แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ที่วัดป่าสุคะโต มีกัลยาณมิตรและครูบาอาจารย์หลายท่านที่จะช่วยเหลือเกื้อกูลพวกเราได้ โดยเฉพาะในช่วงเข้าพรรษา ปกติแล้วทุกปีๆกัลยาณมิตรหรือครูบาอาจารย์ที่สำคัญ คือ หลวงพ่อคำเขียนของเรา ในพรรษาท่านจะมาเทศนามาแสดงธรรมให้พวกเราฟังอยู่เป็นประจำ แต่ก่อนนี้เช้าเย็นทีเดียวตั้งแต่ตั้งแต่สมัยที่อาตมามาอยู่ใหม่ๆ ในช่วงตอนหลังๆท่านมาแสดงธรรมได้เฉพาะช่วงเช้า แต่นั่นคือที่ผ่านมา ปีนี้ท่านไม่สามารถที่จะมาแสดงธรรมให้พวกเราได้ฟังได้ เพราะข้อจำกัดทางด้านสังขารร่างกายของท่าน แต่แม้ท่านจะไม่สามารถแสดงธรรมจะสอนธรรมด้วยการพูด แต่ว่าท่านสามารถที่จะสอนธรรมให้กับเราได้ด้วยวิธีอื่น ทำให้ดูอยู่ให้เห็น ซึ่งที่จริงทำให้ดูอยู่ให้เห็นท่านได้ปฏิบัติมาตั้งแต่ไหนแต่ไรมาแล้ว เช่น ความเสียสละของท่าน ความอ่อนน้อมถ่อมตัว ความรักในธรรมชาติ รวมทั้งการเป็นอยู่อย่างสงบ ไม่หวั่นไหวกับสิ่งที่มากระทบ เรื่องนี้เป็นสิ่งที่เราคนที่อยู่วัดไม่ว่าใกล้หรือไกลถ้าสังเกตนก็จะเห็น ซึ่งเป็นธรรมที่มีคุณค่ามากไม่น้อยไปกว่าคำสอนของท่านที่แสดงเป็นคำพูด
แม้กระทั่งในช่วงนี้ท่านไม่สามารถที่จะแสดงธรรมให้พวกเราฟังได้ แต่ก็ยังทำให้ดูอยู่ให้เห็น รวมทั้งสิ่งที่ท่านเป็นตอนนี้ก็สามารถจะให้ข้อคิด ให้ธรรมะ ชวนให้เราใคร่ครวญได้ไม่น้อยทีเดียว เช่นความเจ็บป่วย หรือความอาพาธของท่านตอนนี้ เป็นเครื่องเตือนใจให้เห็นถึงความไม่เที่ยงของสังขาร ไม่เที่ยงทั้งในแง่ที่ว่าจากเดิมที่เป็นปกติก็มาเจ็บป่วย แล้วเมื่อเจ็บป่วยอย่างถึงที่สุดก็จะต้องละจากโลกนี้ไป เรื่องนี้เป็นธรรมดา เป็นความจริงของสังขารของทุกชีวิตที่ตั้งอยู่บนความไม่จีรังยั่งยืน ซึ่งเมื่อเราได้พิจารณาใคร่ครวญอย่างนี้ก็น่าจะเตือนสติพวกเราว่า การที่เราจะหวังพึ่งพาครูบาอาจารย์ไปตลอดเป็นสิ่งที่ทำไม่ได้
