แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
เมื่อเช้าได้พูดจำแนกว่าความสงบมี 2 อย่าง อย่างแรกคือ สงบเพราะไม่รู้ เช่น หลับตา ปิดหู หรือไปอยู่ในห้องที่เงียบๆ ไม่มีผู้คนส่งเสียงอึกทึก อยู่ในป่า ไม่มีความวุ่นวายให้มากระทบที่ตา ที่หู ที่จมูก หรือที่กาย พอไม่มีอะไรมากระทบใจก็สงบได้ หรืออยู่ท่ามกลางผู้คนแต่ผู้คนไม่ส่งเสียงดังใจก็สงบได้ เรียกว่าสงบเพราะไม่รู้หรือตัดการรับรู้ทางอายตนะทั้ง 5 ส่วนการรับรู้ทางใจก็ตัดด้วยการบังคับจิตให้แนบแน่นอยู่กับสิ่งใดสิ่งหนึ่ง เช่น ลมหายใจ หรือวัตถุภายนอก ที่เรียกว่ากสิณ แบบนี้เป็นการบังคับจิตไม่ให้ไปรับรู้อะไรข้างนอก เรียกว่าเป็นการควบคุมอายตนะทั้ง 6
ความสงบอีกแบบหนึ่ง สงบเพราะรู้ รู้ในที่นี้ไม่เพียงแต่รู้ว่ามีเสียงดัง แต่ยังรู้อาการของใจเวลากระเพื่อม เช่น ไม่พอใจที่ได้ยินเสียง อาจจะเป็นเสียงดังหรือเป็นเสียงต่อว่า มีแดดมากระทบรู้สึกร้อนเกิดทุกขเวทนาขึ้นแล้วความไม่พอใจก็ตามมา แต่มีสติรู้ทันทั้งทุกขเวทนาและก็ใจที่กระเพื่อมหรือไม่พอใจ พอรู้ใจก็จะสงบลง สงบเพราะว่าวาง ไม่เข้าไปในอารมณ์นั้น หรือจะเรียกว่าไม่ยึดในอารมณ์นั้นก็ได้ เวลามีอารมณ์เกิดขึ้นในใจ เผลอเมื่อไรใจก็ไปยึดเลยว่าเป็นเรา มีความโกรธเกิดขึ้น เผลอไปเมื่อไรใจก็ไปคิดว่าเราโกรธ ความโกรธเป็นของเรา ความปวดเมื่อยก็เหมือนกัน ที่เรียกว่าเป็นทุกขเวทนา พอมันเกิดขึ้นที่ขาที่แข้ง เผลอเมื่อไรใจก็ไปยึดว่าเราปวดเราเมื่อย แต่พอเรามีสติรู้ว่ามีเวทนาเกิดขึ้น รู้ว่าความปวดความเมื่อยเกิดขึ้นที่ขาที่กาย จะวางได้ จะไม่เข้าไปเป็นผู้ปวดผู้เมื่อย แต่ว่าเห็นความปวดความเมื่อย แบบนี้เรียกว่า รู้ด้วยสติ
รู้อีกอย่างหนึ่ง รู้ด้วยปัญญา เช่น รู้ว่าไม่เที่ยง รู้ว่าไม่ใช่ตัวไม่ใช่ตน รู้ว่าไม่จีรังยั่งยืน มาแล้วก็ไป พูดง่ายๆ คือรู้ในความเป็นธรรมดาของสิ่งต่างๆ การรู้อย่างนี้ทำให้ใจไม่ไปยึดมั่นถือมั่นตั้งแต่แรก เช่น ไม่ยึดมั่นถือมั่นในทรัพย์สมบัติ มีก็จริงแต่ไม่ยึดมั่น พอหายไปใจก็ไม่ทุกข์ หรือพอไม่ยึดมั่นในหน้าตาไม่ยึดมั่นในตัวตน ใครมาต่อว่าด่าทอก็ไม่ทุกข์ ใจไม่กระเพื่อมไม่รู้สึกโกรธ เพราะว่าไม่ได้รู้สึกเสียหน้าเสียตาอะไรเลย รู้เพราะสติ จะเกิดอารมณ์เกิดความไม่พอใจขึ้นมาก่อน แล้วจึงวาง ส่วนรู้เพราะปัญญาคือ ไม่เปิดโอกาสให้ความหงุดหงิดความไม่พอใจหรือความทุกข์เกิดขึ้นตั้งแต่ทีแรก ต่างกันตรง รู้จากสติเกิดทุกข์แล้วรู้แล้วก็วาง แต่รู้ด้วยปัญญาไม่มีเหตุให้เป็นทุกข์ตั้งแต่แรกแล้ว เพราะฉะนั้นใจก็สงบได้ แม้ว่าจะมีอะไรเกิดขึ้นกับทรัพย์สมบัติ กับคนที่เราเกี่ยวข้องผูกพัน หรือกับกายและใจของเรา
