พระอาจารย์ไพศาล วิสาโล วัดป่าสุคะโต แสดงธรรมก่อนฉันเช้าวันที่ 3 พฤศจิกายน 2567
ผู้หญิงคนหนึ่งเป็นมะเร็งเต้านม เธอไปรักษาด้วยการฉายแสง ฉีดคีโม จนครบคอร์สแล้วอาการก็ดีขึ้น แต่ก็ยังบ่นว่าปวด ๆ หมอและพยาบาลสังเกตว่า เวลาเธอเดินเหินเหมือนคนปกติเลย
วันหนึ่งพยาบาลมานั่งคุยกับเธอด้วย แต่ส่วนใหญ่เธอเป็นฝ่ายคุยมากกว่า คุยเป็นชั่วโมงเลย เรื่องที่คุยก็วนเวียนอยู่กับคนสองคน นั่นก็คือสามีกับลูกชาย เพราะว่าจะเธอโกรธแล้วก็น้อยใจที่สองคนนี้ไม่ค่อยมาดูแลเอาใจใส่เธอ เหมือนกับว่าไม่อินังขังขอบเลย
เธอก็เล่าๆ พยาบาลก็นั่งฟัง ฟังโดยที่ไม่ได้ขัด ไม่ได้แย้ง แล้วก็ไม่ได้สอน ไม่ได้แนะนำอะไรด้วย ฟังอย่างเดียว พอคนไข้คนนั้นพูดจบเธอก็บอกว่า ความเจ็บปวดมันหายไปเยอะ ขอบคุณพยาบาลใหญ่เลย
พยาบาลไม่ได้ให้ยา แต่ว่าสิ่งที่พยาบาลทำคือ นั่งฟังอย่างตั้งใจ เพียงเท่านี้ก็ช่วยทำให้ความปวดของคนไข้ทุเลาลง มันแสดงว่าความปวดของคนไข้ส่วนหนึ่งก็มาจากความโกรธ ไม่ใช่เพราะความเจ็บไข้ได้ป่วยอย่างเดียว ต้องเรียกว่าความเจ็บปวดก้อนใหญ่นี้มาจากความโกรธสามี โกรธลูกชาย แต่พอได้ระบายแล้วมีคนฟัง ความโกรธก็ทุเลาลง พอความโกรธทุเลาความปวดก็บรรเทา
อีกแง่หนึ่งก็ชี้ให้เห็นว่า ความโกรธสามารถยังซ้ำเติมเพิ่มทุกข์ให้กับเราได้ด้วย ปวดใจบางทีร้ายแรงกว่าการปวดกาย ในขณะเดียวกันเหตุการณ์นี้ก็ชี้ให้เห็นว่า การฟัง ฟังอย่างตั้งใจมันก็ช่วยบรรเทาความทุกข์ของอีกฝ่ายได้ แล้วสิ่งที่พยาบาลทำ ก็ไม่ได้ทำอะไร นอกจากนั่งฟังแต่ฟังอย่างตั้งใจโดยไม่ได้ขัด ไม่ได้แทรก แล้วก็ไม่ได้สอนด้วย
การที่ฟังอย่างตั้งใจโดยไม่ขัด ไม่แทรก ไม่สอนนี้ มีผลในการเยียวยาอีกฝ่ายหนึ่งได้
บางครั้งเราคิดว่าต้องสอน ต้องแนะ แต่ว่าบ่อยครั้ง การสอนการแนะมันไม่ได้ช่วยอีกฝ่ายเท่าไหร่ ส่วนหนึ่ง เพราะเขาไม่ฟัง โดยอีกส่วนหนึ่งเป็นเพราะว่า พอไปชี้แนะเขาหรือไปสอนเขา ก็ทำให้เขาหยุดพูด เพราะเขารู้สึกว่า เหมือนถูกตำหนิ หรือเขารู้สึกว่าเหมือนคนฟังยังไม่อยากจะฟังเขา
