พระอาจารย์ไพศาล วิสาโล วัดป่าสุคะโต แสดงธรรมเย็นวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2567
เทศกาลตรุษจีนที่เพิ่งผ่านไป หลายคนคงจะมีความสุขยิ้มแย้มแจ่มใส ไม่ใช่เพราะได้ไปเที่ยวอย่างเดียวแต่เพราะว่าได้อั่งเปาด้วย แต่ก็คงมีบางคนที่ไม่ค่อยมีความสุขเท่าไหร่ ไม่ใช่เพราะว่าไม่ได้อั่งเปา ได้เหมือนกันแล้วก็ได้เยอะด้วย แต่ในความรู้สึกของเขา มันได้น้อยกว่าที่คาดไว้ ก็เลยไม่ค่อยดีใจเท่าไหร่
มีเจ้านายคนหนึ่งให้อั่งเปาแก่ลูกน้องที่ช่วยงานบ้าน เมื่อปีที่แล้วคือปี 2566 เธอให้อั่งเปากับคนงานคนนี้เป็นแหวนทอง ทองแท้ด้วย มูลค่าก็เยอะ เพราะว่านอกจากเธอดูแลงานบ้านตามหน้าที่แล้ว ก็ยังช่วยดูแลเธอตอนที่ผ่าตัด เพราะว่าผ่าตัดแล้วจะลุกจะเดินก็ลำบาก ช่วงนั้นต้องนอนติดเตียงเป็นเดือนเลย ก็อาศัยลูกน้องคนนี้ช่วยดูแลอย่างดีเลย
พอถึงวันตรุษจีนเมื่อปีที่แล้วก็เลยให้แหวนทอง ส่วนปีนี้ให้เหมือนกันแต่ไม่ใช่แหวนทอง แต่ว่าให้เงินหลายพันทีเดียว เนื่องจากมูลค่ามันน้อยกว่าแหวนทอง ปรากฏว่าคนงานคนนั้นก็ทำท่าไม่พอใจมีสีหน้าแปลกๆ ตึงๆ กับเจ้านาย
ที่จริงคนเราเวลาได้ลาภแบบนี้ก็น่าจะมีความสุข ใครๆ ก็อยากได้เงิน อยากได้ลาภ แต่ก็มีคนจำนวนไม่น้อยได้แล้วก็ไม่มีความสุข ถ้าเสียเงินไปยังพอว่า เสียเงินไปแล้วก็มีความทุกข์ กลับเป็นเรื่องธรรมดา แต่ครั้นได้มาแล้วก็ไม่มีความสุข แถมอาจจะมีความไม่พอใจอยู่ข้างใน เพราะอะไร เพราะว่าที่ได้มามันน้อย ที่จริงถ้าวัดเป็นจำนวนเงินก็ไม่น้อย หลายพันหรือเป็นหมื่น แต่เนื่องจากมันน้อยกว่าที่คาดหรือมันไม่มากเท่ากับที่คาด ก็เลยรู้สึกว่ามันน้อย
‘น้อย’ หรือ ‘มาก’ มันไม่ได้อยู่ที่จำนวนเงิน แต่จริงๆ แล้วมันอยู่ที่ความรู้สึกว่ามากหรือน้อย และความรู้สึกที่ว่ามากหรือน้อยก็วัดด้วยความคาดหวัง
ถ้ามันได้มากเท่ากับที่คาด หรือมากกว่าที่คาด ก็ถือว่า ‘มาก’
ถ้ามันได้น้อยกว่าที่คาด หรือไม่มากเท่ากับที่คาด ก็ถือว่า ‘น้อย’
แล้วพอรู้สึกว่าน้อยนี้ก็จะรู้สึกไม่สบายใจ บางทีกลับรู้สึกไม่พอใจคนด้วย แล้วความคาดหวังว่าจะได้เท่าไหร่ บ่อยครั้งเราก็อาศัยจากประสบการณ์เดิมหรือเทียบเคียงกับสิ่งที่เคยได้รับ อย่างปีที่แล้วได้แหวนทอง ปีนี้ถ้าได้ต่ำกว่าแหวนทอง ทั้งๆ ที่ก็หลายพัน ก็ไม่พอใจ มีความทุกข์ ไม่ยินดี อันนี้ก็เรียกว่าเสียโอกาส แทนที่จะมีความยินดี มีความสุขกับการได้ แต่เพราะความคาดหวังในใจของตัวเองนี้ มันก็ทำให้สิ่งที่ควรจะยินดีกลายเป็นที่มาแห่งความทุกข์แห่งความไม่พอใจ
