พระอาจารย์ไพศาล วิสาโล วัดป่าสุคะโต แสดงธรรมก่อนฉันเช้าวันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2567
ที่อเมริกามีรายการโทรทัศน์สำหรับเด็กรายการหนึ่งซึ่งเป็นที่นิยมมาก แล้วก็มีถ่ายทอดต่อเนื่องยาวนานมาก 40 ปีได้จนถึงทุกวันนี้ เขาเรียกว่ารายการเซซามิสตรีท Sesame street ที่เมืองไทยก็เคยเอารายการนี้มาเผยแพร่ให้คนไทย แต่ว่าเลิกไปนานแล้ว
รายการนี้มีตัวตุ๊กตาตัวหนึ่งหน้าตาเหมือนตุ๊กตาชื่อเอลโม่ (Elmo) เอลโม่ก็เป็นตัวละครในเซซามิสตรีทที่เด็กๆ รู้จักดีเพราะว่า อารมณ์ดีแล้วก็ช่างพูดช่างคุย ขี้เล่น เมื่อสักสองอาทิตย์ที่แล้ว ในทวิตเตอร์หรือว่าเดี๋ยวนี้เขาเรียกว่า เอ็กซ์ (X) เอลโม่เขียนข้อความลงใน X สั้นๆ ว่า “เอลโม่มาแล้ว ตอนนี้ฉันอยากจะรู้ว่าพวกเราเป็นยังไงบ้าง”
เขียนสั้นๆ เท่านี้ ปรากฏว่ามีคนติดตามอ่านข้อความนี้แล้วก็เผยแพร่กันถึง 200 ล้านคน แล้วก็มีคนกดไลค์นี้ 150,000 และมีคนเขียนคอมเม้นท์ถึง 45,000 เยอะมากทีเดียว ที่น่าสนใจคือ คอมเม้นท์หรือข้อความที่คนโต้ตอบเอลโม่จำนวนมาก
มันสะท้อนความรู้สึกของผู้คน ความรู้สึกแบบไหน ความรู้สึกแบบเศร้า ห่อเหี่ยว ท้อแท้ อย่างคนหนึ่งก็เขียนว่า “ฉันรู้สึกเศร้า แล้วก็รู้สึกแตกสลาย” อีกคนหนึ่งบอก ว่า “ตัวเองตื่นเช้าขึ้นมา ฉันอยากจะให้มันมืดเร็วๆ จะได้รีบไปนอน ถึงวันจันทร์ก็อยากให้ถึงวันศุกร์เร็วๆ จะได้พัก เป็นอย่างนี้มาหลายอาทิตย์แล้วที่ไม่อยากตื่น ไม่อยากจะทำงาน หมดเรี่ยวหมดแรง” อีกคนหนึ่งก็บอกว่า “ตอนนี้ชีวิตฉันตกต่ำย่ำแย่มาก อารมณ์ความรู้สึกตอนนี้มันตกต่ำที่สุดเท่าที่เคยมีมา”
ข้อความทำนองนี้มีเยอะมากเลย แล้วก็มีหลายคนก็บอก “ขอบคุณที่ถาม ตอนนี้ฉันแย่จริงๆ เลย” มันกลายเป็นปรากฏการณ์ที่เขาเรียกว่าแพร่กระจายในวงการอินเตอร์เน็ต ขนาดตัวเอลโม่เองหรือแอดมินของบัญชีนี้ก็บอกไม่คาดคิดเลยว่า จะมีคนแสดงความรู้สึกมากมายท่วมท้นขนาดนี้ ประหลาดใจมาก
