แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ธรรมะ มันมีคำที่เป็นหัวใจ อย่างที่เขาเรียกว่าคีย์เวิร์ดอยู่คำหนึ่ง ก็คือคำว่า “ทำ” ธรรมะถ้าเราแค่อ่านได้ยินได้ฟังมันยังไม่พอ มันต้องลงมือทำด้วยถึงจะเห็นผลของธรรมะได้ “ทำ”มันก็มีหลายระดับ ตั้งแต่ทำบุญทำทาน ทำความดีรักษาศีล รวมไปถึงการทำสมาธิ ถ้าเมื่อได้ลงมือทำแล้วมันจึงจะได้เห็นประโยชน์เห็นอานิสงส์ของธรรมะ จะนั่งคิดเอาอย่างเดียวไม่ได้ อย่างเรื่องทานหรือการแบ่งปันการให้ ถ้าไม่ลงมือทำมันไม่เห็นเองหรอกว่าทำแล้วจะได้ความสุขใจ ถ้ามองเห็นคนอื่นเขาให้ทานอาจจะนึกไปว่าทำแล้วก็ขาดทุน ให้ทานคนอื่นเงินในกระเป๋าของเราก็จะน้อยลง ก็จะเห็นได้แค่นี้แหละว่าทำไปแล้วคนอื่นได้แต่เราเสีย แต่ถ้าได้ลงมือทำ ให้ทานด้วยตัวเอง ถ้าวางใจถูกวางใจเป็น ก็จะเห็นเลยว่าเราเองก็ได้ ได้ความสุขใจ อย่างที่พุทธเจ้าตรัสว่าผู้ให้ความสุข ย่อมได้รับความสุข
บางทีความสุขที่ได้จากการเป็นผู้ให้มากกว่าความสุขที่เกิดกับผู้รับเสียอีก อันนี้รวมถึงการช่วยเหลือผู้อื่นด้วย ช่วยเหลือผู้อื่นนี้ก็เป็นการทำความดี ถ้านึกเอามันก็ไม่เห็นอานิสงส์ของการทำความดี ว่าทำแล้วจะได้อะไร แต่ถ้าทำแล้วก็จะรู้เองเห็นเอง การรักษาศีล ศีลห้าก็ดี ศีลแปดก็ดี หลายคนก็นึกไม่ออกว่าการรักษาศีลแปด โดยเฉพาะสามข้อสุดท้าย รวมทั้งข้อที่สามซึ่งเปลี่ยนจากกาเมสุ มิจฉา จารา เป็นอพรัมจริยา มันทำแล้วจะมีความสุขอย่างไร มันจะมีแต่การทรมานตนมากกว่า เช่น ไม่กินข้าวเย็น ไม่กินอาหารในเวลาวิกาล หรือว่านอนพื้น นอนสาด นอนในที่นอนที่ไม่สูงใหญ่ มันจะมีความสุขที่ตรงไหน หรือว่ายิ่งมาถือศีล ๒๒๗ ข้อนี้ก็ยิ่งนึกไม่ออกเลยว่าทำแล้วมันจะดีอย่างไร แต่หลายคนพอมาสมาทานศีลแปด ก็พบว่าจิตใจโปร่งเบา ชีวิตก็เรียกว่ามีความสุข มันสุขที่ใจ ชีวิตก็เป็นอิสระมากขึ้น ไม่ต้องห่วงว่าไปไหนแล้วจะไม่ได้ดูละคร บางคนจะไปไหนก็ติดละครก็ไม่อยากไป ถ้าที่ไหนไม่มีสัญญาณโทรทัศน์ก็ไม่ไป กลายเป็นว่าถูกรัดรึงด้วยความบันเทิงเริงรมย์ ถ้าไม่ติดละคร ไม่ติดซีรีย์ เกาหลี อเมริกาหรือญี่ปุ่นก็แล้วแต่ จะไปไหนก็สะดวก จะไปงานศพก็ไม่ได้ทุกข์ร้อนอะไรว่าจะไม่ได้ดูละครทางโทรทัศน์ อันนี้เป็นตัวอย่างง่าย ๆ
หรือว่าถือศีล ๒๒๗ เหมือนกัน เป็นพระนี้บางคนก็นึกว่าเป็นพระมันจะดีตรงไหน ขาดอิสระ มีศีลมีสิกขาบท ๒๒๗ ข้อเป็นเครื่องรัดรึงทำให้เสียอิสรภาพ แต่พอมาบวชเข้า ใหม่ ๆ มันก็อึดอัด ช่วงอาทิตย์แรกสองอาทิตย์แรกหรือเดือนแรก แต่ว่าหลังจากนั้นก็เริ่มเบาสบาย เพราะว่าถึงแม้ร่างกายมันไม่สะดวกเหมือนตอนเป็นฆราวาสแต่ใจมันสบาย อันนี้ก็เป็นตัวอย่างว่าธรรมะนี้มันต้องลงมือทำ มันถึงจะเห็นอานิสงส์ เพราะฉะนั้นคำว่า“ทำ”จึงเป็นคำสำคัญคำหนึ่ง สำหรับคนที่สนใจธรรมะ
