แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
พระอาจารย์ไพศาล วิสาโล วัดป่าสุคะโต แสดงธรรมเย็นวันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2567
มีชายคนหนึ่งไปขัดขวางผู้ร้ายกลุ่มหนึ่ง แล้วมีการต่อสู้กัน เขาหนีรอดมาได้ แต่ก็ถูกยิงที่ท้อง แม้ว่าไม่ถึงกับถูกจุดหรืออวัยวะสำคัญ แต่เสียเลือดมาก เขาตัดสินใจไม่ไปโรงพยาบาล เพราะว่าผู้ร้ายนั้นเป็นผู้ที่มีอิทธิพล ขืนไปโรงพยาบาลก็อาจจะโดนผู้ร้ายกลุ่มนั้นทำร้ายเขาให้ถึงตาย พอไม่ไปโรงพยาบาล พยายามเยียวยาตัวเองเนื่องจากเสียเลือดมากก็เลยสลบมีคนเห็นก็พาไปหาหมอ หมอซึ่งอายุมากแล้ว ปลดเกษียณแล้ว หมอคงจะเจอกับเหตุการณ์แบบนี้บ่อย ก็เลยถามชายคนนี้ซึ่งเริ่มจะรู้สึกตัวแล้ว ว่าคุณเป็นคนดีหรือคนร้าย หมอถามอย่างนี้คงเพราะกลัวว่าถ้าช่วยคนร้าย เดี๋ยวตำรวจจะมาเล่นงาน ชายคนนั้นตอบว่า “ผมไม่รู้” แต่แม้กระนั้นหมอก็ตกลงช่วยชายคนนั้น เอาลูกกระสุนออก เย็บ แล้วก็ให้พักที่บ้าน เยียวยารักษาจนกระทั่งแผลหาย เดินเหินได้ ก่อนที่เขาจะจากหมอคนนี้ไป เขาก็ถามหมอว่าหมอจำได้ไหม หมอถามผมว่าอะไร หมอถามว่าผมเป็นคนดีหรือคนร้าย แล้วผมก็ตอบว่าผมไม่รู้ แล้วทำไมหมอก็ยังช่วยผม หมอตอบว่า คนดีก็มักจะพูดอย่างนี้
คำพูดของหมอหรือคำตอบของหมอน่าสนใจ คนดีก็มักจะพูดอย่างนี้ คือไม่รู้ แต่ถ้าเป็นคนชั่วหรือผู้ร้ายนี้ก็คงจะตอบว่า “ผมเป็นคนดี” ถ้าเกิดว่าชายคนนั้นตอบว่า ผมเป็นคนดี ก็ไม่รู้ว่าหมอจะรักษาเขาหรือเปล่า ประสบการณ์ของหมอคนนี้พอจะรู้ว่า ใครที่บอกว่าผมเป็นคนดี สงสัยว่าจะเป็นผู้ร้ายเอาไว้ก่อน เพราะว่าอะไร เพราะว่าผู้ร้ายพร้อมจะโกหกเพื่อเอาตัวรอด ในสถานการณ์อย่างนั้นถ้าอยากจะให้หมอรักษา ก็บอกหมอไว้ก่อน “ผมเป็นคนดี” ผู้ร้ายโกหกได้ไม่ยากว่าผมเป็นคนดี หรืออาจจะเป็นเพราะว่าผู้ร้ายมักจะเป็นเพราะ ไม่ค่อยเห็นความไม่ดีของตัวเท่าไหร่ เห็นแต่ความดีของตัว ถึงแม้จะไม่โกหก แต่ก็พูดด้วยความเข้าใจผิด หลงคิดว่าตัวเองเป็นคนดี ตรงข้ามกับคนดี อย่างชายคนนี้ที่ตอบว่าเขาไม่รู้ว่าเขาดีหรือเปล่า เพราะว่าเห็นความไม่ดีของตัว ซึ่งถ้าจะว่าไปแล้ว คนที่เห็นความไม่ดีของตัว แล้วก็ไม่แน่ใจว่าตกลงฉันเป็นคนดีหรือคนไม่ดีกันแน่ ก็มักจะเป็นคนที่มีคุณธรรม เมื่อไม่แน่ใจก็ตอบว่าไม่รู้ ไม่โกหก ทั้งๆ ที่ช่วงนั้นอยู่ภาวะความเป็นความตาย