เรื่องนี้สอนเราว่าเวลาให้เงินใคร โดยเฉพาะถ้าเป็นการให้ประจำ อย่าให้น้อยกว่าครั้งที่แล้ว เพราะถ้าให้น้อยกว่าครั้งที่แล้วก็จะมีเคือง ถ้าไม่อยากจะให้มีเคือง อย่างน้อยๆ ต้องเท่ากับที่เคยให้ครั้งก่อน เพราะว่าการให้ครั้งก่อนมันเป็นการไปสร้างความคาดหวังว่าจะต้องได้ไม่น้อยกว่านี้ เท่ากับเป็นการสร้างมาตรฐาน
แต่คนส่วนใหญ่ก็ไม่ค่อยได้เรียนรู้เรื่องนี้ เพราะฉะนั้นแม้จะให้ไป แต่พอคนรับนี้เขาก็ไม่ได้ปลื้มเลย เพราะเขาคิดว่าเขาได้น้อย เพราะว่าเทียบเคียงจากการให้ครั้งก่อน พอคิดว่าได้น้อย เขาก็ไม่ปลื้ม เขาก็ไม่พอใจ บางทีเขาอาจจะคิดว่า “ฉันทำอะไรผิดพลาดไปเหรอ ฉันจึงได้น้อยกว่าครั้งก่อน” เกิดความน้อยอกน้อยใจขึ้นมา
อันนี้ไม่ใช่เฉพาะระหว่างเจ้านายกับลูกน้อง บางทีพ่อแม่กับลูกก็เหมือนกัน ลูกก็น้อยใจพ่อแม่ ทั้งที่ที่ได้จากพ่อแม่ก็ไม่น้อย แต่มันน้อยในความรู้สึกของลูก เพราะว่าครั้งก่อนได้มากกว่านี้ ฉะนั้น การได้ มันไม่ได้แปลว่าจะทำให้คนมีความสุขเสมอไป มันอยู่ที่ความคาดหวังในใจของคนรับด้วย
มันตรงกับสัจธรรมที่ว่า “อะไรเกิดขึ้นกับเรา มันไม่สำคัญเท่ากับว่าเรารู้สึกกับมันอย่างไร” แม้จะได้โชคได้ลาภ แต่ถ้าคิดว่ามันน้อย หรือถ้าคาดหวังว่าจะได้มากกว่านั้น แทนที่จะมีความสุข ก็กลับมีความไม่พอใจ นอกจากเจ้าตัวไม่พอใจแล้ว ก็อาจจะทำให้ความสัมพันธ์กับคนให้ไม่ดีด้วย
คนให้บางทีไม่เข้าใจว่า “ทำไมฉันก็ให้ ไม่ว่าจะให้กับลูกน้อง หรือว่าให้กับลูกๆ หลานๆ แต่ทำไมเขาไม่ปลื้ม” ทั้งที่ก็คิดว่าให้เยอะ แต่นี้ก็เป็นเพราะว่าอาจจะไปสร้างความคาดหวังให้กับผู้รับว่า “ควรจะได้เท่านี้” แต่ว่าพอให้น้อยกว่าที่เขาคาดหวัง เขาก็เลยไม่พอใจ
พ่อแม่กับลูก หรือว่าเจ้านายกับลูกน้อง มีความขุ่นเคืองกัน ส่วนหนึ่งก็เพราะเรื่องนี้ด้วย แต่ถ้าคนที่เข้าใจเรื่องนี้ แล้วรู้จักเอามาใช้ มันก็สามารถจะเกิดประโยชน์กับตัวเองได้ เวลาเราอยากจะให้ใครเลิกทำอะไรสักอย่าง เราก็เพียงแต่ล่อให้เขามีความคาดหวังว่าจะได้ เสร็จแล้วก็ให้เขาน้อยกว่าที่เขาคาดหวัง เท่านี้แหละเขาก็จะเลิกทำเลย ทั้งๆ ที่เขาอาจจะเคยทำอย่างมีความสุข