แต่ว่ามันยังมีอีกคำหนึ่งที่สำคัญไม่น้อย ก็คือคำว่า“เห็น” ทำอย่างเดียวไม่พอต้องเห็นด้วย เห็นในที่นี้คือเห็นอะไร คือเห็นธรรมะ เห็นสัจธรรมความจริง ทำความดีแต่ว่าถ้าใจไม่เห็นสัจธรรมมันก็ยังมีความทุกข์ ถึงแม้ว่าความดีนี้มันจะช่วยให้ความทุกข์เกิดขึ้นกับเราน้อยลง เมื่อเทียบกับคนที่ไม่ทำความดี เมื่อเทียบกับคนที่ไม่มีน้ำใจเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ คนประเภทหลังนี้ก็จะเจอทุกข์มากกว่า ถึงแม้ว่าจะมีเงินมีทองร่ำรวยเพราะการคดโกง หรือเพราะความตระหนี่ถี่เหนียว แต่ว่าไม่มีความสุขเท่ากับคนที่เขาทำความดี รักษาศีล มีน้ำใจเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ เพียงแค่รักษาเฉพาะศีลห้าเท่านี้เรื่องเดือดเนื้อร้อนใจนี้หลายอย่างก็จะลดลง ถ้าไม่ไปขโมยของ ไม่ไปคดโกงใคร ไม่ไปผิดลูกผิดเมียใคร ไม่ไปโกหกพูดจาเสียดสีด่าว่าใส่ร้ายใคร ก็จะมีความสุขความสบายใจ ไม่รู้สึกอยู่ร้อนนอนทุกข์ ไม่ต้องหวาดผวาว่าจะมีคนมาทำร้ายเพราะแก้แค้น ไม่ต้องกลัวว่าตำรวจจะจับหรือมีคนมาเปิดโปงความชั่วของเรา ไม่ต้องกลัวว่าจะมีคนมาแก้แค้นต่อว่าด่าทอเรา รวมทั้งศีลข้อที่ห้า ถ้าทำความดีรักษาไว้ให้ดี ไม่เกี่ยวข้องกับยาเสพติด สุรายาเมา สูบบุหรี่ สุขภาพก็จะดีขึ้นเยอะ โรคภัยไข้เจ็บหลายอย่างก็จะไม่มาเกี่ยวข้อง ไม่มาเยี่ยมเยียน ไม่ว่าจะเป็นโรคหัวใจ โรคมะเร็งบางชนิด เช่น มะเร็งตับ หรือว่าโรคตับแข็ง รวมทั้งความพิกลพิการที่จะเกิดขึ้นเพราะอุบัติเหตุก็จะลดน้อยลงแล้ว หรืออาจจะพิการเพราะคนอื่นทำ แต่ไม่ใช่พิการเพราะตัวเองเมามายขับรถชนเสาไฟฟ้าตกคู
การทำความดีนี้แม้ว่ามันจะเป็นเหมือนกำแพงที่คอยขวางกั้นไม่ให้ความทุกข์นานาชนิดเข้ามาถึงตัวเรา แต่มันก็ไม่ได้หมายความว่ากำแพงแห่งความดีมันจะกันทุกข์ได้ร้อยเปอร์เซ็นต์ มันสามารถจะกันได้สัก ๘๐% หรือ ๙๐% เป็นอย่างมาก มันก็ยังมีความทุกข์หรือเหตุร้ายเกิดขึ้นกับเราอยู่นั่นเอง อย่างน้อยก็ ๑๐% เช่น ทำดีอย่างไรมันก็ต้องแก่ ต้องเจ็บ ต้องป่วย ทำดีอย่างไรมันก็ต้องเจอกับความพลัดพรากสูญเสีย คนรักสักวันหนึ่งก็จะต้องตายจากไป ไม่ว่าจะเป็นพ่อเป็นแม่ หรือบางทีอาจจะเกิดขึ้นกับคนที่เป็นลูกหลานของเรา อันนี้มันเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้ ไม่ใช่ว่าจะเกิดขึ้นเฉพาะคนชั่ว คนดีก็มีสิทธิที่จะเกิดสิ่งเหล่านี้ ทำดีแต่ว่าคนไม่เห็นความดีของเรา ไม่เห็นไม่พอเขายังนินทาว่าร้ายหรือว่าใส่ร้าย อันนี้ถ้าหากว่าเห็นความจริงว่ามันเป็นธรรมดา