แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [ลองพูดคุยกับ AI ทาง Line]
ความคิดอันหนึ่ง ที่อาตมาคิดว่าเป็นที่มารากเหง้าของความโกรธความเกลียด ก็คือความคิดที่อาตมาเรียกว่า“ทวิภาวะ” ทวิภาวะ คือการมองเป็นขั้ว มองเป็นฝักเป็นฝ่าย เป็นเขาเป็นเรา แต่ไม่ใช่มองแค่นั้น มันมีลึกษณะของความรู้สึกที่เป็นปฏิปักษ์ด้วย ตัวอย่างความคิดแบบทวิภาวะที่ชัดเจนมาก คือคำพูดของประธานาธิบดี บุช หลังจากเกิดเหตุการณ์ 11 กันยายน 2544 ว่า “ถ้าไม่เป็นพวกเรา ก็เป็นศัตรูของเรา” อันนี้คือความคิดแบบแบ่งฝัก แบ่งฝ่าย คือมีเราและมีเขา พวกเรากับศัตรูของเรา ความที่ว่าพวกกูดี พวกมึงเลว อันนี้เป็นความคิดที่มันอยู่เบื้องหลังของความรุนแรงในบ้านเมืองและในโลก ความคิดว่าสีเราดี สีนั้นเลว นี่ก็คือความคิดแบบทวิภาวะ ความคิดว่าศาสนาของเราดี ศาสนาของมันเลว อันนี้คือความคิดแบบทวิภาวะ ความที่ว่าคนดีกับคนชั่ว มันอยู่คนละพวก ความดีกับความชั่วมันแยกกัน นี่ก็ความคิดแบบทวิภาวะ รวมถึงความคิดว่าสั้นกับยาว คนละพวกกัน
แต่ในทางพุทธศาสนา มันไม่ใช่นะ เห็นว่าสั้นกับยาวอยู่ด้วยกัน หลวงพ่อชา ท่านเคยสอนศิษย์ โดยเอากิ่งไม้มากิ่งหนึ่งแล้วถามว่า กิ่งไม้นี้สั้นหรือยาว แล้วท่านก็บอกว่าถ้าท่านต้องการสิ่งที่ยาวกกว่านี้ กิ่งที่ถืออยู่มันก็สั้น ถ้าท่านต้องการกิ่งที่สั้นกว่านี้ กิ่งที่ผมถืออยู่มันก็ยาว แปลว่าอะไร แปลว่าสั้นและยาวอยู่ในกิ่งเดียวกัน นี่คือความเข้าใจที่พ้นไปจากทวิภาวะ พุทธศาสนาจะมองอะไรแบบนี้ ไม่มองอะไรเป็นขั้ว พระพุทธเจ้าเคยตรัสไว้ว่า “ความตายมีอยู่ในชีวิต” “ความแก่มีอยู่ในความหนุ่มสาว” “โรคอยู่ในความไม่มีโรค” คนมักคิดว่าเกิดกับตายคนละขั้ว เหมือนกับปลายของกิ่งไม้ โคนกับปลาย แต่ไม่ใช่ อันนั้นเป็นความคิดแบบสามัญ แบบติดสมมติ ที่มันเหนือกว่านั้น คือความจริงที่ว่าเกิดกับตายอยู่ด้วยกัน ขณะที่เราเกิด ขณะที่เราอยู่นี่มันมีความตายเกิดขึ้นทุกขณะ ทุกขณะที่เราหายใจ มีเซลล์ในร่างกายตาย 50,000-100,000 ล้าน ภายใน 1 วัน แต่ถ้าเรามีสุขภาพดี ก็มีโรคปรากฏอยู่ในตัวเรา ในขณะที่เราหนุ่มสาวก็จะมีความแก่เกิดขึ้นแล้ว
นี่เป็นตัวอย่างของการมองโลกแบบอยู่เหนือทวิภาวะ และเช่นเดียวกัน“คนดี”กับ“คนชั่ว” มันไม่ได้แยกกัน ในคนๆ หนึ่งมีทั้งความดีและความชั่วอยู่ด้วยกัน แต่เรามักจะมองว่าคนดีกับคนชั่วแยกกัน ความดีกับความชั่วแยกกัน และความคิดแบบนี้ทำให้เกิดการแบ่งแยกเป็นฝักเป็นฝ่าย ถ้าใครคิดไม่เหมือนเราก็ชั่ว ถ้าเป็นพวกเราก็ดี และตรงนี้แหละที่นำไปสู่ความคับแคบ นำไปสู่การมองซึ่งกันและกันเป็นปฏิปักษ์ นำไปสู่ความโกรธ ความเกลียด และในที่สุดก็นำไปสู่ความรุนแรง
