แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
มีผู้ชายคนหนึ่งเป็นคนสนใจธรรมะพอสมควร แต่ไม่ได้ปฏิบัติธรรมอะไรจริงจัง แค่อ่านหนังสือธรรมะแล้วก็สนใจเรื่องราวของครูบาอาจารย์สายวัดป่า มีคราวหนึ่งได้ไปทางภาคอีสาน ไปกับเพื่อนๆเป็นคณะใหญ่ แล้วก็ถือโอกาสได้ไปกราบครูบาอาจารย์ท่านหนึ่งซึ่งเป็นลูกศิษย์หลวงปู่มั่น แล้วเขาก็เชิดว่าท่านเป็นพระอรหันต์ แกมีความตื่นเต้นที่ได้ไปฟังธรรมจากท่าน แล้วที่พิเศษคือได้มีโอกาสไปกราบท่านถึงตัว เพื่อนๆที่มาด้วยกันหรือแม้แต่คนอื่นๆที่มาฟังธรรมจากท่านก็ไม่มีโอกาสได้ไปกราบถึงตัว และท่านก็สนทนาด้วย ไม่ได้สนทนากับใครเลยสนทนากับผู้ชายคนนี้คนเดียว แกปลาบปลื้มมาก มีความดีใจถึงกับพูดว่าชาตินี้ไม่ได้หวังอะไรอีกแล้ว ได้มาสัมผัส ได้กราบ ได้สนทนากับพระอริยเจ้าถือว่าเป็นที่สุดของชีวิตแล้ว ไม่ปรารถนาอะไรอีกแล้ว
หลังจากนั้นผ่านไป 10 ปี หรือ 20 ปี ธุรกิจที่ตนเองได้ทำ จริงๆแล้วเขาเป็นข้าราชการแต่ว่ามีงานเสริมคือการทำธุรกิจ ปรากฏว่ามีปัญหาถึงขั้นเป็นหนี้เป็นสินมากมาย มีความทุกข์มากกลุ้มอกกลุ้มใจมาก หาทางออกไม่ได้เจอจนกระทั่งคิดถึงการฆ่าตัวตาย แต่ว่านึกถึงลูก ลูกยังเรียนหนังสืออยู่ ความคิดถึงลูกทำให้ตัดสินใจไม่ฆ่าตัวตาย แล้วก็กลับมายืนหยัดสู้กับอุปสรรคจนกระทั่งค่อยๆผ่านพ้นปัญหาไปได้ด้วยดี เรื่องนี้เป็นเรื่องที่แกเล่าให้ฟัง ฟังดูแล้วก็ได้มีข้อสังเกตอยู่ 2 อย่าง คือตอนที่แกได้ไปกราบหลวงปู่ที่เชื่อว่าเป็นพระอริยเจ้า แล้วมีความปลาบปลื้มดีใจจนถึงกับนึกในใจว่า ชาตินี้ไม่หวังอะไรอีกแล้ว เอาเข้าจริงๆก็ไม่ใช่อย่างนั้น
อย่างน้อยๆตอนที่แกมาทำธุรกิจ แกต้องมีความคาดหวังว่าต้องเจริญรุ่งเรือง ไม่เช่นนั้นแกไม่ถึงกับอยากจะฆ่าตัวตายเมื่อธุรกิจไม่เป็นไปอย่างที่หวัง ถ้าคนไม่มีความคาดหวังว่าธุรกิจฉันต้องเจริญก้าวหน้า ถึงแม้ล้มละลายไปก็คงจะไม่ได้เป็นทุกข์ขนาดหนักถึงขั้นจะฆ่าตัวตาย แสดงว่ามีความผิดหวังมากและที่ผิดหวังมากก็เพราะไม่สมหวัง แสดงว่ามีความหวังไว้สูงทีเดียว ที่บอกว่าชีวิตนี้ไม่มีความปรารถนาอะไรอีกแล้ว จริงๆแล้วเป็นแค่ความรู้สึกชั่วครู่ชั่วยาม และคนเราเวลาเจออะไรที่ประทับใจถูกใจทำให้เกิดความปลาบปลื้มใจ แล้วไม่ได้คิดว่าคือที่สุดแล้ว ชีวิตนี้ไม่ต้องการอะไรอีกแล้ว