อย่างที่เคยเล่า พ่อค้าไม่พอใจที่เด็กกลุ่มหนึ่งมาเล่นฟุตบอลอยู่หน้าร้าน ส่งเสียงดัง แต่ก่อนก็ไม่เคยเป็นประเด็น แต่ตอนหลังตัวเองหันมาสนใจนั่งสมาธิ พอเด็กมาเล่นฟุตบอล รบกวน ส่งเสียงดัง ทำให้นั่งสมาธิได้ไม่ราบรื่น จะไล่เด็กก็รู้ว่าคงไม่ได้ผล ก็เลยใช้วิธีให้เงินเด็ก หาเหตุผลว่า “พวกหนูมาทำให้ลุงระลึกย้อนไปถึงสมัยวัยเด็กที่มีความสุข มีความรื่นเริง เอาไปเลย 100 บาท”
หลายวันต่อมาเด็กมาเล่นอีก ก็ให้อีกเหมือนกัน แต่คราวนี้ให้ 50 บาท อ้างว่ารายได้ไม่ค่อยดี ขายของไม่ค่อยออก อาทิตย์ต่อมามาอีก เด็กก็มาเล่นอีก คราวนี้พ่อค้าให้ไป 10 บาท พวกเด็กไม่พอใจมาก แล้วก็เลยเลิกมาเล่นเลย บอกว่า “เล่นไม่คุ้ม ได้แค่ 10 บาท” ทั้งที่แต่ก่อนนี้มาเล่น ไม่ได้เงินก็มาเล่นเพราะมันสนุก แต่คราวนี้ไม่อยากเล่นแล้วเพราะมันได้น้อย
ก็เข้าทางพ่อค้า เพราะเขารู้จักทำให้คนผิดหวัง ด้วยการตั้งความหวังเอาไว้แล้วก็ทำให้ผิดหวัง ก็เลยไม่พอใจจนกระทั่งไม่อยากเล่น ความสงบก็กลับคืนมาสู่หน้าร้านของพ่อค้าคนนั้น
เพราะฉะนั้นเวลาให้อะไรใคร ถ้าครั้งหลังหรือครั้งต่อมานี้ให้น้อยกว่าครั้งแรก มันก็จะมีเคือง นี้เป็นธรรมชาติของมนุษย์ แล้วมันก็เป็นส่วนหนึ่งของธรรมชาติของคนเราด้วย บ่อยครั้งเราได้อะไรมา แม้จะได้เยอะได้มากแต่เราก็ไม่มีความสุข เพราะว่าเราคาดหวังมันจะได้มากกว่านี้
เหตุแห่งความทุกข์ไม่ได้อยู่ที่ไหน มันอยู่ที่ใจเรา ไม่ใช่อยู่ที่ว่าเราได้น้อย ที่ได้ก็เยอะแต่เรารู้สึกว่ามันน้อยเพราะว่าเราคาดหวังมากกว่านั้น ฉะนั้นบางทีพ่อแม่ให้รางวัลเด็ก เช่น ลูกเรียนดีก็ให้รางวัล พอผลสอบเทอมต่อมาเด็กได้คะแนนดีอีก พ่อก็ให้รางวัล แต่รางวัลที่ให้มันน้อยกว่าครั้งก่อน ลูกก็ไม่พอใจ ก็เลยไม่เป็นอันตั้งใจจะเรียนหนังสือแล้ว เพราะว่าได้น้อยจึงไม่สนใจเรียนแล้ว ถึงเวลาสอบก็ไม่สนใจสอบ เพราะว่าไม่พอใจที่ได้น้อยกว่าครั้งก่อน
ดังนั้นการให้รางวัลกับใคร ให้รางวัลกับเด็ก ให้รางวัลกับลูก มันก็มีข้อเสียเหมือนกัน เพราะว่าถ้าให้น้อยกว่าครั้งก่อนนี้ เด็กก็จะประท้วงแล้ว ไม่พอใจพ่อ แต่คนก็ไม่ค่อยตระหนัก ยังนิยมให้รางวัลด้วยสิ่งของ แต่ถ้าให้ไม่เป็น มันก็กลับมาเป็นโทษทั้งกับเด็กและกับผู้ให้
ไม่ใช่แค่รางวัลอย่างเดียว คำชมก็เหมือนกัน เคยชมแล้วตอนหลังไม่ชม มันก็เป็นเรื่อง หรือว่าชมแต่ว่าชมน้อยกว่าครั้งก่อน แล้วที่จริงมันไม่ใช่แค่นั้น คำชมเวลาเด็กเรียนดี ได้คะแนนดี ก็พบว่าเวลาให้คำชมกับเด็ก เมื่อเด็กทำคะแนนได้ดี ไม่ว่าจะเป็นการสอบหรือการทำแบบทดสอบ พอทำครั้งต่อไปเด็กก็จะเริ่มเกร็งแล้ว เกรงว่าจะทำไม่ดีเหมือนครั้งก่อน ซึ่งก็จะทำให้ไม่ได้รับคำชมจากครูหรือจากพ่อแม่
