พระอาจารย์ไพศาล วิสาโล วัดป่าสุคะโต แสดงธรรมเย็นวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2567
ที่ประเทศสหรัฐอเมริกามีผีเสื้อชนิดหนึ่งที่เรียกว่าผีเสื้อจักรพรรดิ อาศัยอยู่ตามบริเวณภาคเหนือของอเมริกาและภาคใต้ของแคนาดา ถึงเวลาหน้าหนาวแถวนั้นจะหนาวจัดมาก อุณหภูมิต่ำกว่า 0 องศาเซลเซียส เพราะฉะนั้นผีเสื้อพวกนี้พอใกล้ถึงหน้าหนาวก็จะต้องอพยพ ย้ายถิ่นฐาน
การอพยพของสัตว์ในเวลาหน้าหนาวนี้ มันเป็นเรื่องธรรมดา อย่างนกแถวไซบีเรีย พอถึงหน้าหนาวเราก็จะเห็นอพยพมาที่เมืองไทย แล้วก็ต่อไปถึงโน่นมาเลเซีย ปลาหลายชนิดก็หนีหนาวอพยพไปอยู่ทะเลที่อุ่นอย่างเช่น พวกปลาวาฬ ปลาโลมา แต่ว่าสัตว์เหล่านี้เป็นสัตว์ที่ถือว่าแข็งแรง อย่างน้อยก็แข็งแรงกว่าผีเสื้อ
ผีเสื้อบอบบางมากจะบินขยับปีกแต่ละที ก็ไปได้ไม่ไกลไม่เหมือนนก นกกระพือปีกทีหนึ่งก็ไปได้ไกลแล้ว เพราะฉะนั้นการอพยพของผีเสื้อชนิดนี้ จึงเป็นเรื่องที่น่าทึ่งมาก ที่น่าทึ่งก็เพราะว่ามีการอพยพที่ระยะทางไกลมาก จากตอนเหนือของอเมริกาจนถึงเม็กซิโกราว 2500 กิโลเมตรได้ ถ้าเปรียบเทียบกับระยะทางจาก กรุงเทพ – เชียงใหม่ ก็เกือบ 4 เท่าตัว
เราลองนึกภาพผีเสื้อตัวเล็กๆ กระพือปีกแต่ละทีก็ไม่ไกล แต่ว่าอพยพแต่ละปี ไปถึง 2500 กิโลเมตร ใช้เวลา 3 เดือน ตั้งแต่เดือนกันยายน – ต้นเดือนธันวาคม 2500 กิโลเมตรในเวลา 3 เดือนก็เท่ากับว่า 1 เดือนต้องบินให้ได้ระยะทาง 800 กม. หรือว่าวันละ 30 กม.โดยเฉลี่ย
ขนาดคนเราเดินเท้า 30 กม. 1 วัน ก็แทบจะไม่ไหวแล้ว ธรรมยาตราในปีหนึ่งๆ เดินแต่ละวันก็แค่ 15 กม. บางปีหรือบางช่วงเดินไกลหน่อยก็ 20 กม. แค่นี้ก็เหนื่อยกันแล้ว ถ้าเดิน 30 กม.เหนื่อยมากๆ แต่ว่าสำหรับผีเสื้อพวกนี้กลายเป็นเรื่องธรรมดามากที่บินวันละ 30 กม. ท่ามกลางอากาศที่ไม่แน่นอน ลมแรง แดดร้อน หรืออาจจะมีฝนตก
30 กิโลเมตร ถ้าคิดเป็นเมตรก็ 30000 เมตร ถ้าคิดเป็นก้าวสำหรับคนเราก็ประมาณ 40000 ก้าว แต่สำหรับผีเสื้อชนิดนี้ 30 กม.ต้องกระพือปีกกี่ครั้ง อาจจะประมาณ 80000 ครั้งก็ได้ แต่กระพือปีกเพื่ออพยพทุกวัน ไม่มีวันหยุดเลย
มันเป็นความอัศจรรย์มากของธรรมชาติ โดยเฉพาะเมื่อมองว่าผีเสื้อพวกนี้กระพือปีกแต่ละครั้งก็ไม่ได้ไกลเท่าไหร่เลย แต่พอผ่านไป 3 เดือน สามารถเดินทางข้ามประเทศ หรือว่าข้ามทวีปได้จากอเมริกาเหนือมาอเมริกากลาง ด้วยปีกที่บอบบางและด้วยการกระพือปีกที่แต่ละครั้งไม่ได้ไกลเท่าไหร่
