แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
สามสี่วันมานี้ มีคลิปหนึ่งซึ่งเป็นที่โจษจันกันมาก แล้วก็เกิดผลกระทบตามมาหลายอย่าง มันเป็นคลิปที่ฝรั่งคนหนึ่งเข้าใจว่าเป็นชาวอเมริกัน ถ่ายประมาณสัก 3-4 นาที เป็นภาพคนกลุ่มหนึ่งไปเที่ยวที่อุทยานแห่งชาติ Yellowstone เสียงพูดคุยกันก็บ่งชี้ว่าเป็นคนไทยประมาณสัก 10 คนได้ ก็กำลังเข้าไปดูคล้าย ๆ เป็นบ่อน้ำร้อน บ่อน้ำร้อนก็ไม่ใหญ่อะไร ตรงนั้นมันเป็นจะเรียกว่าเขตหวงห้ามก็ได้ หมายถึงห้ามเข้า เพราะว่ามีป้ายเล็ก ๆ ติดไว้ข้างทาง พิงไว้กับขอนไม้ว่าอันตราย แล้วก็ข้อความนั้นก็บอกว่าให้เดินในทาง ก็คือหมายความว่าอย่าไปเข้าไปในบริเวณนั้น
คนถ่ายคลิปเขาเรียกคนไทยกลุ่มนี้ให้ออกมา คนไทยกลุ่มนี้ก็ไม่ฟังเท่าไร ยังพูดคุยและไปจดจ่ออยู่ที่ตรงบ่อน้ำร้อน เรียกอยู่ 2-3 ครั้งก็มีคนไทยเริ่มทยอยเดินออกมา แต่ก็ยังมี 2-3 คนที่ยังไม่ยอมออก ก็เรียกอีก เฮ้ ๆ ทำนองนั้นให้ออกมา สุดท้ายก็เดินออกมา ในระหว่างนั้นก็มีผู้หญิงคนหนึ่ง ก็อายุสัก 50 60 แล้วกระมัง พอรู้ว่ามีถ่ายคลิป แกก็ยิ้มแล้วอ้าแขนชู 2 นิ้วทั้ง 2 มือและบอกว่า “from Thailand , from Thailand” ยิ้มระรื่น คนถ่ายคลิปก็บอกว่า ไม่รู้หรือว่าตรงนี้เขาห้ามเข้า ก็บอกว่าขอโทษ ขอโทษ ฝรั่งก็บอกว่าไม่ต้องขอโทษผมหรอก แต่ก็ถ่ายคลิปต่อ คนกลุ่มนี้ก็เดินไปบนถนนแล้วแต่มีชายหนุ่มคนหนึ่งอายุสัก 30 ได้ พอเห็นว่าถูกถ่ายคลิปก็ไม่พอใจ เดินตรงมาที่คนที่ถ่ายคลิปแล้วก็พูดภาษาอังกฤษปนไทย “you ถ่าย phone delete delete” ฝรั่งก็ยังถ่ายอยู่ หนุ่มคนนั้นจึงทำท่าไม่พอใจคล้าย ๆ ว่าเหมือนกับจะขู่ เหมือนกับจะมาแตะเนื้อต้องตัวเขา ฝรั่งก็บอกอย่ามาแตะตัวผม หนุ่มคนนั้นพูดอะไรสักอย่าง ฝรั่งก็บอก “I don’t understand. ” ฉันไม่เข้าใจ แล้วก็จบประมาณนี้
คราวนี้คลิปอันนี้เขาก็เอาขึ้นยูทูป ก็มีคนไทยเห็นกระมัง เลยเอาโพสต์ขึ้นในเฟสบุ๊คก็เลยเป็นเรื่อง มีคนก็รุมมา คอมเม้นต์ทำนองว่าคนกลุ่มนี้ทำให้เสียชื่อ ทำผิดแล้วก็ยังยิ้มระรื่น แถมอวดว่าตัวเองมาจากไทยแลนด์ มาจากประเทศไทย I am Thai , from Thailand. หนังสือพิมพ์ เว็บไซต์ต่าง ๆ ก็เอาไปเผยแพร่ แล้วก็มีคอมเม้นต์ด่าตามมา ทำนองว่าไม่รู้จักธรรมเนียมเขา ไม่รู้จักระเบียบเขา เขาห้ามเข้า ก็ยังไปเข้า เข้าไปแล้วเขาเรียกก็ไม่สนใจ ทำอย่างกับอยู่เมืองไทยอย่างนั้นแหละ บางคนก็ว่า พูดภาษาไทย คนฝรั่งฟังไม่รู้เรื่องเลย จะไปเที่ยวเมืองนอกทั้งทีก็ควรพูดภาษาฝรั่งให้ได้หรือพูดภาษาเขาบ้าง ก็ว่ากันไป
