แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
การที่นิมนต์พระมาบรรยายเรื่องการบริหารเงิน อาจจะเป็นเรื่องที่ผิดฝาผิดตัวอยู่บ้าง เพราะว่าโดยสถานะหรือตามพระธรรมวินัยของพระ ค่อนข้างจะห่างจากเรื่องการเงิน อีกทั้งโดยส่วนตัวอาตมาก็ไม่ได้เป็นผู้ที่ประสบความสำเร็จในด้านการเงินพอที่จะมีอะไรที่จะแนะนำทุกท่านในที่นี้ ซึ่งเป็นผู้ที่มีประสบการณ์และความรู้ในเรื่องการเงิน อย่างไรก็ตาม อาตมาก็เชื่อว่าคำสอนของพระพุทธเจ้า น่าจะเป็นประโยชน์กับทุกท่านได้ โดยเฉพาะในเรื่องการของวางท่าทีที่ถูกต้องเหมาะสมเกี่ยวกับเงิน คนมักจะมองว่าพุทธศาสนานี้มีท่าทีที่เป็นลบต่อเงิน หรือความสุขที่เกิดจากการใช้จ่ายเงินทอง แต่ที่จริงแล้ว แม้ว่าพระพุทธเจ้าจะเคยตรัสกับพระอานนท์ว่า เงินนี้คืออสรพิษ แต่นั่นก็มีความหมายในบริบทของพระภิกษุ แต่พวกเราซึ่งเป็นคฤหัสถ์หรือผู้ครองเรือน เงินเป็นสิ่งจำเป็น ไม่ใช่แค่สำคัญอย่างเดียว แต่เป็นสิ่งจำเป็นสำหรับชีวิต และเมื่อมีเงินแล้วก็ควรรู้จักใช้เงินให้เกิดประโยชน์ และประโยชน์เบื้องต้นก็คือการทำให้ตัวเองมีความสุข
มีคราวหนึ่ง พระพุทธเจ้าได้ทราบว่ามีเศรษฐีคนหนึ่งในเมืองสาวัตถี ซึ่งเสียชีวิตลง แล้วปรากฏว่า เนื่องจากเศรษฐีคนนั้นไม่มีทายาท ทรัพย์สมบัติทั้งหลายก็เลยตกเป็นของหลวง แต่เศรษฐีคนนี้มีพฤติกรรมบางอย่างที่น่าจะนำมากล่าวถึง กล่าวคือเศรษฐีคนนี้เป็นคนตระหนี่ แม้จะมั่งมีร่ำรวย แต่ก็อยู่แบบอัตคัด ใช้ชีวิตแบบอัตคัดขัดสน ข้าวที่กินก็เป็นข้าวปลายหัก เสื้อผ้าก็เป็นเสื้อผ้าที่ปะแล้วปะอีก แล้วก็มีความหวงแหนในทรัพย์สิน ไม่ค่อยนำไปช่วยเหลือเกื้อกูลผู้อื่น เช่น บริจาค พระพุทธเจ้าก็ตรัสถึงเศรษฐีคนนี้ว่า เป็นคนที่น่าตำหนิ เพราะไม่รู้จักใช้ทรัพย์เพื่อเลี้ยงตัวเองให้มีความสุข พระพุทธเจ้าไม่ได้มองว่าความยากจนหรือว่าความอัตคัดขัดสนเป็นของดี จริงอยู่วิถีชีวิตของพระ ถ้าเทียบกับวิสัยชาวโลก หรือพูดอย่างภาษาชาวโลกก็ถือว่าเป็นผู้ที่อยู่อย่างเรียบง่าย และก็อาจจะถือว่ายากจนด้วยซ้ำ แต่นั่นมีเหตุผลที่เฉพาะเกี่ยวกับพระภิกษุสงฆ์ แต่ในส่วนของฆราวาสหรือคฤหัสถ์ผู้ครองเรือน เมื่อหาเงินมาได้ต้องรู้จักใช้ทรัพย์ให้มีความสุข ถ้าไม่ใช้เงินไม่ใช้ทรัพย์นั้นเพื่อเลี้ยงตนให้มีความสุข ก็ถือว่าเป็นคนโง่ ไม่น่าสรรเสริญ อันนี้ก็เป็นประเด็นหนึ่งที่น่าจะทำให้พวกเราได้เข้าใจว่า พระพุทธศาสนาไม่ได้มองหรือมีท่าทีลบต่อเงินทอง
ที่จริงพระพุทธเจ้าได้ตรัสเอาไว้ถึงเรื่องของการใช้เงิน หรือว่าการเกี่ยวข้องกับเงินไว้ในหลายตอน มีธรรมะหมวดหนึ่งที่ชื่อว่า“กามโภคี” กามโภคี ก็แปลว่าผู้บริโภคกาม คำว่ากามหมายถึง รูป รส กลิ่น เสียง สัมผัส ที่น่าพอใจ ก็คือความสุขจากวัตถุ พูดง่ายๆ พระพุทธเจ้าตรัสว่ากามโภคีหรือผู้ครองเรือนอย่างพวกเรา ประการแรก ต้องรู้จักหาทรัพย์โดยชอบธรรม คือ ไม่คดโกง ไม่ไปลักของใครมา ไม่ได้ประกอบมิจฉาอาชีวะ นี่คือข้อแรก ต้องรู้จักหาทรัพย์โดยชอบธรรม เมื่อได้ทรัพย์มาแล้ว ประการที่สองต้องรู้จักใช้ทรัพย์ให้เป็น ก็คือ หนึ่ง เลี้ยงตนให้มีความสุข รวมถึงครอบครัว สอง ใช้เงินให้เกิดประโยชน์ เช่น บริจาค หรือว่าทำความดี คนที่หาเงินมาโดยชอบธรรมแต่ไม่รู้จักเลี้ยงตนให้มีความสุข อันนี้ไม่ถูก หรือเลี้ยงตนให้มีความสุขแต่ไม่รู้จักใช้ทรัพย์ให้เกิดประโยชน์กับผู้อื่น อันนี้ก็ไม่ถูก อันนี้เป็นเรื่องของการใช้ทรัพย์ให้เป็น