ก็คงไม่ต่างจากคนที่ถูกลอตเตอรี่รางวัลที่ 1 ถูกหลายใบด้วยได้เงินมาสามสิบล้าน หลายคนก็คงคิดว่าชาตินี้ฉันไม่ต้องปรารถนาอะไรอีกแล้ว แต่เราก็รู้ว่าจริงๆไม่ใช่หรอก เพราะว่าความสุขความปลาบปลื้มที่ถูกลอตเตอรี่ไม่เคยยั่งยืนไม่ยืนนาน เคยมีการทำการสอบถามคนที่ถูกลอตเตอรี่ เรียกว่าสลากกินแบ่งในอเมริกายุโรป สอบถามเป็นพันคนเลย แล้วก็ได้ข้อสรุปว่า 90% หรือว่าเกือบจะร้อยทั้งร้อยความดีใจหรือความสุขที่เกิดจากการถูกลอตเตอรี่อยู่ได้ไม่เกิน 6 เดือน หลังจากผ่านไปแล้ว 6 เดือน ความสุขหรือความดีใจก็จะกลับคืนมาสู่สภาวะเดิมก่อนที่จะถูกลอตเตอรี่ ทั้งที่หลายๆคนก็คาดหวังว่าชาตินี้ขอให้ถูกสักครั้ง ถ้าถูกแล้วฉันจะไม่ต้องการอะไรอีกแล้ว จริงๆแล้วไม่เป็นอย่างนั้นเพราะว่าพอ 6 เดือนผ่านไปหลังจากที่ถูกลอตเตอรี่แล้ว จิตใจกลับมาสู่สภาวะเดิมก่อนถูกลอตเตอรี่ แล้วก็ต้องย่อมมีความหวังอย่างอื่นตามมาอีก มีความหวังอย่างโน้นอย่างนี้ตามมา ไม่เคยสิ้นสุดความปรารถนาหรือความหวัง แม้ว่าจะประสบกับความสำเร็จขั้นสุดยอดในชีวิต
คนที่ได้รับเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดี อาตมาเชื่อว่าหลายคนก็คิดว่าสูงสุดของชีวิตแล้ว พอแล้ว ชีวิตนี้ไม่ต้องการอะไรอีกแล้ว เอาเข้าจริงๆก็ไม่ใช่หรอก พอหมดจากตำแหน่งหรือระหว่างที่อยู่ในตำแหน่งก็ยังอยากได้โน้นได้นี่ เพราะความอยากของคนเราโดยเฉพาะความอยากที่มาจากตัณหาไม่เคยพอสักที หรือแม้แต่ความสุขที่ได้จากการที่ได้กราบพระอริยเจ้า แบบนี้ประณีตกว่าความสุขที่เกิดจากการที่ได้โชคได้ลาภ แต่ไม่เคยที่จะยั่งยืน การที่เขาพูดว่าชาตินี้ไม่ต้องการอะไรอีกแล้ว ก็เป็นแค่พูดจากอารมณ์ความรู้สึกชั่วครู่ชั่วยาม และอารมณ์นั้นหมดไปก็อยากได้อย่างอื่นอีก เช่น ทำธุรกิจ ขนาดทำราชการแล้วก็ยังเปิดกิจการทำธุรกิจก็ต้องมีความคาดหวัง เพราะถ้าไม่คาดหวังก็คงไม่ถึงกับผิดหวังจนกระทั่งอยากจะฆ่าตัวตาย
ประเด็นที่สอง คือตอนที่เขามีความทุกข์ กลุ้มอกกลุ้มใจมาก การที่เขาได้ไปกราบพระอริยเจ้า ประสบการณ์นั้นแม้เป็นประสบการณ์ที่มีค่าแต่ไม่ได้ช่วยเขาเลย ไม่ช่วยทำให้เขารอดพ้นจากความทุกข์เลย แล้วรู้สึกเขาจะไม่รู้สึกด้วยซ้ำที่เขาไม่ได้ฆ่าตัวตายเพราะไม่ใช่เขาไปนึกถึงพระอริยเจ้าองค์นั้น แต่เพราะเขานึกถึงลูกต่างหาก นึกถึงลูกทำให้ไม่ฆ่าตัวตาย เรื่องนี้ก็น่าคิดว่า