อย่างที่อาตมาได้พูดเมื่อตอนบ่ายในรายการสนทนาของไทยพีบีเอสคือ ความอาพาธของท่านถ้าเราใคร่ครวญให้ดีก็จะเตือนสติให้เราได้ตระหนักว่า ครูบาอาจารย์ของเราแม้ว่าท่านจะมีคุณวิเศษเพียงใด แต่ก็ไม่สามารถที่จะอยู่กับเราได้ไปตลอด ถ้าเราไปหวังพึ่งพาท่านเราก็จะผิดหวัง แล้วเราก็จะลงท้ายด้วยความเศร้าโศกเสียใจ แล้วร้ายกว่านั้นคือขาดโอกาสที่จะฝึกฝนพัฒนาตน ถ้าเราได้พิจารณาใคร่ครวญการอาพาธของท่าน แล้วได้เห็นเลยว่าสังขารเป็นสิ่งที่ไม่จีรังยั่งยืน ครูบาอาจารย์ของเราสักวันหนึ่งก็ต้องจากเราไปไม่ช้าก็เร็ว เพราะฉะนั้นเราจะหวังพึ่งพาครูบาอาจารย์ต่อไปไม่ได้ แต่จะต้องเรียนรู้ที่จะพึ่งพาตัวเอง
อย่างที่พระพุทธเจ้าเคยแนะนำหรือเตือนสติพระอานนท์ อย่างที่ได้เล่าไปว่าหลังพรรษาสุดท้ายของพระพุทธองค์ ตอนนั้นพระพุทธองค์อายุแปดสิบแล้ว มีวันหนึ่งพระอานนท์ได้พูดกับพระพุทธองค์ว่า ท่านยังไม่เห็นธรรมได้แจ่มแจ้ง แต่ก็พูดทำนองว่า ยังดีนักที่พระพุทธองค์ยังไม่เสด็จดับขันธ์ปรินิพพาน ที่จริงตอนนั้นพระอานนท์ท่านเป็นพระโสดาบันแล้ว แต่ท่านยังรู้สึกว่าท่านยังได้เรียนรู้อะไรไม่มาก ยังเห็นธรรมไม่แจ่มแจ้ง แต่ยังดีที่พระพุทธองค์ยังอยู่กับพวกเรา พระพุทธเจ้าเลยท้วงพระอานนท์ว่า อานนท์จะยังหวังพึ่งเราอีกหรือ เพราะว่าสังขารร่างกายของเราก็เหมือนกับเกวียนที่เก่าคร่ำคร่าที่ต้องแซมต้องซ่อมด้วยไม้ไผ่ คือพร้อมที่จะพังพร้อมที่จะเสื่อมใช้การไม่ได้ แล้วพระองค์ย้ำกับพระอานนท์ว่า “จงมีตนเป็นเกาะ มีตนเป็นสรณะ” แล้วพระองค์มีการขยายความว่าคือ “มีธรรมเป็นเกาะ มีธรรมเป็นสรณะ” คืออย่าหวังพึ่งพาพระองค์ ต้องหวังพึ่งตนเองด้วยการที่น้อมนำธรรมะให้เกิดขึ้นกับตน หรือทำให้ธรรมะเจริญงอกงามขึ้น
เรื่องนี้ก็เป็นข้อเตือนใจที่เอามาใช้ได้กับพวกเรา พวกเราถ้าหากว่าได้ใคร่ครวญการอาพาธของหลวงพ่อ สำหรับผู้ที่มีปัญญาก็จะเป็นเครื่องเตือนสติให้เกิดสังเวช สังเวชหรือสังเวชะไม่ได้แปลว่าสลดหดหู่ ภาษาไทยแปลว่าอย่างนั้น ภาษาบาลีแปลว่ากระตุ้นเตือนให้เกิดความรู้สึกเร่งด่วนในการที่จะพัฒนาตนปฏิบัติธรรม อย่างที่ใช้สังเวชกับสังเวชนียสถาน ไม่ได้ไปเพื่อให้หดหู่เศร้าหมอง แต่ไปเพื่อเร่งเร้ากระตุ้นเตือนให้บำเพ็ญความดีแล้วมุ่งมั่นในการปฏิบัติธรรม จุดหมายสูงสุดคือการพ้นทุกข์ ไม่ได้ไปเพื่อการเกิดสลดสังเวช แต่ให้เกิดความกระตือรือร้น พูดง่ายๆคือเกิดความไม่ประมาทนั่นเอง ซึ่งตามมาด้วยความเพียร แบบนี้สิ่งที่หลวงพ่อเป็น ถ้าเราใคร่ครวญแล้วเราจะได้ข้อธรรม แล้วอาพาธของท่านยังเตือนสติเราด้วยว่า สิ่งนี้เป็นธรรมดาของสังขาร สังขารนี้เป็นรังของโรค ถูกครอบงำด้วยความทุกข์ แล้ววันดีคืนดีก็เจ็บป่วย
