พระอาจารย์ไพศาล วิสาโล วัดป่าสุคะโต แสดงธรรมเย็นวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2567
มีคนจำนวนไม่น้อยมองว่าพุทธศาสนานี้แห้งแล้ง เหตุผลหนึ่งคือ พุทธศาสนาปฏิเสธเรื่องความรัก ที่จริงพุทธศาสนาไม่ได้ปฏิเสธ เพียงแต่ว่าพุทธศาสนามองว่ามีความรักอย่างอื่นที่ดีกว่าความรักที่ผู้คนโหยหา แสวงหา หรือว่าชื่นชม
ในทางพุทธศาสนาถือว่าความรักมี 2 ประเภท ประเภทแรก เป็นความรักที่ไม่ได้เอาตัวกูเป็นศูนย์กลาง เป็นความรักที่ไม่มีเงื่อนไข บางทีท่านก็เรียกว่า เมตตา เมตตาก็คือความปรารถนาดีต่อผู้อื่น คำนึงถึงความสุขของผู้อื่นเป็นสำคัญ ไม่ได้มุ่งที่จะเรียกร้องหรือคาดหวังการตอบแทน
ส่วนความรักอีกประเภทหนึ่งเรียกว่า สิเนหะหรือเสน่หา เป็นความรักที่มีตัวกูเป็นศูนย์กลาง เป็นความรักที่มุ่งปรนเปรอตน หรือว่าหาสิ่งต่างๆ มาบำเรอตน จึงเป็นความรักที่มีเงื่อนไข เช่น ต้องรักฉันตอบ! หรือต้องรักฉันคนเดียว! หรือว่าต้องพูดดีกับฉัน! พูดจาไพเราะกับฉัน! หรือว่าจะต้องเป็นไปอย่างที่ฉันปรารถนา ฉันต้องการ
แล้วก็ไม่ใช่เฉพาะความรักระหว่างหนุ่มสาว แต่ว่ารวมถึงความรักระหว่างพ่อแม่กับลูกด้วย คำว่าสิเนหะหรือเสน่หา มันก็คลุมไปถึงความรักที่อาจมีระหว่างพ่อแม่กับลูก
บางครั้งความรักที่พ่อแม่มีกับลูก มันไม่ใช่เมตตา มันไม่ได้เป็นไปโดยคำนึงถึงความสุขของลูก แต่ว่าอยากจะให้ลูกใช้ชีวิตตามแบบที่พ่อแม่ต้องการ อาจจะอ้างว่าเพื่อความสุขของลูก แต่ว่าลึกๆ มันก็เจือไปด้วยความคาดหวัง เรียกร้อง หรือไปถึงขั้นคาดคั้นให้ลูกใช้ชีวิตอย่างที่พ่อแม่ต้องการ เพื่อความพึงพอใจของพ่อแม่ก็ได้ แบบนี้ก็เรียกว่าเป็นความรักที่มีเงื่อนไข จัดว่าอยู่ในความรักประเภทที่ 2 ที่เรียกว่าสิเนหะ
พุทธศาสนาให้ความสำคัญกับความรักประเภทแรก เพราะว่านำมาซึ่งความสุขของทั้งสองฝ่าย ทั้งผู้ที่รัก แล้วก็ผู้ที่ถูกรักหรือผู้ที่ได้รับความเมตตา อย่างพระพุทธเจ้าเป็นผู้ที่เป็นแบบอย่างของความรักประเภทนี้ รักแบบไม่มีเงื่อนไข ไม่ใช่ว่าจะต้องทำดีตอบ แม้แต่จะคิดร้ายกับฉัน ฉันก็ยังรักยังปรารถนาดี
พระพุทธเจ้าตรัสว่า พระองค์ทรงมีเมตตาต่อพระเทวทัตเท่ากับทรงมีเมตตาต่อพระราหุล พระราหุลเป็นโอรสของพระพุทธเจ้า ส่วนพระเทวทัตนั้นตั้งตัวเป็นปฏิปักษ์ มุ่งร้ายหมายเอาชีวิตพระองค์ แต่พระองค์ก็ไม่มีความเกลียดชังเลย กลับมีความเมตตา หรือความรักอย่างเปี่ยมล้น อันนี้เป็นความรักแบบไม่มีเงื่อนไข ไม่ใช่ว่าต้องทำดีกับฉัน ฉันถึงจะรัก รักฉันคนเดียวฉันถึงจะรัก