จริงๆแล้วประสบการณ์อย่างนั้นมีค่าจริงหรือไม่ ถ้ามีค่าจริงๆต้องช่วยแก้ชีวิตเขาได้ ช่วยแก้ความทุกข์ของเขาได้ ช่วยทำให้เขาได้สติไม่ฆ่าตัวตาย แต่ว่าตอนนั้นเขาไม่ได้นึกถึงหลวงปู่องค์นั้นเลย แล้วนึกถึงสิ่งที่ใกล้ตัวมากกว่าและสามัญมากกว่าก็คือลูก ซึ่งก็ยังดีเพราะว่าทำให้เขาไม่คิดสั้น แต่ก็ให้ชวนคิดต่อไปว่า ทำไมประสบการณ์ที่เขารู้สึกภาคภูมิใจมีความปีติปราโมทย์มากถึงไม่ช่วยเขาเลยในยามที่เขาทุกข์สุดขีด อย่างนี้คงเพราะว่าประสบการณ์อย่างนั้นแม้จะหายากแต่ว่าไม่ได้เปลี่ยนจิตเปลี่ยนใจเขา เมื่อจิตใจเขายังเหมือนเดิมไม่ได้มีความเปลี่ยนแปลงอะไร ยังเหมือนกับคนทั่วไป ปุถุชนที่ยังยึดติดอยู่ในโลกธรรม 8 ได้ลาภก็ดีใจ เสื่อมลาภก็เสียใจ ได้ยศก็ดีใจ เสื่อมยศก็เสียใจ ถ้าหากว่าจิตใจไม่เปลี่ยนก็ต้องอาจจะลงเอยอย่างเรื่องที่เล่า ไม่วันใดก็วันหนึ่ง
ฉะนั้นการที่เราจะมีความปลาบปลื้มกับเหตุการณ์เหล่านี้ก็เป็นสิ่งที่ดี แต่ให้ระลึกว่าไม่ใช่เป็นสรณะอันเกษม เป็นความดีใจชั่วครู่ชั่วยาม หลายคนไปหาที่ ไปแสวงหา จาริกไปตามสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ที่สำคัญทางศาสนา ไปกราบครูบาอาจารย์ที่เขาลือว่าเป็นพระอรหันต์ หรือไปถึงประเทศอินเดีย ไปกราบสักการบูชา สังเวชนียสถาน ก็เป็นสิ่งที่ดี แต่ถ้าไปแล้วไม่เปลี่ยนจิตเปลี่ยนใจตัวเอง ถึงเวลามีความทุกข์ เช่น กิจการล้มละลาย หรือป่วยเป็นมะเร็ง หรือลูกมีอันเป็นไป ก็ตกอยู่ในความทุกข์เหมือนเดิม หมายความว่าประสบการณ์เหล่านั้น แม้จะดีก็ตามแต่ไม่ได้มีประโยชน์กับเราเท่าไรเลย ถ้ามีประโยชน์ก็สามารถที่จะช่วยเราแก้ทุกข์ได้ หรือช่วยทำให้เราระลึกนึกถึงและทำให้เราได้สติขึ้นมา แต่คนส่วนใหญ่ไม่ได้ประโยชน์ในแง่นั้นเท่าไร พอกลับมาแล้วยังทุกข์เหมือนเดิม แปลว่าเพียงเท่านี้ยังไม่พอ เพียงเท่านี้ยังไม่พอต้องทำมากกว่านั้น
จะไปกราบพระอริยเจ้าหรืออย่างไรก็ตาม จะไปทำบุญ 9 วัด ไปกราบพระอรหันต์ 99 องค์ ตามที่ตัวเองเข้าใจ แต่ถ้าเกิดว่าจิตใจไม่เปลี่ยน ยังไม่มีปัญญาที่จะเข้าใจความจริงหรือสัจธรรมของชีวิต ยังไม่รู้จักที่จะปลดเปลื้องความทุกข์ออกไปจากใจได้ ยังมีความยึดติดถือมั่น และถึงเวลาทุกข์หรือถึงเวลาประสบกับสิ่งที่ไม่เป็นไปอย่างที่คาดหวัง ประสบกับสิ่งที่ไม่รักไม่พอใจ พลัดพรากจากสิ่งที่รักที่พอใจ อย่างเช่นสวดทุกข์เช้า