มันเป็นธรรมดาโลกก็จะไม่ทุกข์มาก เห็นความจริงว่าคนเรานี้เกิดมาก็ต้องแก่ก็ต้องเจ็บต้องพลัดพรากสูญเสีย แล้วก็ต้องตายในที่สุด เมื่อเห็นว่ามันเป็นธรรมดา มันเป็นสัจธรรม ถ้าเห็นจริง ๆ มันจะไม่ทุกข์ ทำใจได้ ทำดีแล้วไม่มีคนเห็นก็เป็นธรรมดา ทำดีเพียงไรแต่ยังมีคนนินทาก็ยังธรรมดา พระพุทธเจ้าตรัสว่า คนพูดมากก็ถูกนินทา คนพูดน้อยก็ถูกนินทา นิ่งเลยก็ยังถูกนินทา ไม่มีใครที่จะรอดพ้นการถูกนินทา แม้แต่พระพุทธเจ้า ทำความดีมามากมายไม่มีความคิดร้ายต่อใคร อย่าว่าแต่การทำร้าย ความคิดร้ายยังไม่มี ก็ยังถูกคนใส่ร้ายว่าไปฆ่าผู้หญิง หรือว่ามีคนลอบทำร้ายลอบฆ่าด้วยธนู เอาหินไถลให้ลื่นตกลงมาเพื่อจะทับ หรือว่าส่งช้างมาเพื่อที่จะมาทำร้ายพระองค์ อันนี้นี่เราต้องมองว่ามันเป็นธรรมดา
และถ้าเราเห็นแล้วว่ามันเป็นธรรมดา มันเป็นสัจธรรม มันเป็นธรรมดาโลกแล้ว ใจก็ไม่ทุกข์ ถึงแม้ว่าเหตุร้ายมันจะมาถึงตัว ถึงแม้ว่ากำแพงความดีจะสกัดกั้นไม่ได้ เหตุร้ายนี้มันข้ามมาจนถึงตัว แต่ว่ามันก็อาจจะมากระทบตัวเท่านั้นหรือกระทบสิ่งของที่เรามี แต่ว่ามันจะไม่กระเทือนไปถึงใจ การเห็นสัจธรรมนี้มันจึงเป็นกำแพงด่านสุดท้าย ที่จะช่วยรักษาใจของเราไม่ให้ทุกข์ ทีนี้เห็นแล้วก็อย่างที่บอกคือเห็นสัจธรรมความจริง เห็นว่าสิ่งทั้งปวงรวมทั้งสังขารร่างกายของเรามันไม่เที่ยง คือมันไม่คงที่ มันเป็นทุกข์ ไม่คงตัวก็คือต้องเสื่อมไปต้องดับไป แล้วมันไม่ใช่ตนคืออนัตตา นี้ก็เป็นความจริงอย่างหนึ่ง ถ้ารู้และเห็นจริง ๆ มันก็ทำให้ใจไม่ทุกข์ได้เพราะว่าใจก็จะปล่อยไม่ยึดติดกับอะไรเลย เรียกว่าปล่อยวาง แต่เป็นการปล่อยวางที่ใจ ส่วนงานการที่เกี่ยวข้องยังต้องทำ ยังต้องดูแลรักษาร่างกายตัวเอง ยังต้องดูแลรักษาข้าวของเครื่องใช้ เช่น บ้าน หรือว่าถ้ามีรถยนต์ก็ต้องดูแลรถยนต์ไม่ให้เสื่อมไม่ให้เสีย ถ้ามีลูกก็ดูแลลูก มีพ่อแม่ก็ดูแลพ่อแม่ แต่ว่าข้างในใจก็ปล่อยวาง เพราะรู้ว่าอะไร ๆ ก็ไม่เที่ยง อะไร ๆ ก็เกิดขึ้นได้
การเห็นความจริงเช่นนี้ มันเป็นหัวใจสำคัญอย่างหนึ่งของธรรมะ ถ้าเราสังเกตดูนอกจากท่านจะเน้นเรื่อง “ทำ”แล้วก็จะเน้นเรื่อง“การเห็น” บทสวดมนต์หลายบทที่เราสวดกันตอนเช้าบ้างเย็นบ้างนี้ มันจะมีข้อความที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้ “เมื่อใดบุคคลเห็นด้วยปัญญาว่าสังขารทั้งปวงไม่เที่ยง สังขารทั้งปวงเป็นทุกข์ สังขารทั้งปวงเป็นอนัตตา เมื่อนั้นย่อมเหนื่อยหน่ายในสิ่งที่เป็นทุกข์ที่ตนหลง นั่นแหละเป็นทางแห่งพระนิพพาน เป็นธรรมหมดจด” บางทีในบทเรื่องอริยทรัพย์นี้ก็มี ศรัทธา ศีล ความเลื่อมใส และความเห็นธรรม ศีลนี้เป็นเรื่องการปฏิบัติ ส่วนการเห็นธรรมนี้คือเห็นจริง ๆ ไม่ใช่ ๆ“คิดเห็น” ความคิดเห็นนั่นเป็นอีกเรื่องหนึ่ง เห็นในที่นี้คือเห็นด้วยปัญญา เมื่อเราเห็นด้วยปัญญาแล้ว ความทุกข์ที่จะมันเกิดขึ้นกับใจก็จะน้อยลง อาจจะเกิดขึ้นกับกาย เช่น เจ็บป่วย แต่ถ้าเห็นความจริงว่ามันไม่มีเรา หรือมันไม่มีกู เวลาเจ็บกายมันก็จะไม่รู้สึกว่ากูเจ็บ ก็เห็นว่ามันเป็นกายที่เจ็บ ไม่ใช่กูเจ็บ เรื่องกูเจ็บนี้มันเป็นเรื่องของความสำคัญมั่นหมายเป็นความหลงผิด ถ้าเห็นความจริงเมื่อไหร่ว่ากูนี้มันไม่มีจริง มันเป็นแค่มายา อะไรเกิดขึ้นกับกายก็ไม่รู้สึกว่าเป็นกู
มีเรื่องเล่าว่าหลวงปู่บุดดา ถาวโร เมื่อสัก ๓๐-๔๐ ปีมาแล้วกระมัง ท่านไปผ่าตัดเอานิ่วในไตออก สมัยนั้นมันก็ยังไม่มีเครื่องที่จะอัลตราซาวด์หรือเครื่องที่จะมาใช้วิธีที่นุ่มนวล ท่านก็ ๘๐ กว่าแล้ว ผ่าเสร็จไม่ถึง ๑๕ นาทีท่านก็บอกหมอว่า ไม่เป็นไรแล้วค่อยยังชั่วแล้ว คือท่านจะออกจากโรงพยาบาลเพื่อจะกลับวัด หมอและพยาบาลก็แปลกใจ ตกใจด้วยซ้ำ เพราะว่าคนที่ผ่าน้อยกว่าท่านนี้ก็ยังแสดงอาการว่าปวด แล้วก็ต้องพักอยู่นาน แต่หลวงปู่จะกลับวัดแล้ว หมอเลยสงสัยว่าหลวงปู่ไม่ปวดหรือ ท่านก็บอกว่าปวด ทำไมไม่ปวด ร่างกายฉันก็เหมือนคนธรรมดานั่นแหละ เมื่อโดนผ่าก็ต้องปวด แต่ว่าใจไม่ได้ปวดด้วย มันไม่เกี่ยวกัน คือคนธรรมดานี้ถ้าไม่เห็นความจริง มันก็จะคิดแต่ว่ามีกู เวลากายเจ็บมันก็จะกูเจ็บ แต่ว่าหลวงปู่บุดดานี้ท่านมองทะลุไปแล้ว เห็นความจริงว่ามันไม่มีกู มันมีแต่กายกับใจ กายเจ็บไม่มีกูเจ็บ เพราะฉะนั้นใจก็จะไม่ได้ปวดไม่ได้เจ็บไปด้วย อันนี้ก็เป็นเพราะท่านเห็นความจริง
เพราะฉะนั้นเมื่อเรามาเข้าหาธรรมะแล้ว นอกจาก“การทำ”แล้วก็ต้องฝึกให้“เห็น”ด้วย นอกจากการทำความดีแล้วก็ต้องเห็นความจริง แต่ก่อนที่จะเห็นความจริงที่เรียกว่าสัจธรรม เราก็สามารถจะเริ่มต้นจากการที่เห็นของจริงก่อน เห็นของจริงที่อยู่ใกล้ตัวเรามากที่สุดก็คือเห็นกายและใจ เห็นกาย เห็นใจ เห็นความจริงของกายและใจ หรือว่าหมั่นตามดูรู้กายและใจ เห็นอย่างนี้ต้องใช้สติ สติคือตาใน ดังนั้นการเจริญสตินี้ครูบาอาจารย์หลายท่านก็จะเน้นเรื่องของการเห็น โดยเฉพาะหลวงพ่อคำเขียนท่านพูดไว้ชัดเลย “เห็น อย่าเข้าไปเป็น” บางทีท่านก็ใช้คำว่า “ดู อย่าเข้าไปอยู่” ส่วนใหญ่พอมันมีความคิดอะไรเกิดขึ้นโดยเฉพาะการคิดแบบไม่ตั้งใจ ไม่มีเจตนา ที่เรียกว่าลักคิด หรือพอมีอารมณ์ใดเกิดขึ้น ใจมันก็เข้าไปเป็นหรือเข้าไปอยู่ในความคิดเลย ตัวอย่างเช่นขณะที่กำลังยืนอยู่ หรือกำลังนั่งอยู่ จู่ ๆ ก็มีรถไฟขบวนหนึ่ง ทั้ง ๆ ที่มีคนบอกให้รอ แต่ว่าเราเห็นรถไฟก็ขึ้นรถไฟไปเลย แล้วก็ไปอยู่ในรถไฟนั่นแหละ อยู่จากขบวนหนึ่ง อยู่จากตู้ที่หนึ่งไปตู้ที่สองตู้ที่สามตู้ที่สี่ เดินไปเดินมาอยู่ในตู้รถไฟนั่นแหละ อันนี้เรียกว่าอยู่แล้ว รถไฟนี้ก็ก็เปรียบเหมือนความคิดและอารมณ์ หลายคนเวลาปล่อยใจลอยก็จะเป็นอย่างนี้ เราคงสังเกตได้ขณะที่เราปฏิบัติอยู่นี้ ใจมันเข้าไปอยู่ในความคิดเหมือนกับไปอยู่ในขบวนรถไฟเลย คิดจากเรื่องหนึ่งไปอีกเรื่องหนึ่ง จากเรื่องที่สองไปเรื่องที่สาม เรื่องที่สามจบไปเรื่องที่สี่ต่อ
สังเกตไหมว่านั่นแหละคือการเข้าไปอยู่ หรือเข้าไปเป็น โดยเฉพาะพอมีอารมณ์เกิดขึ้น มันก็จะเหมือนกับสิ่งที่ครอบจิตเอาไว้ และใจเรานี้ก็เป็นอันหนึ่งอันเดียวกับอารมณ์นั้น เช่น พอมีความโกรธก็เป็นผู้โกรธ พอมีความเศร้าก็เป็นผู้เศร้า พอมีความเบื่อก็เป็นผู้เบื่อ พอมีความเครียดก็เป็นผู้เครียด ยิ่งพอมีความง่วงก็เป็นผู้ง่วงไปเลย อันนี้เรียกว่าเข้าไปเป็นแล้ว แต่พอเรามีสติออกมาเห็น อารมณ์เหล่านั้นมันหายไปเลย มันจางไปเลย ใหม่ ๆ นี้คิดตะพึดตะพือ คิดเป็นวรรคเป็นเวร แต่พอมามีสติรู้ จะสังเกตว่าความคิดมันค่อย ๆ จางหายไป มันค่อย ๆ เฟดไป แต่ตอนหลังพอสติไวขึ้น ความคิดมันก็จะจางหายไปเร็ว มันจะไม่ใช่หายปุ๊บปั๊บ ถ้าหายปุ๊บปั๊บเหมือนกับตัดฉับนี่แสดงว่าไปเพ่งมันแล้ว ไปกดไปห้ามไปตัดความคิดแล้ว ซึ่งไม่ใช่วิธีที่ถูก แค่เห็นเฉย ๆ ไม่เข้าไปเป็น หรือตามความคิด แต่ขณะเดียวกันก็ไม่ต้าน ไม่ผลักไส ไม่กดข่ม การเห็นแบบนี้เป็นทางสายกลางก็คือว่า ไม่ตาม ไม่เพลินในความคิดและอารมณ์
แม้ความคิดนั้นจะเป็นลบ อารมณ์มันจะเป็นลบ บางทีก็เพลิน อย่างที่เล่าเมื่อวานนี้ คนเราพอเศร้า มันก็จะจมอยู่ในความเศร้า มันจะยึด มันจะหวงแหนความเศร้า เวลาโกรธมันก็จะหวงแหนความโกรธ มันจะจมดิ่ง ไม่ยอมปล่อย ไม่ยอมว่าง ไม่ยอมออกมา เหมือนกับว่ามันมีรสชาติ อันนี้ก็เรียกว่าเป็นความเพลิน เราไม่ได้เพลินในเฉพาะสิ่งที่ให้ความสุขกับเรา เช่น เพลงที่เพราะ อาหารที่อร่อย ความทรงจำที่สวยงามที่หอมหวาน แม้แต่ความทรงจำที่เจ็บปวด ประสบการณ์ที่เลวร้าย พอเราพลัดเข้าไปในขบวนความคิดและอารมณ์นั้นมันก็เพลินเหมือนกัน อันนี้เรียกว่าตาม พอมาปฏิบัติรู้ว่าตามไม่ดีทำให้ทุกข์ มันจะเริ่มสวิงไปอีกทางเรียกว่าสุดโต่งอีกทาง ก็คือต้าน คอยเบรก คอยห้าม คอยตัด คอยกด คอยข่ม อย่างนี้ก็ไม่ถูกเพราะว่า หนึ่ง ทำแล้วมันก็ไม่ได้ผล ความคิดนี้ยิ่งห้ามก็เหมือนยิ่งยุ หรือจิตนี้ยิ่งห้ามไม่ให้คิดมันก็ยิ่งคิด ห้ามมันไม่ให้โกรธมันก็ยิ่งโกรธ สังเกตไหมเวลาเรานอนแล้วนอนไม่หลับเพราะความคิดฟุ้งซ่าน พยายามห้ามความคิดไม่ให้คิดเพื่อที่เราจะได้หลับ ปรากฏว่ายิ่งตาสว่างเข้าไปใหญ่ ยิ่งคิดใหญ่เลย ต้านไม่ได้ไปห้ามมันไม่ได้ คือไม่ได้ผลแถมแย่กว่าเดิมหนักเข้ากว่าเดิม
