พระอาจารย์ไพศาล วิสาโล วัดป่าสุคะโต แสดงธรรมก่อนฉันเช้าวันที่ 29 ตุลาคม 2567
ชีวิตของคนเรานอกจากกิน นอน ทำงาน แล้วยังต้องเกี่ยวข้องสัมพันธ์กับผู้คนทั้งใกล้และไกล ถ้าเรามีความสัมพันธ์ที่ราบรื่นกับผู้คน ชีวิตนี้ก็มีความสุขได้ง่าย แต่ถ้าเรามีปัญหาความสัมพันธ์กับผู้อื่น แล้วก็เกิดความเดือดเนื้อร้อนใจ เกิดความทุกข์ แล้วก็เกิดความขัดแย้ง
เวลาพูดถึงความสัมพันธ์ มันก็ต้องอาศัยการติดต่อสื่อสาร แต่เวลาพูดถึงการติดต่อสื่อสารเราก็มักจะนึกถึงการพูดอย่างเดียว หรือการเขียน แต่จริงๆ แล้วการฟังก็สำคัญ
มันมีหลายแห่งที่เขาฝึกพูด อย่างอาตมาตอนเด็กๆ ตอนเป็นนักเรียนมัธยมก็เคยไปรับการอบรมเรื่องการฝึกพูดในที่ชุมชน แต่ที่จริงแล้วการฟังก็สำคัญ เราไปเน้นแต่เรื่องการพูด ไม่ค่อยให้ความสำคัญกับเรื่องการฟัง ทั้ง ๆ ที่การฟังก็มีความสำคัญต่อความสัมพันธ์ ถ้าฟังไม่ถูก ฟังไม่เป็น ก็เกิดความเข้าใจผิด แล้วก็นำไปสู่ความขัดแย้ง
เคยมีหมอคนหนึ่ง แกไปอบรมเรื่องการแก้ไขความขัดแย้งในโรงพยาบาล โรงพยาบาลมีคนที่ขัดแย้งกันเยอะ วันที่อบรมก็ไม่ได้มีแค่บรรยาย แต่ว่ามีการสาธิต ไม่ใช่เอาตัวเองไปสาธิต แต่ว่าดึงมาจากผู้รับการอบรมด้วยกัน ก็ถามว่าผู้ที่มาร่วมอบรมว่ามีใครที่ขัดแย้งกันบ้าง
ก็มีอยู่คู่หนึ่ง เป็นหมอฟันกับผู้ช่วยหมอฟัน วิทยากรจึงเชิญสองคนนี้ขึ้นมากลางวง แล้วก็ให้ทำกิจกรรมอย่างหนึ่ง คือให้แต่ละคนพูดถึงความไม่พอใจที่มีต่ออีกฝ่ายหนึ่ง แต่ว่าพูดทีละคน ระหว่างที่พูดอีกฝ่ายก็ฟัง ฟังโดยที่ไม่โต้แย้ง ไม่ขัดจังหวะ
วิทยากรก็ให้พูดกันคนละ 5 นาที พูดอะไรก็ได้ที่อยากจะบอกอีกฝ่ายหนึ่งว่าไม่พอใจเรื่องอะไร อีกฝ่ายหนึ่งก็ฟัง ฟังอย่างเดียว พอผู้พูดพูดจบ ผู้ฟังก็สรุปว่าเมื่อกี้ได้ยินมาว่ายังไงบ้าง ให้เวลาสรุปหรือว่าเล่าซ้ำ 3 นาที
ทีแรกก็ให้ผู้ช่วยหมอฟันพูดก่อน ผู้ช่วยหมอฟันคนนี้ก็เล่า ระบายเลยว่าไม่พอใจหมอฟันอย่างไรบ้าง จนครบ 5 นาที จากนั้นก็ถึงคราวของหมอฟันซึ่งเป็นผู้ฟังก็ให้เล่ามาว่า ได้ยินมาว่ายังไงบ้าง แกก็เล่าและสรุปได้ถูกต้อง ถูกต้องเพราะว่าพอเล่าเสร็จ ผู้พูดคือผู้ช่วยหมอฟันก็พยักหน้าว่าใช่
