แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
เพราะฉะนั้นการรู้ทันใจของเรา และรู้ทันโซเชียลมีเดียเทคโนโลยีหรือมาร์เก็ตติ้ง มันก็สำคัญที่จะทำให้คุณไม่ตกเป็นเหยื่อของเขา คุณสามารถจะใช้วิจารณญาณได้อย่างเต็มที่ ว่าควรซื้อเพราะมันถูกหรือเพราะว่าถูกกระตุ้นให้เกิดความอยาก และสิ่งนี้ก็จะช่วยทำให้คุณสามารถบริหารเงินได้ ยิ่งถ้ามีการวางแผน จัดลำดับความสำคัญอย่างที่อาตมายกตัวอย่าง รวมทั้งรู้จักวิธีที่จะควบคุมการใช้เงิน ถ้าเรารู้ว่าเรามีจุดอ่อนตรงไหน เราก็พยายามที่จะหาทางปกป้องปิดกั้นจุดอ่อนนั้น เช่น เราพบว่าอยากจะซื้อรองเท้าแต่พอเข้าห้างกลับซื้อทุกอย่างยกเว้นรองเท้า คุณจะแก้ปัญหานี้อย่างไร คุณอาจจะแก้ปัญหาว่า ต่อไปนี้จะเข้าห้างจะต้องมีลิสต์ จะซื้ออะไรบ้าง จดไว้เลย เช่น รองเท้า ยาสีฟัน มีลิสต์จดไว้ก่อนเลย ตั้งกติกากับตัวเองว่า จะต้องจดราคา จดของที่จะซื้อ และไปถึงก็เอาลิสต์มากางว่าจะซื้ออะไร และสัญญากับตัวเองว่าไม่ซื้อของที่ไม่ได้อยู่ในลิสต์ นี่เป็นตัวอย่าง และหลายๆคนก็ใช้วิธีนี้ เวลาเขาจะเข้าห้างก็ต้องมีกระดาษติดเอาไว้เลย เป็นลิสต์ว่าจะซื้ออะไรบ้างและไม่ซื้ออะไรบ้าง แล้วก็ทำตามลิสต์นั้น มันก็ช่วยทำให้คุณไม่หลง ไม่เผลอง่าย บางคนเขามีเงื่อนไขกับตัวเองว่าจะไมพกเครดิตการ์ดเข้าไปในห้าง จะใช้แต่เงินสด เพราะว่าเครดิตการ์ดมันใช้ได้เรื่อยๆ เพราะมันคือเป็นการยืมเงินจากอนาคต แต่ถ้าคุณมีเงินสดจำนวนหนึ่ง ใช้หมดก็หมด แต่วิธีนี้สมัยนี้อาจทำได้ยากอยู่บ้าง เพราะเราใช้เงินสดกันน้อยลง ช่วยทำให้เราสะดวก แต่ก็ทำให้เราเผลอกันได้ง่าย คุณต้องคิดว่า ถ้าคุณเป็นคนใช้จ่ายเงินง่ายเกินไป แบบลืมตัว เข้าห้างทีไรพลาดทุกที คุณก็ต้องหาสิ่งที่ช่วยปกป้อง หรือคอยควบคุมไม่ให้เผลอได้ง่าย นี่เป็นตัวอย่าง
แต่แน่นอน ถ้าคุณสามารถควบคุมใจได้ เป็นสิ่งดี แต่ถ้าควบคุมใจไม่ได้ การควบคุมพฤติกรรม ด้วยการกำหนดเงื่อนไขกติกาให้กับตัวเอง มันก็จะช่วยได้ คนเดี๋ยวนี้มีปัญหาการควบคุมจิตใจ คือมีปัญหาในการห้ามใจไม่อยู่ มีคนหนึ่งห้ามใจไม่อยู่จริงๆ แกเป็นหนี้มากมาย แกมีเครดิตการ์ดเป็น 20 ใบ นี่ในอเมริกา พอเงินหมดก็ไปเอาบัตรเครดิตจากที่อื่นมา แกห้ามใจไม่อยู่ แต่แกก็รู้ว่าขืนเป็นแบบนี้ไปเรื่อยๆเป็นหนี้ท่วมหัวแน่ แกทำยังไงรู้ไหมในการควบคุมไม่ให้ใช้จ่ายเงินแบบพร่ำเพรื่อ แกจะเอาเครดิตการ์ดใส่ไว้ในแก้วน้ำ มีน้ำเต็ม และใส่ไว้ในตู้เย็นจนน้ำมันแข็ง เวลาอยากได้ เวลาเสิร์จอินเตอร์เน็ต เว็บไซต์มีของอยากได้ แกอยากได้ก็จริง แต่แกก็เอาบัตรเครดิตไปใช้ไม่ได้เพราะน้ำมันแข็ง ต้องรอให้น้ำแข็งละลาย ซึ่งใช้เวลาประมาณ 10-15 นาที ซึ่งจะใช้วิธีลัดเอาไปใส่ตู้ไมโครเวฟก็ไม่ได้ เดี๋ยวบัตรเครดิตพัง ต้องรอให้มันค่อยๆ ละลาย ถึงตอนนั้นแกก็อาจจะได้คิดว่าอย่าซื้อเลย คิดว่าช่วงเวลา 10-15 นาทีแกก็อาจจะไม่อยากซื้อ เดี๋ยวนี้ขนาดนี้เลย คือคุมใจไม่ได้ ก็ต้องหาวิธีการที่จะควบคุมไม่ให้ทำตามใจอยาก พวกเราอาจจะไม่ถึงขนาดนี้นะ แต่คุณต้องลองคิดว่า ถ้าหากว่าเผลอใจง่าย เราจะมีวิธีการที่จะควบคุมไม่ให้ทำตามความอยากได้อย่างไร ถ้าหากไม่สามารถควบคุมความอยากได้ ตรงนี้เขาเรียกว่าวินัย หรือที่เรียกว่าศีล