รู้ด้วยสติรวมไปถึงการรู้ทันความคิด เผลอคิดขึ้นมาก็รู้ว่ามีความคิดเกิดขึ้น หรือรู้ว่าใจลักคิด ลักคิดคือแอบคิดหรือเผลอคิด ถ้าไม่รู้ตัวก็คิดเรื่อยเปื่อย แต่พอมีสติก็รู้ทัน ความคิด เหมือนกับขโมยเจอเจ้าของบ้านรีบถอยรีบหนีเลย มีครูโรงเรียนหนึ่งสอนเด็กบอกให้รู้ทันความคิด แต่ว่าใช้คำว่าจ๊ะเอ๋ ให้ใจไปจ๊ะเอ๋ความคิด เด็กรู้จักคำว่าจ๊ะเอ๋อยู่แล้ว ลองนึกภาพจ๊ะเอ๋ คือเหมือนกับเกิดอาการที่เผชิญหน้ากันโดยที่ไม่ได้ตั้งใจ ความคิดพอโดนจ๊ะเอ๋ก็ยอมแพ้ไปเลย เด็กเล็กๆก็รู้ว่าการเจริญสติช่วยทำให้ความคิดหรือความเผลอคิดวูบหายไปได้ อารมณ์ก็เช่นเดียวกันเพียงแค่รู้ทันมันก็ดับหายไป ไม่ต้องไปทำอะไร ไม่ต้องไปกดข่ม ไม่ต้องไปพยายามตัดให้มันขาด
เคยมีคนถามหลวงปู่ดูลย์ อตุโล ซึ่งเป็นลูกศิษย์รุ่นแรกๆ ของหลวงปู่มั่น ถามว่า จะทำอย่างไรถึงจะตัดความโกรธให้ขาด หลวงปู่ท่านตอบว่า “ไม่มีใครตัดความโกรธให้ขาดได้หรอก มีแต่รู้ทัน พอรู้ทันมัน มันก็ดับไป” จากประสบการณ์ของเรา ก็คงจะเคยที่เราโกรธอยู่ดีๆ แล้วพอรู้ทัน เห็นความโกรธดับไปเลย ไม่ต้องไปพยายามไปกดข่ม ไปตัดไปห้าม เพียงแค่รู้เฉยๆ ก็ดับไปได้
แต่คนธรรมดาหรือคนส่วนใหญ่ การรู้เองนี่ยาก บางทีก็ต้องอาศัยคนทัก ที่โรงเรียนแห่งหนึ่งเป็นโรงเรียนในกรุงเทพฯ ผู้ปกครองมีฐานะ เวลาเลิกเรียนมีรถหลายๆคันมาจอดมารอ แล้วผลที่เกิดขึ้นคือรถติด รถติดหน้าโรงเรียนยาวเป็นแถว โรงเรียนพยายามจัดระเบียบ เช่น ให้รถเดินทางเดียว เรียกว่า One way เข้าทางนี้แล้วก็ไปออกทางโน้น แต่มีผู้ปกครองคนหนึ่งอยากจะได้เข้าไปเร็วๆ เพื่อที่จะได้มีที่จอดรถก็เลยเข้าทางประตูออก เข้าทางประตูออกรถก็แล่นฉลุยเลย พอไปถึงลานจอดรถ มีที่จอดรถบังเอิญเหลือแค่คันเดียวก็เข้าไปเสียบในที่จอดรถ สักพักมีรถอีกคันหนึ่งซึ่งจะมาหาที่จอดรถเช่นเดียวกันแต่ว่าเขาถูกแย่งไปแล้ว รถที่มาคันหลังเขาก็ไม่พอใจว่าคันแรกไม่ได้ทำตามกฎระเบียบของโรงเรียน ก็ลงไปต่อว่า ว่าคุณทำอย่างนี้ได้อย่างไร ทำไม่ถูก รถเขาให้เข้าทางประตูเข้าแต่คุณเข้าทางประตูออก