พระอาจารย์ไพศาล วิสาโล วัดป่าสุคะโต แสดงธรรมเย็นวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2567
คณะของพวกเราชื่อว่า “พื้นที่ชีวิต” มีคนเปรียบว่าชีวิตนี้มันก็เหมือนกับพื้นที่ คำถามคือว่าเราอยากจะให้พื้นที่ชีวิตของเราเป็นแบบไหน
เป็นพื้นที่ที่รุ่มร้อนเพราะว่ารับแดดเต็มๆ หรือว่าเป็นพื้นที่ที่ร่มเย็นเพราะว่ามีต้นไม้มาปกคลุมกันแดดไม่ให้มาเผาคนที่อยู่ในพื้นที่นี้ อยากให้พื้นที่ชีวิตของเรามันรก เป็นที่อยู่อาศัยของงูเงี้ยวเขี้ยวขอ สัตว์ร้ายที่มีพิษ หรือว่าเต็มไปด้วยหนามแหลม หรืออยากให้พื้นที่ชีวิตของเรามันมีการจัดวางที่สวยงาม เป็นระเบียบ เป็นแถวเป็นแนวที่มีความสวยงาม แล้วก็อาจจะมีสระน้ำอยู่กลางพื้นที่นี้ที่ทำให้เกิดความเย็นตาเย็นใจ
เราเลือกได้ที่อยากจะให้ชีวิตของเราเป็นพื้นที่แบบไหน ถ้าเราอยากจะให้พื้นที่ชีวิตของเรามันร่มเย็นเต็มไปด้วยต้นไม้สูงใหญ่ที่ให้ร่มเงา เราก็ต้องยอมลงแรงในการปลูกต้นไม้ ดูแลต้นไม้ ถ้าอยากให้พื้นที่ชีวิตของเราไม่รกจนเป็นที่อาศัยของงูเงี้ยว สัตว์ร้ายที่มีพิษ หรือเต็มไปด้วยหนามแหลม เราก็ต้องยอมที่จะเสียเวลาในการปลูกต้นไม้ ทำสวน เพื่อกันไม่ให้วัชพืชทั้งหลายมันขึ้นรกจนเต็มพื้นที่
แค่อยากอย่างเดียวไม่พอ มันต้องลงมือทำด้วย ฉะนั้นถามตัวเราว่า “ตอนนี้ใจของเราเป็นอย่างไร” มันเปรียบเสมือนพื้นที่ที่มันรุ่มร้อนเพราะโดนแดดเผา หรือร่มเย็นเพราะมีต้นไม้ปกคลุม ใจของเรานี้มันรก เต็มไปด้วยอารมณ์ที่เป็นอกุศลที่เหมือนกับสัตว์มีพิษนานาชนิดที่คอยซุกซ่อนอยู่ หรือว่ามันเป็นพื้นที่ที่ร่มรื่น เป็นรมณีย์สวยงาม
ใจของเรา ถ้าหากว่าเราไม่ดูแล ไม่เอาใจใส่ มันก็เหมือนกับพื้นที่รกร้าง ไม่น่าอยู่ แล้วก็อันตราย สุดท้ายก็กลับมาเป็นโทษเป็นภัยกับตัวเรา ทุกวันนี้เราให้ความสำคัญกับกายมาก วันทั้งวันหมดไปกับการดูแลกาย ทางตาหูจมูกลิ้นกาย เพื่อความเอร็ดอร่อยหรือเพื่อความสะดวกสบายทางกายก็แล้วแต่ ใช้เวลาไปไม่น้อยกับการทำมาหาเงิน และเงินที่ได้มาก็เพื่อซื้อสิ่งของต่างๆ มาอำนวยความสะดวกปรนเปรอกาย
แม้กระทั่งเวลาเราพัก เราก็พักแค่กาย มันก็ดีอยู่หรอกทำให้ตื่นขึ้นมาก็มีเรี่ยวมีแรงทำงานต่อ แต่ถามว่าใจได้พักบ้างหรือเปล่า เราได้ทำอะไรกับใจของเราบ้างไหม แม้กระทั่งเวลาอาบน้ำชำระกาย มันก็อาจจะสะอาดแค่กาย แต่ว่าใจก็ยังหม่นหมองเพราะว่าไปหมกมุ่นครุ่นคิดกับเรื่องอะไรต่ออะไรมากมายตั้งแต่ตื่นนอนขึ้นมา
