พระอาจารย์ไพศาล วิสาโล วัดป่าสุคะโต แสดงธรรมก่อนฉันเช้า วันที่ 23 สิงหาคม 2567
ตอนที่หลวงพ่อคำเขียนอายุ 50 ต้นๆ ท่านเคยพูดว่า ชีวิตที่เหลือของหลวงพ่อจะเจียดให้กับธรรมชาติครึ่งหนึ่งและเจียดให้กับผู้คนอีกครึ่งหนึ่ง เจียดให้กับธรรมชาติหรือป่านั้นหมายความว่า ท่านจะดูแลรักษาป่า ฟื้นฟูป่าที่มีอยู่แล้วให้ดี และขยายไปถึงการเพิ่มพื้นที่ป่ารวมถึงการปลูกต้นไม้ด้วย
ส่วนคนนั้น ท่านก็ไม่ได้หมายถึงเฉพาะการสอนกรรมฐานเท่านั้น แต่หมายถึงการช่วยให้เขาพ้นจากความทุกข์ยาก ความลำบาก ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการทำมาหากินหรือความเป็นอยู่ และท่านก็ไม่ได้ตั้งใจหรือมีปณิธานแบบนี้ตอนที่อายุ 50 หรอก ก่อนหน้านั้นท่านก็ทำ 2 สิ่งนี้มาโดยตลอด
ที่ท่านขึ้นมาอยู่วัดป่าสุคะโตนั้นทีแรกท่านก็ตั้งใจจะสอนธรรมะให้กับผู้คน แต่ตอนหลังก็พบว่าป่านั้นก็ต้องรักษา ต้องดูแลด้วย ไม่เช่นนั้นคนก็จะมาตัดไม้ ฆ่าสัตว์ ตอนหลังอยู่ได้สักพักก็พบว่าชาวบ้านมีความทุกข์มาก โดยเฉพาะเมื่อท่านไปที่ท่ามะไฟหวาน ปรากฏว่านอกจากต้องฟื้นฟูวัดให้เป็นวัดที่เหมาะสมสำหรับพระที่รักษาธรรมรักษาวินัยแล้ว ปรากฏว่าในหมู่บ้านเองก็วุ่นวาย ผู้คนทะเลาะเบาะแว้งกัน ผู้ร้ายก็มาก ชาวบ้านบอกว่าท่ามะไฟเวลานั้นเป็นดงเลือดทีเดียว ท่านก็ช่วยทำหน้าที่จนเหมือนกับผู้ใหญ่บ้าน
ชาวบ้านทะเลาะเบาะแว้งกันท่านก็ช่วยไกล่เกลี่ยให้คืนดีกัน ชาวบ้านกินเหล้าเล่นการพนันท่านก็พยายามทำให้อยู่ในระเบียบจนเลิกเหล้า การพนันก็น้อยลง สิ่งนี้ก็เป็นงานที่ท่านไม่ได้คิดว่าจะทำ แต่ว่าเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นเฉพาะหน้า
แล้วทีหลังท่านก็มาเห็นว่า เด็กเล็กๆลูกชาวบ้านตายเพราะไข้ป่ามาเลเรีย เพราะว่าพ่อแม่พาเด็กเล็กๆเข้าไปในป่าด้วย ท่านก็เลยสงสารคิดว่าพ่อแม่จะไปไร่ไปนาไม่จำเป็นต้องเอาลูกเข้าไปด้วยก็ได้ ลูกเข้าไปในป่าเดี๋ยวจะติดเชื้อโรค ท่านก็เลยรับภาระเอาลูกของชาวบ้านมาเลี้ยง ก็เลยเกิดศูนย์เด็กเล็กขึ้นมา โดยที่ท่านเองก็ไม่ทราบว่านี่คือศูนย์เด็กเล็กแห่งแรกของจังหวัดชัยภูมิ ไม่น่าเชื่อว่าศูนย์เด็กเล็กแห่งแรกในจังหวัดชัยภูมิอยู่บนหลังเขาซึ่งไม่มีถนนที่จะพาไปถึงได้
ตอนหลังท่านเห็นชาวบ้านเดือดร้อนเพราะข้าวสารราคาแพงบนหลังเขา อยากจะช่วยให้ข้าวสารมีราคาถูกลง ชาวบ้านจะได้พอซื้อได้ จะทำอย่างไร ท่านก็ไปขนข้าวจากจังหวัดชัยภูมิ ขนด้วยรถเพราะยังมีถนนจากชัยภูมิมาที่ท่ามะไฟได้
