พระอาจารย์ไพศาล วิสาโล วัดป่าสุคะโต แสดงธรรมก่อนฉันเช้าวันที่ 8 สิงหาคม 2567
สมัยพุทธกาล มียาจกเข็ญใจคนหนึ่งเลี้ยงชีพได้โดยการขอทานบ้าง รับจ้างบ้าง วัน ๆ ได้เงินไม่เท่าไหร่ บางวันก็ไม่ได้เลย อยู่อย่างอด ๆ อยาก ๆ จนมาวันหนึ่งหิวมาก ไม่ได้กินอะไรเลยตั้งแต่เช้า ก็เลยแวะไปที่วัด ไม่เคยเข้าวัด ไม่สนใจ เพราะเห็นว่าพระบิณฑบาตตอนเช้า แล้วก็เดินเข้าไปในวัด คิดว่าคงจะมีอาหารให้ตัวเองได้กินบ้าง
พระท่านก็มีเมตตา อาหารที่บิณฑบาตได้ก็มาแบ่งให้ยาจกคนนี้ มื้อนั้นแกอิ่มเลย เพราะว่าอาหารก็ไม่น้อย แกไม่เคยกินอาหารมากขนาดนี้ก็เลยถามพระว่า วันนี้มีอะไรพิเศษพระคุณเจ้าจึงได้อาหารมาเยอะมาก พระก็บอกว่า ไม่มีอะไรพิเศษ ทุกวันก็แบบนี้แหละ
ยาจกคนนั้นประหลาดใจมาก โอ้ เป็นพระนี่มีอาหารขบฉันมากมายขนาดนี้เชียวหรือ สบายกว่าเราเยอะเลย จึงตัดสินใจบวชดีกว่า เป็นพระมีอาหารกินอิ่มหมีพีมัน ขืนเป็นขอทานแบบนี้เราคงอดตายแน่ แกก็เลยตัดสินใจบวช
ตอนที่บวชจะต้องเปลี่ยนเสื้อมาห่มจีวร แกก็เสียดายเสื้อ ทั้งที่เสื้อก็ขาดต้องปะซ้ำแล้วซ้ำเล่า ด้วยความที่ยากจนอัตคัดขัดสน ก็เสียดายเสื้อถ้าจะทิ้งไปก็กระไรอยู่ เพราะสมัยก่อนผ้าหายาก จีวรของพระยังต้องไปเก็บเอาตามป่าช้าเลย เป็นผ้าห่อศพ ไม่ใช่ว่าจะมีมากมายหาง่ายเหมือนกับสมัยนี้
เพราะฉะนั้นเมื่อยาจกต้องถอดเสื้อผ้าออก เสียดายที่จะทิ้งก็เลยไปแขวนไว้ในราวป่า ก็อยู่ในบริเวณวัดนั่นแหละ เพราะสมัยก่อนวัดนี้มีต้นไม้เป็นรมณีย์ มีต้นไม้เยอะ
มาบวชได้ไม่นาน หลังจากที่อิ่มหมีพีมัน สุขสบาย ไม่หิวไม่ลำบากแล้ว ก็กลับรู้สึกว่าความเป็นพระมันลำบากเหลือเกิน ตอนที่มีกินไม่บ่น แต่ว่าตอนที่ต้องมาปฏิบัติตามพระวินัยแล้วแถมจะไปกินเหล้าก็ไม่ได้ สมัยเป็นฆราวาสกินเหล้าก็ได้ จะไปกินเวลาไหนก็ได้ จะไปข้องแวะกับสีกาก็ได้ แต่พอเป็นพระแล้วทำไม่ได้ แล้วยังต้องทนกับการถูกต่อว่าดุด่าจากภันเต เพราะว่าไม่ปฏิบัติตามพระวินัยอย่างเคร่งครัด รู้สึกอึดอัดก็เลยอยากสึก
ตอนเป็นฆราวาสก็อยากเป็นพระ พอเป็นพระก็อาลัยชีวิตฆราวาส คนส่วนใหญ่เป็นอย่างนี้แหละ ชายคนนี้ก็เหมือนกัน ตัดสินใจจะสึกก็เดินไปที่ราวป่าเพื่อที่จะไปเอาเสื้อผ้าที่แขวนไว้มาสวมใส่ แต่พอเห็นเสื้อผ้าที่มันปุปะ มีริ้วมีรอย ก็ระลึกได้ถึงความยากลำบากสมัยเป็นฆราวาส เปลี่ยนใจ ระลึกได้ว่าเป็นฆราวาสนี่มันลำบาก กินก็ยังกินไม่อิ่มท้อง บางวันก็หิวโหย เสื้อผ้าก็ปุปะ
