แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
พระอาจารย์ไพศาล วิสาโล วัดป่าสุคะโต แสดงธรรมเย็นวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2567
เวลาเราเดินตามทางไม่ว่าในวัด ในหมู่บ้าน ในสวน หรือว่าในเมือง เราอยากให้ทางนั้นเป็นทางที่ราบเรียบ โปร่ง โล่ง แต่บางครั้งเราก็เจอทางซึ่งมีหนาม มีเศษแก้ว ตะปู ก้อนหินระเกะระกะ อันนี้ก็เป็นสิ่งที่เราเลือกไม่ได้ แต่เมื่อเราเจอสิ่งเหล่านี้แล้ว มันไม่ได้แปลว่าเราจะต้องทุกข์ ต้องเจ็บ ต้องปวดเพราะสิ่งเหล่านี้ เราจะเจ็บจะปวดก็ต่อเมื่อเราเอาเท้าไปเตะหิน เอานิ้วไปจิ้มกับหนาม ปัดปลายมือไปโดนหนาม หรือว่าเดินไปเหยียบเศษแก้ว เศษตะปู จะเดือดร้อนหรือไม่ จะเจ็บจะปวดหรือไม่ มันอยู่ที่เรา หรืออยู่ที่การกระทำของเรา ลำพังมีสิ่งเหล่านั้นบนทาง ไม่ได้แปลว่าเราจะต้องเจ็บ ต้องปวด ต้องทุกข์ พูดอีกอย่างหนึ่งก็คือ
เจออะไรก็ไม่สำคัญเท่ากับว่าเราเกี่ยวข้องกับมันอย่างไร หรือเราปฏิบัติต่อมันอย่างไร
มีหนามแหลมแต่เราเดินหลบ เจอเศษแก้ว เศษตะปู เราก็ไม่เดินเหยียบ หรือว่ามีก้อนหิน เราก็ไม่เดินไปเตะ หรือไปแบกมัน เราก็สามารถจะเดินผ่านทางนั้นไปได้อย่างปลอดภัย ธรรมดาของคนเราอยากให้ชีวิตของเรานี้ราบเรียบเหมือนถนน 8 เลนเลยก็ว่าได้ หรือไม่ถึงกับ 8 เลนแต่ว่าก็เป็นถนนที่ไม่ขรุขระ ลาดยาง หรือว่าเทปูน บ่อยครั้งเส้นทางที่เราผ่านหรือสิ่งที่เราเจอะเจอในชีวิต มันเปรียบได้กับเศษแก้ว เศษตะปู ก้อนหิน หรือหนาม จะขอให้ชีวิตเราราบเรียบเหมือนถนนที่ไม่มีสิ่งเหล่านี้เลยก็ขอได้ แต่ว่าในความเป็นจริงเราหนีไม่พ้น เราต้องเจอ แต่เจอแล้วไม่ได้แปลว่าเราจะต้องทุกข์เสมอไป จะทุกข์หรือไม่อยู่ที่ว่าเราเกี่ยวข้องกับสิ่งนั้นอย่างไร บางครั้งเราพบว่าชีวิตมีหนี้สิน มีงานการมากมายที่จะต้องสะสาง หรือว่าเจอคำต่อว่าด่าทอ เจอความเจ็บความป่วย พวกนี้ถ้าว่าไปมันก็เหมือนกับหนามแหลมที่เราเจอตามทางที่เดินผ่าน ไม่ใช่แค่หนามแหลมอย่างเดียว เศษแก้ว เศษตะปู หินก้อนใหญ่ที่วางระเกะระกะ อาจจะมีกองขยะอยู่ด้วย แต่ว่าแม้เราต้องเจอะเจอสิ่งเหล่านี้ ไม่ได้แปลว่าเราต้องทุกข์