ตื่นเช้าขึ้นมา ไม่ทันไรก็เปิดโทรศัพท์มือถือเช็คข้อความ ดู Social Media เสร็จแล้วจิตใจก็หมอง เครียด อาบน้ำไป ใจก็คิดไป ถ้าไม่คิดถึงเรื่องสิ่งที่ได้อ่าน ได้ดู ได้เห็นทางโทรศัพท์มือถือ ก็ไปนึกถึงงานการ และภาระต่างๆ ที่รออยู่ที่สำนักงาน อันนี้เรียกว่าชำระกายแต่ว่าใจไม่ได้ชำระด้วย
เวลากินอาหาร เราก็กินเติมอาหารใส่ท้อง แต่ว่าใจของเรานี้คิดถึงอะไร เราไม่ได้เติมอาหารใส่ท้องอย่างเดียว บางทีเราก็เติมความเครียดใส่ใจด้วย เพราะเวลากินอาหารก็นึกถึงว่า เดี๋ยวจะทำอะไรข้างหน้า เดี๋ยวจะรีบไปประชุม เดี๋ยวจะรีบไปปรึกษาหารือกับเพื่อน ไปเจรจากับลูกค้า ปากเคี้ยวไปใจก็นึกถึงสิ่งที่จะทำข้างหน้าลำดับต่อไป เสร็จแล้วก็เกิดความเครียดขึ้นมา เรียกว่าเติมอาหารให้กาย แต่ว่าเติมสิ่งที่เป็นโทษให้กับใจ คือ ความเครียด ความวิตก ความกังวล
ฉะนั้นทั้งชีวิตเรานี้ เราทำอะไรให้กับกายเยอะ แต่ว่าเราไม่สนใจจิตใจเท่าไหร่ แม้ว่าหลายสิ่งหลายอย่างที่เราทำก็คิดว่าเพื่อปรนเปรอใจ แต่ว่ามันกลับไปปรนเปรอกิเลส ไปปรนเปรอตัวกูมากกว่า อย่างที่พูดเมื่อวานว่า “เรารักตัวกูมากกว่ารักตัวเอง” ดังนั้นที่เราทำทั้งหมดนี้เพื่อปรนเปรอตัวกู ปรนเปรอกิเลส มากกว่าที่จะเกื้อกูลเป็นประโยชน์ด้วยความรักตัวเอง
พอเราละเลยเรื่องใจหรือว่าดูแลใจผิดวิธี มันก็เลยเกิดปัญหา เดี๋ยวนี้ผู้คนแปลกแยกกับใจของตัวเองมาก ละเลยจิตใจ ไม่เหลียวแลจิตใจ ไม่สนใจว่าตอนนี้ความรู้สึกเป็นอย่างไร ใจคิดอะไร บางทีถามว่า “ตอนนี้รู้สึกอย่างไร” ตอบไม่ได้ ไม่ใช่เฉพาะคนหนุ่มสาวเท่านั้นที่ตอบไม่ได้ว่าตอนนี้รู้สึกอย่างไร ผู้ใหญ่วัยทำงานหรือคนเฒ่า คนชรา บางทีก็ตอบไม่ได้ว่าตอนนี้รู้สึกอย่างไร
เวลาถามว่ารู้สึกอย่างไร ตอบเป็นความคิดหมดเลย ไม่สามารถที่จะเอาความรู้สึกออกมาได้ เดี๋ยวนี้เป็นอย่างนี้จริงๆ เวลาถามว่ารู้สึกอย่างไร ตอบเป็นความคิด “รู้สึกว่าเช้านี้มันอากาศมันไม่ดีเลย” “รถติดมากเหลือเกิน” มันไม่ใช่ความรู้สึก ที่เราตอบไม่ได้เพราะเราไม่ค่อยได้สนใจจิตใจของตัว ไม่ได้สนใจมาเหลียวแลเหลียวมอง