ก็ต้องเกิดความโศก ความร่ำไรรำพัน ความไม่สบายกาย ความไม่สบายใจ ความคับแค้นใจทั้งนั้น และถึงฆ่าตัวตาย เพราะฉะนั้นเราอย่าไปพอใจเพียงเท่านั้น อย่าไปพอใจกับประสบการณ์เพียงเท่านั้น เพราะว่าเอาเข้าจริงๆยังไม่สามารถจะช่วยเราดึงเราจากความทุกข์ได้ จนกว่าเราจะปฏิบัติธรรมเพื่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงในจิตใจของเรา ต้องทำด้วยตัวเอง
อย่างที่บอกไว้เมื่อวานนี้ ธรรมะเป็นเรื่องของการทำ ไม่ใช่เป็นเรื่องของการไปที่โน้นที่นี่ ไปกราบครูบาอาจารย์ พระอริยเจ้า หรือไปกราบสักการบูชาพระบรมสารีริกธาตุ ถ้าหากว่าไปกราบแล้วถึงเวลาทุกข์ ถึงเวลาป่วย ถึงเวลาสูญเสีย ถึงเวลาพัดพรากจากของรัก แล้วระลึกได้ ระลึกถึงพระบรมสารีริกธาตุ ระลึกถึงเจดีย์พุทธคยา ระลึกถึงพระอรหันต์ที่ไปกราบแล้วทำให้เกิดได้สติ ทำให้เกิดกำลังใจมีความเพียร รู้จักเปลี่ยนทุกข์ให้กลายเป็นธรรมะ อย่างนี้ถึงจะมีประโยชน์ แต่ส่วนใหญ่ไม่ได้เกิดประโยชน์ในลักษณะนั้นเลย ไม่ได้บอกว่าไม่ดี ดีแต่ยังไม่พอ ต้องเข้ามาสู่การปฏิบัติให้เกิดความเปลี่ยนแปลงที่จิตที่ใจตัวเอง และอย่างที่บอกไว้คือไม่ใช่แค่ทำความดี ทำบุญทำกุศลหรือทำสมาธิ แต่ว่าทำให้ใจเห็นสัจธรรม หรือทำให้จิตมีความตั้งมั่น มีอะไรมากระทบก็ไม่หวั่นไหว
มีพระสูตรหนึ่งที่พระพุทธเจ้าได้ตรัสกับพระสาวกก็น่าสนใจ ท่านยกตัวอย่างว่า มีชายคนหนึ่งเอาจอบมาขุดแผ่นดินแล้วเอาขยะถมลงไปใส่ลงไปในแผ่นดินนั้น แล้วบอกว่าเราจะทำให้เจ้าไม่ใช่แผ่นดิน เอาขยะเอาอุจจาระปัสสาวะใส่ลงไป เอาซากพืชซากสัตว์ยัดลงไปในแผ่นดิน แล้วก็บอกว่าเจ้าแผ่นดิน เราจะทำให้เจ้าไม่ใช่แผ่นดิน แล้วพระพุทธเจ้าก็ถามพระสาวกว่า “ชายผู้นั้นจะทำสำเร็จหรือไม่” พระสาวกตอบพร้อมกันว่า “ไม่สำเร็จ” แผ่นดินก็ยังต้องเป็นแผ่นดินอยู่นั่นเอง หลังจากนั้นพระพุทธเจ้าตรัสว่า “เมื่อใดก็ตามที่มีคนมาต่อว่าด่าทอเรา ก็ให้รักษาใจ ให้ตั้งจิตหรือทำใจว่า ใจเราจะไม่แปรผัน จะไม่มีจิตคิดร้าย จะมุ่งอนุเคราะห์เกื้อกูลคนเหล่านั้น” หมายถึงคนที่ต่อว่าด่าทอเรา จะมีจิตแผ่เมตตาไม่มีประมาณเหมือนแผ่นดิน สิ่งนี้พระพุทธเจ้าสอนให้ทำใจเหมือนแผ่นดินนั่นเอง แผ่นดิน ใครจะมาทำอย่างไรก็ยังเป็นแผ่นดินอยู่นั่นแหละ ไม่มีทางเป็นอื่นไปได้ แม้คนที่ประสงค์ร้ายต่อแผ่นดินจะพยายามทำอย่างไรก็ตาม ให้เรารักษาใจของเราเหมือนแผ่นดิน คือไม่หวั่นไหว ไม่แปรผัน ไม่มีจิตคิดร้าย มุ่งอนุเคราะห์เกื้อกูลคนเหล่านั้น
