แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ในสมัยพุทธกาลมีเศรษฐีนีคนหนึ่งชื่อโสณา เป็นลูกของคหบดีที่ร่ำรวย เมื่อแต่งงานก็ได้อยู่กับคหบดีที่ร่ำรวยเหมือนกัน เรียกว่าเติบโตมากับกองเงินกองทอง จนกระทั่งเข้าสู่วัยชรา สามีตัดสินใจออกบวช ทิ้งทรัพย์สมบัติไว้มากมายให้กับนางโสณา หลังจากนั้นไม่นานทั้งลูกชายลูกสาวซึ่งมีถึงสิบคนบอกกับแม่ว่า แม่ก็ชราแล้ว ทรัพย์สมบัติทั้งหลายทั้งปวงจะเก็บไว้กับตัวทำไม ไม่น่าหวงควรจะแบ่งให้ลูกๆ เพราะลูกก็โตกันหมดแล้ว ถูกรบเร้าแบบนี้บ่อยๆ สุดท้ายนางโสณาก็แบ่งทรัพย์สินทั้งหมดให้กับลูกทั้งสิบคนเท่าๆกัน ลูกทั้งสิบคนมีครอบครัวของตัวเองทั้งลูกชายลูกสาว
นางโสณาคิดว่าเมื่อแบ่งทรัพย์สมบัติให้กับลูกแล้วก็ไม่มีสมบัติของตัวเองอยู่เลย จึงเลือกที่จะไปอยู่กับลูกชายคนโต อยู่ไปได้สักพักหนึ่งลูกสะใภ้บอกกับผัวว่า เราก็ได้สมบัติจากแม่เท่าๆกับคนอื่น ทำไมต้องมารับภาระเลี้ยงดูแม่ด้วย เมียพูดอย่างนี้กับผัวบ่อยๆ ผัวชักคล้อยตามแล้ววันหนึ่งก็บอกกับแม่ พูดอ้อมๆ แต่ความหมายคืออยากให้แม่ไปอยู่กับลูกคนอื่นบ้าง ช่วยแบ่งเบาภาระหน่อย แม่ก็ไม่ว่าอะไรก็ไปอยู่กับลูกคนรอง อยู่ได้ไม่นานก็เจอปัญหาเดียวกัน เมียของลูกคนรองก็บอกผัวว่าเราก็ได้ทรัพย์สมบัติเท่ากับคนอื่น แต่ทำไมเราต้องมารับภาระมากกว่าคนอื่น สุดท้ายผัวก็ไปบอกแม่ แม่ก็เลยต้องไปอยู่กับลูกคนที่สาม และก็เป็นอย่างนี้เรื่อยไป จนกระทั่งไปอยู่กับลูกคนที่สิบ แล้วก็เจอเหตุการณ์เดียวกัน สุดท้ายแม่ก็รู้สึกน้อยเนื้อต่ำใจ ก็เลยออกมาจากบ้านของลูกเลย แล้วก็รู้ว่าลูกพึ่งพาไม่ได้ก็เสียใจเพราะว่าทรัพย์สมบัติที่ลูกได้ไปเป็นของแม่ทั้งนั้น ตอนที่ให้ไปคิดว่าลูกจะเลี้ยงดูแม่
แบบนี้เป็นปัญหาที่เกิดกับคนสมัยนี้เหมือนกัน มีพ่อแม่หลายคนที่พอแก่ตัวแล้วก็แบ่งสมบัติให้ลูกจนหมดเลย เหลือให้กับตัวเองใช้นิดเดียว เสร็จแล้วก็เกิดปัญหาคือลูกๆอิดออดไม่อยากจะเลี้ยงดูพ่อแม่ รู้สึกจะเล่าไปแล้วว่าเมื่อสักไม่ถึงสิบปีก็มีเหตุการณ์แบบนี้ พ่อโกรธมากเลยอุตส่าห์ไว้ใจลูก รักลูกแบ่งสมบัติให้ลูกหมดรวมทั้งที่ดินและบ้านด้วย พอตัวเองป่วยลูกไม่สนใจ จะขอเงินลูกรักษาตัวลูกก็ไม่ให้ พ่อโกรธมากสุดท้ายยิงลูกตายแล้วก็ฆ่าตัวเองตายด้วย เรื่องแบบนี้ไม่ใช่เพิ่งเกิดขึ้น เกิดขึ้นมาตั้งแต่สมัยพุทธกาลแล้ว คราวนี้แล้วนางโสณาทำอย่างไร ไม่มีทรัพย์สินเหลือเลย บ้านก็ไม่มี สุดท้ายเลยต้องไปบากหน้าไปที่เชตะวัน แล้วคิดว่าบวชเป็นภิกษุณีดีกว่าเพราะอย่างน้อยก็ยังมีข้าวกิน แล้วก็มีที่พักอาศัย
เข้าใจว่าสมัยที่ตัวเองร่ำรวยก็คงจะเลี้ยงดูหรือบำรุงพระเถระพระเถรีอยู่บ้าง คณะสงฆ์ก็เลยรับนางโสณามาเป็นภิกษุณี แต่รับมาแล้วก็ไม่ใช่ว่าจะสบาย เพราะพระโสณาพรรษาน้อยก็ถูกพระเถรีที่มีพรรษามากกว่าใช้งาน ถึงแม้ว่าจะอายุน้อยกว่าแต่พรรษามากกว่าก็ถือว่าเป็นภันเต ใช้งานพระโสณาเรียกว่าทั้งวันมีแต่งานๆ บางทีก็จ้องจับผิด หาทางตำหนิอยู่เรื่อย แต่พระโสณาเป็นคนที่เจียมเนื้อเจียมตัว ไม่รู้ว่าจะน้อยเนื้อต่ำใจหรือไม่ว่าเคยร่ำรวยเคยสบายมาตั้งแต่เกิด ชีวิตมาพลิกผันเอาตอนแก่ พลิกผันไม่ใช่เพราะใครเลย เพราะลูก แต่ว่าก็ก้มหน้ารับสภาพที่เป็นอยู่ พระเถรีให้ทำอะไรก็ทำ ส่วนตัวถ้ามีเวลาว่างก็ปฏิบัติธรรมทำความเพียร เรียกว่ามีความอ่อนน้อมถ่อมตนและมีความวิริยะมาก มีวันหนึ่งพระเถรีทั้งหลายใช้ให้พระโสณาไปต้มน้ำร้อน อากาศคงจะหนาวพวกภันเตทั้งหลายอยากได้น้ำร้อนไปอาบ
ระหว่างที่รอน้ำร้อนเดือด พระโสณาไม่ปล่อยเวลาให้เปล่าประโยชน์ เดินจงกรมไปด้วยในครัว ระหว่างที่เดินก็เจริญกรรมฐานพิจารณากาย เรียกว่า กายคตาสติ ปรากฏว่าทำไปได้สักพักก็บรรลุธรรมเลย บรรลุธรรมไม่ใช่บรรลุธรรมขั้นต้น เป็นบรรลุธรรมขั้นสูงเลย คือเป็นพระอรหันต์ เรื่องนี้ชี้ให้เห็นว่า การบรรลุธรรมเกิดขึ้นได้ในทุกที่ทุกแห่ง แม้กระทั่งในครัวก็สามารถจะบรรลุธรรมได้ ระหว่างที่ทำงานก็สามารถจะบรรลุธรรมได้ ไม่ใช่ว่าจะต้องอยู่ในกุฏิอย่างเดียว แล้วที่น่าสนใจน่าคิดคือความทุกข์หรือเคราะห์กรรมที่เกิดกับนาง คือการที่ถูกลูกทั้งชายและหญิงปฏิเสธ ผลักไสกลายๆ ซึ่งสำหรับแม่คือเคราะห์คือความโชคร้ายที่ไม่น่าจะเกิดขึ้นเลย