ศีลจะช่วยควบคุมพฤติกรรม การไม่ฆ่า ไม่ลักขโมย คือ การควบคุมพฤติกรรมภายนอก แม้ใจมันโกรธ แต่ไม่ทำเพราะว่าต้องการรักษาศีล ศีลมันค้ำเอาไว้ อยากได้ แต่ไม่ขโมย เพราะศีลค้ำเอาไว้ เหมือนรั้ว สมัยนี้ ศีล 5 ไม่พอ คุณต้องมีศีล และเงื่อนไขที่จะควบคุมพฤติกรรมไม่ให้ทำตามความอยาก แบบเรียกว่าตะพึดตะพือ นี่เป็นสิ่งที่ต้องคิดเอา แต่ถ้าจะให้ดีต้องรู้จักควบคุมใจให้มีสติ หรืออย่างน้อยให้รู้จักข่มใจ เดี๋ยวนี้ความรู้จักข่มใจ หรือการมีกำลังจิตที่เข้มแข็งนี่สำคัญ ยุคปัจจุบันเราไปเน้นเรื่องการมีความคิดสร้างสรรค์ ที่คิดไว คิดเร็ว แต่ห้ามใจไม่ได้ ถ้าเราสามารถที่จะฝึกจิตให้มีความสามารถในการห้ามใจ รู้จักควบคุมจิตใจของตัวเอง อาตมาเชื่อว่าเราอยู่ในยุคนี้ได้อย่างมีความสุข และเราอาจจะได้เปรียบคนอื่นด้วย ได้เปรียบที่ใจ
มันมีการทดลองอันหนึ่ง ซึ่งมันเกิดผลที่เขาไม่คาดคิด คือ มันมีการทดลอง มันมีโครงการหนึ่งให้คนประมาณ 30-40 คน ตั้งแต่อายุ 18-50 ออกกำลังกายทุกวันประมาณ 3 สัปดาห์ หรือ 3 เดือน มีทั้งการวิ่ง การยกน้ำหนัก วันหนึ่งประมาณ 2-3 ชั่วโมง ทุกคนมาโดยสมัครใจ และก็พยายามทำให้ได้ตามที่ตกลงกันไว้ คือวันละ 2-3 ชั่วโมง เมื่อผ่านไป 3 เดือน แน่นอนทุกคนสุขภาพดีขึ้น แต่สิ่งที่พบและคิดไม่ถึงก็คือว่า พฤติกรรมการบริโภค พฤติกรรมการใช้เงินของคนทั้งหมดเปลี่ยนไป หลายคนที่เคยติดอาหารขยะ อาหาร junk food บริโภคน้อยลง บางคนติดโทรทัศน์ เขาดูโทรทัศน์น้อยลง บางคนติดเหล้าติดบุหรี่ กินเหล้าสูบบุหรี่น้อยลง และก็มีคนชอบใช้จ่าย ชอบช้อปปิ้ง บอกว่าช้อปปิ้งน้อยลง มีวินัยในการใช้เงินดีขึ้น เขาสงสัยว่ามันเกิดขึ้นได้อย่างไร มีการทำวิจัยทดลองเรื่องอื่นด้วย เช่น แทนที่จะไปออกกำลังการ ก็เป็นเรื่องบริหารการเงิน หรือว่ามาเข้าคอร์สการเพิ่มพูนความรู้ พัฒนาทักษะการเรียนรู้ เช่น ต้องมาเรียน มาทำการบ้านสม่ำเสมอ มาทำรายงาน ส่งรายงานเป็นประจำ ผลคล้ายกัน ก็คือว่าคนที่มาควบคุม มาฝึกเรื่องการบริหารการเงิน ใช้จ่ายเงินตามที่วางเป้าหรือวางแผนเอาไว้ การเงินดีขึ้น แต่สิ่งที่เขาคิดไม่ถึง คือว่าคนเหล่านี้ออกกำลังกายมากขึ้น มีการบริโภคอาหารถูกสุขลักษณะมากขึ้น ทั้งๆ ที่ไม่เกี่ยวกับการใช้เงินเท่าไร การเปลี่ยนแปลงนี้เกิดขึ้นจากอะไร ความเปลี่ยนแปลงเกิดจากคนเหล่านี้ เมื่อได้ผ่านโครงการออกกำลังกาย 2-3 เดือน มีกำลังจิตที่เข้มแข็ง เขารู้จักควบคุมตัวเองได้ และทำให้เขาสามารถควบคุมพฤติกรรมด้านอื่นได้ เช่น การดูโทรทัศน์ การใช้จ่ายเงิน การกินอาหาร
มันอยู่ที่ใจ คือ ความสามารถในการควบคุมจิตใจ อาตมาคิดว่าปัจจุบันเป็นสิ่งสำคัญ คนที่อาตมาเชื่อว่าเขาออกกำลังกายเป็นประจำ เขาจะมีวินัยในการใช้เงิน เขาจะมีความสำเร็จในการบริหารการเงินมากกว่าคนที่ใช้ชีวิตไปตามแบบสบายๆ อยากกินอะไรก็กิน อยากทำอะไรก็ทำ ออกกำลังกายอะไรก็ไม่สน คนเราถ้าหากว่าเรารู้จักฝึกจิตให้มีสติ รู้จักใช้ชีวิตในทางที่ช่วยทำให้เราสามารถจะควบคุมจิตใจตนเอง รู้จักรอคอยได้ ทำให้การบริหารการเงินไม่ใช่เรื่องยาก มันจะเป็นไปได้ และอาตมาคิดว่าอีกอันหนึ่งที่สำคัญ ที่จะช่วยทำให้การบริหารเงินมันเป็นไปที่ดี และช่วยทำให้เราไม่เป็นทาสของเงิน แต่สามารถจะทำให้เงินเป็นบ่าวของเราได้ อันนั้นคือสิ่งที่อาตมาเรียกว่า “การรู้จักหาความสุขที่ประณีต” ทำไมคนเราใช้จ่ายเงินเพื่อการบริโภค เพื่อการเสพจนกระทั่งเป็นหนี้เป็นสิน เพราะเราคิดว่าความสุขเกิดจากการเสพ การบริโภค และนั่นคือความสุขอย่างเดียวที่เรารู้จัก คนเราร่างกายต้องการอาหาร ต้องการปัจจัยสี่ จิตใจต้องการความสุข คนเราถ้าขาดความสุขนี่ไม่ได้ แต่ความสุขของคนส่วนใหญ่ที่เขารู้จักคืออะไร คือความสุขที่เกิดจากการเสพ กินอาหารที่อร่อย ดูหนังฟังเพลง รวมทั้งไปเที่ยว จับจ่ายใช้สอย การมีของ มีรถยนต์ มีบ้าน พวกนี้ก็เป็นการเสพ เป็นความสุขที่เกิดจากวัตถุ ถ้าความสุขของคุณผูกติดกับสิ่งเหล่านี้ การบริหารเงินเป็นเรื่องยาก แล้วคุณจะต้องใช้เงินเพื่อซื้อความสุขตลอดเวลา
แต่ความสุขชนิดนี้ไม่เคยทำให้คุณมีความพอใจอย่างแท้จริง เพราะว่ามันถูกกระตุ้นให้เกิดความอยาก แต่ความสุขชนิดนี้ไม่เคยทำให้คุณพอใจอย่างแท้จริง คุณได้แล้วคุณก็อยากได้อีก คุณได้รองเท้าคู่ใหม่ คุณมีความสุข ไม่นานคุณก็อยากซื้อคู่ใหม่อีก หลายคนทำไมมีรองเท้าถึง 200 คู่แล้วก็ยังซื้ออีก เขาต้องมีรองเท้าคู่ใหม่ มีรถคันใหม่ มีโทรศัพท์ มีเสื้อตัวใหม่อยู่ตลอดเวลา เพราะที่มีไม่นานก็เบื่อ ต้องการของใหม่ ของใหม่ได้มาก็มีความสุข ผ่านไปหนึ่งเดือน ผ่านไปสองเดือนก็เบื่อ แล้วจะสุขได้ไง ก็ซื้อของใหม่ ซื้ออันใหม่ คนที่มีเงินร้อยล้านพันล้านก็ไม่มีความสุขเสียที เพราะคิดว่าถ้ามีอีกล้านหนึ่ง อีกพันล้านก็จะมีความสุข ความสุขเช่นนี้ไม่ได้เป็นความสุขที่ประเสริฐ มันได้มาง่ายก็จริง ความสุขจากวัตถุเกิดขึ้นเร็ว แต่มันก็จางหายไปเร็ว และถ้าเราไปผูกติดอยู่กับความสุขอยู่กับความสุขแบบนี้ เราจะเป็นทาสของเงิน ต้องมีเงิน จนกระทั่งยอมตายเพื่อเงิน ทำงานเพื่อหาเงิน จนกระทั่งเป็นโรคประสาท หรือเส้นเลือดในสมองแตก พวกนี้เป็นทาสของเงิน เขายอมทุ่มเท ไม่ยอมพัก เพื่อจะได้เงินมากๆ สุดท้ายสมองรับไม่ไหว เส้นเลือดในสมองแตก หัวใจวาย ความสุขจากทรัพย์จึงไม่ใช่ความสุขที่ประณีต
มันมีความสุขที่ประณีตที่ประเสริฐกว่า คือความสุขที่เกิดจากการทำ ความสุขที่เกิดจากการทำงาน ความสุขที่เกิดจากการไปช่วยเหลือเกื้อกูลผู้อื่น ความสุขที่เกิดจากการเป็นจิตอาสา ความสุขที่เกิดจากการทำสมาธิ ความสุขที่ได้จากการช่วยเหลือเกื้อกูลผู้อื่น พวกนี้มันให้ความสุขใจ คนที่พบความสุขจากงาน โอกาสที่จะคอร์รัปชั่นมีน้อย แต่เพราะคนเราไม่มีความสุขจากงาน มีความสุขจากเงิน ถ้ามีโอกาสที่เราจะคอรัปชั่น ก็อาจจะทำ คนที่มีความสุขจากงาน เพราะทำงานก็มีความสุขแล้ว คนอื่นจะรวยกว่าเขา เขาก็ไม่ค่อยอิจฉา คนที่อิจฉาก็เพราะว่ายังไม่มีความสุข เราเห็นเขารวยกว่า เราทุกข์ เราอิจฉาเขา เพราะว่าเราไม่มีความสุข เพราะเราคิดว่าความสุขเกิดจากวัตถุ เขามีมาก เรามีน้อย เราก็เลยรู้สึกเสียใจ แต่ถ้าทุกคนมีความสุขจากงาน ใครจะรวยเขาก็ไม่อิจฉา ถ้าคุณมีความสุขจากสมาธิ คุณก็ไม่จำเป็นที่จะต้องไปหาเงินหาทองมาปรนเปรอหล่อเลี้ยงจิตใจ เพราะคุณมีความสุขที่ดีกว่าหล่อเลี้ยงจิตใจ อันนี้คือเหตุผลว่าทำไมพระที่ท่านปฏิบัติธรรม ที่ท่านมีภูมิธรรมขั้นสูง ท่านอยู่แบบง่ายๆ มีแค่อัฐบริขาร เพราะความสุขของท่านไม่ได้ผูกติดกับวัตถุ ไม่ได้เกิดจากการเสพ แต่เป็นความสุขที่เกิดจากการทำ หรือเป็นความสุขมากกว่านั้น คือ ความสุขที่เกิดจากการละ ยิ่งละ ยิ่งสละ ก็ยิ่งมีความสุข