เป็นเพราะมนุษย์เราเห็นตัวเองแยกขาดจากธรรมชาติ มนุษย์กับธรรมชาตินี้แยกขาดจากกัน อันนี้เป็นความคิดแบบฝรั่ง เป็นความคิดแบบทวิภาวะ คือ มนุษย์กับธรรมชาตินี่แยกกัน เราก็เลยไม่ปราณีปราศรัยกับธรรมชาติ แต่ตอนหลังเราพบว่า เราเป็นส่วนหนึ่งของธรรมชาติ และธรรมชาติก็มีอยู่ในตัวเรา ดิน น้ำ ลม ไฟ ของธรรมชาติ มันมาประกอบขึ้นเป็นเรา และเราก็เป็นส่วนหนึ่งของธรรมชาติ ทิเบต เขาเปรียบเทียบได้ดี เขาบอกว่า คนเรานี่เปรียบเหมือนเป็นแก้ว อากาศในแก้วกับอากาศข้างนอกแก้ว นี่อันเดียวกันไหม ที่จริงอันเดียวกัน แต่มันมีแก้วขวางกั้น แก้วที่ขวางกั้นนี้เปรียบเหมือนกับ“อวิชชา” ทำให้เราเห็นว่าอากาศในแก้วกับอากาศนอกแก้ว มันคนละอันกัน การปฏิบัติธรรม คือการทำให้อวิชชาหมดไป จนกระทั่งเปรียบเหมือนกับแก้วน้ำที่มันหายไป น้ำ อากาศในแก้วกับอากาศนอกแก้ว ก็จะกลับคืนมาเป็นหนึ่งเดียวกัน เขาเรียกว่า“ลูก”กับ“แม่”มาพบกัน การปฏิบัติธรรมนี่ ถึงที่สุดก็จะเห็นความจริงว่า มันไม่มีเส้นแบ่งเรากับธรรมชาติ ธรรมชาติภายในกับธรรมชาติภายนอกมันเป็นหนึ่งเดียวกัน
อันนี้อาตมาพยายามอธิบายเรื่องการไปพ้นจาก“ทวิภาวะ” ซึ่งสำคัญมาก อาจารย์พุทธทาส ท่านเน้นมาก เพราะว่าถ้าเราไปไม่พ้นจากความคิดแบบนี้ เราจะมองเห็นกันและกันเป็นศัตรูได้ง่าย และก็จะทำให้เกิดความโกรธความเกลียด และนำไปสู่ความรุนแรงได้ คราวนี้ถามว่า ที่พูดมาทั้งหมดนี้มีความสำคัญอย่างไร มันมีความสำคัญคือว่า ถ้าเราต้องการให้สันติสุขกลับคืนมา ทำให้ศีลธรรมกลับมา เราต้องทำให้ความโกรธความเกลียดลดน้อยถอยลง เบาบางลง เพราะมันคือรากเหง้าของความรุนแรง มันคือรากเหง้าของการเบียดเบียน ของความไม่มีศีลธรรม ความสงบสุขไม่สามารถเกิดขึ้นได้จากการไปกำจัดคนที่ก่อความรุนแรง เราเชื่อว่าถ้าเราไปกำจัดคนเหล่านั้นบ้านเมืองจะสงบสุข เราเชื่อว่ากำจัดผู้ร้าย ความสงบสุขจะกลับคืนมา แต่จริงๆ ถ้าเราไม่จัดการกับตัวตัณหา มานะทิฐิ เราก็หนีความรุนแรงไม่พ้น เราก็หนีการเบียดเบียนกันไม่พ้น