มีคนหนึ่งใช้เฟสบุ๊คชื่อ Social Hunter ก็ไปตามกระทั่งรู้ว่าชายคนนี้ชื่ออะไร รู้ด้วยว่าทำอาชีพอะไร ประวัติเป็นอย่างไร ตอนหลังตามว่าผู้หญิงคนนี้ชื่ออะไร บ้านอยู่ที่ไหนในอเมริกา ถ่ายรูปบ้านอะไรมาเสร็จเรียบร้อย พูดคล้าย ๆ ทำนองประจาน เพื่อให้คนเข้าไปรุมถล่มหรืออย่างไรก็ไม่รู้ ตอนหลังโทรทัศน์ก็ไปหาตัวจนเจอ ไปสัมภาษณ์ผู้หญิงคนที่บอกว่า I’m from Thailand ผู้หญิงคนนี้แกก็พูดว่า ตอนที่เขาถ่ายคลิป คิดว่าเขาถ่ายเล่น ก็เลยแสดงความเป็นมิตรกับเขา ว่ามาจากประเทศไทย ตอนนั้นไม่ได้คิดว่าเขาถ่ายคลิปเพื่อที่จะเอาไปวิพากษ์วิจารณ์ แล้วก็พูดทำนองว่า ก็เห็นใคร ๆ เขาก็ทำกัน ใคร ๆ เขาก็ไปดูกัน ก็เลยไปดูมั่ง พูดกระทั่งไปถึงว่า ตัวเองก็ทำตามระเบียบเขาเหมือนกัน ที่จอดรถของคนพิการในอเมริกา คนอื่นเขาไปจอดนาทีหนึ่งก็ไม่เห็นเป็นอะไร แต่ฉันก็ไม่ได้ทำ แค่นี้ก็เป็นเรื่องเลย เพราะว่าคนก็วิพากษ์วิจารณ์ว่า คำพูดที่ว่า ใคร ๆ เขาก็ทำกัน นั้นมันไม่ใช่เหตุผล
คำพูดที่ว่า ใคร ๆ เขาก็ทำกัน อันนี้ก็เป็นเรื่องที่น่าสนใจ อันนี้เป็นเหตุผลที่เราได้ยินบ่อย ใคร ๆ เขาก็ทำกัน เราได้ยินบ่อยมาก เวลาจะทำอะไรที่ไม่ถูกต้อง ใคร ๆ เขาก็ทำกัน เวลามีอุบัติรถชน หรือว่ามีข้าวของตกกระจายแตกเกลื่อน อาจจะเป็นรถบรรทุก คนก็ลงกันไปขนเอาของนั้นออกมา ต่างคนไปเก็บมาคนละไม้คนละมือ บางทีแทนที่จะช่วยคนที่เขากำลังประสบอุบัติเหตุ ก็ตั้งหน้าตั้งตาเก็บโกยสินค้าหรือของที่มันตกอยู่เกลื่อนกราดกลางถนน ทั้ง ๆ ที่มันก็เป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้อง แต่คนเขาก็พูดว่าใคร ๆ เขาก็ทำกัน เวลาแซงคิวแซงกันใหญ่ ใคร ๆ เขาก็ทำกัน อันนี้เป็นเหตุผลที่เรามักจะได้ยินบ่อย ซึ่งกรณีคุณป้าคนนี้แกก็พูดทำนองนี้แหละ ใคร ๆ เขาก็ทำกัน รู้ว่ามันผิด รู้ว่าเขาห้าม แกก็พูดแก้ตัวไปโดยเหตุผลหลัก ๆ คือใคร ๆ เขาก็ทำกัน ก็ทำให้แทนที่เรื่องมันจะสงบ คนก็รุมด่ากัน