แล้วพระพุทธเจ้าก็ยกตัวอย่างอีกตัวอย่างหนึ่ง คืออากาศ มีชายผู้หนึ่งเอาสีมา สีเหลือง สีแดง สีครั่ง เพื่อที่จะวาดรูปในอากาศ เอาสีมาวาดให้เป็นรูปเป็นภาพในอากาศ เพื่อทำให้อากาศนี้แปรเปลี่ยนไป พระพุทธเจ้าถามว่า “ทำได้หรือไม่” พระสาวกก็ตอบว่า “ทำไม่ได้พระเจ้าค่ะ” เพราะว่าอากาศยังเป็นอากาศอยู่นั่นเอง ไม่มีรูปไม่มีสีใดที่จะทำให้อากาศแปดเปื้อนไปด้วยรูปได้หรือแปดเปื้อนไปด้วยสีได้ พระพุทธเจ้าตรัสอีกเหมือนกันว่า “ให้รักษาใจมั่นคง มีจิตไม่แปรผัน ไม่กล่าววาจาชั่วหยาบ มุ่งอนุเคราะห์เกื้อกูลคนเหล่านั้น แม้เขาจะพูดร้ายทำร้ายเราอย่างไรก็ตาม ให้มีจิตอนุเคราะห์เกื้อกูล มีจิตเมตตาไม่มีประมาณเหมือนกันอากาศ”
แล้วพระองค์ก็ตรัสยกอีกตัวอย่างหนึ่ง คือแม่น้ำคงคา มีชายผู้หนึ่งพยายามที่จะเอาขยะ และเอาอะไรต่ออะไรที่ไม่ใช่ขยะ เอาไฟเอาหญ้าแห้งมาสุม เพื่อที่จะเผาหรือทำให้แม่น้ำคงคาเดือด แกเอาไฟสุมให้แม่น้ำคงคาเดือด เพื่อจะได้ไม่เป็นแม่น้ำคงคาอีกต่อไป พระองค์ถามว่า “จะทำได้หรือไม่” พระสาวกก็ตอบว่าทำ “ทำไม่ได้พระเจ้าค่ะ” เพราะว่าน้ำกว้างใหญ่เหลือประมาณ หลังจากนั้นพระพุทธเจ้าก็ตรัสว่า “ฉันใดก็ฉันนั้น เมื่อมีใครต่อว่าด่าทอเรา ก็ให้รักษาจิตไม่ให้แปรผัน ไม่กล่าววาจาชั่วหยาบ มุ่งอนุเคราะห์เกื้อกูลคนเหล่านั้น ให้แผ่เมตตาจิตไม่มีประมาณเหมือนแม่น้ำ” สิ่งนี้คือจุดมุ่งหมายของชาวพุทธเรา คือไม่เพียงแต่การทำบุญการรักษาศีล แต่ยังต้องปฏิบัติจนถึงขั้นเกิดเปลี่ยนแปลงทางจิต ซึ่งการเปลี่ยนแปลงนั้นก็เกิดขึ้นจากการที่เห็นความจริง เห็นสัจธรรม
เห็นสัจธรรมในแง่ที่ว่า คำต่อว่าด่าทอพวกนี้เป็นโลกธรรม เป็นธรรมดาโลก แล้วขณะเดียวกันก็เห็นความจริงเกี่ยวกับตัวเองว่า จริงๆแล้ว ไม่มีตัวเรา ไม่มีตัวกู ที่จะยึดมั่นสำคัญหมายได้ ถ้าไม่มีตัวกูแล้ว ใครจะด่าอะไรไปก็โดนไม่ถูกตัว ที่เราเป็นทุกข์เวลาถูกต่อว่าด่าทอ เพราะยังมีตัวมีตน เขาพูดอะไรไปก็กระทบตัวกระทบตนหมด ต่อเมื่อไม่มีตัวไม่มีตน ใครพูดอะไรไปคำพูดนั้นแม้จะเผ็ดร้อนแค่ไหน ก็ไม่กระทบตัวไม่ถูกตัว ผลคือไม่มีความทุกข์ นี่เป็นเรื่องของการที่เห็นความจริง ทั้งความจริงที่อยู่รอบตัวซึ่งเป็นธรรมดาว่า มีลาภก็เสื่อมลาภ มียศก็เสื่อมยศ สรรเสริญนินทาเป็นของคู่กัน เห็นความจริงเกี่ยวกับตัวเองว่า ไม่มีตัวตนอะไรที่จะยึดมั่นถือมั่นได้