ทีนี้เมื่อใช้ทรัพย์ให้เป็นแล้ว ที่สำคัญคือประการที่สาม ก็คือว่า ไม่สยบ ไม่มัวเมาหมกหมุ่นในทรัพย์ ไม่ทำตนให้เป็นทาสของทรัพย์สมบัติ แต่มีปัญญารู้จักทำจิตทำใจให้เป็นอิสระเหนือทรัพย์ อันนี้คือสิ่งสำคัญมากประการที่สาม พูดอย่างง่ายๆคือว่า เราต้องรู้จักใช้ทรัพย์ให้เป็นประโยชน์ หรือพูดให้ย่อลงไปกว่านั้นก็คือว่า “ทรัพย์นี้เป็นบ่าวที่ดี แต่เป็นนายที่เลว” ทรัพย์เป็นบ่าวที่ดีเป็นนายที่เลว ถ้าเราเป็นนายเหนือทรัพย์ เราก็จะใช้ทรัพย์นั้นให้เกิดประโยชน์ เลี้ยงตัวให้มีความสุข เผื่อแผ่แบ่งปันให้ผู้อื่นได้รับความสุข ช่วยเหลือส่วนรวม ทำบุญ หรือก่อให้เกิดประโยชน์ อันนี้เรียกว่ารู้จักใช้ทรัพย์ แล้วก็เป็นนายเหนือทรัพย์ ใครใช้ทรัพย์แบบนี้ก็จะเกิดประโยชน์ แต่คนส่วนใหญ่ไม่ได้ใช้ทรัพย์ ไม่ได้เป็นนายเหนือทรัพย์ แต่ว่าปล่อยให้ทรัพย์หรือเงิน มาเป็นนายเรา อันนี้เป็นปัญหาที่ทำให้คนมีความทุกข์ทุกวันนี้ เวลาเงินหาย ของหาย เราเสียใจไหม เราเสียอกเสียใจจนกินไม่ได้นอนไม่หลับ นั่นแปลว่าเรากำลังปล่อยให้ทรัพย์มาเป็นนายเรา เวลาเราทำงาน เราได้เงินน้อย เราไม่พอใจ เรามีความทุกข์
เมื่อใดก็ตามที่เราทุกข์เพราะเงิน นั่นแปลว่าเรากำลังปล่อยให้เงินมาเป็นนายเรา แล้วคนที่ยอมให้เงินเป็นนาย ในที่สุดก็อาจจะทำชั่ว คอรัปชั่นเพื่อเงิน บางทีถึงกับไปปล้น หรือไปฆ่า เพื่อแย่งชิงทรัพย์มา อันนี้ก็เป็นตัวอย่างของคนที่ตกเป็นทาสของเงิน บางทีถึงกับฆ่าพี่ฆ่าน้อง หรือฆ่าพ่อฆ่าแม่เพื่อเอามรดก ซึ่งเราอาจจะเคยได้ยินข่าวคราว อันนี้ก็เป็นตัวอย่างของคนที่ตกเป็นทาสของเงิน จริงอยู่เราอาจจะไม่ได้ทำถึงขนาดนั้น เราอาจจะไม่ทำถึงขนาดว่า ยอมทำชั่วเพื่อเงิน แต่คนจำนวนไม่น้อยยอมตายเพื่อเงิน ชีวิตทั้งชีวิตทุ่มเทไม่ได้หลับไม่ได้นอน ไม่ได้พักผ่อน ทั้งที่มีเงินมามากแล้ว ก็ยังหาเงินไม่หยุด จนเป็นโรคเครียด โรคประสาท โรคความดัน อายุ 70 80 แล้ว ยังไม่หยุดหาเงิน มีความสุขทุกครั้งที่ได้เงิน อันนี้ก็เป็นอาการของคนที่ตกเป็นทาสของเงิน คือเขายอมตายเพื่อเงินได้ คนที่อาจจะพกเงินทองหรือแก้วแหวนเพชรพลอยติดตัว แล้วเดินไปในซอยเปลี่ยว แล้วเกิดมีคนมาปล้นมาจี้ “เอาเงินมา” หลายคนเลือกที่จะต่อสู้ขัดขืน จนถูกทำร้ายบาดเจ็บหรือล้มตาย อย่างนี้เรียกว่าตายเพื่อเงิน ตายเพราะเงิน คนที่ยอมตายเพราะเงิน หรือยอมตายเพื่อเงิน เราจะเรียกเขาว่าเป็นนายของทรัพย์ได้อย่างไร ก็แสดงว่าเขาเป็นทาสของทรัพย์