แต่มองดีๆ เป็นข้อดีเหมือนกัน เพราะถ้าไม่มีลูกผลักไสนางก็จะคงไม่มีโอกาสได้บรรลุธรรมเป็นพระอรหันต์ ถ้าหากว่าลูกต้อนรับก็จะยังคงเป็นอุบาสิกาธรรมดาแล้วก็อาจจะตายเหมือนคนทั่วไป ชีวิตไม่ได้มีความหมายอะไรเท่าไหร่ รอวันตายเพราะว่าแก่ชรามากแล้ว แต่เพราะว่าโดนลูกผลักไสเลยกลายเป็นดี กลายเป็นทำให้ได้มีโอกาสเข้าวัดแล้วก็บรรลุธรรม สิ่งที่เรียกว่าเคราะห์กรรมถ้าเราดูให้ดีมีประโยชน์ หลายคนมาที่นี่เพราะว่าความทุกข์ผลักให้มา ถ้าสุขสบายไม่เจ็บไม่ป่วย หรือไม่ตกงาน ไม่อกหัก หรือไม่เครียดจัด หลายคนก็คงจะไม่มาวัด ครั้นมาวัดแล้วทำให้ได้เจอสิ่งที่ประเสริฐอย่างที่ตัวเองนึกไม่ถึง
อย่างท่านโกเอ็นก้าหลายคนก็คงจะรู้จัก เป็นผู้ที่มีชื่อมาก เป็นคนที่ทำให้ฝรั่งรู้จักคำว่าวิปัสสนา สมัยก่อนสามสิบปีก่อนพูดคำนี้ฝรั่งไม่รู้จัก คำว่าวิปัสสนา แต่เดี๋ยวนี้เขารู้จักกันแพร่หลาย เพราะว่าท่านไปตั้งสำนักวิปัสสนาขึ้นทั่วโลก 200 กว่าสาขาในหลายสิบประเทศ น่าสนใจเพราะว่าท่านพื้นเพเป็นคนฮินดู เป็นพม่าก็จริงแต่ว่าเชื้อแขก แล้วก็ประสบความสำเร็จด้านธุรกิจอายุแค่ 30 สิบต้นๆ ได้รับยกย่องได้รับเลือกตั้งให้เป็นคล้ายๆนายกสภาหอการค้า ประธานสภาหอการค้าของชาวอินเดียที่ไปทำธุรกิจในประเทศพม่า เพราะเป็นคนดี ซื่อสัตย์ แล้วก็ฉลาด กิจการประสบความสำเร็จ แต่มีปัญหาอย่างหนึ่งคือเป็นไมเกรนรักษาเท่าไรๆก็ไม่หาย เงินมีเท่าไหร่ก็ช่วยไม่ได้ ไปรักษาถึงยุโรปก็ไม่เกิดผลแถมลงอีก เพราะว่าเวลานั้นเขารักษาไมเกรนด้วยการให้ยา ยาเสพติดไม่รู้ว่าเป็นมอร์ฟีนหรือว่าฝิ่นอ่อนๆ ปวดทีหนึ่งก็กินไป ปวดทีหนึ่งก็กินไป กินไปจนกระทั่งติดฝิ่น สุดท้ายต้องถอนยาเสพติดนั้น ถอนเสร็จก็เจอไมเกรนใหม่ ชีวิตเหมือนกับว่าหมดทางออกแล้ว มีเงินแต่ว่าไม่มีความสุข
จนกระทั่งวันหนึ่งมีคนแนะนำว่าลองไปทำสมาธิ มีอาจารย์คนหนึ่งเป็นฆารวาส ชื่ออูบาขิ่น เป็นข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ของพม่าแต่เป็นคนที่ใส่ใจในเรื่องการทำกรรมฐานมาก เป็นลูกศิษย์ของมหาศรีสะยาดอ ซึ่งเป็นพระที่มีชื่อมาก ท่านโกเอ็นก้าเป็นแขกเป็นฮินดู แต่ไม่มีทางไปก็เลยไปลองไปเข้าคอร์ส สมัยนี้เรียกว่าเข้าคอร์สประมาณสิบกว่าวัน ปรากฏว่าเห็นผลเห็นความคืบหน้าว่าช่วยได้ก็เลยไปปฏิบัติธรรมบ่อยๆ ตอนหลังเลยศรัทธาในการปฏิบัติ แล้วก็ได้รับมอบหมายให้เป็นผู้ช่วยอาจารย์ ตอนหลังแม่อยู่ที่อินเดียป่วย ต้องไปดูแลแม่ที่อินเดีย