พระอาจารย์ไพศาล วิสาโล วัดป่าสุคะโต แสดงธรรมก่อนฉันเช้าวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2567
วันนี้ใครๆ ก็รู้ว่าเป็นวันตรุษจีน ถึงแม้ว่าจะเป็นวันสำคัญสำหรับคนจีน หรือว่าคนไทยเชื้อสายจีน แต่ว่าคนทั่วไปก็รับรู้ได้ถึงความสำคัญของวันตรุษจีน แม้กระทั่งชาวบ้านในชนบท แม้ว่าสมัยก่อนพอถึงวันตรุษจีน ลูกหลานชาวบ้านรวมทั้งชาวอีสานที่ไปทำงานในกรุงเทพฯ ก็จะพากันกลับมาเยี่ยมบ้าน เพราะว่าวันตรุษจีน
สมัยก่อนที่ว่านี้หมายความว่าหลาย 10 ปีมาแล้ว ร้านรวงธุรกิจต่างๆ รวมทั้งโรงงานทั้งหลายจะหยุด เพราะเจ้าของเป็นคนจีนหรือคนไทยเชื้อสายจีน คนที่ทำงานในร้านค้า โรงงานพวกนี้จำนวนไม่น้อยก็เป็นชาวอีสาน พอร้านค้าปิด คนงานก็ถือโอกาสกลับไปเยี่ยมบ้าน
แต่เดี๋ยวนี้ลูกหลานชาวอีสานนี้ก็ไม่ค่อยได้กลับแล้ววันตรุษจีน ไปกลับอีกทีก็วันสงกรานต์ เพราะว่าเดี๋ยวนี้ร้านค้าต่างๆ แม้แต่โรงงานที่ไหนๆ ก็ไม่ค่อยปิดเท่าไหร่ ยกเว้นเสาร์อาทิตย์ เดี๋ยวนี้เสาร์อาทิตย์นี่ยังไม่ปิดเลย จะปิดจริงๆ ก็ช่วงสงกรานต์
ภาพจำของผู้คนเกี่ยวกับวันสงกรานต์แต่ก่อนก็คือ ร้านรวงปิดหมด แม้แต่ร้านอาหารก็ปิด จะไปกินอาหารตามร้านก็ลำบาก ภาพจำอีกอย่างหนึ่งก็คือผู้คนไปเที่ยว กินแล้วก็ไปเที่ยววันตรุษจีน โดยเฉพาะสมัยก่อนไม่มีที่เที่ยวก็โรงหนัง โรงหนังแน่นขนัดเลย เป็นช่วงเวลาของตั๋วผีที่จะขายตั๋วแพงๆ ได้ เพราะคนไทยโดยเฉพาะในกรุงเทพฯ ไม่ได้ไปเที่ยวที่ไหนก็ไปดูหนัง เดี๋ยวนี้ก็ไปเที่ยวห้าง แต่ก็ไม่คึกคักเหมือนกับช่วงปีใหม่หรือว่าช่วงคริสต์มาสแล้ว
ภาพจำอีกอย่างหนึ่งก็คือเรื่องของประเพณี เช่น การไหว้เจ้า ซึ่งโยงไปถึงการจับจ่ายซื้อของเพื่อไหว้เจ้า พวกไก่ปลาเนื้อจะราคาแพงมาก รวมทั้งหมูด้วย หลายคนก็มีภาพจำเกี่ยวกับตรุษจีนไม่เหมือนกัน
สมัยนี้ก็ไม่ค่อยมีอะไรที่พิเศษมากเท่าไหร่แล้ว ยกเว้นคนไทยเชื้อสายจีนที่ยังเคร่งครัดกับประเพณี แต่ถ้าดูดีๆ มันมีสาระแฝงอยู่ในวันตรุษจีน มันไม่ใช่แค่เป็นวันขึ้นปีใหม่ของคนจีน หรือขึ้นศักราชใหม่เท่านั้น มันมีสาระหรือความมุ่งหมายแฝงอยู่ เช่น ในช่วงเวลาที่จะต้องพัก พักก็คือพักจริงๆ เลย คือพักงาน