นี่เป็นการเดินทางแค่ขาไปนั้น ยังไม่นับขากลับ พอมาถึงเม็กซิโกประมาณเดือนธันวาคม อยู่พักได้ไม่กี่เดือน ประมาณ 2-3 เดือน พอถึงต้นมีนาคมก็บินกลับ แต่ว่าบินไปไม่ถึงที่ที่จากมา ไปถึงภาคใต้ของอเมริกาแล้วก็ตาย เพราะมีอายุขัยประมาณ 8-9 เดือนเท่านั้น แล้วก็แพร่พันธุ์สืบลูกหลานรุ่นต่อไปที่จะอพยพต่อ จนกระทั่งไปถึงภาคเหนือของอเมริการาวเดือนพฤษภาคม ถือว่าเดินทางกันแบบทรหดมาก
แทบจะเป็นเรื่องที่ไม่น่าเชื่อ สัตว์ตัวเล็กๆ สามารถอพยพเป็นระยะทางไกลๆ ได้ขนาดนี้ในช่วงเวลาไม่กี่เดือน ชี้ให้เห็นเลยว่าจุดหมายที่ยาวไกล สำเร็จได้ด้วยการกระทำที่เล็กน้อยแต่ว่าทำไม่หยุด กระพือปีกแต่ละครั้งนี้ก็ไม่ไกลแต่ว่ากระพือปีกไม่หยุด ทั้งวันไปได้ 30 กม. กระพือปีกทั้งเดือนก็ 800-900 กม. รวม 3 เดือนก็ 2500-2600 กม. ถึงจุดหมาย
การกระทำแม้เพียงเล็กน้อย เราประมาทไม่ได้ เพราะหากว่าทำไม่หยุด สะสมไปเรื่อยๆ ได้ปริมาณมหาศาลเลย มันสามารถทำให้เกิดความสำเร็จที่ยิ่งใหญ่ได้ อันนี้เป็นบทเรียนสำหรับมนุษย์เรา
ที่จริงธรรมชาติก็เป็นแบบนี้ หยดน้ำทีละหยด แต่ละหยดก็ไม่ใหญ่อะไรเท่าไหร่ เป็นหยดเล็กๆ แต่พอมารวมกันก็กลายเป็นลำธาร จากลำธารก็กลายเป็นแม่น้ำ แล้วกลายเป็นทะเล เวลาเราไปดูต้นน้ำ ต้นน้ำของแม่น้ำสายใหญ่ จะเป็นแม่น้ำโขง แม่น้ำเจ้าพระยา แม่น้ำไนล์ ไม่น่าเชื่อว่าต้นน้ำมันก็เป็นเหมือนกระเปาะเล็กๆ แต่ว่าน้ำแต่ละหยดๆ ที่ทำให้ต้นน้ำนี้มันแฉะ พอมารวมกันนี้มันกลายเป็นน้ำปริมาณมหาศาลที่เราเรียกว่าทะเลได้
มันชี้ให้เห็นเลยว่า สิ่งเล็กน้อยหรือสิ่งจิ๊บจ๊อยนี้ เราประมาทไม่ได้ เพราะถ้ามีมวลมากพอ มันก็ก่อให้เกิดปริมาณที่มหาศาล แล้วเกิดความเปลี่ยนแปลงที่มากได้ การปฏิบัติธรรมของเราก็เหมือนกัน เวลาเราเขยื้อนขยับ ไม่ว่าจะเป็นขยับมือ ขยับแขน หรือขยับเท้า ถ้าแต่ละขณะ เราเกิดความรู้สึกตัวขึ้นมา แม้เป็นความรู้สึกตัวขณะสั้นๆ แต่ถ้าเราทำไม่หยุด ทำเรื่อยๆ ทำทั้งวัน ทำเป็นอาทิตย์ ความรู้สึกตัวก็จะมากกลายเป็นมวลก้อนใหญ่ ที่สามารถทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงในจิตใจของเราได้ ก่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงในชีวิตของเราได้เลยทีเดียว
เพราะฉะนั้นเวลาเราทำความเพียร เวลาเราลงมือปฏิบัติ ก็ให้ตระหนักว่าสิ่งสำคัญที่จะพาเราบรรลุถึงจุดหมายนั้น คือ “ความเพียร” คือการทำบ่อยๆ ทำเยอะๆ ทำซ้ำๆ