พอนึกถึงความลำบากของชีวิตฆราวาสก็เปลี่ยนใจ บวชต่อ บวชไปได้สักพัก 2-3 เดือนก็เกิดอึดอัดกับชีวิตพระจะสึก พอไปที่ราวป่าเพื่อเอาเสื้อผ้าที่เคยสวมใส่ตอนเป็นฆราวาส พอมาเห็นเสื้อผ้าเหล่านั้นก็ระลึกได้ถึงความยากลำบาก เปลี่ยนใจมาบวชต่อไป
ตอนหลังพอตัวเองเกิดอึดอัดกับชีวิตเป็นพระก็รู้ว่าวิธีที่จะเตือนใจให้บวชต่อก็คือ ไปดูไปเห็นเสื้อผ้าที่แขวนทิ้งไว้ ตอนนี้เริ่มสองจิตสองใจแล้ว จะบวชต่อหรือจะสึกดี แต่ว่าความใฝ่ดีก็บอกว่า ลองไปดูไปเห็นเสื้อผ้ามันจะได้รู้สึกระลึกได้ถึงความยากลำบาก ก็ได้ผล เปลี่ยนใจไม่สึ ก
ก็มีคนเห็นอาการแบบนี้ของพระรูปนี้ สหธรรมิกเห็น สงสัยว่าทำไมชอบเข้าไปในราวป่า ก็ถามพระรูปนี้ พระรูปนี้ก็บอกว่าไปหาอาจารย์ แต่พอทำแบบนี้บ่อยเข้า เพื่อนพระรู้ก็ล้อว่า ที่บวชก็เพราะกลัวความยากลำบากของชีวิตฆราวาส ไม่ได้ตั้งใจจริงหรอก ไม่ได้มีศรัทธาในพระรัตนตรัย พอถูกล้อ ถูกพูดกระทบแบบนี้บ่อย ๆ เกิดมานะ
มานะในที่นี้ก็คือ ความรู้สึกว่าตัวกูถูกกระทบ ก็เลยรู้สึกอับอาย ต้องการพิสูจน์ว่า ฉันไม่ใช่คนแบบนี้ก็เลยตั้งใจบวช ตั้งใจปฏิบัติ ไม่นานบรรลุธรรมเป็นพระอรหันต์ พอบรรลุธรรมเป็นพระอรหันต์ ท่านก็ใช้ชีวิตอย่างพระตามปกติก็มีเพื่อนพระถามว่า ไม่ไปหาอาจารย์เหรอ เดี๋ยวนี้ไม่เห็นไปหาอาจารย์เลย ท่านก็บอกว่า ผมไม่จำเป็นต้องไปหาอาจารย์แล้ว
เพื่อนพระก็นึกว่าอวดอุตริ เลยไปทูลเฝ้าพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าเลยเรียกตัวมาถาม สุดท้ายก็ทราบว่า พระรูปนี้ได้บรรลุธรรมเป็นพระอรหันต์แล้ว
ก็เป็นเรื่องราวของคนที่มาบวช เพราะหวังความสบาย ไม่ได้มีศรัทธาในพระรัตนตรัย แต่พอบวชแล้วจะสึกก็มีคนมาแหย่ มาท้วง มาต่อว่า มาแซว เกิดมานะก็เลยปฏิบัติจนกระทั่งบรรลุธรรม นี่เรียกว่ามานะเพราะอำนาจของโลภะความอยาก อยากสบาย
และตอนหลังเป็นเพราะมานะ ถูกคนว่ากระทบแล้วอับอาย ก็ดีแทนที่จะโกรธคนที่ว่า กลับรู้สึกว่าเราไม่ได้เป็นอย่างที่เขาว่า หรือเราต้องการพิสูจน์ว่า เราไม่ได้เป็นอย่างที่เขาว่า อันนี้คือตัวมานะ ก็เลยตั้งใจปฏิบัติจนบรรลุธรรม เรียกว่าบรรลุธรรมได้เพราะกิเลส
กิเลสตัวแรกคือโลภะตัณหา กิเลสตัวที่สองคือมานะ อันนี้เรียกว่ามืดมา สว่างไป มาด้วยกิเลส อยู่ได้ด้วยกิเลส แต่ว่าสุดท้ายก็บรรลุธรรมได้ เพราะว่าความใฝ่ดี หรือเพราะกิเลสมากระตุ้นเร้า สุดท้ายก็ไปสว่าง มืดมา สว่างไป
คนเราแม้จะมาแบบมืดๆ แต่อยู่แล้วสุดท้ายไปสว่างนี่ดี ดีกว่าสว่างมาแต่ว่ามืดไป ก็มีจำนวนไม่น้อยมาบวชเพราะว่าศรัทธาในพระรัตนตรัย แต่อยู่ไปๆ ติดในลาภสักการะ บางทีปฏิบัติตัวแย่กว่าฆราวาสอีก สู้มืดมาสว่างไปไม่ได้.