พระอาจารย์ไพศาล วิสาโล วัดป่าสุคะโต แสดงธรรมก่อนฉันเช้าวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2567
มีคลิปวิดีโอสั้นๆ เกี่ยวกับไอน์สไตน์ วันหนึ่งไอน์สไตน์สอนหนังสือให้กับนักศึกษา เขาเขียนสูตรต่างๆ ลงในกระดานแล้วก็คำนวณไปพร้อมๆ กันด้วย แรกๆ ก็คำนวน 9x1=9 9x2=18 9x3=27 พอ 9x10 เขาเขียนว่า 91 นักศึกษาหัวเราะกันใหญ่เลย เพราะว่าที่ถูกต้องคือ 90
นักศึกษาหัวเราะด้วยความขบขัน ไอน์สไตน์ก็ไม่ได้ว่าอะไร รอให้เสียงเงียบลง แล้วเขาก็พูดกับนักศึกษาว่า เมื่อกี้ผมคำนวณถูกไป 9 ข้อ ไม่มีใครชื่นชมสรรเสริญเลย แต่พอผมคูณผิดไปข้อเดียว คนก็หัวเราะเยาะกันใหญ่
มันแสดงว่าอะไร มันเป็นข้อคิดให้รู้ว่า คนเราแม้จะทำความสำเร็จมามากมาย แต่สังคมหรือผู้คนก็จะมองเห็นแต่ความผิดพลาดเล็กๆ น้อยๆ ของเรา อันนี้น่าสนใจ เพราะหลายครั้งเวลาเราทำอะไรแล้วเกิดผิดพลาดขึ้นมา คนก็วิพากษ์วิจารณ์จนบางทีเราขาดความมั่นใจในตัวเอง ทั้งๆ ที่เราอาจจะทำสำเร็จทำถูกมานับครั้งไม่ถ้วน แต่เนื่องจากไม่มีใครชื่นชมสรรเสริญ เราก็เลยรู้สึกแย่เวลามีใครมาวิพากษ์วิจารณ์
ใครที่เจอแบบนี้ก็ให้พิจารณาว่า เออ มันไม่ใช่ว่าเราแย่ไปเสียหมด ความสำเร็จที่เราได้ทำก็มีมากมาย เพียงแต่คนไม่เห็น เพราะฉะนั้นแม้ไม่มีคนเห็นก็ไม่เป็นไร แต่ก็ขอให้เราเห็นก็แล้วกัน เพราะถ้าเราเห็นแล้วเราก็จะได้ไม่รู้สึกแย่กับตัวเองว่า เราเป็นคนที่ไม่เข้าท่า ล้มเหลว
เพราะว่ามีคนจำนวนไม่น้อยที่รู้สึกแบบนั้น เวลาทำอะไรผิดพลาดแล้วคนวิพากษ์วิจารณ์แล้วก็รู้สึกแย่กับตัวเอง แต่ไม่ได้มองว่า ที่จริงเราทำถูก เราทำสำเร็จมาเยอะแล้ว ให้มองตรงนี้ด้วย คนอื่นมองไม่เห็นไม่เป็นไร แต่ขอให้เรามองให้เห็น เพราะเราจะได้เกิดความมั่นใจในตัวเอง หรืออย่างน้อยก็ไม่เสียเซลฟ์เวลาถูกคนวิพากษ์วิจารณ์ เมื่อเราทำผิดพลาด โดยที่บางครั้งคำวิพากษ์วิจารณ์นั้นก็อาจจะผิดด้วยก็ได้ เพราะว่าเราไม่ได้ผิดพลาดขนาดนั้น
ในคลิปไอน์สไตน์ยังพูดอีกว่า ไม่มีใครที่ไม่ทำอะไรผิด คนที่ไม่เคยทำผิดก็คือคนที่ไม่เคยทำอะไรเลย แต่ถ้าเมื่อลงมือทำแล้วมันก็ย่อมมีวันผิดพลาดบ้าง แม้แต่คนที่ฉลาดปราดเปรื่องอย่างไอน์สไตน์ก็ยังคำนวณสูตรคูณง่ายๆ ผิด อันนี้มันก็ตรงกับที่ภาษิตไทยบอกว่า สี่เท้ายังรู้พลาด นักปราชญ์ยังรู้พลั้ง
ไอน์สไตน์ก็มีโอกาสพลั้งได้ นับประสาอะไรกับเราซึ่งเป็นคนที่อาจจะเรียกว่าไม่ได้ฉลาดหลักแหลมอย่างไอน์สไตน์ ขนาดไอน์สไตน์ก็ยังผิดได้ ที่จริงถ้ามองอีกทีไอน์สไตน์ก็อาจจะแกล้งทำก็ได้ แกล้งผิด เพราะว่าอยากจะให้บทเรียนแก่นักศึกษา เพราะครูที่ดีไม่ได้สอนแต่เรื่องวิชาการ แต่สอนเรื่องวิชาชีวิตด้วย
ความเข้าใจเกี่ยวกับชีวิต ความเข้าใจเกี่ยวกับโลก เช่น เข้าใจว่า คนเราทุกคนก็ย่อมมีความผิดพลาดกันทั้งนั้น ไม่ใช่แค่คำนวณผิด แต่บางทีก็อาจจะผิดพลาดในการเกี่ยวข้องกับผู้คน แม้กระทั่งกับคนที่เรารัก เราก็อาจจะเผลอใช้อารมณ์กับเขา กับลูก กับพ่อแม่ หรือว่าทำสิ่งที่ไม่ถูกต้อง