เราต้องถามตัวเราเองว่า หากสักวันหนึ่งเราต้องเจ็บป่วยอย่างท่าน เราพร้อมหรือไม่ เราเคยคิดบ้างหรือไม่ว่าสักวันหนึ่งเราอาจจะเจ็บป่วยอย่างท่าน หรืออาจจะยิ่งกว่าหลวงพ่อ แล้วถ้าหากเกิดเป็นขึ้นมาเราพร้อมหรือไม่ ถ้าไม่พร้อมเราต้องเร่งทำความเพียรเสียแต่วันนี้เพื่อให้พร้อม คนที่คิดว่าตัวเองไม่พร้อมแล้วเกิดความท้อแท้ขึ้นมา อย่างนั้นเรียกว่าเป็นคนที่ไม่ฉลาด คนที่ฉลาดเมื่อรู้ว่าไม่พร้อมแล้วจะเห็นว่าเรายังมีเวลาอยู่เราต้องเร่งทำความเพียรให้พร้อม แต่สิ่งหนึ่งที่หลวงพ่อเป็น ไม่ได้ชวนให้เราใคร่ครวญแต่เพียงเท่านี้ ในขณะด้านหนึ่งท่านเตือนให้เราเห็นตระหนักถึงความทุกข์ความไม่จีรังของสังขาร แต่ในอีกด้านหนึ่งท่านเป็นประจักษ์พยานของความไม่ทุกข์ด้วย คือถึงแม้ท่านจะมีความทุกข์รุมเร้ากาย แต่ว่าใจไม่ได้ทุกข์ด้วย สิ่งที่ท่านเป็นชี้ให้เราเห็นว่า ป่วยกายแต่ว่าใจไม่ป่วยก็ได้ แม้ว่าความตายจะใกล้เข้ามาแต่ว่าก็ไม่หวั่นไหว สามารถที่จะคุยเล่นในเรื่องความตายได้
เมื่อตอนเย็นหมอมาตรวจมาคลำคอหลวงพ่ออยู่พักใหญ่ หลวงพ่อไม่ทราบว่ามาคลำเพราะอะไร ก็เขียนถามไปว่าใกล้ตายแล้วใช่ไหม ทีแรกหมออ่านว่าใกล้หายแล้วใช่ไหม ไม่ใช่ใกล้ตายแล้วใช่ไหม คนธรรมดาไม่กล้าพูดแบบนี้เลยกลัวว่าจะเป็นอัปมงคล แต่หลวงพ่อท่านพูดทำนองล้อเล่น แต่ท่านไม่กลัวถ้าหากว่าจะเป็นเช่นนั้นจริงๆ ท่านสามารถที่จะพูดล้อเล่นกับความตายได้ ไม่ได้เห็นความตายเป็นศัตรูเพราะท่านรู้ว่ามันเป็นธรรมดา ท่านสามารถที่จะอยู่อย่างเป็นปกติให้เราเห็นได้ ทั้งๆที่โรคภัยของท่านมากมายแล้วก็รุนแรง จนตอนนี้ท่านคิดว่าไม่รักษาแล้ว สิ่งนี้คือธรรมะที่ท่านได้แสดงไม่ใช่ด้วยการพูด แต่ด้วยการทำให้ดู อยู่ให้เห็น แล้วเป็นให้เราใคร่ครวญ
เป็นธรรมะที่ทั้งในแง่ของการเตือนสติเรา กระตุ้นให้เร่งทำความเพียร ในขณะเดียวกันก็ให้ความหวังแก่เราว่า แม้ชีวิตนี้จะเต็มไปด้วยความทุกข์ แม้ว่าเราจะถูกครอบงำด้วย ความแก่ ความเจ็บ ความตาย แต่ทางแห่งความไม่ทุกข์นั้นมีอยู่และเป็นไปได้ อยู่อย่างไม่ทุกข์นี้เป็นไปได้ แม้ว่าจะมีความทุกข์หยั่งเอาแล้ว แม้ว่าจะมีความทุกข์อยู่เบื้องหน้าแล้ว แต่ก็สามารถจะอยู่อย่างไม่ทุกข์ได้ เช่นนี้เป็นครูบาอาจารย์ที่สำคัญ เป็นธรรมะที่ถ้าเราใคร่ครวญไตร่ตรองจะได้ประโยชน์มาก ทั้งในแง่ของการกระตุ้นให้เร่งทำความเพียร อยู่อย่างไม่ประมาท แล้วทำให้เกิดความหวังและกำลังใจว่า สักวันหนึ่งเราสามารถจะเข้าถึงภาวะเช่นนั้นได้เหมือนกัน ถ้าหากว่าเราเพียรพยายาม เพราะสิ่งนี้เป็นสิ่งที่เรียกว่ามีอยู่ในศักยภาพของเรา
ถ้าเราพิจารณาแบบนี้แล้ว ควรใช้พรรษานี้ในการที่จะทำความเพียร โดยเฉพาะในเรื่องการดูจิตดูใจของเรา อาศัยสติเป็นเครื่องดู สติคือตาใน เราใช้ตาเนื้อในการมองโลกภายนอกมามากแล้ว แต่โลกภายในคือความรู้สึกนึกคิด เราปล่อยเราทิ้งจนกระทั่งเหมือนกับบ้านที่ถูกปิดตาย แล้วเต็มไปด้วยหยากไย่เต็มไปด้วยสิ่งสกปรกมากมาย คราวนี้ถึงเวลาที่ต้องเปิดบ้านนี้ แล้วทำความสะอาดกำจัดสิ่งที่เรียกว่าอนุสัยอาสวะ อนุสัยคือตะกอนแห่งกิเลส อาสวะคือสิ่งที่มันหมักหมมซุกซ่อนอยู่ในใจอยู่ในโลกภายในนี้ออกไป จะทำเช่นนั้นได้ต้องมีสติเป็นเหมือนกับเป็นตาใน หรือเป็นแสงสว่างที่สาดส่องว่ามีตรงไหนที่ต้องชำระให้สะอาดบ้าง
ฉะนั้นถ้าเราใช้ตาในคือสติ ทำให้เราได้เห็นใจของเราแล้วก็สามารถที่จะป้องกันรักษาใจของเราไม่ให้ความทุกข์ครอบงำ รวมทั้งสามารถที่จะรื้อถอนต้นตอแห่งความทุกข์ก็คือ กิเลส ตัณหา หรืออวิชชาได้ ซึ่งนี่คือต้นตอของความทุกข์ ไม่ใช่สิ่งภายนอก ไม่ใช่เจ้านายที่ดุร้าย ไม่ใช่ดินฟ้าอากาศ หรือคนที่ต่อว่าด่าทอติฉินนินทาเรา ไม่ใช่แม้กระทั่งความเจ็บความป่วยด้วยซ้ำ แต่อยู่ที่ตัวตัณหา อวิชชา ซึ่งนำไปสู่ความยึดมั่นถือมั่นในสิ่งที่ยึดมั่นถือมั่นไม่ได้เลยแม้แต่น้อย เช่นยึดมั่นถือมั่นในร่างกายนี้ว่ามันต้องเที่ยง ยึดมั่นถือมั่นในคนรักว่าต้องอยู่กับเราไปจนตลอด ไม่มีความสูญเสียพลัดพราก หรือยึดมั่นถือมั่นในทรัพย์สินเงินทอง รวมทั้งความคิดความเห็นว่าจะต้องคงที่ไม่แปรเปลี่ยน หรือจะต้องถูกต้องไม่ผิดพลาด