เมื่อมีการเปลี่ยนแปลงอย่างนี้ ถึงจะไม่มีความทุกข์เวลามีอะไรมากระทบ แต่ถ้าเกิดว่าเราเอาประสบการณ์จากการที่เราได้ไปกราบพระอรหันต์ ไปบูชาสักการะพระบรมสารีริกธาตุ ไปสังเวชนียสถาน แล้วทำให้เกิดแรงบันดาลใจ ทำให้เกิดความเพียรพยายามในการที่จะฝึกฝนพัฒนาจิตพัฒนาใจเป็นเรื่องดี แต่ถึงสุดท้ายคือการรักษาใจ เพราะว่าใจสำคัญที่สุด คนเราจะทุกข์หรือไม่อยู่ที่ใจ อย่างที่มีพุทธภาษิตว่า “ธรรมทั้งหลายมีใจเป็นใหญ่ มีใจประเสริฐสุด สำเร็จได้ด้วยใจ” ธรรมทั้งหลายก็รวมถึงความสุขและความทุกข์ ความสุขก็อยู่ที่ใจ ความทุกข์ก็อยู่ที่ใจไม่ใช่สิ่งอื่น ทุกข์กายแต่ว่าถ้าใจไม่ทุกข์ ทนไหว
อย่างที่เขาว่า คับที่อยู่ได้คับใจอยู่ยาก คับที่แต่ว่าใจไม่คับใจเป็นอิสระก็อยู่ได้ บางคนติดคุก อย่างคานธี ติดคุก แบบนี้เรียกว่าคับที่ แต่ว่าเขามีความสุขมากเพราะว่าใจเขาเป็นอิสระ คานธีเคยบอกกับสานุศิษย์ด้วยว่าเวลาเข้าคุกอย่าไปกลัว บอกว่าให้เดินเข้าคุกเหมือนเจ้าบ่าวเดินเข้าเรือนหอเจ้าสาว เจ้าบ่าวเวลาเดินเข้าเรือนหอเจ้าสาวมีความสุขมากเลย ยินดีเลย ก็ให้เข้าคุกแบบนั้น ทำอย่างนั้นได้เพราะว่าใจเป็นอิสระ ขังได้แต่ตัวแต่ใจเป็นอิสระ คือคับที่ก็จริง แต่ใจไม่คับ แต่ถ้าเกิดว่าอยู่ในปราสาทราชวังแต่ว่าคับใจ ทรมานมากกว่า เรื่องใจสำคัญ เกิดความทุกข์ทางกายแต่ใจเป็นปกติก็อยู่ได้ ไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้นกับกายก็ตามแต่ว่าถ้าใจเริ่มแย่แปรผัน สิ่งนี้แหละหนักเลย
ที่ประเทศอินเดียมีพระทิเบตท่านหนึ่ง เรียกว่าลี้ภัยมาหรือย้ายมา ท่านเคยอยู่ทิเบต สมัย 60 ปีที่แล้วท่านถูกทหารจีนจับทรมาน เราคงทราบว่าเมื่อ 60 ปีที่แล้ว จีนเข้าไปยึดครองทิเบต 60–70 ปีที่แล้ว ดาไล ลามะ ก็ต้องหนีมาอยู่ประเทศอินเดีย เพราะว่าจีนเขาต้องการยึดครองทิเบตแล้วก็เปลี่ยนทิเบตให้เป็นคอมมิวนิสต์เหมือนกับส่วนอื่นของประเทศ แล้วก็เห็นศาสนาเป็นสิ่งที่ต้องทำลาย เห็นพระต้องกำจัด ถ้าพระรูปไหนไม่ปฏิบัติตามบางรัฐบาลก็จับขังและทรมาน มีพระรูปหนึ่งท่านถูกขังและถูกทรมาน ท่านเป็นพระผู้ใหญ่คงจะระดับรินโปเช รินโปเชเป็นพระผู้ใหญ่ ตอนนั้นท่านก็อายุไม่มาก คงสัก 20, 30 ปี ท่านไม่ยอมปฏิบัติตามคำสั่งหรือนโยบายของพรรคคอมมิวนิสต์จีน เลยถูกจับเข้าคุกแล้วก็ทรมานถึง 20 ปี อยู่ในคุกนานถึง 20 ปี โดนนานาสารพัด ตอนหลังก็ออกจากคุก แล้วสุดท้ายท่านลี้ภัยมาอยู่ที่ธรรมศาลา ประเทศอินเดีย