พอเราไม่สนใจจิตใจของตัว มันเหมือนกับพ่อแม่ที่ไม่สนใจดูแลหรือแม้แต่เหลียวแลลูกน้อย พอลูกโตขึ้นมาก็กลายเป็นสร้างปัญหาให้กับพ่อแม่ นอกจากเป็นเด็กเกเร ก้าวร้าว อาจจะชอบทะเลาะเบาะแว้งกับผู้คน ไปต่อยตี หรือว่าไปบูลลี่คนนู้นคนนี้ เสร็จแล้วก็สร้างเรื่องเอาเรื่องมาให้พ่อแม่ บางทีลูกก็ติดยา หรือว่าไปร่วมแก๊งอันธพาล ติดคุกติดตะราง พ่อแม่ก็เดือดร้อน อันนี้เพราะว่าไม่ได้สนใจลูกตั้งแต่เล็ก
พอลูกโตขึ้นก็เลยสร้างปัญหาปวดหัวให้กับพ่อแม่ ยังไม่ต้องพูดถึงว่าทะเลาะเบาะแว้งกับพ่อแม่ ด่าทอ บางทีกล่าวหาพ่อแม่ต่างๆ นานา “มาทำให้ฉันเกิดทำไม” “มาให้ผมเกิดทำไม” “ขออนุญาตผมหรือยังมาทำให้ผมเกิด” บางทีฟ้องพ่อแม่ อันนี้ก็มักจะเป็นผลพวงจากการที่ไม่ค่อยได้ดูแล พ่อแม่ไม่ค่อยดูแลลูก ลูกก็เลยสร้างปัญหาให้กับพ่อแม่ในโอกาสต่อมา
ใจก็เหมือนกัน ถ้าเราไม่ดูแลใจดีๆ ใจก็จะสร้างปัญหาให้กับเรา ทำให้กินไม่ได้นอนไม่หลับ ทำให้ก้าวร้าว ทำให้เครียด ทำให้ทุกข์ บางทีทำให้ซึมเศร้าหมดอาลัยตายอยากกับชีวิต จนถึงขั้นทำร้ายตัวเอง หรือไม่ก็ไปทำร้ายคนอื่น
พระพุทธเจ้าตรัสว่า โจรทำร้ายโจรหรือศัตรูทำร้ายศัตรูด้วยกัน ก็ไม่ก่อให้เกิดความเสียหายเท่ากับใจที่สอนไว้ผิดหรือปฏิบัติผิด ขณะเดียวกันพ่อแม่จะทำสิ่งดีๆ ให้กับลูกเท่าไร ก็ไม่ประเสริฐเท่ากับใจที่ฝึกไว้ดีแล้ว
เพราะใจที่ฝึกไว้ดีแล้วสามารถจะให้อะไรกับเจ้าตัวได้ยิ่งกว่าสิ่งที่พ่อแม่ให้กับลูกหรือให้กับเรา สามารถทำให้พ้นทุกข์ก็ได้ พ่อแม่ไม่สามารถทำให้ลูกพ้นทุกข์ได้ แต่จิตที่ฝึกไว้ดีแล้วสามารถทำให้เราพ้นทุกข์ เวลาเจ็บ เวลาป่วย ก็ป่วยแต่กาย ใจไม่ป่วย ไม่โวยวาย ตีโพยตีพาย เมื่อสูญเสียคนรัก ก็ไม่ได้คร่ำครวญ ตีอกชกหัว
สิ่งเหล่านี้พ่อแม่ทำให้ลูกไม่ได้หรือทำให้เราไม่ได้ แต่ว่าใจที่ฝึกไว้ดีแล้วทำให้กับเราได้ ฉะนั้นการฝึกใจเป็นเรื่องสำคัญมากที่เราจะมองข้ามไม่ได้ ที่เรามาที่นี่ก็คงเพราะเหตุนี้ เห็นความสำคัญของการฝึกใจ ไม่เช่นนั้นก็ไม่ได้มา