ที่คนเขาก็วิพากษ์วิจารณ์มาก คือหนุ่มคนนั้นที่ทำท่าทางคุกคาม ข่มขู่ฝรั่งที่ถ่ายคลิป ก็มีการสัมภาษณ์ไลฟ์เฟสบุ๊คกับผู้ชายคนนี้ เขาก็พูดทำนองว่า ฝรั่งคนนี้มันทำท่าทางเหยียด คล้าย ๆ เหยียดชาติพันธุ์ เหยียดผิว เขาก็เลยไม่พอใจ ก็เลยมีอาการทำนองนั้น เพื่อตอบโต้อาการเหยียดผิวของฝรั่ง ก็แก้ตัวไปเรื่อยว่ามันไม่ได้เป็นเขตห้ามเข้า มันไม่มีไม้กั้น มันมีแค่ป้ายเล็ก ๆ วางไว้บนขอนไม้ริมทาง ก็พูดให้เหตุผลแบบนี้ คนก็รุมด่ากันอีก เขาบอกว่า นี้มันเหมือนกับเขาเขียนป้ายบนสนามหญ้าว่าห้ามเดินผ่าน แม้มันจะไม่มีไม้กั้นมันก็ไม่สมควรเดินผ่านอยู่แล้ว ป้ายมันจะใหญ่จะเล็กแค่ไหนก็บอกว่าห้ามเดินลัดสนาม ห้ามเหยียบ ห้ามเดินบนสนามหญ้า ก็ควรจะเคารพเขา ไม่ใช่บอกว่าป้ายมันเล็กหรือไม่ใช่บอกว่ามันไม่มีไม้กั้น ฝรั่งเขาก็ไม่จำเป็นต้องใช้ไม้กั้นอยู่แล้ว แค่วางไว้บนพื้น เอาป้ายวาง บางคนก็พูดว่าจะไปว่าเขาเหยียดผิวได้อย่างไรในเมื่อเราก็ทำไม่ถูก เราทำไม่ถูก เราทำให้เขาดูถูกเหยียดหยามเอง แต่ถ้าเราทำดีเราทำถูกต้อง แล้วเขาดูถูกเหยียดหยามค่อยว่าไปอย่าง นี่เราก็ทำไม่ถูก แล้วจะไปเถียงเต็มปากเต็มคำได้อย่างไรว่าเขาเหยียดผิวหรือว่าเขาดูถูกเหยียดหยามเรา
ที่จริงดูจากอากัปกิริยาผู้ชายคนนี้ ซึ่งก็มีคนไปแคะจนได้ชื่อนามสกุลมาพร้อมเลย ชื่อนี้ก็กลายเป็นชื่อที่ดัง ผู้ชายคนนี้แกก็คงรู้ว่าบังเอิญทำไม่ถูก เพราะฉะนั้นจึงพยายามที่จะขอให้ฝรั่งลบภาพนี้ หรือมีความไม่พอใจที่ฝรั่งถ่ายรูปกลุ่มของตัวเอง คนเราถ้าเชื่อว่าตัวเองทำอะไรไม่ผิด คงจะไม่มีความรู้สึกขุ่นเคืองที่มีคนถ่ายรูปการกระทำของตนเอง แต่เมื่อตัวเองรู้ว่าตัวเองผิดแล้วและพอรู้ว่ามีคนถ่ายรูปก็ไม่พอใจ พยายามที่จะกลบเกลื่อน ปิดบังหลักฐานโดยการขอร้องหรือข่มขู่ให้เขาหยุดถ่าย อันนี้มันกลายเป็นเรื่องขึ้นมา เขาจะบอกว่าผมไม่ผิดคงไม่ใช่ เพราะเขารู้ว่าเขาผิดจึงมีอากัปกิริยาแบบนั้น แต่เขาก็ไม่ยอมรับว่าเขาทำผิด เขาก็ว่าเขามีเหตุผลอ้างไปเรื่อย