คนไม่ดี ถ้าจะเอาตัวรอดก็ต้องโกหกไว้ก่อนว่าผมเป็นคนดี แต่ชายคนนี้ทั้งๆ ที่ว่าอยู่ในช่วงความเป็นความตาย ก็ยังบอกตามตรงว่าผมก็ไม่รู้ คือไม่แน่ใจ มันก็มีแต่คนดีที่จะพูดแบบนี้ได้ ทั้งที่คำตอบของตัวเอง อาจจะทำให้หมอปฏิเสธการรักษาก็ได้ แต่ก็พูดความจริง “ผมไม่รู้” ไม่รู้เพราะไม่แน่ใจ ที่ไม่แน่ใจเพราะเห็นความไม่ดีของตัว ซึ่งคนที่จะเห็นความไม่ดีของตัวก็ต้องมีคุณธรรมระดับหนึ่ง ที่จริง ใครที่เป็นคนที่มีคุณธรรมเมื่อมองมาที่ตัวเองอย่างซื่อตรง ย่อมเห็นว่าตัวเองมีความไม่ดีอยู่ อาจจะเคยทำผิดทำพลาด เคยผิดศีลด้วยความพลั้งเผลอ อาจจะตอนเป็นหนุ่มหรืออยู่ในวัยเยาว์ เพราะคนเรามันไม่มีใครที่พร้อม 100% ย่อมมีความผิดพลาด มีความพลั้งเผลอ มีความอ่อนแอ ที่ทำให้ทำตามอำนาจของกิเลส อาจจะผิดศีลผิดธรรม ไม่มากก็น้อย
[08:05] เพราะว่าเป็นธรรมชาติของมนุษย์ ไม่มีใครที่ดีเลิศสมบูรณ์พร้อม
ยิ่งมองตัวเองเท่าไหร่ ก็ยิ่งเห็นว่าเรามีข้อบกพร่อง อาจจะมากทีเดียว คนที่ปฏิบัติธรรม โดยเฉพาะการเจริญสติ เมื่อกลับมาดูใจของตัว แทนที่จะมัวหมกมุ่นกับการงาน หรือมัวส่งจิตออกนอก ก็จะเห็นความไม่ดีที่มันผุดขึ้นมา เป็นความคิดบ้าง เป็นอารมณ์บ้าง เห็นความโลภ เห็นความโกรธ เห็นความเกลียด เห็นความอิจฉา เห็นความคิดลบที่โทษคนนั้นคนนี้ แม้มันเป็นเพียงแค่ความคิด หรือเป็นอารมณ์ชั่ววูบ แต่มันก็ทำให้หลายคนพบว่าเราไม่ได้ดีอย่างที่คิดเลย ก่อนมาปฏิบัติเราคิดว่าเราเป็นคนดี แต่พอมาปฏิบัติเห็นความไม่ดีเยอะเลย หลายคนจะพูดแบบนี้
ซึ่งพอเห็นแล้ว บางทีก็รู้สึกไม่ดีกับตัวเอง ว่าทำไมฉันแย่แบบนี้ ทำไมฉันเลวแบบนี้ แล้วสิ่งที่เห็นนี้มันไม่ใช่แค่ความคิดและอารมณ์ที่เกิดขึ้น ในขณะที่ปฏิบัติอาจจะเห็นไปถึงว่าในอดีตเราเคยทำไม่ดีอย่างไรบ้าง หรือทำด้วยความเห็นแก่ตัว ตอนที่ทำอาจจะมองไม่เห็น มันมีข้ออ้างหรือว่าเอาข้ออ้างมากลบเกลื่อน หรืออาจจะเป็นเพราะว่าเพลินกับความสำเร็จจากการหลอกลวงเอาเปรียบ แต่พอเวลาผ่านไปแล้ว พอกลับมามองตัว แม้จะไม่ตั้งใจ มันก็จะนึกถึงเหตุการณ์ในอดีตที่เคยทำผิดทำพลาด ไม่ว่าจะเป็นอารมณ์ความรู้สึกที่เกิดในขณะที่ปฏิบัติ หรือว่าการกระทำในอดีต มันก็อาจทำให้หลายคนรู้สึกว่า เราไม่ได้ดีอย่างที่คิดเลย ใครที่เห็นตรงนี้ได้ ก็ถือว่าเริ่มปฏิบัติถูกทางแล้ว
แต่ถ้าปฏิบัติแล้วไม่เห็นเลยแสดงว่าคงจะปฏิบัติผิดแล้ว คงจะใช้วิธีการกดข่ม หรือว่าหลอกตัวเอง เพราะถ้าหากว่าซื่อตรงกับตัวเอง แล้วก็ดูใจของตัวด้วยความซื่อสัตย์ มองเห็นทุกอย่างอย่างที่มันเป็น หรือที่มันเกิดขึ้น ก็จะย่อมเห็นกิเลส เห็นความเห็นแก่ตัว เห็นความไม่น่ารักหลายอย่างที่เกิดขึ้น ซึ่งถ้าวางใจไม่ถูก มันก็ทำให้รู้สึกแย่กับตัวเอง รู้สึกเกลียดตัวเองขึ้นมา แต่ถ้าวางใจเป็น ก็เห็นว่าเราเป็นปุถุชน มีกิเลส มีความเห็นแก่ตัว มีความยึดติดถือมั่น ซึ่งในแง่หนึ่งมันเป็นข้อดี ทำให้เราอ่อนน้อมถ่อมตนมากขึ้น ก่อนปฏิบัติอาจจะหลงตัวลืมตัว ว่าฉันเป็นคนดีมีศีล พอยกตนว่าเป็นคนดีแล้ว อดไม่ได้ที่จะข่มคนอื่นหรือดูถูกคนอื่นว่าเป็นคนไม่ดี เป็นคนแย่เพียงเพราะว่าไม่ได้ทำอย่างที่ตัวเองทำ หรือไม่ได้ทำอย่างที่ตัวเองคิด มีมากมายคนที่คิดหรือสำคัญตัวว่าเป็นคนดี มักจะมองคนอื่นติดลบ อันนี้มันเกิดจากอาการยกตนข่มท่าน หรือเกิดจากความหลงติดในตัวตน เกิดอัตตาขึ้นมา แต่พอปฏิบัติธรรม มาเฝ้าดูใจของตัว อาการของอัตตา ความเห็นแก่ตัว ไม่สามารถจะหลบ หรือพ้นสายตาของเรา สายตาที่ว่านี้ก็คือตาใน มันไม่มีทางที่จะหลบหรือซ่อนจากการรับรู้ของเราได้ พอเราเห็นแล้วถ้าเราเจริญสติมาพอสมควร ก็จะรู้ว่าอารมณ์ที่เกิดขึ้น ความเห็นแก่ตัวที่เกิดขึ้น หรือว่าความไม่น่ารักที่เกิดขึ้นในใจ มันไม่ใช่เรา
แต่ถ้าไม่มีสติ ไปหลงคิดว่าเป็นเราแล้ว ก็ไปสรุปเลยว่าฉันแย่ ฉันเลว ทำไมฉันเป็นคนเลวแบบนี้ ทำไมฉันคิดร้ายต่อเพื่อน คิดร้ายต่อครูบาอาจารย์ หรือบางทีก็คิดร้ายต่อพระรัตนตรัย มันจะมีความคิดแบบนี้ ไม่ใช่ความเห็นแก่ตัว ความโกรธ ความเกลียด ความอิจฉา มันมีความคิดร้ายๆ ต่อคนที่เราเคารพ หรือคิดไม่ดี คิดอกุศล แม้กระทั่งคิดในทางลามก หากเรามองเห็นว่า มันไม่ใช่เรา มันก็แค่ความคิดที่เกิดขึ้น แล้วมันก็เกิดขึ้นได้ ความคิดทุกอย่างมันเกิดขึ้นได้กับใจ แม้จะเป็นใจของเราก็ตาม มันเหมือนกับจาน จานอาหารสามารถที่จะใส่อาหารได้ทุกชนิด หรือแม้กระทั่งสิ่งที่เป็นขยะ ไม่ใช่ว่ามันจะรองรับแต่อาหารหรือของดี สิ่งที่เป็นขยะมันก็สามารถจะรองรับได้ หรือเหมือนกับศาลานี้ ใครๆ ก็ขึ้นมาได้ ไม่จำเป็นต้องเป็นพระ เป็นโยม บางทีก็เป็นผู้ร้าย เป็นโจร ขึ้นมา คนเมา คนติดยาก็ขึ้นมา อาจจะมานั่งพัก มานอนพัก ศาลานี้มันไม่ได้ปิดกั้น รับเฉพาะคนดี ใจก็เหมือนกัน สามารถจะมีความคิดนานาชนิดเกิดขึ้น ถ้าเรามองดูใจของเราอยู่บ่อยๆ ก็จะเห็นความคิดอกุศล ความคิดลามก ความคิดจ้วงจาบพระรัตนตรัยเกิดขึ้นได้ในใจนี้
ห้ามไม่ได้ แต่แม้กระนั้นมันไม่ใช่เรา มันไม่ใช่ของเรา
ตรงนี้เป็นจุดสำคัญถ้าปฏิบัติมาพอสมควร จะเห็นว่ามันไม่ใช่เรา ความโกรธก็ไม่ใช่เรา ความเกลียดก็ไม่ใช่เรา แต่ถ้าไปสำคัญมั่นหมายว่าเป็นเรา มันจะทุกข์เลย ว่าทำไมเราแย่แบบนี้ เราชั่วแบบนี้ บางคนรู้สึกแย่มากที่มีความคิดลบ มีเสียงจ้วงจาบพระรัตนตรัย จ้วงจาบครูบาอาจารย์ คิดลามกต่อคนที่เคารพ หรือคิดอกุศล พอคิดว่าเป็นเรา เป็นเรา ก็เลยสรุปว่าเราแย่ เรามันคนเลว ยิ่งห้ามเท่าไหร่ มันก็ยิ่งผุดยิ่งโผล่ความคิดแบบนี้ บางคนถึงกับอยากจะฆ่าตัวตาย เพราะทนไม่ได้ที่เรามันเลวแบบนั้น ที่จริงมันไม่ใช่เรา ถ้าเจริญสติ การเจริญสติจะทำให้เห็นว่ามันไม่ใช่เรา มันก็เป็นแค่ความคิดลบคิดร้ายที่เกิดขึ้น เช่นเดียวกับความคิดดีๆ ก็เกิดขึ้นได้เมื่อรู้เช่นนี้ มันก็ไม่เกิดความรู้สึกเกลียดตัวเอง เพียงแต่เห็นว่า ถ้าไม่ระวังเราก็อาจจะทำชั่ว ทำสิ่งที่ไม่สมควรได้ เพราะฉะนั้นต้องระวังตัวเองให้มาก อันนี้มันทำให้เกิดความระมัดระวัง แล้วก็ทำให้เกิดความถ่อมตัว ว่าเรานี้ก็มีสิทธิ์ที่จะทำผิดทำพลาดได้ ถ้าเราเผลอ ไม่ต่างจากคนอื่น
ถึงตอนนี้ จากเดิมที่เคยคิดว่าฉันเป็นคนดี อยู่สูงกว่าคนอื่น มันจะช่วยทำให้เรากลับมามองคนอื่นว่า เราก็ไม่ต่างจากเขา ถ้าเราไม่ระวังเราก็อาจจะทำชั่ว อาจจะโกง อาจจะทุจริต อาจจะทำร้าย หรือว่าอาจจะทำในสิ่งที่ไม่สมควรทำก็ได้ เพราะว่ากิเลสที่จะหลอกล่อให้เราทำชั่วไม่ว่าทางใด ไม่ว่าจะเป็นด้วยอำนาจของโลภะ หรือโทสะ ราคะ มันก็มีขึ้นได้ ในแง่หนึ่งก็ทำให้เราระมัดระวังตัว