การฝึกใจ เราเรียกว่าภาวนา กรรมฐาน ซึ่งก็มีหลายวิธี หลายคนเวลานึกถึงภาวนาหรือสมาธิ ก็นึกถึงการทำให้จิตหยุดคิด ทำให้จิตไม่มีความคิด เพราะถ้าคิดแล้วมันฟุ้งซ่าน แต่ว่าที่แนวทางอาจจะไม่ตรงกับความเข้าใจหรือความคาดหวังของหลายคน เพราะว่าเราไม่ได้มุ่งที่จะปฏิบัติเพื่อดับความคิด หรือว่าเพื่อทำให้จิตนิ่งสงบ แต่เรามาปฏิบัติเพื่อให้รู้ทันความคิด เพื่อให้เกิดความรู้สึกตัว ซึ่งมันก็จะนำมาสู่ความสงบให้กับจิตใจ แต่ไม่ใช่สงบเพราะไม่คิด สงบเพราะรู้ทันความคิด รู้ทันอารมณ์ต่างหาก
ฉะนั้นในการปฏิบัติ เราจึงอนุญาตให้คิดได้ หลายคนพอพูดเท่านี้ก็ไม่เข้าใจ หรือไม่เคยได้ยินมาก่อนว่าอนุญาตให้คิดได้ เพราะเรามีภาพว่า “ถ้ามาภาวนา มาทำสมาธิ มันต้องไม่คิด ต้องทำให้มันหยุดคิดให้ได้” แต่ว่าการปฏิบัติแบบหลวงพ่อเทียนหรือที่ เราอนุญาตให้คิดได้ ไม่ห้ามความคิด เพราะว่าความคิดนี้มันห้ามไม่ได้อยู่แล้ว แต่หลายคนก็พยายาม ผ่านมา 2 วัน หลายคนก็คงจะพยายามบังคับจิตไม่ให้คิด พยายามห้ามความคิด แล้ววิธีหนึ่งที่ทำให้มันไม่คิดก็คือ เพ่ง จ้อง
การเพ่ง คือการบังคับจิตให้แนบแน่นอยู่กับอะไรบางอย่าง เช่น อยู่กับเท้า อยู่กับมือที่เคลื่อนไหวไปมา อยู่กับลมหายใจ อยู่กับท้อง คือบังคับให้มันแนบแน่นอยู่กับสิ่งนั้น มันจะได้ไม่เพ่นพ่านไปไหน เป็นการบังคับจิตแบบหนึ่ง
เท่านั้นไม่พออาจจะมีการบริกรรม บางคนก็ใช้วิธีการนับ ยกมือสร้างจังหวะ เขาไม่ได้สอนให้นับ แต่บางคนก็นับ 1 นับ 2 นับ 3 นับก้าวก็เหมือนกัน นับ 1-2-3 หลายคนคุ้นกับการบริกรรมพุท-โธ พวกนี้ก็มีประโยชน์แต่ว่ามันไม่ใช่สิ่งที่เรามาสอนกันหรือปฏิบัติกันที่นี่ เพราะว่าการบริกรรมมันก็จุดมุ่งหมายก็คือเพื่อร้อยจิตให้มาอยู่กับกาย ให้อยู่กับลมหายใจ เป็นวิธีการเพื่อบังคับจิตไม่ให้คิด ไม่ให้ไป
แต่ว่าที่นี่เราอนุญาตให้คิดได้ ให้ไปได้ ให้จิตมันไปได้หรือเถลไถลได้ เพื่ออะไร เพื่อเราจะได้ฝึกให้รู้ทัน เราจะรู้ทันความคิดได้ มันก็ต้องมีการเผลอคิดก่อน ถ้าเราไม่เผลอคิด จะรู้ทันความคิดได้อย่างไร เราต้องการฝึกให้รู้ทันอารมณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้น เช่น รู้ทันความโกรธ ความหงุดหงิด ความไม่พอใจ ถ้าไม่มีอารมณ์พวกนี้เกิดขึ้นแล้วจะรู้ทันมันได้อย่างไร