ซึ่งต่างจากความรักประเภทที่ 2 ที่แสดงตัวชัดเจน อย่างเช่น ระหว่างคนหนุ่มสาว รักใครก็อยากจะให้คนนั้นเขารักตอบ หรือว่าจะรักเขาสุดหัวใจก็ต่อเมื่อเขารักฉันคนเดียว ถ้าเขาปันใจให้คนอื่น ความรักก็กลายเป็นความเกลียดหรือความโกรธทันทีเลย
หรือว่ารักใคร เขาก็ต้องพูดดีกับฉัน ทำดีกับฉัน เอาใจใส่ฉัน เทคแคร์ฉัน ถ้าไม่ทำอย่างงั้นก็เป็นต้องเกิดเรื่อง ต้องมีการด่าว่า หรือว่าถ้าฉันรักใคร คนนั้นก็ต้องเห็นว่าฉันเป็นคนสำคัญ จำวันเกิดฉันได้ ถ้าจำวันเกิดฉันไม่ได้ ไม่มีของขวัญมาให้ หรืออย่างวันนี้เป็นวันวาเลนไทน์ไม่มีดอกไม้มาให้ ไม่มีช็อคโกแลตมาให้ ก็เป็นเรื่อง อันนี้เป็นรักแบบมีเงื่อนไข เพราะว่ามันเป็นความรักที่มีตัวกูเป็นศูนย์กลาง เป็นความรักที่มุ่งปรนเปรอ หรือพะนออัตตา
คนเราส่วนใหญ่มีความยึดมั่นถือมั่นในอัตตาอยู่แล้ว แล้วถ้ามีใครมาพะนออัตตา มีใครมาปรนเปรออัตตา เช่น ให้ความสำคัญกับฉัน รักฉันคนเดียว ทำดีกับฉัน พูดดีกับฉัน จำวันเกิดฉันได้ ฉันก็จะรักเขา แต่ถ้าเกิดว่าไม่ทำอย่างนั้น ความรักก็จะเริ่มจืดจาง หรือว่าแปรผันกลายเป็นความโกรธ
นอกจากเป็นความรักที่มุ่งปรนเปรอตน พะนออัตตาแล้ว ยังเป็นความรักที่ทำให้เกิดความคิดที่จะตักตวงประโยชน์จากอีกฝ่ายหนึ่ง ซึ่งมันต่างจากความรักประเภทที่ 2 หรือเมตตา เมตตาก็มีแต่คิดจะให้ แม้จะเหนื่อย แม้จะลำบากก็ยินดี หากว่าอีกฝ่ายหนึ่งมีความสุข
แต่ว่าความรักแบบที่ 2 สิเนหะ เป็นความรักที่เจือไปด้วยกิเลสที่ชื่อว่าตัณหา เพราะฉะนั้นใครมีความรักแบบนี้ เขาก็คิดแต่จะหาประโยชน์หรือตักตวงประโยชน์จากอีกฝ่ายหนึ่ง เช่น ตักตวงความสุข โดยเฉพาะความสุขทางเพศ ก็พยายามที่จะตักตวงให้ได้มากที่สุดโดยที่ไม่สนใจอีกฝ่ายหนึ่ง ไม่ว่าจะเป็นการเรียกร้องให้เขามาปรนเปรอตน หรือพะนออัตตา ซึ่งเป็นการไปเสริมตัวมานะว่าฉันเป็นคนสำคัญ
ตัวตัณหา เป็นแรงผลักดันที่ทำให้เรียกร้อง หรือคิดแต่จะตักตวงประโยชน์จากอีกฝ่ายหนึ่งให้ได้มากที่สุด บางทีมีอะไรก็อยากจะเก็บไว้คนเดียว อย่างเช่นสามีภรรยาคู่หนึ่ง ทีแรกก็เกื้อกูลกันดี แต่พออยู่ไปนานๆ เวลาสามีซื้อทุเรียนมา ก็จะเก็บไว้กินคนเดียว ไม่ให้ภรรยารู้ เพราะภรรยาก็ชอบกินทุเรียน ฉันจะขอกินคนเดียว ขอสุขคนเดียว
แล้วไม่ใช่เฉพาะเรื่องการกินหาความเอร็ดอร่อยทางปาก แต่รวมถึงความสุขทางอื่นด้วย คิดแต่จะตักตวงความสุขจากอีกฝ่ายหนึ่ง ทำไปด้วยอำนาจของตัณหา