เด็กเริ่มไม่มีความสุขแล้วกับการทำแบบฝึกหัด บางทีถึงขั้นว่าถ้าเจอแบบทดสอบยากๆ ก็จะไม่ทำเลย เพราะกลัวทำแล้วได้คะแนนไม่ดีเหมือนครั้งก่อน กลัวจะไม่ได้รับคำชมก็เลยไม่กล้าทำ
จะพบว่าเด็กที่ได้รับคำชมว่า เก่ง เก่ง เก่ง ก็จะมีปัญหามากกับการทำการบ้านหรือทำแบบทดสอบครั้งต่อๆ ไป โดยเฉพาะที่มันยากจะไม่กล้าทำ หรือจะทำด้วยความทุกข์ แต่ถ้าชมว่าเออ เด็กตั้งใจ เด็กพยายาม ปรากฏว่ามันไม่ค่อยมีผลเท่าไหร่ แม้จะเจอบททดสอบหรือข้อสอบที่ยากๆ เด็กก็ทำ เด็กก็สู้ เพราะรู้ว่าไม่ว่าผลมันจะเป็นอย่างไร แต่ถ้าตั้งใจ ขยัน ก็ยังได้รับคำชม
เขาจึงบอกว่า เวลาชมเด็ก อย่าไปชมว่าเก่ง แต่ให้ชมว่ามีความตั้งใจ มีความขยัน อันนี้มันจะมีผลต่อแรงจูงใจของเด็ก หรือพูดอีกอย่างหนึ่งก็คือว่า เวลาชม อย่าไปชมตรงที่ผลลัพธ์ แต่ชมตรงที่การสร้างเหตุ เช่น แข่งฟุตบอล ไม่ใช่ว่าต้องได้ที่ 1 ต้องได้แชมป์ ถึงจะได้รับคำชม แม้จะได้ที่ 2 ที่ 3 ก็ยังได้รับคำชม เพราะว่ามีความตั้งใจ มีความเพียรสู้ แม้จะสู้ไม่ได้ก็ยังสู้
แต่ว่าพ่อแม่หรือครูส่วนใหญ่ก็จะชมโดยดูจากผลลัพธ์ ถ้าได้แชมป์ ถ้าได้ที่ 1 ถ้าได้ถ้วย ถึงจะชม ถ้าได้ที่ 2 ก็ไม่ชมแล้ว ทั้งที่เด็กก็ตั้งใจมาก หรือถ้าได้ 4.00 ถึงจะชม ถ้าได้ 3.80 ไม่ชม ทั้งที่เด็กก็ตั้งใจ แม้จะได้ 3.80 แต่เด็กก็ทำเต็มที่
ฉะนั้น การชม ถ้าไปให้ความสำคัญกับผลลัพธ์ มันจะเกิดผลเสียกับเด็ก แต่ถ้าให้ความสำคัญกับการประกอบเหตุ มันจะเกิดผลดี หรือว่าพูดอีกอย่าง คือแทนที่จะชมตัวบุคคล แต่ชมการกระทำ เช่น ไม่ได้ชมว่าเก่งหรือดี แต่ชมว่าทำดี ชมว่ามีความเพียรพยายาม อันนี้มันจะมีผลดีกับเด็ก
เพราะว่าถ้าชมตัวผลลัพธ์ แล้วเด็กไม่มั่นใจว่ามันจะได้ผลลัพธ์อย่างที่เคยได้หรือเปล่า บางทีเด็กจะไม่ทำเลย เพราะทำแล้วเกิดไม่ได้ผลลัพธ์อย่างที่ต้องการ ไม่ได้แชมป์ ก็จะไม่ได้รับคำชม กลายเป็นว่าเป็นคนที่ไม่กล้า
เรื่องความคาดหวัง จริงๆ มันไม่ใช่เฉพาะเด็กที่หวังได้รางวัล หรือคนงานที่อยากได้แต๊ะเอียอั่งเปาเยอะๆ หรือว่าโบนัสมากๆ บางทีนักปฏิบัติธรรมก็ตกอยู่ในกับดักนี้ คือความคาดหวัง เช่น มาวัดเพื่อหวังความสงบ หรือมาปฏิบัติธรรมเพื่อหวังความสงบ มีความคาดหวังว่ามันต้องไม่คิด ไม่มีความฟุ้งซ่าน จะทุกข์มากเลย