คราวนี้อาตมาจะพยายามพูดเฉพาะประเด็นของความรุนแรง ซึ่งเกิดจาก 3 ก. คือ“เกลียด”“โกรธ”และ“กลัว” ส่วนการเอารัดเอาเปรียบเบียดเบียนกัน ซึ่งเกิดจาก 3 ก.เช่นกัน “กิน”“กาม”“เกียรติ” อันนี้เอาไว้ก่อน เพราะว่าตอนนี้จะเน้นที่ปัญหาที่เราหวั่นวิตกกัน ก็คือเรื่องความรุนแรงในสังคม ความรุนแรงในบ้านเมือง ความรุนแรงในโลก
การที่จะกำจัดความรุนแรงให้หมดไปหรือให้เบาบางลงไป เราไม่สามารถจะทำด้วยการกำจัดตัวบุคคล แต่ต้องจัดการที่ความโกรธความเกลียดและความกลัว ถ้าเราไม่จัดการความโกรธความเกลียดและความกลัว ยังปล่อยให้มันเกิดขึ้นทั้งในจิตใจของเราและในสังคม ความรุนแรงก็จะเกิดขึ้นไม่มีสิ้นสุด คราวนี้ เราจะจัดการกับความโกรธความเกลียดและความกลัวได้อย่างไร มันต้องเริ่มต้นที่ตัวเรา เริ่มที่ตัวเราก่อน ถ้าเราต้องการให้ศีลธรรมกลับมา ต้องการให้ผู้คนมีความเอื้อเฟื้อเกื้อกูลกัน ไม่มีการทำร้ายกัน เราต้องเริ่มต้นที่การกลับมาที่ตัวเรา สิ่งที่เราทำได้คือไม่ส่งเสริมให้ความโกรธความเกลียด มันแพร่กระจายไปมากกว่านี้ อย่าไปกระพือความโกรธความเกลียดให้มากกว่าที่เป็นอยู่ นี่คือสิ่งที่เราทำได้อย่างง่ายๆ เหมือนกับการที่เราไม่ทำชั่ว ไม่ผิดศีล มันก็ช่วยสังคมได้มากเลย แต่ว่าถึงแม้เราจะไม่ผิดศีล เราถือศีล 5 ครบ แต่เราส่งเสริมให้ความโกรธความเกลียดกระพือ มันก็สร้างปัญหาได้เหมือนกัน ถือศีล 5 ครบ แต่อาจจะกระพือความโกรธความเกลียดให้แพร่หลายในสังคม นี่ทำได้ เช่น การวิพากษ์วิจารณ์หรือว่าการพูดในเชิงที่กระตุ้นให้เกิดความรู้สึกเกลียดโกรธต่อกันนี้ มันเป็นสิ่งที่ทำได้ง่ายมาก ทีนี้เราทุกคนตอนนี้เหมือนมีไม้ขีดไฟอยู่ในมือ และบรรยากาศรอบตัวตอนนี้ก็เหมือนกับบรรยากาศที่อบอวลไปด้วยไอน้ำมัน ถ้าทุกคนจุดไม้ขีด แล้วโยนลงไป ก็สามารถทำให้บรรยากาศที่อบอวลด้วยไอน้ำมันนี้ลุกเป็นไฟได้
สิ่งที่เราทำได้อย่างแรก คือเราไม่ไปจุดไม้ขีด ก็คือไม่กระพือความโกรธความเกลียด ไม่ว่าทางเฟสบุ๊ค ไม่ว่าทางไลน์ ไม่ว่าจากการพูดจาสนทนากัน เดี๋ยวนี้เฟสบุ๊ค ไลน์ ก็เป็นเวทีของการแพร่เชื้อความโกรธความเกลียดได้มากทีเดียว หลายคนพอเปิดเฟสบุ๊ค แล้วก็เริ่มติด พอติดแล้ว ความโกรธความเกลียดมันก็ซึมเข้ามาในจิตใจ มันแพร่เชื้อความโกรธความเกลียดเข้ามา แล้วเกิดขึ้นอะไรกับใจของเรา เกิดความรุ่มร้อน เกิดความทุกข์ คราวนี้การที่เราจะไม่ไปกระพือความโกรธ ความเกลียด เราต้องพยายามทำให้ความโกรธ ความเกลียดไม่ครองใจเรา เพราะธรรมชาติของความโกรธความเกลียด ถ้ามันครองใจเราเมื่อไร มันก็อยากจะกระพือต่อ มันเหมือนกับเชื้อโรค