พระอาจารย์ไพศาล วิสาโล วัดป่าสุคะโต แสดงธรรมก่อนฉันเช้า วันที่ 15 กันยายน 2567
เมื่อวานประธานมูลนิธิสืบนาคะเสถียรแถลงข่าวเกี่ยวกับสถานการณ์ของป่าไม้เมืองไทยในปัจจุบัน ตอนนี้เมืองไทยมีป่าไม้ประมาณ 102 ล้านไร่ เฉพาะปีที่แล้วปีเดียว ปรากฏว่าป่าถูกทำลายไป 3 แสนไร่ นับว่ามากที่สุดในรอบ 30 ปี
อันนี้น่าสนใจ ทั้ง ๆ ที่คนไทยเราตื่นตัวเรื่องสิ่งสิ่งแวดล้อมมากขึ้น รัฐบาลก็มีนโยบายหรือประกาศนโยบายว่าจะอนุรักษ์ป่ามากขึ้น แต่ว่าทำไมแค่ปีเดียวสูญเสียพื้นที่ป่าไปถึง 3 แสนไร่ มากที่สุดในรอบ 30 ปี
ตอนนี้พื้นที่ป่าเหลือจาก 31.5 เป็น 31.4 เปอร์เซ็นต์ของพื้นที่ทั้งประเทศไป ในบรรดา 3 แสนไร่ที่สูญไป ภาคอีสานมีการสูญเสียพื้นที่ป่าเป็นอันดับ 2 อันดับ 3 เลย เกือบ 9 หมื่นไร่ มากที่สุดก็คือภาคเหนือ แสนกว่าไร่
กว่าผู้คนจะเพิ่มพื้นที่ป่ามาตลอดเวลา 20-30 ปีนี้ เราพื้นเพิ่มพื้นที่ป่าไปได้แค่เกือบ 2 แสนไร่ ปลูกป่ากันมา ต่อเนื่องกันมาหลายโครงการ ปลูกต้นไม้กันหลายล้านต้น ในช่วง 10-20 ปีที่ผ่านมา เราได้คืนที่ป่าเพิ่มขึ้นมาแค่ 2 แสนไร่
แต่ปีที่แล้วปีเดียวพื้นที่ป่าสูญไป 3 แสนไร่ ไม่ใช่น้อยเลยทีเดียว
และที่เขามาแถลงข่าวเรื่องพื้นที่ป่าในช่วงนี้เพราะว่ามีน้ำท่วม น้ำท่วมหนักมาก
เขาบอกว่า การที่พื้นที่ป่าสูญหายไปเยอะมีผลทำให้เวลาฝนตกหนักน้ำที่ไหลบ่ามาไม่มีต้นไม้หรือป่าคอยดูดซับ เพราะป่าเหมือนกับเป็นฟองน้ำที่คอยซับน้ำ
พอฝนตกหนัก ไม่มีฟองน้ำคอยซับน้ำ น้ำจึงทะลักลงมาสู่พื้นราบ สู่บ้านเรือน ลงแม่น้ำลำห้วย น้ำก็เอ่อสูง อันนี้ประการที่ 1
ประการที่ 2 เขาบอกว่า เป็นเพราะว่าแม่น้ำโขง ซึ่งเป็นแม่น้ำสายใหญ่ ตอนนี้มีเขื่อนกักน้ำตั้งแต่เมืองจีนลงมาหลายสิบเขื่อนมาก และปล่อยน้ำโดยไม่คำนึงถึงจังหวะของธรรมชาติ
แต่ก่อนคำนวณได้ว่าน้ำจะมาถึงเมื่อไร ถ้าเกิดฝนตกหนักที่เมืองจีน จะมาถึงเมืองเลยเมื่อไร เดี๋ยวนี้คำนวณไม่ได้แล้ว เพราะว่าขึ้นอยู่กับการปิดเปิดเขื่อน ถ้าทางโน้นฝนตกหนักเขาก็เปิดเขื่อน น้ำก็ไหลทะลักมา แล้วถ้าเกิดปลายน้ำหรือกลางน้ำมีฝนตกหนักอยู่แล้ว น้ำก็เอ่อท่วม
เพราะฉะนั้น นี่เป็นปัญหาหนึ่งที่ทำให้การบริหารน้ำเพื่อป้องกันน้ำท่วมเกิดขึ้นได้ยากในปัจจุบัน