[05:25] ที่บอกว่า “เราเจออะไร ไม่สำคัญเท่ากับว่าเราปฏิบัติกับมันอย่างไร” เจอก้อนหินแต่ถ้าไม่แบกมันหรือไม่ไปเดินเตะ มันจะเหนื่อย มันจะปวดได้อย่างไร แต่หลายคนก็อดไม่ได้ที่จะไปเดินเตะมันหรือว่าแบกมันเอาไว้ พอแบกแล้วก็จะบอกว่า ทุกข์ ทุกข์ เหนื่อย เหนื่อยเหลือเกิน แต่ก็ไม่เคยถามตัวเองเลยว่า แล้วแบกมันทำไม ในเมื่อแบกแล้วทุกข์ ในพระไตรปิฎก พระพุทธเจ้าเคยตรัสเอาไว้ว่า มีคนกลุ่มหนึ่งบอกว่า “ร้อน ร้อนเหลือเกิน” แต่มือเขาไปจับไปถือไต้ซึ่งจุดไฟไว้ แล้วมีคนบอกเขาว่า “ก็ถ้าไม่อยากร้อน ก็วางคบไฟลงสิ” แต่เขาไม่ยอมวาง แล้วก็บอกว่าร้อน ร้อน คือมองไม่เห็นแม้กระทั่งว่าคบไฟนี้ทำให้ร้อน แต่ก็ยังมีบางคน ที่จริงก็หลายคน เวลาแบกหินแล้วบอกว่า “เหนื่อย เหนื่อยเหลือเกิน” แล้วไปโทษว่าเป็นเพราะหิน อันนี้ดีหน่อย ไม่เหมือนคนที่ถือไต้ติดไฟ แล้วยังไม่รู้เลยว่าไฟนี้ทำให้ร้อน ขณะที่บางคนแบกหินแล้วรู้สึกว่าเหนื่อย ก็ไปคิดว่าหินนี้มันทำให้เหนื่อย
ที่จริงไม่ใช่เพราะเหนื่อยเพราะทุกข์ แต่เพราะแบกหินต่างหาก
หลายคนก็บอกว่าทุกข์เพราะหนี้สิน ที่จริงไม่ใช่ทุกข์เพราะหนี้สิน แต่ทุกข์เพราะไปแบกหนี้สินเอาไว้ มันต่างกัน ทุกข์เพราะหนี้หรือทุกข์เพราะแบกหนี้สิน แบกหนี้คือไปคิดถึงมันอยู่ตลอดเวลา หลวงพ่อพยอม วัดสวนแก้ว ท่านกู้เงินจากธนาคารเพื่อมาช่วยเหลือชาวบ้านในนามของมูลนิธิวัดสวนแก้ว หลายสิบล้าน มีคนถามท่านว่า “หลวงพ่อเป็นหนี้เขาหลายสิบล้าน หลวงพ่อเหนื่อยไหม เครียดไหม” ท่านตอบดี ท่านบอกว่า “อาตมาจะเหนื่อยจะเครียดทำไม คนที่ควรจะเหนื่อย ควรจะเครียดมากกว่าก็คือ เจ้าของเงินนั่นแหละ เพราะไม่รู้ว่าอาตมาจะมีเงินจ่ายหนี้เขาหรือเปล่า แต่อาตมาไม่เครียด ไม่ทุกข์หรอก” ท่านพูดอย่างนี้ ไม่ได้แปลว่าท่านไม่สนใจที่จะหาเงินมาชำระหนี้ ท่านก็ขวนขวายในการหาเงินเพื่อชำระหนี้ แต่ว่าท่านไม่ทุกข์ทั้งที่หนี้เยอะหลายสิบล้าน แต่ไม่ได้แบก ไม่ได้มีความวิตกกังวล แถมยังบอกว่าคนที่ควรจะวิตกกังวล ควรจะทุกข์มากกว่าก็คือเจ้าของเงินว่าอาตมาจะมีปัญญาจ่ายหนี้ให้เขาหรือเปล่า