มันเหมือนไวรัส และถ้ามันเข้ามาอยู่ในเซลล์เรามันก็จะผลิต แพร่ไวรัสมากขึ้นเรื่อยๆ จนกระทั่งเซลล์มันตาย มันระเบิดไปเลย เพราะไวรัสมันอัดแน่น ความโกรธความเกลียดนี้ เมื่อมันเกิดขึ้นในใจเรา มันก็อยากจะแพร่ออกไป แพร่ออกไป ถ้าเราไม่อยากจะมีส่วนในการกระพือความโกรธความเกลียด เราต้องอย่าให้มันครองใจเรา โกรธเกลียดได้ แต่ต้องให้รู้ทัน จะบอกว่าอย่าโกรธอย่าเกลียดเลย เป็นการเรียกร้องมากเกินไป แต่สิ่งที่เราทำได้คือ เมื่อเกิดความโกรธความเกลียดขึ้น อย่าให้มันครองใจเรา ต้องให้รู้ทันมัน จะรู้ทันด้วยสติ หรือรู้ทันด้วยปัญญาก็แล้วแต่
แต่ว่าใหม่ๆ ต้องอาศัยการรู้ทันด้วยสติ ดังนั้นการรักษาใจของเราด้วยการมีสติ รู้ทันความโกรธความเกลียดนี้ สำคัญมาก มันเป็นจุดเริ่มต้นของการสร้างศีลธรรม หรือพาศีลธรรมให้กลับมา ด้วยการรักษาใจของเราไม่ให้มีความโกรธความเกลียดครอบงำ เราต้องตระหนักว่า แม้เราจะเป็นคนธรรมะธรรมโม แม้จะเข้าวัดปฏิบัติธรรม ก็จะประมาทกิเลสในใจของเราไม่ได้ ประมาทตัณหา มานะทิฐิในใจเราไม่ได้ ตราบใดที่เรายังเป็นปุถุชนอยู่ ตัวที่จะก่อความรุนแรงข้างในและนำไปสู่ความรุนแรงภายนอก มันสามารถที่จะเกิดขึ้นได้เสมอ
ท่านติช นัท ฮันส์ ท่านเคยพูดไว้เมื่อ 30-40 ปีที่แล้ว อาตมาว่าเหมาะกับยุคสมัยนี้มาก ยุคสมัยที่มันมีระเบิดแผดก้องอยู่ทั่วไป มีระเบิดอีกมากมายที่ยังไม่ได้แผดก้อง ท่านติช นัท ฮันส์ พูดไว้ “ยังมีระเบิดอีกมากมายที่ยังไม่ได้แผดก้อง ระเบิดเหล่านั้น มันนิ่งเงียบอยู่ในใจเรา มันกบดานอยู่ในใจเรา และมันรอที่จะระเบิด มันรอที่จะฆ่าผลาญทำลายชีวิตผู้คน” ในใจของเรามีระเบิดเวลา อย่าไปคิดว่ามันมีแต่ผู้ก่อการร้ายที่วางระเบิด แต่ใจของเราแต่ละคน มันมีระเบิดที่พร้อมจะปะทุออกมา มันอยู่ในใจของปุถุชนทุกคน และถ้าหากว่ามันปะทุมาเมื่อไหร่ แม้ไม่มีอาวุธอะไรเลย ก็จะสามารถฆ่าคนได้ เหตุการณ์ 11 กันยายน ผู้ก่อการร้ายที่ยึดเครื่องบินไม่ได้มีอาวุธอะไรเลย แต่สามารถจะเอาเครื่องบินไปเป็นจรวด ทำลายตึกเวิลด์เทรดเซ็นเตอร์ได้ เพราะว่าใจของเขาเต็มไปด้วยความโกรธความเกลียด ใจของเราแต่ละคนนั้นมีความโกรธ ที่สามารถที่จะระเบิดออกมาได้ เพราะฉะนั้นเราอย่าประมาท การที่เรามีสติรักษาใจและมีความตระหนักว่า ถึงแม้เราจะเข้าวัดปฏิบัติธรรม ธรรมะธรรมโม ก็ยังวางใจไม่ได้ ตราบใดที่กิเลส ตัณหา มานะทิฐินี่มันยังอยู่ และสิ่งที่จะช่วยทำให้ระเบิดเหล่านี้ไม่ปะทุออกมา