เดี๋ยวนี้เราจะพบว่าคนปล่อยให้เงินมาเป็นนายมีมากมาย ทะเลาะเบาะแว้งกันในหมู่เพื่อนในหมู่พี่น้องครอบครัวก็เพราะเงิน ความสัมพันธ์สูญเสียไปก็เพราะเงิน บางคนเขาอาจจะตั้งเป้าหมายในชีวิตเลยว่า จบเมื่ออายุถึง 30 จะต้องมีเงินให้ได้ 20 ล้าน เขาก็ทุ่มเททุกอย่าง แม้จะขัดแย้งกับพ่อแม่ เพื่อนฝูง แม้จะทะเลาะกับเพื่อนร่วมงาน แต่เขาก็ไม่สนใจ เพียงเพื่อที่จะได้มีเงินให้ได้ตามเป้า อาจจะมีครอบครัวแต่ไม่สนใจครอบครัว สุขภาพก็ไม่ดูแลรักษา พอครบอายุ 30 มีเงินอาจจะถึง 100 ล้านเกินเป้าด้วยซ้ำ แต่ว่าครอบครัวแตกแยก ร่างกายเจ็บป่วย เป็นโรคความดัน นอนไม่หลับ อันนี้ก็เป็นตัวอย่างของคนที่ปล่อยให้ทรัพย์เป็นนาย คนที่ฉลาดจะทำให้ทรัพย์เป็นบ่าวของเรา ไม่ใช่ปล่อยให้มาเป็นนายเรา เพราะฉะนั้นที่พระพุทธเจ้าตรัสว่า กามโภคีหรือผู้ครองเรือน ประการสุดท้ายนี่มีความสำคัญมาก ก็คืออย่าสยบ อย่ามัวเมาหมกหมุ่นในทรัพย์ ต้องรู้จักมีปัญญาทำตนให้เป็นอิสระจากทรัพย์ เพราะชีวิตของคนเรามันมีค่ามากกว่าการที่จะหาเงินหาทองให้ได้มากๆ โดยที่ต้องสูญเสียหลายสิ่งหลายอย่าง ที่มันมีความหมายต่อชีวิตมากกว่า
คราวนี้มีคำสอนอีกประการของพระพุทธเจ้า ซึ่งอาจจะใกล้ตัวเราเข้ามาอีกหน่อย คำสอนนั้นชื่อว่า “โภควิภาค” ก็คือการแบ่งทรัพย์ ให้รู้จักแบ่งทรัพย์ให้เป็น ซึ่งลองมาพิจารณาดูว่ามันมีประโยชน์กับเราแค่ไหน “โภควิภาค 4” ก็คือ พระพุทธเจ้าตรัสว่าทรัพย์แบ่งเป็น 4 ส่วน ส่วนที่ 1 ใช้จ่ายเลี้ยงตนและเลี้ยงคนที่ควรบำรุงให้มีความสุข และทำประโยชน์ให้กับผู้อื่น อีก 2 ส่วนใช้ลงทุนประกอบการงาน ก็คือ 50% อีก 1 ส่วนเก็บไว้ใช้ในคราวจำเป็น ก็คือเก็บออม จะสังเกตว่าคำแนะนำของพระพุทธเจ้าให้ใช้ทรัพย์เลี้ยงตนและครอบครัว หรือว่าใช้จ่ายทรัพย์แค่ 25% อีก 25% เก็บออมไว้ใช้ในยามจำเป็น อีก 50% เอาไว้ใช้ลงทุน เราอยากได้อะไรเราก็ผลิตขึ้นมาเอง เช่น ข้าว ก็ปลูกข้าวเอง ทอผ้าเอง เพราะฉะนั้นความจำเป็นต้องใช้เงินมันมีน้อย ส่วนใหญ่ผลิตมากับมือ เพราะฉะนั้นเงินที่หามาได้จึงเอามาใช้จ่ายอาจจะไม่มาก เพราะว่าส่วนใหญ่ผลิตด้วยมือของตัวเอง ด้วยแรงงานของคนในครอบครัว มาถึงสมัยนี้ การที่คนเราจะใช้เงินเพียงแค่ 25% ในการใช้จ่ายเลี้ยงตนให้มีความสุขและครอบครัว ยากนะ คำสอนเรื่องนี้อาตมาคิดว่ามีประโยชน์ เพราะมันชี้ให้เห็นว่า คนเรานี้เมื่อเราหาทรัพย์มาได้ก็ต้องคำนึงถึง 3 ส่วนก็คือ 1 การใช้จ่าย 2 การเก็บออม 3 การลงทุน
เวลาเราพูดถึงเรื่องการบริหารเงิน ในด้านหนึ่งเราก็มีหลักอยู่ในใจว่า ทำยังไงจะให้เงินมันเป็นบ่าวที่ดี ไม่ใช่กลับมาเป็นนายของเรา การที่เราจะทำอย่างนั้นได้ ส่วนหนึ่งเป็นเรื่องที่ต้องมีหลักการในการใช้เงิน หลักการใช้เงินก็คือ ต้องรู้จักจัดลำดับความสำคัญ การจัดลำดับความสำคัญหรือจัด Priority มันเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับทุกเรื่อง เรามีเวลาในชีวิตนี้น้อย วันหนึ่งเรามี 24 ชั่วโมง เราจะทำอะไรก็ต้องจัดลำดับความสำคัญว่า อันไหนที่สำคัญก็ควรทำก่อน อันไหนสำคัญรองลงมาก็เอาไว้ทีหลัง เงินก็เหมือนกัน ในแต่ละขณะเรามีเงินอยู่จำกัด เราจะบริหารเงินให้ได้ดีก็ต้องจัดลำดับความสำคัญ คราวนี้การจัดลำดับความสำคัญของเงิน อาตมาอยากจะมองแบบกว้างๆ คือ เงินที่เราจะใช้จ่ายหรือสิ่งที่เราต้องใช้จ่ายด้วยเงิน มันมีอยู่ 4 ประเภท ประเภทแรกคือ สิ่งที่จำเป็น ประเภทที่สอง อาจจะไม่ถึงกับจำเป็น แต่ให้ความสุขกับเรา และทั้งสิ่งที่จำเป็นและให้ความสุขกับเรา มันก็มีอยู่ 2 ประเภท 2 กอง คือ ระยะสั้น กับ ระยะยาว เพราะฉะนั้นถ้าพูดถึงเรื่องการใช้จ่ายเงิน ในเรื่องการบริหารเงิน มันมีวิธีคิด ก็คือการจำแนกออกมาเป็น 4 ส่วน ประเภทที่ 1 เป็นสิ่งจำเป็นระยะสั้น อันที่ 2 จำเป็นเหมือนกัน แต่จำเป็นระยะยาว ประเภทที่ 3 เป็นสิ่งที่ให้ความสุขกับเราระยะสั้น ประเภทที่ 4 ให้ความสุขกับเราระยะยาว แล้วมันได้แก่อะไรบ้าง