นักปฏิบัติธรรมจำนวนมากนี้ทุกข์เพราะมีความคาดหวัง แล้วมันไม่ได้อย่างที่คาดหวัง ไม่ใช่แค่ความสงบอย่างเดียว บางทีคาดหวังว่าจะเห็นรูป-เห็นนาม คาดหวังว่าจะได้ความรู้สึกตัว หรือว่าเกิดปัญญา แต่พอมันไม่ได้อย่างที่คาด เพราะยังไม่ถึงเวลาหรือเหตุปัจจัยยังไม่ถึงพร้อม ก็ท้อแท้ ทำด้วยความทุกข์ แล้วมันก็บั่นทอนกำลังใจ บั่นทอนความเพียร
มีนักปฏิบัติธรรมจำนวนมากที่มีความทุกข์มากกับการปฏิบัติ แทนที่จะยอมรับทุกอย่างที่เกิดขึ้นกับกายและใจอย่างที่มันเป็น ก็กลับหงุดหงิด กลับหัวเสีย บางคนก็เอาหัวโขกพื้น เอากำปั้นทุบหน้าอก เพราะมันคิดมากเหลือเกิน คิดมากเหลือเกิน
บางทีที่คิดมากมันก็ไม่ได้มากเท่าไหร่ ตอนไม่ได้ปฏิบัติอาจจะคิดมากกว่า แต่ตอนไม่ได้ปฏิบัติ ตอนอยู่ที่ข้างนอก มันไม่ได้คาดหวังเลย แต่พอมาปฏิบัติ มันพกความคาดหวังแล้วสูงด้วย แล้วก็อยากได้เร็วๆ พอไม่ได้ก็เกิดทุกข์ ทุกข์มากเลยจนลืมตัว ทั้งที่มันก็ไม่น่าจะทุกข์เท่าไหร่ แต่พอผิดหวัง ไม่ได้อย่างที่หวัง ก็เกิดความทุกข์
อันนี้ตรงกับที่พระพุทธเจ้าตรัส “มีความปรารถนาสิ่งใด ไม่ได้สิ่งนั้นนั่นก็เป็นทุกข์” ทุกข์นี้ไม่ใช่เพราะเสียเท่านั้น แม้ได้แต่ไม่ได้อย่างที่คาดหวังก็ทุกข์ คนที่ปฏิบัติไม่ใช่ว่าเขาไม่ได้รับความสงบเลย เขาก็ได้แต่มันไม่มากเท่าที่คาด เพราะที่เขาคาดคือมันสงบราบคาบ สงบไปเลย ซึ่งมันเป็นไปไม่ได้ แต่พอไม่ได้อย่างนั้นก็เกิดทุกข์ขึ้นมา เกิดความหงุดหงิด เกิดความหัวเสีย ลืมตัวเอารองเท้าแตะฟาดหัว เอากำปั้นทุบอก
กลายเป็นทุกข์กว่าตอนที่ไม่ได้ปฏิบัติเสียอีก เพราะความคาดหวัง แล้วพอมาปฏิบัติ แล้วมีความคาดหวังว่า การปฏิบัติธรรมจะทำให้เกิดอย่างโน้นเกิดอย่างนี้ขึ้นมา เช่น เวลาเจ็บป่วย มันก็จะป่วยแต่กายแต่ใจไม่ปวด เพราะว่าสมาธิก็ดี สติก็ดี จะทำให้ใจสงบได้ ถึงเวลาเจ็บป่วยขึ้นมา นักปฏิบัติธรรมบางคนทุกข์กว่าคนทั่วไป
คนทั่วไป เขาก็ทุกข์กายและทุกข์ใจ ที่ทุกข์ใจเพราะว่าจัดการไม่ถูกต้องกับเวทนาทางกายที่เกิดขึ้น พยายามผลักไสเวทนาทางกาย เกิดความหงุดหงิด โวยวาย ตีโพยตีพาย แต่ว่านักปฏิบัติบางคน มีความคาดหวังว่า ปฏิบัติธรรมแล้วจิตมันต้องไม่ทุกข์ แต่พอจิตมันทุกข์เพราะมีความปวดทางกาย ก็รู้สึกแย่ รู้สึกผิดหวังว่าทำไมทั้งที่ตัวเองฝึกมา มันไม่สามารถช่วยทำให้จิตนี้มันไม่ทุกข์