พอไม่อยากจะฟังเขา เขาก็เลยไม่อยากจะเล่า พอไม่เล่า อารมณ์ที่มันอัดอั้นอยู่ข้างในก็เลยไม่ได้ระบายถ่ายเทออกไป
ดังนั้นการฟังอย่างตั้งใจ แม้มันจะช่วยเยียวยาผู้ที่มีความทุกข์ เช่น ความโกรธ แต่คนฟังก็ต้องฟังเป็น คือฟังด้วยความใส่ใจ บางครั้งเรื่องที่อีกฝ่ายเล่า อาจจะไม่ค่อยมีอะไร หมายถึงคำพูดที่ออกมา แต่สีหน้า ท่าทาง น้ำเสียง บ่งบอกถึงความทุกข์ อาจจะไม่ใช่ความโกรธ อาจจะเป็นความเศร้า ความน้อยเนื้อต่ำใจ คนฟังก็ต้องหมั่นสังเกต
หมั่นสังเกตเพราะว่า สิ่งที่คนเราเวลาถ่ายทอดออกมา ไม่ได้ถ่ายทอดด้วยคำพูดเท่านั้น
มีคนบอกว่า เวลาคนเราพูดออกไป สิ่งที่ต้องการถ่ายทอดหรือเนื้อหามีเเค่ 7% ไม่ถึง 10% อีก 90% แสดงออกทางอากัปกริยา เช่น น้ำเสียง สีหน้า ท่าทาง แววตา คนบางคนเขาก็อาจจะพูดไม่มาก แต่ว่าเขาแสดงออกโดยไม่รู้ตัว ผ่านสีหน้า ผ่านแววตา ผ่านน้ำเสียง
คนฟังถ้าหากว่าสังเกตอากัปกิริยา ก็จะรับรู้ความรู้สึกของเขา และก็สามารถที่จะเข้าใจเขา บางทีเขาอาจจะบอกว่าไม่เป็นอะไร ฉันสบายดีไม่มีอะไร แต่ข้างในนี่มันทุกข์เหลือเกิน ถ้าคนฟังเข้าใจ รับรู้ความรู้สึกของคนพูดได้ อย่างน้อยก็จะทำให้เข้าใจเขามากขึ้น ทำไมถึงทำอย่างนั้นอย่างนี้
คนที่ซึมเศร้าจนอยากจะฆ่าตัวตาย บางทีเขาก็ไม่ได้พูดอะไรมาก เขาอาจจะบอกได้ด้วยซ้ำว่า เขาไม่เป็นอะไร ไม่มีอะไร แต่ข้างในนี่มันหนักเหลือเกินจนไม่อยากจะมีชีวิตอยู่ แต่ว่าเขาก็ส่งสัญญาณผ่านสีหน้า ท่าทาง น้ำเสียง ซึ่งถ้าเกิดว่าคนที่เป็นเพื่อน คนที่เป็นพ่อแม่ ถ้ารับรู้ถึงความรู้สึกเขาได้ก็อาจจะช่วยเขาได้
หลายคนเขามีความทุกข์แล้วก็ระบายออกมา เพราะเขากำลังเศร้า เสียใจ อกหัก สูญเสียคนรัก เพียงแค่เราฟังเขาด้วยความใส่ใจก็ช่วยได้เยอะโดยที่ไม่จำเป็นต้องปลอบก็ได้
หรือว่าเวลาเขาร้องไห้ ก็ปล่อยให้เขาร้องไป อาจจะดีกว่าการไปบอกเขาว่าอย่าร้องไห้ เพราะการที่เราไปพยายามหยุด หรือว่าแนะนำให้เขาอย่าร้องไห้อาจจะเป็นการส่งสัญญาณให้เขาเข้าใจว่า การร้องไห้นี่ไม่ดี หรือว่าการเศร้าโศกเสียใจมันเป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้อง ถ้าเขาเข้าใจอย่างนั้น เขาก็จะหยุดเลย หรือเขาก็อาจจะโทษตัวเองว่า ทำไมฉันยังเศร้าอยู่ ทำให้เกิดการกดข่มอารมณ์ความรู้สึก ซึ่งสุดท้ายมันก็อาจจะย้อนกลับมาทำร้ายตัวเขาเองก็ได้
