พระอาจารย์ไพศาล วิสาโล วัดป่าสุคะโต แสดงธรรมก่อนฉันเช้าวันที่ 27 สิงหาคม 2567
ในสมัยพุทธกาล มีเศรษฐีคนหนึ่งชื่อ จิตตคหบดี เป็นคนที่ร่ำรวยมาก และขยันทำมาหากินแม้จะร่ำรวย
วันหนึ่งเห็นพระรูปหนึ่งเดินผ่านหน้าบ้านซึ่งเป็นคฤหาสน์ พระรูปนั้นคือพระมหานามะซึ่งเป็นพระอรหันต์รูปหนึ่ง เห็นแล้วเกิดศรัทธาเลื่อมใส จึงนิมนต์ท่านขึ้นมาฉันภัตตาหารบนเรือน สนทนากันแล้วยิ่งเกิดศรัทธาเลื่อมใสมากขึ้น จึงมอบสวนของตนให้เป็นสำนักให้พระมหานามะกับลูกศิษย์ได้มาพํานัก
ทุกเช้าก็นิมนต์พระมหานามะมาฉันที่บ้านและสนทนาธรรมเป็นประจำ จนกระทั่งวันหนึ่งจิตตคหบดีเกิดบรรลุธรรมเป็นพระอนาคามี และมีความรู้ทางธรรมสามารถที่จะอธิบายธรรมะให้กับญาติโยมหรือแม้กระทั่งผู้ที่ไม่เชื่อในพุทธศาสนา พวกอัญญเดียรถีย์ แม้กระทั่งพระบางรูปที่ไม่ค่อยสนใจหรือไม่ค่อยมีความรู้ทางธรรม ท่านก็สามารถจะแสดงธรรมให้เข้าใจได้ ภายหลังได้รับการสรรเสริญจากพระพุทธเจ้าให้เป็นเอตทัคคะทางด้านธรรมกถึก
มีช่วงหนึ่งท่านป่วยหนัก เกือบจะเข้าสู่ระยะสุดท้ายแล้ว เทวดาคงปรารถนาดีกับท่านจิตตคหบดี จึงมาแนะนําว่าให้ท่านน้อมจิตปรารถนาราชสมบัติ เพราะเมื่อตายไปแล้ว ชาติต่อไปจะได้ครองราชสมบัติ ชาตินี้รวยแล้วแต่ยังไม่มีอำนาจ เทวดาเห็นว่าถ้าได้เป็นพระราชาก็จะเรียกว่าเลื่อนขั้น ปรารถนาดี มาแนะนำให้ท่านตั้งจิตปรารถนาราชสมบัติ
แต่ท่านจิตตคหบดีกลับปฏิเสธ และบอกว่ามีสิ่งอื่นที่ดีกว่า ข้าพเจ้าไม่ปรารถนาราชสมบัติหรอก ไม่ว่าในชาตินี้หรือชาติหน้า
ระหว่างที่สนทนากับเทวดา ลูกหลานซึ่งเฝ้าไข้เห็นท่านพูดกับใครไม่รู้ เพราะลูกหลานมองไม่เห็นเทวดา จึงนึกว่าท่านจิตตคหบดีเพ้อ อาการคงหนัก จิตตคหบดีบอกว่า เปล่า ไม่ได้เพ้อ กําลังคุยกับเทวดา และเล่าให้ฟังว่าเทวดามาบอกอะไร และท่านได้โต้ตอบว่าอย่างไรบ้าง
แล้วท่านก็ขยายความเพิ่มเติมว่า สิ่งที่ประเสริฐกว่าราชสมบัติคือ ศรัทธาในพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ อันนี้คืออริยทรัพย์ แต่ราชสมบัติเป็นสามัญญทรัพย์ ยังด้อยว่าอริยทรัพย์
เพราะศรัทธาในพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ เมื่อมีอย่างแน่นแฟ้นจะนําไปสู่พระนิพพาน พ้นจากวัฏฏสงสาร พ้นจากทุกข์ สิ่งนี้ประเสริฐกว่า
