พระอาจารย์ไพศาล วิสาโล วัดป่าสุคะโต แสดงธรรมก่อนฉันเช้าวันที่ 31 ตุลาคม 2567
ช่วงนี้หลายวัดทอดกฐินเสร็จแล้ว สิ่งที่ตามมาคือพระบางรูปก็เดินทางจาริกธุดงค์ แต่มีหลายรูปที่สึกหาลาเพศ เพราะว่าบวชได้เท่านี้
มีเรื่องเล่าว่า สมัยที่หลวงปู่ดู่ยังมีชีวิตอยู่ มีพระรูปหนึ่งมาบวชที่วัดสะแกของหลวงปู่ดู่ พอครบกำหนดก็ลาสิกขา แต่ก่อนที่จะลาสิกขาก็มาหาหลวงปู่ดู่ ขอให้ท่านพรมน้ำมนต์ให้ ท่านก็ไม่ขัดข้อง
ระหว่างที่พรมน้ำมนต์ พระรูปนั้นพนมมืออธิษฐาน ขอให้ร่ำรวยมหาศาล มีลาภมีผลพูนทวี มีกินมีใช้ไม่รู้หมด จะได้แบ่งไปทำบุญเยอะ ๆ พอหลวงปู่ดู่พรมน้ำมนต์เสร็จ พระรูปนี้ก็เงยหน้าขึ้นมาเห็นหลวงปู่ดู่จ้องหน้า
หลวงปู่ดู่ก็บอกว่า “ที่ท่านคิดน่ะมันต่ำ คิดให้มันสูงไว้ไม่ดีหรือ แล้วเรื่องที่ท่านคิดน่ะจะตามมาทีหลัง”
พระรูปนั้นงงเลยว่าหลวงปู่ดู่รู้ความคิดของเขาได้อย่างไร และไม่ใช่เฉพาะพระรูปนั้นเท่านั้นที่สงสัยหรือทึ่ง คนที่ได้ฟังเรื่องราวนี้ก็ทึ่งด้วยเหมือนกันว่าหลวงปู่รู้ความคิดของพระรูปนั้นได้อย่างไร
แต่ที่สำคัญกว่าคือคําพูดของท่านที่ท่านบอกว่า “ที่ท่านคิดน่ะมันต่ำ คิดให้มันสูงไว้ไม่ดีหรือ” ที่ว่า คิดต่ำ คืออะไร ขอให้ร่ำรวย มีลาภมีผลพูนทวี กินมีใช้ไม่รู้หมด อันนี้ถือว่าเป็นความคิดที่ต่ำ
ต่ำ ในที่นี้หมายความว่า หวังต่ำไป เพราะว่ามีสิ่งที่ดีกว่านั้น สูงกว่านั้น ซึ่งหมายความว่าจะให้ความสุขแก่เราได้ดีกว่าความร่ำรวยมั่งมี เช่นอะไรบ้าง มีสุขภาพดี ไม่เจ็บไม่ป่วย การงานราบรื่น ครอบครัวอบอุ่น คนที่รักอยู่กันพร้อมหน้าไปนาน ๆ ไม่ใช่ลูกตายก่อนพ่อ หรือว่าหลานตายก่อนลูก เจอความพลัดพรากสูญเสีย แบบนี้เงินทองมากมายไม่ได้ช่วยเท่าไร
หรือสูงกว่านั้นคือ การพ้นทุกข์ คือ นิพพาน แต่แม้จะยังไปไม่ถึงความพ้นทุกข์ คือ นิพพาน แต่อย่างน้อยให้รู้ว่ามีอะไรที่ดีกว่าความร่ำรวย ความมั่งมี
พูดอย่างนี้ไม่ได้หมายความว่าพุทธศาสนาปฏิเสธความร่ำรวย ที่จริงมีธรรมะหลายข้อที่ช่วยให้ผู้ปฏิบัติมีความร่ำรวย เช่น ธรรมะสำหรับพ่อค้าแม่ค้าว่า ทำค้าขายอย่างไรจะรวย จะประสบความสำเร็จ หรือว่าใช้ทรัพย์อย่างไรจึงจะมีความมั่งมี