พวกความยึดมั่นถือมั่นเหล่านี้ ไม่ว่าจะยึดมั่นถือมั่นในรูป รส กลิ่น เสียง สัมผัส ที่น่าพอใจที่เรียกว่า กามุปาทาน ยึดมั่นถือมั่นในความคิดความเห็นที่เรียกว่า ทิฏฐุปาทาน หรือยึดมั่นในแบบแผนระเบียบกฎเกณฑ์ว่าถ้าทำอย่างนี้ๆ แล้วจะพ้นทุกข์ได้ หรือยึดมั่นในพิธีรีตองว่าจะเป็นทางแห่งความพ้นทุกข์ที่เรียกว่า สีลัพพตุปาทาน หรือตัวการสำคัญคือการยึดมั่นถือมั่นในตัวเราของเราที่เรียกว่า อัตตวาทุปาทาน สิ่งเหล่านี้ถ้าไม่รื้อถอนก็จะทำให้เป็นทุกข์ แม้แต่เรื่องเล็กน้อยมากระทบก็เป็นทุกข์ได้ เช่น เสียใจ เสียดาย เสียหน้า เสียศักดิ์ศรี เสียความรู้สึก หรือถ้าเป็นเรื่องใหญ่ก็ถึงกับความเป็นเหตุให้คลุ้มคลั่ง กลุ้มอกกลุ้มใจถึงกับฆ่าตัวตาย หรืออยากทำร้ายผู้อื่น การเข้าพรรษานี้ควรเป็นโอกาสดีที่จะให้เราได้ฝึกฝนพัฒนาตน ฝึกหัดขัดเกลาให้เกิดความแจ่มแจ้ง รู้จักตัวเองในมุมที่ในระดับที่ลึกซึ้งที่สุด และสามารถที่จะยกจิตยกใจของเราให้อยู่เหนือโลก เหนือโลกคือโลกธรรม ไม่ว่าจะได้ลาภเสื่อมลาภ ไม่ว่าจะได้ยศเสื่อมยศ ไม่ว่าจะพบสุขหรือทุกข์ ไม่ว่าจะเจอคำสรรเสริญคำนินทา จิตใจก็ไม่หวั่นไหว อย่างที่เราสวดเมื่อวานนี้ มงคลสูตร โลกธรรมมาถูกต้องแต่ใจไม่หวั่นไหว แบบนี้เพราะว่ามีธรรมเป็นที่พึ่งหรือเข้าถึงธรรมแล้ว
อย่างไรก็ตามในการมาอยู่จำพรรษาที่นี่ นอกจากการฝึกหัดขัดเกลาตนเองให้เห็น ให้รู้จัก ให้เข้าใจ กายและใจของตัวเองอย่างลึกซึ้งแล้ว สิ่งหนึ่งที่ต้องทำควบคู่ไปด้วยคือ การสัมพันธ์กับผู้อื่นอย่างราบรื่นกลมกลืน เพราะว่าเรามาอยู่จำพรรษาคือเรามาอยู่กันเป็นหมู่คณะ เราไม่ได้อยู่หลีกเร้นคนเดียวแต่ในป่า ถ้าเราอยู่แต่ในป่าหรือเก็บอารมณ์อยู่ในกุฏิอยู่ในที่พัก ก็ไม่มีความจำเป็นที่จะต้องไปเกี่ยวข้องกับผู้ใด แต่เมื่อเราอยู่กันเป็นสังฆะเป็นชุมชน ซึ่งประกอบไปด้วยทั้งพระ ทั้งแม่ชี ทั้งฆราวาส และรวมทั้งสิงสาราสัตว์ เราต้องสร้างต้องเกี่ยวข้องสัมพันธ์กันให้เกิดความถูกต้องให้เกิดความราบรื่น ความสัมพันธ์ที่ราบรื่น เช่น ความพร้อมเพียง ความสามัคคี สำคัญต่อการปลูกฝังส่งเสริมธรรมะให้เจริญงอกงาม หรือทำให้การปฏิบัติธรรมของเราเจริญงอกงามได้