ทำให้เห็นเลยว่า คนเรานี้จริง ๆ แล้วทำผิดครั้งแรกมันยังไม่เท่าไร แต่ที่มันเป็นปัญหามากคือทำผิดครั้งที่ 2 ทำผิดครั้งที่ 2 ก็คือพูดจากลบเกลื่อน หรือว่าอ้างเหตุผลต่าง ๆ นานา เหมือนกับว่าเพื่อจะทำให้สิ่งที่ตัวเองทำไม่ถูกนั้น มันกลายเป็นถูกขึ้นมา เช่น บอกว่าใคร ๆเขาก็ทำกัน คือถ้าคุณป้าคนนั้นแกก็ยอมรับตั้งแต่แรกว่าฉันทำผิด ฉันไม่รู้ ฉันก็ไม่ค่อยระมัดระวัง มันก็จบ แต่นี่ก็แก้ตัวมันก็เลยเป็นผิดครั้งที่ 2 แก้ตัวแบบน้ำขุ่น ๆ ใคร ๆ เขาก็ทำกัน การทำผิดครั้งที่ 2 มันมักจะทำให้เกิดปัญหามากกว่าการทำผิดครั้งแรก ผู้ชายคนนั้นก็เหมือนกัน เมื่อรู้ว่าเราทำผิดแล้วเขาก็ถ่ายรูป ก็ไม่พอใจ ยังไงก็ต้องเก็บอารมณ์เอาไว้ หรือถ้าจะไปพูดกับเขาก็ไปพูดกับเขาดี ๆ แต่พอพยายามปิดบังความผิดครั้งแรกด้วยการไปข่มขู่ให้เขาหยุดถ่ายรูป หรือให้เขาล้าง ให้เขาลบไฟล์ มันก็เลยกลายเป็นเรื่องเป็นราวขึ้นมาใหญ่โต ผิดครั้งแรกยังพอว่า แต่ผิดครั้งที่ 2 มันมักจะหนักกว่าเดิม
ที่จริงก็เห็นได้ทั่วไป คนเราเวลาผิดครั้งแรก บางครั้งมันก็หนักอยู่ แต่ว่าที่เลวร้ายคือความผิดครั้งที่ 2 อย่างคนที่อาจจะไปมีกิ๊ก ไปมีเมียน้อย จนกระทั่งผู้หญิงท้อง ทีนี้ต้องการปกปิดความจริง บางคนก็ใช้วิธีอะไร วิธีฆ่าเสียเลย ฆ่าเมียน้อย หรือฆ่าหญิงสาวที่อาจเป็นแค่กิ๊กที่กำลังท้อง เพราะเขาอาจจะไปข่มขู่ว่าเดี๋ยวฉันจะไปบอกเมียหลวง เขาก็เลยฆ่าเสียเลย ผิดครั้งแรกที่เป็นชู้มันก็หนักแล้ว แต่ผิดครั้งที่ ๒ นี้หนักกว่าเดิม ผิดครั้งที่ 2 เพื่อจะปกปิดความผิดครั้งแรก มันมักจะหนักกว่าเดิมเสมอ หรือคนที่ไปคอร์รัปชั่น แล้วก็พอมีคนรู้ความจริงเข้าก็พยายามจะปิดปากเขา คอร์รัปชั่นมันก็ยังอย่างมากติดคุก แต่ถ้าไปฆ่าเขานี้บางทีมันประหารเลย คนเราไม่ค่อยตระหนักว่า ความผิดครั้งที่ 2 มันมักจะหนักกว่าความผิดครั้งแรก และผิดครั้งที่ 2 เพราะไม่ยอมรับว่าเราทำผิดครั้งแรก
อย่างผู้ชายคนนั้นถ้าเกิดว่าไม่ไปข่มขู่ฝรั่ง เพราะว่าต้องการให้เขาลบไฟล์จะได้ไม่มีหลักฐาน มันก็คงไม่เกิดเรื่องเกิดราว คนก็รุมด่ากันใหญ่ว่าทำผิดแล้วยังไปทำท่าทางข่มขู่เขาอีก แล้วไปอ้างว่าเขาเป็นพวกเหยียดผิด เขาดูถูกคนไทย อันนี้จริง ๆ คลิปที่ว่าหรือเหตุการณ์นี้มันให้แง่คิดหลายอย่าง อย่างที่บอกทั้งพฤติกรรมของคนไทยจำนวนมากเลยที่เวลาทำอะไรก็จะอ้างหาเหตุผลมาสนับสนุนการกระทำนั้นด้วยการพูดว่า ใคร ๆ เขาก็ทำกัน ใคร ๆเขาก็ทำกัน เวลาเราเห็นคนป่วยนอนเป็นลมอยู่ข้างถนนที่คนพลุกพล่าน