ต่อว่าอย่างมีอารมณ์เล็กน้อย คนที่ถูกต่อว่าเขาบังเอิญเป็นนายพลทหารไม่พอใจ ไม่เคยมีใครมาว่าแบบนี้ก็เลยพูดขึ้นมาว่า คุณรู้ไหมผมเป็นใคร สำนวนนี้เราคงได้ยินบ่อยคุณรู้ไหม หรือมึงรู้ไหมกูเป็นใคร ถ้าสุภาพหน่อยก็คุณรู้ไหมผมเป็นใคร ผู้ปกครองคนนั้นก็บอกว่า ผมไม่สนใจว่าคุณเป็นใคร คุณทำผิดกฎระเบียบ พูดจบก็เดินกลับไปที่รถของตัว
คราวนี้นายทหารคนนั้นก็ไม่พอใจ โกรธมากไม่เคยมีใครพูดอย่างนี้กับตัว ก็ไปเอาปืนที่เก็บไว้ในรถออกมา แล้วก็ลงจากรถเดินตามผู้ปกครองคนนั้นไป ผู้ปกครองคนนั้นไม่รู้เรื่องเลยว่าใกล้จะถึงฆาตแล้ว แต่บังเอิญมีพนักงานขับรถโรงเรียนอยู่ในเหตุการณ์เห็น แล้วก็รู้ว่าจะเกิดอะไรขึ้นถ้าเขาไม่ทำอะไร เขาเลยบำเพ็ญตนเป็นพลเมืองดีเข้าไปแทรก ปกติคนที่เป็นพลเมืองดีเจ็บตัวเพราะเข้าไปแทรกแบบนี้ก็หลายรายแล้ว บางทีก็ถึงตาย แต่พนักงานคนนี้แกเป็นคนที่มีไหวพริบปฏิภาณรู้วิธีพูด ก็เข้าไปหานายทหารคนนั้นซึ่งกำลังถือปืนอยู่ แล้วก็เข้าไปแตะเบาๆที่แขน แล้วก็พูดขึ้นว่า ท่านครับ ท่านมารับลูกไม่ใช่หรือครับ พูดเท่านี้นายทหารคนนั้นได้สติเลย ปรากฏว่าความโกรธหายไปเลย เปลี่ยนใจเดินกลับไปที่รถเอาปืนเก็บ ความโกรธหายไปเลยเนื่องจากมีคนมาทัก แทนที่จะทักอย่าทำๆ เวลาทักอย่าทำๆ จะยิ่งทำให้เกิดความโกรธมากขึ้น แต่เมื่อทักถึงลูก สติมาเลย แล้วสติทำห้เห็นความโกรธ พอเห็นความโกรธหลุดเลย และเป็นอานุภาพของสติ คือพอรู้ทัน รู้ว่าอารมณ์เกิดขึ้น รู้ว่ามีความโกรธ ความโกรธหายไปเลย
มีอีกรายเป็นนักศึกษาปี 4 มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ คณะสังคมศาสตร์ปีสุดท้ายต้องไปฝึกงาน อาจารย์อยากจะให้ไปฝึกกับหน่วยงานราชการ คล้ายๆเป็นหน่วยงานประชาสงเคราะห์ นักศึกษาอยากจะไปทำงานกับองค์กรชาวบ้าน องค์กร NGO คุยกันก็ตกลงกันไม่ได้ สุดท้ายพบกันครึ่งทาง ไปฝึกงานที่ทำงานกับองค์กรชาวเขาที่ภาคเหนือ ตกลงกันเรียบร้อย แต่พอไปถึงที่จริงปรากฏว่าอาจารย์ติดต่อเสร็จสรรพเรียบร้อย ให้ไปทำงานกับกรมประชาสงเคราะห์ที่ทำงานกับชาวเขา นักศึกษาไม่พอใจมากว่าตกลงกันแล้วไม่ทำตามที่ตกลง คืนนั้นร้อนรุ่มมากมีความไม่พอใจ กว่าจะหลับก็คงนานเลยทีเดียว วันรุ่งขึ้นนักศึกษาพบอาจารย์ที่ปรึกษาอีกคนหนึ่ง เป็นอาจารย์ที่ปรึกษาคนละคนที่ตกลงกันไว้ เพียงแค่เห็นนักศึกษาก็ต่อว่าด้วยความไม่พอใจ อาจารย์ก็ดีพยายามอธิบายโดยไม่โกรธ แต่นักศึกษายังว่าไม่หยุด ถึงจุดหนึ่งอาจารย์พูดขึ้นมา ทีแรกก็เรียกชื่อก่อน การเรียกชื่อก็ดีที่ทำให้เกิดสติ พอเรียกชื่อเสร็จก็พูดว่า คิ้วของเธอผูกเป็นโบว์เลย นักศึกษาพอได้ยินก็เกิดสติรู้สึกตัวเลยว่าตัวเองกำลังโกรธ เพียงแค่รู้สึกตัวว่ากำลังโกรธเท่านั้น ความโกรธก็หายไปเลย แล้วเป็นประสบการณ์ที่ทำให้เห็นถึงอานิสงส์ของสติเลย ว่ามีความสามารถหรือมีอานุภาพอย่างนี้เอง ทำให้เกิดศรัทธาในการเจริญสติ ทีหลังก็มาบวช ช่วงนี้ก็ยังบวชอยู่
แบบนี้เป็นตัวอย่างว่า สติ เพียงแค่รู้ว่าตัวโกรธหรือรู้ว่ากำลังโกรธอยู่ ก็หลุดไปเลย ที่ยังโกรธอยู่เพราะว่าไปยึดเอาไว้ และที่ยึดเอาไว้เพราะว่าไม่มีสติ ไม่รู้ตัว แต่ทั้ง 2 กรณีนี้รู้ตัวเพราะว่ามีคนทัก แต่ถ้าเกิดว่าไม่มีใครทักจะทำอย่างไร ดังนั้นต้องสร้างสติของเราให้เป็นที่พึ่งพาของเราอย่างแท้จริง จะรอให้คนอื่นเป็นตัวเรียกสติของเราให้กลับมา ไม่ทันกาลหรือเป็นไปได้ยาก การเจริญสติถ้าเราเจริญสติอย่างที่เราทำอยู่จะทำให้สติของเราออกมาทำงานได้ทันกาล ไม่ว่าจะมีความคิดหรืออารมณ์ความรู้สึกเกิดขึ้น จะเป็นลักคิดหรือเผลอโกรธ พอมีสติรู้ทันปุ๊บมันหลุดเลย
ให้สติทำงาน อย่าไปใช้ความคิด หลายคนเวลาโกรธหรือเวลามีความคิดฟุ้งซ่าน อยากจะจัดการกับความโกรธ อยากจะจัดการกับความคิดฟุ้งซ่าน ก็พยายามใช้ความคิดเข้าไป ความคิดไม่สามารถจะวางได้ หรือไม่สามารถหยุดหรือระงับได้ด้วยความคิด เหมือนกับเราจะขับไล่ความมืด เราใช้ความมืดขับไล่ความมืดไม่ได้ เราต้องใช้แสงสว่างขับไล่ความมืด โคลนถ้าเราจะชำระล้าง เราใช้น้ำโคลนชำระล้างไม่ได้เราต้องใช้น้ำสะอาด ความคิดเราจะจัดการจะวางหรือจะทำให้มันเลือนหายไปต้องใช้สติ สติไม่เกี่ยวกับเรื่องความคิดเลย จะเรียกว่าเป็นความรู้สึกก็ได้หรือความรู้สึกตัวเป็นพี่น้องกัน สติเป็นเรื่องของใจ เป็นเรื่องของตาใน ที่ไม่ต้องใช้ความคิด
นักปฏิบัติหลายคนเวลาเจริญสติพยายามใช้ความคิดตลอดเวลา พยายามใช้ความคิดเพื่อหยุดความคิดโดยไม่รู้ตัว ที่เรียกว่าโดยไม่รู้ตัวเพราะว่า เวลาเจริญสติมีความอยากที่จะหยุดคิด ความอยากที่จะหยุดคิดเป็นความคิดอีกแบบหนึ่งเหมือนกัน แล้วพอพยายามหยุดคิดด้วยความคิดจะไม่สำเร็จ แล้วก็กลับเกิดโทษด้วย เช่น เครียด ปวดหัว เคยมีผู้ปฏิบัติคนหนึ่งถามหลวงปู่ดูลย์ว่า พยายามหยุดความคิดแต่ว่าทำไมยิ่งทำก็ยิ่งปวดหัว