[09:47] เพราะฉะนั้นแม้จะมีก้อนหินอยู่บนทางเดิน แต่ถ้าเราไม่แบก เราก็ไม่ทุกข์ เราก็เพียงแต่เดินหลีกมันหรือไม่เดินเตะมัน เจอหนามก็อย่าไปเหยียบ ไปเดินเตะ หรือเอามือไปทิ่ม เจอเศษแก้วก็อย่าไปเดินเหยียบ เห็นตะปูก็อย่าไปจับเอาตะปู ถือเอาตะปูมาทิ่มตัวเอง ถ้าไม่ทำอย่างนั้นก็ไม่ทุกข์ แต่คนส่วนใหญ่ก็ทำอย่างนั้น กายอาจจะไม่ทำแต่ใจนั้นทำ เวลาได้ยินใครต่อว่าด่าทอ ก็เอาคำพูดของเขามาทิ่มแทงใจ ไปคว้าเอาคำพูดของเขาซึ่งพูดไปแล้วเมื่ออาทิตย์ที่แล้ว ไปคลำ ไปคว้ามา แล้วก็เอามาทิ่มแทงใจให้เจ็บให้ปวด หลวงพ่อชาท่านเคยถามลูกศิษย์ว่า “ถ้ามีคนมาบอกว่าเราเป็นหมา เราจะรู้สึกอย่างไร” ลูกศิษย์คนหนึ่งบอกว่า “ในเมื่อเราอยู่ดีๆ แล้วมีคนบอกว่าเราเป็นหมา มันก็ต้องโกรธเป็นธรรมดาสิครับ”
หลวงพ่อชาบอกว่า “ถ้าเราโกรธก็แสดงว่าเราเป็นหมาสิ” แล้วท่านอธิบายต่อ “เราโกรธ เพราะเราไปสนใจกับคำด่าว่าของเขา ในเมื่อเราไม่ได้เป็นหมา เราจะไปสนใจทำไมกับคำด่าว่าของเขา” เราไม่สนใจก็ไม่ทุกข์ แต่เราทุกข์เพราะอะไร เพราะเราไปสนใจ ไปเก็บเอาคำด่าว่านั้นมากรีดแทงใจ ไม่ต่างจากการไปหยิบเอาเศษแก้วเศษตะปูที่วางอยู่บนพื้น หรือที่เขาถมถุยคายออกมา เก็บเอามาแล้วก็มาทิ่มแทงใจเรา แล้วปากก็บอกว่า รักตัวเอง รักตัวเอง แต่ว่ากลับทำร้ายตัวเองด้วยวิธีนี้อยู่บ่อยๆ
ความเจ็บป่วยก็เหมือนกัน หลวงพ่อคำเขียนท่านพูดดี ท่านบอกว่า “ความเจ็บความปวดนี้มันไม่ได้ลงโทษเรา แต่ความเป็นผู้ปวดต่างหากที่มันลงโทษเรา ความปวดมีไว้ดู มีไว้เห็น ไม่ใช่เข้าไปเป็น” ถ้าเราเกี่ยวข้องกับความปวดเป็น มันก็แค่เห็นความปวด แต่ว่าไม่ไปยึดมั่นสำคัญหมายว่า ความปวดเป็นเรา เป็นของเรา อันนี้คือความหมายของคำว่า “ไม่เข้าไปเป็น” ปวดตรงไหนก็อย่าไปจดจ่อตรงนั้น มีคุณยายคนหนึ่งหกล้ม ปรากฏว่ากระดูกแขนนี้หัก แต่คุณยายก็สงบ ทำธุระเสร็จจึงไปโรงพยาบาล ไปกับลูกสะใภ้ ให้หมอรักษา หมอจัดกระดูกแล้วใส่เฝือก ในช่วงที่จัดกระดูกอยู่นั้น หมอต้องฉีดยาชาเพื่อที่จะจัดกระดูกให้เข้า แต่ยายบอกว่าไม่ต้อง หมอก็ทำให้จนเสร็จ พอกลับไปถึงบ้าน ลูกสะใภ้ถามยายว่าไม่เจ็บหรือ เธอเห็นสีหน้าของยายแล้วรู้สึกว่าเจ็บ แต่ว่ายายไม่เห็นร้อง หรือพูดอะไร หรือแสดงอาการอะไรเลย ยายบอกว่า “มันก็เป็นสักว่าเวทนา เราก็อย่าไปยุ่งกับมัน”
