พระอาจารย์ไพศาล วิสาโล วัดป่าสุคะโต แสดงธรรมเย็นวันที่ 26 มกราคม 2567
มีเครื่องดื่มยอดนิยม 2 ชนิด ที่ขึ้นชื่อไปทั่วโลก เป็นที่นิยมของคนทุกเพศทุกวัย นั่นคือชา แล้วก็กาแฟ หลายคนถ้าตื่นเช้าขึ้นมาแล้วก็ไม่ได้กินชาหรือกาแฟ จะรู้สึกว่าขาดอะไรไปบางอย่าง พอได้กินกาแฟแล้วก็รู้สึกมีชีวิตชีวา กระชุ่มกระชวย หรือว่ารู้สึกสดชื่นแจ่มใส
กาแฟและชานั้น กลายเป็นเครื่องดื่มที่เรียกว่าถูกยกระดับให้กลายเป็นศิลปะ ทั้งในการชง ในการดื่ม บ่งชี้ถึงรสนิยมของผู้คนได้ เสน่ห์ของกาแฟและชา ไม่ใช่แค่กลิ่นหอมหรือรสชาติเท่านั้น แต่ยังมีผลต่อความรู้สึกของผู้คน มีผลต่อจิตใจหรือสมองด้วย
อะไรที่ทำให้กาแฟและชามีเสน่ห์ดึงดูดใจของผู้คน สิ่งสำคัญก็คือ ‘คาเฟอีน’ คาเฟอีนนี้เป็นสารที่ต้นไม้ผลิตขึ้นมา หลายคนมองว่า ชา กาแฟ และคาเฟอีน เหมือนกับเป็นของขวัญที่ธรรมชาติประทานให้กับมนุษย์เลยทีเดียว เพราะถ้าโลกนี้ไม่มีชา ไม่มีกาแฟ ชีวิตก็คงจะจืดชืดในความรู้สึกของหลายคน
แต่น้อยคนจะรู้ว่าคาเฟอีนจริงๆ แล้ว เป็นสารพิษที่ต้นไม้หรือธรรมชาติผลิตขึ้นมา เพื่ออะไร เพื่อปกป้องตัวเอง ปกป้องจากศัตรูโดยเฉพาะแมลง คาเฟอีนนี้ ถ้าแมลงเสพเข้าไปมากๆ ก็ถึงตายได้ ซึ่งทำให้ต้นกาแฟ ต้นชา มีรสขม แมลงพอเจอรสขมเพราะฤทธิ์คาเฟอีนนี้ก็ต้องหนีไป
ยิ่งกว่านั้นคาเฟอีนยังเป็นสารที่ทำลายวัชพืชได้ ใบก็ดี เม็ดของมันก็ดี พอตกลงพื้นแล้ว วัชพืชที่จะมาขึ้นรอบๆ ต้นเพื่อแย่งน้ำแย่งปุ๋ยทำไม่ได้ มันจะตาย!
คาเฟอีนเป็นสารที่มีพิษ ที่ช่วยในการปกป้องตัวเองจากศัตรู เขาเคยให้แมลงบางชนิด เช่น แมงมุมกินคาเฟอีนเข้าไป ปรากฏว่ามันเพี้ยนหรือเป๋ไปเลย อาการไม่ปกติ เวลามันจะถักใย ใยนี้มันจะดูไม่ได้เลย ใยแมงมุม เช่น ช่องว่างระหว่างใยมันจะกว้างขนาดที่เรียกว่านกยังบินลอดผ่านไปได้เลย ทั้งที่ใยแมงมุมมันมีไว้เพื่อดักแมลง แต่พอแมงมุมกินคาเฟอีนเข้าไป ก็เรียกว่าไปไม่เป็นเลย เพราะมันมีผลต่อสมอง แล้วก็ทำให้มันมีอาการผิดปกติ ไม่ระวังตัว เป็นเหยื่อของนกได้ง่ายทีเดียว
ก็เหมือนกับว่าคาเฟอีนนี้มันเป็นอาวุธลับของพืช เพื่อที่จะจัดการกับแมลงที่จะมากัดกินมัน แต่ทั้งที่คาเฟอีนนี้เป็นสารพิษที่ต้นไม้ผลิตขึ้นมา แต่พอคนกินเข้าไป มันกลับกลายเป็นดี บางคนรู้สึกกระชุ่มกระชวย มีชีวิตชีวา สดชื่น แจ่มใส แล้วก็หลงเสน่ห์ จนกระทั่งเสพติดกาแฟหรือชา