ถ้าจำเป็นระยะสั้น เช่น ค่าอาหาร ค่าเช่าบ้าน น้ำ ไฟ ค่าโทรศัพท์ ค่าพาหนะ น้ำมันรถ เสื้อผ้า ภาษีสังคม ภาษีสังคมก็เช่น งานศพ งานแต่งงาน ผ่อนบ้าน ผ่อนรถ อันนี้หมายถึงว่าสิ่งที่จำเป็นต้องใช้เพื่อการดำเนินชีวิต เพื่อการทำงาน ซึ่งใช้แบบวันต่อวัน หรือว่าไม่เกิน 1 เดือนต้องใช้ออกไป ส่วนความสุขระยะสั้นเช่น ดูหนัง กินข้าวนอกบ้าน น้ำชากาแฟ อันนี้ไม่นับเรื่องเหล้า ช็อปปิ้ง ทำบุญ คือคนเราจะอยู่จะอาศัยและใช้จ่ายแต่สิ่งที่จำเป็น ก็อาจจะดูแห้งๆ คนเราทุกคนก็ต้องการความสุข ที่ทำให้มันมีชีวิตชีวาขึ้นมา เติมสีสันให้กับชีวิต เพราะฉะนั้นสำหรับปุถุชน หรือฆราวาสผู้ครองเรือน การที่จะต้องมีค่าใช้จ่ายเพื่อเติมความสุขให้กับชีวิต เติมสีสันให้กับชีวิต มันก็เป็นเรื่องที่ปฏิเสธได้ยาก อันนี้ก็คือสิ่งที่จำเป็นระยะสั้นและความสุขระยะสั้น ที่เราควรคำนึงเวลาเราจะบริหารเงินว่าแค่ไหนเท่าไหร่สำหรับสิ่งที่จำเป็นในเดือนนี้ ส่วนความสุขในเดือนนี้แค่ไหนเท่าไหร่กี่เปอร์เซ็นต์
แต่คนเราจะคิดแต่เรื่องระยะสั้น คิดแต่เรื่องเฉพาะเดือนนี้คงไม่พอ เราต้องคิดระยะยาว เช่น 1 ปี เรามีรายจ่ายอะไรบ้าง อะไรบ้างที่จำเป็น อะไรบ้างที่มันเติมเป็นสีสันให้กับชีวิต จำเป็นระยะยาว คืออะไรบ้าง เช่น เงินประกันชีวิต ประกันสุขภาพ ค่ารักษาพยาบาลต้องอดออมเอาไว้ เพราะว่าค่ารักษาพยาบาลบางทีเวลาจ่ายมันเป็นหมื่น หรือเป็นแสน เงินเดือนเราอาจจะแค่สองหมื่นสามหมื่น มันไม่พอ เพราะฉะนั้นเราก็ต้องคิดถึงเรื่องระยะยาวว่า เราจะมีเงินค่ารักษาพยาบาลเท่าไร ซึ่งอาจจะต้องใช้ภายใน 1 ปี ค่าเล่าเรียน ทุนการศึกษาลูก อาจจะคิดถึงเรื่องการซื้อที่ดิน ซื้อบ้าน เพราะทุกวันนี้แค่เช่าบ้านเขาอยู่ แต่เราอยากจะซื้อที่ดินเอาไว้สร้างบ้าน อันนี้เป็นเรื่องระยะยาว ประกันรถปีหนึ่งก็เป็นหมื่น อันนี้ก็เป็นเรื่องที่เราจะต้องคิด ความสุขระยะยาว ระยะยาวนี่ก็มีทั้ง 1 ปี และ 10 ปี เช่น การเที่ยวต่างประเทศ ซื้อกล้องถ่ายรูป เครื่องเสียง สเตอริโอ บางคนบางครั้งต้องใช้หลายแสน
อันนี้เป็นตัวอย่างว่าเวลาเราจะบริหารเงิน การจัดลำดับความสำคัญ มันมีวิธีการจัดได้หลายแบบ อันนี้เป็นตัวอย่างว่าเราสามารถจัดลำดับความสำคัญได้ 4 แบบ 4 ประเภท จำเป็นระยะสั้น จำเป็นระยะยาว ความสุขระยะสั้น ความสุขระยะยาว คราวนี้สำหรับสิ่งที่จำเป็นระยะสั้นก็ดี หรือความสุขระยะสั้น นี่คือรายจ่ายเดือนต่อเดือน ส่วนความจำเป็นระยะยาว หรือความสุขระยะยาว มันเป็นสิ่งที่เราควรอดออม เก็บออมเอาไว้ เพราะฉะนั้น เมื่อเรามีรายรับ เราก็ต้องมีเงินส่วนหนึ่งเป็นเงินออม มีเงินส่วนหนึ่งที่อาจจะเป็นเงินลงทุนด้วย แล้วที่เหลือเป็นรายจ่าย บางคนมีรายได้ จ่ายเหลือเท่าไรถึงค่อยออม แต่วิธีการคิดแบบนี้อาจจะกลายเป็นว่า