พระอาจารย์ไพศาล วิสาโล วัดป่าสุคะโต แสดงธรรมเย็นวันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2567
เมื่อเช้าเราได้ฟังเทปคำบรรยายของหลวงพ่อคำเขียน มีตอนหนึ่งท่านพูดถึงหลวงพ่อเทียน หลวงพ่อเทียนบอกกับท่านว่า “เงินสิบเงินร้อยมันหายาก แต่เงินหมื่นเงินแสนมันหาง่าย” หลวงพ่อเทียนท่านพูดจากประสบการณ์ของท่านตอนเป็นฆราวาส เป็นพ่อค้าไปซื้อปอซื้อข้าวจากชาวบ้าน
ซื้อเสร็จตกลงกันเรียบร้อย ท่านก็ฝากปอฝากข้าวให้ชาวบ้านเก็บเอาไว้ก่อน แล้วก็ไปหาโอกาสขายสินค้าเหล่านั้น ขายด้วยการไปกินกาแฟกินชา มีใครเกิดสนใจอยากจะซื้อปอซื้อข้าวจากท่านก็ตกลงกันที่ร้านกาแฟนั้น ไม่กี่นาทีท่านก็ได้เป็นเงินหมื่นเงินแสนแล้ว
ส่วนการขนปอขนข้าวก็ให้ผู้ซื้อนั่นแหละไปขนมาจากไร่ของชาวบ้านหรือว่ายุ้งฉางของชาวนาที่ท่านได้ตกลงซื้อขายกันก่อนหน้านั้นเรียบร้อยไปแล้ว ท่านไม่ต้องเหนื่อยอะไรเลย แค่ตกลงซื้อขายกันที่ร้านกาแฟไม่กี่นาทีก็ได้เงินหมื่นเงินแสน
ในขณะที่คนหลายคนกว่าจะได้เงินสิบเงินร้อยก็ต้องทำงานอาบเหงื่อต่างน้ำเป็นกรรมกรบ้าง เป็นชาวนาชาวไร่รับจ้างเขาบ้าง ทั้งวันก็ได้แค่สิบแค่ร้อย แต่หลวงพ่อเทียนขณะที่เป็นพ่อค้าเงินหมื่นเงินแสน สำหรับท่านเป็นเรื่องที่หาได้ง่ายมาก ส่วนหนึ่งก็เพราะว่าท่านใช้ปัญญา ไม่ต้องลงทุนอะไรมาก ปอหรือข้าวก็อาศัยไร่หรือยุ้งข้าวของชาวบ้านเก็บเอาไว้ ส่วนการขนส่งขนย้ายสินค้าก็ให้ผู้ที่ซื้อไปนั้นรับผิดชอบ
อันนี้ก็เป็นประสบการณ์ของหลวงพ่อเทียนสมัยเป็นฆราวาส ซึ่งจะว่าไปแล้วมันก็เอามาโยงกับการปฏิบัติธรรมได้ การปฏิบัติธรรมโดยเฉพาะการฝึกจิตสำหรับบางคนมันเป็นเรื่องที่ยากมากถ้าเป็นการฝึกจิตเพื่อให้เกิดความสงบ สงบแบบไม่มีความคิดฟุ้งซ่านหรือไม่มีความคิดใด ๆ เกิดขึ้นในใจ
การฝึกจิตแบบนั้นมันเหนื่อย เพราะว่าต้องพยายามบังคับจิตไม่ให้คิดซึ่งก็ไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะจิตชอบคิดอยู่แล้วเป็นธรรมชาติของเขา เป็นธรรมชาติของจิตที่ชอบเที่ยวชอบปรุงแต่ง
ไปบังคับจิตไม่ให้คิดก็ต้องมีอุบายหลายอย่าง เช่น ให้จิตมันอยู่กับลมหายใจ ให้จิตมันมาอยู่ที่ท้องรับรู้อาการพองยุบ ก็คือต้องใช้การเพ่ง เพ่งที่กาย เพ่งที่มือ เพ่งที่เท้าเพื่อไม่ให้มันคิดหรือว่าออกไปเถลไถลข้างนอก เท่านั้นไม่พอ พอมีความคิดเกิดขึ้นก็ต้องไปกดข่มมัน กดข่มความคิด และเพื่อไม่ให้จิตมันคิด ก็ต้องมีการบริกรรม คำบริกรรมก็เป็นสิ่งที่ช่วยร้อยจิตให้มันอยู่กับกายอยู่กับลม มันจะได้ไม่เพ่นพ่าน
