พระอาจารย์ไพศาล วิสาโล วัดป่าสุคะโต แสดงธรรมเย็นวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2567
มีคำหนึ่งที่หลวงพ่อคำเขียนพูดบ่อยๆ เพื่อแนะนำผู้ปฏิบัติ ถือว่าเป็นหลักของการปฏิบัติก็ได้ นั่นคือคำว่า “กลับมา”
ท่านจะพูดอยู่เสมอให้กลับมา และคำว่า “ปฏิบัติ” ความหมายของหลวงพ่อก็คือการกลับมา คำว่าปฏิก็คือกลับ ไม่ว่าอยู่ที่ไหน เราก็สามารถปฏิบัติธรรมได้ หากว่าเราหมั่นกลับมาบ่อยๆไม่จำเป็นว่าจะต้องอยู่วัดเดินจงกรมสร้างจังหวะเท่านั้น อยู่ที่ไหนทำอะไร ถ้ากลับมาบ่อยๆ ก็ถือว่าได้ปฏิบัติแล้ว ปฏิบัตินี้คือปฏิบัติธรรม หมายถึงการภาวนา หมายถึงการทำกรรมฐาน
กลับมาหมายถึงอะไร ก็คือกลับมารู้สึกตัว การกลับมารู้สึกตัวนี้สำคัญ เพราะว่าใจเราชอบไป ธรรมชาติของใจคือชอบท่องเที่ยว แล้วพอท่องไปท่องมาก็เตลิด การกลับมาในแง่นี้คือกลับมารู้สึกตัว
อีกแง่หนึ่งก็คือกลับจากความหลง จากเดิมที่หลงก็กลับมารู้สึกตัว คนเราหลง หลงอย่างแรกคือว่าหลงส่งจิตออกนอก อันนี้เกิดขึ้นเป็นประจำ หลงไปเพลินกับสิ่งภายนอก หรือไปหมกมุ่นกับสิ่งภายนอกโดยที่ไม่รู้ว่ามันเกิดผลกระทบอะไรขึ้นมากับใจ
พอไปรับรู้อารมณ์ภายนอก รูป รส กลิ่น เสียง สัมผัส เหตุการณ์ต่างๆ แล้ว เกิดอะไรขึ้นกับใจ ส่วนใหญ่ก็ไม่ค่อยรับรู้เท่าไหร่ เกิดอะไรขึ้นกับใจก็หมายความว่ามันไม่ใช่แค่ดีใจ แต่อาจจะได้แก่ความเสียใจ ความโกรธ ความเครียด ความเศร้า ความน้อยเนื้อต่ำใจ ซึ่งมักจะเกิดขึ้น เมื่อไปรับรู้อารมณ์ภายนอกจนหลงจม อันนี้ถ้าเรียกภาษาพระว่า ส่งจิตออกนอก
การที่เราไปรับรู้อารมณ์ภายนอก รูป รส กลิ่น เสียง ไม่เป็นเรื่องเสียหายอะไร เราจำเป็นต้องทำอย่างนั้นอยู่แล้ว เพราะว่าถ้าเราไม่เห็น ไม่ได้ยินอะไรเลย หรือไม่สนใจสิ่งที่อยู่ข้างหน้า ก็อาจจะเกิดอันตรายกับเราเอง เราจะข้ามถนนก็ต้องเห็นรถเห็นราเห็นถนน เราจะกินอะไรก็ต้องเห็นอาหารที่เรากำลังตักใส่ปาก การได้ยินก็ช่วยทำให้เรารู้ว่าข้างหน้าเราหรือรอบตัวนั้นมันปลอดภัยไหม จะทำงานทำการอะไรก็จำเป็นต้องรับรู้สิ่งภายนอก ผู้คน งานการ ข้าวของเครื่องใช้