พอไปแล้วก็เลยได้รับมอบหมายให้เป็นอาจารย์สอนกรรมฐานเลย และนั่นคือจุดเริ่มต้นของการที่ทำให้สำนักปฏิบัติของท่านโกเอ็นก้าแพร่หลาย เริ่มที่อินเดียก่อนแล้วก็กระจายไปทางยุโรป อังกฤษ อเมริกา แบบนี้เรียกว่าท่านได้เห็นธรรมเพราะว่าไมเกรน ถ้าไม่เป็นไมเกรนก็อาจจะเป็นเศรษฐีที่ร่ำรวย แต่ไม่ได้ทำประโยชน์อะไรให้กับศาสนา หรือทำให้ตัวเองได้เข้าถึงประโยชน์สุขแห่งความเป็นมนุษย์เท่าไร
สิ่งที่เป็นเหตุร้ายที่จริงก็มีประโยชน์ อยู่ที่เราจะมองอย่างไร อยู่ที่ว่าเราจะเห็นคุณค่าของมันหรือไม่ ไม่มีอะไรที่ไร้ประโยชน์เสียทั้งหมด แม้กระทั่งเหตุการณ์ที่แย่ๆ ความเจ็บป่วย ความพลัดพราก การถูกผลักไส ถูกปฏิเสธจากลูกหรือจากคนใกล้ชิด ล้วนแล้วแต่มีประโยชน์ทั้งนั้น แต่ไม่ใช่ว่าจะมีประโยชน์ในตัวของมันเอง เพราะว่าความทุกข์สำหรับบางคนก็ผลักให้ไปหาเหล้าไปหายาเสพติด ไม่ใช่ว่าทุกข์แล้วจะดีเสมอไป อยู่ที่ว่าเมื่อเจอทุกข์แล้วเราจะตัดสินใจหรือรับมือกับมันอย่างไร สิ่งนี้ก็เป็นเรื่องของมุมมองด้วย เราสามารถจะอาศัยทุกข์มาเป็นสิ่งผลักดันให้ทำความดีมีประโยชน์ แต่ถ้าเกิดว่าเราไม่มีสติ ความทุกข์ก็อาจจะผลักเราไปอีกทางหนึ่งก็ได้ พาไปสู่นรกไปสู่อบาย การที่เราจะรับมือกับความทุกข์ให้ได้ดีเป็นเรื่องของการมอง ต้องมองให้เป็น บางทีไม่ต้องรอให้เกิดขึ้น แต่เมื่อรู้ว่ามันจะเกิดขึ้นเราสามารถจะตั้งหลักแล้วมองว่า มันจะมีข้อดีข้อเสียอย่างไรบ้าง
ในสมัยพุทธกาลก็เหมือนกัน มีพระรูปหนึ่งชื่อพระปุณณะ ท่านเป็นคนเมืองสุนาปรันตะ เป็นพ่อค้า พอท่านได้มาปฏิบัติธรรมกับพระพุทธเจ้า ท่านได้เกิดศรัทธาในพระธรรม แล้วเมื่อได้ปฏิบัติกับพระพุทธเจ้าสักพักคิดว่าจะกลับไปเมืองสุนาปรันตะ เมื่อมาลาพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าถามว่า “คนสุนาปรันตะใจคอดุร้าย ถ้าเขาด่าว่าท่าน ท่านจะเห็นอย่างไร ท่านจะคิดอย่างไร” พระปุณณะตอบว่า “ถ้าเขาด่าว่าก็ยังดีที่เขาไม่ทุบตี” พระพุทธเจ้าถาม “แล้วถ้าเขาทุบตีท่าน ท่านจะคิดอย่างไร” “ถ้าเขาทุบตีก็ดีกว่าเขาเอาก้อนหินมาขว้าง” “แล้วถ้าเขาเอาก้อนหินมาขว้าง ท่านจะคิดอย่างไร” “เอาก้อนหินมาขว้างก็ดีกว่าเขาเอาไม้มาฟาด” “แล้วถ้าเขาเอาไม้มาฟาด