เคยมีการวิจัยพบว่า ให้นักศึกษาเป็น 2 กลุ่ม กลุ่มหนึ่งให้เงินไป 100 ดอลลาร์ เอาไปทำอะไรก็ได้ เอาไปดูหนัง ซื้อขนมก็ได้ กินอาหารอร่อยก็ได้ อีกกลุ่มหนึ่งให้ไป 100 ดอลลาร์เช่นกัน แต่เอาไปทำอะไรเพื่อช่วยเหลือผู้อื่น แล้วก็พบว่านักศึกษากลุ่มที่สองมีความสุขและก็รู้สึกดีกับตัวเองมากกว่ากลุ่มแรก กลุ่มแรกได้เงินเอาไปเที่ยวน่าจะมีความสุขกว่า กลุ่มที่สองได้เงินแล้วไม่ได้เอาเงินไปเที่ยว ไม่ได้เอาไปเสพ แต่เอาไปช่วยโดยซื้อดินสอ สี เอาไปให้เด็กวาดภาพ เด็กที่ยากจน เอาเงินไปทำกิจกรรมช่วยเหลือคนที่ป่วยหนัก และเขามีความสุขกว่า เพราะฉะนั้นความสุขจากการทำมันประเสริฐกว่าความสุขจากการเสพ ความสุขจากการละมันเหนือกว่าความสุขจากการเสพมาก ถ้าเราสามารถที่จะเข้าถึงความสุขจากการกระทำ ความสุขจากการละ คุณจะเป็นทาสของวัตถุสิ่งเสพและเงินทองน้อยลง ไม่ใช่ว่าเงินไม่สำคัญ เงินสำคัญแต่ว่ามันต้องกลายเป็นบ่าวของคุณ ไม่ใช่เป็นนาย และถ้าเงินเป็นบ่าวมันจะเป็นบ่าวที่ดี แต่ถ้าปล่อยให้เงินป็นนาย มันจะเป็นนายที่เลว และที่เราปล่อยให้เงินเป็นนายเราได้ ก็เพราะเรารู้จักความสุขชนิดเดียว คือ ความสุขจากเงิน ความสุขจากวัตถุที่ต้องซื้อด้วยเงิน
เพราะฉะนั้นอาตมาคิดว่าเรื่องของการบริหารเงิน ถึงที่สุดอยู่ที่ท่าที และการวางใจเกี่ยวกับเงินด้วย และยังขึ้นอยู่กับท่าทีและทัศนะเกี่ยวกับความสุข ตราบใดที่คุณยังเห็นว่าความสุขเกิดจากเงิน เกิดจากวัตถุ การบริหารเงินก็จะเป็นเรื่องยาก และถึงคุณบริหารได้ คุณก็จะยังมีความทุกข์ เพราะเงินที่ได้ไม่เคยพอสักที เงินที่ได้มามันจะน้อยตลอดเวลา มันไม่เคยพอ คุณจะไม่รู้จักคำว่าสันโดษ และจะไม่รู้จักคำว่าสงบ เพราะว่ากลายเป็นทาสเงินไปแล้ว จำเพาะคนที่มีเงินเป็นบ่าวเท่านั้นที่จะรู้จักความสงบ เพราะเขาจะรู้จักพอ เขาจะมีความสันโดษ พอใจในสิ่งที่มี ยินดีในสิ่งที่ได้ เขาก็สามารถจะอิ่มเอม นอนหลับ ไม่เครียด และอาตมาคิดว่าการหันมารู้จักกับความสุขที่เกิดจากการทำ ทำในที่นี่คือทำดี ทำประโยชน์ ทำสมาธิ หรือแม้กระทั่งความสุขที่ได้อยู่ท่ามกลางญาติมิตร พี่น้อง ครอบครัว และได้ทำอะไรร่วมกัน ปลูกต้นไม้ร่วมกัน ในหมู่พ่อแม่ลูก มันก็สามารถจะหล่อเลี้ยงใจได้มากกว่าการไปเที่ยวห้าง และถ้าคุณรู้จักการละ รู้จักปล่อยวาง คุณจะมีความสุขมากขึ้น เช่น เอาเงินไปเป็นทาน ไปให้ทาน คือไปช่วยเหลือคนอื่น พระพุทธเจ้าตรัสว่า “ผู้ให้ความสุข ย่อมได้รับความสุข” ทีแรกให้เงินก่อน สละเงินก่อน ต่อไปสละเวลาไปเป็นจิตอาสา คุณก็จะมีความสุขมากขึ้น ต่อไปก็สละความเห็นแก่ตัวความอยาก ยิ่งสุขเข้าไปใหญ่