แต่เวลาท่านบอกว่าส่งจิตออกนอก หมายความว่าใจมันหลงเข้าไปจมอยู่กับรูป รส กลิ่น เสียง สัมผัส จนลืมเนื้อลืมตัว หรือไม่รู้สึกตัว เมื่อไรก็ตามที่เราส่งจิตออกนอกอย่างนี้ มันก็ต้องรู้จักกลับมา
เพราะถ้าเราไม่กลับมา เราก็จะลืมเนื้อลืมตัว แล้วก็ปล่อยให้อารมณ์ที่เกิดขึ้นมันทำร้ายจิตใจ หรืออาจจะบงการการกระทำและคำพูดของเราให้ออกมาในทางที่ก่อปัญหากับผู้คน หรือว่าสร้างความทุกข์ให้แก่ตัวเอง เช่น พอโกรธ หากห้ามใจไม่ได้ก็หลุดปากด่าออกไป หรือว่าทำร้ายข้าวของ ถ้าเกิดว่าเกิดความโลภเกิดความอยาก ก็จะนำไปสู่การลักขโมย หรือว่าสู่อบายมุขอย่างอื่น ซึ่งสร้างปัญหา
เพราะฉะนั้น ในการปฏิบัติ ในการฝึกจิต เราต้องรู้จักกลับมาบ่อยๆ อย่าไปเพลินอย่าไปหลงกับสิ่งภายนอกจนลืมเนื้อลืมตัว
มีเกร็ดเล่าเกี่ยวกับท่านเว่ยหลาง ตอนที่ท่านเว่ยหลางได้รับมอบตำแหน่งสังฆปรินายกองค์ที่ 6 ของลัทธิฉาน แล้วท่านต้องลี้ภัยเก็บตัวอยู่ในป่าเป็นเวลาถึง 10 กว่าปี เพราะว่ามีศัตรูที่ไม่พอใจท่าน จนท่านดั้นด้นกลับมาที่เมืองกวางโจว ตอนนั้นยังเป็นฆราวาสอยู่ ท่านไปถึง วัดๆ หนึ่งคือวัดกวงเสี้ยว
วัดกวงเสี้ยวทุกวันนี้ก็ยังเป็นวัดอยู่เลย คนก็ คนจีนก็ยังไปกราบไหว้ แล้วก็ยังมีพระที่ปฏิบัติศาสนกิจอยู่ ไม่น่าเชื่อว่าวัดอายุถึง 1,300 ปี ก็ยังมีการสืบต่อกันเรื่อยมา อาจจะมีบางช่วงที่ขาดหายไปหรือรกร้าง แต่ว่าตัวอาคารตัวสถานที่ก็ยังแข็งแรงเป็นรูปเป็นร่าง และทุกวันนี้ก็ยังมีคนไปกราบไหว้เคารพบูชา ในเมืองจีนมีวัดอายุเป็นพันๆ ปีนี้มีเยอะไปหมดเลย
ไม่เหมือนเมืองไทย เมืองไทย เดี๋ยวนี้วัดสมัยสุโขทัย สมัยพ่อขุนรามคำแหง เมื่อ 700 ปีที่แล้ว ทุกวันนี้ไม่เหลือ ล้วนแต่เป็นซากทั้งนั้นเลย ที่อยุธยาวัดที่มีอายุ 400-500 ปีนี้ หายากมากส่วนใหญ่เป็นซากปรักหักพังไปเสียแล้ว เมืองไทยถ้ามีวัดอายุ 300-400 ปีก็ถือว่าโบราณมากแล้ว แต่เมืองจีน วัดที่มีอายุ 1,300 ปีอย่างวัดกวงเสี้ยวก็ยังมีอยู่ อาตมาเคยไปกวางเจาก็เคยไปวัดนี้
เมื่อท่านเว่ยหลางมาที่วัดกวงเสี้ยว บังเอิญตอนนั้นกำลังมีการแสดงธรรมโดยอาจารย์ชื่อดัง คนก็มาฟังกันล้นหลามเต็มศาลาจนล้นออกมาข้างนอก สมัยนั้นยังไม่มีไมโครโฟน แต่ว่าคนที่อยู่เต็มศาลา หรือคนที่ล้นออกมาก็ยังได้ยินคำบรรยายของอาจารย์