หรือกลายเป็นระเบิดที่ด้าน ก็คือ“สติ”ที่รักษาใจของเราไว้ อันนี้จะสัมพันธ์กับเรื่องที่เราเสพรับข่าวสารด้วย ทุกวันนี้มันมีข้อมูลข่าวสารที่สามารถทำให้เรามีความโกรธความเกลียดได้ง่าย ข้อมูลข่าวสารจำนวนมากเป็นข้อมูลด้านเดียว และถ้าเราไม่มีสติ ไม่ตั้งสติให้ดี ไม่รู้จักท้วง เราก็จะหลงเชื่อ แล้วมันจะทำให้เราโกรธ เราเกลียด และกลัวมากขึ้น
อาตมาเชื่อว่าตอนนี้หลายคนมีความโกรธความเกลียดและความกลัวชาวมุสลิม เพราะเห็นว่าคนกลุ่มนี้เป็นคนนิยมความรุนแรง อันนี้คือข้อมูลที่เราได้ยินได้ฟังมาจากเฟสบุ๊ค จากไลน์ จากสื่อมวลชน แต่มันเป็นข้อมูลด้านเดียว ชาวมุสลิมจำนวนมาก ต้องเรียกว่าส่วนข้างมาก ก็ไม่ได้เห็นด้วยกับผู้ก่อการร้าย มันมีข้อมูลหนึ่งที่น่าสนใจ เมื่อปีที่แล้ว ปี 2014 มีคนตายเพราะการก่อการร้าย ประมาณ 30,000 คนทั่วโลก ทราบไหมว่า 2 ใน 3 ของคนที่ตายในเหตุการณ์ก่อการร้ายที่เกิดขึ้นในประเทศมุสลิม 2 ใน 3 ของเหยื่อจากการก่อการร้ายเป็นชาวมุสลิม ไนจีเรีย อิรัก ซีเรีย ซูดาน มันแสดงว่าคนมุสลิมเองก็เป็นเหยื่อของการก่อการร้าย คนมุสลิมไม่ใช่ผู้ก่อการร้ายไปทั้งหมด แท้ที่จริงแล้วเขาเป็นเหยื่อของการก่อการร้ายด้วยซ้ำ ตัวเลขนี้มันสะท้อนให้เห็นว่า แม้กระทั่งคนมุสลิมเองก็ห้ำหั่นกัน ห้ำหั่นกันเพราะอะไร เพราะความยึดติดถือมั่นในทิฐิ ในศาสนา ในนิกายของตัว ดังนั้นความคิดที่ว่าชาวมุสลิมเป็นผู้กระทำ มันเป็นความคิด เป็นข้อมูลที่เกิดจากการมองด้านเดียว ชาวมุสลิมส่วนใหญ่เป็นเหยื่อของการก่อการร้าย และกว่า 2 หมื่นคน ครึ่งหนึ่งเกิดจากกลุ่มผู้ก่อการร้าย 2 กลุ่ม คือ โบโกฮารัม และ ไอเอส คนสองกลุ่มนี้ก็กลายเป็นปัญหาของชาวมุสลิม พวกหัวรุนแรงนี้ก็เป็นปัญหาของมุสลิมเหมือนกัน มันไม่ใช่เป็นปัญหาของพวกเราชาวพุทธ ปัญหาของคนในโลกเท่านั้น มันเป็นปัญหาของคนมุสลิมด้วย ถ้าเรามีข้อมูลด้านนี้ การที่มองชาวมุสลิมเป็นผู้ก่อการร้ายจึงเป็นการมองด้านเดียว และถ้าเรามองแบบนี้ มันก็จะทำให้เกิดความโกรธความเกลียดและความกลัว แต่ถ้าเรามีข้อมูลที่หลากหลาย หรือไม่ได้เชื่อข้อมูลที่เราได้ยินมาทันที เพียงเพราะมันสอดคล้องกับความคิดเดิมของเรา ก็จะทำให้ความโกรธความเกลียดบรรเทาเบาบางลง