ไม่หลงลืมตัวลืมตนว่ากูแน่ ในขณะเดียวกันก็ไม่ดูถูกคนอื่นว่าเป็นคนเลว หรือว่าต่ำต้อยกว่าฉัน ขณะเดียวกันถ้าหากว่าเมื่อมองเห็นความผิดพลาดในอดีต ถ้าหากว่าวางใจเป็น เราก็ยอมรับได้ ว่าเราเคยทำผิดทำพลาดเพราะว่าขาดประสบการณ์ เพราะว่าลุแก่โทสะ หลายคนพอมองเห็นความผิดพลาดในอดีตโดยเฉพาะกับผู้มีพระคุณ รู้สึกแย่กับตัวเอง รู้สึกผิด ก็ปล่อยให้ความรู้สึกผิดมันกัดกร่อน ทำร้ายจิตใจ ลงโทษตัวเอง แล้วยิ่งกดข่มมันเท่าไหร่ ยิ่งพยายามลืมมันเท่าไหร่ มันก็ยิ่งผุดยิ่งโผล่ ยิ่งรังควาน แต่การเจริญสติช่วยเราตรงนี้ ช่วยทำให้เราเห็นแล้ว ก็ยอมรับสิ่งที่เกิดขึ้นอะไรก็ตามเมื่อเกิดขึ้นแล้ว เรายอมรับมัน ยอมรับว่าเราเคยทำผิดทำพลาด มันก็ทำให้เราสามารถจะเป็นอิสระจากอดีตได้ อดีตจะไม่มาพันธนาการ รบกวนรังควาน แต่ถ้าไม่ปฏิบัติ มันจะมีความรู้สึกติดดี ความรู้สึกติดดี ทำให้ยอมรับไม่ได้ว่าเราเคยทำไม่ดีมาก่อน
“ความติดดีก็คือความรู้สึกว่า กูดี กูดี กูเป็นคนดี”
ความสำคัญมั่นหมายว่าฉันเป็นคนดี มันก็สามารถทำร้ายเราได้ พอเกิดความสำคัญมั่นหมายว่ากูดี กูดี พอได้เผลอทำสิ่งไม่ดีขึ้นมา มันก็เหมือนกับไปทิ่มแทงความรู้สึกว่ากูดี กูดี ยอมรับไม่ได้ อันนี้เป็นเพราะว่าติดดี ยอมรับไม่ได้ว่ากูเคยทำไม่ดีมาก่อน กับพ่อแม่ กับพี่น้อง กับเพื่อนฝูง มิตรสหาย พอมีความรู้สึกแบบนี้เข้า มันก็ทำให้อยากจะลืม อยากจะกดข่ม ซึ่งเท่ากับให้อำนาจกับความรู้สึกนี้ในการรบกวนรังควาน อาละวาด แต่ถ้าเรายอมรับว่า เราเคยทำไม่ดีมาก่อน การยอมรับในการกระทำที่ไม่ดี หรือการยอมรับว่าเราเคยผิดเคยพลาด มันก็ทำให้เราสามารถที่จะเดินหน้าต่อไปได้ ทำให้เป็นอิสระจากความรู้สึกผิด เหมือนกับว่าได้รับการเยียวยา ซึ่งอาจจะเจ็บปวดในช่วงแรกๆ เพราะว่ามันยอมรับได้ยากว่าเราเคยไม่ดี เคยทำผิด ทำพลาด ความรู้สึกว่ากูไม่ดี กูไม่ดี หรือกูพลาด มันก็เจ็บปวดเหมือนกัน แต่ถ้าเราไม่ปล่อยให้อำนาจของอัตตามันครองใจ ยอมรับมัน เอามาเป็นบทเรียน หรือว่าทำความดีชดเชย มันก็ช่วยทำให้คลายความรู้สึกผิดนี้ได้ แล้วก็มีกำลังใจในการที่จะดำเนินชีวิต แล้วก็ทำความดีต่อไปเรื่อยๆ
[23:32] การเป็นคนดี หรือความสำคัญมั่นหมายว่าเป็นคนดี มันก็เป็นทุกข์ เรียกว่าทุกข์ของคนดี