ซึ่งใครที่ได้ทำแบบนั้นจะรู้สึกว่ามันยาก แล้วก็จะไม่ค่อยประสบความสำเร็จเท่าไร เพราะมันก็เผลอคิดอยู่เรื่อย พอเผลอคิดก็ต้องไล่ตามจับมัน หรือว่ากดข่มมัน แล้วบางทีก็ต้องคอยดักจ้อง ดักจ้องดูความคิดว่ามันจะผุดออกมาไหม มันจะโผล่ออกมาจากใจไหม ใครที่ทำแบบนี้ไปนาน ๆ ก็จะรู้สึกปวดหัว แน่นหน้าอก รู้สึกเครียด บางทีก็ปวดหลังปวดขา สารพัดปวด เพราะว่าพอมันมีความเครียดแล้วมันก็ไม่ได้เครียดทางจิตอย่างเดียว กายก็เครียดด้วยและที่เครียดเพราะว่าหงุดหงิดที่บังคับจิตไม่ได้
แต่ที่จริงมันมีวิธีที่ง่ายกว่านั้น ก็คือไม่ต้องบังคับอะไรเลย ไม่ต้องบังคับจิต อนุญาตให้ใจมันคิดโน่นคิดก็ได้ แต่ข้อสำคัญก็คือว่าให้รู้ว่ามันมีความคิดเกิดขึ้น พอรู้แล้วจิตที่มันเถลไถลออกไปข้างนอกมันจะกลับมา
แทนที่จะไปบังคับจิตไม่ให้ไป ก็ฝึกจิตให้มันกลับมา กลับมาก็ใช้วิธีการมีสติเห็นความคิด หรือว่ามีความรู้สึกตัว มันง่ายกว่ากันเยอะ ระหว่างการบังคับจิตไม่ให้คิดกับการอนุญาตให้จิตมันคิดได้ แต่ว่าเมื่อมันคิดไปแล้วก็รู้ตัวหรือว่าพาจิตกลับมา
ระหว่างการบังคับจิตไม่ให้ไปกับการฝึกจิตให้กลับมาอย่างหลังมันง่ายกว่า แล้วมันก็ให้ผลดีกว่าด้วยเพราะว่าทำให้เกิดความรู้สึกตัวได้ไว ทำให้รู้ทันความคิดและอารมณ์ต่าง ๆ ได้เร็ว แล้วก็ปล่อยวางความคิดและอารมณ์เหล่านั้นได้เร็ว ทำให้มันไม่มารบกวนจิตใจ ทำให้เกิดความสงบ
การปฏิบัติอย่างหนึ่งมันต้องทำด้วยอาการหน้าดำคร่ำเคร่ง แต่การปฏิบัติอีกแบบหนึ่งทำเล่น ๆ อย่างหลวงพ่อเทียนท่านบอกว่า “ทำเล่น ๆ” คือทำโดยไม่คาดหวัง อะไรจะเกิดขึ้นก็แค่รับรู้
ระหว่างการบังคับจิตให้สงบกับการรู้ว่าจิตไม่สงบ อันหลังมันง่ายกว่า บังคับจิตให้สงบเป็นเรื่องยาก แต่เมื่อจิตไม่สงบคือมีความคิดก็ให้รู้ อันนี้ง่ายกว่า การปฏิบัติหรือการฝึกทางจิตมันมีวิธีการที่ง่ายกว่า แล้วก็ให้ผลดีกว่า ให้ผลดีกว่า ก็ตรงที่ว่ามันทำให้ใจสงบได้
สงบไม่ใช่เพราะไม่มีความคิด แต่สงบเพราะว่ารู้ทันความคิด สงบไม่ใช่เพราะไม่มีอารมณ์เกิดขึ้น แต่ว่าสงบเพราะว่ารู้ทันอารมณ์ที่เกิดขึ้น เห็นอารมณ์มันเกิดขึ้น เห็นแล้วก็วาง ปล่อยให้อารมณ์หรือความคิดนั้นมันดับไป ดับไปเพราะอะไร ดับไปเพราะมีความรู้สึกตัวเกิดขึ้นมาแทนที่