คนจีนขยันทำงานมากจนรู้สึกว่าการพักเป็นสิ่งที่ไม่ดี รู้สึกผิดถ้าเกิดว่าจะพักหรือจะหยุด ก็ต้องมีประเพณีหรือความเชื่อมาบังคับ เช่น มีข้อห้ามว่า ห้ามทำงาน ทำงานจะซวย แม้กระทั่งปัดกวาดเช็ดถูก็ห้าม โดยมีความเชื่อว่า ถ้าปัดกวาดแล้วจะเอาโชคลาภออกไปด้วย ห้ามซักผ้า ห้ามใช้ของมีคม เพราะเดี๋ยวมีของมีคมจะตัดโชคตัดลาภทิ้ง
นี่เป็นความเชื่อที่บังคับให้คนจีนซึ่งส่วนใหญ่ก็ขยันทำงาน หยุดงาน เพราะหลายคนอยากทำงานเพราะห้ามไม่ได้ ทำงานจนกระทั่งกลายเป็นผู้ที่ภาษาฝรั่งว่า workaholic พวกบ้างาน หรือบางทีก็คิดว่า ทำงานแล้วจะได้เงิน พอนึกถึงเงินก็เลยทำงานใหญ่ ไม่รู้จักหยุดไม่รู้จักพัก ในช่วงตรุษจีนเขาก็เลยมีข้อห้ามเลย โดยเอาความเชื่อต่างๆ มาปลูกฝังว่า ถ้าทำงานแล้วนี่เดี๋ยวจะซวย เดี๋ยวจะตัดโชคตัดลาภออกไป เพราะฉะนั้นห้ามทำงาน ห้ามปัดกวาดเช็ดถู ห้ามซักผ้า ห้ามทำครัวไม่ได้บอกโดยตรง แต่บอกห้ามใช้ของมีคม ห้ามใช้ของมีคมก็คือห้ามทำครัวนั่นเอง ให้หยุดรวมทั้งห้ามให้ยืมเงินด้วย
บางคนก็มีอาชีพให้ยืมเงิน ถือว่าเป็นรายได้ดี เขาก็ห้าม โดยให้พักการให้ยืมเงิน ซึ่งก็เป็นการตัดรายได้ของคนจำนวนไม่น้อย เพราะเขามีอาชีพในการให้กู้ เป้าหมายคือเพื่อให้พัก พักแล้วทำอะไร ก็ไปสนุกสนานรื่นเริง ไปกินไปเที่ยว จับจ่ายใช้สอย ให้รู้จักเติมรสชาติแบบนี้ให้กับชีวิตบ้าง ไม่เช่นนั้นชีวิตมันจะจืดหรือว่าเครียด
อันนี้ก็เหมาะสำหรับคนจีนที่มักจะมีนิสัยบ้างาน แล้วก็ถือโอกาสได้อยู่กับครอบครัวด้วย แทนที่จะเอาแต่ทำงานจนกระทั่งไม่สนใจลูกเมีย ไม่สนใจครอบครัว ถึงเวลาตรุษจีนก็ต้องไปแล้ว พาครอบครัวไปเที่ยว ผู้ชายบางคนแทบไม่ค่อยได้กลับบ้านเลย ทำแต่งาน ถึงเวลาตรุษจีนก็ต้องกลับบ้าน แล้วพาลูกพาเมียไปเที่ยว มันก็เป็นการช่วยกระชับความสัมพันธ์
นอกจากให้รู้จักพักแล้ว ก็รู้จักเที่ยวบ้าง แล้วก็ให้ทำสิ่งที่เป็นสิริมงคล สิ่งที่เป็นสิริมงคลหลายคนก็นึกถึงการไหว้เจ้า หรือไหว้บรรพบุรุษ ที่จริงสิ่งที่เป็นสิริมงคลมีมากกว่านั้น แต่คนไม่ค่อยนึกถึงก็คือให้ทำดี เช่น ห้ามด่าว่า ห้ามทะเลาะเบาะแว้งกัน แล้วก็ห้ามยืมเงินด้วย เพราะว่ายืมเงินแล้วก็เป็นต้นตอของความขัดแย้ง มันก็มีข้อห้ามหลายอย่าง