จริงอยู่ มันธรรมดามากที่ว่าเราขยับมือ พลิกมือไปพลิกมือมา เราขยับขา ความรู้สึกตัวมันเกิดขึ้น อาจจะแค่ 10% เท่านั้น เรายกมือ 14 จังหวะ อาจจะรู้สึกตัวเพียงแค่จังหวะเดียวหรือขณะเดียว แต่ที่เหลือนั้นคือความหลง คือความไม่รู้เนื้อรู้ตัว เพราะว่านิสัยของเรามันสะสมความหลง ความไม่รู้ตัว หรือความลืมตัวเป็นอาจิณ
ในขณะที่เรายกมือ ในขณะที่เราเดิน หรือในขณะที่เราตามลมหายใจ แต่ว่าใจมันไม่รู้อยู่ไหน ใจลอย หรือเวลาส่งจิตออกนอก ตอนที่ใจลอยไม่อยู่กับเนื้อกับตัวนั้น ตรงนั้นเราเรียกว่าหลง คือไม่รู้สึกตัว ไม่รู้เนื้อรู้ตัว เพราะว่าใจมันไม่อยู่กับเนื้อกับตัว
เพราะฉะนั้นมันเป็นธรรมดามาก เดินกลับไปกลับมา 1 ชั่วโมง อาจจะรู้สึกตัวรวมแล้วไม่ถึง 6 นาที หรือไม่ถึง 10% ของเวลาที่เราปฏิบัติ ก็อย่าไปท้อ บางคนอาจจะรู้สึกตัวไม่ถึง 6 นาทีก็ได้ ใน 1 ชั่วโมง อาจจะรู้สึกตัวเพียงแค่ 1 นาที ที่เหลืออีก 59 นาทีโดนความหลงมันกินไป แต่ถ้าหากว่าเราไม่ท้อไม่ถอย เรามีความเพียร ทำไปเรื่อยๆ 1 นาทีที่เป็นความรู้สึกตัวก็จะเพิ่มขึ้นไปเรื่อยๆ เป็น 2 นาที เป็น 3 นาที เป็น 4 นาที 5 นาที แล้วถ้ามันสะสมมากพอ ก็จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในจิตใจของเราได้
ถึงแม้จุดหมายปลายทางของเรา อาจจะไม่ใช่ยาวไกลถึงขั้นพ้นทุกข์ แต่ว่ามันก็ช่วยทำให้เรามีความทุกข์น้อยลงได้ เพราะความรู้สึกตัว เพราะสติที่สะสมขณะแล้วขณะเล่า ใหม่ๆ นี้ทำไป 100 รู้สึกตัวแค่ 10 หรือรู้สึกตัวแค่ 5 สมมุติว่ารู้สึกตัวแค่ 10 ใน 100 แล้วพอเราทำ 1000 มันก็จะรู้สึกตัว 100 แต่พอเราทำ 10000 ก็จะรู้สึกตัว 1000
คล้ายๆ กับเวลาเราปาลูกดอก เราปาไม่แม่นเพราะเรายังไม่เคยปาลูกดอก พอปาลูกดอก 100 ครั้ง อาจจะโดนเป้าสัก 10 ครั้ง ถ้าอย่างนั้นหากเราอยากจะปาให้ถูกเป้า 100 ครั้ง จะทำอย่างไร เราก็ปาให้มากขึ้นเป็น 1000 ครั้ง แล้วถ้าเราอยากจะปาลูกดอกให้ถูก 1000 ครั้ง เราก็ปาลูกดอก 10000 ครั้ง
แต่จริงๆ แล้ว ยิ่งปามันยิ่งแม่น มันไม่ใช่ว่าปา 100 จะถูก 10 ต่อไปปา 100 ก็อาจจะถูก 20 แล้วต่อไปปา 100 ครั้ง ก็ถูกเป้า 30 ครั้ง
การปฏิบัติธรรม การเจริญสติ การทำความรู้สึกตัวก็เหมือนกัน ถ้าเราอยากให้รู้สึกตัวมากๆ เราก็ต้องทำเยอะๆ ถึงแม้ว่าทำ 100 ได้ 10 เป็นคุณภาพที่ไม่ค่อยดีนัก แต่ว่าสำหรับนักปฏิบัติใหม่ๆ ก็อย่าไปเน้นเรื่องคุณภาพ เอาปริมาณไว้ก่อน ทำ 100 ได้ 10 ก็ยังดี หรือทำ 100 ได้ 5 แต่ถ้าเราทำ 1000 ทำ 10000 มันก็เป็น 50 มันก็จะเป็น 500