พุทธศาสนาไม่ได้ปฏิเสธความร่ำรวย แต่ไม่ได้มองว่าความร่ำรวยเป็นจุดมุ่งหมายของชีวิต ความร่ำรวยเป็นแค่ผลพลอยได้ ผลพลอยได้ของความขยันขันแข็ง เก็บหอมรอมริบ ถ้ารู้จักขยันขันแข็ง รู้จักทำมาหากิน เก็บหอมรอมริบก็จะรวย จะเรียกว่ารวยเองก็ได้
ที่จริงการอยากรวยไม่ใช่เป็นสิ่งเสียหาย แต่ว่าในแง่พุทธศาสนา อยากรวยต้องรวยแบบมีเงื่อน คือว่าหาทรัพย์ด้วยความขยันหมั่นเพียร หาทรัพย์ด้วยความชอบธรรม ไม่ใช่ไปลักขโมย หรือไม่ใช่ไปค้ายา หรือเล่นการพนัน นี่เรียกว่ารู้จักหาทรัพย์ด้วยวิธีการที่ชอบทำ
ได้ทรัพย์มาแล้วต้องใช้ทรัพย์อย่างถูกต้อง คือเลี้ยงตัวให้มีความสุข ไม่ใช่อยู่อย่างกระเหม็ดกระแหม่ เลี้ยงตัวให้มีความสุขไม่ใช่ว่าใช้ทรัพย์อย่างฟุ่มเฟือย ต้องรู้จักแบ่งปันให้คนอื่นบ้าง เลี้ยงครอบครัวให้มีความสุข เลี้ยงบริษัทบริวารให้เขามีความสุข และใช้ในการทำความดีด้วย นี่เรียกว่าใช้ทรัพย์อย่างถูกต้อง
พูดง่าย ๆ คือว่า ถ้ารวยก็รวยแบบมีเงื่อนไขคือ เป็นความร่ำรวยที่ประกอบไปด้วยธรรม หาทรัพย์มาด้วยวิธีการที่ชอบธรรม ใช้ทรัพย์อย่างถูกต้อง ไม่ให้เกิดโทษ แต่เกิดประโยชน์ทั้งแก่ตัวเอง และแก่ผู้อื่น และที่สำคัญอีกข้อหนึ่งคือ รู้จักวางใจให้ถูกต้อง คือไม่หลงติด ไม่สยบมัวเมา ไม่หมกมุ่นในทรัพย์ หรือว่าหมกมุ่นกับการใช้ทรัพย์เพื่อปรนเปรอตน นี่คือสิ่งที่คนมักจะมองข้ามไป
ความร่ำรวยไม่ใช่เรื่องเสียหาย แต่ว่าต้องประกอบไปด้วยธรรม ทั้งในแง่ของการหาทรัพย์ การใช้ทรัพย์ และท่าทีในใจ ซึ่งตรงนี้ถ้าหากว่ามีธรรมะมาประกอบแล้ว ทรัพย์ที่เกิดขึ้น ที่ทำให้เกิดความร่ำรวย จะเกิดประโยชน์ทั้งแก่ตัวเองและแก่ผู้อื่น
หน้าที่ของพระคือ ไม่ใช่แค่อวยพรให้ญาติโยมร่ำรวย หรือไม่ใช่แค่ส่งเสริมให้ญาติโยมมีความร่ำรวย ยิ่งร่ำรวยแบบปัจจุบันทันด่วนยิ่งไม่ถูกต้อง เพราะว่ามักจะเกิดขึ้นด้วยวิธีการที่ไม่ชอบธรรม หรือว่าเกิดโทษกับผู้ที่ได้รับ