อย่าไปยุ่งกับมัน คือ ใจอย่าไปยุ่งกับมัน อย่าไปยุ่งกับเวทนา ถ้าพูดแบบภาษาของหลวงพ่อคำเขียนก็คือว่า เห็นมัน ดูมัน อย่าเข้าไปเป็นมัน อย่าเข้าไปยึด ก็เหมือนกับว่ามีหินหรือมีหนามอยู่ เราก็เพียงแค่ไม่เดินเตะมัน เราก็ไม่เจ็บ หรือว่ามีหินแต่ไม่ไปแบกมัน มันก็ไม่เหนื่อย ความพิการก็เหมือนกัน อย่างอาจารย์กำพลพิการตั้งแต่คอลงมา ตั้งแต่ 24 ปีจนอายุเกือบ 60 ต้นๆ จึงเสียชีวิต แต่ว่าท่านทุกข์ประมาณ 10 กว่าปี หลังจากนั้นท่านก็ไม่ทุกข์เลย ท่านบอกว่า “จิตลาออกจากความพิการแล้ว” ตอนที่ทุกข์เพราะจิตนี้ไปยึดว่าเราพิการ เราพิการ ที่จริงมันมีแต่กายพิการ แต่ใจไม่ได้พิการด้วย พอมาปฏิบัติเจริญสติเข้าใจเรื่องรูปนาม ก็เลยรู้ว่าที่ทุกข์นี้เพราะไปยึดว่าความพิการเป็นเราเป็นของเรา จิตมันเลยทุกข์ แต่พอเห็นว่าที่ทุกข์นี้เป็นกายทุกข์ มันคือรูปทุกข์ไม่ใช่เราทุกข์ เพราะมันไม่มีเราตั้งแต่แรกแล้ว ท่านบอกว่าจิตลาออกจากความทุกข์เลย พิการยังพิการอยู่ แต่ว่าใจไม่ทุกข์แล้ว ก็คือแม้จะมีหินวางอยู่บนถนนแต่ก็ไม่ไปแบกมัน
[16:20] ฉะนั้นต้องทำความเข้าใจให้ดี เส้นทางชีวิตของเราก็เหมือนกับทางเดิน ที่บางครั้งมันก็มีหนาม มีกรวด มีหิน บางทีมีเปลวไฟ มีกองไฟ มีเศษแก้ว เศษตะปู แต่มีแล้วไม่ได้แปลว่าเราจะต้องทุกข์ทันที จะทุกข์หรือไม่อยู่ที่ว่าเราเกี่ยวข้องกับมันอย่างไร มีกองไฟ ก็อยู่ห่างๆ อย่าเข้าไปเดิน เข้าไปเหยียบ หรือเข้าไปใกล้มัน ที่จริงไม่ใช่เฉพาะปัญหางานการ หนี้สิน ความเจ็บป่วย คำต่อว่าด่าทอ ซึ่งเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นด้วยการรับรู้ทางตาหูจมูกลิ้นกายเท่านั้น สิ่งแย่ๆ ที่มันเกิดขึ้นกับใจคือ อารมณ์ เช่น ความโกรธ ความเศร้า ความเสียใจ ความน้อยเนื้อต่ำใจ ความอิจฉา เหล่านี้เกิดขึ้นในใจ สำหรับปุถุชนก็เป็นเรื่องที่หลีกเลี่ยงได้ยากหรือหลีกเลี่ยงไม่ได้ มันก็เหมือนกับเศษแก้ว เศษตะปู หนามแหลม ก้อนหิน หรือกองไฟ ที่เราเจอตามทาง แต่แม้เจออะไรก็ไม่สำคัญเท่ากับว่าเราเกี่ยวข้องกับมันอย่างไร มีความโกรธเกิดขึ้นในใจ ก็ไม่ได้แปลว่าเราต้องทุกข์ทันที มีความเศร้าเสียใจเกิดขึ้นในใจ ก็ไม่ได้แปลว่าเราจะต้องทุกข์ทันที มันอยู่ที่ว่าใจเรานี้ไปเกี่ยวข้องกับอารมณ์เหล่านั้นอย่างไร