ทั้งที่เราก็ทำดีทำถูกมาเยอะแยะ เช่นเดียวกันพ่อแม่ก็อาจจะทำดีกับลูกมาตลอด แต่ก็ย่อมมีวันที่พ่อแม่อาจจะทำผิดพลาดบ้างกับลูก คนที่เป็นพ่อแม่ก็ไม่ควรจะเสียอกเสียใจมาก ที่ผิดไปแล้วก็แก้ไขให้มันถูก
ส่วนลูกก็ต้องเข้าใจว่า เออ พ่อแม่ก็มีสิทธิ์พลาดได้ อาจจะใช้อารมณ์กับลูกมากไป อาจจะดูเหมือนไม่ยุติธรรมกับลูก อาจจะแสดงท่าทีว่ารักลูกคนนี้มากกว่าตัวเอง รักพี่มากกว่า รักน้องมากกว่า แล้วก็เลยสรุปว่า พ่อแม่ไม่รักเรา อันนี้ก็มองข้ามความจริงว่า คนเรามันมีผิดพลาดกันได้ ไม่ใช่แค่คำนวณผิด ไม่ใช่แค่ทำเลขผิด แต่ว่าอาจจะผิดในเรื่องอื่นที่เกี่ยวกับความสัมพันธ์ หรือแม้แต่ในเรื่องศีลก็อาจจะผิดศีลบ้าง ด้วยความเผลอไผล อันนี้ก็ธรรมดา ก็อย่าไปจมอยู่กับความผิดพลาดที่เกิดขึ้น
คนที่ผิดศีลก็ล้วนแต่เป็นคนที่รักษาศีลทั้งนั้นเลย แต่คนที่ไม่รักษาศีลอาจจะไม่มีคำว่าผิดศีลเลย เพราะเขาไม่ได้ถือ แต่เมื่อรักษาศีลแล้วก็ย่อมมีการผิดพลาดบ้าง เพราะคนเราอ่อนแอ มีความพลั้งเผลอพลั้งพลาดพ่ายแพ้ต่อกิเลส เพราะฉะนั้นคลิปนี้เขาก็สอนว่า ไอน์สไตน์ก็ผิดได้
แต่ถ้าเรามองอีกชั้นหนึ่ง มันไม่ใช่แค่ไอน์สไตน์ที่จงใจผิด บางทีคลิปทั้งหมดที่พูดมาอาจจะเป็นการสร้างเรื่องขึ้นมาเองก็ได้ ไอน์สไตน์อาจจะไม่ได้มีเรื่องราวผิดพลาดอย่างนั้น เพราะว่าการคูณเลข 9x10 แล้วเป็น 91 มันยากมาก ถ้าหากว่า 9x12 เป็น 108 9x13 เป็น 107 อันนี้ผิดแล้ว มันต้อง 117 ถ้าหากคูณผิดอย่างนี้ก็เป็นไปได้สำหรับไอน์สไตน์ แทนที่จะเป็น 117 ก็เป็น 107 หรือ 127 แต่ 9x10 เป็น 91 มันคงยาก
ฉะนั้นคลิปนี้อาจจะเป็นคลิปที่ไม่ใช่เป็นเรื่องจริง แต่ว่าสร้างเรื่องขึ้นมา แล้วก็ให้ไอน์สไตน์มาเป็นตัวเอกก็ไม่ได้เสียหายอะไร เพราะว่านิทานอีสปก็ไม่ใช่เรื่องจริง แต่ว่ามันก็สอนให้แง่คิดกับคนเราได้ แต่มันก็เตือนใจเราว่า คลิปที่เราเห็นแม้มันจะดีมีสาระ แต่ว่ามันอาจจะมีการทำขึ้นมาก็ได้ เดี๋ยวนี้มีเยอะ อ้างคนโน้นอ้างคนนี้อ้างเคนเนดี้ อ้างรูสเวลท์ หรือว่าบางทีก็อ้างพระพุทธเจ้า แต่ว่ามันไม่มีจริง แต่ว่าเจตนาดีอยากจะให้ข้อคิดแก่คน
เราดูเราอ่านเราฟังเรื่องราวแบบนี้แล้วเราต้องรู้จักเก็บเกี่ยว อะไรที่มีประโยชน์ก็รู้จักเก็บเกี่ยวแต่ว่าก็รู้จักตั้งคำถามด้วยว่ามันจริงหรือเปล่า อาจจะไม่จริงก็ได้ แต่มันมีประโยชน์ก็เอามาเตือนใจเราไว้ เดี๋ยวนี้มันจะมีประเภทนี้เยอะ ประเภทที่ไม่จริงซึ่งบางทีเกิดความเสียหายถ้าเราเชื่อว่าจริง
แต่บางอย่างถึงแม้เราจะเชื่อว่าเป็นจริงก็ไม่เสียหาย อย่างเรื่องไอน์สไตน์ ถึงแม้ว่าจะไม่จริง แต่เราเชื่อ แล้วเราเอามาเป็นบทเรียน มันก็ได้ประโยชน์แต่ถ้าไปเผยแพร่ก็ต้องระวัง เพราะว่าถ้าเราไปแชร์นู่นแชร์แล้วเขาท้วงว่ามันไม่จริง มันเป็นเรื่องที่แต่งขึ้นมา เราก็หน้าแตกได้เหมือนกัน.