แน่นหน้าอก รู้สึกมึนรู้สึกเครียด หลวงปู่ท่านพูดว่า “ให้เลิกล้มความคิดที่จะหยุดคิด ก็หมดเรื่อง” ให้เลิกล้มความคิดที่จะหยุดคิด เมื่อไรก็ตามที่อยากจะหยุดความคิดก็เป็นความคิดอีกแบบหนึ่ง เราจะใช้ความคิดหยุดความคิดไม่ได้ ต้องใช้สติระงับความคิด คือรู้ทัน เหมือนกับเราจะขับไล่ความมืดก็ต้องใช้แสงสว่าง
การเจริญสติ โดยเฉพาะแนวทางหลวงพ่อเทียนไม่ต้องใช้ความคิดเลย ใช้แต่ความรู้สึกตัวเท่านั้น หรือทีแรกทำใหม่ๆ อาจจะไม่รู้ว่าความรู้สึกตัวคืออะไร ก็ใช้ความรู้สึกแทน รู้สึกว่ากายเคลื่อนไหว ยกมือรู้สึกไหมว่ามือเคลื่อน เดินรู้สึกไหมว่าตัวเคลื่อนขาขยับ รู้สึกตรงนี้ฝรั่งเรียกว่า Sensation ไม่ใช่ Feeling คำว่า Feeling เป็นทุกขเวทนาหรือสุขเวทนา เวลาเจริญสติใหม่ๆ ครูบาอาจารย์ก็บอกแล้วย้ำด้วยว่า อย่าเพิ่งไปสนใจความคิด แต่บางคนไม่เข้าใจก็จะไปพยายามสนใจหมกมุ่นคอยจับจ้องความคิด เพราะตั้งใจหรืออยากจะไปหยุดความคิด แต่เพียงทันทีที่อยากที่จะหยุดความคิดก็เป็นความคิดอีกแบบหนึ่งไปแล้ว คิดที่จะหยุดคิดก็เลยหยุดไม่ได้ เหมือนกับว่าเอาความมืดมาไล่ความมืดก็ไม่มีทาง
วางความคิดที่คิดจะหยุดคิด อย่าเพิ่งไปสนใจความคิด ให้รู้สึก ให้ความรู้สึกที่กาย ที่มือ หรือทั้งตัว เป็นตัวเรียกจิตที่ฟุ้งซ่านที่เผลอออกไปท่องเที่ยว ระเหเร่ร่อนจนกระทั่งระหกระเหินกระเซอะกระเซิงให้กลับมา ความรู้สึกทางกายจะเป็นตัวเตือนตัวเรียกให้กลับมา ให้จิตกลับมาอยู่กับเนื้อกับตัว เมื่อจิตมาอยู่กับเนื้อกับตัวก็เกิดความรู้สึกตัวขึ้นมา เมื่อเราเขยื้อนขยับมีความรู้สึกเกิดขึ้น แต่เราจะไม่รู้สึกเลยถ้าหากว่าเราเผลอจมหายเข้าไปในความคิด เดินก็ไม่รู้ว่าเดิน เขยื้อนขยับยกมือก็ไม่รู้ว่าเขยื้อนขยับหรือยกมือ ความรู้สึกหายไปเลย แต่บางช่วงจะมีจังหวะที่ความรู้สึกแทรกเข้ามาให้เรารับรู้ได้ เช่น รู้สึกว่ากำลังยกมือ รู้สึกว่ากำลังเดิน ตรงนี้แหละที่จะเหมือนเสียงเรียกเสียงเตือนให้สติกลับมา
จิตของเรา อาตมาชอบเปรียบเทียบเหมือนลูกหมาที่ยังไม่ได้รับการฝึกให้เชื่อง จะชอบเล่นชอบวิ่งออกไปนอกบ้าน เจ้าของคือเราไม่อยากให้มันออกไปเที่ยวเล่นนอกบ้าน เพราะอันตรายหรือจะไปติดโรคไปติดอะไรมา เราจะทำอย่างไรไม่ให้มันออกไปเที่ยวนอกบ้าน วิธีการที่คนส่วนใหญ่ใช้คือล่ามโซ่เอาไว้หรือกักขังมันเอาไว้ ซึ่งก็ได้ผลแต่เป็นผลชั่วคราว