การรู้ทันนี้สำคัญ เพราะว่าถ้ารู้ทัน มันก็ทำให้อารมณ์พวกนี้หมดพิษสงลง ถ้าเรารู้ทันความคิด ความคิดมันก็ทำอะไรจิตใจไม่ได้ คนเรานี้เวลาทุกข์ มันไม่ได้ทุกข์ทันทีเพราะมีการกระทบ ไม่ว่าเป็นการกระทบที่ตาหูจมูกลิ้นกายหรือที่ใจ คำพูดหรือเสียงที่มากระทบหู การกระทำที่เห็นต่อหน้า สิ่งเหล่านี้แม้จะเป็นสิ่งเร้าและทำให้เกิดอารมณ์ เช่น ความไม่พอใจ ความโกรธ ความเศร้า แต่ว่าใจยังไม่ทันจะทุกข์ทันที มันจะทุกข์ก็ต่อเมื่อไปทำอะไรกับอารมณ์นั้น คือไปยึดหรือเข้าไปเป็น เข้าไปจมอยู่ในอารมณ์นั้น ตรงนี้ถ้าไม่ปฏิบัติก็ไม่รู้ ไม่สังเกต
การมาฝึกจิต เราจะฝึกสังเกต แล้วเราจะพบว่าอารมณ์เกิดขึ้น ความคิดเกิดขึ้น มันยังไม่ทันจะทุกข์ทันที มันทุกข์เมื่อใจไปปฏิบัติอย่างไม่ถูกต้องกับความคิดและอารมณ์เหล่านั้น ก็คือเข้าไปยึด เข้าไปผลักไส หลวงพ่อคำเขียนท่านเรียกว่า “เข้าไปเป็น” คือพอมีความโกรธ ใจเข้าไปยึดว่าความโกรธเป็นเราเป็นของเรา ก็เกิดผู้โกรธขึ้นมา มีความโกรธยังไม่เท่าไหร่ แต่พอเป็นผู้โกรธขึ้นมานี้มันทุกข์เลย ความทุกข์มันจะเผาลนใจ ความโกรธมันจะเผาลนใจ
เวลามีความหงุดหงิดเกิดขึ้น มันยังไม่ได้ทำให้เราทุกข์ทันที แต่จะทุกข์ก็ต่อเมื่อเข้าไปเป็น เข้าไปยึด เข้าไปจม หรือพูดอีกอย่างหนึ่งคือปล่อยให้อารมณ์นั้น เช่น ความโกรธ ความหงุดหงิดเข้ามาเล่นงานจิตใจ แต่ถ้าเรามีสติทำให้รู้ทัน อารมณ์พวกนี้ก็เข้ามาทำอะไรจิตใจไม่ได้ มีอารมณ์เกิดขึ้นแต่ใจไม่ทุกข์
เหมือนกับเรือ เรือมันจะอับปางได้ไม่ใช่เพราะมีน้ำอยู่รอบเรือ แต่เป็นเพราะว่าน้ำมันเข้าไปในเรือ ถ้าน้ำยังอยู่รอบเรือไม่เกิดอะไรขึ้น แต่ที่เรือคว่ำ เรืออับปาง เพราะน้ำเข้าไปในเรือ เช่นเดียวกันแม้มีอารมณ์อยู่ข้างใน แต่ถ้าเกิดว่าอารมณ์นั้นไม่เข้าไปคุกคาม เผาลน ทิ่มแทงจิตใจ มันก็ไม่ทุกข์
สิ่งที่ทำให้อารมณ์เหล่านี้หรือเรียกรวมๆ ว่าความทุกข์ มันทำอะไรใจไม่ได้เพราะสติ มีสติรู้ทัน มีสติเห็นมัน พอเห็น มันก็ไม่เข้าไปเป็น “เห็น อย่าเข้าไปเป็น” อันนี้เป็นคำที่หลวงพ่อคำเขียนท่านสอน พูดอย่างนี้ยังไม่เข้าใจ จนกว่าจะปฏิบัติ แล้วจึงจะเข้าใจว่า ‘เห็น’ มันต่างกับเข้าไป ‘เป็น’ อย่างไร
เห็นอารมณ์แต่ไม่เข้าไปเป็น หรือเข้าไปยึดมั่นอารมณ์นั้น มันเป็นอย่างไร เราจะเห็นอารมณ์ได้ต่อเมื่อมีอารมณ์เกิดขึ้น เราจะเห็นความคิดก็ต่อเมื่อยอมให้มีความคิดเกิดขึ้น เพราะฉะนั้นจึงอนุญาตให้คิดได้ อนุญาตให้มีอารมณ์ต่างๆ เกิดขึ้นได้ เพราะมันจะเป็นวัตถุดิบในการฝึกสติ ให้เห็น ให้รู้ทัน