ที่หมอฟันพูดมาสรุปได้ถูกต้องแล้ว ทีนี้ก็สลับกัน คราวนี้ก็ถึงคราวของหมอฟันเป็นผู้พูดบ้าง ผู้ช่วยหมอฟันเป็นผู้ฟัง หมอฟันก็พูดครบ 5 นาทีว่า ไม่พอใจผู้ช่วยยังไงบ้าง คราวนี้ถึงคราวที่ผู้ช่วยจะสรุป ว่าได้ยินมาว่ายังไง หมอฟันพูดอะไรมาบ้าง ผู้ช่วยก็เล่ามาว่าได้ยินว่ายังไง
วิทยากรถามหมอฟันว่า ผู้ช่วยหมอฟันนี่พูดถูกต้องไหม แกส่ายหัวแล้วบอกไม่ใช่ อ้าวงั้นก็ให้ผู้ช่วยหมอฟันเล่าใหม่ พอพูดจบหมอฟันก็ยังส่ายหัวบอกว่ายังไม่ถูกนะ เมื่อกี้ที่ตัวเองพูดไม่ใช่อย่างงี้ คราวนี้ก็เลยให้หมอฟันพูดใหม่ เสร็จแล้วก็ให้ผู้ช่วยสรุป ตอนนี้สรุปได้ถูกต้องแล้ว เพราะหมอฟันพยักหน้าว่าใช่
คราวนี้วิทยากรก็สอบถามผู้ช่วยหมอฟันว่า หลังจากที่ได้ยินหมอฟันพูดมา ทำไมตัวเองสรุปไม่ถูกต้อง ต้องให้หมอฟันพูดถึง 3 ครั้ง ผู้ช่วยก็มานั่งคิดแล้วก็บอกว่า ที่สรุปไม่ถูกต้องเพราะว่า ตอนที่ฟังหมอฟันพูด ตัวเองคิดแต่จะโต้แย้ง คิดแต่จะเถียง ทั้งสองครั้งเลย ก็เลยสรุปไม่ถูก
แต่ครั้งที่ 3 ผู้ช่วยหมอฟันตั้งใจฟัง ในใจก็ไม่เถียง ไม่แย้ง ไม่หาข้อแก้ตัว ก็เลยสรุปได้ถูกต้อง เลยเข้าใจว่าหมอฟันไม่พอใจตัวเองเรื่องอะไร แล้วก็ยอมรับว่าที่หมอฟันพูดมานี้ก็มีส่วนจริง บางอย่างผมก็ทำไม่ค่อยถูกต้อง แล้วผู้ช่วยหมอฟันก็บอกว่าถ้าผมเป็นหมอฟัน ก็คงจะไม่พอใจสิ่งที่ผมได้ทำเหมือนกัน
คราวนี้ผู้ช่วยหมอฟันก็เริ่มเข้าใจหมอฟันแล้ว ว่าทำไมหมอฟันไม่พอใจผู้ช่วย เช่นเดียวกัน หมอฟันก็เริ่มเข้าใจผู้ช่วยมากขึ้นเช่นกัน การสาธิตชี้ให้เห็นว่า เวลาคนเราฟังใคร แม้ว่าเราจะอยู่ต่อหน้าเขา แต่ใจเราอาจจะไม่ได้ฟังจริงๆ ก็ได้ เพราะว่านึกเถียง นึกแย้ง คนเราส่วนใหญ่เป็นอย่างนี้ เวลาใครมาทักท้วงเรา เราก็มักจะไม่ได้ฟังด้วยใจเต็มร้อย ใจจะนึกแย้ง นึกเถียง สุดท้ายก็เลยไม่ได้เข้าใจผู้ที่พูดอย่างแท้จริง