แค่ตัณหาและมานะนี้ก็พอแรงแล้ว ยังเจอทิฐิอีกคือ ต้องคิดเหมือนฉัน หรือว่าเห็นด้วยกับฉัน ถ้าไม่เห็นด้วยกับฉัน ก็เป็นเรื่อง! อันนี้มันก็เป็นความรักที่จะเรียกว่าคับแคบก็ได้ ต่างจากความรักประเภทแรกแบบเมตตา ซึ่งมันเปิดใจให้แผ่กว้าง
อย่างพระพุทธเจ้าทรงพุทธคุณ 2 ประการ 1 ใน 2 คือกรุณาคุณ กับอีกอันหนึ่งคือปัญญาคุณ พุทธคุณมีแค่ 2 คือ ปัญญาคุณและกรุณาคุณ ตอนหลังก็เพิ่มเป็น 3 คือวิสุทธิคุณ
กรุณา คือคุณธรรมที่สำคัญที่เราชาวพุทธควรจะมี เพราะถ้ามีแล้ว จะทำให้เกิดความรักแบบไม่มีเงื่อนไข มีคนถามว่า ในเมื่อพุทธศาสนามองว่าความรักประเภทที่ 2 เป็นความรักที่ไม่ประเสริฐเท่ากับความรักประเภทแรก แล้วถ้ามีความรักแบบที่ 2 คือสิเน่หานั้น จะบาปไหม หรือ มีความรักแบบนี้จะบาปไหม พูดให้เป็นรูปธรรมว่า รักแบบหนุ่มสาวจะบาปไหม ซึ่งเป็นความรักที่มีเรื่องของเพศ เรื่องของราคะเข้ามาเกี่ยวข้อง ถ้ามีแล้ว มันจะบาปไหม
มันไม่ใช่เรื่องบาป แต่ว่ามันเป็นเรื่องที่นำไปสู่ความทุกข์มากกว่า เพราะว่ามีความรักประเภทนี้แล้ว มันก็จะเกิดความทุกข์ได้ง่าย เรียกว่าเป็นความรักที่เจือไปด้วยทุกข์ เพราะว่ามันเต็มไปด้วยความคาดหวัง คาดหวังว่าเขาจะปรนเปรอฉัน คาดหวังว่าเขาจะให้ความสำคัญกับฉัน คาดว่าเขาจะรักฉันคนเดียว หรือคาดหวังความสุขจากเขา
พอเขาไม่เป็นไปอย่างที่ตัวเองต้องการ ก็เกิดความทุกข์ขึ้นมา เกิดความผิดหวัง แล้วก็กลายเป็นความคับแค้น และเป็นความรักที่เปราะบางด้วย เปราะบางในแง่ที่ว่า มันเบื่อหรือจืดจางได้เร็ว เพราะความรักประเภทนี้มันปะปนกับสิ่งที่เรียกว่าความใคร่ เพราะฉะนั้นความพึงพอใจหรือความสุขที่ได้จากความรักชนิดนี้ก็เลยเป็นของชั่วคราว
เหมือนกับเรากินอาหาร อร่อยยังไงกินไปนานๆ กินทุกมื้อๆ มันก็เบื่อ มันให้ความสุขได้เร็ว แต่มันก็จืดจางไว เพลงที่ไพเราะฟังไม่ถึงนาทีไม่ถึง 3 นาทีก็จะรู้สึกผ่อนคลาย แต่ถ้าฟังบ่อยๆ มันก็เบื่อ ความรักแบบนี้ก็เหมือนกัน มันให้ความสุขก็จริง แต่เป็นความสุขที่เจือไปด้วยทุกข์ เป็นความสุขที่แม้จะเกิดขึ้นไว แต่ก็จืดจางได้เร็ว