ความรู้สึกตัวที่เพิ่มขึ้นแต่ละขณะ แต่ละขณะ ถ้ามากพอมันก็เปลี่ยนแปลงจิตใจของเราได้ ทำให้สามารถจะปลดเปลื้องจิตใจจากความทุกข์หรือปล่อยวาง เกิดปัญญาขึ้นมาได้ เพราะฉะนั้นเวลาเราปฏิบัติใหม่ๆ ก็ให้เอาปริมาณไว้ก่อน อย่าเพิ่งเอาคุณภาพ หมายความว่าปฏิบัติทั้งวัน อาจจะรู้สึกตัวแค่ 5% 10% ไม่เป็นไร ขอให้ทำทุกวัน ทำไม่หยุด ความรู้สึกตัวมันจะเพิ่มขึ้นๆ กลายเป็นการสะสม
ทีแรกมันเป็นการสะสมในเชิงปริมาณ ต่อไปมันก็จะเกิดการเปลี่ยนแปลงในเชิงคุณภาพ ใหม่ๆ ทำแล้วมันฟุ้ง จะสงบแค่ประเดี๋ยวเดียวหรือว่าหลงเสียเยอะ จะรู้สึกตัวเพียงแค่ประเดี๋ยวเดียว ธรรมดา! อย่าท้อถอย! แต่บางคนทำใจไม่ได้ ทำไมมันฟุ้งมากเหลือเกิน ทำไมมีแต่ความคิดทั้งนั้น ทำไมมันไม่สงบซักที
ถ้าคิดแบบนี้ ไม่นานก็จะท้อ แต่ก่อนเวลาท้อก็จะมีความหงุดหงิด รำคาญใจ ทำไมมันฟุ้งเหลือเกิน ทำไมมันคิดมากเหลือเกิน ฟุ้งมากกว่าตอนไม่ได้มาปฏิบัติซะอีก อันนี้มันก็ธรรมดาอยู่แล้ว เพราะตอนที่เราไม่ปฏิบัติ ใจเราไปจดจ่ออยู่กับสิ่งอื่นแทนที่มันน่าสนใจ เช่น Social Media หนัง เพลง อาหารการกิน การพูดคุย หรือแม้แต่ทำงาน พวกนี้มันสามารถจะดึงดูดจิตให้แน่นิ่งหรือว่าให้อยู่กับที่ได้ คือไม่ฟุ้ง พอเราไม่มีสิ่งเหล่านี้มาดึงดูดใจ ใจมันก็เพ่นพ่านแล้ว มันจึงเป็นธรรมดาที่จะเกิดแบบนี้
แต่ว่าเราก็อย่าไปมองว่าความฟุ้งซ่านนั้นมันเป็นเรื่องเลวร้าย เพราะถ้ามองแบบนั้น เราจะพยายามไปห้ามความคิด พยายามบังคับจิตให้หยุดคิด บังคับจิตให้นิ่ง ซึ่งยิ่งทำก็จะยิ่งเครียด แล้วถ้าทำไปนานๆ เข้าก็ยิ่งหงุดหงิด ผิดหวัง บางทีเกิดโทสะ เกิดความโมโห เกิดความเครียด ปวดหัว แน่นหน้าอก ปวดขา ปวดสารพัด ทั้งหมดนี้เป็นอาการของความเครียด เพราะว่าพยายามไปบังคับจิตมากไป บังคับจิตเพราะว่าไม่ชอบความฟุ้ง เพราะคาดหวังให้จิตมันสงบ ไปมองว่าความฟุ้งไม่ดี ก็เลยต้องพยายามกำจัดมัน
หลวงพ่อเทียนท่านบอกว่า “อย่าไปห้ามความคิด เพราะว่ายิ่งคิดก็ยิ่งรู้” คำว่า ‘คิด’ ในที่นี้ หมายถึงคิดฟุ้งซ่าน คำว่า ‘รู้’ ในที่นี้ ก็คือรู้ทันความคิดหรือรู้สึกตัว แต่ก่อนนี้คิดไป 100 ก็รู้ทันความคิดแค่ 10 แต่ต่อไปคิด 100 มันก็รู้ทันความคิดสัก 20-30 เพราะอะไร เพราะว่าสติมีประสบการณ์ สติมีความเชี่ยวชาญมากขึ้น