ขณะที่กำลังฟังการเทศน์ของพระอาจารย์อยู่ บังเอิญมีพระ 2 รูปซึ่งอยู่นอกศาลา คนหนึ่งเหลือบเห็นธงทิวริ้วสะบัดตรงนอกศาลานั้น ก็ทักให้เพื่อนดู “ เห็นธงไหวไหม ธงมันไหว ” เพื่อนบอก “ ไม่ใช่ธงไหว ลมมันไหวต่างหาก ”
คนแรกพูดกลับ “ มันไม่ใช่ลมไหว มันธงไหว ” สองคนนี้ก็เถียงกัน ปรากฎว่าตอนหลังคนที่อยู่ใกล้ๆ ก็ร่วมวงเถียงด้วย อาจารย์เทศน์ในศาลาบรรยายอะไรก็ไม่สนใจแล้ว สนใจแต่ธงว่า ตกลงธงไหวหรือลมไหว เถียงกันไปมา คนร่วมวงเถียงก็มากขึ้นเรื่อย ๆ จาก 1 เป็น 2 จาก 2 เป็น 3 เป็น 4
แล้วยิ่งเถียงกันก็ยิ่งเกิดอารมณ์ เพราะต่างฝ่ายต่างก็ยืนยันว่าตัวเองถูก ลมไหว อีกฝ่ายบอกไม่ใช่ลมไหว ธงมันไหว เถียงกันจนทำท่าจะเกิดอารมณ์ขึ้นมา
ท่านเว่ยหลางอยู่ตรงนั้นพอดี ก็เลยโพล่งขึ้นมา พูดเสียงดังว่า “ ใจของพวกท่านต่างหากที่ไหว ” ปรากฎว่าทั้งกลุ่มชะงักเลย ชะงักเพราะได้สติ มัวแต่เถียงกันว่าลมไหวหรือธงไหวจนลืมดูใจของตัว ตอนนั้นกำลังกระเพื่อม กำลังขุ่นมัวแล้ว
พอท่านเว่ยหลางพูดแบบนี้ก็เกิดได้สติขึ้นมา หันมารู้ว่า ใจเรากำลังกระเพื่อม คนก็เลยรู้ว่าท่านเว่ยหลางนี้ไม่ธรรมดา พอถามชื่อเสียงเรียงนามจึงรู้ว่าคือท่านเว่ยหลางนั่นเอง
ท่านเว่ยหลางก็ได้บวชที่นั่น ว่ากันว่าเจดีย์ที่เก็บเส้นผมหรือเกศาของท่านยังอยู่เลย แต่ข้างในคงไม่มีอะไรเหลือแล้ว แต่มันก็น่าทึ่ง เจดีย์ที่อายุ 1,300 ปีนี้เขาก็ยังรักษาไว้อยู่ในสภาพดี แต่จะเป็นของจริงหรือเปล่า เราก็ไม่รู้ แต่มันไม่ใช่เป็นซากอย่างที่เราเห็นที่สุโขทัยหรืออยุธยา
สิ่งที่ท่านเว่ยหลางพูดเตือนสติคนกลุ่มนั้นน่าสนใจ คือท่านเตือนว่า อย่ามัวส่งจิตออกนอก ให้กลับมารับรู้ ดูใจของตัวบ้าง คนเราเวลาทำอะไร แม้เราจะต้องจดจ่อใส่ใจกับสิ่งนอกตัว จะเป็นผู้คน จะเป็นงานการ หรือแม้แต่จะเป็นการถกเถียงอะไรก็ตาม มันต้องไม่ลืมกลับมารับรู้ดูใจของตัว ซึ่งจะช่วยทำให้เกิดความรู้สึกตัวขึ้นมา
อันนี้มันเป็นหลักของการปฏิบัติเลยไม่ว่าเราทำอะไรก็อย่ามัวส่งจิตออกนอก ให้กลับมาบ่อยๆ กลับมารับรู้ดูใจของตัว เพราะไม่เช่นนั้น มันก็จะถูกอารมณ์ที่เกิดขึ้นจากการกระทบ หรือการรับรู้สิ่งภายนอก เข้ามาครอบงำจิต