ทุกข์ของคนดีคือว่า มักจะถูกความไม่ดีที่เคยทำในอดีตทิ่มแทงอยู่เรื่อยๆ อันนี้เป็นผลของการติดดี เวลาเราทำดีแล้วรู้สึกว่าทำดีไม่พอ มันก็ทุกข์ อย่างคนที่ทำดีกับผู้มีพระคุณเท่าไหร่ ๆ แล้วไม่เคยรู้สึกว่าพอสักที ทำดีกับพ่อแม่จนกระทั่งท่านจากไป ยังรู้สึกผิด ว่าเรายังทำดีกับท่านไม่พอก็เพราะว่า เราคาดหวังว่าจะต้องทำดีให้ได้เต็มร้อย แต่มันไม่มีใครที่จะทำดีเต็มร้อยได้ ไม่ว่าจะทำเท่าไหร่ก็ยังรู้สึกว่า ยังไม่พอ ยังไม่เต็มร้อย ยังขาดไปอีก มันมีบางสิ่งบางอย่างที่ยังไม่ได้ทำ ก็เลยเป็นทุกข์ของคนดีซึ่งเกิดจากการไม่ยอมรับ ไม่เข้าใจว่าคนเราไม่มีใครที่ดีพร้อม สมบูรณ์พร้อม ไม่ว่าจะทำอะไร มันก็ยากที่จะดีถึงขั้น 100% ขนาดเรียนหนังสือ เวลาสอบเรายังไม่เคยสอบได้เกิน 90% เลย ส่วนใหญ่ก็ 70-80% สอบได้ 90% ก็เก่งแล้ว คนที่จะสอบได้ 100% นั้นน้อยมาก แต่เวลาพูดถึงความดี หลายคนคาดหวังว่าจะต้องดี 100% ดีพร้อม สมบูรณ์แบบพร้อม ฉะนั้นพอไม่ถึง เพราะมันไม่ใช่วิสัยของมนุษย์ ก็จะรู้สึกเป็นทุกข์ อันนี้ก็เรียกว่าเป็น ทุกข์อย่างหนึ่งของคนดี คือ ทำดีเท่าไหร่ก็ไม่พอ
แล้วยิ่งเกิดทำผิดทำพลาดขึ้นมา ก็ยิ่งรู้สึกเจ็บปวด ยอมรับไม่ได้ ว่าเราเคยทำผิดทำพลาด เพราะถ้ายอมรับก็แปลว่าเราไม่ดี ตรงนี้ที่มันเป็นทุกข์ของคนดี ไม่ดีอย่างที่คิด ไม่ดีอย่างที่หวัง บางทีก็รวมไปถึงการทำงานด้วย ทำงานก็ต้องให้ดี 100% พองานมันไม่ดีถึง 100% เห็นข้อผิดพลาดก็รู้สึกเป็นทุกข์ หงุดหงิดไม่พอใจ สุดท้ายก็เลยไม่กล้าทำอะไร เพราะกลัวทำแล้วจะไม่ดีเต็มร้อย แบบนี้ก็มี หรือถึงแม้ทำดีแล้วก็ยังรู้สึกเป็นทุกข์ ทำดีแล้วไม่มีคนเห็นก็ทุกข์เหมือนกัน หรือว่าทำดีแล้วมีคนเขาไม่เข้าใจ เขาต่อว่า เวลาเรารู้สึกว่าเราทนคำต่อว่าไม่ได้ ส่วนหนึ่งเพราะเราติดดี ติดดีคือคิดว่าฉันต้องดี คนต้องเห็นว่าฉันดีด้วย พอเขาเห็นว่าฉันไม่ดี ก็รู้สึกว่าอัตตาถูกกระทบ อย่าว่าแต่คำต่อว่าเลย แค่คำแนะนำ มันก็ทำให้เราเจ็บปวดถ้าเราไปสำคัญมั่นหมายว่าฉันเป็นคนดี คนเก่ง ทุกข์ของคนเก่งก็เป็นแบบนี้ ทุกข์ของคนดีก็เหมือนกัน ทนคำวิจารณ์ไม่ได้ ทนคำต่อว่าไม่ได้ เพราะมันไปกระทบกระแทกอัตตา อัตตานี้มันต้องการให้คนเห็นว่ากูดี กูเก่ง พอเขาไม่เห็นว่าดี ก็ทุกข์ พอคนตำหนิก็เจ็บปวด โกรธเขา แทนที่จะน้อมรับแล้วนำมาปรับตัวแก้ไข หรือขอบคุณเขา