จ่ายจนไม่เหลือให้อดออมหรือลงทุนเลย มันจะดีกว่าหรือเปล่า ถ้าเรามีรายได้ ก่อนที่จะจ่ายอะไรลงไปก็ออมไว้ก่อน รวมทั้งมีเงินลงทุน เช่น ซื้อพันธบัตร กองทุนรวม หรือว่าซื้อกองทุนอะไรต่างๆ ก็ได้ ถ้าเราไม่ออมไว้ก่อน ถ้าเราไม่ลงทุนไว้ก่อน เราใช้แล้วค่อยมาออม อาจจะไม่เหลือ มันเหมือนการใช้เวลานะ เรามีเวลาวันหนึ่ง 24 ชั่วโมง เรานอนไปแล้ว 8 ชั่วโมง เรามีเวลาทำงานจริงๆ 16 หรือ 17 ถ้าเราทำ ถ้าเราไม่เก็บเวลาส่วนหนึ่งเอาไว้สำหรับทำสิ่งที่สำคัญ เช่น ออกกำลังกาย นั่งสมาธิ บางคนบอกว่า ออกกำลังกาย นั่งสมาธิ มีเวลากับครอบครัว ก็ดี แต่ว่างเมื่อไหร่ค่อยทำ คนที่คิดแบบนี้ ว่าว่างเมื่อไหร่ค่อยทำ จะพบว่าสุดท้ายไม่มีเวลาว่างเหลือเลย แต่ถ้าคุณคิดว่าอันนี้เป็นสิ่งสำคัญแล้วคุณทำเลย แล้วเวลาเหลือเท่าไหร่ค่อยไปใช้อย่างอื่น มันเหมือนกับถ้าคุณมีขวดโหลอยู่ขวดหนึ่ง แล้วคุณใส่ก้อนหิน(เรื่องที่สำคัญ)ลงไปจนเต็ม คุณยังสามารถจะใส่กรวดให้มันเต็มได้ ใส่กรวดทรายให้เต็มแล้วคุณยังเติมน้ำได้อีก แต่ถ้าคุณเริ่มต้นจากการที่ใส่กรวดให้มันเต็มก่อน คุณจะไม่สามารถใส่ก้อนหินได้เลย สิ่งสำคัญอยู่ที่ว่าคุณใส่อะไรลงไปก่อน ถ้าคุณใส่ก้อนหินลงไปก่อน แม้จะเต็มขวดเต็มโหล คุณก็ยังสามารถจะใส่ทราย ใส่กรวดเล็กๆ หรือว่าเติมน้ำลงไปได้ แต่ถ้าคุณเริ่มต้นจากการใส่ทรายหรือใส่กรวดก้อนเล็กๆ เมื่อเต็มแล้วคุณใส่ก้อนหินลงไปไม่ได้เลย
อันนี้ก็เหมือนกัน เวลาเราจะบริหารเงิน ถ้าเรามีรายได้ปุ๊บ แล้วเราบอกจ่ายก่อน เหลือเท่าไรค่อยออม เหลือเท่าไรค่อยลงทุน มันจะลงเอยว่าคุณไม่เหลืออะไรเลยเพราะคุณจะสนุกกับการจ่ายจนลืม แต่ถ้าคุณเริ่มต้นจากว่า ได้เงินมาหมื่นหนึ่ง แบ่งเป็น 4 กองเลย กองนี้เอาไว้เป็นเงินออม กองนี้เป็นเงินลงทุน เหลือเท่าไรค่อยมาใช้จ่าย มันก็จะทำให้การใช้หรือการบริหารเงินของคุณมันเป็นไปได้อย่างที่ต้องการ ก็คือมีเงินทั้งสำหรับสิ่งที่จำเป็นระยะสั้นในเดือนหนึ่ง และสิ่งที่เป็นความสุขหรือสีสันของชีวิตใน 1 เดือน แล้วคุณก็จะมีเงินเหลือสำหรับสิ่งที่จำเป็นระยะยาวคือ 1 ปี สิ่งที่เป็นความสุขหรือสีสันให้กับชีวิตในระยะ 1 ปี รวมทั้งเงินลงทุนด้วย นี่เป็นตัวอย่างว่า ถ้าสมมติเราจัดลำดับความสำคัญได้ มันก็จะช่วยทำให้การบริหารเงินสะดวก
เรื่องแบบนี้อาจจะเป็นเรื่องพื้นฐานที่พวกเราได้รู้กันอยู่แล้ว สิ่งที่สำคัญก็คือว่า เราจะทำอย่างนี้ได้อย่างไร ถ้าเกิดว่าเรามีการวางแผนแบบนี้แล้ว คือไม่ว่าคุณจะวางแผนแบบไหนก็ตาม หลายครั้งเราวางแผนแม้จะสวยหรูอย่างไร แต่เราทำตามแผนไม่ได้ เพราะว่าอะไร เพราะว่าเผลอใจ เพราะว่าไม่มีวินัย ดังนั้น ในแง่หนึ่ง การที่เรารู้จักควบคุมตัวเอง เพื่อจะทำให้เป็นไปอย่างที่ต้องการได้ หลายคนบอกว่าเวลาเขาได้เงินมา แทนที่เขาจะเก็บเงินไว้กองเดียวกัน เข้าแบ่งเป็น 4 บัญชีเลย เงินออมบัญชีหนึ่ง เงินลงทุนบัญชีหนึ่ง เงินที่จำเป็นบัญชีหนึ่ง เงินที่เป็นความสุขระยะสั้นอีกบัญชีหนึ่ง มันเป็นวิธีที่ช่วยทำให้เช็คได้ว่า ได้ใช้จ่ายตามที่ต้องการหรือเปล่า ได้ใช้จ่ายตามที่วางแผนไหม แทนที่จะเก็บเงินไว้ในกระเป๋า แล้วคิดอยู่ในหัวว่า วันนี้ เดือนนี้ เราจะใช้สิ่งที่จำเป็น 2000 สิ่งที่เป็นความสุขในเดือนนี้ 1000 คิดอยู่ในหัว แต่เอาเข้าจริงๆทำไม่ได้เพราะว่าไม่ได้แบ่งเงินเหล่านี้เป็นกองๆ แยกกันเสียก่อนตั้งแต่แรก นี่เป็นตัวอย่างในเรื่องการจัดการเงิน