ท่านจะคิดอย่างไร” “เอาไม้มาฟาดก็ดีที่เขาไม่เอาของแหลมมาแทง” “แล้วถ้าเขาเอาของแหลมมาแทง ท่านจะคิดอย่างไร” “ถ้าเอาของแหลมมาแทงก็ดีที่เขาไม่ฆ่าให้ตาย” พระพุทธเจ้าเลยถามคำถามสุดท้าย “แล้วถ้าเขาฆ่าท่าน ท่านจะคิดอย่างไร” พระปุณณะตอบว่า “คนบางคนอยากจะตายต้องไปหามีดมาหรือไม่ก็ต้องไปจ้างคนมาฆ่า แต่ถ้าเป็นอย่างที่พระพุทธองค์ว่า ก็ดีเหมือนกันคือไม่เหนื่อย” คือท่านมองว่าอะไรที่เกิดขึ้นกับท่านล้วนแล้วแต่ดีทั้งนั้น อย่างน้อยก็ดีที่ไม่แย่ไปกว่านี้ ถ้าเรามองแบบนี้บ้าง ก็ทำให้ความทุกข์ทั้งหลายที่เกิดขึ้นกับเรากลายเป็นเรื่องเล็กน้อยไป
การมองแบบนี้ สมัยนี้เขาเรียกว่า มองแง่บวก แต่ในทางธรรมะเขาเรียกว่า มองแบบมีโยนิโสมนสิการ โยนิโสมนสิการคือ การฉลาดในการมอง ซึ่งทำได้หลายแบบ เช่นมองแบบพระปุณณะก็ได้ว่าอะไรเกิดขึ้นกับเราก็ดีทั้งนั้น เป็นเบาหวานก็ยังดีที่ไม่เป็นมะเร็ง เป็นมะเร็งสมองก็ยังดีที่ไม่เป็นมะเร็งมดลูก เรื่องนี้มีคนเคยมองแบบนี้ แล้วเขาก็อยู่ได้ มองอะไรก็ดีทั้งนั้น รวมทั้งมองเห็นธรรมะจากสิ่งที่เกิดขึ้น มีความพลัดพรากเกิดขึ้นแทนที่จะร้องไห้ฟูมฟายก็สามารถจะมองเห็นเป็นธรรมะได้ เช่น ของหายก็เห็นว่าเขาสอนเราว่าไม่มีอะไรที่เที่ยงเลย ไม่มีอะไรที่จะอยู่กับเราไปได้ตลอด เจ็บป่วยก็มองเห็นเป็นธรรมะว่าเขามาสอนเราว่าสังขารไม่เที่ยง อย่างที่ท่านอาจารย์พุทธทาสบอกว่า ความเจ็บป่วยมาสอนให้ฉลาดเรื่องสังขาร ให้เห็นว่าสังขารไม่เที่ยงเป็นทุกข์ โวยวายตีโพยดีพายไปก็ไม่มีประโยชน์
มีผู้ชายคนหนึ่งเป็นช่างไฟฟ้า วันดีคืนดีไฟฟ้าช็อต ไฟฟ้าแรงสูงด้วยช็อตที่ขาจนต้องตัดขาทั้งสองข้าง กลายเป็นพิการตลอดชีวิตช่วยตัวเองก็ลำบาก เท่านั้นยังไม่พอ เหมือนเคราะห์ซ้ำกรรมซัด วันหนึ่งภรรยาก็ทิ้งเขาไป แทนที่จะร่วมทุกข์ร่วมสุขกันก็ทิ้งให้เขาต้องมาช่วยตัวเอง มีคนถามผู้ชายคนนี้ว่า คุณรู้สึกอย่างไรที่ภรรยาทิ้งคุณไป แกตอบว่าผมไม่รู้สึกอะไรเลย คุณคิดดูสิแม้กระทั่งขาของผมแท้ๆยังไม่อยู่กับผมเลย แล้วจะให้เมียอยู่กับผมได้ยังไง การที่แกไม่ทุกข์เพราะเมียทิ้งเพราะได้เห็นธรรมะจากการที่ขาถูกตัด ให้เห็นว่าขาที่คิดว่าเป็นของเราก็ไม่ใช่ของเราเลย ถ้าเป็นของเราก็ต้องอยู่กับเราแต่มันไม่ใช่ของเรา