เพราะว่ามันเป็นย่านชุมชน อาจจะใกล้กับป้ายรถเมล์ หลายคนก็เดินผ่านไม่ได้ช่วยเหลืออะไร ถ้าถามทำไมเขาถึงทำก็จะบอกว่า ก็ใคร ๆ เขาก็ทำกัน ใคร ๆ เขาก็ทำกัน เวลามีอะไรที่ควรจะทำความดีแต่ไม่ทำ ก็อ้างว่า ใคร ๆ เขาก็ทำกันอย่างนั้นก็คือไม่สนใจ แต่เวลาจะทำความชั่วคือทำสิ่งที่ไม่ดี ผิดศีล เช่น ขโมย ก็อ้างว่า ใคร ๆ เขาก็ทำกัน ถึงฉันไม่ทำคนอื่นเขาก็ทำ อันนี้ก็เป็นอีกเหตุผลหนึ่งซึ่งใกล้เคียงกัน ถึงฉันไม่ทำคนอื่นก็ทำ ถึงฉันไม่คอร์รัปชั่นคนอื่นก็คอร์รัปชั่น ถึงฉันไม่ตัดไม้คนอื่นก็ตัดไม้ ดังนั้นก็เลยตัดบ้าง เรามักใช้เหตุผลนี้แหละ ถึงฉันไม่ทำคนอื่นเขาก็ทำ เพื่อใช้เป็นข้ออ้างในการทำชั่ว ใคร ๆ เขาก็ทำกัน แต่เวลาถึงเวลาที่ต้องทำความดี ก็อ้างว่า ถึงฉันไม่ช่วยคนอื่นก็ช่วย เพราะฉะนั้นฉันไม่ช่วยดีกว่า คืออ้างว่า ใคร ๆ เขาก็ทำกัน ใคร ๆ เขาก็เดินผ่าน ฉันก็เดินผ่านบ้าง เหตุผลนี้มันเป็นเหตุผลที่เราได้ยินบ่อยมาก ซึ่งมันเป็นเหตุผลที่ใช้ไม่ได้เลย
ดังนั้น เวลาเราจะทำหรือไม่ทำอะไร ก็ควรจะเป็นเพราะว่า ถ้าเราจะทำก็เพราะว่ามันเป็นสิ่งที่ดี ถ้าเราไม่ทำก็เพราะเป็นสิ่งไม่ดี ไม่ใช่เพราะว่าอ้างคนอื่นหรืออ้างคนส่วนใหญ่ การอ้างคนส่วนใหญ่หรืออ้างใครต่อใครเพื่อเป็นเหตุผลว่าฉันทำหรือไม่ทำอะไร อันนี้ทางพุทธศาสนาเรียกว่า โลกาธิปไตย โลกาธิปไตยคือการทำอะไรโดยอ้างคนส่วนใหญ่ กลัวคนเขาว่าก็เลยไม่ทำ กลัวคนเขาจะรุมประณามก็เลยไม่ทำ อันนี้ก็เป็นโลกาธิปไตย บางคนทำความดีก็เพราะว่ากลัวคนจะว่าถ้าไม่ทำ อีกอันหนึ่งที่ตรงข้ามคือ อัตตาธิปไตย ก็คือเอาตัวเองเป็นใหญ่ เอาความถูกใจของตัวเองเป็นใหญ่ เอาผลประโยชน์ของตัวเองเป็นใหญ่ คนอื่นจะว่าอย่างไรฉันไม่สน ฉันจะทำเสียอย่าง ฉันอยากทำ อันนี้เรียกว่าอัตตาธิปไตย มันก็ไม่ดี ที่ดีก็มีก็คือ ที่ฉันทำนั้นฉันไม่ได้ทำบาปนะเพราะว่าเดี๋ยวจะตกนรก เดี๋ยวจะไม่มีคนนับถือ อันนี้เอาตัวเองเป็นใหญ่ เอาผลประโยชน์ตัวเองเป็นใหญ่ ก็เลยไม่ทำชั่ว ซึ่งมันก็สามารถจะทำเป็นเหตุผลให้คนทำดีก็ได้ แต่ส่วนใหญ่อัตตาธิปไตย มันพาให้คนทำชั่วมากกว่า เพื่อสนองกิเลส เพื่อสนองประโยชน์ของตนเอง