จากที่แต่เดิมก็ตั้งใจฟังคำบรรยายของท่านอาจารย์ในศาลา แต่พอส่งจิตออกนอกไปดูธง ถกเถียงกัน ก็ลืมเลยว่ากำลังมาทำอะไร มาฟังอาจารย์บรรยาย แต่ว่าลืมไปแล้ว เอาแต่ถกเถียงกัน และสุดท้ายก็คิดแต่จะเอาชนะกัน จนลืมไปว่า กำลังหน้าดำคร่ำเคร่งคร่ำเครียด กำลังโมโหขุ่นเคือง กำลังจะทะเลาะกันอยู่
มาฟังธรรมแท้ๆ แต่ว่าลืมเนื้อลืมตัวจนจะทะเลาะกัน แต่ถ้าเรารู้จักกลับมารับรู้ดูใจของตัว มันก็จะเกิดความรู้สึกตัว ไม่พลาดท่าเสียทีไปกับอารมณ์ภายนอก หรือว่าไม่หมดตัวไปกับงานการต่างๆ เช่น ทำงานก็ไม่ได้ทำจนเครียด กลัดกลุ้ม หรือว่าคุยกับใครก็ไม่ได้เกิดความโมโหโกรธา เพราะเห็นต่างกัน
ทีนี้นอกจากกลับมาจากการส่งจิตออกนอก กลับมาที่สำคัญอีกอย่างหนึ่งคือ กลับมาจากการหลงเข้าไปในอารมณ์ หลงเข้าไปในความคิด ส่งจิตออกนอกคือไปรับรู้รูป รส กลิ่น เสียง สัมผัส แต่ว่ามันมีอีกตัวหนึ่งคือ ธรรมารมณ์ ก็คือความคิดและอารมณ์ที่ใจเรามักจะหลงเข้าไป
เวลามันคิด ก็หลงเข้าไปในความคิด แล้วก็เกิดอารมณ์ตามมา ก็หลงเข้าไปในอารมณ์ ตรงนี้ที่หลวงพ่อเน้นอยู่เสมอให้กลับมา กลับจากการหลงในความคิด การที่ใจมันจะไหลไปตามความคิดเป็นเรื่องธรรมดา หลวงพ่อคำเขียนท่านว่ามันไม่ใช่เรื่องที่ต้องไปหงุดหงิดรำคาญใจ แต่ข้อสำคัญคือ “ไปแล้ว กลับมา” หลวงพ่อคำเขียนบอกว่า มันเก่งตรงที่กลับมา
นักปฏิบัติบางคนไปวัดว่า เก่งหรือไม่เก่ง วัดความสำเร็จตรงที่ว่า “ไปหรือเปล่า” ถ้าไปก็ถือว่าไม่ดีต้องไม่ไป เพราะฉะนั้นก็จะพยายามบังคับจิตไม่ให้ไป จะพยายามหาอุบายให้จิตมันอยู่ อยู่กับลมหายใจบ้าง อยู่กับท้องที่พองยุบบ้าง อยู่กับคำบริกรรมบ้าง มีการบริกรรมเพื่อผูกจิตไม่ให้มันไป ไม่ให้มันไปคือไม่ไปปรุงแต่งความคิดต่างๆ หรือไม่ไหลไปตามความคิด บางทีก็บังคับจิตไม่ให้คิด
แต่ว่าหลวงพ่อเทียนกับหลวงพ่อคำเขียน ท่านไม่เน้นตรงนั้น ไปก็ได้ ที่จริงแล้วก็อนุญาตให้มันไปด้วย แต่ข้อสำคัญคือไปแล้วกลับมา กลับมาบ่อยๆ กลับมาอยู่กับเนื้อกับตัว กลับจากความหลง หลงเข้าไปในความคิด เข้าไปในอารมณ์ กลับมา ไปไม่ว่าแต่ให้กลับมาไวๆ อันนี้พูดอีกความหมายหนึ่ง