แต่สิ่งที่จำเป็นอีกอย่างคือการจัดการที่“ใจของเรา” การจัดการที่ใจของเราเป็นสิ่งสำคัญที่จะทำให้การบริหารเงินหรือวินัยการใช้เงินเป็นจริงได้ การจัดการที่ใจของเราเช่นอะไรบ้าง ที่สำคัญคือเราต้องรู้ทันจิตใจของเรา รู้ทันใจว่ามีความอยาก หลายคนแม้ว่าจะรู้ว่าอะไรดีอะไรควรไม่ควร แต่ทำไม่ได้อย่างที่ต้องการ มันมีคำพูดหรือสำนวนว่า “ดีชั่วรู้หมด แต่อดใจไม่ได้” ก็รู้ว่าการออกกำลังกายเป็นของดี รู้ว่าการกินน้ำตาลมากเป็นของไม่ดี การกินเนื้อมากๆในวัยนี้มันเสี่ยงต่อเป็นโรคหัวใจ รู้ว่าสูบบุหรีไม่ดี รู้ว่ากินเหล้าไม่ดี แต่อดใจไม่ได้ สิ่งที่รู้มันอยู่ในหัว แต่ใจมันไม่ร่วมมือด้วย ที่ใจไม่ร่วมมือด้วยส่วนหนึ่งก็เพราะไม่รู้จักควบคุมจิตใจ อีกส่วนหนึ่งเพราะว่าไม่มีสติรู้ทันจิตใจของตัว มีความอยากก็ปล่อยให้ความอยากมันชักพาจิตใจ หลายคนใช้จ่ายเงินอย่างไม่มีสติ เพราะว่าถูกสิ่งกระตุ้นเร้านำพาจิตใจไป มีคนหนึ่งบอกว่า วันหนึ่งจะไปซื้อรองเท้าแตะ ก็เลยไปเข้าห้าง ปรากฏว่าในห้างมีการขายลดราคาหลายรายการ แกซื้อของอะไรตั้งมากมายกลับมา อย่างเดียวที่ไม่ได้ซื้อคือรองเท้าแตะ ไปถึงเข้าไปในห้าง โอ้โห!มันอยาก มันอยาก มันอยากก็ซื้อ ยิ่งลดราคาก็ยิ่งซื้อเข้าไป ลืมเลยว่าเข้าไปในห้างเพื่ออะไร เข้าไปในห้างเพื่อจะซื้อรองเท้าแตะใช่ไหม แต่ว่าพอเจอสิ่งล่อเร้าเย้ายวน ลืมไปเลย ซื้อสารพัด สิ่งเดียวที่ไม่ได้ซื้อคือสิ่งที่ต้องการจะไปซื้อจริงๆคือรองเท้าแตะ นี่เพราะอะไร เพราะไม่มีสติ เพราะลืมตัว แล้วถ้าเราปล่อยให้เราลืมตัวบ่อยๆ ในชีวิตประจำวัน วันแล้ววันเล่า แม้คุณจะบริหารเงิน แม้คุณจะวางแผนการใช้เงินให้สวยอย่างไร คุณก็ทำอย่างที่ต้องการไม่ได้
รู้ทันจิตใจของเรา เมื่อมันมีความอยากก็รู้ทัน อาตมาประทับใจแม่คนหนึ่ง เธอมีลูกสาวอายุ 12 ขวบ วันหนึ่งลูกสาวกลับจากโรงเรียนมาบอกว่า “แม่ หนูอยากได้ของเล่นชิ้นหนึ่ง อยากได้มากเลยแม่” แม่ถามว่า“มันอะไรเหรอ” เธอตอบว่า “มันเป็นไมโครโฟนที่เวลากดปุ่มแล้วมันร้องเพลง เหมือนกับว่าตัวเธอร้องเพลงได้จริงๆ” นี่คือเมื่อ 10 กว่าปีก่อน สมัยที่ยังไม่มีสมาร์ทโฟน ยังไม่มีโทรศัพท์มือถือ ของเล่นของเด็กก็มีเท่านี้แหละ หรือมีประมาณนี้แหละ แม่ก็ถามลูกว่า“มันราคาเท่าไหร่” เด็กตอบว่า “400 บาท” สำหรับแม่หรือสำหรับบ้านนี้ 400 บาทถือว่ามาก เมื่อแม่เจอแบบนี้ ส่วนใหญ่จะทำหรือหาทางออกอย่างใดอย่างหนึ่งใน 2 ประการ ก็คือ หนึ่งซื้อให้ลูก สองไม่ซื้อ แต่แม่คนนี้แกฉลาด แกบอกว่า “ถ้าลูกอยากได้จริงๆ ก็ได้ แต่มีเงื่อนไขสองประการ หนึ่งแม่จะหักเงินค่าขนมของลูกวันละ 20 จนครบ 1 อาทิตย์ 1 อาทิตย์มันก็แค่ 140 บาทเท่านั้น ที่เหลือแม่ออกให้ ข้อที่สอง ทุกเย็นก่อนกลับบ้าน ให้ลูกไปที่ร้านของเล่นนั้น นอกจากไปดูของแล้วให้ดูความอยากด้วย ดูความอยากในใจของตัว” เด็กอยากได้เด็กก็รับปาก แล้วเด็กก็ทำตามที่รับปาก