ความขัดแย้งที่มันเกิดขึ้นหรือว่าลุกลามไป เพราะว่าต่างไม่ได้ฟังกันอย่างลึกซึ้ง สิ่งที่วิทยากรทำนั้นก็คือว่า สร้างเงื่อนไขเพื่อให้ผู้ฟังเขาฟังอย่างจริงจัง ฟังด้วยใจเต็มร้อย แต่ว่าผู้ฟังบางครั้งก็ไม่ได้ฟังด้วยใจเต็มร้อย เพราะว่าคิดถึงการโต้แย้ง หรือคิดเถียง
การฟังจริงๆ มันไม่ใช่เป็นเรื่องง่าย ไม่ใช่แค่อยู่ต่อหน้าเขาแล้วจะฟังรู้เรื่อง แล้วถ้ารู้จักฟัง 100 เปอร์เซ็นต์จะช่วยได้ ฟัง 100 เปอร์เซ็นต์ก็คือว่า ฟังเขาจริงๆ ไม่ใช่ฟังไปทำอย่างอื่นไปด้วย เดี๋ยวนี้บางทีเราก็ดูโทรศัพท์ไป หรือว่ากินข้าวไป เล่นไลน์ไป แล้วก็ฟังด้วย บางทีพ่อแม่ก็ฟังลูกแบบนี้แหละ ไม่ได้ฟังด้วยใจเต็มร้อย เพราะทำอย่างอื่นไปด้วย
หรือถึงไม่ได้ทำอย่างอื่น แต่ว่าใจก็คิดแย้ง คิดเถียง หรือวิพากษ์วิจารณ์ บางทีลูกไม่ทันพูดจบเลยก็ตัดบทแล้วก็สั่งสอนเลยทีเดียว เพราะฉะนั้นการฟัง 100% นั้นสำคัญ หมายความว่า นอกจากไม่ทำอย่างอื่น แต่ว่าฟังเขาเต็มที่ แล้วใจก็ต้องอยู่กับเขาด้วย ไม่ใช่คิดเรื่องอื่น
หรือถึงไม่ได้คิดเรื่องอื่น แต่ว่าคิดแต่จะแย้ง คิดแต่จะเถียงหรือบางทีก็พูดตัดบท ขัดจังหวะ แต่ถ้าเรารู้จักฟัง อยู่ต่อหน้าคนด้วยใจเต็มร้อย หรือว่าอยู่ต่อหน้าเขา 100 เปอร์เซ็นต์ มันก็ช่วยทำให้เข้าใจอีกฝ่ายได้ แล้วก็ทำให้ความสัมพันธ์ราบรื่นมากขึ้น เพราะว่ามีความเข้าใจผิดน้อยลง
การฟังจำเป็นมาก ไม่ว่าในครอบครัว พ่อแม่ลูก ในที่ทำงาน ในโรงเรียน ครูกับลูกศิษย์ หรือเพื่อนกับเพื่อน หรือเพื่อนร่วมงาน ถ้าเราไม่สามารถจะฟังด้วยใจเต็มร้อย หรืออยู่ต่อหน้าคนที่พูดร้อยเปอร์เซ็นต์ได้ ความเข้าใจผิดก็จะเกิดขึ้นได้ แล้วก็จะมีปัญหาตามมามากมาย
อันนี้ก็เป็นการปฏิบัติธรรมอย่างหนึ่งเพราะถ้าเราอยู่กับคนที่พูดต่อหน้าเราเต็มร้อย ก็ถือเป็นการเจริญสติ เพราะว่ามีความคิดอะไรก็ไม่เอามารบกวนการฟัง รวมทั้งไม่คิดแย้ง ไม่คิดเถียง ซึ่งก็ไม่ใช่เรื่องง่าย แต่มันก็เป็นการปฏิบัติธรรมอย่างหนึ่งที่มีประโยชน์กับทั้งเราผู้ฟังและผู้พูดด้วย