แทนที่จะทำให้จิตมันสงบคือไม่มีความคิด ก็ให้จิตมีความรู้สึกตัว ซึ่งอันนี้มันง่ายกว่า แล้วการทำเล่น ๆ สามารถจะมีความรู้สึกตัวได้เร็ว สติพัฒนาได้ไว มันทำที่ไหนก็ได้ด้วย
ในขณะที่การบังคับจิตให้สงบมันต้องอาศัยสถานที่ที่พิเศษ ต้องมาปฏิบัติในห้องพระติดแอร์ หรือว่าต้องมาวัดมาเข้าคอร์ส ต้องเลือกมายังที่ที่สงบ แต่ว่าการปฏิบัติแบบที่หลวงพ่อเทียนท่านพาทำ ที่ไหนก็ได้ ที่บ้านก็ได้ บนถนนก็ได้ ที่ทำงานก็ได้
มันทำได้ทุกที่ทำได้ทุกเวลา ไม่ต้องจัดหาเวลาพิเศษเพื่อมาเข้าคอร์ส เสร็จแล้วก็บอกว่าไม่มีเวลา ๆ ๆ แม้กระทั่งการปฏิบัติที่บ้านเพราะว่ามันต้องทำนั่นทำนี่ มีเวลาทำอะไรตั้งเยอะแยะแต่ไม่มีเวลาปฏิบัติ อันนี้เป็นข้ออ้างของหลายคน
แต่ถ้าปฏิบัติโดยเน้นการเจริญสติ การทำความรู้สึกตัวแบบหลวงพ่อเทียน ไม่ว่าทำอะไรก็สามารถจะใช้เป็นโอกาสในการฝึกสติในการปฏิบัติได้ เก็บที่นอน อาบน้ำ กินข้าว ถูฟัน ล้างหน้า ล้างจาน ทำกับข้าวหรือกินข้าว ถ้ามีเวลาทำสิ่งเหล่านี้มันก็มีเวลาเจริญสติ มีเวลาทำความรู้สึกตัว มีเวลาปฏิบัติ เพราะแค่ทำด้วยสติ ทำด้วยความรู้สึกตัว คือ ตัวอยู่ไหนใจอยู่นั่น
แน่นอนใจมันไม่ค่อยอยู่หรอก มันชอบเถลไถลก็ไม่เป็นไร การปฏิบัติก็คือพามันกลับมา กลับมาที่ไหน กลับมาอยู่กับปัจจุบัน กลับมาอยู่กับสิ่งที่กำลังทำ คือทำด้วยความรู้เนื้อรู้ตัวหรือกลับมาอยู่กับความรู้สึกตัว โดยไม่มีข้ออ้างว่าไม่มีเวลา ไม่มีเวลา
เพราะมันไม่ต้องการเวลาพิเศษ มันจึงเป็นการปฏิบัติที่ทำได้ง่าย ทำได้ทุกที่ ทำได้ทุกเวลา แล้วก็ทำโดยที่ไม่ต้องไปบังคับควบคุมจิต ไม่ต้องไปเอาจิตไปเพ่งที่ไหน แล้วก็ไม่ต้องอาศัยคำบริกรรม ไม่ต้องปิดตา เปิดตาทำอะไรก็ปฏิบัติได้ นอกจากทำง่ายแล้ว มันก็ให้ผลเร็วด้วย
ถ้าหากว่าเราเน้นที่การพัฒนาสติ ทำความรู้สึกตัว สติจะพัฒนาได้เร็ว เพราะอะไร เพราะว่ามันได้ฝึก ฝึกกับอะไร ฝึกกับความคิดฟุ้งซ่านนั้น เพราะว่าสติจะพัฒนา มันก็ต้องเจอความคิด เจอความฟุ้งซ่านบ่อย ๆ
ความรู้สึกตัวก็เช่นเดียวกัน ความรู้สึกตัวจะเกิดขึ้นเร็วก็เพราะว่ามันได้เรียนรู้จากความหลง อย่างที่หลวงพ่อเทียนบอกว่า “ยิ่งคิดก็ยิ่งรู้” ที่ว่ายิ่งคิด คิดอะไร หมายถึงความคิดฟุ้งซ่าน ยิ่งคิดฟุ้งซ่านมันก็ยิ่งรู้สึกตัวได้เร็ว เพราะว่ารู้สึกตัวก็คือการกลับมาจากความหลง