ความสามารถของสติ ประการหนึ่งก็คือ รู้ทันความคิด หรือ รู้ว่าคิด รู้ว่าหลง จะรู้ว่าคิดหรือรู้ทันความคิด จะรู้ทันความหลงหรือรู้ว่าหลงได้ก็ต่อเมื่อมันเผลอคิดก่อน หรือมันหลงก่อน ถ้าไม่มีความคิดเกิดขึ้น แล้วสติมันจะรู้ทันความคิดได้อย่างไร ถ้าไม่มีความหลงเกิดขึ้นก่อน จะมีสติรู้ว่าหลงได้อย่างไร แล้วยิ่งรู้ว่าหลงยิ่งดี เพราะว่านั่นแปลว่าความรู้สึกตัวเพิ่มมากขึ้น
เพราะฉะนั้นใหม่ๆ การทำเยอะๆ การทำมากๆ การทำซ้ำๆ เป็นสิ่งที่นักปฏิบัติควรขยันทำ อย่าเพิ่งไปสนใจว่าทำไมมันฟุ้งเหลือเกิน ทำไมมันรู้สึกตัวน้อย ทำไมไม่ค่อยมีความสงบเลย ถึงแม้มันจะเกิดขึ้นน้อย แต่ถ้าทำเยอะๆ ทำบ่อยๆ มันก็จะสะสมจนเป็นมวลที่เยอะ แล้วก็สามารถจะขับไล่ความหลงออกไปจากใจได้
แต่ก่อนทำอะไรก็ตาม หลงสัก 90 รู้สึกตัวแค่ 10 แต่ต่อไปทำไปเรื่อยๆ ถึงจุดหนึ่งมันจะรู้สึกตัวสัก 60-70 หลงสัก 20-30 แล้วต่อไปมันจะรู้สึกตัวสัก 90 หลงแค่ 10
ความรู้สึกตัวที่เพิ่มพูนมากขึ้นนี้ เพราะว่าเราทำเรื่อยๆ ทำบ่อยๆ ทำไม่หยุด แม้ว่าการปฏิบัติแต่ละครั้ง เดินแต่ละเที่ยว มันจะมีความรู้สึกตัวไม่มาก แต่ถ้าเราทำ 100 ทำ 1000 ทำ 10000 มันก็จะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ
เหมือนกับผีเสื้อที่กระพือปีกแต่ละทีก็ไปได้ไม่ไกลหรอก แต่เขากระพือไม่หยุด กระพือทั้งวัน มันก็ไปได้วันหนึ่ง 30 กม. 1 เดือนก็ 900 กม. 3 เดือนก็ 2500-2700 กม. ยิ่งสะสมมากขึ้น ปริมาณมันก็มากขึ้น จนกระทั่งถึงจุดหมายปลายทาง
เพราะฉะนั้นการปฏิบัติใหม่ๆ นี้ อย่าเพิ่งไปเอาคุณภาพ แต่ว่าเอาปริมาณไว้ก่อน ให้เราตระหนักว่า ถ้าเราวางใจถูก มันก็จะเกิดผล การวางใจถูกอันหนึ่งก็คือว่า อย่าเพิ่งไปสนใจเป้าหมาย เหมือนกับเราเดินทาง ถ้าเราสนใจเป้าหมาย แม้เราจะไปเที่ยว แต่ถ้าเราเฝ้าแต่ถามตัวเองว่า เมื่อไหร่จะถึง ไม่ว่าที่นั่นจะเป็นภูเก็ต เชียงใหม่ พอเราถามตัวเองแบบนี้บ่อยๆ เพราะเราไปสนใจเป้าหมาย เราก็จะเครียดกับการเดินทาง ทั้งๆ ที่ตั้งใจไปเที่ยวแท้ๆ แต่กลับเครียดเสียแล้ว
ฉะนั้นเราจะเดินทางได้อย่างสบายใจ ผ่อนคลาย ก็ต้องลืมหรือวางเป้าหมายไว้ก่อน อย่าเพิ่งไปสนใจเป้าหมาย ผีเสื้อพวกนี้ถ้าเขามีความคิดเหมือนคนเรา แล้วเขาคิดว่า อีกตั้งไกล อีกตั้ง 2500 กม. วันนี้ฉันไปได้นิดเดียว เขาคงจะท้อ แต่ผีเสื้อบินทำระยะทางไกลขนาด 2500 กม.ได้นั้นเพราะเขาไม่ได้สนใจเป้าหมาย เขาก็กระพือปีกไปเรื่อยๆ
แน่นอนว่าที่ผีเสื้อทำเพราะว่ามันเป็นสัญชาตญาณ สัญชาตญาณบอกให้กระพือไปเรื่อยๆ ไม่มีคำถามว่าเมื่อไหร่จะถึง แล้วก็ไม่ได้สนใจว่า อีกเมื่อไหร่จะถึง