รู้สึกผิดหวังตัวเองว่าทำไมปฏิบัติแล้วยังมีความทุกข์อยู่ หมายถึงทุกข์ใจ ยังมีความหงุดหงิด มีความกราดเกรี้ยว ก็เลยกลายเป็นทุกข์ยิ่งกว่าคนทั่วไป เพราะคนทั่วไปเขาไม่มีความคาดหวังว่า ใจจะสงบเพราะการปฏิบัติธรรม เขาก็แค่ป่วยกายแล้วป่วยใจ
แต่นักปฏิบัติธรรมมีความคาดหวังว่า มันต้องไม่ทุกข์ ต้องรู้จักปล่อยรู้จักวางได้ แต่เนื่องจากไม่ได้ฝึกมาให้รู้จักยอมรับสิ่งต่างๆ ที่เกิดขึ้น เวลาเราคาดหวังอะไร พอมันไม่เป็นไปอย่างที่คาดหวัง มันก็จะไม่ยอมรับ
การคาดหวังกับการยอมรับ มันต่างกัน ยอมรับคือยอมรับทุกอย่างตามที่เกิดขึ้นตามความเป็นจริง แต่คาดหวังคืออยากจะให้สิ่งต่างๆ มันเป็นไปอย่างที่ใจปรารถนา
ถ้าเรารู้จักยอมรับสิ่งต่างๆ ตามความเป็นจริง มันก็ไม่ทุกข์เท่าไหร่ แต่คนเรามันก็ยากที่จะไม่มีความคาดหวัง ไม่ว่าจะเป็นคนทั่วไปหรือนักปฏิบัติธรรม แต่อย่างน้อยให้รู้เท่าทัน รู้เท่าทันว่าเรามีความคาดหวัง แล้วก็พยายามลดความคาดหวังให้น้อยลง
ความสุขมันไม่ยาก ถ้าหากว่าเราลดความคาดหวังลง แล้วยอมรับสิ่งต่างๆ อย่างที่มันเป็น ไม่ใช่อยากจะเห็นสิ่งต่างๆ ให้เป็นไปดั่งใจ เราไม่สามารถยอมรับสิ่งต่างๆ อย่างที่มันเป็นได้ ถ้าหากว่าเรามีความคาดหวัง แล้วมันไม่เป็นไปอย่างที่คาดหวัง แต่ถ้าเรารู้จักยอมรับสิ่งต่างๆ อย่างที่มันเป็น เจออะไร ใจก็ไม่ทุกข์ เสียงดังใจก็ไม่ทุกข์ เพราะว่ายอมรับมันได้
เพราะฉะนั้นถ้าหากว่าเราอยากจะรักษาใจให้มีความทุกข์น้อยลง ก็ลดความคาดหวังไม่ว่าจากผู้คน ไม่ว่าจากสิ่งแวดล้อม ไม่ว่าจากสถานที่ แล้วก็เรียนรู้ที่จะยอมรับสิ่งต่างๆ อย่างที่มันเป็น
พรุ่งนี้จะเป็นวันวาเลนไทน์ หลายคนรอคอยวันพรุ่งนี้ด้วยใจจดใจจ่อโดยเฉพาะหนุ่มสาว แต่ก็คงจะมีคนจำนวนไม่น้อยที่ห่อเหี่ยวเสียใจ เพราะอะไร เพราะว่าสิ่งที่คาดหวังว่าจะได้ หรือสิ่งที่ได้รับมันน้อยกว่าที่คาดหวัง บางคนอยากจะได้กุหลาบเป็นช่อเลย แต่พอได้แค่ 3-4 ดอก ทุกข์เลย อยากจะได้อย่างนั้นอย่างนี้ มีความคาดหวังจากคนนั้นคนนี้ ได้เหมือนกัน แต่พอมันได้น้อยกว่าที่คาดหวัง ทุกข์เลย
เหมือนกับที่หลายคนทุกข์ทั้งที่ได้อั่งเปา ไม่ใช่เพราะได้น้อยแต่เพราะคาดหวังมาก แล้วพรุ่งนี้ก็จะมีคนที่ได้เหมือนกัน ได้สิ่งดีๆ จากคู่รัก แต่ก็ยังทุกข์เพราะอะไร เพราะมันน้อยกว่าที่คาดหวัง อันนี้เป็นเรื่องที่ธรรมดามาก แต่ถ้าคนที่ฉลาดเขาไม่ทุกข์ง่ายๆ เพราะเขาแค่ลดความคาดหวังลง ได้อะไรก็ถือว่าดีทั้งนั้น.