จะรู้ว่าหลง มันก็ต้องหลงก่อนถึงจะรู้ แค่รู้ว่าหลงก็เป็นการพัฒนาสติ และก็เป็นการสร้างความรู้สึกตัวแล้ว เพราะฉะนั้นความคิดฟุ้งซ่าน ความหลงมันไม่ได้เป็นอุปสรรคต่อการปฏิบัติ มันกลายเป็นวัตถุดิบ อย่างที่หลวงพ่อคำเขียนใช้คำว่าปุ๋ย เป็นปุ๋ยที่ทำให้สติเจริญงอกงาม ความรู้สึกตัวเจริญงอกงาม
ซึ่งต่างจากการปฏิบัติเพื่อดับความคิด เพื่อไม่ให้มีความคิด เพื่อให้จิตมันนิ่ง อันนี้มันใช้เวลา แล้วตามมาด้วยความเครียด ลงเอยด้วยความเหนื่อย ความล้า ความผิดหวัง บางคนเครียดมากขนาดเอารองเท้าแตะฟาดหัว บางคนก็เครียดมากขนาดเอามือทุบอก เพราะมันคิดมากเหลือเกิน คิดมากเหลือเกิน
ในขณะที่การเจริญสติแบบหลวงพ่อเทียนคิดมากคิดน้อยไม่เป็นปัญหา คิดมากก็แค่รู้ว่าคิดมาก คิดน้อยก็รู้ว่าคิดน้อย มันก็จะเห็นคุณภาพของสติที่พัฒนาขึ้น จากเดิมที่คิดไป 7-8 เรื่องถึงค่อยมารู้ตัว ทำไป ๆ ไม่นาน คิดไป 3-4 เรื่องก็รู้แล้ว รู้ว่าเผลอ ทำไปอีกหน่อย อ้าว คิดไม่ทันจบเรื่องเลย ก็รู้แล้ว
สติพัฒนาเร็วโดยเฉพาะเราให้สติทำงาน ให้โอกาสสติทำงานหมายความว่าเราไม่ต้องไปทำงานแทนสติ หลายคนก็พยายามตั้งใจทำงานแทนสติ อยากให้ความคิดมันสั้นก็จะใช้วิธีการดักจ้องความคิด ก็จะทำให้เครียด แล้วทำให้ไม่รู้สึกตัวเข้าไปใหญ่ คือไม่ได้อยู่กับปัจจุบัน
ระหว่างที่เดินจงกรม ระหว่างที่นั่งตามลมหายใจ แทนที่จะมารู้กาย ก็กลับไปดักจ้องความคิด กายทำอะไรก็ไม่ค่อยรู้ชัด ไม่ว่าเดินหรือตามลมหายใจ แต่ว่าถ้าเราปล่อยให้สติทำงานก็คือว่า ขณะที่ทำอะไรใจก็อยู่กับสิ่งนั้น แม้ใจจะเผลอคิดไป ประเดี๋ยวสติออกมาทำงาน คือเห็นความคิดแล้วก็พาจิตกลับมา
ในการให้สติทำงาน มันง่าย ดีกว่าเราทำงานแทนสติ แต่คนก็ไม่ค่อยเข้าใจเพราะว่าใจร้อน อยากจะให้ความคิดมันหดสั้นเร็ว ๆ ก็เลยไปทำอะไรกับความคิด เช่น ดักจ้อง แล้วไปตะปบมัน แต่การเจริญสติแบบหลวงพ่อเทียนให้มันเห็นเอง ให้มันระลึกขึ้นมาได้เอง ระลึกขึ้นมาได้ว่ากำลังทำอะไรอยู่ในปัจจุบัน ต้องยอมให้โอกาสสติทำงาน ให้มันทำงานเอง เราไม่ต้องไปทำงานแทนสติ ถึงแม้จะช้าหน่อยแต่จะให้ผลเร็ว
เหมือนกับเราให้ลูกทำความสะอาดบ้าน ล้างจาน ใหม่ ๆ ลูกก็ทำงานไม่ค่อยสะอาดหรอก บางทีพ่อหรือแม่ใจร้อนเห็นผลงานไม่ดี จานชามไม่สะอาด ก็เลยล้างจานแทนเสียเลย แล้วแบบนี้ลูกจะล้างจานได้เป็นได้เก่งได้อย่างไร หรือจะทำความสะอาดบ้านได้เก่งได้ดีได้อย่างไร ก็ต้องยอมให้ลูกได้ทำ