ถ้าสอนญาติโยมให้ร่ำรวยต้องย้ำว่า ความร่ำรวยไม่ใช่จุดหมายของชีวิต เป็นแค่ผลพลอยได้ของการทำงานขยันขันแข็ง ของการเก็บหอมรอมริบ และที่สำคัญคือว่า ความร่ำรวยนั้นต้องประกอบไปด้วยธรรม
จะอวยพรให้ญาติโยมร่ำรวยต้องย้ำว่า ต้องหาทรัพย์ด้วยความชอบธรรม แล้วใช้ทรัพย์อย่างถูกต้องที่สำคัญคือว่าอย่าไปหลงมัวเมาในทรัพย์นั้น หรือว่าหมกมุ่นกับการใช้ทรัพย์เพื่อปรนเปรอตน
อันนี้เป็นธรรมะที่พระพุทธเจ้าสอนในหมวดธรรมที่ชื่อว่า กามโภคี มี 10 ข้อ ซึ่งส่วนใหญ่ญาติโยมเขาไม่ค่อยรู้ เพราะว่าพระบางทีไม่ค่อยได้สอน เพราะไปเน้นแต่ว่าให้รวย ๆ ๆ
แต่ที่จริงแล้วมีอะไรที่ดีกว่าความร่ำรวย อย่างที่หลวงปู่ดู่ท่านเตือนพระรูปนั้น และที่จริงถ้าจะร่ำรวยต้องร่ำรวยถูกต้อง ต้องประกอบไปด้วยธรรม เป็นการร่ำรวยแบบมีเงื่อนไข ถ้าสอนแบบนี้จะสอดคล้องกับคําสอนของพระพุทธเจ้า และจะเกิดประโยชน์แก่ทุกคนที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าผู้ที่ปรารถนาความร่ำรวย หรือว่าผู้ที่เกี่ยวข้องกับบุคคลนั้น ๆ จะว่าไปแล้ว สุดท้ายก็จะเกิดประโยชน์กับส่วนรวม
พระพุทธเจ้าตรัสว่า คนที่ร่ำรวยหรือเศรษฐีที่ประกอบไปด้วยธรรม เหมือนกับน้ำในสระที่มีคนมาใช้สอยได้ประโยชน์ ไม่ใช่น้ำในป่าที่ไม่เกิดประโยชน์กับใครเลย แต่ที่จริงน้ำในป่าก็ยังมีประโยชน์กับสิงสาราสัตว์ นกก็ดี ช้างก็ดี หนูก็ดี เสือ วัวได้ใช้ประโยชน์ เพราะว่าใคร ๆ ก็ต้องการน้ำไว้ใช้สอย
เพราะฉะนั้น เวลาพูดความร่ำรวยซึ่งเป็นสิ่งที่หลายคนปรารถนา ควรจะเตือนใจว่ามันไม่ใช่จุดหมายของชีวิต และถ้าจะให้ดีต้องประกอบไปด้วยธรรม ไม่ว่าจะเป็นการหาทรัพย์ การใช้ทรัพย์
และที่สำคัญคือ ไม่หลงติด ไม่มัวเมา ไม่สยบในทรัพย์ หมายความว่า เสียหายไปก็ไม่ทุกข์ ใครมายืมเงินไปแล้วไม่คืนก็ไม่เสียใจ สามารถจะรักษาใจให้ปกติได้ แม้กระทั่งเจอพวกแก๊งมิจฉาชีพมาหลอกเอาเงินไปก็ไม่เสียใจ เพียงแต่รู้สึกว่าเสียโอกาสที่จะไม่ได้ทรัพย์นั้นในการทำความดีเท่านั้นเอง
อันนี้เรียกว่าไม่หลงติด ไม่สยบมัวเมาในทรัพย์ ซึ่งทำได้ยาก แต่ถ้าทำได้แล้วชีวิตนี้จะมีจิตเป็นอิสระอยู่เหนือทรัพย์เลยทีเดียว.