แล้วก็ได้เห็นว่าเมื่อขายังไม่อยู่กับเราเลย จะไปคาดหวังให้คนอื่นเขาอยู่กับเราได้อย่างไร แบบนี้เรียกว่าเห็นธรรมะจากเหตุร้ายที่เกิดขึ้น ถ้าเราฉลาดเราก็สามารถจะเห็นธรรมะ หรือเห็นสิ่งดีๆจากเหตุร้ายที่คนส่วนใหญ่ไม่ปรารถนาจะให้ประสบ พวกเราคงไม่อยากจะให้ประสบ แต่เมื่อเกิดขึ้นกับเราแล้วป่วยการที่จะฟูมฟาย ต้องหาประโยชน์หรือเห็นประโยชน์ของมันให้ได้ ต้องเรียกว่านักปฏิบัติธรรมต้องฉวยโอกาสเหมือนกัน
หลวงพ่อคำเขียนท่านสอนว่า ต้องรู้จักเป็นนักฉวยโอกาส ฉวยโอกาสนี้ความหมายหนึ่งคือ ไม่ว่าเวลาใด โอกาสใด สถานที่ไหน ก็ต้องใช้เพื่อการปฏิบัติธรรม รถติดแทนที่จะจิตตก ก็ฉวยโอกาสตามลมหายใจหรือว่าเจริญสติไป คนส่วนใหญ่ไม่รู้จักฉวยโอกาส รถติดก็ปล่อยให้ใจกลุ้มอกกลุ้มใจหงุดหงิด แบบนี้เรียกว่าไม่ฉลาด คนฉลาดแม้รถติดสามนาทีหรือหนักกว่านั้นสิบนาที ก็ฉวยโอกาสเลย มาเจริญสติมาทำใจให้สงบ เกิดเหตุร้ายก็ฉวยโอกาสหาประโยชน์จากมันเลย แบบนี้เรียกว่าเป็นคนรู้จักมอง การมองแบบนี้เป็นการมองสิ่งที่เกิดขึ้นรอบตัวเรา แต่ว่าควบคู่กันไปนอกจากการมองสิ่งที่เกิดขึ้นอย่างฉลาดแล้ว การมองกลับมาที่ตัวเองก็สำคัญเหมือนกัน
นอกจากการรู้จักมองสิ่งที่เกิดขึ้น เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับเรา หรือสิ่งที่แวดล้อมเรา มองให้เป็นคุณมองให้เป็นประโยชน์ โดยเฉพาะในทางธรรมแล้วควบคู่กันคือการมองกลับมาที่ตัวเรา กลับมาที่ใจของเรา จริงๆแล้วการที่เราจะมองสิ่งนอกตัวอย่างฉลาดแบบมีโยนิโสมนสิการได้ เกิดขึ้นจากการที่เราหันกลับมาดูใจเราก่อน ถ้าเราไม่กลับมาดูใจของเรา เราจะไม่รู้หรอกว่าใจกำลังโกรธ กำลังโมโห เช่น พอเจอรถติด เจอไฟแดง หงุดหงิดโดยไม่รู้ พอหงุดหงิดแล้วไม่รู้ตัวว่าหงุดหงิด ไม่มีทางที่จะเห็นประโยชน์ว่าไฟแดงหรือรถติดมีประโยชน์อย่างไรบ้าง คนที่เอาแต่กลุ้มอกกลุ้มใจเพราะว่าพิการถูกตัดขา ตีโพยตีพายว่าทำไมต้องเป็นฉัน ถ้าปล่อยให้ความทุกข์ครอบงำ ไม่มีทางที่จะเห็นธรรมะจากการที่สูญขาไปทั้งสองข้างได้ ต้องมีสติเป็นเบื้องต้นก่อน ถ้ามีสติเป็นเบื้องต้นจะทำให้เราวางความทุกข์ ความกลุ้มอกกลุ้มใจ เมื่อรู้ว่าข้างในใจมีความเครียด มีความวิตก มีความเศร้า มีความเสียใจ วางมันลง สิ่งนี้สำคัญมาก กลับมาดูใจเราให้ได้ เราถึงจะมองเห็นสิ่งต่างๆ อย่างแยบคาย