ที่สำคัญคือ เวลาเห็นว่าใครดีกว่าก็ไม่พอใจเขา คนดีเวลาเห็นใครดีกว่านี้ ไม่พอใจ เพราะมันไปทำให้เรารู้สึกว่าเราดีน้อยลง เกิดการเปรียบเทียบ อันนี้เป็นผลของมัน ความสำคัญตัวว่าเป็นคนดีมันถึงน่ากลัว มันสามารถทำให้เราทุกข์ได้ง่าย แล้วก็ทำให้เกิดความอิจฉาคนที่เขาดีกว่า มันมีคำพูดว่า ทำดีแต่อย่าเด่นจะเป็นภัย คนไทยนับถือคตินี้มาก ใครดีกว่าไม่ได้ ก็จะอิจฉาเขา คนเลยไม่กล้าทำความดี เพราะดีแล้วจะถูกหมั่นไส้ คนที่หมั่นไส้ก็ไม่ใช่ใคร ก็คนที่อยากจะดีเหมือนกัน หรือคนที่คิดว่าฉันก็เป็นคนดี เพราะฉะนั้นเป็นคนดีมันก็เป็นทุกข์ ถ้าไม่อยากเป็นทุกข์ หรือไม่อยากไปเบียดเบียนใคร ก็อย่าไปยึดมั่นสำคัญหมายว่าเป็นคนดี แต่พยายามทำความดีเอาไว้เยอะๆ
“ทำดี ดีกว่าเป็นคนดี”
เคยมีฝรั่งถามหลวงพ่อชา ตอนที่ท่านไปแสดงธรรมที่อังกฤษ มีคนบอกว่า “มหายานเขาถือว่าพระโพธิสัตว์เป็นอุดมคติ แต่เถรวาทถือว่าพระอรหันต์เป็นอุดมคติของมนุษย์” อยากจะถามหลวงพ่อชาว่า “ควรจะเป็นอะไรดี ระหว่างอรหันต์หรือพระโพธิสัตว์” หลวงพ่อชาบอกว่า “อย่าเป็นอะไรเลย” พยายามเป็นอรหันต์ก็ดี พยายามเป็นพระโพธิสัตว์ก็ดี มันก็ทุกข์ทั้งนั้น ตราบใดที่เป็นใครก็ตาม มันมีแต่ทุกข์ ฉะนั้นท่านบอกว่า อย่าเป็นอะไรเลย อย่าเป็นใคร เช่นเดียวกันกับที่หลวงพ่อคำเขียนบอกว่า “ไม่เป็นอะไรกับอะไร” คำว่าเป็นอะไร อย่าว่าแต่อรหันต์หรือโพธิสัตว์เลย เป็นคนดี มันก็เป็นเรื่องของภพชาติ เป็นความสำคัญมั่นหมาย เป็นภพเป็นชาติ ขึ้นชื่อว่าเป็นภพชาติแล้ว มันก็ต้องมีชรา มรณะ และตามมาด้วยทุกข์ โทมนัส ฉะนั้น เมื่อไรก็ตามที่เราสำคัญมั่นหมายว่าฉันเป็นคนดี อันนี้ก็เตรียมทุกข์ได้เลย และที่จริงมันก็เกิดจากการปรุงแต่งของกิเลส ที่เรียกว่าอัตตวาทุปาทาน เมื่อใดก็ตามที่สำคัญมั่นหมายว่าฉันเป็นคนดี อันนั้นกำลังโดนกิเลสหลอกแล้ว
ฉะนั้นจะดีกว่า ทำดี โดยไม่ต้องสนใจว่าเป็นคนดีหรือเปล่า ทำดีไปเรื่อยๆ ทำดีไม่หยุด แล้วก็ฝึกใจให้ดีด้วย อันนี้ดีกว่าการเป็นคนดี.