และข้อที่ 3 คือว่า เป็นเรื่องของความบกพร่องในเรื่องการบริหารจัดการน้ำ ไม่มีระบบเตือนภัยที่มีประสิทธิภาพ ไม่มีระบบการอพยพผู้คนหรือบรรเทาสาธารณภัยที่มีประสิทธิภาพ ทำงานรวดเร็ว จึงเกิดปัญหาอย่างที่เราเห็น
ที่จริงอาจจะพูดได้ว่า การที่ฝนตกหนักคงไม่ใช่เป็นเรื่องฤดูกาล หรือว่าเกี่ยวข้องกับเอลนีโญ ลานีญาอย่างเดียว คงสัมพันธ์กับปรากฏการณ์ที่ใหญ่ระดับโลก คือ ปรากฏการณ์โลกร้อน
ซึ่งเป็นผลจากการที่เราละเลยผลกระทบของการใช้ชีวิตของเราที่ส่งผลต่อธรรมชาติมานานเป็น 200 ปีได้ เพราะฉะนั้น ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่เกิดจากการเผาไหม้น้ำมันจึงไปทำให้เกิดโลกร้อนมากขึ้น
แต่ก่อนนี้เราก็เผาน้ำมันตามใจชอบ เผาถ่านหินตามใจชอบ ตอนที่คนยังน้อย ๆ ก็ไม่เป็นไร แต่ตอนคนเยอะ มีรถยนต์เป็นหลายพันล้านคัน ผลกระทบก็รุนแรง ทำให้เกิดดินฟ้าอากาศแปรปรวน ฝนตกหนักบ้าง ฝนแล้งบ้าง
นี่ขนาดน้ำท่วมเรายังวุ่นวายกันทั้งประเทศ เกิดความโกลาหลเดือดร้อนกันหลายหย่อมหญ้า แล้วถ้าเกิดว่าเจอภัยอย่างอื่นอีกจากภัยธรรมชาติ คลื่นความร้อน ภัยแล้ง ซึ่งจะตามมาเป็นระลอก ๆ จะทำอย่างไร
ระบบเตือนภัย บรรเทาสาธารณภัยที่เป็นอยู่ก็เห็นได้ชัดว่าหละหลวมมาก ไม่ทันการ ไร้ประสิทธิภาพ แล้วถ้าถึงวันที่ธรรมชาติอาละวาดหนักขึ้น เราจะอยู่กันอย่างไร
นี่เป็นสิ่งที่สอนใจเรา เตือนใจเรา นี่เป็นเพราะเราละเลยธรรมชาติ ไม่เห็นคุณค่าของธรรมชาติมากเท่าที่ควร อาจจะเห็นก็เห็นในแง่ที่ว่าเอามาใช้ประโยชน์ แต่ไม่คิดที่จะถนอมรักษาหรืออนุรักษ์เอาไว้
ความคิดของเราที่มีต่อธรรมชาติเป็นปัญหา เป็นต้นตอเลย เพราะ หนึ่ง เราคิดจะเอาชนะธรรมชาติ คิดว่าธรรมชาติเอาชนะได้ แต่สุดท้ายก็เอาชนะไม่ได้
สอง เราคิดว่าเราจะทำอย่างไรกับธรรมชาติก็ได้ เพราะธรรมชาติไม่มีชีวิตจิตใจ เป็นแค่ทรัพยากร เราจะทิ้งขยะลงแม่น้ำลำห้วย เราจะปล่อยสารพิษสู่อากาศ หรือว่าปล่อยหรือเผาผลาญน้ำมันตามใจชอบอย่างไรก็ได้
ตอนนี้ก็รู้แล้วว่า มันไม่ใช่เช่นนั้น ทำอะไรทำตามใจชอบกับธรรมชาติไม่ได้ และยิ่งคิดจะบังคับควบคุมธรรมชาติให้เป็นไปตามใจเราหรือสนองความโลภของเรานี่ยิ่งแล้วใหญ่
ตอนนี้แหละ ความคิดแบบนี้แหละ ที่กำลังสร้างปัญหาให้กับมนุษย์ทั้งโลก ทั้งรุ่นนี้และรุ่นต่อ ๆ ไป น้ำท่วมยังพอทำเนา อาจจะคิดว่าสร้างเขื่อนแล้วช่วยได้ แต่โลกร้อนนี่ยากมากที่จะลด ที่จะแก้ไขปัญหานี้ เพราะว่าเป็นปัญหาที่สะสมมานาน