ได้ผลเร็วก็จริงแต่เป็นผลชั่วคราว ถ้าปล่อยมันเมื่อไรถ้าโซ่ขาดเมื่อไรก็วิ่งออกนอกบ้าน แต่ว่าอีกวิธีหนึ่งคือ อนุญาตให้มันมีอิสระที่ไปไหนก็ตาม ถ้ามันอยู่ในบ้านก็ดีไป แต่ถ้ามันวิ่งออกไปนอกบ้านหน้าที่ของเราคือเรียกมัน แต่ก่อนกว่าจะรู้ว่ามันออกไปนอกบ้านมันก็ไปไกลแล้ว ต้องส่งเสียงเรียกอยู่นานกว่ามันจะกลับมา แต่ตอนหลังเราไวขึ้น พอมันออกไปสักพักเรารู้เลย เรารู้เสร็จเราก็เรียกมัน ใหม่ๆมันออกไปไม่ยอมกลับ แต่ว่าเราเรียกบ่อยๆ มันก็กลับมา ทำไปๆมันจะกลับมาเร็วเข้าๆ ขณะเดียวกันเราก็รู้ทันได้ไวขึ้น ส่วนนี้มันไปปุ๊บมันก็กลับมา บางทีไม่ต้องเรียกมันรู้เอง พอมันยื่นขาย่างเท้าออกไปไม่กี่ก้าวมันก็รู้ตัวแล้วมันกลับมาเอง ในที่สุดมันก็อยู่บ้านได้นาน ก็ยังออกไปอยู่แต่ว่านานๆไปที หรือไปประเดี๋ยวเดียว
จิตของเราถ้าเราฝึกสติจะเป็นอย่างนั้น คือเราให้อิสระที่มันจะอยู่หรือไปก็ได้ แต่ถ้าไปเมื่อไรก็ใช้การเรียก การเรียกคือหมายถึงความรู้สึก รู้สึกว่ามือกำลังเคลื่อนไหว รู้สึกว่าเท้ากำลังขยับ ตรงนั้นจะเหมือนกับเสียงเรียกเตือนให้จิตกลับมาจากการท่องเที่ยว จากการจมหายเข้าไปในความคิดและอารมณ์เพลิดเพลินในแสงสี ใหม่ๆก็กลับมาช้า แต่พอเราทำบ่อยๆจะกลับมาแล้วอยู่กับบ้าน คืออยู่กับเนื้อกับตัว อยู่กับเนื้อกับตัวคืออยู่กับกายนั่นเอง กายเป็นเหมือนบ้าน เวลาเรายกมือสร้างจังหวะ เดินจงกรม ถ้ามีสติใจจะอยู่กับกาย จะรู้กายเคลื่อนไหว ถ้าจิตไม่อยู่กับกายก็ไม่รู้กายเคลื่อนไหว คือไม่รู้สึก ในการปฏิบัติมีหลักว่า “ให้รู้กายเคลื่อนไหว ให้รู้ใจนึกคิด” รู้กายเคลื่อนไหวเพราะว่าจิตอยู่กับกาย “ตัวอยู่ไหนใจอยู่นั่น” สิ่งนี้เป็นหลักเบื้องต้นเลย
ตัวอยู่ไหนใจอยู่นั่น เพราะฉะนั้นเมื่อตัวทำอะไรกายทำอะไร ใจก็รับรู้ก็รู้สึก แต่ถ้ามีอาการเผลอนึกคิดไปออกจากกาย เผลอคิดนึกไปสารพัด สติจะทำหน้าที่รู้ทัน สติจะทำหน้าที่รู้เตือนจิตกลับมาอยู่กับปัจจุบัน กลับมาอยู่กับเนื้อกับตัว กลับมาอยู่กับกาย ทั้งหมดนี้เกิดขึ้นโดยที่ไม่ต้องใช้ความคิดเลย ใช้แต่ความรู้ ทีแรกใช้ความรู้สึกก่อน ต่อมาใช้เป็นความรู้สึกตัว แล้วต่อไปสติจะรู้ทันเมื่อใจคิดนึก รู้ว่ามีอารมณ์เกิดขึ้น รู้อาการกระเพื่อมของใจ ใจฟูใจแฟ้บก็รู้ รู้ในที่นี้คือรู้อาการความเป็นไปของใจ ไม่ว่าจะเป็นความคิด ไม่ว่าจะเป็นการปรุงแต่งความคิด หรือการปรุงแต่งเป็นอารมณ์ ซึ่งมักจะเป็นปฏิกิริยาต่อผัสสะที่เกิดขึ้นไม่ว่าจะเป็นทางตา หู จมูก ลิ้น กาย หรือแม้แต่ใจ อารมณ์ไม่ได้เกิดขึ้นเอง เกิดขึ้นเมื่อมีผัสสะ ผัสสะจะรับรู้ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย หรือแม้แต่ทางใจก็ตาม แบบนี้รวมถึงปฏิกิริยาต่อเวทนาด้วย มีความปวด ความเมื่อย ความสบาย จะปรุงแต่งเป็นอารมณ์ ชอบก็ดีชังก็ดี พอใจก็ดีไม่พอใจก็ดี หวงแหนหรือเกลียดชัง ทั้งหมดเป็นอารมณ์ที่เกิดขึ้นเป็นประจำ เราจัดการกับมันได้ เพียงแต่รู้ทัน รู้ว่ามันมีอยู่ ไม่ต้องกดข่มมัน
ฉะนั้นการเจริญสติจะทำให้ในที่สุดเราเป็นเจ้านายความคิดได้ หรือเป็นอิสระจากความคิดก็ได้ คนทุกวันนี้คิดเก่ง แต่คิดไปๆ มาๆ กลายเป็นว่าเป็นทาสของความคิด หยุดความคิดไม่ได้ นอนไม่หลับเพราะว่าคิดอยู่นั่นแหละ จะให้หยุดคิดก็หยุดไม่ได้ ถามว่าคิดแล้วทุกข์ไหม ก็ทุกข์ คิดถึงลูกที่ตายจากไป คิดถึงความผิดพลาดในอดีต คิดถึงคนรักที่ทรยศหักหลังนอกใจเรา ก็รู้ว่าคิดแล้วเสียใจ คิดแล้วโกรธ แต่หยุดคิดไม่ได้ คนทุกวันนี้เป็นทาสของความคิดมาก แทนที่เราจะเป็นนายความคิดแต่กลับให้ความคิดเป็นนายเรา แต่ถ้าเรามีสติเราจะเป็นนายความคิดได้มากขึ้น ถึงเวลาวางก็วางได้ ถึงเวลาจะคิดก็คิดอย่างมีทิศทาง ไม่คิดสะเปะสะปะ คิดวกคิดวน คิดฟุ้งซ่าน หลายคนคิดเก่งแต่คิดไม่เป็นเรื่องไม่เป็นราว คิดไม่มีทิศทางไม่มีหางเสือ วกวนไปมาซ้ำแล้วซ้ำเล่า แบบนี้ก็เรียกว่าคุมความคิดไม่ได้
แต่ถ้าเรามีสติถึงเวลาคิดก็คิดได้เป็นเรื่องเป็นราวมีทิศมีทาง ถึงเวลาจะวางความคิดก็วางได้ ไม่ใช่ตั้งใจที่จะหยุดคิด อย่างที่บอกตั้งแต่แรกว่าสิ่งนั้นก็เป็นความคิดอีกแบบหนึ่ง ซึ่งใช้ความคิดหยุดความคิดไม่ได้ แต่ใช้สติความรู้ทันความคิดก็จะหยุดก็จะวางความคิดได้ และความสงบจะเกิดขึ้นได้ไม่ยาก เพราะฉะนั้นต้องแยกให้ออกว่าการเจริญสติไม่ใช่เรื่องความคิด อาจจะอาศัยความคิดเป็นตัวช่วยในการนำทางการเจริญสติให้ถูกต้อง อย่างที่ฟังตอนนี้พวกเราก็ใช้ความคิดทั้งนั้น ต้องใช้ความคิดถึงจะเข้าใจ แต่พอลงมือปฏิบัติแล้วก็ต้องวางความคิดนั้นลง เราต้องรู้จักใช้ความคิดให้เป็นประโยชน์ ไม่ได้แปลว่าเราปฏิเสธความคิด หรือเราเป็นศัตรูเราเป็นปรปักษ์กับความคิดนั้นไม่ใช่ แต่เราต้องรู้จักเป็นนายความคิด ไม่ใช่ให้ความคิดเป็นนายเรา แล้วสติจะช่วยเราให้เป็นนายความคิดได้