เพราะฉะนั้นเวลาปฏิบัติ หรือเวลาทำอะไรก็ตาม บางครั้งใจไม่ได้ส่งออกนอกเท่าไหร่ แต่ใจมันไหลเข้าไปในความคิด และส่วนใหญ่ก็มักจะปรุงแต่งเรื่องอดีตบ้าง ปรุงแต่งเรื่องอนาคต หรือไม่ก็ไปจมอยู่กับความทรงจำในอดีตบ้าง ให้กลับมา กลับมารู้เนื้อรู้ตัว กลับมาอยู่กับเนื้อกับตัว
ไม่ว่าเราทำอะไร แม้กระทั่งฟังธรรมบรรยายอยู่ เราก็จะสังเกต ใจมันจะไหลไปโน่นไหลไปนี่ บางทีก็ออกไปคิดถึงลูกที่บ้าน ออกไปคิดถึงงานการที่ค้างคาอยู่ บางทีก็ไหลไปที่กุฏิที่พัก เพราะไม่แน่ใจว่าล็อคประตูเอาไว้เรียบร้อยไหม หรือลืมนาฬิกาโทรศัพท์ไว้หรือเปล่า มันจะไหลไป แม้ว่าตัวอยู่ที่นี่
แม้ว่าตานี้มองมาที่ผู้บรรยายแต่ใจไม่รู้อยู่ไหน อันนี้ธรรมดา แต่ขอให้กลับมา กลับมาอยู่กับเนื้อกับตัว กลับมาอยู่กับปัจจุบัน กลับมาอยู่ที่นี่ ศาลานี้ ตรงนี้ เดี๋ยวนี้ ซึ่งถ้าทำได้อย่างนั้น มันจะเกิดความรู้สึกตัว การปฏิบัติอยู่ตรงนี้แหละ กลับมา
นอกจากกลับมาแล้ว ยังจะต้องรู้จัก “ขึ้นมา” ด้วย ไม่ใช่กลับมาอย่างเดียว อันนี้ต่อเติมเสริมเข้ามา เพราะเวลาจิตตก มันจมเข้าไปในอารมณ์ ไหลไปอดีตบ้าง ลอยไปอนาคตบ้าง แล้วก็จมอยู่ในอารมณ์โดยเฉพาะเป็นอารมณ์ลบ มันก็เหมือนกับจิตมันตก
บางคน บางครั้งจิตตก ห่อเหี่ยว ไม่มีเรี่ยวไม่มีแรง จิตรู้สึกย่ำแย่ หรืออาจจะจมเข้าไปในอารมณ์ จะเป็นความเศร้าก็ตาม โกรธก็ตาม บางทีเราก็ใช้คำว่า “มันจมเข้าไปในอารมณ์” ก็ต้องรู้จักดึงมันขึ้นมา ดึงจิตขึ้นมาจากอารมณ์ กลับมาอยู่กับเนื้อกับตัว ไม่ว่าจะกลับมาหรือขึ้นมาก็ตาม สิ่งสำคัญก็คือสติ
เพราะถ้าไม่มีสติ จิตก็จะไหลเข้าไปในอารมณ์ ไหลเข้าไปในความคิดหรือจมเข้าอยู่ในอารมณ์ แต่พอมีสติปุ๊บ มันเห็นเลย เห็นความคิด เห็นอารมณ์ และการเห็นนี้จะช่วยทำให้หลุดจากความคิด หลุดจากอารมณ์ กลับมารู้เนื้อรู้ตัว หรือกลับมาอยู่กับความรู้สึกตัวได้
ฉะนั้น การเจริญสติจึงเป็นสิ่งสำคัญที่จะพาจิตพาใจกลับมาอยู่กับความรู้สึกตัว แล้วพออยู่กับความรู้สึกตัว ภาวะที่ทุกข์มันจะกลายเป็นความไม่ทุกข์ไป ที่เคยโกรธก็กลายเป็นความไม่โกรธ ที่เคยเศร้าก็กลายเป็นความไม่เศร้าไป
อย่างที่หลวงพ่อคำเขียนมักพูดว่า เปลี่ยนทุกข์ให้กลายเป็นความไม่ทุกข์ เปลี่ยนโกรธให้กลายเป็นความไม่โกรธ เปลี่ยนหลงให้กลายเป็นความไม่หลง มันเปลี่ยนได้เพราะสติ สำหรับปุถุชนมันเปลี่ยนได้เพราะสติ จากเดิมที่ไหลไปตามความคิด แล้วก็จมอยู่ในอารมณ์ที่เกิดจากความคิดนั้น
อย่างเช่น เราคิดถึงความสูญเสีย คิดถึงคนรักที่พรากจากไปก็เศร้า คิดถึงคนที่เขาต่อว่าด่าทอเรา กลั่นแกล้งเราก็โกรธ คิดถึงงานการที่ค้างคาอยู่ก็เครียด คิดถึงลูกซึ่งมีปัญหาการเรียน มีปัญหาติดเกมติดยาก็เกิดความวิตกกังวล อารมณ์กับความคิดมันไปด้วยกัน หรือจะเรียกอีกอย่างหนึ่งว่าคนเราทุกข์เพราะความคิด
ที่จริงแล้ว ถ้าคิดแล้วรู้ทัน มันก็ไม่ทุกข์ แต่เพราะไม่รู้ทัน หลงเข้าไปในความคิดนั้น แต่ถ้าเรามีสติมันก็ช่วยดึงจิต จากเดิมที่ไหลไปตามความคิด ให้กลับมา กลับมาอยู่กับเนื้อกับตัว กลับมาสู่ปัจจุบัน เกิดความรู้สึกตัวขึ้นมา ตอนนั้นก็จะหลุดจากอารมณ์ หลุดจากความโศกความเศร้า หลุดจากความโกรธ หลุดจากความเครียดความวิตกกังวล
อันนี้ก็เหมือนกับว่า เราเปลี่ยนทุกข์ให้กลายเป็นความไม่ทุกข์ เปลี่ยนความโกรธให้กลายเป็นความไม่โกรธ เปลี่ยนความหลงให้กลายเป็นความไม่หลง คือ เราไม่ได้ไปทำอะไรกับความโกรธ ไม่ได้ไปกดข่ม ไม่ได้ไปเก็บกดหรือกดข่มมัน เพียงแค่เปลี่ยนภาวะในใจ
พอกลับมารู้สึกตัว ความไม่ทุกข์ก็ปรากฏ เพราะฉะนั้นถ้าหากว่ามีความทุกข์หรือว่าทุกข์ใจ ก็ให้ตระหนักว่าเมื่อไหร่ก็ตามที่กลับมา กลับมาเมื่อไหร่มันก็ไม่ทุกข์ แล้วพอกลับมาแล้ว สู่ความรู้สึกตัวแล้ว มันก็สามารถไปต่อได้
“การไปข้างหน้า” หรือ “ไปต่อ” มันต้องเริ่มจากการกลับมา เพราะว่าหลายคนไปต่อไม่ได้เพราะว่ามันจมอยู่กับอารมณ์ บางทีก็ไปจมอยู่กับเรื่องราวในอดีต ไปต่อไม่ได้ ฉะนั้นจะไปต่อได้มันต้องกลับมาก่อน
เหมือนกับเวลาเราจะยิงธนู อยากจะให้ลูกธนูพุ่งไปข้างหน้า เราก็ต้องน้าวสายธนูกลับมาที่ตัวเรา ถ้าเราน้าวสายธนูกลับมาที่ตัวเราได้มากเท่าไหร่ ธนูก็จะพุ่งออกไปข้างหน้าได้ไกลเท่านั้น จะไปต่อหรือไปข้างหน้าได้มันต้องกลับมาก่อน เพราะว่าถ้ามันยังจมอยู่ในอารมณ์ หรือว่าหลงเข้าไปในความคิดมันไปต่อไม่ได้