เวลาพระพุทธเจ้าท่านจะแนะนำให้ใครไปปฏิบัติธรรมที่ใด ท่านให้ท่านเหล่านั้นพิจารณาด้วยว่าสถานที่นั้นสัปปายะไหม สัปปายะทั้งในแง่ของสถานที่ สัปปายะทั้งในแง่ของบุคคล ทั้งในแง่ของอาหาร ทั้งในแง่ของภูมิอากาศ ทั้งหมดนี้เรียกว่าสิ่งแวดล้อมที่จำเป็น และสำคัญต่อการสร้างความเจริญงอกงามของธรรมะในใจเรา เพราะฉะนั้นสิ่งเหล่านี้สิ่งแวดล้อมที่นี่ก็เกื้อกูลหลายอย่าง ทั้งในแง่ของเสนาสนะ ทั้งในแง่ของอาหาร ทั้งในแง่ของธรรมชาติแวดล้อม ซึ่งรวมถึงภูมิอากาศด้วย แต่สิ่งหนึ่งที่มองข้ามไม่ได้คือ ความสัมพันธ์กับผู้คนที่แวดล้อมก็ต้องเป็นไปอย่างต้องราบรื่นกลมกลืนด้วย
สมัยหนึ่งพระพุทธองค์ได้เสด็จไปเยี่ยมพระสาวกสามท่าน ซึ่งมาปฏิบัติร่วมกันคือ พระอนุรุทธะ พระกิมพิละ อีกท่านหนึ่งจำไม่ได้ เมื่อมาถึงพระพุทธเจ้าถามเลยว่าอยู่ลำบากไหม บิณฑบาตพอฉันไหม ถามเรื่องการกินอยู่ถามเรื่องอาหารการกินก่อน และประการต่อมาก็ถามว่ายังมีความพร้อมเพียงกันไหม ชื่นชมกันไม่วิวาทกัน เข้ากันได้เหมือนน้ำกับน้ำนมหรือเปล่า มองกันด้วยสายตาอันเปี่ยมไปด้วยความรักหรือไม่ พอถามเรื่องอาหารการกินอยู่แล้วจะถามถึงเรื่องความสัมพันธ์ หลังจากนั้นค่อยมาถามถึงเรื่องการปฏิบัติว่ายังมีความไม่ประมาท ยังอุทิศกายและใจเพื่อการปฏิบัติหรือไม่ ทำไมถึงถามเป็นอันดับสามเรื่องการปฏิบัติ ทำไมถึงถามเรื่องการกินอยู่และถามเรื่องการสามัคคีความพร้อมเพียง เพราะสิ่งเหล่านี้เป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งเสริมการปฏิบัติ ถ้าบิณฑบาตลำบากก็ยังพอไหว แต่ถ้าเกิดว่าอยู่กันด้วยความวิวาทเข้ากันไม่ได้แล้วเรื่องการปฏิบัติก็เป็นไปได้ยาก การปฏิบัติเพื่อขัดเกลาจิตใจก็เป็นไปได้ยาก ไม่ต้องพูดถึงผลของการปฏิบัติ เพราะฉะนั้นการที่เราจะมาอยู่ด้วยกันในช่วงเข้าพรรษานี้ แม้ความตั้งใจปฏิบัติมีอยู่ แต่ก็อย่าลืมว่าเราต้องช่วยกันสร้างชุมชนสถานที่แห่งนี้ ให้อยู่ร่วมกันด้วยความพร้อมเพียง ชื่นชมกัน ไม่วิวาทกัน มองกันด้วยสายตาที่เปี่ยมไปด้วยความรัก เข้ากันได้เหมือนน้ำกับน้ำนม