อันนี้เพราะว่าคาเฟอีนถ้าหากว่าปริมาณสูงๆ มันเป็นอันตราย แต่ถ้าปริมาณน้อยๆ มันก็กลายเป็นของดีได้ ทำให้เครื่องดื่มนี้มีเสน่ห์ขึ้นมา
ในธรรมชาติ สิ่งที่เราเห็นว่าดี จริงๆ แล้วมันก็เต็มไปด้วยโทษมาก หรือพูดอีกอย่างหนึ่ง ก็คือว่าสิ่งที่มันเป็นพิษเป็นภัย เป็นอันตราย ถ้าหากว่าปริมาณไม่มากมันก็กลายเป็นของดีขึ้นมาได้
อย่างเช่นแก๊สพิษที่ใช้ฆ่าผู้คนในสงครามโลกครั้งที่ 1 เขาเรียกว่า มัสตาร์ดแก๊ส (Sulfur Mustard) เขาเอามาใช้ในการรักษามะเร็ง เคมีบำบัด ยาที่ใช้ฆ่ามะเร็งเวลาทำเคมีบำบัดก็มาจากมัสตาร์ดแก๊สซึ่งเป็นแก๊สพิษ ถ้าในปริมาณสูงก็ฆ่าคน แต่ถ้าปริมาณน้อยก็สามารถจะรักษาชีวิตของคนได้
สารหนูก็เหมือนกัน สารหนูเป็นยาพิษที่ฆ่าคนได้ แต่ถ้าปริมาณต่ำๆ นี้ก็เอามาใช้รักษาโรคหลายโรคได้ โรคเกี่ยวกับการย่อยอาหาร อาหารเป็นพิษ โรควิตกกังวล โรคซึมเศร้า หรือโรคย้ำคิดย้ำทำพวกนี้ ยาที่เขาใช้รักษามันก็มาจากสารหนู สารหนูที่ใช้ฆ่าคน แต่ว่ามันก็ไม่ได้มีแต่โทษ มันก็มีคุณถ้าหากว่าใช้ในปริมาณต่ำๆ
ในโลกนี้ ทุกอย่างที่ดูเหมือนไม่ดี ที่เป็นพิษเป็นภัย หรือเป็นโทษ มันก็มีด้านดีของมัน เชื้อโรคหลายชนิดเลยที่มันทำให้คนถึงตายได้ แต่เขาก็เอาเชื้อโรคนี้มาทำเป็นยา ทำเป็นวัคซีน ก็ช่วยรักษาชีวิตของคนได้ ฉะนั้นถ้าเราดูให้ดีๆ ในสิ่งที่แย่ๆ นี้มันก็มีดีมีคุณเหมือนกัน
อันนี้รวมไปถึงสิ่งที่เราเจอะเจอในชีวิตประจำวันด้วย เช่น ความยากลำบาก ความยากลำบากนี้ก็ไม่มีใครอยากจะประสบเท่าไหร่ แต่ว่ามันก็สามารถจะทำให้คนเรานี้เข้มแข็งขึ้นมาได้ ถ้าไม่ได้ลำบากถึงประเภทสาหัส มันก็กลับทำให้คนเรานี้เข้มแข็ง รู้จักพึ่งตน หรือว่ามีความอดทน
ในทางตรงข้าม ถ้าหากว่าเด็กไม่เจอความลำบากเลย ก็เหมือนกับเด็กที่ไม่เคยเจอเชื้อโรคเลย เด็กที่ไม่เคยเจอเชื้อโรคเลยนี้ก็จะป่วยง่าย ป่วยด้วยโรคนานาชนิดที่ประหลาดๆ โรคแพ้นั่นแพ้ รวมทั้งโรคหูคอจมูกแปลกๆ ความยากลำบากก็เหมือนกัน ถ้าไม่เจอเลยเด็กก็อ่อนแอ ทำอะไรก็ไม่เป็น จิตใจก็ไม่เข้มแข็ง
คนเราถ้าเจออุปสรรคบ้าง หรือแม้กระทั่งความล้มเหลว มันก็ทำให้เรานี้ มีปัญญา มีทักษะ เขาเรียกว่ามีประสบการณ์ แล้วมันจะช่วยเสริมสร้างทัศนคติ ก็คือกลายเป็นคนที่ไม่กลัวความล้มเหลว คนเรานี้ ถ้าหากว่าเจออุปสรรคบ้าง เจอความล้มเหลวบ้าง มันทำให้มีความเพียร ทำอะไรก็ไม่กลัวความล้มเหลว ไม่กลัวอุปสรรค เพราะว่าเคยเจอมาแล้ว รู้ว่ามันไม่ได้เลวร้ายอย่างที่คิด