มีการทดลองหนึ่งน่าสนใจ ดูเหมือนไม่เกี่ยวกับเงินเท่าไร มีหนูอยู่ 10 ตัวอยู่ในกรง กรงนั้นมีน้ำอยู่ 2 ขวด ขวดหนึ่งเป็นน้ำเปล่า อีกขวดเป็นน้ำผสมฝิ่น เฮโรอีน เจือจาง คงนึกภาพออกนะ หนูทั้ง 10 ตัวมันเลือกขวดที่ 2 เพราะมันมีสารเสพติด มันกินจนตาย แต่ทีนี้เค้าทดลองใหม่อีกกรงหนึ่ง มีหนูอยู่ 10 ตัวเหมือนกัน มีขวดอยู่ 2 ขวดเหมือนกัน ขวดหนึ่งเป็นน้ำเปล่า อีกขวดหนึ่งมีฝิ่น เฮโรอีน แต่ในกรงนั้นมีของเล่น มีสิ่งที่หนูนี่ชอบเยอะแยะไปหมด เขาประหลาดใจว่าหนูทั้ง 10 ตัวไม่แตะขวดที่มีฝิ่น มีเฮโรอีน มีน้อยมากที่แตะ เพราะว่ามีของเล่นที่ดีกว่า หนูมันรู้ มันมีความสุขที่ประเสริฐกว่า ยาเสพติด หรือฝิ่น เฮโรอีน เมื่อมันได้สิ่งที่มีความสุขกว่า มันก็ไม่แตะฝิ่นหรือเฮโรอีนในน้ำขวดที่ 2
คนเราก็เหมือนกัน ระหว่างความสุขจากเงินทอง กับความสุขที่มันประณีต เช่น ความสุขที่ได้ทำสิ่งที่มีค่า คือความสุขที่เป็นความสงบใจ คนที่เขาได้สัมผัสความสุขที่ได้ความสงบใจ เป็นความสุขที่ประณีต ความสุขจากเงินทองมันจะมีความหมายต่อจิตใจเขาน้อย เพราะเขารู้ว่ามันมีสุขที่ประเสริฐกว่า เงินยังจำเป็นอยู่ เพราะมีค่าเช่าบ้าน เพราะมีอาหารที่ต้องซื้อ แต่มันจะไม่ได้มาเกาะกุมจิตใจเขาในฐานะที่เป็นนาย มันเป็นบ่าว แต่ถ้าคนที่ไม่รู้จักความสุขชนิดอื่นเลย เงินจะกลายเป็นนายเขา เพราะมันเป็นความสุขชนิดเดียวที่เขารู้จัก เพราะคนเราขาดความสุขไม่ได้ เพราะฉะนั้นก็ต้องยอมเป็นทาสของเงิน เพราะฉะนั้นสิ่งที่ดีที่สุดบอกว่า เรื่องการบริหารเงิน เทคนิคทักษะมีประโยชน์ วินัยนี่จำเป็น แต่เรื่องของข้างในการบริหารใจ การฝึกใจ โดยเฉพาะการทำให้ใจมีความสุขในสิ่งที่ประณีตสำคัญมากกว่า
คำถาม : ถามว่าพุทธภาษิตที่บอกว่าการเป็นหนี้เป็นทุกข์ในโลก แต่การก่อหนี้บางครั้งก็ช่วยสร้างโอกาสในอนาคตได้ การไม่ก่อหนี้เสียอีก ก็จะทำให้เสียโอกาส ขอคำแนะนำจากพระคุณเจ้าว่าหลักในการก่อหนี้ควรเป็นอย่างไร
คำตอบ :
หลักในการก่อหนี้ อาตมาคิดว่าสิ่งสำคัญ คือ การก่อหนี้เพื่อใช้จ่ายในสิ่งที่จำเป็นระยะยาว หรือจำเป็นในระยะสั้นก็ได้ แต่ความจำเป็นระยะยาวสำคัญ บางคนความจำเป็นระยะสั้นเขาก็พอมีอยู่ ความจำเป็นระยะยาวไม่มี การที่จะก่อหนี้เพื่อสิ่งนั้นก็อาจจะเป็นสิ่งที่มีประโยชน์ คือเมื่อจะเป็นหนี้ ก็เป็นหนี้เพราะมันจำเป็น หรือเป็นหนี้เพื่อการลงทุน แล้วทำให้มีผลได้งอกเงยที่จะสามารถจ่ายหนี้ได้ก็ยังดี แต่ถ้าคุณมาก่อหนี้เพื่อความสุขระยะสั้น มันจะเป็นปัญหามาก เพราะว่าเป็นการก่อหนี้ที่ไม่จำเป็น มันเป็นแค่ความสุขซึ่งคุณจะผัดผ่อนไปบ้างก็ได้ หรือแม้จะก่อหนี้เพื่อความสุขระยะยาวปีต่อปี อาตมาก็คิดว่าอาจยังไม่ใช่สิ่งจำเป็น สิ่งจำเป็นอยู่ที่การจัดลำดับความสำคัญ ถ้าเป็นหนี้ก็ขอให้เป็นเพราะใช้จ่ายในสิ่งที่จำเป็น และคราวนี้ก็ต้องรู้จักวางใจให้ถูก ก็คือว่าหนี้มันมีไว้ชดใช้ ไม่ได้มีไว้แบก คุณมีหนี้แล้วก็รู้จักวางมันลงบ้าง อย่าไปแบกมากนัก แต่ว่าต้องรับผิดชอบ