แล้วมันไม่ใช่แค่ตัวความรักหรือความสุขที่เกิดจากความรักชนิดนี้เท่านั้น แม้กระทั่งคนที่เรารักก็ตกอยู่ภายใต้ความไม่เที่ยง จะแปรเป็นอื่น แปรเป็นอื่นในที่นี้อาจจะปันใจไปให้คนอื่น หรือว่าอาจจะไม่สวยไม่หล่อเหมือนเดิม ตอนคบกันใหม่ๆ รักกันใหม่ๆ ความรักหวานชื่น เพราะแต่ละคนก็ยังหนุ่มยังสาว พออยู่ไปนานๆ เริ่มแก่ เริ่มชรา ผิวเริ่มเหี่ยว ผิวหนังหย่อนยาน ความรักก็เริ่มจืดจาง เพราะมันเป็นความใคร่ เพราะมันมุ่งหาความสุขมาปรนเปรอตน แต่ความสุขที่เกิดจากร่างกายที่แปรเปลี่ยน ที่แก่หรือชรา มันก็ทำให้ไม่สามารถสุขได้เต็มที่
ยังไม่ต้องพูดถึงว่า เขามีอันเป็นไป ล้มหายตายจากไป ยิ่งทุกข์เข้าไปใหญ่เลย ยิ่งรักมากเท่าไร พอจากไปก็ยิ่งโศก ยิ่งเศร้า เป็นความรักที่เจือไปด้วยทุกข์มาก เพราะว่ามันเป็นความรักที่เปราะบาง แล้วแถมยังเป็นความรักที่แปรผันได้ง่ายคือ สามารถจะเปลี่ยนจากรักให้กลายเป็นโกรธ หรือเกลียดได้ เวลารักใครก็ยังรักเขาอย่างดูดดื่มถ้าเกิดว่าเขาปรนเปรออัตตาของเรา พะนออัตตาของเรา เห็นเราเป็นคนสำคัญในชีวิตของเขา
แต่พอเขาทิ้งเราไปหรือพอเขาหันไปหาคนใหม่ ความรักมันกลายเป็นความโกรธความเกลียดทันทีเลย ถึงกับฆ่ากันได้ ถึงกับทำร้ายกันได้ อันนี้เรียกว่าเป็นความรักที่ทั้งเปราะบางและแปรผันได้ง่าย เพราะฉะนั้นมันก็นำไปสู่การเบียดเบียน อาจจะเบียดเบียนด้วยการเรียกร้อง คาดหวัง กดดัน แล้วก็เลยกลายเป็นการคาดคั้น
แม้กระทั่งคนที่เป็นลูกก็รู้สึกเป็นทุกข์ เพราะความรักแบบนี้จากพ่อแม่ พ่อแม่คาดหวังจากลูก ทั้งกดดันทั้งคาดคั้นให้ใช้ชีวิตในแบบของในแบบที่พ่อแม่ต้องการ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการเรียน การมีคู่ครอง การมีอาชีพ หรือแม้กระทั่งการมีความคิดความเห็น แต่พอลูกไม่เป็นไปอย่างที่พ่อแม่ปรารถนา อย่างที่พ่อแม่เรียกร้องคาดคั้น ก็เกิดการทะเลาะเบาะแว้งกัน ถึงขั้นวิวาท แล้วก็ตัดพ่อตัดลูกหรือตัดแม่ตัดลูกกัน มันนำไปสู่การครอบงำ การเบียดเบียนกัน หรือยิ่งกว่านั้นก็คือ การทำร้าย
การทำร้ายด้วยความโกรธ ด้วยความเกลียด อาจจะเอาถึงตายเลย หรือมิฉะนั้นก็ใช้กำลัง สำหรับคนที่รู้สึกผิดหวัง เขาไม่รักฉัน เพราะฉะนั้นฉันก็ใช้กำลังกับเขาเสียเลย เรียกว่าเกิดการชำเรา เกิดการคุกคามกัน อันนี้เกิดขึ้นบ่อย มันก็เรียกว่าเป็นความรักที่นำไปสู่การเบียดเบียน หรือการทำบาปได้เหมือนกัน
ถึงแม้ว่าตัวมันเองความรักแบบนี้มันไม่ใช่บาป แต่มันเจือไปด้วยทุกข์ แต่สุดท้ายก็นำไปสู่การทำบาปได้เหมือนกัน อย่างน้อยก็มีการล่อลวง มีการโกหก มีการใส่ร้าย เกิดมีคู่แข่งก็ต้องใส่ร้ายคู่แข่ง ทำให้อีกฝ่ายหนึ่งเกิดปันใจมาให้เราแทน ใช้อุบายต่างๆ ก็เพราะความรักประเภทนี้ มันจึงเป็นความรักที่เจือไปด้วยทุกข์ แล้วก็นำไปสู่การเบียดเบียนกัน ซึ่งต่างจากเมตตา