ในทางตรงกันข้าม คนที่ประสบแต่ความสำเร็จ ทำอะไรก็สำเร็จ เด็กที่เวลาเรียนก็ได้ที่ 1 ตลอด หรือว่าได้อันดับต้นๆ พอถึงวันที่สอบไม่ได้ โอ๊ย เสียศูนย์มากเลย หรือคนที่ประสบความสำเร็จแล้ว วันหนึ่งเจอความล้มเหลว เจอความผิดหวัง ทำใจไม่ได้
บางครั้งมันไม่ใช่เป็นความผิดหวังในเรื่องเรียน อาจจะเป็นความผิดหวังในเรื่องชีวิต อย่างเช่น อกหัก แฟนทิ้ง ขณะที่เป็นนักเรียนมัธยม ชีวิตสมหวัง สำเร็จมาตลอด พอมาล้มเหลวเรื่องความรัก ทำใจไม่ได้ เสียศูนย์ไปเลย บางคนถึงกับซึมเศร้า หรือฆ่าตัวตาย หรือมิเช่นนั้นก็ไปคว้าปืนมายิงคนที่ทำให้ตัวเองผิดหวัง ไม่ใช่แค่คู่รักอย่างเดียว ยังรวมถึงพ่อแม่ของคู่รักด้วยที่ทำให้ตัวเองผิดหวัง ทำให้ผู้หญิงปันใจออกห่างจากตัว
หลายคนเสียศูนย์ขนาดนั้นได้ เพราะว่าชีวิตนี้มีแต่ความสมหวัง มีแต่ความสำเร็จ ไม่เจอความล้มเหลว ก็เลยขาดภูมิคุ้มกันความผิดหวัง ขาดภูมิคุ้มกันความไม่สมหวัง หรือภูมิคุ้มกันความล้มเหลว
ในทางตรงกันข้าม คนที่เจอความล้มเหลวมา เขาก็มักจะไม่กลัวความล้มเหลวแล้ว เพราะเขาก็รู้ว่ามันไม่ได้เลวร้ายอย่างที่คิด คนประเภทนี้ก็จะเป็นประเภทที่ว่ากล้าทำอะไรแหวกแนว กล้าทำอะไรแปลกๆ ใหม่ๆ มีความคิดสร้างสรรค์ กล้าเสี่ยง เพราะรู้ว่าแม้ล้มเหลวก็ไม่ได้เสียหายอะไร ไม่ได้ประเภทว่าฟ้าถล่มโลกทลาย
ดังนั้น เวลาเราเจอสิ่งแย่ๆ ถ้าเราไม่มัวแต่ตีอกชกหัว คร่ำครวญ ก่นด่าชะตากรรม ลองคิดสักหน่อย เราอาจจะพบว่าเรากำลังได้ของดีก็ได้ มันจะช่วยทำให้เรานี้มีความเข้มแข็ง มีความอดทน มีประสบการณ์ หรือมีปัญญาก็ได้
อย่างเด็ก ทารก ถ้าไม่รู้จักล้ม มันก็จะเดินไม่เป็น การล้มบ่อยๆ ทำให้เด็กสามารถจะทรงตัวให้เป็นซึ่งช่วยให้เดินได้ คนเราหรือเด็ก ถ้าเราถูกอุ้มตลอดเวลา ไม่รู้จักคำว่า ‘ล้ม’ นอกจากจะไม่รู้วิธี ‘ลุก’ แล้ว ยังจะเดินไม่เป็น
ดังนั้น ที่เราเดินได้สบายทุกวันนี้ จนกระทั่งวิ่งได้ เป็นเพราะเราล้มมาแล้วไม่รู้กี่ครั้ง เหมือนกับเราเขียนหนังสือ ได้สะอาด ได้สวยบรรจง ก็หลังจากที่เราเขียนไม่เป็นตัวมาเป็นร้อยเป็นพันครั้ง ความล้มเหลว อุปสรรค มันก็มีข้อดี มีข้อดีหลายอย่าง