ท่านอาจารย์พยอมมีคนเคยถามท่าน วัดสวนแก้วกู้เงินธนาคารมาหลายสิบล้าน ท่านเอามาใช้เพื่อช่วยเหลือชาวบ้าน มีคนถามว่าวัดกู้เงินมาหลาย 10 ล้าน หลวงพ่อมีความเครียดหรือไม่ ท่านบอกจะเครียดไปทำไม คนจะเครียดมากกว่า ก็คือคนที่เป็นเจ้าของเงิน ว่าอาตมาจะมีปัญญาจ่ายเขาหรือเปล่า อาตมาไม่เครียด ก็เป็นมุมมอง ไม่ได้แปลว่าท่านจะเบี้ยว ท่านไม่คิดจะเบี้ยว แต่ท่านไม่แบก ท่านก็คิดวางแผนชำระหนี้ หามาได้เท่าไรก็จ่ายเท่านั้น คือว่า รับผิดชอบต่อหนี้ที่ได้ก่อไว้ แต่ไม่แบกเอาไว้ อันนี้เรียกว่า ทำกิจด้วย และทำจิตด้วย ทำจิตคือปล่อยวาง ส่วนทำกิจก็คือรับผิดชอบกับหนี้ที่ก่อเอาไว้ จะทำอะไรต้องทำสองอย่าง คือทำกิจและทำจิต คุณทำงานก็ดีแล้ว แต่ให้ทำจิตด้วย ก็คืออย่าไปเครียดกับมัน อาตมาก็แนะนำลูกศิษย์เสมอ ทำเต็มที่แต่อย่าซีเรียส ทำได้นะ แต่ส่วนใหญ่ไม่ทำเต็มที่แต่ว่าซีเรียสเครียดไปเลย ทำเต็มที่นี่คือทำกิจ และถ้าเราทำจิตเป็น เราจะไม่ซีเรียส และเผลอๆ ทำได้ดีกว่า
อาตมามีเพื่อนเป็นพระเซนชาวอเมริกัน ท่านได้พูดถึงอาจารย์ของอาจารย์ท่าน ซึ่งเป็นอาจารย์ที่มีชื่อมากในอเมริกา ชื่อชุนริว ซูซูกิ เป็นคนที่สร้างวัดเซน แห่งแรกในอเมริกา ที่ซานฟรานซิสโก เมื่อปี 1960 ตอนที่ท่านเริ่มสร้างวัด ท่านลงมือแบกเสา แบกอิฐเอง เพราะว่าค่าก่อสร้างมันแพง แต่โชคดีที่ท่านมีลูกศิษย์ชาวอเมริกัน หนุ่มสาวอายุ 19-20 ปีมาช่วยท่าน เพราะคนพวกนี้เริ่มสนใจเรื่องของสมาธิ มีวันหนึ่งลูกศิษย์กับท่านช่วยกันแบกอิฐ แบกหิน ลูกศิษย์ทำไปได้ครึ่งวันก็เหนื่อย ส่วนอาจารย์ทำได้ทั้งวัน อาจารย์อายุมาก 60 กว่า ตัวเล็ก คนญี่ปุ่นตัวเล็ก ลูกศิษย์ทึ่งมากว่าอาจารย์ทำได้อย่างไร ถามอาจารย์ว่าอาจารย์ทำได้ยังไง ท่านตอบว่าก็ผมพักตลอดเวลานี่ งงไหม ก็ท่านทำทั้งวัน ที่ทำคือกายทำแต่ใจพัก ใจท่านไม่แบกหิน ที่แบกหินคือกาย ใจท่านไม่แบกทุกข์ แม้จะเหนื่อยแม้จะเมื่อย ใจไม่แบก อันนี้เราทำกิจและทำจิต ก็ตอบยาวไปหน่อย คือให้คลุมไปถึงเรื่องการทำกิจและทำจิตไปด้วย
คำถาม : การปล่อยกู้เป็นบาปหรือไม่
คำตอบ :
ในทางพุทธศาสนา การปล่อยกู้ไม่บาป ตัวมันเองไม่บาป อยู่ที่ว่าปล่อยกู้อย่างไร หรือว่าให้ยืมอย่างไร ถ้ามุ่งเอาเปรียบ เห็นว่าเขาไม่มีเงิน เขาขาดโอกาส ก็คิดดอกเบี้ยแพงๆ เพราะรู้ว่าเขาไม่มีที่ไป แบบนี้อาตมาเรียกว่าบาปนะ ไม่มีเมตตากรุณา แต่มันก็ยังคงบาปน้อยกว่าการไปโกงเขา แต่ก็จัดว่าเป็นบาปได้
คำถาม : การทำทานขัดกับการออมหรือไม่
คำตอบ :
การทำทานไม่ขัดหรอก เพราะว่าการทำทานก็เป็นการออมชนิดหนึ่ง จะเรียกว่าเป็นการลงทุนชนิดหนึ่งก็ได้ คือเป็นการสะสมอริยะทรัพย์ เป็นการออมอริยะทรัพย์ จะเรียกว่าเป็นการลงทุนตรงที่ว่า มันเป็นการช่วยให้จิตใจมีความสงบเย็น บางคนอาจจะนึกถึงอนาคตว่า ถ้าเราให้ทานวันนี้ เราบริจาควันนี้ ชาติหน้าเรารวย การคิดว่าบริจาควันนี้ชาติหน้าเรารวยถือว่าเป็นการลงทุน แต่พุทธศาสนาไม่ได้ให้มองแบบนี้ ให้มองว่าการให้ทานเพื่อช่วยเขา แต่ในตัวมันเองมันคือการสะสมอริยะทรัพย์ สะสมบุญถ้าพูดง่ายๆ มันก็เป็นการออมชนิดหนึ่ง แต่ไม่ใช่การออมที่ให้ผลเป็นเม็ดเงิน
คำถาม : ถ้าเราจะผนวกการทำทานเข้ามาในแผนการเงินได้อย่างไรเจ้าคะ
คำตอบ :