เมตตา เป็นความรักที่ทำให้เกิดความสุขแก่ทั้งสองฝ่าย ผู้ที่มีเมตตาต่ออีกฝ่ายหนึ่ง ช่วยเหลือเขา เห็นเขาเดือดร้อนก็ช่วยเหลือเขา เห็นเขาหิวโหยก็หาอาหารมาให้ แม้ว่าจะไม่ใช่เป็นคนที่รู้จักมักคุ้นกัน พอทำดีเอื้อเฟื้อกับเขา เราก็มีความสุขอีกฝ่ายก็มีความสุข
ยิ่งถ้ามีอุเบกขาด้วย ถึงเวลาช่วยเหลือเขาแล้ว แต่ว่าเขายังไม่พ้นจากทุกข์ เราก็ไม่ได้ทุกข์อะไร เพราะว่ารู้ดีว่า มันไม่ได้อยู่ในอำนาจของเรา อย่างนี้เรียกว่าเรามีอุเบกขา ซึ่งก็เป็นธรรมที่มาช่วยกำกับเมตตาให้เป็นไปในทางที่ประเสริฐ แล้วก็นำมาซึ่งความสุข
เพราะฉะนั้นเวลาพูดถึงความรัก ก็ให้เราตระหนักว่า มันไม่ใช่มีแค่ความรักที่มุ่งหมายจะครอบครอง หรือเรียกร้องให้เขามาปรนเปรอ พะนออัตตาของเรา หรือความรักที่มุ่งจะหาประโยชน์ หรือตักตวงความสุขจากเขาเท่านั้น ยังมีความรักอีกประเภทหนึ่งที่ดีกว่าประเสริฐกว่า ซึ่งทำให้เกิดภาวะจิตใจที่เป็นกุศล
อย่างไรก็ตามคนเราโดยพื้นฐานมันก็ย่อมมีความยึดมั่นในตัวกู ย่อมต้องมีกิเลสมีตัณหา เพราะฉะนั้นความรักประเภทที่ 2 มันก็เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นทั่วไป จนกลายเป็นเรื่องสามัญ
อย่างเช่นว่าเมื่อมีแล้ว ทำยังไงถึงจะไม่ก่อให้เกิดโทษทั้งสองฝ่าย ก็ต้องมีธรรมะมากำกับ มีธรรมะกำกับความรักประเภทที่ 2 ธรรมะที่เราคุ้นเคยกันดีคือ ฆราวาสธรรม ก็คือสัจจะ ความจริงใจความซื่อสัตย์ซื่อตรง มีทมะ บางทีท่านก็แปลว่าความข่มใจที่ไม่ใช่ หมายถึงการฝึกใจ
มีขันติ อันนี้สำคัญ เพราะว่าพอเจออะไรที่ไม่ถูกใจอาจจะเกิดความโกรธ แต่ถ้ามีขันติแล้ว มันก็เกิดการยับยั้งช่างใจ ไม่พูดไม่ทำอะไรไปด้วยอำนาจของความโกรธ ด้วยความอิจฉา ด้วยความหึงหวง หรือด้วยความผิดหวัง
และมีปัญญา ปัญญานี้ก็สำคัญมาก ปัญญาที่เข้าใจความจริงของชีวิต เข้าใจว่าไม่มีอะไรที่เราจะไปยึดไปครองว่าเป็นของเราได้ แม้เราจะเรียกว่าคู่ครอง แต่เขาก็ไม่ได้อยู่ในครอบครองของเรา และที่สำคัญก็คือว่า สักวันหนึ่งเขาก็ต้องล้มหายตายจากไป เพราะฉะนั้นแม้จะรักเขายังไงแต่ว่าก็ไม่ได้ลุ่มหลง หรือว่าไปยึดมั่นถือมั่น จนกระทั่งพอถึงวันที่เขาจากไปก็เศร้าโศกเสียใจคร่ำครวญ ตีโพยตีพาย อันนั้นไม่ใช่