ใหม่ ๆ ก็อาจจะทำได้ไม่ดี แต่ว่าทำไป ทำไป ลูกก็จะทำได้ดี ล้างจานได้สะอาด ทำความสะอาดบ้านได้ดี แล้วเราก็จะไม่เหนื่อย คนที่เป็นเจ้านายก็เหมือนกัน เห็นลูกน้องทำงานแล้ว ลูกน้องทำงานได้ไม่ดี เจ้านายทำเองเสียเลย สุดท้ายเจ้านายก็เหนื่อย แต่ถ้าให้ลูกน้องทำ แทนที่จะทำงานแทนลูกน้อง
ลูกน้องตอนทำใหม่ ๆ ทำได้ไม่ดีเท่าเจ้านาย แต่ต่อไป ๆ ถ้าให้โอกาสเขา เขาก็ทำได้ดีขึ้นเรื่อย ๆ จนกระทั่งอาจจะดีทัดเทียมกับเจ้านาย หรือว่าดีกว่าด้วยซ้ำ ถึงตอนนั้นเจ้านายก็ไม่เหนื่อยแล้ว
การเจริญสติถ้าเราให้โอกาสสติได้ทำงาน มันจะคิดไปกี่เรื่องกี่ราวเดี๋ยว สักพักสติมาแล้ว สติก็มาบอกเราว่าเผลอไปแล้ว สติก็จะพาจิตกลับมาเอง เราไม่ต้องทำงานแทนสติ ถ้าเราให้โอกาสสติทำงาน มันก็จะเร็วขึ้น ๆ เราก็จะไม่เหนื่อย
มันคล้าย ๆ กับเวลาเราอยู่ที่บ้าน เราก็ไม่อยากจะให้คนข้างนอกหรือพวกมิจฉาชีพเข้ามาในบ้าน ทำอย่างไร บางคนก็ประเภทว่ายืนหรือนั่งจ้องอยู่ที่หน้าบ้านที่ประตูนั้นเพื่อดูว่าจะมีใครเข้ามาในบ้านหรือเปล่า ขืนทำแบบนี้ก็ไม่ต้องทำอะไรแล้วก็เหนื่อย
แต่มันมีอีกวิธีก็คือว่า เจ้าของบ้านก็ทำนู่นทำไปแต่ว่ามีกล้องวงจรปิด เวลามีใครเข้ามาในบ้านก็ส่งสัญญาณให้เจ้าของบ้านรู้ว่ามีคนเข้ามาในบ้าน ถึงตอนนั้นเจ้าของบ้านก็หันไปดูได้ว่าเป็นใครคนรู้จักหรือเปล่า
สติมันทำงานแบบนั้นคือ มันเหมือนกับเป็นสัญญาณ คล้ายสัญญาณที่มาเตือน เตือนเราให้รู้ว่าตอนนี้เผลอคิดไปแล้ว ตอนนี้ เผลอมีอารมณ์แล้ว คือเมื่อไรก็ตามที่จิตไม่ปกติ จิตกระเพื่อมขึ้นมา สติจะบอกเลย สติจะเป็นตัวบอก แต่ใหม่ ๆ สติจะบอกช้า ไม่ทันใจเรา อันนี้เพราะว่าตั้งใจมากไป
พูดโดยสรุปก็คือว่า ถ้าหากว่าเจริญสติหรือทำความรู้สึกตัวแบบหลวงพ่อเทียน มันจะเหนื่อยน้อยกว่า แต่มันให้ผลได้มากกว่า ได้เร็วกว่า ในขณะที่การบังคับจิตเพื่อให้จิตสงบไม่มีความคิดหรือมีความคิดแต่น้อย มันต้องอาศัยเรียกว่าการลงทุนลงแรงมาก หน้าดำคร่ำเคร่ง ทำด้วยความเครียดและแถมต้องมีเงื่อนไขมาก ต้องมาทำในที่ ๆ สงบหลีกเร้น ต้องจัดหาเวลาพิเศษในรูปแบบ ใช้เวลาใช้เวลาเยอะแล้วก็ต้องเหนื่อยมากแต่ว่าได้ผลน้อย แล้วก็ช้า
อย่างที่หลวงพ่อเทียนบอกว่า เงินสิบเงินร้อยมันหายาก แต่เงินหมื่นเงินแสนมันหาง่าย การปฏิบัติบางอย่างมันเหมือนกับการทำงานแล้วเหนื่อยได้แค่สิบได้แค่ร้อย แต่การปฏิบัติบางอย่างมันไม่เหนื่อยมาก ทำง่าย ให้ผลได้เร็วให้ผลได้เยอะ