มันก็เลยกลายเป็นปรากฏการณ์ที่สะท้อนให้เห็นถึงความรู้สึกของผู้คนในเวลานี้โดยเฉพาะในหมู่คนอเมริกัน คือมีความทุกข์มาก มีความท้อแท้ มีความห่อเหี่ยว สิ้นเรี่ยวสิ้นแรง แต่ขณะเดียวกันก็ต้องการคนรับฟังด้วย แล้วคนรับฟังที่เขาอยากจะบอกอยากจะเล่าความรู้สึก อย่างตรงไปตรงมาคือ เอลโม่
เอลโม่ไม่ใช่คนจริงๆ มันเป็นแค่ตัวละครตุ๊กตุ่นตุ๊กตา แต่ว่าคนอเมริกันรู้สึกผูกพันกับตัวเอลโม่มาก เพราะว่าเห็นตั้งแต่เล็ก ในอเมริกาประมาณ 95% ของคนอเมริกัน เคยเห็นเคยชมรายการเซซามิสตรีทตั้งแต่ 3 ขวบ คือตั้งแต่ 3 ขวบก็รู้จักเอลโม่แล้ว และแม้โตมาเป็นหนุ่มเป็นสาว หรือว่าทำงานแล้ว ก็ยังรู้สึกผูกพันกับตัวละครตัวนี้ รู้สึกว่าเป็นเพื่อน รู้สึกว่าเขาจริงใจ รู้สึกว่าเขาอยากจะรับฟัง
การที่ผู้คนจำนวนมากถ่ายทอดหรือระบายความรู้สึกให้เอลโม่ มันก็ทำให้เกิดมีคำถามว่า “เอ๊ะ! หรือว่าคนเหล่านี้ก็ไม่สามารถที่จะพูด ไม่สามารถจะระบายให้คนอื่นที่อยู่รอบตัวเขาได้”
ในขณะเดียวกันมันสะท้อนเห็นว่า “คนเราต้องการใครสักคน หรืออะไรสักอย่างที่รับฟัง โดยเฉพาะในยามที่มีความทุกข์ แค่ฟังเฉยๆ ไม่ต้องให้คำแนะนำเขาก็สบายใจแล้ว หรือว่าความทุกข์มันก็ลดน้อยลง และคนหลายคนเขารู้สึกสบายใจ พอได้เขียนข้อความให้เอลโม่ ซึ่งก็ไม่ใช่คน แต่แค่เขียนแค่เล่าแค่ระบายเขาก็มีความรู้สึกเบาขึ้นมา ผู้คนเลยหันไปเล่าไประบายให้เอลโม่ เพราะในชีวิตจริงเขาไม่ค่อยมีคนสนใจที่จะรับฟังเรื่องราวความรู้สึก หรือความทุกข์
เพราะอย่างที่เคยเล่า เดี๋ยวนี้ในหมู่วัยรุ่นมันจะมีคาถาหนึ่งในเมืองไทย ไม่รู้เมืองนอกด้วยหรือเปล่า “No สน No แคร์” (ฉันไม่สนฉันไม่แคร์) ไปเที่ยวไปกินได้ แต่ถ้าจะมาเล่าอะไรให้ฉันฟัง ฉันไม่อยากฟัง “No สน No แคร์” พอไม่มีใครที่สนใจที่จะรับฟัง คนมีความทุกข์ก็เลยเหงาเลยห่อเหี่ยว
แล้วคำถามว่า “พ่อแม่ล่ะ พ่อแม่ไม่สนเหรอ” พ่อแม่ก็อาจจะสน แต่พอลูกเล่าระบายให้พ่อแม่ฟัง พ่อแม่ก็บอก “ให้เข้มแข็ง ให้สู้ๆ” คือแค่ฟังอย่างเดียวก็คงจะช่วยได้เยอะ แต่พอบอกว่าให้สู้ๆ เหมือนกับไปบอกเขาว่า “เธอยังสู้ไม่พอ เธอยังเข้มแข็งไม่พอ” เป็นการตำหนิเขาอีก หรือบางทีก็ต่อว่าเลย ต่อว่าตรงๆ เลยว่า “ก็แกมันขี้เกียจแบบนี้” หรือว่า “ไม่เอาใจใส่การเรียนแบบนี้” หรือว่า “เอาแต่นอนตื่นสายแบบนี้ มันจะรู้สึกดีได้ยังไง” หรือว่า “มันจะเรียนดีได้ยังไง” หรือว่า “จะมีแฟนได้ยังไง”