ในทางพุทธศาสนาถ้าจะทำอะไรก็ทำเพราะมันเป็นสิ่งถูกต้อง เพราะมันเป็นหลักการที่ควรยึดถือเอาไว้ อันนี้เรียกธรรมาธิปไตย ทำเพราะมันดี ทำเพราะมันเป็นประโยชน์กับส่วนรวม อันนี้คนไทยเมืองไทยเราจะหนักไปทางโลกาธิปไตยเยอะ หรือทำทีว่าเป็นอย่างนั้นก็คืออ้างว่า ใคร ๆ เขาก็ทำกัน ที่จอดรถคนพิการ คนปกติก็เอาไปจอดรถถามว่าทำไมถึงทำ ก็ตอบว่า ก็ใคร ๆ เขาก็ทำ ไม่เห็นหรอ ดูสิ อันนี้ก็เป็นข้ออ้างที่เรามักจะได้ยิน แต่ที่จริงมันก็มาจากอัตตาธิปไตยก็ได้คือความเห็นแก่ตัว มันสะดวกสบาย ถ้าไปจอดที่อื่นมันไม่สะดวกมันเดินไกล แต่ก็จะอ้างว่า ใคร ๆ เขาก็ทำ เหตุผลนี้พอผู้หญิงคนนี้เอามาพูด ตั้งใจจะกลบเกลื่อนความผิดที่ไปดูบ่อน้ำร้อนในเขตที่เขาห้าม มันก็เลยเรียกแขกเลย คือถ้ายอมรับตั้งแต่แรกว่าขอโทษ ไม่ทันสังเกต หรือว่าไม่ได้คิดว่าเขาจะซีเรียสขนาดนั้น ขอโทษ ก็จบ ผิดครั้งเดียว ผิดครั้งเดียวคนไม่ค่อยว่าอะไร แต่ผิดครั้งที่ 2 มันมักจะเรียกแขกเสมอ
หรือว่าชายหนุ่มคนนั้น ซึ่งรู้ตัวว่าผิด แทนที่จะยอมรับผิดก็พยายามที่จะไปข่มขู่ฝรั่งให้เขาลบไฟล์ นี่ผิดครั้งที่ ๒ มันแย่กว่าผิดครั้งแรก คนก็เลยรุมด่าหนักเข้าไปใหญ่ เหตุการณ์นี้มันไม่ใช่เพียงแค่เป็นเรื่องดราม่าที่ชวนติดตาม แต่มันบอกอะไรเยอะเกี่ยวกับพฤติกรรมนิสัยของคนไทย รวมทั้งให้แง่คิดเกี่ยวกับเรื่องการรับมือกับปัญหาต่าง ๆ ที่จริงพูดถึงฝรั่งคนนั้นก็น่าสนใจ คือถ้าเป็นคนไทยก็อาจจะเดินผ่านไป แต่ฝรั่งเขาถือว่าอันนี้มันเป็นกฎเป็นระเบียบที่ทุกคนควรเคารพ ที่จริงไม่ใช่เรื่องส่วนตัวเขาเลย แต่เขาถือว่าเมื่อมีคนกลุ่มหนึ่งไม่ทำตามระเบียบ เขาก็ถือว่าเป็นหน้าที่ที่จะต้องรักษาระเบียบนั้นเอาไว้ ก็มีหน้าที่ที่ต้องเตือน จริง ๆ คำเตือนเขาอาจจะไม่ค่อยสุภาพเท่าไหร่ที่ใช้คำว่า “เฮ้ ๆ” แต่ว่าถ้าเราพูดถึงแรงจูงใจของเขาก็น่าสนใจ คือเขาเห็นว่าเป็นเรื่องของระเบียบที่ต้องรักษาเอาไว้ อุทยานแห่งชาติเป็นของส่วนรวมที่เราต้องช่วยกันรักษาระเบียบ อันนี้ฝรั่งเขาจะมีตรงนี้ อะไรที่มันผิดระเบียบแม้จะไม่เกี่ยวกับตัวเขาเลย เขาก็ไม่นิ่งดูดาย ในขณะที่คนไทยก็อาจจะเฉยเมย เพราะว่าไม่อยากจะหาเรื่องเดือดร้อนใส่ตัว อันนี้เป็นวัฒนธรรมหรือพฤติกรรมที่ต่างกัน