เช่นเดียวกับความทุกข์ ความทุกข์มันก็มีประโยชน์ ถ้าหากว่าไม่ได้ทุกข์ขนาดหนักหนาสาหัส มันก็อาจจะทำให้เราเกิดปัญญาขึ้นมาได้ ที่จริงคำสอนของพระพุทธศาสนา ขั้นพื้นฐานเลย ที่เรียกว่าอริยสัจ 4 ข้อแรก ก็คือให้เรารู้จักทุกข์
อริยสัจข้อแรกคือ ทุกข์ ทุกข์นี้มีประโยชน์ถ้าเรารู้จักทุกข์ แต่ถ้าหากว่าเราเป็นทุกข์เมื่อไหร่ อันนี้ก็แย่แล้ว แต่เราจะรู้จักทุกข์ได้ เราก็ต้องเจอทุกข์ แล้วก็เผลอเป็นทุกข์เสียก่อน เป็นทุกข์ซ้ำแล้วซ้ำเล่า แล้ววันหนึ่งก็จะรู้จักทุกข์ขึ้นมา แล้วพอรู้จักทุกข์ ทางออกจากทุกข์มันก็เกิดขึ้นได้
อาจารย์กำพล ทองบุญนุ่ม พิการตั้งแต่คอลงมา ก็เรียกว่าทุกข์ทรมานอยู่สิบกว่าปี จนกระทั่งพอได้ปฏิบัติธรรม ถึงจุดหนึ่งท่านบอกว่า “ลาออกจากความทุกข์แล้ว” จิตใจลาออกจากความทุกข์แล้ว ร่างกายยังพิการอยู่ กายยังทุกข์อยู่ แต่ใจไม่ทุกข์แล้ว ก็กลายเป็นอาจารย์สอนธรรม
แต่ท่านถ่อมตัว ท่านเรียกตัวเองว่าเป็นอุปกรณ์สอนธรรม สอนธรรมสอนให้คนไม่ประมาทในชีวิต เพราะว่าขณะที่ยังหนุ่มยังแน่น วันดีคืนดีก็อาจจะพิการก็ได้ เหมือนกับท่านซึ่งพิการเอาตอน 24 ขณะที่ชีวิตกำลังรุ่ง
แต่ขณะเดียวกัน ความพิการก็สอนให้ท่านได้เห็นทางออกจากความทุกข์ คือ กายป่วย กายพิการ แต่ใจไม่ป่วยใจไม่พิการนี้ทำได้ ตอนหลังท่านก็บอก “ขอบคุณความทุกข์ เพราะความทุกข์ทำให้รู้จักทุกข์ แล้วทำให้รู้ทางออกจากทุกข์” จะออกจากทุกข์ได้ ก็ต้องรู้จักทุกข์ แต่จะรู้จักทุกข์ได้อย่างไรถ้าไม่เจอทุกข์ แต่ว่าคนส่วนใหญ่พอเจอทุกข์แล้วก็เป็นทุกข์ คราวนี้สิ่งที่จะทำให้เรารู้จักทุกข์ได้ สิ่งสำคัญคือ ‘สติ’ ทีแรกคือสติ ต่อมาก็คือ ‘ปัญญา’
สติ นี้ทำให้เห็นทุกข์ รู้ทุกข์แต่ไม่เข้าไปเป็นทุกข์ ซึ่งอันนี้คนที่ไม่ปฏิบัติ ไม่เจริญสติ จะเข้าใจยาก จะใช้แค่หัวคิดอย่างเดียวมันไม่พอ มันต้องผ่านการปฏิบัติ ผ่านการเจริญสติ โดยเฉพาะ ‘สัมมาสติ’ จะช่วยทำให้เห็นทุกข์แต่ไม่เป็นทุกข์
หลวงพ่อคำเขียน ท่านใช้คำว่า “เปลี่ยนทุกข์ ให้กลายเป็นความไม่ทุกข์” เปลี่ยนทุกข์ให้กลายเป็นความไม่ทุกข์ แล้วสิ่งที่จะช่วยทำให้ความทุกข์กลายเป็นความไม่ทุกข์ได้ ก็คือสติ
“เปลี่ยนความโกรธ ให้กลายเป็นความไม่โกรธ” คือว่ามีแต่ความโกรธ แต่ไม่มีผู้โกรธ มีแต่ความทุกข์ แต่ไม่มีผู้ทุกข์ อันนี้เกิดจากสติซึ่งจะเกิดขึ้นได้ หรือสติจะทำให้เราประสบภาวะเช่นนั้นได้ เช่นนั้นได้ มันก็ต้องปฏิบัติ แต่การที่สติของเรา จะพัฒนาจนกระทั่ง “เห็นทุกข์แต่ไม่เป็นผู้ทุกข์” หรือว่า “เจอทุกข์ รู้ทุกข์ แต่ไม่เป็นทุกข์” มันก็ต้องผ่านหลายสิ่งหลายอย่างที่เราไม่ชอบ เช่นต้องเจอความหลง