น่าสนใจที่พระอนุรุทธะท่านตอบ เมื่อพระพุทธเจ้าท่านถามเช่นนี้ว่า พร้อมเพียงกันยังดีอยู่หรือ ชื่นชมกันไม่วิวาทกัน มองกันด้วยสายตาที่เปี่ยมไปด้วยความรักหรือไม่ พระอนุรุทธะตอบว่า แม้กายของพวกข้าพระองค์จะต่างกันแต่จิตใจนั้นเป็นหนึ่งเดียวกัน ท่านบอกว่าแต่ละท่านได้ละวางจิตของตนและเป็นอยู่โดยอาศัยอำนาจจิตของผู้อื่น หมายความว่าท่านละวางตัวตนเลย คือจะไม่เอาตัวตนเป็นใหญ่ จะไม่เอาความคิดเห็นของตัวเองเป็นใหญ่ ท่านใช้คำว่าละวางจิตของตน แต่จะเป็นอยู่โดยอาศัยจิตของผู้อื่น จะคำนึงถึงผู้อื่นเป็นสำคัญ จะไม่เอาตัวเองเป็นที่ตั้ง หลอมจิตให้เป็นหนึ่งเดียวกัน แม้กายของข้าพระองค์จะต่างกันแต่จิตเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน เรียกว่าเป็นการน้อมจิตน้อมใจของพระสาวก ซึ่งในที่สุดก็ส่งผลให้ท่านได้บรรลุธรรมเป็นพระอรหันต์ทั้งสามท่าน
พวกเรานี้อาจจะทำไม่ได้ถึงขนาดนั้น ประเภทว่าวางจิตของตนแล้วก็เป็นอยู่โดยอาศัยจิตของผู้อื่น แต่ขอให้อย่างน้อยก็ขอให้คำนึงถึงผู้อื่น อย่าคำนึงถึงถึงแต่ความต้องการของตัวเอง และพยายามที่จะอยู่กันด้วยความพร้อมเพียง เห็นอกเห็นใจกัน มีความอดกลั้นต่อคำพูด ต่อการกระทำที่อาจจะไม่ถูกใจเรา สิ่งเหล่านี้ต้องเกิดขึ้นแน่ ไม่ว่าในหมู่พระ หรือในหมู่แม่ชี หรือในหมู่ฆราวาส สามเดือนนี้ต้องมีความกระทบกระทั่งกันบ้าง มีเรื่องที่ไม่ถูกใจกันบ้าง ต้องอดทนอดกลั้น และพยายามที่จะเข้าอกเข้าใจกัน อย่างน้อยๆก็พยายามที่จะมีเมตตาต่อกัน
อย่างที่พระพุทธเจ้าท่านตรัสว่า มองกันด้วยสายตาที่เปี่ยมไปด้วยความรัก ความรักในที่นี้หมายถึงเมตตา ถ้าไม่มีสิ่งเหล่านี้แล้วการอยู่การจำพรรษาสามเดือนก็เท่ากับไม่ต่างจากการติดคุก หรือบางคนอาจจะรู้สึกว่าเหมือนอยู่ในนรกทีเดียว เพราะว่าไปไหนไม่ได้ ต้องทนอยู่ด้วยกัน กล้ำกลืนฝืนทน ซึ่งไม่ส่งเสริมการปฏิบัติธรรมเลยแม้แต่น้อย เสร็จแล้วก็อาจถึงขั้นใช้กำลังกัน ที่นี่ก็เคยมีแล้วพระกับพระใช้ต่อยตีกัน หรือแม่ชีกับแม่ชีใช้จอบใช้เสียมทำร้ายกัน ในสมัยที่พระยังน้อยแม่ชียังน้อย แต่ตอนนี้เรามีมากขึ้น แต่ถ้าเราอยู่กันด้วยใจที่มีเมตตาต่อกัน เข้าอกเข้าใจกัน พยายามวางอัตตาตัวตนของตน หรือวางจิตของตนให้ลงไปเท่าที่จะทำได้ จะช่วยให้การจำพรรษาของเรานี้เป็นไปอย่างราบรื่น แล้วไม่เพียงแต่บรรยากาศสงบพร้อมเพียง แต่จะช่วยส่งเสริมให้การปฏิบัติธรรมเจริญงอกงามขึ้นด้วย ก็ฝากเอาไว้เป็นข้อคิดสำหรับวันแรกของการเข้าพรรษาในปีนี้