มันทำให้เราเครียดมันทำให้เรามีอาการ เช่น บางคนก็แน่นหน้าอก บางคนก็ปวดหัว จะเป็นกันเยอะโดยที่ไม่สังเกตว่าที่เป็นเช่นนั้นเพราะว่าลืมหายใจ คนทีไปเพ่งความคิด พยายามตัดความคิดเบรกความคิดนี้ เขาไม่ค่อยรู้ตัวว่าตอนนั้นเขาจะกลั้นลมหายใจ พอกลั้นลมหายใจบ่อย ๆ มันก็เครียด ถ้าเป็นหนัก ๆ จะเอาให้ได้จะสู้มันให้ได้ กูจะไม่ยอมแพ้มึงความฟุ้งซ่านอย่างนี้ ก็เสร็จเลย จะยิ่งเครียดหนัก มันเป็นปฏิกิริยาเดียวกับเวลาเราจะการเพ่ง เพ่งเข็มหรือว่าเวลาเราสนเข็ม เราต้องใช้การเพ่ง สังเกตไหมเวลาเราสนเข็มนี้เราจะกลั้นลมหายใจ บางคนไม่ค่อยสังเกต แต่ว่าเราก็มีปฏิกิริยาเดียวกัน เวลาเราไปเพ่งที่เท้าที่มือ หรือโดยเฉพาะการพยายามไปตัด พยายามไปห้ามความคิดนี้ เพราะฉะนั้นให้เราวาง พยายามที่จะไม่ไปทำอย่างนั้น
หลวงพ่อคำเขียนท่านบอกให้รู้ซื่อ ๆ ก็คือเห็นเฉย ๆ เห็นเฉย ๆ ไม่ต้องไปทำอะไรกับมัน คิดดีก็ช่าง คิดไม่ดีก็ช่าง อย่าไป ๆ รู้สึกลบกับอารมณ์และความคิดที่มันเป็นลบคือเป็นอกุศล เห็นมันเฉย ๆ เห็นมันเหมือนกับเราเห็นกุฏิ เห็นต้นไม้ที่ไม่มีอะไรเกี่ยวข้องกับเรา เหมือนกับว่ามันเป็นอะไรอีกอย่างหนึ่งที่มันอยู่นอกตัวเรา ที่ไม่ใช่เรา ซึ่งจริง ๆ มันก็ไม่ใช่เราจริง ๆ ด้วย แต่เพราะไม่มีทีท่าแบบนั้นแหละจึงเข้าไปยึดเอามาเป็นเรามาเป็นของเรา เราเป็นผู้โกรธ เราเป็นผู้เกลียด ความโกรธเป็นเรา ความโกรธเป็นของเรา อันนี้เราเรียกว่าเกิดความยึดติดถือมั่นว่าเป็นตัวกูของกู นี้เราเข้าไปเป็นแล้ว
ดังนั้นถ้าใจเราเรียนรู้ที่จะดูมันเฉย ๆ หรือเห็นมันเฉย ๆ ไม่นานอารมณ์เหล่านี้มันก็จะหายไป เมื่อมันถูกเห็นมันจะคลายพิษสงลง การเห็นนี้เป็นเสมือนการถอดเขี้ยวเล็บของมัน ไม่ว่าสิ่งนั้นจะเป็นความโกรธ ความเกลียด ความเศร้า ความพยาบาท ราคะ หรือโลภะ มันจะล่าถอยไป หรือเปรียบเหมือนกับว่าไฟ กองไฟนี้ถ้าเราไม่ไปเติมเชื้อเติมไฟเติมฟืนให้มัน มันก็จะค่อย ๆ มอดดับไป แต่ที่ไฟมันไหม้อยู่เรื่อย ๆ ก็เพราะว่าเราคิดถึงมันอยู่บ่อย ๆ เราเลี้ยงมันเอาไว้ เวลาเราคิดถึงเรื่องที่เจ็บปวดทำให้โกรธแค้นนี่ คิดถึงมันบ่อย ๆ ก็คือเรากำลังเลี้ยงไฟเอาไว้ เวลาเราคิดถึงเรื่องที่เศร้าโศกชวนให้เศร้าโศกเสียใจ เราก็เลี้ยงมันเอาไว้ แล้วก็ไม่ได้เลี้ยงเปล่า ๆ โดดเข้าไปอยู่กลางกองไฟ