ธรรมะ มันช่วยกำกับให้ความรักที่เรียกว่าสิเนหะ เกิดโทษน้อย เป็นประโยชน์หรือเกิดคุณมาก ถ้าจะให้ดีก็ต้องเปลี่ยนสิเนหะหรือสเน่หานี้ให้กลายเป็นเมตตาให้ได้ ซึ่งก็หมายความว่า ต้องปลูกเมตตาให้เกิดขึ้นในใจเรา มนุษย์ทุกคนมีเมตตาอยู่แล้ว เมตตาคือความปรารถนาดี เราเห็นใครที่เขาเดือดร้อนเราก็สงสาร อยากให้เขาพ้นทุกข์อันนี้เรียกกรุณา
เราทุกคนก็มีเมตตาและกรุณาอยู่แล้ว ถ้าเราปลุกกระตุ้นเมตตาให้เกิดขึ้นกับคนที่เรารัก เมตตานี้ต่อไปก็จะเข้าไปแทนสิเนหะ แทนที่จะมีเสน่หาเต็มร้อย พอเราปลูกเมตตาเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ มันก็เข้าไปปะปน เข้าไปสลายความรักประเภทที่ 2 ที่มันเป็นความรักแบบเห็นแก่ตัว ให้กลายเป็นความรักที่เห็นแก่ผู้อื่นได้
ยิ่งถ้าเรามีสติด้วยยิ่งช่วยใหญ่ เพราะว่าพอมีสติเราก็จะเห็นว่า เวลาเราเรียกร้องคนที่เรารัก ไม่ว่าจะเป็นลูก เป็นคู่ครอง เราเรียกร้องด้วยอะไร ด้วยความปรารถนาดีจริงๆ หรือเพราะอยากจะให้เขาเป็นอย่างที่เราต้องการ อยากจะให้เขาเป็นดั่งใจเรา เราเรียกร้องเพื่อประโยชน์ของเรา หรือเราทำเพื่อประโยชน์ของเขา บางทีถ้าไม่มีสติก็ไม่รู้
แม้กระทั่งพ่อแม่ที่บอกว่า ทำเพื่อลูกๆ จริงๆ ทำเพื่อตัวเองหรือเปล่า เพราะว่าไปเรียกร้อง ไปคาดหวังให้เขาสนองความใฝ่ฝันของพ่อแม่ก็มี หรือว่าอยากให้เขาเป็นหน้าเป็นตาของพ่อแม่ มันก็มี หรือว่าอยากจะให้เขาทำตามใจเรา
ถ้าเรามีสติ มันก็จะเห็นว่า เรากำลังทำด้วยอำนาจของอัตตา อำนาจของมานะ หรือทำด้วยแรงผลักของตัณหา มันก็ทำให้การที่จะไปบังคับควบคุมให้เขาเป็นไปดั่งใจเรามันก็จะน้อยลง พูดง่ายๆ คือว่าทำให้กิเลสครองใจเราน้อยลง เราก็จะมีความเมตตา ความเห็นแก่ประโยชน์ของเขาเป็นสำคัญ
แต่ถ้าเรามีเมตตา มีสติมันก็ช่วยทำให้กำลังของสิเนหะ หรือว่าอำนาจของมาแล้วก็ตัณหามันบรรเทาเบาบาง และเปิดช่องให้กุศลธรรมในใจเราเจริญงอกงามมากขึ้น ยิ่งถ้าเรามีปัญญาด้วยแล้ว มันช่วยมากเลย ปัญญาทำให้เราตระหนักว่าไม่มีอะไรที่เป็นของเราแม้กระทั่งลูกของเรา ผัวของเรา เมียของเรา ที่จริงก็ไม่ใช่ของเราเลย เขาไม่อยู่ในอำนาจที่เราจะควบคุมบังคับบัญชาได้
แล้วสุดท้ายเขาก็จะต้องล้มหายตายจากไป จะรักใครก็ต้องรู้ว่า คนที่เรารักมันไม่เที่ยง แม้จะเป็นครูบาอาจารย์ แม้จะเป็นพระสงฆ์องคเจ้าที่เราศรัทธานับถือก็ไม่เที่ยงทั้งนั้น ระลึกถึงตรงนี้เอาไว้เสมอ ถึงเวลาที่เกิดความพลัดพรากสูญเสียก็จะได้ไม่เศร้าโศก เหมือนกับที่พระพุทธเจ้าตรัสกับนางวิสาขารักร้อยก็ทุกข์ร้อย รักสิบก็ทุกข์สิบ