บางคนพอป่วย ป่วยด้วยโรคร้าย ก็เอาแต่โวยวายตีโพยตีพาย ห่อเหี่ยว ไม่สามารถไปต่อ ไม่สามารถพาชีวิตต่อไปข้างหน้าได้ ซึ่งก็ต้องกลับมารู้สึกตัว มีสติ รู้สึกตัวถึงจะไปต่อได้ ถึงจะใช้ชีวิตไปข้างหน้าได้ บางคนไปหวนนึกถึงเรื่องราวในอดีต สูญเสียลูก สูญเสียคนรักสูญเสียเงิน สูญเสียบ้านก็คร่ำครวญ จมอยู่กับเรื่องราวที่มันผ่านไปแล้ว ก็ไปต่อไม่ได้ จนกว่าจะกลับมารู้เนื้อรู้ตัว
เมื่อสัก 200-300 ปีก่อน มีการเทศน์ 2 ธรรมาสน์ ระหว่างพระนักเทศน์ชื่อดังของกรุงรัตนโกสินทร์ รุ่นหนึ่งคือพระเจ้าคุณธรรมอุดมแห่งวัดโพธิ์ อีกรุ่นหนึ่งคือสมเด็จพระพุฒาจารย์โต (หลวงพ่อโต) ท่านเจ้าคุณธรรมอุดมเทศน์ แต่งเป็นกลอนเลย ซึ่งคนสมัยก่อนเจ้าบทเจ้ากลอนมาก ท่านแสดงธรรมมีคำลงท้ายเป็นกลอนไปว่า “พายเถอะหนาพ่อพาย ตะวันจะสายตลาดจะวาย สายบัวจะเน่า”
หมายความคือ ให้รีบตื่น แล้วก็รีบทำงานทำการ อย่าปล่อยเวลาผัดผ่อนให้ล่วงเลยไปโดยเปล่าประโยชน์ พูดง่ายๆก็คือ เวลาไม่คอยท่า ปล่อยให้หลวงพ่อโตจะเทศน์แก้เทศน์ต่อยังไง ท่านเจ้าคุณธรรมอุดมท่านเทศน์ทิ้งไว้อย่างนั้น หลวงพ่อโตท่านก็ไว ท่านได้วิสัชนาออกไปว่า “ก็โซ่ไม่แก้ประแจไม่ไข จะพายไปไหวหรือพ่อเจ้า”
จะไปข้างหน้าได้ยังไง ถ้าโซ่ยังไม่แก้ ประแจยังไม่ไข เรือจะไปข้างหน้าได้มันต้องแก้โซ่ไขประแจก่อน ความหมายก็คือว่า คนเราจะไปข้างหน้าได้มันต้องปลดเปลื้องใจออกจากอดีต เพราะอดีตมันเป็นพันธนาการ
ผู้คนจำนวนมากไปต่อไม่ได้เพราะว่าไม่ยอมกลับมา ไม่ยอมกลับมายังปัจจุบัน ยังไปหลงในอดีต หรือว่ายังไหลไปอนาคต ไหลไปอนาคต คือกังวลวิตกกับเรื่องในอนาคต หรือไม่ก็เศร้าซึมกับเรื่องราวในอดีต ต้องกลับมา กลับมาอยู่กับเนื้อกับตัว กลับมาอยู่กับปัจจุบัน ถึงจะไปต่อได้
สมัยนี้เราคิดแต่จะไปข้างหน้า ไปข้างหน้าท่าเดียวจนกระทั่งไม่รู้จักกลับมา ไม่รู้จักกลับมาที่ใจ ไม่รู้จักกลับมาที่ความรู้สึกตัว ไม่รู้จักกลับมา รู้กาย ตามมาดูรู้ใจของตัว พอไม่สนใจตามดูรู้ใจ หรือไม่กลับมารู้สึกตัว มันอยากจะไปต่อก็ไปไม่ได้ เพราะยังมีความทุกข์
พูดง่ายๆว่า อยากจะไม่ทุกข์เราต้องกลับมา กลับมารู้สึกตัว กลับมาอยู่กับความไม่ทุกข์ แล้วจึงจะไปต่อได้.