พระอาจารย์ไพศาล วิสาโล วัดป่าสุคะโต แสดงธรรมก่อนฉันเช้าวันที่ 14 สิงหาคม 2567
มีนักเขียนคนหนึ่งเขียนหนังสือเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ เขียนไว้หลายเล่มเลย แล้วเขียนได้ดีด้วย ทั้งเนื้อหาทั้งสำนวน คนนิยมอ่านบ้างมากเป็นนักเขียนขายดี แกเล่าว่าในสมัยที่เรียนปริญญาเอกกับอาจารย์คนหนึ่ง
อาจารย์คนนี้เป็นอาจารย์สอนประวัติศาสตร์ แกเข้มงวดมากเรื่องสำนวน เรื่องวิธีการเขียน นักเขียนคนนี้ตอนที่เป็นนักศึกษาแกมีปัญหากับอาจารย์คนนี้มาก เพราะว่าตอนทำรายงานส่งอาจารย์ อาจารย์ก็เขียนวิจารณ์กลับมาว่า เขียนได้แย่มาก มีรอยแก้ไข มีข้อความวิจารณ์เรียกว่าแทบทุกหน้าเลย บางทีส่งไปแล้วถูกตีกลับ เพราะว่าสำนวนแย่
แกกลับไปแก้ไขและส่งอาจารย์ อาจารย์ก็ไม่รับ บอกให้ไปแก้ใหม่ เป็นอย่างนี้หลายครั้งจนตัวนักศึกษาคนนี้แกหงุดหงิดมาก
วันหนึ่งนักศึกษาคนนี้ไปอ่านเจอบทความที่วิจารณ์หนังสือของอาจารย์คนนี้ อาจารย์คนนี้แกเขียนหนังสือ พิมพ์เป็นเล่มแล้วก็มีคนวิจารณ์ เขาวิจารณ์ว่าอาจารย์คนนี้สำนวนแย่มาก การเรียบเรียงนี่อ่านยาก บทวิจารณ์นี้ตีพิมพ์ในนิตยสารฉบับหนึ่ง
นักศึกษาคนนี้เห็น ก็ดีใจ เอานิตยสารฉบับนี้ไปให้อาจารย์ดู แล้วก็บอกว่าอาจารย์ดูนี่สิ คนเขียนเขาวิจารณ์สำนวนของอาจารย์ว่าเขียนไม่ได้เรื่องเลย อย่างนี้อาจารย์จะมาเรียกร้องให้ผมเขียนได้ดีกว่าอาจารย์ได้ยังไง
คล้ายๆ ว่าตัวอาจารย์เป็นเหมือนแม่ปูนะที่เดินไม่เป็นเส้นตรง แต่กลับเรียกร้องให้ลูกเดินตรงๆ
อาจารย์แทนที่จะโกรธ แทนที่จะหงุดหงิดลูกศิษย์ที่พูดแบบนี้นะ หนอยมาหาว่าอาจารย์เขียนไม่ได้เรื่อง แล้วยังมาเรียกร้องให้ลูกศิษย์เขียนให้ดีๆ อาจารย์กลับหัวเราะหึๆ แล้วก็บอกว่า ก็เพราะเธอมีครูที่ดีกว่าครูของฉัน
ตอบสั้นๆ เท่านี้ นักศึกษาก็เลยเข้าใจเลย อาจารย์ตั้งใจจะบอกกับนักศึกษาว่า เธอควรจะเขียนให้ดีนะ เพราะเธอมีครูที่ดีก็คือฉันไงล่ะ แต่ที่ฉันเขียนไม่ค่อยดี เพราะว่าฉันมีครูที่ไม่ค่อยดี นี่เป็นวิธีการแก้ตัวของอาจารย์
แต่ที่น่าสนใจคือ ครูไม่โกรธนะที่ลูกศิษย์มาว่าครูเขียนไม่ดี แล้วก็เรียกร้องให้ลูกศิษย์เขียนให้ดี เขียนให้น่าอ่าน ครูไม่โกรธ แล้วก็เหมือนกับแก้ตัวนะ แต่ว่าก็ทำให้ลูกศิษย์ยอมรับการวิจารณ์ของครู แล้วก็ตั้งหน้าตั้งตาไปปรับปรุงการเขียนเสียใหม่
คำตอบของอาจารย์ทำให้นึกถึงปราชญ์คนหนึ่งของไทย พระยาอนุมานราชธน เมื่อสัก 60-70 ปีก่อน เป็นนายกราชบัณฑิตยสถานเป็นประธานกรรมการที่จัดทำพจนานุกรมภาษาไทยฉบับแรก น่าจะเป็นฉบับปี 2493 ได้รับการยกย่องเป็นปราชญ์ ทั้งที่จบ ม.4 เท่านั้นแหละแต่ว่ามีความรู้สูงมากทั้งด้านนิรุกติศาสตร์ ประวัติศาสตร์ วรรณกรรม สังคมวิทยา มานุษยวิทยา