ความหลง มันไม่ใช่ว่าเป็นสิ่งที่เลวร้ายอย่างเดียว มันก็มีประโยชน์เหมือนกัน มันก็เช่นเดียวกับทุกสิ่งทุกอย่างที่ไม่ได้มีแต่โทษ แต่ว่ามีคุณด้วย นักปฏิบัติจำนวนมากเลยจะไม่ชอบความหลง สนแต่ว่าความรู้สึกตัว จะไม่ชอบความฟุ้งซ่าน อยากได้ความสงบ ไม่มีความคิดผุดขึ้นมา
แต่ทั้ง ความหลง และ ความฟุ้งซ่าน มันก็มีข้อดี เพราะว่ามันเป็นอุปกรณ์ที่ฝึกใจของเราให้มีสติ หลงมันไม่เสียหายถ้าเห็นความหลง แต่ก่อนนี้พอหลงแล้ว มันก็เข้าไปในความหลง เป็นผู้หลงไปเลย แต่ว่าการที่เราจะมีสติเห็นทุกข์ แต่ไม่เป็นทุกข์ หรือว่ามีแต่ความทุกข์แต่ไม่มีผู้ทุกข์ จะมีสติระดับนั้นได้ มันก็ต้องผ่านจากการเห็นความหลงก่อน จะเห็นความหลงได้ ก็ต้องเจอหลงบ่อยๆ
ปฏิบัติใหม่ๆ มันก็จะหลงตะพึดตะพือ รู้สึกตัวน้อยมาก แต่ความหลงแหละที่มันจะสอนให้จิตนี้มีสติที่ไว สอนด้วยการที่เป็นอุปกรณ์ให้เห็นความหลง เห็นความหลง เห็นความหลง หลงไม่เป็นไร ขอให้เห็นก็แล้วกัน รู้ว่าหลง รู้ว่าหลง
ความคิดฟุ้งซ่านก็เหมือนกัน ไม่ได้เสียหาย แม้ว่ามันจะทำให้ทุกข์ ที่ทุกข์ก็เพราะอะไร เพราะหลงเข้าไปในความคิด ฉะนั้นครูบาอาจารย์ท่านก็บอก “ทุกข์เพราะหลง ทุกข์เพราะคิด” แต่จริงๆ แล้วไม่ใช่ทุกข์เพราะคิดหรอก แต่ทุกข์เพราะไม่รู้ทันความคิดต่างหาก ไม่ได้ทุกข์เพราะหลง แต่ทุกข์เพราะไม่เห็นความหลง แต่ถ้าเห็นความหลงเมื่อไหร่ กลายเป็นของดี ออกจากทุกข์ได้ รู้ทันความคิด เห็นความคิดเมื่อไหร่ มันก็ออกจากทุกข์ได้
ฉะนั้นที่เราปฏิบัติ ต้องยอม ต้องยอมเจอความหลง ต้องยอมเจอความฟุ้งซ่าน อย่าไปปฏิเสธมัน บางคนก็พยายามที่จะคุมจิตไม่ให้คิด พอมีความคิดเมื่อไหร่ก็ไปกดข่มมัน เพราะเห็นว่ามันไม่ดี แต่ก็อย่างที่บอก สิ่งไม่ดีมันก็มีประโยชน์ ถ้าเราใช้ให้เป็น ใช้ให้ถูก
มีความหลง แต่เห็นความหลง หรือรู้ว่าหลง อันนี้ดี มีความฟุ้งซ่านเกิดขึ้น เห็นมัน รู้ว่ามันมีอยู่ อันนี้มันดีทำให้สติเราเติบโต ความโกรธก็เหมือนกัน ความโกรธไม่ใช่ว่าจะแย่เสมอไป มันแย่ก็ต่อเมื่อเราไม่รู้ทันมัน ปล่อยให้มันครอบงำ แต่ถ้าเราเห็นมันเมื่อไหร่ โอ้ มันเป็นของดีเลย เพราะว่าทำให้เราสามารถจะเห็นในหลายๆ อย่างจากความโกรธ