คำสอนเรื่องกาลามสูตร จำเป็นมากสำหรับยุคนี้ พระพุทธเจ้าตรัสเมื่อ 2600 กว่าปีมาแล้ว แต่ยุคนี้ก็ยังสำคัญมาก พระพุทธเจ้าตรัสว่า “อย่าเชื่อเพียงเพราะเสียงเล่าลือ อย่าเชื่อเพียงเพราะเล่าสืบๆ กันมาหรือทำต่อๆ กันมา อย่าเชื่อเพียงเพราะเข้าได้กับทิฐิความเห็นของตัว” สำคัญมาก ข้อมูลบางอย่างเข้ากับความคิดดั้งเดิมของเรา เราเชื่อทันทีเลย สมมติเราเห็นว่านักการเมืองคนนี้เลว พอได้ข่าวเป็นข่าวเท็จ เราเชื่อทันทีเลย เพราะมันเข้าได้กับความคิดของเราอยู่แล้ว อย่าเชื่อเพียงเพราะรูปลักษณะน่าเชื่อถือ อย่าเชื่อเพราะการอนุมาน ฉะนั้นต้องตั้งสติให้ดีในการเสพรับข้อมูลข่าวสาร มันช่วยทำให้ตัวความโกรธความเกลียด เข้ามาครอบงำจิตใจเราได้ยาก
ประการต่อมา เราต้องมีความใจกว้าง ไม่คับแคบ ตรงนี้มันจะเป็นตัวช่วยบรรเทาผลเสียจากการยึดติดถือมั่นในความคิด ที่ภาษาพุทธ เรียกว่า“ทิฏฐุปาทาน” ความยึดติดถือมั่นเป็นที่มาของความทุกข์ และนำไปสู่การเบียดเบียน และความยึดติดถือมั่นในความคิดเป็นอันตรายอย่างหนึ่ง ที่อาตมาได้พูดมาตั้งแต่แรกว่า ถ้าเรายึดติดในความถือมั่นในความคิดของเรา มันสามารถจะทำให้เราเกิดความโกรธ แล้วเกลียดคนที่คิดต่างจากเรา แม้จะเป็นคนที่อยู่ใกล้ตัวเรา เป็นลูก เป็นพ่อ เป็นแม่ เป็นเพื่อน เป็นคู่ครอง จริงอยู่ความคิดของเราอาจจะดี แต่แม้กระทั่งความคิดที่ดี ถ้ายึดติดถือมั่นเมื่อไร มันก็กลายเป็นโทษได้ อาตมาชอบที่หลวงพ่อเฟื่อง โชติโก ท่านพูดไว้ว่า “แม้ความคิดเราจะถูก แต่ถ้ายึดมั่นเมื่อไร มันก็ผิด” ความดีถ้ายึดมั่นเมื่อไร ก็จะเป็นความเลวได้ง่าย
พ่อที่มีความยึดมั่น ถือมั่นในความคิดของตัว พ่อเป็นคนธรรมะธรรมโม อยากจะให้ลูกมีระเบียบวินัย มีศีลมีธรรม ตั้งใจเรียน แต่ลูกไม่ยอมเชื่อฟังพ่อแม่ เที่ยวเล่นตามประสาเด็กมัธยม วันหนึ่งลูกอยากจะขับรถไปหาเพื่อนตอนกลางคืน พ่อห้าม เพราะว่าอยากให้ลูกตั้งใจเรียนหนังสือ ลูกไม่เชื่อ ลูกเอารถของพ่อขับไปหาเพื่อน พ่อโกรธมาก ขัดคำสั่งพ่อ ไปเรียกลูกกลับมา แล้วก็ทะเลาะกันที่บ้าน พ่อด่าลูก ลูกเถียงพ่อ พ่อโกรธ ลูกอะไรกันเถียงพ่อ มีการลงไม้ลงมือกัน สุดท้ายพอลูกเริ่มต่อสู้ขัดขืน พ่ออดรนทนไม่ได้ ห้ามใจไม่อยู่ ก็เลยเอาปืนมายิงลูกตาย พอรู้ว่าเกิดอะไรขึ้น พ่อเลยยิงตัวเองตาย พ่อเป็นคนธรรมะ ธรรมโมนะ พ่ออยากจะให้ลูกได้ดิบได้ดี มีระเบียบวินัย แต่พอลูกไม่ทำตามที่พ่อสั่ง หรือลูกไม่ดีอย่างที่พ่อคาดหวัง เสียใจ ผิดหวัง แล้วก็โกรธ แล้วก็เกลียด พอเกลียดทีนี้มันพร้อมที่จะทำร้ายเลย