อันนี้เป็นข้อคิดสำหรับชาวพุทธ เพราะชาวพุทธจำนวนมาก อาจจะเป็นเพราะศึกษาธรรมะไม่ลึกซึ้ง จึงปรารถนาความมั่งมี ความร่ำรวย อยากมีชื่อเสียง อยากเด่นอยากดัง เวลาทำบุญก็ขอให้ได้มีโชคมีลาภ มีความสำเร็จในการงาน แต่ที่จริงแล้วที่อธิษฐานหรือขอไปยังไม่ประเสริฐเท่ากับการที่ได้เข้าถึงธรรมจนบรรลุพระนิพพาน อันนี้ประเสริฐกว่า
แต่จะเข้าถึงพระนิพพานได้ต้องมีอริยทรัพย์ เช่น ศรัทธาในพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์อย่างแน่นแฟ้น ไม่ใช่ศรัทธาในเงิน เห็นเงินเป็นคําตอบของชีวิต เห็นชื่อเสียงเกียรติยศเป็นคําตอบของชีวิต ซึ่งไม่ใช่ เพราะถึงมีก็ยังทุกข์อยู่ แต่ถ้ามีศรัทธาในพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์อย่างแน่นแฟ้น จะนําไปสู่สิ่งที่ประเสริฐกว่า นั่นคือความพ้นทุกข์
ในสมัยเดียวกันมีเศรษฐีอีกคนหนึ่ง แต่อยู่คนละเมือง ไกลกันมาก นิสัยใจคอหรือว่าภูมิหลังแตกต่างกันเลย จิตตคหบดีสนใจทำมาหากินและตอนหลังมีใจน้อมไปในทางธรรม เห็นพระมหานามะก็เกิดศรัทธาเลื่อมใส ฟังธรรมจนกระทั่งบรรลุเป็นพระอนาคามี
เศรษฐีอีกคนหนึ่งชื่อ อุคคตคหบดี เมื่อได้มรดกจากพ่อมา คิดว่าบรรพบุรุษของเรา ปู่เรา พ่อเรา มีทรัพย์สมบัติมากมาย ตายไปก็เอาไปไม่ได้ ตอนที่ยังไม่ตายไม่ได้ใช้ทรัพย์สมบัติให้เลี้ยงตัวอย่างมีความสุข ไม่รู้จักเอาทรัพย์มาปรนเปรอตน จึงคิดว่าในเมื่อเราได้ทรัพย์สมบัติมหาศาลอย่างนี้เอามาใช้ดีกว่า เอามาใช้ปรนเปรอตนให้มีความสุข ไม่ใช่เก็บเอาไว้ เพราะเก็บไปถึงเวลาตายก็เอาไปไม่ได้ ตอนนี้มีก็ใช้ให้เต็มที่ จึงเอาเงินมาใช้ในการปรนเปรอตน
ทุกวันจะมีการละเล่น มีการเสพกันอย่างเต็มที่ ไปจ้างนางระบำมาฟ้อนรำ ขับดนตรี และที่ขาดไม่ได้คือการดื่มสุรายาเมา ทำอย่างนี้เป็นอาจิณ ไม่เป็นอันทำมาหากิน ธรรมะไม่สนใจ คนละคน คนละขั้วเลยกับจิตตคหบดี และเที่ยวด้วย ไปเที่ยว ไปที่ไหนก็พาผู้หญิงมาฟ้อนรําขับกล่อมให้เกิดความบันเทิง และเสพสุรายาเมา
มีช่วงหนึ่ง พระพุทธเจ้าไปพํานักอยู่ที่สวนที่เป็นอุทยานแห่งหนึ่งใกล้ ๆ กัน เป็นเวลาเดียวกับที่อุคคตคหบดีไปเที่ยวในอุทยานนั้น แต่ไปเที่ยวด้วยอาการเมามายเลย เพราะว่าเสพสุราตั้งแต่เช้าจรดค่ำ พอถึงรุ่งเช้ายังไม่สร่างเมา แต่ว่าอยากไปเที่ยว ไปอุทยาน ไปเจอพระพุทธเจ้า ไม่เคยเจอมาก่อน