การทำทาน อาตมาจัดว่า อยู่ในประเภทความจำเป็นทั้งในระยะสั้นและระยะยาว คือ มันช่วยทำให้เรามีความสุขจากการสละ มันช่วยเติมความสุขให้กับเรา เพราะได้ช่วยผู้อื่น เพราะคนเราไม่ได้ต้องการแค่อาหาร ไม่ได้ต้องการแค่ที่อยู่ อันนั้นเป็นเรื่องของกาย จิตใจเราต้องการความสุข และความสุขที่จะได้มาเกิดจากการให้ เกิดจากการให้ทาน เพราะฉะนั้นการให้ทานเป็นสิ่งที่หล่อเลี้ยงจิตใจให้มีความสุข ไม่ใช่สุขแบบสนุกสนาน มันจึงมีความจำเป็น อุบาสกบางท่านในสมัยพุทธกาล ท่านถึงกับตั้งปณิธานว่าเราจะไม่กินจนกว่าจะให้ทาน เพราะท่านถือว่าการให้ทานเป็นสิ่งจำเป็นของชีวิต มันจึงจัดว่าเป็นสิ่งจำเป็นที่เราควรทำเป็นนิจ และนี่ก็เป็นสิ่งที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้ในหลักธรรมเรื่องกามโภคี ว่าการรู้จักใช้ทรัพย์อย่างถูกต้อง ก็คือการเลี้ยงตัวเองให้มีความสุข และการเอาเงินไปช่วยเหลือผู้อื่น หรือไปสร้างความดี เพราะฉะนั้นการทำความดี หรือว่าการช่วยผู้อื่น ถือว่าเป็นความจำเป็นของชีวิต ไม่ใช่เป็นสิ่งฟุ่มเฟือย
คำถาม : เราจะรู้ได้อย่างไรว่า การสะสมหรือการทำมาหากินของเราเกินจุดที่สมควร หรือควรเผื่อแผ่ หรือปล่อยวางได้แล้ว
คำตอบ :
มันขึ้นอยู่กับแต่ละคน คนที่เขายังมีพัฒนาการทางจิตไม่สูง เขายังต้องพึ่งพิงความสุขจากวัตถุ คนที่มีพัฒนาการทางจิตสูง เขาพบความสุขที่ประณีต เขาพึ่งพิงความสุขจากวัตถุน้อย เขาก็จะใช้น้อย เขาต้องการน้อย ตัวอย่างที่ extreme ชัดๆ ก็คือ พระอริยะเจ้า ท่านมีความสุข ท่านพบสุขที่ใจแล้ว บริขาร 8 พอแล้ว ไม่ต้องการมาก แต่เราจะเอามาตรฐานแบบนี้มาใช้กับคนทั่วไปไม่ได้ เพราะคนทั่วไปยังไม่มีพัฒนาการทางปัญญา ทางจิตขนาดนั้น เขายังต้องการความสุขจากวัตถุ เพราะฉะนั้นสำหรับเขาการมีเงินเดือนใช้จ่ายเดือนละหมื่น อาจจะถือว่าพอสมควร แต่ถ้าเขามีพัฒนาทางจิตมากขึ้น 4,000 ก็ถือว่ามากแล้ว แล้วที่เหลือทำอะไร เอาไปทำประโยชน์ เอาไปช่วยเหลือส่วนรวม เราพบว่าแม้กระทั่งเศรษฐีหลายคน เขาหาเงินได้มาก แต่เขาใช้น้อย แล้วเขาก็มีความสุข บางคนใช้นาฬิกาคาสิโอ 500 บาท ไม่ต้องใช้นาฬิกาเรือนเพชร เขาก็มีความสุขแล้ว คือเราดูว่าใครมีความสุขจากชีวิตที่เป็นหนี้ จากที่เขาใช้นาฬิกาก็เป็นได้ ถ้ายังต้องการใช้นาฬิกาเรือนล้าน แสดงว่าพัฒนาการทางจิตอยู่ในระดับต่ำ ถ้าคนที่มีพัฒนาการทางจิตสูง นาฬิกาไม่แพงเขาก็โอเคแล้ว แล้วเขาก็รวย
มีเศรษฐีคนหนึ่งบริจาคเงิน 200,000 ล้านบาท เขาทำธุรกิจ duty free shop ในอเมริกา เขาใช้คาสิโอเรือนละ 500 เค้าไม่มีรถยนต์ส่วนตัว และเขาก็บริโภคไม่มาก แต่เขามีความสุขจากการทำงาน และเงินที่เขาได้มามากๆ เขาก็ไม่ได้เก็บเอาไว้ เขาก็เอาไปทำประโยชน์แก่สังคม โรงเรียน โรงพยาบาล NGO การอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม พวกนี้ถือว่าเป็นคนที่น่าทึ่ง เพราะเขาอยู่กับโลกที่เป็นเศรษฐี แต่ว่าเขาใช้เงินน้อยมาก เพราะเขาพบความสุขจากสิ่งที่ประเสริฐ จากสิ่งที่ประณีตมากกว่า เพราะฉะนั้น สรุปก็คือว่าทุกคนจะต้องบอกตัวเองว่าเท่าไรจึงจะพอ พุทธศาสนาไม่เหมือนสังคมนิยม ทุกคนจะต้องมีมาตรฐานเดียวกัน การบริโภคแบบเดียวกัน พุทธศาสนามองว่าแล้วแต่คน แล้วแต่ระดับขั้นของภูมิปัญญาคุณแค่ไหน ถ้าคุณมีภูมิปัญญาสูงคุณก็ใช่น้อย ถ้าคุณมีภูมิปัญญาต่ำคุณก็ใช้มาก และสิ่งที่เราควรทำก็คือว่า ลดการใช้ให้มากหรือใช้ให้น้อยลง และหาความสุขจากสิ่งที่ประณีตให้มากขึ้น อันนี้เป็นบททดสอบของการพัฒนาทางจิต ในทัศนะของชาวพุทธ ก็คือว่าใช้ให้น้อยลง แต่มีความสุขมากขึ้น มีคุณภาพชีวิตมากขึ้น