บางทีหลวงพ่อท่านก็ใช้คำว่า “เปลี่ยนความโกรธ ให้เป็นความไม่โกรธ” “เปลี่ยนความหลง ให้เป็นความไม่หลง” “เปลี่ยนความทุกข์ ให้เป็นความไม่ทุกข์” จะเปลี่ยนให้เกิดความไม่ทุกข์ได้ ก็ต้องมีความทุกข์เกิดขึ้นก่อน ถึงจะเปลี่ยนให้กลายเป็นความไม่ทุกข์ได้ ความไม่โกรธจะเกิดขึ้นได้ ก็ต้องมีความโกรธเกิดขึ้นก่อน แล้วก็เปลี่ยนความโกรธให้กลายเป็นความไม่โกรธ
เพราะฉะนั้นการอนุญาตให้มีความคิดและอารมณ์ต่างๆ เกิดขึ้นไม่ว่าบวกหรือลบ จะว่าไปแล้วก็เป็นสิ่งจำเป็นในการฝึกสติให้รู้ทัน แล้วพอรู้ทันมันก็จะเกิดความสงบในใจ เพราะว่าอารมณ์ ความคิดของเราก็จะเลือนหายไป เหมือนไฟที่มันดับเพราะไม่มีเชื้อไม่มีฟืน
อันนี้การรู้ทัน มันเป็นงานของสติ แล้วสิ่งที่เราปฏิบัติก็คือว่าให้สติมันทำงานเอง ให้มันรู้เอง รู้อะไร รู้ความคิด รู้อารมณ์ บางทีท่านก็ใช้คำว่า “รู้ใจ” อันนี้เป็นการรู้เอง แล้วใหม่ๆ กว่ามันจะรู้เองหรือรู้ทันมันใช้เวลา คิดไป 7-8 เรื่อง คิดไป 10 เรื่องแล้วถึงค่อยรู้ เราต้องไม่ใจร้อน เพราะบางคนใจร้อน อยากจะรู้เร็วๆ ก็ไปพยายามจ้อง ดักจ้องความคิด หลายคนตั้งใจดักจ้องความคิดเพื่อมันจะได้รู้ทันไวๆ หรือรู้สึกตัวเร็วๆ แต่ทำอย่างนี้บ่อยๆ ทำอย่างนี้ไปนานๆ เข้า ก็จะเครียด ก็จะเหนื่อย ก็จะล้า เพราะเป็นการบังคับจิต
ที่จริงการปฏิบัติแบบนี้มันสบายๆ ก็คือว่าให้มันรู้เอง ให้สติทำงานเอง เราอย่าทำงานแทนสติ แล้วก็ต้องอดทนใจเย็น ใหม่ๆ สติก็ทำงานช้าคือรู้ทันช้า บางคนใจร้อนทำงานแทนสติ คือดักจ้องความคิดเลย จะได้รู้ทันไวๆ แต่ทำอย่างนี้สติก็จะไม่เติบโต
การรู้เอง หรือ ระลึกได้เอง มันเป็นสิ่งที่เราต้องเรียนรู้ แล้วต้องส่งเสริมให้เกิดมีขึ้นเยอะๆ ในชีวิตประจำวันของเรา มันจะมีเหตุการณ์หลายครั้งที่เรานึกขึ้นมาได้เอง เช่น นึกขึ้นมาได้ว่าได้เวลาโทรศัพท์ไปถึงพ่อถึงแม่แล้ว หรือทำงานอยู่ดีๆ ก็นึกขึ้นมาได้ว่าได้เวลาทำวัตรแล้ว หรือว่าเดินทางไปได้สักพักก็นึกขึ้นมาได้ว่าลืมโทรศัพท์ไว้ที่บ้าน หรือนึกขึ้นมาได้ว่าไม่ได้เอาโทรศัพท์ออกมาซึ่งตอนนั้นแม้แต่จะใช้ก็ยังไม่ได้ใช้เลยแต่มันนึกขึ้นมาได้เอง บางทีก็นึกขึ้นมาได้ว่าเรารองน้ำตั้งแต่เช้าแล้วลืมปิดน้ำ ปิดก๊อก
