พระอาจารย์ไพศาล วิสาโล วัดป่าสุคะโต แสดงธรรมก่อนฉันเช้าวันที่ 1 พฤศจิกายน 2567
วันนี้ก็ขึ้นเดือนใหม่แล้ว เดือนพฤศจิกายน แล้วเป็นเดือนที่มีงานมีกิจกรรมหลายอย่างที่น่าสนใจ นอกจากการทอดกฐินซึ่งหลายวัดนี้ยังไม่ได้ทอดตั้งแต่ออกพรรษา แต่ก็จะมีการทอดกันภายในเดือนนี้ นอกจากทอดกฐินแล้วยังมีงานลอยกระทง ซึ่งหลายคนก็รอคอย
แต่มีอีกงานหนึ่งที่น่าสนใจ ไม่เคยมีในเมืองไทยและก็ไม่เคยเกิดขึ้นในโลกเลยด้วย เป็นครั้งแรกของเมืองไทยและของโลกเลยทีเดียวคือ เขามีการรณรงค์การฟัง ว่าเป็นการฟังแบบระดับชาติ หมายความว่า เขาจะรณรงค์ให้คนมาสนใจเรื่องการฟังซึ่งกันและกัน แล้วก็ตั้งใจจะให้เป็นการรณรงค์ในระดับชาติ มีกิจกรรมต่างๆทั้งในกรุงเทพต่างจังหวัดและออนไลน์
นี้เป็นงานที่เครือข่ายภาคีด้านสุขภาวะ รวมทั้งองค์กรธุรกิจและสถาบันการศึกษาระดับมหาวิทยาลัยร่วมใจกันจัดขึ้นมา เพราะว่าตอนนี้ในเมืองไทยนี้ ที่จริงก็ทั่วโลกมีปัญหาความสัมพันธ์ โดยเฉพาะความสัมพันธ์ระหว่างวัย เกิดช่องว่างระหว่างวัย แต่ถึงแม้ในวัยเดียวกันนะก็เกิดช่องว่างได้ ช่องว่างระหว่างสามีกับภรรยา ช่องว่างระหว่างพ่อกับแม่ ระหว่างเพื่อนร่วมงาน นี่เป็นเหตุผลที่มาประการที่หนึ่ง
ประการที่สอง เรื่องความขัดแย้ง ความขัดแย้งเพราะการคิดต่างหรือความเห็นต่างซึ่งตอนนี้รุนแรงมาก และที่รุนแรงไม่แพ้กันก็คือ ความรู้สึกเหงา ความรู้สึกโดดเดี่ยว ทั้งหมดนี้ส่วนหนึ่งก็เกิดจากการสื่อสารที่มีปัญหา แม้เราจะสื่อสารกันได้สะดวก ได้ง่าย โดยเฉพาะมีโซเชียลมีเดีย มีโทรศัพท์ แต่ว่าการสื่อสารนี้มันขาดตอน ที่สำคัญคือเพราะการฟัง การฟังมีปัญหา
เขาก็เลยจัดกิจกรรม เพื่อส่งเสริมให้เกิดการฟังอย่างเข้าอกเข้าใจ มีกิจกรรมที่จัดตามพื้นที่ต่างๆ ทั้งในกรุงเทพและต่างจังหวัด เริ่มตั้งแต่การจัดพื้นที่การฟังให้คนมาระบาย ให้คนมาเล่า มีจัดกันที่สวนโมกข์กรุงเทพ สวนสาธารณะที่สวนลุม ที่ศูนย์การค้าก็มีที่เอ็มควอเทียร์ EmQuartier แถวสุขุมวิท
สถาบันการศึกษามหาวิทยาลัย เช่น มหาวิทยาลัยมหิดล แม้กระทั่งในคาเฟ่ หรือว่าในร้านตัดผม ก็มีคนอาสาจะมาฟัง ใครที่เหงา ไม่มีคนฟัง ไม่มีคนให้ระบายก็มาระบายมาเล่าได้กับช่างตัดผมก็ได้ กับพระก็ได้ หรือว่ากับคนที่เป็นจิตอาสา
อย่างที่สามย่านมิตรทาวน์ เขาก็จัดพื้นที่ให้มีการมาพูดมาคุย มาระบาย และก็จะมีคนฟังด้วย นอกนั้นก็ยังมีการจัดเวิร์คช็อป เวิร์คช็อปนี้หมายถึงการอบรมเพื่อการฟังที่ส่งเสริมความสัมพันธ์นี้ จัดมาเกือบ 20 ครั้งแล้วในรอบเดือนนี้ เฉพาะพื้นที่การฟังนี้เขาก็จัดตั้งเกือบ 30 แห่งตลอดเดือนพฤศจิกายนนี้
เขาเน้นว่าการฟังจะก่อให้เกิดความสัมพันธ์ที่ดี ไม่ก่อให้เกิดความร้าวฉานความขัดแย้ง ที่สำคัญก็คือว่า เมื่อเราฟังใครเล่า เราต้องอยู่กับคนต่อหน้าเราร้อยเปอร์เซ็นต์ เรียกว่าฟังด้วยใจเต็มร้อย
แต่คนเรานี้แม้ตัวจะอยู่หน้าคนพูด แต่ว่าใจไม่รู้ไปไหนนะ ใจลอยบ้าง บางทีก็คิดเรื่องนั้นเรื่องนี้บ้าง แต่แม้จิตใจนี้ฟังสิ่งที่คนกำลังบอกเล่าต่อหน้าเรา แต่ธรรมชาติของคนเรามักจะชอบฟังเฉพาะสิ่งที่อยากจะได้ยิน อะไรที่ไม่อยากจะได้ยินมันก็ไม่เข้าหู และที่สำคัญก็คือว่าคนเราจะได้ยินก็เฉพาะสิ่งที่มันสอดคล้องกับความคิด อะไรที่ไม่สอดคล้อง ไม่ตรงกับความคิดก็ปัดออก ไม่ได้ยิน