หลวงพ่อคำเขียนก็เคยพูดว่า “แม้ถูกด่าก็เห็นสัจธรรมได้” ความทุกข์ก็ทำให้เราเห็นสัจธรรมได้ อยู่ที่ไหนก็เห็นสัจธรรมได้ ไม่ใช่ว่าจะต้องมาวัดอยู่วัด ความโกรธก็สอนสัจธรรมให้กับเรา เห็นความไม่เที่ยง หรือว่าเห็นว่ามีความโกรธ แต่ถ้าเราไม่หลงยึดความโกรธ ไม่หลงเข้าไปในความโกรธ มันก็ทำอะไรจิตใจไม่ได้
แต่ที่เราทุกข์เมื่อความโกรธเกิดขึ้นนั้น เพราะว่าใจมันหลงเข้าไปในความโกรธ ปล่อยให้ความโกรธเข้ามาครอบงำเผาลนใจ เหมือนกับเรากระโจนเข้าไปในกองเพลิง ถึงแม้กองเพลิงยังมีอยู่ แต่ถ้าหากว่าเราถอยออกมา ออกห่างจากกองเพลิง เราก็ไม่ทุกข์ เราก็ไม่ร้อน ยิ่งห่างเท่าไหร่ยิ่งไม่ทุกข์ มันจะไหม้ก็ไหม้ไป แต่เราไม่ทุกข์เพราะเราถอยออกห่างจากมันแล้ว
อะไรทำให้ใจเราถอยห่างจากความทุกข์หรือความโกรธ ก็คือสติ แล้วสติที่จะช่วยเราขนาดนั้นได้ ก็คือสติที่เรียนรู้จากอารมณ์เหล่านี้ ความโกรธ ความเกลียด ความเครียด เห็นมันบ่อยๆ เห็นมันบ่อยๆ จนกระทั่งรู้ทันแล้วก็รู้ทางมัน พอมันแค่เกิดอาการเป็นประกายไฟขึ้นมาในใจ เราก็รู้แล้ว แล้วก็ไม่ปล่อยให้มันลุกลาม เหมือนกับสะเก็ดไฟที่ปล่อยให้ลามไหม้ กลายเป็นไฟไหม้ป่าเป็นพันๆ หมื่นๆ ไร่
ไฟระดับนั้นมันก็เกิดจากสะเก็ดไฟเล็กๆ ซึ่งถ้าตอนนั้นเราเห็นได้ทัน เราก็ดับมันได้ง่าย แต่เพราะเราไม่เห็น ปล่อยให้มันลาม มันจึงกลายเป็นไฟป่าที่ก่อความเรียกว่าก่อความฉิบหายไปมากมาย
เพราะฉะนั้น สิ่งที่เรามองว่ามันไม่ดีๆ มันมีดีอยู่ ถ้าเรารู้จักใช้ ก็เหมือนกับขยะ ถ้ามากองไว้หน้าบ้านมันก็เหม็น แต่ถ้าไปกองไว้ในสวนโคนต้นไม้ มันก็กลายเป็นปุ๋ย ฉะนั้นศิลปะของการปฏิบัติก็คือว่า เปลี่ยนร้ายให้กลายเป็นดี หรือ หาประโยชน์จากสิ่งที่ไม่ดี ในทุกข์มันก็มีสิ่งดีอยู่ อยู่ที่ว่าเราจะสกัดออกมาหรือใช้ให้เป็นไหม จะพูดว่าในทุกข์มีสุขก็ได้ อย่างที่พระพุทธเจ้าตรัสว่า ผู้มีปัญญาแม้ประสบทุกข์ ก็ยังหาสุขพบ
อันนี้ก็เป็นการบ้าน ว่าเราจะหาสุขพบได้อย่างไรท่ามกลางความทุกข์ ที่จริงครูบาอาจารย์อย่างท่านอาจารย์พุทธทาส ก็ถึงกับบอกเลยว่า “ในวัฏสงสารมีนิพพาน ไม่ต้องไปหานิพพานที่ไหน ต้องไปหานิพพานจากวัฏสงสาร”
โพธิ ก็พบได้ท่ามกลางกองกิเลส ก็เหมือนกับดอกบัวเกิดขึ้นจากโคลนตม ไม่มีโคลนตมก็ไม่มีดอกบัว.