เข้าไปเป็นก็คืออย่างนี้ คือเข้าไปอยู่ในอารมณ์ เข้าไปอยู่กลางกองไฟ แต่ถ้าเห็นก็เหมือนกับเราออกมาดูมัน ไฟยังไหม้อยู่แต่ถ้าเราออกมาดูมันเราจะรู้สึกว่าร้อนน้อยลง ความทุกข์จะน้อยลง ไฟยังไหม้อยู่แต่ว่าไม่ค่อยร้อนเท่าไหร่ ยิ่งอยู่ห่างมันเท่าไหร่ ยิ่งมาเห็นหรือมาดูมันไกล ๆ ก็ยิ่งไม่ทุกข์ไม่ร้อน ไฟมันยังไหม้อยู่แต่ว่าพอไม่ไปเติมเชื้อเติมฟืนให้มัน มันก็ค่อย ๆ ดับไป การเห็นมันทำหน้าที่แบบนี้แหละ อันนี้รวมถึงความปวดความเมื่อย หรือความคันด้วย ปวดเมื่อยเพราะนั่งนาน คันเพราะยุงกัด ถ้าเราไม่มีสติ ไม่เห็น มันก็เข้าไปเป็นผู้ปวดผู้เมื่อยผู้คัน เราก็ทุกข์ ทุกข์ทั้งกายทุกข์ทั้งใจ
แต่ถ้าเราออกมาเห็น ความปวดยังมีอยู่แต่ว่าใจไม่ปวดแล้ว มันมีแต่กายที่ปวดกายที่เมื่อยหรือว่ากายที่คัน มันจะให้ความรู้สึกต่างกันมากเลยระหว่างเห็นความปวดกับเป็นผู้ปวด แต่ส่วนใหญ่นี้ถึงแม้จะไม่ชอบความปวด แล้วยังยิ่งพยายามผลักไสความปวด มันก็ยิ่งจมลึกดิ่งเข้าไปในความปวดมากขึ้น เหมือนกับพอถูกหนามถูกบุ้งแล้วมันคัน หรือว่าถูกแมลงบางชนิดกัดแล้วมันคัน เราก็เกา ๆ เพื่อที่จะได้หายคันใช่หรือเปล่า แต่กลับคันหนักขึ้น โดยเฉพาะถ้ามันมีอาการแพ้ ยิ่งเกาเท่าไหร่ยิ่งคันมากเท่านั้น ก็เหมือนกับการที่จะพยายามผลักไสความปวด ยิ่งผลักมันเท่าไหร่ ยิ่งจมเข้าไปในความปวด ยิ่งทุกข์หนักขึ้น
ดังนั้นรู้ซื่อ ๆ รู้อยู่เฉย ๆ ดูเฉย ๆ นี้จึงสำคัญมาก แต่ใหม่ ๆ จะทำได้ไม่ถนัดก็มาดูกายก่อน มารู้กายก่อน อย่าเพิ่งไปสนใจความคิดและอารมณ์ บางคนคิดจะไปสู้กับมัน อยากจะเอาชนะมัน คิดแบบนี้ก็ผิดตั้งแต่แรกแล้ว เพราะวางใจไม่ถูก ไม่ต้องไปสนใจมัน ที่คิดอยากจะไปเอาชนะมัน มันมีความอยากอยู่ด้วยลึก ๆ อยากจะให้ใจสงบ ความคิดนี้มันอาจจะดีเพราะมันพาเรามาที่นี่ แต่พอเราลงมือปฏิบัติแล้วนี่มันจะกลายเป็นตัวร้ายเลย เพราะมันจะทำให้เราปฏิบัติด้วยความทุกข์ เป็นอุปสรรคของการปฏิบัติทำให้ได้ผลเนิ่นช้ามากขึ้น ความอยากสงบมันพาเรามาที่นี่ อันนี้เป็นข้อดี แต่พอเราเริ่มลงมือปฏิบัติต้องวางความอยากลง เพราะถ้าเรามีความอยากเต็มหัวใจ เราจะพยายามบังคับควบคุมจิตให้มันสงบ แล้วเราจะทนไม่ได้เมื่อมันไม่สงบเมื่อมันฟุ้ง และเราก็จะพยายามไปกดข่มมัน จะพยายามไปเพ่งบังคับจิตไม่ให้คิด ด้วยการไปเพ่งที่เท้าที่มือบางทีก็เพ่งที่ลม จะทำให้เครียด เมื่อไม่สงบหรือใจยังฟุ้งอยู่ก็จะผิดหวัง ความผิดหวังจะมากเมื่อเรามีความอยากสงบมาก แล้วเมื่อผิดหวังมาก ๆ แล้วไม่สงบสักที สุดท้ายเราก็จะท้อ แล้วทำได้ไม่นานเราก็จะเลิก ดังนั้นให้วางความอยากสงบลงเสีย