มีคนไปถามท่านว่าตอนที่ท่านถูกขังและทรมานในคุก ท่านกลัวไหม ซึ่งจริงๆไม่น่าถามว่าท่านกลัวไหม ท่านพยักหน้าและท่านบอกว่าสิ่งที่ท่านกลัวที่สุดคือ กลัวว่าจะเกลียดคนที่ทรมานท่าน ท่านไม่ได้กลัวถูกทรมานแต่ท่านกลัวว่าจะเกลียดคนที่ทรมานท่าน เป็นคำตอบที่น่าทึ่งมาก ไม่ได้กลัวว่าจะถูกโบยตี ไม่ได้กลัวว่าจะถูกฟาด หรือว่าถูกบังคับให้อดอาหาร แต่กลัวว่าจะเกลียดคนที่ทรมานท่าน ทำไมท่านถึงกลัวมาก เพราะถ้าเกลียดแล้ว ประการแรกคือจะทำให้เกิดจิตพยาบาท แล้วทำให้อยากจะทำร้าย คนเราเมื่อเราเกลียดแล้ว ถ้าเกลียดมากๆ ก็อยากจะทำร้าย และถ้ามีโอกาสก็จะทำ ซึ่งสำหรับท่านถือว่าผิดศีล เพราะว่าท่านขนาดยุงก็ไม่ตบ มดก็ไม่บี้ แมลงก็ไม่ทำร้ายเขา แต่ถ้าเกิดว่าไปทำร้ายคนที่ทรมานท่าน สิ่งนี้มันบาปเลย และจะทำร้ายก็ด้วยเพราะความเกลียดความกลัว เพราะอย่างนั้นท่านถึงกลัว กลัวว่าถ้าเกลียดแล้วก็จะนำไปสู่การผิดศีลการทำบาป ท่านกลัวบาปมากกว่ากลัวที่จะถูกทรมาน แบบนี้เป็นชาวพุทธชั้นดีมากเลย จะถูกทำร้ายอย่างไรก็ไม่เป็นไร แต่ที่ฉันกลัวมากที่สุดคือการไปทำร้ายคนอื่น ตอบโต้เขากลับ กลัวทำบาป
อีกเหตุผลหนึ่ง สิ่งนี้ท่านไม่ได้อธิบายก็พอจะคาดเดาได้ คือท่านมีความกลัวหรือความโกรธเกิดขึ้นเมื่อไร ใจจะเป็นทุกข์มากเลย ทุกข์กายเพราะถูกทรมานยังพอทนไหว แต่ถ้าทุกข์ใจก็ตกนรก คนเราทุกข์กายก็ทนไหวทั้งนั้นถ้าใจปกติ แต่ที่แย่เพราะว่าใจก็แย่ไปด้วย คนที่เป็นมะเร็งมีทุกขเวทนามาก หลายคนเขาทนไหวเพราะว่าทุกข์แต่กายแต่ใจไม่ทุกข์ เขาเรียกว่า กายป่วยใจไม่ป่วย แต่ที่ว่ามันทรมานแล้วก็โอดครวญเพราะส่วนใหญ่เป็นเพราะว่าใจมันทุกข์ด้วยใจป่วยด้วย ป่วยกายไม่เท่าไหร่ ป่วยใจนี่หนักกว่า บางคนกายไม่ปวด แต่ใจมันทรมาน ทรมานเพราะมีความวิตกกังวล มีความกลัว มีความตระหนก ถึงแม้จะไม่มีทุกขเวทนาเลยแต่ว่าถ้ากลัว วิตก บางทีตายเพราะความตื่นตระหนกตกใจ