หลวงพ่อพุธ ฐานิโย ท่านเล่าว่าสมัยที่ท่านยังหนุ่ม ท่านไปอยู่ที่จังหวัดอุบลราชธานี หลวงพ่อพุธท่านเป็นอดีตเจ้าอาวาสวัดป่าสาละวัน โคราช แต่ตอนหนุ่มๆ ท่านไปอยู่ที่อุบลฯ วันหนึ่งท่านบิณฑบาตตอนเช้า เห็นโยมผู้หญิงคนหนึ่งกำลังยืนรอใส่บาตรกับลูกชายอายุประมาณ 5 ขวบ ท่านก็เดินไปหาหญิงคนนี้เกือบจะถึงแล้ว ลูกชายก็พูดขึ้นมาว่า มึงบ่แม่นพระดอก มึงบ่แม่นพระดอก มึงไม่ใช่พระ มึงไม่ใช่พระ ท่านได้ยินท่านไม่พอใจ เพราะไม่เคยมีใครพูดแบบนี้กับท่านเลย แต่ว่าท่านก็มีสติรู้ทัน พอรู้ทันว่าใจไหม้ ใจขุ่นมัว ใจขุ่นเคือง ความคิดหนึ่งก็ผุดขึ้นมาว่า เออ..จริงของมัน เราไม่ใช่พระ เพราะถ้าเราเป็นพระ เราต้องไม่โกรธ ความคิดแบบนี้ ทำให้ท่านกลับมาเป็นปกติ แล้วก็เดินไปรับบาตรจากผู้หญิงคนนั้น
ตอนหลังเวลาท่านพูดถึงเหตุการณ์นี้ ท่านจะบอกว่าเด็กคนนั้นเป็นอาจารย์ของท่าน เด็ก 5 ขวบเป็นอาจารย์สอนให้ท่านได้เห็นเรื่องโลกธรรม ได้เห็นใจตัวเองด้วยว่าใจตัวเองกระเพื่อมอย่างไรเวลามีคำพูดแบบนี้กระทบหู แล้วก็ได้ฝึกให้ได้รู้จักปล่อยรู้จักวาง การที่ท่านบอกว่า เเออ..จริงของมัน เราไม่ใช่พระ เพราะถ้าเป็นพระต้องไม่โกรธ แบบนี้เรียกว่า เป็นการมองเป็นการคิดแบบโยนิโสมนสิการ ถ้ามองไม่เป็นก็จะโกรธว่าพูดอย่างนี้กับกูได้ยังไง กูเป็นพระ แบบนี้เรียกว่า อโยนิโสมนสิการ คือ คิดแล้วมองแล้วไม่ฉลาด เพราะทำให้เกิดความทุกข์ ทำให้เกิดความโกรธ แต่ท่านมองอีกแบบหนึ่งว่า ถ้าเราเป็นพระเราต้องไม่โกรธ การที่จะคิดแบบนี้ได้หรือจะมองแบบนี้ได้ ก็เพราะท่านมีสติรู้ทันในความโกรธ ความขุ่นมัวที่เกิดขึ้น
เพราะฉะนั้นการกลับมาดูใจเราเป็นเรื่องสำคัญ กลับมาดูใจ รู้ทันความคิดอารมณ์ที่เกิดขึ้น การที่เรากลับมาดูใจ ครูบาอาจารย์สอนแล้วพูดเรื่องนี้บ่อยๆ ไม่ได้หมายความว่าเราจะไม่ไปรับรู้สิ่งภายนอก มีคำพูดหนึ่งบอกว่า อย่าส่งจิตออกนอก อย่าส่งจิตออกนอกหมายความว่าอย่าปล่อยใจลอย ล่องลอยหรือไปจดจ่ออยู่กับสิ่งนอกตัว โดยที่ไม่ไปรับรู้ความคิด อารมณ์ที่เกิดขึ้นหรือที่เล่นงานใจเรา บอกไว้แล้วว่า อันตรายมีสองแบบ อันตรายที่เปิดเผย กับ อันตรายที่ปกปิด อันตรายที่เปิดเผยอยู่นอกตัวเรา สัตว์ร้าย อาหารเป็นพิษ ภัยธรรมชาติ สมัยนี้ก็ต้องรวมถึงรถยนต์ที่กำลังแล่นเร็วด้วยก็เป็นอันตรายที่เปิดเผย เราต้องใช้ ตา หู จมูก ลิ้น เป็นเครื่องป้องกัน เราใช้ลิ้นเพื่อรับรู้อาหารขมหรือไม่ ถ้าขมแสดงว่ามีพิษเราก็ไม่กิน เราใช้หูฟังดูว่ามีอันตรายอยู่ข้างๆ ใกล้ๆ หรือไม่ เสียงลม เสียงน้ำป่า เสียงสัตว์ร้าย เรารู้ได้จากหูหรือจากตาของเรา เพราะฉะนั้นตา หู จมูก ลิ้น กาย ช่วยทำให้เรารู้ทันอันตรายที่เปิดเผยแล้วพยายามหลบพยายามหลีก
แต่ขณะเดียวกันมีอัตรายที่ปกปิด ที่จู่โจมครอบงำจิตใจ แล้วก็เล่นงานจิตใจเรา แล้วเดี๋ยวนี้เป็นปัญหาของคนสมัยนี้มาก โดยเฉพาะความเครียด ความเศร้า เศร้าจนซึมเศร้าไปเลย โรคซึมเศร้าก็ดี โรคเครียดก็ดี ตอนนี้เป็นปัญหาของคนสมัยนี้มาก เป็นสาเหตุของการตายที่สูงมาก เขาบอกว่าในคนที่ตายเพราะความเครียดมากกว่าคนที่ตายเพราะเหล้าหรือบุหรี่ เพราะรวมถึงความเครียดที่นำไปสู่การเป็นโรคหัวใจ ทำให้เส้นเลือดในสมองแตกหรือทำให้หัวใจวาย พวกนี้สืบเนื่องจากความเครียดได้ทั้งนั้น ความเครียดเป็นความอันตรายที่ปกปิดที่ครอบงำใจเพราะเราไม่รู้ทัน เรามัวแต่ส่งจิตออกนอกไม่กลับมาดูใจ แต่ถ้าเราดูใจแล้วก็ไม่ได้แปลว่าเรื่องภายนอกเราไม่ต้องมอง เราก็ต้องอาศัยตา หู จมูก ลิ้น กาย ดูรับรู้ เพื่อที่เราจะได้ไม่ถูกอันตรายต่างๆ เข้ามาเล่นงาน
แต่ไม่ใช่แค่นั้น ถ้าเรามองเป็นเราก็สามารถจะมองให้เกิดประโยชน์ การมองภายนอกอย่าไปมองเพียงแค่ว่ามีอันตรายเกิดขึ้นอยู่ข้างหน้าหรือไม่ หรือจะใช้มองเพื่อที่เข้าหาสิ่งที่เป็นโทษต่อชีวิตจิตใจ เช่น ใช้ตาสอดส่ายหาสิ่งที่เป็นอบายมุข หรือใช้ลิ้นเพื่อเสพสิ่งที่กระตุ้นกิเลสอย่างเดียว เราควรมอง รู้จักมอง ฉลาดในการมอง ไม่ว่าอะไรเกิดขึ้นก็สามารถที่จะมองให้เห็นประโยชน์ แม้ว่าสิ่งที่เกิดขึ้นจะก่อความทุกข์ให้กับเรา เป็นสิ่งที่ไม่ประสงค์ ความเจ็บป่วย ความพลัดพราก คำต่อว่าด่าทอ รวมทั้งมองให้เห็นธรรมะจากสิ่งเหล่านั้นด้วย พูดง่ายๆ คือ มองทั้งนอกมองทั้งใน มองในก็เห็นใจของตัวเอง มองนอกก็เห็นธรรม แล้วก็เห็นประโยชน์ ไม่ว่าสิ่งที่เกิดขึ้นนั้นจะเป็นอะไรก็ตาม