อันนี้เป็นตัวอย่างของคนที่ทำผิด เพราะยึดมั่นในความถูกต้อง ก็ต้องระวังความถูกต้องนี้ดี แต่ถ้ายึดมั่นเมื่อไร มันสามารถจะนำไปสู่การทำผิดได้ มีความไม่ถูกต้องที่เกิดขึ้นในนามของความถูกต้องมากมายไปหมด ความไม่ถูกต้องที่เกิดขึ้นในนามของความดี ในนามของศีลธรรม ในนามของพระเจ้า ในนามของการพิทักษ์ปกป้องศาสนา มันเกิดขึ้นมากมายในประวัติศาสตร์ ซึ่งเราต้องระวังเพราะว่าถ้าเราต้องการความถูกต้อง แล้วเราไปยึดมั่นความถูกต้อง เราอาจจะเผลอทำความผิดได้ พอเจอความไม่ถูกต้องเกิดขึ้น ก็จะเกิดความไม่พอใจ และความไม่พอใจ ก็กลายเป็นความโกรธ และความโกรธจะทำให้เกิดความลืมตัว และเมื่อลืมตัวแล้ว ก็ทำร้ายได้
มีเหตุการณ์หนึ่งน่าสนใจที่ประเทศอเมริกา มีสำนักปฏิบัติธรรมแห่งหนึ่ง ส่วนใหญ่สมาชิกก็เป็นฆราวาส ไม่มีพระ สมาชิกในสำนักปฏิบัติธรรมนี้มีความเห็นว่า อยากจะจัดให้มีการอบรมเรื่องสันติวิธี เพราะว่ามันจำเป็นมากในการคลี่คลายความขัดแย้ง ในครอบครัว ในที่ทำงาน ในสังคม ก็ไปเชิญวิทยากรคนหนึ่งมา มีการอบรมสันติวิธีอยู่ 2 วัน วันแรกก็ราบรื่นด้วยดี วันที่ 2 วิทยากรก็ต้องการฝึกให้มันยากขึ้น มีการสมมติว่า มีผู้ก่อการร้ายมาจับตัวประกัน 2 คน คราวนี้โจทย์คือว่า ให้ที่เหลือ เจรจากับผู้ก่อการร้าย ทำอย่างไรเขาจึงจะปล่อยตัวประกัน วิทยากรก็สวมบทบาทเป็นผู้ก่อการร้าย แล้วก็แจกบทบาทกันเรียบร้อย พอเริ่มต้นไม่ทันไร วิทยากรก็จุดบุหรี่สูบ ก็มีคนบอกว่า“ที่นี่ห้ามสูบบุหรี่ นี่มันห้องสวดมนต์” คือสถานที่อบรมจัดอยู่ในสถานที่สวดมนต์ ที่นี่ห้ามสูบบุหรี่ ผู้ก่อการร้ายก็บอกว่า“ผมจะสูบบุหรี่ซะอย่าง มีอะไรไหม” สมาชิกก็บอกว่า“ถ้าคุณสูบบุหรี่ในนี้ เราก็ไม่เจรจากับคุณ” ผู้ก่อการร้ายบอกว่า“ก็ได้ ผมไม่จุดก็ได้” แล้วก็เอาขี้บุหรี่ไปจี้ตรงตักพระพุทธรูป พอคนที่ปฏิบัติธรรมเห็นก็ไม่พอใจ ก็บอกว่า“คุณไม่รู้หรือนี่พระพุทธรูปนะ คุณทำอย่างนั้นได้ยังไง” วิทยากรบอกว่า“ผมไม่สนใจ ไม่ใช่พระพุทธรูปของผม ไม่ใช่ห้องสวดมนต์ของผม” ทีนี้ผู้ปฏิบัติธรรมก็เลยสติแตก ลืมบทบาทไปหมด เรื่องสวมบทบาทนี่ไม่สนใจแล้ว ก็บอกว่า“พวกเราเชิญคุณมาให้มาเป็นวิทยากร ก็รู้ว่าคุณไม่ใช่พุทธ แต่คุณควรจะเคารพสถานที่” ผู้ก่อการร้ายบอกว่า“อยากจะรู้ใช่ไหม ว่าผมจะเคารพสถานที่ยังไง” จากนั้นก็เดินไปที่มุมห้องแล้วก็ฉี่ พอฉี่เท่านั้น คนที่ปฏิบัติธรรมทนไม่ได้ ก็รุมสกรัมใหญ่เลย เตะถีบเป็นการใหญ่ บอกว่าอบรมสันติวิธี กูเลิกแล้ว กูจะสกรัมมึงนี่แหละ เป็นอันจบ