แต่พอเจอปรากฏว่าสร่างเมาเลย ตามคําที่ว่า เกิดหิริโอตตัปปะ พอเห็นพระพุทธเจ้า สร่างเมาเลย กลับมาเป็นผู้เป็นคน สติกลับมา และพระพุทธเจ้าก็แสดงธรรม ปรากฏว่าอุคคตคหบดีฟังแล้วบรรลุธรรมเลย ทั้งที่เมื่อสักครู่นี้ยังเมาอยู่เลย เป็นพระอนาคามี
ตั้งแต่นั้นมาชีวิตก็เปลี่ยนเลย ทรัพย์สมบัติที่มีก็แจกจ่ายหมด หรือไม่ก็ไปอุปัฏฐากพระสงฆ์ เมียที่มี 4 คนก็ปล่อยให้เป็นอิสระ จะไปอยู่กับใครก็ตามสบาย พอใจกับการมีชีวิตสมถะ ทรัพย์สมบัติมีก็อุปัฏฐากพระสงฆ์ไม่เลือกหน้า
มีคราวหนึ่ง เทวดามากระซิบบอกอุคคตคหบดีว่า พระรูปนี้มีคุณวิเศษ มีวิชชา 3 องค์นี้ มีอภิญญา 6 องค์ นี่เป็นพระดี องค์นี้พระทุศีล ตั้งใจจะบอกว่า พระที่ดี มีวิชชา 3 อภิญญา 6 ก็ถวายเยอะ ๆ หน่อย และพระที่ทุศีลก็อย่าไปสนใจ
แต่อุคคตคหบดีไม่สนใจ ยังอุปัฏฐากพระด้วยจิตศรัทธาสม่ำเสมอเท่าเทียมกัน ไม่เลือกว่าพระองค์นี้พระอรหันต์ พระองค์นี้ทุศีลก็ยังอุปัฏฐากหรือถวายทานสม่ำเสมอเท่ากัน อาจเป็นเพราะว่าท่านไม่ได้อยากจะได้บุญ เพราะชาวพุทธจำนวนไม่น้อยเชื่อว่าถ้าถวายทานให้กับพระอรหันต์จะได้บุญเยอะ แต่ถ้าให้กับพระทุศีลจะได้บุญน้อย
แต่อุคคตคหบดีไม่มีความคิดแบบนั้นเลย ให้แบบสม่ำเสมอกันเท่าที่ควรแก่สมณบริโภค เพราะว่าพระทุศีลหากว่าได้รับการอุปัฏฐากดีอาจจะกลายเป็นพระดีขึ้นมาได้ เพราะว่ามีอยู่เยอะ พระในสมัยพุทธกาลที่เป็นพระไม่ค่อยดี ไม่ค่อยเรียบร้อย ตอนหลังได้กลายเป็นพระอรหันต์เพราะได้รับการนําแนะนําสั่งสอนและอุปัฏฐากที่พอสมควร ฉะนั้นอุคคตคหบดีจึงได้รับการสรรเสริญว่าเป็นเอตทัคคะด้านอุปัฏฐากพระสงฆ์
อันนี้เป็นคหบดี 2 ท่าน ซึ่งเป็นเอตทัคคะเหมือนกัน แต่เป็นเอตทัคคะคนละด้าน และพื้นเพภูมิหลังแตกต่างกันมาก แม้จะรวยเหมือนกัน แต่ว่าสุดท้ายได้บรรลุธรรมเป็นพระอนาคามีเหมือนกัน ท่านหนึ่งเน้นในเรื่องการแสดงธรรมให้คนเกิดปัญญา อีกท่านหนึ่งเน้นเรื่องการถวายทานให้กับพระสงฆ์ ซึ่งช่วยทำให้เกิดพระดี ๆ เป็นจำนวนไม่น้อย รวมทั้งพระที่เคยเป็นพระทุศีลก็กลับมาเป็นพระดีได้.