พระอาจารย์ไพศาล วิสาโล วัดป่าสุคะโต แสดงธรรมก่อนฉันเช้า วันที่ 2 กันยายน 2567
เมื่อสักประมาณ 40-50 ปีที่แล้ว มีพระรูปหนึ่งท่านเป็นพระนักเทศน์ เทศน์เก่งมาก ไปเทศน์ที่ไหนญาติโยมตามไปฟังเป็นร้อย ๆ ศาลาแน่นขนัด
ปรากฏว่าพอมีคนนิยมยกย่องท่านก็เกิดลืมตัว หลงในชื่อเสียง ในความเด่นความดัง และธรรมดา พอเทศน์เก่ง มีคนยกย่องก็หลงตัว อดไม่ได้ที่จะยกตนข่มท่าน ไม่ใช่เฉพาะกับพระ กับโยมด้วย ใครที่มีความคิดไม่ตรงกับท่าน ท่านก็ด่าว่า บางทีก็หาว่าโง่เง่าหรืองี่เง่า
มีวันหนึ่งท่านไปเทศน์ที่วัดหนึ่ง เป็นวัดต่างจังหวัด แต่มีคนมาฟังเยอะ พอเทศน์เสร็จท่านก็รู้สึกพึงพอใจในการเทศน์ของท่านด้วยความกระหยิ่มยิ้มย่อง และรอกัณฑ์เทศน์
มีคุณลุงคนหนึ่งถือพานกัณฑ์เทศน์มาถวาย ในพานนั้นมีขวานอยู่เล่มหนึ่ง พระรูปนี้ท่านแปลกใจ เพราะว่าแต่ก่อนพานกัณฑ์เทศน์ไม่มีขวาน จึงถามว่า
“ถวายขวานด้วยหรือ”
ผู้เฒ่าบอกว่า “ครับ ถวายให้ท่านใช้ ขวานนี้คมมาก ถากอะไรได้สารพัดเลย เสียอย่างเดียว” แล้วก็ทิ้งท้ายเอาไว้
“มันถากอะไรได้หมดเลย ยกเว้นถากด้ามของมันเอง”
ท่านฟังก็ไม่ได้เอะใจอะไร แต่ระหว่างที่เดินทางกลับวัดก็มาคิด และในที่สุดธรรมะก็เฉลย คุณลุงวันนั้นหรือผู้เฒ่าคนนั้นตั้งใจจะบอกท่านว่า ท่านถากได้แต่คนอื่น แต่ไม่ถากตัวเอง หรือสอนแต่คนอื่น ไม่สอนตัวเอง มารู้ก็ตอนเกือบจะถึงวัดแล้ว อันนี้เป็นวิธีการของผู้เฒ่าที่อยากจะเตือนพระหนุ่ม แต่เตือนแบบสุภาพ
เรื่องการเตือนไม่ใช่ว่าเป็นเรื่องที่พระทำกับโยมเท่านั้น โยมก็ทำกับพระได้ ไม่ใช่ว่าโยมจะถวายแต่อาหารแล้วพนมมือสาธุอย่างเดียว ถ้าหากว่าพระท่านทำอะไรไม่ถูกต้อง ควรที่จะชี้แนะ ทักท้วง และตักเตือน อย่าไปถือหลักว่า ชั่วช่างชี ดีช่างสงฆ์
อันนี้เป็นสํานวนโบราณของคนกลุ่มหนึ่งที่บอกว่าฆราวาสเราอย่าไปยุ่งกับพระเลย ท่านจะทำอะไรก็เป็นเรื่องของท่าน ไปทักท้วงท่านเดี๋ยวจะเป็นบาป อันนี้เป็นความเข้าใจที่ผิด