ทุกเย็นเด็กก็ไปที่ร้านของเล่น เด็กอยากได้ของเล่นเด็กก็ดีใจที่ได้ดูของ แต่เด็กก็ไม่ลืมที่รับปากกับแม่คือดูความอยากของตัว ผ่านไป 3 วัน เด็กมาบอกแม่ว่า “แม่ หนูไม่เอาแล้ว” “อ้าวทำไมล่ะ” “เบื่อ เสียดายเงิน เอาเงินไปซื้ออย่างอื่นดีกว่า” ความอยากมันหายไปไหน ความอยากมันหายไปเพราะเธอมาสังเกตดูความอยากในใจของตัว หลายคนพอมีความอยากปุ๊บ ทำตามความอยากเลย เห็นของในห้างอยากได้ซื้อเลย ทั้งๆที่ไม่ได้มีแผนการที่จะซื้อ แต่กว่าจะมารู้ตัวก็ซื้อของเข้าบ้านไปแล้ว แต่ถ้าเราหมั่นสังเกตความอยากของตัว แทนที่เราจะรีบซื้อทันที เรามาดูความอยากของตัว ในที่สุดความอยากก็จะหายไป
ทุกวันนี้เราถูกกระตุ้นเร้าให้เกิดความอยาก แล้วเราก็ไม่มีสติ เราก็เลยเผลอจ่ายเงินไปโดยไม่รู้ตัว ครั้งแล้วครั้งเล่า ที่วางแผนการใช้เงินไม่เคยทำได้ตามเป้าเลย เพราะลืมตัวเพราะไม่มีสติ เป็นเพราะว่าเราไม่คิด เราคิดแต่จะบริหารเงิน แต่เราไม่คิดบริหารใจของเรา การมีสตินี่สำคัญ รู้เท่าทันความอยาก รู้เท่าทันอารมณ์ของตัว แล้วคุณไม่ต้องกดข่มมัน คุณเพียงแต่ดูมันเฉยๆ ซึ่งอันนี้มันเป็นแง่คิดว่า เมื่อเราอยากจะได้อะไร อย่าเพิ่งรีบซื้อ บางทีเพียงแค่เราทอดเวลาไปซักพัก ทอดเวลาไป 2-3 วัน ความอยากมันอาจจะหมดไปก็ได้ หลายคนพบว่าพอรีบซื้อแล้วนี่ มันมีความทุกข์ประการหนึ่ง อยากได้ก็ซื้อปุ๊บเลย 1 อาทิตย์ต่อมาของนั้นลดราคา เสียดายน หรือไปอีกร้านหนึ่งเขาลดราคา ร้านนี้ 100 บาท อีกร้านหนึ่ง 80 คุณซื้อของด้วยเงิน 100 คุณดีใจตอนได้มา แต่พอคุณรู้ว่าอีกเดือนหนึ่งหรืออีกอาทิตย์หนึ่งต่อมาของมันเหลือ 80 คุณมีความสุขไหม คุณไม่มี หรือคุณซื้อไปแล้วคุณไปอีกร้านหนึ่งบอก 80 เสียใจเลย หลายคนเสียใจเพราะเหตุนี้ ทั้งที่คุณได้ของมาแต่คุณทุกข์ เพราะว่าอะไร เพราะว่ารีบ หุนหันพันแล่น ถ้าคุณทิ้งระยะไว้สักหน่อย อย่างน้อยๆคุณจะพบว่าความอยากมันลดลง และเผลอๆคุณอาจจะได้ของที่ดีกว่าหรือราคาถูกกว่าด้วย เพราะว่าคุณได้เห็นข้อมูล คุณได้พบที่อื่นที่เขาขายในราคาที่ดีกว่า
การรู้ทันจิตใจความอยากของตัวสำคัญมาก สมัยนี้นอกจากรู้ทันจิตใจของตัวแล้ว คุณต้องรู้ทันสิ่งล่อเร้าเย้ายวนด้วย สมัยนี้มันมีสิ่งที่ล่อให้คุณอยากซื้อมาก เพียงแค่คุณเปิดหรือเล่น facebook ความอยากก็เกิดขึ้นแล้ว เพราะมันมีคนโน้นคนนี้โพสว่าเขามีสิ่งนั้นสิ่งนี้ คุณก็อยากได้แบบเขา เขาไปกินร้านอาหารญี่ปุ่นร้านอาหารอิตาเลี่ยน คุณก็อยากไปกินอย่างนั้นบ้าง อยากจะมีความสุขแบบเขา เดี๋ยวนี้มันมีสิ่งล่อเร้าเย้ายวนมาก และมีความสามารถในการดึงจิตของเราให้จดจ่ออยู่กับสิ่งนั้นจนเกิดความอยากในที่สุด เดี๋ยวนี้มันมีมากขึ้น app ต่างๆใน social media หรือว่ากระบวนการล่อให้คุณจ่ายเงินควักเงินในกระเป๋า มันมีมากขึ้นเรื่อยๆ และทรงประสิทธิภาพมากขึ้น สิ่งเหล่านี้มันไม่เพียงแต่ทำให้คุณเสียเงินมากขึ้น คุณยังเสียเวลามากขึ้นด้วย ปัญหาคนสมัยนี้ก็คือไม่มีเวลา เขาจะบ่นไม่มีเวลาๆ ส่วนหนึ่งเพราะว่าถูกสิ่งเหล่านี้มันดึงดูดเวลาคุณไป มันดึงดูดความสนใจคุณไป