ถ้าใจเข้าไปยึดอารมณ์เหล่านั้น หรือใจถลำเข้าไปในอารมณ์เหล่านั้น มันก็ทุกข์เหมือนกับโดนความโกรธเผาลนใจ โดนความเกลียดกรีดแทงใจ หรือว่าเจอปัญหาต่างๆ บีบคั้นใจ หรือเกิดความรู้สึกหนักอกหนักใจ พวกนี้มันล้วนแต่เกิดขึ้นเมื่อใจเข้าไปเกี่ยวข้องกับสิ่งเหล่านั้นไม่ถูกต้อง เหมือนกับเจอหนามก็เดินไปเตะหนาม เจอเศษแก้วก็เดินไปเหยียบมัน เรามีสิทธิ์ที่จะไม่ไปเหยียบมันได้ เราเลือกที่จะไม่เอามือไปทิ่มหนามแหลมทำได้ เราเลือกที่จะไม่ไปแบกหินก้อนนั้น อันนี้อยู่ในวิสัยที่เราเลือกได้ อารมณ์ต่างๆ มันเกิดขึ้นในใจ แม้เราจะห้ามไม่ให้มันเกิดขึ้นไม่ได้ ตามวิสัยปุถุชนเมื่อมีการกระทบ เจอสิ่งที่ไม่ถูกใจ เจอสิ่งที่ไม่พอใจก็เผลอ เรียกว่ามีผัสสะ แล้วก็ไม่มีสติเมื่อเกิดผัสสะ มันก็เลยเกิดอารมณ์ปรุงแต่งขึ้นมา
เผลอไปชั้นหนึ่งแล้ว แต่ว่าเรายังมีสิทธิ์ที่จะไม่เผลอครั้งที่ 2 ก็คือว่าเมื่ออารมณ์มันเกิดขึ้นแล้ว ไม่เข้าไปเกี่ยวข้องกับอารมณ์นั้น ก็แค่ดูมัน เห็นมัน ไม่เข้าไปยึด ไม่เข้าไปเป็น เหมือนกับมีกองไฟเกิดขึ้นไม่ได้แปลว่าเราจะต้องทุกข์เสมอไป ถ้าเราพาตัวออกห่างจากกองไฟ ไฟมันจะลุกท่วมแรงแค่ไหน แต่ถ้าเราอยู่ห่างจากมัน เราก็ไม่ร้อน เราก็ไม่ทุกข์ แต่ถ้าเราเดินเข้าไปใกล้มัน หรือว่ากระโจนเข้าไปในกองไฟ เราจึงจะทุกข์ คำถามคือเราเลือกที่จะไม่เดินเข้าไปใกล้กองไฟ หรือเราเลือกที่จะไม่กระโจนเข้าไปในกองไฟก็ได้ แต่ทำไมเราทำอย่างนั้น ส่วนใหญ่ที่ทุกข์นี้เพราะเดินเข้าไปใกล้กองไฟ ปล่อยให้ไฟมันเผา หรือบางทีกระโจนเข้าไปในกองไฟ กองไฟที่ว่าคือความโกรธ มีความโกรธเกิดขึ้น กระโดดเข้าไปโจนเข้าไปในความโกรธ อันนี้เพราะความหลง เพราะความหลง เพราะไม่มีสติ แต่ถ้ามีสติ สติจะพาใจถอยห่างจากอารมณ์เหล่านั้น เหมือนกับพาตัวออกห่างจากกองไฟเหล่านั้น หรือจะเรียกว่าไม่ไปแบกไปยึดอารมณ์เหล่านั้นก็ได้