ประเพณีของคนไทยตั้งแต่ดั้งเดิมที่เราเรียนรู้กันมา ล้วนเป็นก็ผลงานเขียนของพระยาอนุมานราชธนซึ่งใช้นามปากกาว่าเสฐียรโกเศศ แปลหนังสือก็ดี แปลหนังสือเรื่องกามนิต-วาสิฏฐี หิโตปเทศ ผลงานเยอะ
อีกทั้งเป็นคนที่สมถะมาก บ้านอยู่แถวเดโช สีลม ทุกเช้าไปทำงานก็เดิน เดินไปที่ทำงาน ที่ทำงานอยู่ที่ไหน สนามหลวง ราชบัณฑิตยสภานี่อยู่ตรงแถวท่าพระจันทร์ ใกล้ๆ สนามหลวง เดินทั้งตอนขาไปแล้วก็ขากลับ
พระยาอนุมานราชธนมีลูกสาวหลายคน คนหนึ่งเรียกว่าทันสมัยมาก เรียนที่คณะอักษรศาสตร์ จุฬาฯ แล้วการแต่งตัวก็เรียกว่าทันสมัย เป็นคนหัวสมัยใหม่ ไปไหนมาไหนก็นั่งรถ ตอนหลังก็หารถขับ มีรถขับกลับบ้าน เรียกว่าเด่นดังมาก
ก็มีคนถามพระยาอนุมานราชธนว่าทำไมตัวพระยาอนุมานราชธนเดินไปทำงาน แต่ลูกสาวมีรถหรู รถเก๋งขับ ท่านตอบว่าก็ผมมีพ่อแม่เป็นชาวนา ส่วนลูกสาวเขามีพ่อเป็นพระยา
คนก็เลยเข้าใจ วิธีตอบของพระยาอนุมานราชธนนี่ดีคือไม่ตำหนิลูกสาว ที่ลูกสาวนี้ไม่เหมือนพ่อ เพราะพ่อมีพื้นเพเป็นลูกชาวนา ส่วนลูกสาวเป็นลูกพระยาก็คือตัวท่านนั่นแหละ เพราะฉะนั้นจะหวังให้ลูกสาวมีวิธีการใช้ชีวิตเหมือนกับตัวท่านไม่ได้ เพราะว่าพ่อแม่หรือพื้นเพมันต่างกัน อันนี้ก็เป็นมุมมองของคนที่เป็นพ่อ
พ่อแม่หลายคนไม่ค่อยสบายใจเท่าไร ลูกไม่ค่อยประหยัด ใช้จ่ายเงินฟุ่มเฟือย มีเสื้อผ้าหลายชุด รองเท้าหลายคู่ ขณะที่ตัวพ่อแม่นี้อยู่อย่างสมถะ แต่ถ้าหากว่ามองสักหน่อยว่า เออ ที่เราอยู่อย่างสมถะ เพราะเรามีพ่อแม่ที่เข้มงวดกวดขัน เรามีพ่อแม่ที่ดี นอกจากมีความใจกว้าง มีเมตตาแล้วก็ยังมีความสมถะ เราก็เลยพลอยมีชีวิตที่สมถะไปด้วย
แต่ที่ลูกของเราเขาไม่สมถะเหมือนเรา ก็เพราะเราเลี้ยงลูกไม่ค่อยดี พ่อแม่ของเราเลี้ยงเรามาดี แต่เราอาจจะเป็นพ่อแม่ที่ไม่ค่อยดีก็ได้ ลูกก็เลยเป็นแบบนี้
ครูก็เหมือนกัน เวลาครูบางคนเห็นลูกศิษย์ไม่ได้เรื่อง ไม่ขยัน ก่อนจะไปต่อว่าลูกศิษย์ว่า ทำไมไม่ได้เรื่อง ไม่เหมือนฉันเลยก็เพราะว่าเรามีครูที่ดี แต่ว่าลูกศิษย์ของเรามีครูที่ไม่ค่อยขยันขันแข็ง หรือเอาใจใส่เท่าไหร่ ก็คือเรานั่นแหละ
เพราะฉะนั้น ถ้ามองแบบนี้เราก็จะเข้าใจลูกศิษย์ หรือเข้าใจลูกว่า ที่เขาไม่เหมือนเรา เขาไม่เก่งเหมือนเรา เพราะว่าเขาไม่ได้มีพ่อแม่หรือครูที่ดีเหมือนที่เราเคยมี เพราะฉะนั้นแทนที่จะไปว่าเขา บางทีต้องกลับมาดูที่ตัวเรา แล้วเข้าใจเขาให้มากขึ้น เพราะว่าประสบการณ์ ภูมิหลังของเรากับเขามันต่างกัน.