ต้องเปลี่ยนทัศนคติของเราเสียใหม่ว่า เราเป็นส่วนหนึ่งของธรรมชาติ ความสุขความทุกข์ของเราขึ้นอยู่กับธรรมชาติ ความคิดเกี่ยวกับธรรมชาติต้องเปลี่ยนไปแล้ว ความคิดที่จะทำอะไรกับธรรมชาติต้องเปลี่ยนไปแล้ว
สมัยก่อนเขาใส่ใจเรื่องนี้ จะเปลี่ยนทางน้ำเขาก็ไม่กล้าทำง่าย ๆ เพราะว่ากลัวว่าจะเกิดภาวะที่เรียกว่า อุบาทว์ เป็นความเชื่อที่ไม่ได้มีวิทยาศาสตร์รองรับ
แต่เดี๋ยวนี้เรารู้ว่าเวลาทำอะไรกับธรรมชาติตามใจ ปิดทางน้ำ ขวางทางน้ำเพราะสร้างถนน สร้างบ้านแปลงเมือง มันก็เดือดร้อนกันใหญ่ เพราะว่าเราคิดว่าจะทำอะไรกับธรรมชาติก็ได้ เอาปลาเอเลี่ยนอเอาสัตว์เอเลี่ยนมาปล่อยอย่างไรก็ได้ ตอนนี้เป็นอย่างไร เดือดร้อนแล้ว ปลาหมอคางดำกำลังจะทำให้ระบบนิเวศน์ของบ้านเรา โดยเฉพาะในแหล่งน้ำ เสียหายไปเยอะ
เราเคยคิดว่าเทคโนโลยีจะแก้ปัญหาได้ ธรรมชาติมีปัญหาอย่างไรเราก็อาศัยหรือพัฒนาเทคโนโลยีมาช่วยแก้ปัญหา ตอนนี้น้ำมันสร้างปัญหา เกิดมลภาวะ เกิดโลกร้อน ก็มาใช้โซล่าเซลล์ มาใช้พลังงานจากแสงอาทิตย์ ใช้รถไฟฟ้า ตอนนี้กำลังเป็นที่นิยม เราคิดว่าจะช่วยลดทอนปัญหาได้ ก็มีปัญหาอีก เพราะว่าแบตเตอรี่ที่ใช้กับรถไฟฟ้าสร้างปัญหาเยอะเลย
การจะผลิตแบตเตอรี่พวกนี้ได้ต้องใช้การถลุงสารประเภทลิเทียม ซึ่งทำให้เกิดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ทำให้เกิดมลภาวะ ตั้งใจว่าจะใช้รถไฟฟ้าเพื่อลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ แต่การผลิตแบตเตอรี่สำหรับรถไฟฟ้ากลับทำให้มีคาร์บอนไดออกไซด์ในบรรยากาศมากขึ้น
ฉะนั้น การใช้เทคโนโลยีเพื่อแก้ปัญหาอย่างไรก็ไม่สามารถจะบรรเทาปัญหาได้อย่างแท้จริง ต้องเปลี่ยนวิธีคิด และเปลี่ยนวิธีการใช้ชีวิต โดยเฉพาะความคิดที่จะเอาชนะธรรมชาติ จะทำอย่างไรกับธรรมชาติ ต้องเปลี่ยนได้แล้ว
เราต้องถนอมรักษาธรมชาติ จะทิ้งอะไรลงไปในลำห้วยก็ต้องคำนึง จะทิ้งอะไรลงไปข้างถนนก็ต้องใส่ใจ หรือแม้แต่ว่าจะปิดทางน้ำ จะหาสัตว์แปลก ๆ มาปล่อยอย่างนี้ เพราะคิดว่าจะทำให้เกิดประโยชน์ทางเศรษฐกิจก็ต้องระวังแล้ว คือต้องคิดหน้าคิดหลัง
และนี่คือสิ่งที่มนุษย์เรากำลังรับเคราะห์จากการที่ปล่อยปละละเลย จากการที่คิดจะเอาชนะธรรมชาติ หรือทำอะไรกับธรรมชาติก็ได้.