ที่จริงที่พุทธศาสนาเจริญมั่นคงและสืบทอดมาถึงทุกวันนี้ อย่างที่เราทราบดีว่าพระสงฆ์หรือภิกษุสงฆ์บริษัทเป็นกําลังสำคัญ และที่เป็นกําลังสำคัญได้เพราะว่าท่านประพฤติดีประพฤติชอบ และที่ประพฤติดีประพฤติชอบไม่ใช่เพราะว่าในสมัยพุทธกาลเท่านั้น แม้พระพุทธเจ้าจะเสด็จดับขันธ์ปรินิพพานไปแล้ว พระโดยรวมก็ยังประพฤติดีประพฤติชอบ เพราะอะไร เพราะว่ามีคนช่วยตักเตือน
ไม่ใช่พระด้วยกันเท่านั้น ญาติโยม ฆราวาสก็ตักเตือน สิกขาบทในวินัยปาฏิโมกข์หลายข้อเกิดขึ้นเพราะว่าญาติโยมไปทูล จะเรียกว่าฟ้องก็ไม่เชิง ไปทูลพระพุทธเจ้า บอกว่ามีพระบางรูปประพฤติตัวไม่เหมาะสม บางทีอาจจะไม่ตั้งใจ
อย่างเช่น เวลาสรงน้ำเปลือยกาย พอพระพุทธเจ้าทราบจึงทรงบัญญัติ บางอย่างก็ห้าม บางอย่างก็อนุญาต เช่น อนุญาตให้พระมีผ้าอาบน้ำเอาไว้อาบน้ำตามลำห้วยลำธาร ไม่ต้องเปลือยกาย หรือว่าพระบางรูปประพฤติตัวไม่ถูกต้อง นางวิสาขาก็มาทูล พระพุทธเจ้าจึงบัญญัติห้ามมิให้ทำ
ต้นบัญญัติหลายข้อจึงกลายเป็นพระวินัยได้ หรือกลายเป็นสิกขาบทได้ เพราะว่ามีโยมมาบอก เอาเป็นธุระ เพราะฉะนั้น การที่โยมจะทักท้วงพระเป็นสิ่งที่ทำได้ และเป็นหน้าที่ของพระที่จะรับฟัง
อย่างพระรูปนี้ที่พอรู้ว่าผู้เฒ่าจงใจเตือนว่าให้ท่านอย่ามัวแต่สอนคนอื่น ให้สอนตัวเองด้วย ท่านก็ไม่โกรธ ทีแรกอาจจะโกรธ อาจจะไม่พอใจ แต่ตอนหลังได้คิดว่าผู้เฒ่าท่านเตือนเราให้รู้จักมองตัวด้วย อย่าไปโทษแต่คนอื่นอย่างเดียว อย่าไปว่าแต่คนอื่นอย่างเดียว ต้องกลับมาตําหนิหรือว่าทักท้วงตัวเองด้วย ต้องรู้จักพิจารณา แต่การทักท้วงบางอย่างก็ไม่ควรจะโอนอ่อนผ่อนตาม
อย่างเมื่อ 50 ปีก่อน หลวงพ่อคำเขียนท่านไปเป็นเจ้าอาวาสที่วัดภูเขาทอง ตอนนั้นทั้งชาวบ้าน ทั้งวัดยุ่งเหยิงมาก ในวัดมีขวดเหล้าเต็มเลย เพราะว่ามีการจัดมหรสพกันในเขตวัด ทั้งหมอลำ ทั้งลูกทุ่ง เวลาจัดมหรสพชาวบ้านก็เอาเหล้ามากิน
หลวงพ่อบอกว่าท่านเก็บขวดเหล้าเอาไปทิ้งเป็นวัน ๆ เลย ตอนหลังท่านจึงไม่อนุญาตให้ใช้พื้นที่วัดในการจัดมหรสพ จะมีกฐิน จะมีผ้าป่าอย่างไรก็ไม่ให้มีมหรสพ