แต่ก่อนชาวบ้านจะซื้อข้าวต้องแบกข้าวมาจากแก้งคร้อแล้วปีนเขาขึ้นมาเพราะว่าไม่มีถนนจากท่ามะไฟไปแก้งคร้อ ชาวบ้านต้องซื้อข้าวมา บางคนไม่มีกำลังจะซื้อข้าวมา จะมาซื้อข้าวบนหลังเขาก็แพง ท่านจึงทำสหกรณ์ข้าว เอาข้าวราคาถูกๆเพราะซื้อเยอะ ขนมาด้วยรถจากชัยภูมิมาขาย เรียกว่าช่วยลดความเดือดร้อนของชาวบ้านที่ยากจน
สอนธรรมะก็สอนได้แต่เรื่องของศีล 5 สอนมากกว่านั้นก็ไม่ได้มากเท่าไหร่ แต่ก็ช่วยให้ชาวบ้านลดความเดือดร้อนได้ ทำมาหากินความเป็นอยู่ ตอนหลังท่านย้ายมาที่วัดป่าสุคะโต
ตอนที่อาตมามาถึงที่นี่ประมาณปี 26 เห็นศาลามีแต่โครงคือ เสากับหลังคา หลวงพ่อบอกว่าสร้างเสร็จจะเอาจักรเย็บผ้ามาสอนชาวบ้านให้เย็บผ้าเป็น เป็นการเพิ่มรายได้สร้างอาชีพให้กับชาวบ้านเพราะชาวบ้านที่นี่ยากจน ท่านคงไม่ได้สอนเองหรอกแต่หาคนมาช่วยสอน
แต่ตอนหลังก็เปลี่ยนความคิด อาจจะเป็นเพราะว่าชาวบ้านที่สนใจมีน้อย ท่านก็คิดต่อว่าชาวบ้านเป็นหนี้เป็นสินเพราะขายมัน ปลูกมัน เวลาขายแล้วถูกกดราคา ในขณะที่แม้แต่ผักหรือพริกก็ต้องซื้อเอา ท่านก็อยากจะลดรายจ่ายชาวบ้าน
ทำยังไงนะ ก็ชวนชาวบ้านมาปลูกผักในที่วัด แล้วที่วัดทำตรงไหนนะ ก็ตรงที่ปัจจุบันเป็นหอไตร เป็นที่ๆญาติโยมมาสร้างกุฎิรองรับ ตรงนั้นแต่ก่อนเรียกว่าพุทธเกษตร หลวงพ่อก็ชวนชาวบ้านมาปลูกผักจะได้ลดรายจ่าย และถ้าเป็นไปได้ต่อไปก็ทำเกษตรเพื่อเลี้ยงชีพเพื่อเลี้ยงตัวเองได้ เรียกว่าเกษตรเพื่อพึ่งตัวเอง ไม่ใช่เกษตรเพื่อขาย
ท่านคิดไปไกล เพื่อลดหนี้สินของชาวบ้าน ตรงพุทธเกษตรกรแต่ก่อนมีป้ายเขียน หลวงพี่สมชายท่านทำป้ายอย่างสวย ข้อความท่านก็คิดเอง สะท้อนให้เห็นถึงจิตวิญญาณของสุคะโตหรือโครงการของหลวงพ่อที่เรียกว่าพุทธเกษตร “ปลูกผักแก้จน ดับมืดมนพึงปลูกสติ”
ใครที่มาพุทธเกษตรก็จะเห็นข้อความนี้ แสดงให้เห็นถึงสุคะโต หรือหลวงพ่อว่าในด้านหนึ่งก็ช่วยชาวบ้านให้หายจนด้วยการเปลี่ยนวิถีการทำเกษตรมาเป็นเกษตรเพื่อพึ่งตัวเอง ผลิตเหลือค่อยขาย ไม่ใช่ผลิตเพื่อขายโดยตรงแต่ผลิตเพื่อการพึ่งตนเอง เหลือจึงค่อยขาย ราคาไม่ดีก็ไม่ขาย ราคาดีจึงค่อยขาย เรียกว่ามีอำนาจต่อรอง
และไม่ได้ทำแค่นั้น ในด้านหนึ่งก็ปลูกสติด้วย ไม่ใช่เพียงแค่ชาวบ้านแต่รวมถึงคนที่มาที่สุคะโต เรียกว่าเป็นงานที่ท่านทำเพื่อผู้คนไม่ใช่เพื่อป่าหรือเพื่อธรรมชาติอย่างเดียว แต่ว่าตอนหลังการช่วยชาวบ้านในเรื่องความเป็นอยู่เรื่องการทำมาหากิน ไม่ค่อยประสบความสำเร็จเท่าไหร่ งานด้านนี้จึงค่อยๆลดลงไปเหลือแต่งานด้านกรรมฐานที่ท่านทำเป็นหลัก