วันตรุษจีน ไม่เหมือนกับวันตรุษไทยหรือตรุษฝรั่ง มีข้อห้ามเยอะ บางที่บอกว่ามีข้อห้าม 7 ข้อ บางที่ก็บอกมีข้อห้าม 12 ข้อ บางที่ก็บอกว่ามีข้อห้าม 15 ข้อ ดูแล้ว จุดมุ่งหมายก็เพื่ออย่างที่ว่านั้น ให้หยุดงาน ให้รู้จักพักบ้าง แล้วก็ให้รู้จักเที่ยวบ้าง แต่ว่าเรื่องรู้จักเที่ยวสำหรับตรุษไทยแล้วไม่จำเป็นต้องห้าม เพราะว่าเที่ยวประจำอยู่แล้ว แต่คนจีนไม่ค่อยเที่ยวเท่าไร วันตรุษจีนจึงต้องเที่ยวบ้าง ไม่ได้เที่ยวคนเดียว แต่ว่าพาครอบครัวไปเที่ยว ความสัมพันธ์จะได้ดี
แล้วข้อห้ามอีกอย่างก็คือส่งเสริมให้ทำความดี ห้ามทะเลาะเบาะแว้งกัน ห้ามด่าว่ากัน ในแง่นี้สาระไม่ใช่เพื่อความโชคดีหรือเพื่อตัดความซวยทิ้ง แต่จุดมุ่งหมายคือเพื่อให้ทำความดีต่อกัน มีความเอื้อเฟื้อต่อกัน คนเราถ้าบอกว่ามันดีอย่างนั้นดีอย่างนี้อาจจะไม่สนใจ แต่ถ้าบอกว่าทำแล้วจะซวย ทำแล้วจะเดือดร้อน จะขมีขมันใส่ใจเลย คนเฒ่าคนแก่คนโบราณก็เลยต้องมีข้อห้าม แล้วก็สำทับว่า ถ้าขืนทำสิ่งที่ห้าม เดี๋ยวจะซวย หรือจะทำให้โชคลาภหมดไป คนก็เชื่อเพราะว่าไม่อยากซวย แล้วก็อยากจะได้โชคได้ลาภก็เลยทำ
คราวนี้คนก็ไปติดที่ประเพณีมาก จนกระทั่งลืมสาระความมุ่งหมาย แล้วถ้าเข้าใจสาระความมุ่งหมายมันไม่ใช่ว่าจะทำเฉพาะหรือห้ามทำเฉพาะวันตรุษจีน สิ่งไม่ดีก็ควรจะไม่ทำตลอดทั้งปีแล้ว ก็จะมีแต่สิริมงคล สิ่งดีก็ควรจะทำ แม้จะไม่มีข้อห้าม เพราะว่าถ้าทำแล้วมันจะเกิดสิริมงคล
เพราะว่ามงคล มันไม่ได้เกิดจากการที่ไหว้เจ้าทำตามประเพณี หรือว่าใส่เสื้อแดง หรือว่าปลูกต้นไม้มงคล ที่สำคัญคือการกระทำที่เป็นมงคล คือการทำดี อะไรที่เป็นการกระทำดีที่เป็นมงคล ต้องทำทั้งปี ไม่ใช่มาทำเฉพาะช่วงตรุษจีน
แต่คนเราถ้าหากไม่มีข้อบังคับ โดยการเอาเรื่องของความซวยความเฮงนี้มาสำทับแล้ว ก็ไม่ค่อยทำกันเท่าไหร่ แต่พอมีเรื่องของความซวยเข้ามาว่า ขืนทำแล้วจะซวย หรือจะไม่ได้โชคได้ลาภ ก็ทำกันใหญ่ อันนี้ก็เป็นธรรมดาของมนุษย์ ซึ่งเราก็ต้องเข้าใจ แล้วก็รู้ว่าจริงๆ แล้ว การทำดีมันก็เป็นมงคลอยู่แล้ว มันก็เป็นสิ่งที่ช่วยทำให้ความทุกข์บรรเทาเบาบางไป