ยังไม่ได้พูดถึงว่าการปฏิบัติบางอย่างซึ่งมันให้ผลช้ามาก เช่น การสวดมนต์ หรือว่าการทำบุญให้ทาน มันต้องใช้เวลานานทีเดียว ผลในการเสริมสร้างคุณภาพจิตมันก็น้อยกว่ามาก
ไม่เหมือนการทำกรรมฐาน การทำกรรมฐานก็มีทั้งวิธีที่ทำยากได้ผลช้าได้ผลน้อย กับทำง่ายได้ผลเร็ว อย่างไรก็ตามมันก็ยังดีที่ทำ เหมือนกับบางคนพอเห็นว่าเงินสิบเงินร้อยกว่าจะได้มายาก ต้องไปอาบเหงื่อต่างน้ำ บางคนก็บอกเลยว่าอย่างนั้นไม่ทำดีกว่า ไม่ทำงานดีกว่าเพราะเหนื่อยแล้วก็ได้แค่สิบได้แค่ร้อย
ไม่ทำคือไม่หาเงิน ก็อาจจะสบายแต่ถึงเวลาที่จำเป็นต้องใช้เงินขึ้นมา พอไม่มีเงินเพราะไม่ยอมเหนื่อยไม่ยอมลำบาก ทำอย่างไร ก็ต้องไปกู้เงินมา เจอดอกเบี้ยราคาแพง ๆ หนี้ท่วมหัวเลย เพราะไม่รู้จักหาเงินตั้งแต่แรก เพราะไปคิดว่ามันเหนื่อยมันยาก
มันก็เหมือนกับคนหลายคนที่เห็นว่าการปฏิบัติธรรมมันยาก ก็เลยไม่ทำ แต่แล้วพอเจออะไรมากระทบ เจอสิ่งที่ไม่ถูกใจก็เกิดทุกข์ขึ้นมา อะไรมากระทบก็เป็นทุกข์ ใครเขาพูดแค่ตำหนิหรือว่าต่อว่าก็ทุกข์ โมโห ใครไม่กดไลค์ก็ทุกข์ เป็นสิวหรือกระทั่งผมแตกปลายก็ทุกข์ เรียกว่าทุกข์ตะพึดตะพือ เพราะว่าไม่รู้จักฝึก ไม่ว่าจะเป็นการปฏิบัติธรรมหรือแม้แต่การสวดมนต์เพื่อฝึกจิตฝึกใจ
เพราะฉะนั้นถึงแม้ว่าเงินสิบเงินร้อยจะหายาก แต่ว่ามันก็ดีกว่าไม่ทำอะไรเลย แต่ถ้าเรามีโอกาสเราก็ลองใช้วิธีที่ว่าทำวิธีที่ง่ายแต่ให้ผลเร็วให้ผลเยอะ มีผลเยอะ เปรียบเหมือนกับว่าเงินหมื่นเงินแสนมันหาง่าย อย่างที่หลวงพ่อเทียนท่านหาเงินได้ง่ายเพราะว่าท่านมีเงินเป็นทุน ก็เลยสามารถจะไปซื้อข้าวซื้อปอจากชาวบ้านได้ จึงไม่ค่อยเหนื่อยเท่าไร เวลาอยากจะได้เงินก็แค่ขาย เจรจาขายของที่ร้านกาแฟ
แต่การปฏิบัติงานเจริญสติแบบหลวงพ่อเทียนมันไม่ต้องใช้เงิน จะเป็นคนยากคนจน คนรวย จะจบ ป. 4 หรือปริญญาเอก มันก็ไม่เกี่ยว ขอให้ปฏิบัติให้ถูก อย่างที่ท่านว่าทำเล่น ๆ แต่ว่ากลับมามีสติ กลับมารู้สึกตัว มันจะไปบ่อยแค่ไหนก็ช่างมัน แต่ให้กลับมาก็แล้วกัน
หลวงพ่อคำเขียนท่านบอกว่า มันเก่งตรงที่กลับมา ไม่ใช่ไม่ไป มันจะไปก็ช่างมันแต่ว่ากลับมา กลับมาไว ๆ คือสิ่งที่วัดความเจริญก้าวหน้า ทำเล่น ๆ และก็ทำจริง ๆ ให้มีสติ ให้มีความรู้สึกตัวกับทุกอย่างที่ทำ ทีแรกก็รู้กายก่อน ต่อไปมันก็จะเห็นความคิด เห็นใจเคลื่อนไหว ซึ่งมันเป็นวิธีการที่ไม่ได้ยากอะไรเลย จะว่าไปแล้วเป็นวิธีที่ง่ายแต่ว่าให้ผลเร็วแล้วก็ให้ผล เห็นผลได้เยอะ.