อีกอย่างหนึ่งความอยากสงบนี่มันทำให้ใจเราจดจ่ออยู่กับผลที่ยังไม่เกิดซึ่งนั่นคืออนาคต การเจริญสตินี้คือการให้เรากลับมาอยู่ปัจจุบัน เห็นหรือรู้สิ่งที่มันเป็นปัจจุบัน ไม่ใช่อนาคต กลับมาอยู่ปัจจุบันนี้เป็นหลักของการเจริญสติเลย มารู้กายเมื่อเคลื่อนไหว ปัจจุบันนี้กายกำลังเคลื่อนไหวใช่ไหม ก็รู้กายไป ไม่ว่าการเคลื่อนไหวจะมาในรูปของการสร้างจังหวะ การเดินจงกรม หรือว่าการล้างหน้า แปรงฟัน กวาดพื้น ซักผ้า ถ้ามันเป็นปัจจุบันเมื่อไหร่ก็ให้ใจอยู่ตรงนั้นแหละ แล้วก็จะรู้กาย ความรู้สึกตัวก็จะเกิดขึ้น เมื่อมันเผลอคิดไปก็รู้ทัน เห็นความคิดเห็นอารมณ์ อันนี้คือเห็นด้วยสติ “ผู้ใดเห็นธรรมที่เกิดขึ้นเฉพาะหน้าในที่นั้น ๆ อย่างแจ่มแจ้ง ไม่ง่อนแง่นคลอนแคลน เขาควรพอกพูนอาการเช่นนั้นไว้” อันนี้คือบทที่เราได้สาธยายกันไปเมื่อวาน เห็นธรรมที่เกิดขึ้นเฉพาะหน้าในที่นั้น ๆ อย่างแจ่มแจ้ง ธรรมในที่นี้คือทุกอย่าง ๆ ที่เกิดกับกายและใจ ไม่ใช่ว่าจะต้องเป็นคำสอน อะไรที่มันเกิดขึ้นเฉพาะหน้าก็เห็นมัน ถ้าเห็นด้วยสติมันจะวาง และสิ่งที่เกิดขึ้นตามมาคือใจมันก็จะสงบ โปร่ง โล่งเบา
พอมันถูกเห็นเมื่อไหร่หรือพอเราเห็นเมื่อไหร่ ใจมันก็จะเลิกยึดเลิกถือ เพราะที่มันยึดที่มันถือที่มันปรุงเพราะมันเผลอไป มันไม่รู้ตัว ดังนั้นต่อไปนี้พอเห็นบ่อย ๆ มันจะเห็นลักษณะเห็นธรรมชาติเห็นความจริงของกายและใจ เห็นว่ามันไม่เที่ยง มันเป็นทุกข์ มันไม่ใช่ตัวไม่ใช่ตน ตรงนี้แหละที่จะเริ่มเห็นสัจธรรมแล้ว แล้วปัญญาก็จะเกิด ก็จะเห็นว่า สังขารทั้งปวงไม่เที่ยง เห็นว่าสังขารทั้งปวงมันเป็นทุกข์ เห็นว่าสังขารทั้งปวงเป็นอนัตตา หรือก่อนหน้านั้นก็จะเห็นว่า มันไม่มีเรา มันมีแต่รูปกับนาม ที่ว่ามีเรา ๆ นี้ มันหลงมันลวง มองไปจริง ๆ เห็นของจริง ก็คือว่า คำว่าเรา ตัวกู มันไม่ใช่ของจริง มันเป็นสิ่งที่ปรุงขึ้นมาในใจ ของจริงมันก็มีแค่สอง คือกายกับใจ รูปกับนาม ตรงนี้แหละที่จะเห็นความจริงแล้ว จากการมาดูมาเห็นของจริง สิ่งที่ตามมาที่สุดคือเห็นความจริง แล้วความจริงก็ช่วยทำให้ใจนี้ไกลจากความทุกข์หรือพ้นความทุกข์ได้
เพราะฉะนั้นให้เราหมั่นเห็นหมั่นดู กลับมารู้อย่างที่หลวงพ่อคำเขียนท่านพูด ซึ่งอาตมาได้กล่าวแล้วเมื่อวานนี้ ความเก่งก็คือเก่งเมื่อเรากลับมารู้ ไม่ใช่เก่งเพราะเรานั่งนาน เพราะเราทำนาน ไม่ใช่เก่งเพราะใจไม่คิดเลย อันนั้นไม่ใช่ เก่งเพราะว่าเรากลับมารู้บ่อย ๆ กลับมารู้ไว ๆ ที่กลับมารู้ก็เพราะว่ามันเห็น มันเห็นว่าเผลอไปหลงไปมันก็กลับมา สติเป็นตัวช่วยให้เห็น เห็นแล้วสติก็จะพาจิตกลับมาอยู่กับเนื้อกับตัว ก็เกิดความรู้สึกตัว เรียกว่ากลับมารู้ มันหลุดจากความหลง และรู้บ่อย ๆ มันจะไม่ใช่แค่รู้สึกตัว มันจะรู้ธรรมด้วย มันจะเห็นธรรมด้วย ซึ่งอันนี้แหละคือจุดหมายสูงสุดของธรรมะในพุทธศาสนา เพราะมันช่วยให้หลุดพ้นได้ ทำให้เป็นอิสระจากความทุกข์ได้ เพราะไม่มีความยึดติดถือมั่นอีกต่อไป ความรู้ในสัจธรรมมันทำให้จิตเป็นอิสระ