต่ถ้าเกิดว่าเราทำเจริญสติถูกวิธี ความรู้สึกตัวมันจะถี่ขึ้น ๆ มันเป็นขณะๆ ความรู้สึกตัวมันเป็นขณะๆ เหมือนกับเป็นจุดๆ ถ้าหลายจุดมาต่อกันมันก็จะเป็นเส้นยาว
หลวงพ่อคำเขียนท่านเปรียบเหมือนกับว่าเป็นโซ่ เป็นโซ่ต่อทีละข้อ ๆ ความรู้สึกตัวของเรานี้ส่วนใหญ่มันจะเป็นข้อที่สั้นๆ เป็นโซ่สองสามข้อแล้วก็ขาด สี่ห้าข้อแล้วก็ขาด แต่ถ้าเราต่อโซ่ให้มันเป็นหลายข้อ ให้มันเป็นสิบข้อยี่สิบข้อเชื่อมกัน ตรงนั้นแหละที่เราจะเริ่มรู้จักความรู้สึกตัวได้ดีขึ้น ว่ามันเป็นอย่างนี้เอง เพราะเราสัมผัสมันได้อย่างต่อเนื่อง และพอเรารู้ว่าความรู้สึกตัวเป็นอย่างไร เราก็จะรู้ว่าความหลงนี่มันเป็นอย่างไร ทุกวันนี้เราอยู่กับความหลง จนเราไม่รู้ว่านั่นคือหลง เหมือนกับปลาไม่เห็นน้ำ นกไม่เห็นฟ้า หนอนไม่เห็นอาจม
เราอยู่กับความหลงจนไม่รู้ว่านั่นแหละคือความหลง ต่อเมื่อเราเริ่มรู้จักได้สัมผัสความรู้สึกตัวอย่างต่อเนื่อง ๆ มันจะเห็นความแตกต่างว่าพอหลงนี้มันเบลอๆ มันหนักๆ มันเหมือนกับคนละเมอ แต่พอรู้สึกตัวเมื่อไหร่มันใสมันโล่ง มันโปร่งมันเบา เมื่อเราเห็นความแตกต่างว่าหลงเป็นอย่างนี้ และรู้สึกตัวเป็นอย่างนี้แล้ว พอเราหลงเราก็จะเริ่มรู้ตัวเร็ว เหมือนเข็มมันกระดิกเร็วขึ้น เมื่อก่อนพอหลงแล้วเข็มไม่กระดิกเลย พอได้มาปฏิบัติเข็มมันก็เริ่มกระดิกแล้ว กระดิกหมายความว่าสัญญาณมันบอกว่าตอนนี้กำลังหลง เพราะมันมีการเปรียบเทียบว่าจิตมันออกจากภาวะที่ปกติไป
คนเราถ้าไม่รู้จักความเป็นปกติก็ไม่รู้หรอกว่าที่เป็นอยู่นี่มันเป็นความไม่ปกติ แต่พอเรารู้จากความเป็นปกติแล้ว พอจิตมันไม่ปกติเราก็จะรู้ และทีนี้ก็จะไวขึ้น ๆ จะรู้ตัวไวขึ้น หลงไปปุ๊บกลับมา ๆ อย่างที่หลวงพ่อบอก การที่เราจะเก่ง ดูที่ว่าเรากลับตัวมาไวหรือเปล่า ไม่ใช่เพราะไม่คิด ไม่ใช่เพราะว่าจิตมันนิ่ง นิ่งแล้วถ้าไม่รู้ตัวนี่มันก็ไม่ใช่