พอเจอคำตอบว่าแบบนี้เด็กๆ หรือว่าลูกก็ไม่อยากจะพูด ไม่อยากจะเล่าแล้ว เพราะพูดไประบายไปก็ถูกว่า หรือว่าถูกตำหนิกลายๆ
อันนี้ก็เป็นปัญหาของคนสมัยนี้ ซึ่งสมัยก่อนยังดี ดีกว่าสมัยนี้ตรงที่ว่า มีคนรับฟัง พ่อแม่ เพื่อนฝูง ครูบาอาจารย์ หรือบางทีเวลาไม่รู้จะระบายใคร ก็ไประบายให้พระพุทธรูป ไปนั่งอยู่หน้าพระพุทธรูป เล่าระบายความในใจ หลายคนก็มีความสุขแล้ว หรือว่ามีความทุกข์น้อยลง
อันนี้คงเป็นเหตุผลที่ทำให้คนนิยมไปหาศาลพระพรหม เพราะว่าท้าวมหาพรหมท่านฟังทุกปัญหาเลย ใครมีปัญหาอะไร เรื่องเงิน เรื่องครอบครัว เรื่องการเรียนก็มาระบายให้ท้าวมหาพรหมฟังได้ ท่านก็ไม่ตอบโต้อะไร ฟังเฉยๆ แค่นี้ก็ช่วยได้เยอะแล้ว แถมให้กำลังใจหรือทำให้มีความหวังด้วย เพราะว่าคนไม่ได้แค่มาระบายอย่างเดียวมาขอให้ท่านช่วยด้วย ยิ่งทำให้มีกำลังใจ มีความหวังก็พอที่จะสู้กับอุปสรรค ความยากลำบากต่อไปได้ ไม่ด่วนตัดช่องน้อยแต่พอตัว
แต่เดี๋ยวนี้คนรุ่นใหม่ก็คงจะไม่ค่อยสนใจท้าวมหาพรหมแล้ว แต่ว่าอาจจะไปนิยมสิ่งศักดิ์สิทธิ์แบบอื่นที่เรียกว่าสายมู อันนี้ก็ช่วยคนได้เยอะ เพราะว่าสิ่งศักดิ์สิทธิ์เหล่านี้ก็คงจะเป็นที่รับฟังระบายความทุกข์ของคนรุ่นใหม่ได้
หรือบางคนก็หันไปหาสัตว์เลี้ยง เลี้ยงหมาเลี้ยงแมว มีความทุกข์อะไรก็เล่าให้หมาฟัง เล่าให้น้องแมวฟัง แค่นี้ก็ช่วยได้เยอะแล้ว แม้ว่าจะไม่มีคำแนะนำ เพราะบางคนอาจจะไม่ต้องการคำแนะนำก็ได้ แค่ต้องการคนรับฟัง
เอลโม่มาช่วงนี้ก็ถูกจังหวะพอดี เพราะว่าคนฝรั่งอเมริกันเขาต้องการใครสักคนที่รับฟังอย่างไว้วางใจได้ รู้ว่าระบายแล้วเขาฟัง เขาไม่ต่อว่า เขาไม่มาตัดสินอะไร ก็เลยพากันระบายให้เอลโม่ฟังใหญ่เลย
เอลโม่ตอนหลังก็ตอบกลับมา บอกว่าขอบคุณที่เล่าความรู้สึกให้ฉันฟัง ฉันได้รู้เลยว่าเพียงแค่ได้รับฟัง หรือมีคนรับฟัง ก็ช่วยผู้คนได้เยอะแล้ว ขอให้พวกเธอมีกำลังใจ พอได้ข้อความเหล่านี้ คนทุกข์เขาก็รู้สึกมีกำลังใจขึ้นมาจากตัวละครเล็กๆ ชื่อเอลโม่.