บางเรื่องคิดแล้วมันก็เกิดความหนักอกหนักใจ เกิดความกังวล กังวลเรื่องหนี้สิน กังวลเรื่องงาน แต่ถ้าหากว่าไม่ไปแบก ไม่ไปแบกหิน ไม่ไปแบกเอาความกังวล แต่ว่าเห็นมันเฉยๆ มันก็ไม่หนักใจ เหมือนกับเรามองหินก้อนใหญ่ที่มันวางอยู่ข้างหน้า มันจะหนักแค่ไหนแต่ตราบใดที่เราไม่ได้ไปแบกมัน แค่เห็นมันเฉยๆ ก็ไม่ทุกข์ ฉะนั้นอารมณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นในใจ เมื่อเราขาดสติในการรับรู้รูปเสียงกลิ่นรสสัมผัส เกิดอารมณ์ขึ้นมา ไม่พอใจ หงุดหงิด โกรธ โมโห เศร้า แต่เราก็ยังรักษาใจไม่ให้ทุกข์ได้ ด้วยการที่ไม่เข้าไปยึดเกาะเกี่ยวในอารมณ์เหล่านั้น รวมทั้งความคิดด้วย ความคิดต่างๆ ที่มันเกิดขึ้น บางคนเข้าใจว่าใจต้องไม่คิดเลย ไม่มีความคิดเลยมันจึงจะสงบ อุตส่าห์ตั้งใจมาปฏิบัติเพื่อที่ใจมันจะไม่คิด เพราะคิดว่าหรือเข้าใจว่าคิดแล้วมันจะไม่สงบ แต่ที่จริงก็แม้จะมีความคิดเกิดขึ้น มันก็ไม่ได้ทุกข์ ไม่จำเป็นต้องทุกข์เสมอไปก็ได้ เห็นความคิดแต่ไม่เข้าไปในความคิด ไม่ไปหลงคิดต่อ ไม่หลงปรุงต่อ ขอเพียงแต่เราเห็นมันก็แล้วกัน เหมือนกับเราเห็น เรามีตาเห็นเศษแก้ว เศษตะปู หนามแหลม ถ้าเรามีตามองเห็นสิ่งเหล่านี้ เราก็สามารถที่จะเดินหลบ เดินเลี่ยง ไม่ไปเหยียบมันได้ ฉันใดก็ฉันนั้น
ในใจเรานี้อาจจะมีอารมณ์นานาชนิด ที่ไม่ต่างจากเศษแก้ว เศษตะปู หรือว่าหนามแหลม หรือว่ากองไฟ แต่ถ้าเรามี ‘ตาใน’ ก็สามารถพาใจเดินหลบสิ่งเหล่านี้ได้ ตาในเปรียบได้กับสติ
[24:52] เพราะฉะนั้นแม้จะมีความคิดลบคิดร้ายเกิดขึ้นในใจ แต่ไม่จำเป็นว่าใจจะต้องรุ่มร้อนเสมอไป หรือแม้จะมีความคิดมากๆ ความคิดผุดขึ้นมามากมาย แต่ว่าใจก็ยังสงบได้ อันนี้เรียกว่า สงบไม่ใช่เพราะไม่มีความคิด แต่สงบเพราะว่ารู้ทันหรือเห็นความคิด แล้วก็ไม่ไปยุ่งเกี่ยวข้องเกี่ยวกับมัน คือรู้จักวางมันได้ อันนี้ท่านใช้คำว่า “เห็นความคิด ไม่เข้าไปเป็นผู้คิด” การที่ทำให้ใจไม่มีความคิดเลยนี้ยาก แต่ว่าเมื่อมีความคิดแล้ว รู้ว่ามีความคิด หรือ รู้ทัน อันนี้ง่ายกว่า จะให้ใจไม่มีความหลงเลยนี้ ยาก แต่เมื่อมันหลงแล้วให้รู้ว่าหลง อันนี้ง่ายกว่า แล้วการปฏิบัติ ถ้าเรามาฝึกตรงนี้คือ รู้ทุกอาการที่เกิดขึ้นกับใจ ทุกอารมณ์ที่เกิดขึ้นกับใจหรือเกิดขึ้นในใจ อันนี้มันจะเป็นวิธีที่จะช่วยทำให้เราพบความสงบในใจได้ ที่เรามาปฏิบัติกันก็เพื่ออันนี้ เพื่อให้มีสติหรือความสามารถในการที่จะเห็น รู้ เพื่อที่จะไม่เข้าไปเป็น เพื่อที่จะไม่ถลำเข้าไปในอารมณ์ หรือพูดอีกอย่างหนึ่งก็คือ ไม่ไปเตะหิน ไม่ไปเหยียบหนาม หรือเศษแก้ว หรือไม่ไปคว้าเอาเศษแก้วเศษตะปูมากรีดแทงจิตใจตัวเอง ตรงนี้มันเป็นสิ่งที่เราทำได้และน่าจะทำ แทนที่จะมาฝึกด้วยความมุ่งหวังว่ามันจะไม่มีความคิด ไม่มีอารมณ์เกิดขึ้นที่จะทำให้จิตใจไม่สงบ
ลองมาฝึกสร้างสติ ทำความรู้สึกตัว เพื่อที่เราจะได้เห็นเศษแก้ว เศษตะปู หรือว่าหนามแหลมที่อยู่บนทาง เพื่อที่เราจะไม่ไปเดินเหยียบ ไปเดินเตะ หรือไปแบกมัน ไม่ว่าสิ่งนั้นมันจะเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นรอบตัวเรา เกิดขึ้นกับชีวิตของเรา หรือเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นในใจ อันนั้นก็ไม่สำคัญเท่ากับว่าเราเกี่ยวข้องกับมันอย่างไร อย่างที่บอกไว้แล้ว เจออะไรไม่สำคัญเท่ากับว่าเราเกี่ยวข้องกับมันอย่างไร หลายคนเวลาทำบุญ พยายามอธิษฐานว่า ขอไม่ให้เจอะไม่ให้เจอสิ่งที่เป็นอุปัทวันตราย สิ่งที่ไม่น่าพึงพอใจซึ่งเราเรียกว่าอนิฏฐารมณ์ เป็นการขอ เป็นการคาดหวังซึ่งเป็นไปไม่ได้ ไม่ว่าทำบุญแค่ไหนก็ต้องเจอ เหมือนกับเดินทางก็ต้องเจอเศษแก้ว เศษตะปู เจอหิน แต่ว่าถ้าเรามาเน้นมาฝึกว่าทำยังไงเราจะมองเห็นแล้วก็เดินหลบ ไม่ไปเผลอเตะ ไม่ไปเผลอเหยียบมัน
ความไม่เผลอสำคัญกว่าการที่คาดหวังว่า จะไม่เจอะไม่เจอ ไม่เผลอ เพราะมีสติ รู้สึกตัว ไม่เผลอเพราะมีปัญญา
จนกระทั่งไม่ไปยึดติดถือมั่นกับสิ่งต่างๆ ฝึกตรงนี้ดีกว่า ดีกว่าที่จะคาดหวังว่าจะไม่เจอะไม่เจอ ไม่ว่าจะเป็นอนิฏฐารมณ์ภายนอก เหตุการณ์เลวร้าย คำต่อว่าด่าทอ ความล้มเหลว หนี้สิน ความเจ็บป่วย หรืออารมณ์ลบ อารมณ์อกุศลภายใน แทนที่จะไปคาดหวังเรียกร้องว่าจะไม่ให้เจอะไม่ให้เจอสิ่งเหล่านี้ เรามาฝึกให้มีความสามารถในการหลบการหลีก ไม่เผลอไปเดินเหยียบมันดีกว่า.