อาการที่นึกขึ้นมาได้เอง ถามว่ามันเกิดจากอะไร มันไม่มี มันเกิดขึ้นมาได้เอง แล้วอาการนึกขึ้นมาได้ยังไง ก็คือสิ่งที่เราทำให้เกิดขึ้นในการปฏิบัติ เดินจงกรม สร้างจังหวะ
ระหว่างที่เดินจงกรม ใจมันลอย มันลืมไปเลยว่ากำลังเดินอยู่ สร้างจังหวะ ก็ลืมไปเลยว่ากำลังสร้างจังหวะอยู่เพราะกำลังคิดโน่นคิดนี่ แม้แต่บางครั้งฟังบรรยาย บางช่วงก็ลืมไปเลยว่ากำลังฟังอยู่เพราะใจลอย เสร็จแล้วนึกขึ้นมาได้ว่า เรากำลังเดินจงกรม เรากำลังสร้างจังหวะ เรากำลังฟังคำบรรยาย
การนึกขึ้นมาได้ตรงนี้สำคัญมาก เพราะถ้าเราทำให้มันเกิดขึ้นบ่อยๆ ความระลึกได้มันจะไวขึ้น ไวขึ้น นั่นแปลว่าสติพัฒนาแล้ว สิ่งที่เรามาฝึกก็คือทำให้มันรู้ทันได้ไว ได้เร็วขึ้น แล้วทำอย่างไรจะให้มันรู้ทันได้เร็ว มันก็มีวิธีเดียว คือทำบ่อยๆ ทำบ่อยๆ มันไม่มีวิธีอื่น แล้วก็ต้องให้เวลาในการปฏิบัติ แต่ว่าเราก็มีตัวช่วย เช่นการที่เราปฏิบัติเต็มที่ ไม่มีการพูดคุยกัน ไม่ใช้โทรศัพท์ เพราะถ้าเราเกิดพูดคุยกัน ไถโทรศัพท์ ความคิดมันจะฟุ้งง่าย สติมันจะรู้ทันได้ช้า
เราก็มีวิธีการตัวช่วยทำให้ความคิดมันไม่รุนแรง แล้วขณะเดียวกันก็ระหว่างที่ใจไม่คิด ก็หางานให้จิตทำด้วยการมารู้กาย การรู้กายนี้สำคัญ รู้ว่ากำลังเดินอยู่ รู้ว่ากำลังยกมือ อันนี้เรารู้กายหรือรู้สึกว่ากายเคลื่อนไหว ซึ่งก็เป็นการหางานให้จิตทำ เพราะถ้าไม่หางานให้จิตทำ จิตมันก็จะเพ่นพ่าน แล้วมันก็จะฟุ้งมากเลย
แม้เราจะไม่ห้ามคิด แต่เราก็ไม่ส่งเสริมให้มันคิดจนฟุ้ง เราก็เลยมีตัวช่วยด้วยการหางานให้จิตทำ ด้วยการให้จิตนี้มาอยู่กับกาย มารับรู้การเคลื่อนไหว ซึ่งถ้าทำได้บ่อยๆ ทำได้บ่อยๆ สติมันจะมีความสามารถในการรู้ทันความคิดและอารมณ์ได้เร็วขึ้น เป็นตัวช่วย แต่ว่าเราจะมาเร่งมันไม่ได้ เราไม่สามารถจะเร่งมันได้ นอกจากเราจะทำบ่อยๆ ทำเยอะๆ สติมันจึงจะไว แล้วก็จะรู้ทันความคิดได้เร็ว
พอรู้ทันความคิดได้เร็ว การปล่อยการวางความคิดและอารมณ์ก็จะเกิดขึ้นได้ง่าย แล้วเราก็จะไม่ตกเป็นเหยื่อ เป็นทาสของความคิด ที่มันคอยเอาความทุกข์มาให้เรา มันเป็นวิธีการฝึกจิตให้มีคุณภาพ ให้เป็นมิตรกับเรา แทนที่จะเป็นศัตรูกับเรา มันเป็นขั้นตอนสำคัญในการทำให้เรารักตัวเองอย่างแท้จริง แทนที่จะรักตัวกูหรือว่ารักกิเลส จนถูกกิเลสมอมเมาหลอกให้หลง แล้วก็สร้างความทุกข์.