คำว่ารักในที่นี้ พระพุทธเจ้าก็หมายถึงการรักแบบประเภทที่สอง แต่ถ้าเกิดว่ายังสลัดความรักประเภทที่สองไม่ได้ก็ต้องมีปัญญาเตือนใจอยู่เสมอว่า อนิจจังทุกขังอนัตตามันคือสัจธรรมที่เราหนีไม่พ้น แล้วคนที่เรารักหรือแม้กระทั่งตัวความรักเองก็ตกอยู่ภายใต้ความไม่เที่ยง
และจะให้ดีถ้าหากว่ามีปัญญาแยกแยะได้ ระหว่างความรักกับความใคร่ หลายคนแยกไม่ออก ไปเข้าใจความรู้สึกที่มีว่า คือความรัก โดยหารู้ไม่ว่า มันคือความใคร่ พอแยกไม่ออก เกิดมีความใคร่กับใคร ก็ไปหลงเข้าใจว่าเป็นความรัก บอก “ฉันจะอยู่กับเขาไปจนตาย” ฉันจะอยู่กับเขา ใช้ชีวิตร่วมกับเขา ขาดเขาไม่ได้ ขาดเธอไม่ได้ เพราะรักนี้เป็นรักทีเดียว รักแท้ในชีวิตของฉัน ทั้งที่มันอาจจะเป็นความใคร่ด้วยซ้ำ
พอตกร่องปล่องชิ้นไปแล้ว อยู่กันได้ไม่ถึง 3 เดือนก็เริ่มเตียงหัก เลิกราจากกัน เพราะว่าไม่สมปรารถนา เพราะว่าความใคร่มันจืดจาง หรือเพราะว่าไม่สามารถจะตักตวงความสุขได้อย่างที่ต้องการ หรือถึงได้มามันจืดจางเร็ว ก็เลยเลิกกัน แบบนี้เป็นเพราะความใคร่ไม่ใช่เพราะความรัก
ซึ่งคนหนุ่มสาวแยกไม่ออก แต่ถ้าแยกออก และจำเป็นต้องแยกให้ออกด้วย มันก็จะรู้ว่าถ้าเป็นความใคร่ก็จะไม่ไปหลงเคลิ้มคล้อยไปกับมันมาก แม้จะรักใครด้วยอำนาจความใคร่ ก็จะไม่ทุ่มไปสุดตัว เพราะว่าถ้าทุ่มไปสุดตัวแล้ว ถึงเวลาที่มันจืดจางไป ของตัวเองอาจจะไม่จืดจาง แต่ของคนอื่นจืดจางไป ก็ทำใจไม่ได้ เสียอกเสียใจผิดหวังฆ่าตัวตาย อันนี้ก็มีเยอะ
เพราะว่าไม่เข้าใจ ไม่แยกแยะระหว่างความรักกับความใคร่ และไม่ตระหนักว่ามันเป็นของไม่เที่ยงเลย โดยเฉพาะความใคร่มันจืดจางได้เร็วมาก ในขณะที่ความเมตตามันยั่งยืนกว่า โดยเฉพาะถ้าไม่มีตัวกูเป็นศูนย์กลาง หรือไม่ได้เอาตัวกูเป็นศูนย์กลางแล้ว มันจะยั่งยืนกว่า เพราะมันเป็นความรักที่ไม่มีเงื่อนไข หรือไม่เรียกร้องเงื่อนไขจากอีกฝ่าย
ให้เรารู้จักความรักประเภทแรกให้เยอะๆ แล้วก็เห็นโทษของความรักประเภทที่สองว่า แม้มันจะทำให้ชีวิตนี้มีรสมีชาติหวานชื่น แต่ว่ามันก็สามารถจะกลายเป็นความขื่นขมได้อย่างรวดเร็ว สามารถจะทำร้ายชีวิตของเรา หรือทำให้ชีวิตของเราจมอยู่ในความทุกข์ได้ถ้าเราไม่รู้เท่าทันมัน เราจะปฏิเสธมันได้ยาก เพราะเราเป็นปุถุชน แต่ถ้าเรารู้เท่าทัน แล้วก็มีธรรมะมากำกับ มันก็ช่วยทำให้ความรักประเภทนี้ไม่ทำร้ายเราและคนอื่นจนกระทั่งย่ำแย่ไป.