ตอนที่อาตมาไปเห็นวัดภูเขาทองใหม่ ๆ ปี 2523 ยังเห็นวิกหรือเวทีหมอลำซึ่งร้างไปแล้วเพราะไม่มีใครใช้ หลวงพ่อไม่อนุญาต ชาวบ้านก็ไม่พอใจ มาโวยวาย มาเรียกร้องท่านให้อนุญาตให้เอาหมอลำ มหรสพมาจัดในวัดได้ หลวงพ่อไม่ยอม ท่านแข็งในเรื่องนี้ ถึงแม้หลายอย่างท่านจะมีเมตตา ในที่สุดชาวบ้านก็ฟัง
เพราะหลวงพ่อท่านเป็นพระดี ชาวบ้านที่ไม่เคยเข้าวัดก็เข้าวัด ไม่ใช่เฉพาะดูแลจัดระเบียบวัด ในหมู่บ้านชาวบ้านทะเลาะกัน ผัวเมียทะเลาะกัน ท่านก็ช่วยไกล่เกลี่ย ที่เคยตีรันฟันแทงกันท่านก็ช่วยสมานไมตรี ทำให้ไม่มีการใช้ความรุนแรงต่อกัน พระคุณของหลวงพ่อทำให้เวลาชาวบ้านมาเรียกร้องอะไรแล้วหลวงพ่อไม่ทำตาม เขาก็ไม่โกรธ ไม่ใช่ว่าพอไม่ทำตามก็จะขับไล่
เพราะฉะนั้น เรื่องการที่ชาวบ้านจะทักท้วงพระก็ต้องรู้จักมีวิจารณญาณด้วยว่าที่พระท่านทำให้ถูกต้องไหม ถูกต้องตามธรรมวินัยไหม แม้จะไม่ถูกกับประเพณี แต่ถ้าถูกธรรม ถูกวินัยก็ควรจะอนุโมทนา
อีกอย่าง เวลาทักท้วงต้องรู้จักมีอุบายด้วย ไม่ใช่ว่าจู่ ๆ จะไปด่า แบบนี้ไม่มีศิลปะ อย่างผู้เฒ่าคนที่เล่าในเรื่องนี้ แกทักท้วงอย่างมีศิลปะ เอาขวานมาถวายในกัณฑ์เทศน์ ทำให้ผู้ที่ถูกทักท้วงเขารู้จักคิดพิจารณา เดี๋ยวนี้เราไม่ค่อยมีศิลปะในการทักท้วง ไม่พอใจอะไรก็ไม่เก็บอารมณ์ ด่าเลย ไม่ว่าต่อหน้าหรือว่าทางเฟซบุ๊ก ทางโซเชียลมีเดีย
ศิลปะในการทักท้วงสำคัญ อย่างแต่ก่อนมีพระบางรูปกินเหล้า เล่นการพนัน แถมยังกินข้าวเย็น ชาวบ้านก็ระอา แต่ก็ไม่ปล่อยเฉย วันดีคืนดีมาถวายกัณฑ์เทศน์ ในกัณฑ์เทศน์ไม่ได้มีแต่เงินอย่างเดียว มีเสื้อผ้าด้วย มีเสื้อ มีกางเกง มีรองเท้า ทีแรกพระท่านก็เอะใจ เอ๊ะ ทําไมถวายเสื้อ ถวายกางเกง สุดท้ายก็รู้ว่าชาวบ้านนิมนต์ให้ท่านสึกเสีย อันนี้เรียกว่ามีศิลปะ ไม่ใช่ว่าจะต้องไปตะโกนด่ากันอย่างเดียว
เดี๋ยวนี้เราไม่มีศิลปะแล้ว ไม่ว่าระหว่างพระกับโยม หรือระหว่างพระกับพระ รู้จักทักท้วงอย่างมีศิลปะบ้าง จะทำให้เกิดความเข้าใจ ไม่เกิดการทะเลาะเบาะแว้ง หรือรุนแรงต่อกัน.