คนไทยเราไม่ค่อยเคร่งครัดระเบียบ เขาเขียนว่าห้ามเข้าก็ยังเดินเข้า ห้ามเดินลัดสนามก็ยังเดินลัดสนาม แต่ฝรั่งเขาก็ถือมาก ถ้ามีป้ายเขียนแบบนี้เขาก็ไม่ทำ ไม่ละเมิด เพราะว่าถือว่าเป็นระเบียบที่ต้องรักษาไว้ ในเมืองนอกอย่างประเทศเยอรมัน วันอาทิตย์เขาห้ามทำงาน ห้ามร้านค้าเปิดขาย ประเทศอย่างเยอรมัน หรืออย่างนอร์เวย์ อย่างยุโรป วันอาทิตย์เขาจะปิดร้านเลย เป็นระเบียบ เป็นกฎหมาย ถ้าเกิดมีร้านไหนเปิดเขาจะแจ้งเจ้าหน้าที่เลย ทีแรกเราคิดว่าเขาอิจฉา อิจฉาว่าร้านเราเปิดไม่ได้ ร้านอื่นมันเปิดแล้วก็มีลูกค้า เราเชื่อว่าเขาทำเพราะความอิจฉา ถ้าวันนี้กูทำเงินไม่ได้คนอื่นก็ทำเงินไม่ได้ นี้คิดแบบคนไทย แต่ที่จริงเขาทำเพราะเขาคิดว่ามันเป็นระเบียบ เป็นกฎหมายที่ต้องทำ เขาจะแจ้งเจ้าหน้าที่ให้มาดำเนินการกับร้านที่เปิดขายวันอาทิตย์ ทั้งที่ไม่ใช่กงการอะไรของเขาเลย แต่ก็ถือว่าเป็นเรื่องของระเบียบส่วนรวมที่เขาต้องช่วยกันปกป้องรักษา
ประเด็นที่น่าสนใจคือ คนไทยที่รุมด่าเขานั้นมาดูจริง ๆ แล้วคงเพราะว่า เขารู้สึกว่าคนไทยกลุ่มนี้ที่ไปเที่ยว Yellowstone แล้วเขาทำให้เสียชื่อเสียงประเทศชาติ ทำผิดแล้วยังมายิ้มระรื่นและประกาศตัวเองว่า from Thailand, I’m Thai. คนไทยรู้สึกเสียชื่อมาก รู้สึกอับอายที่คนกลุ่มนี้มีพฤติกรรมแบบนี้ จะว่าไปมันก็เป็นความรู้สึกที่เป็นตัวกูแบบหนึ่งที่ไปวิจารณ์รุมด่าคนไทยกลุ่มนี้ เพราะรู้สึกตัวกูถูกกระทบ ทำให้ประเทศของกูเสียชื่อเสียง คือถ้าทำไปเพราะว่าเขาทำไม่ถูกหลักการ ไม่ถูกระเบียบ อันนั้นก็เรื่องหนึ่ง แต่ถ้าทำเพราะตัวกูถูกกระทบมันก็อีกเรื่องหนึ่ง ก็รู้สึกว่าคนไทยจำนวนมากในเฟสบุ๊คไปรุมด่าจนบางทีมันเกินเลยไป เพราะความรู้สึกว่าตัวกูถูกกระทบ เพราะทำให้กูเสียชื่อเสียง ทำให้ประเทศของกูมันน่าอับอาย แรงจูงใจแบบนี้มันก็อาจจะมีปัญหา คือถ้าจะวิจารณ์ก็เพราะว่าเห็นว่าสิ่งที่เขาทำมันไม่ถูก แต่ถ้าทำไปเพราะความรู้สึกว่าตัวกูถูกกระทบนั้นมันก็เป็นอัตตาธิปไตยแบบหนึ่ง ถ้าวิจารณ์เขาเพราะว่าเขาทำไม่ถูกก็เป็นธรรมาธิปไตยได้ คือถ้าคนไทยคนกลุ่มนี้ไม่ยิ้มระรื่นและก็ไม่ประกาศตัวว่าเป็นคนไทย I’m form Thailand เสียงวิพากษ์วิจารณ์เสียงด่าคงจะน้อยกว่านี้ แต่หลายคนรู้สึกว่าทำเสียชื่อเสียงประเทศชาติ ทำให้ฝรั่งเขาดูถูกคนไทย ก็เลยมองคนเหล่านี้เป็นศัตรู แล้วเลยรุมกระหน่ำ ซึ่งจะว่าไปแล้วก็อาจจะเกินเลยไปบ้าง