คำถามคือว่า ในเมื่อมาฝึกอบรมสันติวิธี แต่ทำไมผู้ปฏิบัติธรรม ลงเอยด้วยการไปเตะต่อยเขา ทั้งที่หลายคนก็เป็นคนที่ไม่เคยทำร้ายใคร กินมังสะวิรัติด้วย แต่ทำไมไปเตะต่อยวิทยากร คำตอบก็คือ เพราะเขาเห็นว่ามันไม่ถูกต้อง ผู้ปฏิบัติธรรมเห็นว่าสิ่งที่วิทยากรทำมันไม่ถูกต้อง แต่เขาลืมไปว่านี่คือการแสดง นี่ไม่ใช่ของจริง นี่เป็นการแสดง และวิทยากรต้องการให้โจทย์ยากๆ เพื่อที่จะยั่วยุว่า เมื่อเจอเรื่องกระทบใจเราจะใช้สันติวิธีได้อย่างไร แต่ว่าทำไมผู้ปฏิบัติธรรมที่เป็นชาวพุทธ สนใจเรื่องสันติวิธี ไม่ใช่คนธรรมดา แต่ลงเอยด้วยการเตะต่อย เป็นเพราะเห็นความไม่ถูกต้อง จุดบุหรี่ สูบบุหรี่ในห้อง เอาบุหรี่ไปขยี้ที่ตักพระพุทธรูป และหันไปฉี่ทางมุมห้องอีก มันไม่ถูกต้องชัดๆ แต่ที่ยึดมั่นในความถูกต้อง พอไปเจอความไม่ถูกต้อง มันลืมตัว ลืมไปเลยว่านี่คือการแสดง นี่คือการฝึกสันติวิธี สอบตกเลย ทั้งที่เป็นแค่การซ้อม อันนี้เป็นตัวอย่างเลยนะ การที่เรามีสำนึกในความถูกต้องเป็นเรื่องดี แต่ถ้าเราไปยึดมั่นถือมั่นไปกับมันมากไป เราอาจจะลงเอยด้วยการทำสิ่งที่ไม่ถูกต้องได้ ไม่ถูกต้องในฐานะชาวพุทธ คือว่าใช้ความรุนแรง ไม่ถูกต้องในฐานะของคนที่ต้องการฝึกสันติวิธี นี่เป็นตัวอย่างที่ชัดเจนว่า ความถูกต้องนี่ ยึดมั่นถือมั่นมากก็อันตราย
อาจารย์ท่านพุทธทาส ท่านพูดเลยว่า “ความดี ถ้าไปยึดมั่นถือมั่นมาก มันก็กัดเจ้าของได้” คนเราทุกข์เพราะความดีกันมาก แต่ไม่ได้ทุกข์เพราะความดีอย่างเดียว แต่เราสามารถทำให้คนอื่นทุกข์เพราะการยึดมั่นในความดีของเราได้ บิลลาเดน หรือ ไอเอส พวกนี้เขาเชื่อว่าเขาทำความดี เขากำลังทำความดีเพื่อพระเจ้า แต่ในเมื่อมันมีความไม่ดีเกิดขึ้น เขาก็ต้องทำลาย ในปารีส ไอเอสเกลียดพวกฝรั่งเศสมาก เพราะเห็นว่าเป็นพวกวัตถุนิยม บริโภคนิยม บูชาเนื้อหนัง มันเป็นวัฒนธรรมที่หมิ่นหยามพระเจ้า เพราะฉะนั้นต้องทำลาย เขาทำในนามของความถูกต้อง เขาทำในนามของอุดมการณ์สูงส่งคือพระเจ้า แต่ความยึดมั่นถือมั่นของเขาก็สามารถทำให้เขาทำสิ่งที่ไม่ถูกต้องได้ ทำชั่วก็ได้ อาตมาคิดว่าอันนี้เป็นสิ่งที่ต้องระวังมากสำหรับผู้ใฝ่ธรรม ผู้ใฝ่ธรรมต้องระวังมาก เพราะบางทีเรายึดมั่นว่า เราเป็นคนดี เรามีความเชื่อที่ดีงาม แต่พอเรายึดมั่นในความเชื่อของเรา อย่างต่ำๆ เราก็จะไปบังคับให้คนอื่นเชื่อเหมือนเรา หรือถ้าเขาเชื่อไม่เหมือนเรา เราก็เห็นเขาเป็นศัตรู แล้วเกิดความโกรธและความเกลียด