แต่คนเรานี้มีสมอง ซึ่งข้อดีก็มี แต่ข้อเสียคือ มันทำให้เราไปคำนึงถึงเป้าหมายอยู่ตลอดเวลา พอวันหนึ่งๆ ขยับไปได้นิดขยับไปได้หน่อย ก็รู้สึกท้อแล้ว เพราะมันมีเสียงอยู่ในหัวว่า เมื่อไหร่จะถึง เมื่อไหร่จะถึง แต่ผีเสื้อพวกนี้มันมีเสียงอยู่ในหัวว่า กระพือไปเรื่อยๆ กระพือไปเรื่อยๆ ขณะที่เสียงในหัวของคนเราคือ เมื่อไหร่จะถึง เมื่อไหร่จะถึง มันก็เลยบางทีเดินทางแค่ 100 กม.ก็เลิกแล้ว ไม่ไหวแล้ว
ถ้าไม่มีเสียงในหัวเรา แทนที่จะถามว่าเมื่อไหร่จะถึง เมื่อไหร่จะถึง แต่เป็นเสียงที่บอกว่าทำไปเรื่อยๆ ทำไปเรื่อยๆ เดินไปเรื่อยๆ เดินไปเรื่อยๆ ไม่ช้าไม่นานก็จะเห็นความเปลี่ยนแปลง เห็นผลที่เกิดขึ้น เกิดความรู้สึกตัวได้อย่างต่อเนื่อง แม้จะเผลอ แม้จะหลง ก็กลับมารู้สึกตัวได้ไว แม้จะมีความคิดเกิดขึ้น แต่ก็เห็นความคิดได้เร็ว แต่ก่อนนี้คิดไป 10 เรื่อง ถึงค่อยมารู้ตัวว่าเผลอคิด แต่ตอนหลังนี้คิดไม่ทันจบเลย ก็เห็นความคิดแล้ว
แล้วมันไม่ใช่แค่เห็นความคิด แต่มันรู้จักทักท้วงความคิดด้วย อย่างที่หลวงพ่อคำเขียนท่านพูดไว้ หน้าที่ของสติอันหนึ่ง คือ การทักท้วงความคิด ไม่ถูกความคิดหลอก ไม่หลงเชื่อความคิดไปอย่างตะพึดตะพือ และไม่ใช่แค่เห็นความคิดอย่างเดียว เห็นความทุกข์ที่เกาะกุมใจ จนกระทั่งสามารถสลัดมันหลุดออกไปได้ เห็นอารมณ์ที่เกิดขึ้น จนกระทั่งไม่ไปข้องแวะกับมัน
ฉะนั้นถ้าเราไม่ไปข้องแวะกับมัน มันก็ไม่มีอะไรเกิดขึ้น เหมือนกับมีไฟ มีกองไฟกองใหญ่นี้ถ้าเราไม่ไปกระโจนเข้าไปอยู่กลางกองไฟ เราก็ไม่ทุกข์ไม่ร้อน กองไฟมีอยู่แต่เราอยู่ห่างมัน เราก็ไม่เดือดร้อนอะไร ไม่ได้แปลว่าต้องไม่มีกองไฟแล้วถึงจะไม่ทุกข์ไม่ร้อน มีก็ได้แต่ถ้าหากว่าเราอยู่ห่างจากมัน ก็ไม่ทุกข์ร้อนแต่อย่างใด
อะไรทำให้ใจอยู่ห่างจากความโกรธ ความทุกข์ เหล่านั้นได้ ก็คือสติ ทำให้เกิดระยะห่าง ไม่ใช่ระยะห่างทางสังคมอย่างที่เรารู้จักในช่วงโควิด แต่มันเป็นระยะห่างทางจิตใจซึ่งเราจำเป็นต้องมี แต่จะเกิดขึ้นได้เมื่อมีสติ มีความรู้สึกตัว
การมีสติ การมีความรู้สึกตัว จะเกิดขึ้นได้ ก็ต้องเกิดจากการปฏิบัติบ่อยๆ ปฏิบัติซ้ำๆ ปฏิบัติไม่หยุด แม้จะได้ผลทีละนิดทีละหน่อย ถ้าเราไม่ไปดูถูกผลเล็กผลน้อยนั้น ทำความเพียรไม่หยุด มันก็จะก่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงที่คาดไม่ถึงเหมือนกัน.