นี้ก็เป็นเรื่องที่น่าจะต้องกลับมาสำรวจว่า ที่เราไม่พอใจเขาเพราะอะไร เพราะเขาทำให้เรารู้สึกอับอายหรือเป็นเพราะว่าเขาทำไม่ถูกต้อง ซึ่งมันต่างกัน ด่าเขาเพราะรู้สึกอับอายขายหน้าที่เขาทำให้เสียชื่อเสียงประเทศชาติ หรือว่าวิพากษ์วิจารณ์เพราะเขาทำไม่ถูก คนเรานี้ต้องสำรวจตัวเองด้วย เพราะไม่เช่นนั้นมันจะกลายเป็นการทำผิดซ้ำ เขาเองก็ผิดเราก็อาจจะทำผิดด้วยเหมือนกัน อันนี้ก็เป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นในเฟสบุ๊คหรือว่าในโซเชียลมีเดียอยู่บ่อย ๆ พยายามพิทักษ์ความถูกต้องด้วยการรุมด่าคนที่ทำไม่ถูก แต่ไป ๆ มา ๆ สิ่งที่ตัวเองทำอาจจะไม่ถูกต้องไปด้วย อย่างที่เคยเล่าว่า คนเกาหลีที่เขาเอาหมามาเลี้ยง หรือพาหมามาเดินเล่นบนถนน แล้วหมามันขี้ ตามกฎหมายเจ้าของก็ต้องเก็บขี้นั้นทันที แต่เจ้าของทำเป็นไม่รู้ไม่ชี้เดินผ่าน คนเห็นเพราะเขาติดกล้องวงจรปิดเอาไว้ ก็เลยเอาไฟล์นั้นขึ้นเว็บไซต์ คนก็รุมด่ากันใหญ่ ไม่ใช่ด่าตัวผู้หญิงคนนั้นอย่างเดียว ด่าพ่อแม่ ด่ามหาวิทยาลัยที่ไปจ้างผู้หญิงคนนี้เป็นพนักงานเจ้าหน้าที่ จนกระทั่งมหาวิทยาลัยต้องไล่ผู้หญิงคนนี้ออก พ่อแม่ก็เดือดร้อน ครอบครัวก็เดือดร้อน เพราะถูกตามล่า ถูกวิพากษ์วิจารณ์
บางทีเราพิทักษ์ความถูกต้องด้วยวิธีการไม่ถูกต้อง มันก็ไม่ถูกต้อง บางทีทำความไม่ถูกต้องเพื่อปกป้องรักษาความถูกต้องเอาไว้มันก็ดูทะแม่ง ๆ แต่คนก็ทำกันเพราะความลืมตัว ไปยึดมั่นความถูกต้องมาก ก็เลยทำสิ่งที่ไม่ถูกต้องขึ้นมา แต่ในกรณีที่วิพากษ์วิจารณ์คนไทยกลุ่มนี้ คิดว่าเหตุผลใหญ่คือรู้สึกว่าคนพวกนี้ทำให้เสียชื่อเสียงประเทศชาติก็เลยโกรธ เลยรุมเล่นงานกันใหญ่ อันนี้คนเราถ้าจะทำอะไรก็ต้องสำรวจตนเองให้ดี ๆ ว่า เราทำไปเพื่อรักษาความถูกต้องไว้ หรือเพราะว่าตัวกูถูกกระทบกระแทก ถ้าเป็นอย่างหลังก็ต้องระมัดระวัง แม้กระทั่งการทำเพื่อความถูกต้อง ก็ต้องดูว่าจริง ๆ เพื่อความถูกต้องแท้ ๆ หรือเพื่อความถูกต้องในแบบของกู มันมีตัวกูแทรกอยู่เหมือนกันในการกระทำเพื่อรักษาความถูกต้องเอาไว้ ต้องตรวจตราให้ดีเพราะไม่เช่นนั้นสิ่งที่เราทำก็กลายเป็นความไม่ถูกต้องอีกแบบหนึ่งเหมือนกัน