สมัยนี้มันมีเศรษฐกิจตัวหนึ่งที่ใหญ่โตมาก เขาเรียกว่า attention economy เศรษฐกิจที่อยู่ได้หรือหล่อเลี้ยงได้โดยอาศัยการที่ดึงให้คนจดจ่อใส่ใจกับสิ่งใดสิ่งหนึ่งไปนานๆ facebook รวยได้ก็เพราะว่าเขาสามารถตรึงเราให้ใช้เวลากับเขานานเท่าที่จะนานได้ วันละ 2-3 ชั่วโมง เพราะถ้าเราให้เวลากับเขานานๆ เขาก็จะได้สปอนเซอร์ เขาก็จะได้ค่าโฆษณา แถมเขายังได้ข้อมูลจากเราไปขายได้อีก เดี๋ยวนี้มันจะมีสิ่งต่างๆ ที่พยายามดึงล่อให้เราสนใจ เพื่อที่เราจะได้ควักเงินให้กับเขาหรือว่าให้สิ่งที่มีค่า เช่น ข้อมูลกับเขา เคยมีคนถาม CEO NETFLIX ว่า อะไรคือคู่แข่งที่สำคัญที่สุดของคุณ แทนที่เขาจะตอบว่า AMAZON, HBO หรือว่าบริการอื่นๆ เขาตอบว่า คู่แข่งที่สำคัญที่สุดของเขาก็คือ เวลาที่เราหลับ เพราะถ้าเราหลับเราก็ดูหนังของเขาไม่ได้ แต่ถ้าเมื่อใดก็ตามที่เราตื่น เขามั่นใจเลยนะเขาจะดึงให้เรามาดูหนังของเขาและควักเงินจ่ายเขา เขาจะเริ่มต้นด้วยการคิดเงินถูกๆ เดือนละ 200-300 หรือว่าฟรี เราคิดว่าเป็นของฟรี เราก็เลยดู พอดูเสร็จเราติด พอเราติดเสร็จแล้วต้องจ่ายเงินให้เขา นี่ก็เป็นกระบวนการซึ่งมันทำให้เงินในกระเป๋าเราหายไปเรื่อยๆด้วยความไม่รู้ตัว เพราะเราไม่รู้เท่าทันเทคโนโลยี หรือบางทีเราไม่รู้เท่าทัน Marketing
เมื่อหลายปีก่อนในอเมริกามีบริษัทหนึ่งเขาผลิตเครื่องทำขนมปังในบ้าน ฝรั่งมีกระแส Do it yourself.ทำในบ้าน เฟอร์นิเจอร์ IKEA คนนิยมก็เพราะมาต่อกันในบ้าน ไม่ต้องซื้อสำเร็จรูปมา บริษัทนี้คิดว่าจะขายได้ดี เพราะคนเดี๋ยวนี้สนใจเรื่องสุขภาพ ทำขนมปังกินเองในบ้าน เครื่องของเขาราคา 275 dollar 8,000 กว่าบาท ปรากฏว่าขายไม่ออก ผิดคาด เขาทำยังไง เขาจ้างบริษัทที่ปรึกษามาช่วยแก้ปัญหานี้ บริษัทที่ปรึกษาแนะนำว่าให้บริษัทนี้ผลิตเครื่องทำขนมปังรุ่นใหม่ที่ใหญ่กว่าเดิมและแพงกว่าเดิม คือ 400 dollar คุณเจอคำแนะนำแบบนี้คุณคิดอย่างไร ห่วย แตกหรือเปล่า 275 ยังขายไม่ออกเลย แล้ว 400 จะขายออกได้ยังไง แต่บริษัทนี้เชื่อ ทำตามคำแนะนำของบริษัทที่ปรึกษา ผลิตออกมาเลยนะ รุ่นใหม่ 400 dollar ปรากฏว่าสินค้าเขาขายดีเลย แต่ที่ขายดีไม่ใช่ 400 ที่ขายดีคือ 275 dollar เพราะคนรู้สึกว่า 275 dollar มันถูก เพราะว่ามันมี 400 เป็นตัวเทียบ 400 กับ 275 คุณจะซื้ออะไร คุณก็ต้องซื้อ 275 จากเดิมขายไม่ออกเป็นขายดีเลย เพราะว่าคนรู้สึกว่า 275 มันถูก ทำไมรู้สึกอย่างนั้น ก็เพราะมี 400 เป็นตัวล่อ บริษัทที่ปรึกษานี่เก่ง
อาตมาเคยไปภูเก็ตเมื่อ 2 เดือนก่อน นักธุรกิจภูเก็ตก็เล่าว่า เดี๋ยวนี้คนจีนมาเที่ยวภูเก็ตกันมาก แล้วสินค้ายอดนิยมที่คนจีนซื้อมากคือหมอนยางพารา หมอนยางพารานี่มีโชว์รูมขายมากมายเต็มไปหมด และรถทัวร์คนจีนก็มาก หมอนที่ขายคนจีนนี่ราคา 8000 คนจีนซื้อกันเยอะเลย หารู้ไม่ว่าคนไทยซื้อ 700-800 แต่ทำไมคนจีนซื้อ 7,000-8,000 เพราะว่าในเมืองจีนมีโชว์รูมของบริษัทผลิตหมอนยางพาราเขาขายอันละ 20,000 คนจีนเห็นของที่เมืองจีนขาย 20,000 ของที่ภูเก็ตขาย 7,000-8,000 ไม่ซื้อได้ไง ก็ซื้อกันเพราะมันถูก แล้วถามว่าที่ไปขาย 20,000 ในเมืองจีน ขายออกไหม เขาไม่ได้สนใจ เพราะเขาไม่ได้มุ่งจะทำขาย เขามุ่งจะผลิตเพื่อเป็นตัวล่อให้ซื้อสินค้าที่เขาอยากขาย