และความคิดของคนเรา มักเจือด้วยอคติ ฉันทาคติ หรือว่าโทสาคติ ถ้าเรามีฉันทาคติกับใครนี้เราก็จะได้ยินเฉพาะสิ่งที่พูดถึงสิ่งดีๆ ของคนๆ นั้น สิ่งที่ไม่ดีเราก็ไม่ได้ยิน แต่ถ้าเรามีโทสาคตินี้ เราไม่ชอบใคร เราเกลียดใครนี้ เราก็จะเลือกได้ยินเฉพาะสิ่งที่ไม่ดีเกี่ยวกับคนๆ นั้น สิ่งที่ดีๆ ก็ไม่ได้ยิน ตรงนี้มันทำให้เกิดปัญหาความเข้าใจ พูดอะไรไปก็รับได้เฉพาะบางเรื่อง ก็เลยเกิดความเข้าใจผิด หรือเกิดความเข้าใจที่คลาดเคลื่อน
บางทีก็ด่วนสรุป ลูกยังพูดไม่ทันจบเลย พ่อหรือแม่ก็ด่วนสรุปแล้ว อย่างเช่น ลูกมาบอกแม่บอกพ่อ ว่าไม่อยากไปโรงเรียนแล้ว ลูกยังไม่ทันจะเล่าเหตุผลว่าคืออะไร พ่อก็คิดหรือแม่ก็คิดแล้วว่า ลูกนี้ขี้เกียจไปโรงเรียน สรุปล่วงหน้าไปแล้ว บางทีไม่ใช่แค่สรุป บางทีพูดด้วยว่า ไม่อยากไปโรงเรียนใช่ไหม ขี้เกียจหรือ
แต่ความจริงอาจจะเป็นเพราะว่าเด็กเขาถูกแกล้งในโรงเรียน เดี๋ยวนี้เด็กประถมแค่ป.1 ป.2 นี้ก็ ถูกบูลลี่แล้ว เด็กหลายคนก็เลยไม่อยากไปโรงเรียน พอมาเล่าให้พ่อแม่ฟัง พ่อแม่ไม่ทันจะฟังเหตุผลก็สรุปแล้วว่า ลูกขี้เกียจ เกียจคร้าน นี้ก็เป็นปัญหาของการฟัง คือนอกจากเลือกได้ยินในสิ่งที่มันตรงกับความคิดแล้ว ก็ยังด่วนสรุปด้วย
อีกอย่างหนึ่งก็คือคนเราอยากได้ยินเฉพาะสิ่งที่ถูกใจ อะไรที่ไม่ถูกใจก็ปัดทิ้งไป เช่น เวลาคนมาวิจารณ์ มาทักท้วง มาติติง บางทีไม่ปัดทิ้ง แต่ว่ามันมีความคิดสวนขึ้นมา แทรกขึ้นมาระหว่างฟัง ความคิดอะไร ความคิดว่า ความคิดแก้ตัว โต้แย้ง หรือว่าความคิดที่อยากจะอธิบาย อยากจะชี้แจง ไม่ทันฟังเขายังไม่ทันจะพูดจบเลย ก็แย้งในใจแล้ว
นี้ก็เป็นความคิดที่เป็นอุปสรรคต่อการฟัง ไม่ว่าจะเป็นการคิดแย้งเพราะเห็นต่าง หรือว่าเลือกฟังเฉพาะสิ่งที่มันถูกใจ หรือว่าเลือกฟังเฉพาะสิ่งที่มันสอดคล้องกับความคิดของตัว หรือด่วนสรุป เหล่านี้เรียกรวมๆ ว่า ความคิดที่มันเป็นอุปสรรคต่อการฟังด้วยใจเต็มร้อย ทำให้ไม่สามารถจะอยู่กับคนข้างหน้าได้ร้อยเปอร์เซ็นต์
แบบนี้ก็ต้องมีสติ ต้องรู้เท่าทัน เท่าทันความคิด เท่าทันอคติ ยังไม่ด่วนสรุป ได้ยินอะไร ฟังให้เรียบร้อย จบกระบวนความเสียก่อน ถึงค่อยสรุป หรือมิฉะนั้น ก็ฟังเขาท้วงติงเราจนครบเสียก่อน แล้วจึงค่อยชี้แจง
แต่เดี๋ยวนี้เราปล่อยให้ความคิดเข้ามาขวางการฟัง หูได้ยินแต่ว่าใจไม่รับรู้ด้วย อันนี้ก็เป็นทักษะที่เราต้องมี คือการรู้เท่าทันความคิดขณะที่ฟังใครพูด ถ้าเราไม่รู้เท่าทันความคิด ความคิดก็จะบดบังหรือขวางกั้น ไม่ให้เรารับรู้สิ่งที่อีกคนกำลังชี้แจง กำลังอธิบาย หรือกำลังสื่อสารกับเรา
เพราะฉะนั้น ใครที่คิดว่ามีปัญหาตรงนี้ ต้องพยายามรู้เท่าทันความคิดให้ได้ หรือว่าถ้าคิดว่าต้องฝึกฝนเรื่องนี้ให้มากขึ้น ก็อาจจะไปร่วมกิจกรรมเวิร์คช็อป หรือว่างานที่เขาจัดก็ได้ ซึ่งก็หาดูได้จากเว็บไซต์หรือจาก Facebook ของกิจกรรมที่เรียกว่า เดือนการฟังแห่งชาติ เป็นงานแรกของเมืองไทยและของโลกเลยทีเดียว.