อย่างอาจารย์ประเวศ วะสี เคยเล่าให้ฟัง มีนักธุรกิจคนหนึ่งแกออกกำลังกายด้วยการเล่นเทนนิสเป็นประจำ วันหนึ่งไปตรวจสุขภาพ ตรวจเสร็จหมอบอกว่าคุณหัวใจรั่ว แกตกใจมากเลย ในความคิดของแกหัวใจรั่วคือหัวใจเป็นรู แล้วพอหัวใจเต้นก็ซูบฉีดโลหิตทำให้เลือดรั่วพุ่งกระฉูดออกมาจากหัวใจ อย่างนี้ก็ตายสิ แกใจเสียเลย ที่จริงหมอตั้งใจจะบอกว่าแกลิ้นหัวใจรั่วแต่หมอพูดไม่ครบ พอแกได้ยินแกก็ปรุงแต่งไป ปรากฏว่า 2 วันหลังจากนั้นแกต้องเข้าโรงพยาบาล และหลังจากนั้นไม่กี่วันแกก็เข้าห้อง ICU แล้วก็ไม่ออกมาอีกเลยคือ ตาย ที่จริงลิ้นหัวใจรั่วยังใช้ชีวิตตามปกติได้ ยังออกกำลังกายได้เล่นเทนนิสก็เล่นได้ จริงๆแกไม่ได้เป็นอะไรมาก แต่เพราะใจ ใจเกิดความวิตกกังวลอย่างหนัก กายไม่เป็นไรแต่ใจป่วยหนัก ตายเลย
ในทางตรงกันข้าม กายจะแย่ยังไงแต่ใจเป็นปกติจะทนไหว ด้วยเหตุนี้ลามะท่านนี้ถึงบอกว่าสิ่งที่ท่านกลัวมากที่สุดคือ กลัวว่าจะเกลียดคนทรมานท่าน เพราะว่าถ้ามีความเกลียดอยู่ในจิตใจ จะทนได้ยาก จะทรมานมากเลย เพราะฉะนั้นท่านพยายามรักษาใจไม่ให้เกลียด ไม่ให้โกรธทหารจีนที่ทรมานท่าน ซึ่งก็คิดว่าท่านก็คงทำสำเร็จ เพราะว่าท่านก็ไม่ได้มีความรู้สึกพยาบาทคนเหล่านั้นเลย เพราะฉะนั้นสำหรับคนที่มีปัญญา ถ้าเข้าใจความจริงเกี่ยวกับความทุกข์แล้ว สิ่งที่เขาเป็นห่วงมากกว่า ไม่ได้ห่วงว่าจะมีใครมาทำร้ายเขา ไม่ได้ห่วงว่าจะมีเหตุร้ายเกิดขึ้นกับเขา แต่ห่วงว่าใจเขาจะแปรผัน ใจเขาจะมีความโกรธความเกลียดมากกว่า หรือมีความตื่นตระหนกตกใจมากกว่า
เมื่อห่วงตรงนี้ก็จะย่อมเห็นความสำคัญของการที่จะมาฝึกจิตฝึกใจของตัวเอง และถ้าจะอธิษฐานหรือจะขอ ก็จะขอว่า ขออย่าให้มีจิตใจที่แปรผัน ขออย่าให้มารได้ช่อง อย่างที่เราสวดกรวดน้ำตอนเย็น ถ้าสวดเต็มที่จะมีตอนหนึ่งว่า “โอกาสอย่าพึงมีแก่หมู่มารสิ้นทั้งหลาย เป็นช่องประทุษร้าย ทำลายล้างความเพียรจม” แล้วก็ “ด้วยเดชบุญทั้งสิบป้อง อย่าเปิดโอกาสแก่มารเทอญ” คือเรื่องความเสื่อมลาภเสื่อมยศไม่สำคัญ แต่สิ่งสำคัญคือใจจะเปิดช่องให้มารเข้ามาหรือไม่ หรือเปิดช่องให้ความโกรธ ความเกลียดเข้ามาไหม สำหรับชาวพุทธหรือสำหรับผู้ที่มีปัญญา กลัวตรงนี้มากกว่า กลัวว่าใจจะเปิดช่องให้กิเลส เปิดช่องให้ความโกรธ ความเกลียดเข้ามา เพราะฉะนั้นก็ต้องหาทางรักษาใจไม่ให้มีจุดอ่อน หรือเปิดจุดอ่อนให้ความโกรธความเกลียดหรือมารเข้ามา และที่เรามาปฏิบัติก็เพื่อสิ่งนี้ เพื่อให้มีสิ่งรักษาใจ คือ สติ สัมปชัญญะ ซึ่งพระพุทธเจ้าถือเป็นธรรมที่มีอุปการะมาก