ถ้าเศร้าโศกแล้วไปกดข่มมันเอาไว้ หรือบางทีเขาอาจจะเข้าใจว่า ที่เราบอกให้เขาหยุดร้องไห้นี่เป็นเพราะว่า สิ่งที่เขาเล่ามามันเป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้อง ไม่ควรเล่า พอเขาไม่เล่า เขาเก็บเอาไว้เขาก็ยิ่งแย่เข้าไปใหญ่
เพราะฉะนั้นการที่คนฟัง ฟังอย่างตั้งใจโดยที่ไม่ขัด ไม่แนะนำสั่งสอน ไม่ปลอบ หรือว่าไม่บอกให้เขาหยุดร้อง จริงๆ แล้วมันช่วยเขา
แต่บางคนทนไม่ได้ที่เห็นอีกฝ่ายร้องไห้ จริงๆ คำแนะนำที่ว่าก็เพื่อตัวเองมากกว่า ไม่อยากจะเห็นคนร้องไห้ หรือทนคนร้องไห้ไม่ได้ก็เลยไปเบรก ไปห้ามเขา ก็กลายเป็นว่าไม่ได้ทำเพื่อช่วยเขา แต่ทำเพื่อลดความอึดอัดของตัวเอง อันนี้มันก็คงไม่ดีเท่าไหร่
ถ้าเราอยากจะช่วยเขาเราก็ต้องปล่อยให้เขาได้พูด ไม่ต้องขัด ไม่ต้องสอน ไม่ต้องแนะนำ หรือไม่ต้องปลอบก็ได้ เพราะว่าเพียงแค่เขาได้ระบาย ได้เล่า มันก็ช่วยเขาได้เยอะเลย
แต่แน่นอนจะทำอย่างนี้ได้ คนฟังก็ต้องรับมือกับอารมณ์ที่เกิดขึ้นจากการฟังได้ เพราะบางทีฟังแล้วก็เกิดความโกรธ เกิดความรำคาญ เกิดความเสียใจ เกิดความอึดอัด ถ้าไม่จัดการกับอารมณ์ที่เกิดขึ้นกับตัวเองอย่างถูกต้อง มันก็ทำให้ไม่สามารถจะฟังเขาอย่างตั้งใจได้ ต้องมีสติรู้ทันอารมณ์พวกนี้ แล้วก็อย่าให้มันครองใจ
บางทีเราต้องลองหายใจเข้าลึกๆ หายใจออกยาวๆ เผื่อว่าจะได้กลับมามีสติ เพราะการมีสติกับลมหายใจก็เหมือนกับสมอ บางทีคลื่นอารมณ์มันพัดกระหน่ำเรือ ถ้าไม่มีสมอมันก็อับปาง แต่ถ้ามีสมอมันก็ทำให้เรือสามารถจะทานทนต่อพายุได้ บางทีพายุอารมณ์ที่เกิดขึ้นถ้าเราไม่มีสติ มันก็ทำให้ใจไหลไปตามอารมณ์ หรือว่าถูกอารมณ์นั้นเล่นงาน ก็กลายเป็นว่า แทนที่จะช่วยเขาก็กลับซ้ำเติมหรือสร้างทุกข์ให้กับตัวเอง
ดังนั้นการฟังอย่างตั้งใจเป็นเรื่องสำคัญมาก เป็นทักษะหรือศิลปะที่ก็ควรจะมีกัน แล้วมันช่วยคนอื่นที่ใกล้ตัวเราด้วย แล้วก็ช่วยเราในที่สุด.