คำถาม : การทำงานที่หวังเงินหรือผลตอบแทน ผิดหรือไม่ คือผิดจากการหวังเงินเดือน หรือผิดวินัยทางการเงินหรือสิ่งเสพที่เกิดขึ้น อันนี้น่าจะเป็นคำถามของคนที่ทำงานและได้รับเงินเดือน
คำตอบ :
ผิดอะไร มันไม่ผิดหรอก แต่มันไม่ฉลาด เพราะว่ามันจะทำให้คุณมีความทุกข์ได้ง่าย เพราะคุณจะทำงานด้วยความเครียด คุณทำงานตลอดทั้งเดือนคุณมีความทุกข์ คุณมีความสุขแค่วันเดียว คือ 31 เพราะเป็นวันเงินเดือนออก และตลอดเวลาคุณทำงานคุณจะรอว่าเมื่อไรมันจะเลิกงาน คุณจะคอยดูนาฬิกาว่าเมื่อไร 5 โมงเย็น ถึงวันศุกร์คุณมีความสุข แต่เช้าวันจันทร์คุณมีความทุกข์ เพราะคุณไม่ได้อยากทำงาน คุณแค่อยากได้เงิน แล้วคุณได้เงินมา เงินเดือน 100,000 บาท คุณมีความสุขไหมถ้าเพื่อนคุณได้ 150,000 คุณได้โบนัส 1 ล้านแต่เพื่อนคุณได้ล้านสอง คุณมีความสุขไหม คุณจะไม่มีความรู้สึกพอใจเลย คำว่า“พอใจในสิ่งที่มี ยินดีในสิ่งที่ได้” คุณจะไม่รู้จัก เพราะคุณจะคอยเปรียบเทียบกับคนอื่นตลอดเวลาว่าเขามีมากกว่าคุณ เขาได้มากกว่าคุณ และถ้าคุณคิดแบบนี้คุณจะมีความสุขได้อย่างไร และสุดท้ายจะไม่เคยพอใจ เพราะจะรู้สึกว่า เราได้น้อยกว่าคนอื่นเสมอ
คนหลายคนทุกวันนี้ไม่ได้แค่อยากรวย แต่อยากรวยกว่า รวยอย่างเดียวไม่พอต้องรวยกว่าด้วย และคนที่คิดว่าทำงานเพื่อเงินก็จะเป็นแบบนี้ คือชีวิตไม่ได้ต้องการรวย แต่ต้องการรวยกว่า แล้วคุณจะมีความสุขได้อย่างไร เพราะจะมีคนที่รวยกว่าคุณตลอดเวลา อาตมาจึงบอกว่าไม่ผิด แต่ไม่ฉลาด ถ้าคุณฉลาด คุณต้องมีความสุขจากงาน ส่วนเงินเป็นผลพลอยได้ อันนี้รวมถึงความสำเร็จด้วยนะ สำเร็จไม่สำเร็จไม่เป็นไรขอให้ทำงานแล้วมีความสุข และคุณก็จะสุขตลอดเวลาที่ได้ทำ ส่วนสำเร็จหรือล้มเหลวเป็นอีกเรื่องหนึ่ง อาตมาคิดว่าคนเราทำงาน แล้ววางใจให้ถูก สำเร็จไม่สำเร็จเป็นอีกเรื่องหนึ่ง
อาตมาชอบใจ คำสัมภาษณ์ของธีรศิลป์ แดงดา รู้จักหรือเปล่า นักฟุตบอล แกเพิ่งถูกซื้อตัวไปเล่นบอลที่ญี่ปุ่น แต่ก่อนหน้านี้แกไปเล่นบอลที่สเปน แกได้เล่นแค่ครั้งสองครั้งแล้วแกก็ได้ไปนั่งข้างสนาม ดีกว่าซิกโก้หน่อย ซิกโก้นั่งข้างสนามตลอดฤดูกาลเลย เมื่อ 17 ปีก่อน ธีรศิลป์กลับมาจากสเปนก็มีคนถามแกว่า ไปสเปนคราวนั้นรู้สึกว่าล้มเหลวไหม แกตอบว่ามันไม่มีใครอยากล้มเหลวหรอก ทุกคนก็ต้องการความสำเร็จ แต่จะมองแค่ความสำเร็จและความล้มเหลวอย่างเดียว มันไม่พอมันไม่โอเค เพราะระหว่างทางมันมีความสุขมีความสนุกด้วย ตอนผมได้ไปซ้อมที่สเปนผมสนุกมาก ได้เจอคนอย่างเนย์มาร์ โรนัลโด้ ตายแล้วเกิดใหม่อีก อาจจะไม่ได้เจอก็ได้ เพราะฉะนั้น จะให้ผมล้มเหลวอีกกี่ครั้งผมก็ยอม ผมก็อยากจะกลับไป เพราะมันสนุก คือนี่สนุกกับการได้เล่น สำเร็จหรือว่าล้มเหลวอีกเรื่องหนึ่ง อาตมาคิดว่าถ้าเราทำงานเอาแต่ความสำเร็จบางทีก็ทุกข์นะ ยิ่งทำงานแล้วอยากได้เงินเดือน ยิ่งทุกข์ใหญ่ คุณจะไม่มีความสุขกับงานเลย คุณจะมีความสุขต่อเมื่อได้ผลตอบแทนได้เงินเดือน ถ้ายังไม่ได้หรือได้น้อย คุณก็ทุกข์ ก็ในเมื่อเหนื่อยตลอดเดือน ทำไมไม่คิดทำให้มีความสุขบ้าง ไม่ใช่ไปรอสุขเอาตอนวันที่ 31 ตอนเงินเดือนออก แบบนี้อาตมาคิดว่าไม่ฉลาด