แม้ว่าท่านจะทุ่มเทไม่น้อยกับการช่วยเหลือชาวบ้าน แม้จะไม่สำเร็จท่านก็ไม่ทุกข์ ท่านเคยบอกว่างานของหลวงพ่อล้มเหลวแต่ตัวหลวงพ่อไม่ล้มเหลว งานที่ว่านั้นก็คืองานช่วยเหลือชาวบ้านล้มเหลวท่านยอมรับไม่แก้ตัว เรียกว่าซื่อตรงกับตัวเอง แต่อันที่จริงก็ไม่ได้เรียกว่าล้มเหลวทีเดียวแต่ท่านมองว่าล้มเหลว แต่เวลาที่ท่านทำงาน ท่านไม่ได้แค่ทำงาน
ท่านดูแลรักษาใจด้วย คือไม่ได้ทำงานด้วยความยึดมั่นถือมั่นว่าเป็นงานของกูหรือเป็นกู หลายคนทำงานคิดว่าเป็นกู เป็นของกู งานล้มเหลวคือกูล้มเหลว จิตใจย่ำแย่ แต่หลวงพ่อนั้นงานก็คืองาน แต่ไม่ได้ยึดว่าเป็นเราเป็นของเรา พูดง่ายๆว่าทำงานด้วยใจปล่อยวาง
เพราะฉะนั้นงานล้มเหลวก็ล้มเหลวไป แต่ใจไม่ทุกข์ เพราะไม่ได้คิดว่าเป็นกู คนส่วนใหญ่ทำงานแม้จะเจตนาดี แต่ทำไปๆ ก็ไม่ได้รักษาใจให้ดี ไปยึดว่างานนี้คือกู ของกู งานล้มเหลวก็คือกูล้มเหลว เสียใจ โกรธแค้นผู้คนที่ทำให้งานล้มเหลว แต่หลวงพ่อไม่มี
ดังนั้น พองานที่ช่วยเหลือชาวบ้านไม่ค่อยประสบความสำเร็จเท่าไหร่ ท่านก็หันมาทำงานเพื่อช่วยเหลือความทุกข์ในจิตใจของผู้คน คือมาสอนกรรมฐาน ตอนหลังท่านจึงมาทำเป็นงานหลัก
แต่แม้จะสอนให้ผู้คนใส่ใจในการดูแลรักษาใจของตัว แต่ท่านก็เตือนหรือย้ำว่าอย่าทำแค่นั้นให้ดูแลรับผิดชอบส่วนรวมด้วย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องป่า เรื่องชุมชน รักษาใจก็ดีแล้วแต่อย่าทิ้งส่วนรวม อย่าทิ้งธรรมชาติ
เพราะฉะนั้นพวกเราที่สุคะโต ที่ภูหลง ที่ท่ามะไฟ ตอนหลังจึงมาทำโครงการธรรมยาตราเพื่อช่วยให้ธรรมชาติบนหลังเขาฟื้นฟูดีขึ้น ก็ทำได้สำเร็จบ้าง ไม่สำเร็จบ้าง แต่ว่าก็เกิดทั้งประโยชน์ตนและประโยชน์ท่าน เวลาทำงานก็ไม่ยึดว่างานเป็นเรา เป็นของเรา รักษาใจด้วย แต่เวลารักษาใจก็ไม่ทิ้งส่วนรวม ต้องไปด้วยกัน ถ้าเราเอาแต่รักษาใจแต่ไม่รักษาส่วนรวม ไม่ใส่ใจผู้คนก็ยังถือว่ายังปฏิบัติธรรมไม่ครบถ้วน หรือถ้าเราทำแต่ส่วนรวม ทำแต่ช่วยเหลือผู้อื่นแต่ว่าไม่ดูแลใจของตัวเอง ก็ไม่ถูกเหมือนกัน
ดังนั้นหน้าที่ของเราซึ่งเป็นลูกศิษย์ของหลวงพ่อก็คือว่า ในด้านหนึ่งก็ดูแลรักษาใจ แต่ขณะเดียวกันก็ไม่ทิ้งส่วนรวม ไม่ทิ้งธรรมชาติ ไม่ทิ้งผู้คน อะไรที่ช่วยเหลือได้ก็ช่วยตามกำลัง ไม่ใช่เอาแต่รักษาใจแต่ไม่รับผิดชอบส่วนรวมอย่างนี้ก็ไม่ถูกต้อง.