แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
พระอาจารย์ไพศาล วิสาโล วัดป่าสุคะโต แสดงธรรมก่อนฉันเช้าวันที่ 25 มกราคม 2567
วันนี้เป็นวันพระ ชาวพุทธเราถ้าว่างก็มาวัดเพื่อทำบุญ พูดถึงเรื่องการทำบุญ เคยมีเรื่องเล่าว่า สมัยที่หลวงพ่อเฟื่อง โชติโก ยังมีชีวิตอยู่ ท่านเป็นลูกศิษย์รุ่นหลังๆ ของหลวงปู่มั่น ท่านเป็นเจ้าอาวาสอยู่ที่วัดธรรมสถิต จังหวัดระยอง มีลูกศิษย์ลูกหาเยอะวันหนึ่งก็มีโยมคนหนึ่งมากราบท่าน มาฝากตัวเป็นลูกศิษย์ แล้วเขาก็บอกว่าเขาชอบทำบุญ หลวงพ่อเฟื่องก็เลยถามว่า “เคยทำบุญที่ไหนบ้างล่ะ” เขาก็ตอบว่าเคยไปสร้างพระพุทธรูปที่วัดนั้น ช่วยสร้างเมรุที่วัดนี้ แล้วก็ทำบุญที่นั่นที่นี่อีกมากมายหลายแห่ง พอพูดจบ หลวงพ่อเฟื่องก็บอกว่า “แล้วทำไมไม่ทำที่ใจบ้างล่ะ” ชายคนนั้นอาจจะงงว่า “เอ๊ะ มีการทำบุญที่ใจด้วยเหรอ” เพราะเขานึกว่ามีแต่การทำบุญที่วัด ทำบุญที่วัดก็ทำได้ ด้วยการถวายทาน สร้างโบสถ์ สร้างวิหาร หรือว่าสร้างเมรุ สร้างหอระฆัง
ส่วนทำบุญที่ใจนี้ไม่ต้องใช้เงินอะไร แค่รู้จักปล่อย รู้จักวาง หรือว่าน้อมใจให้เป็นปกติ เราเรียกว่าภาวนา
มาทำบุญที่วัดก็ดีแล้ว แต่ก็อย่าลืมทำบุญที่ใจด้วย ทำบุญที่ใจทำอย่างไร อย่างเช่นเวลามาวัดนี้ ก็ให้วางทุกอย่าง โดยเฉพาะความคิดนึกต่างๆ เกี่ยวกับอดีตอนาคตลง เรื่องอะไรที่หนักอกหนักใจ ใครทำอะไรให้โมโห งานการอะไรที่ยังกลัดกลุ้มอยู่ วางให้หมด วางลงไว้ที่หน้าวัดเลยก็ได้ แล้วก็มาด้วยใจที่เปิดโล่ง จะได้เบา สบาย แล้วก็สงบเย็น เวลามาทำบุญถวายอาหารให้พระ ถวายสังฆทาน ใจก็จะได้รับบุญเต็มๆ ไม่ใช่ว่ามาถวายสังฆทาน มาถวายอาหาร แต่แบกเอาปัญหาต่างๆ ไม่ว่าที่บ้าน ที่ทำงาน มีความคิดต่างๆ รกหัว เรื่องราวปัญหาต่างๆ รกใจ แบบนี้บุญที่เกิดจากการถวายทานก็คงจะซึมซาบเข้าไปสู่จิตใจได้ลำบาก เหมือนกับน้ำที่มีอยู่ในแก้วเต็มเลย แก้วที่มีน้ำเต็มแถมเป็นน้ำขุ่นๆ ด้วย เติมน้ำใสลงไปเท่าไหร่ๆ มันก็ล้นออกหมด เพราะว่าน้ำขุ่นๆ มันกันเอาไว้
ฉะนั้น มาทำบุญที่วัดแล้ว ก็อย่าลืมทำบุญที่ใจด้วย แล้วถ้าทำบุญที่ใจเป็น ไม่มาวัดเพราะไม่มีเวลาหรืออะไรก็แล้วแต่ ก็ยังทำได้ที่บ้าน ที่ทำงาน ยกตัวอย่างเช่น ตื่นเช้าขึ้นมาล้างหน้า อาบน้ำ ถูฟัน ก็ให้ใจอยู่กับการล้างหน้า อาบน้ำ ถูฟัน เรื่องต่างๆ ที่มันทำความกลัดกลุ้มหนักอกหนักใจขุ่นเคืองเมื่อวาน ก็วางเอาไว้ก่อน งานการอะไรที่รออยู่ข้างหน้า ก็วางเอาไว้ก่อน โทรศัพท์ที่เปิดเอาไว้ จะมีข้อความอะไรเข้ามา มีส่งเสียงเตือนอะไรเข้ามา ก็อย่าเพิ่งไปสนใจ เอาใจอยู่กับการล้างหน้า อาบน้ำ ถูฟัน มันจะเป็นการชำระไม่ใช่แค่ชำระกายอย่างเดียว ชำระใจด้วย บางทีร่างกายสะอาด ฟันสะอาด แต่ว่าจิตใจหม่นหมอง เพราะว่ามีคราบ คราบที่สกปรกมันเกาะเต็มจิตใจ เหมือนกับแก้วน้ำที่ไม่ได้ล้างเลย มีคราบสกปรก เวลาเราเห็นแก้วน้ำแบบนี้ เราก็อยากจะล้างให้สะอาด แต่เวลาใจเรามีคราบเหล่านี้ เราไม่สนใจเลย แล้วก็ไม่รู้ด้วย
แต่วิธีง่ายๆ ก็คือว่า เวลาทำอะไรก็ตาม ตั้งแต่ตื่นนอนขึ้นมา เก็บที่นอน ล้างหน้า ถูฟัน อาบน้ำ ใจก็อยู่กับการทำสิ่งเหล่านั้น มันก็จะเป็นการช่วยขจัดคราบอารมณ์ที่มันหมักหมมอยู่ในใจออกไป แล้วก็ไม่เติมคราบสกปรกใหม่ๆ ให้กับใจด้วย แต่ถ้าเกิดว่าขณะที่เราอาบน้ำ ใจเราก็นึกถึงเหตุการณ์ที่ไม่ดี คนที่ต่อว่าด่าทอ หรือว่าความไม่สมหวัง อุปสรรคต่างๆ ที่ผ่านมา เก็บเอาไว้ เอามานึกถึง แถมยังไปนึกถึงงานการที่รออยู่ข้างหน้า โดยเฉพาะเวลากินข้าว บางทีกินข้าว ใจมันไม่อยู่กับการกินข้าวเลย เพราะว่านึกถึงสิ่งที่จะทำต่อไป เช่น จะไปคุยกับลูกน้องหรือว่าจะไปประชุม ปากก็เคี้ยวข้าว แต่ใจนี้โน่นไปแล้ว ไปอยู่ที่อื่นแล้ว อยู่ที่ทำงานแล้ว บางทีระหว่างที่คุยกับลูกน้องหรือระหว่างที่ประชุมอยู่ ใจก็นึกไปถึงสิ่งที่จะทำข้างหน้า ไม่เคยได้อยู่กับสิ่งที่กำลังทำในขณะนั้นแบบเต็มๆ เลย
ฉะนั้น ถ้าเกิดว่าเรารู้จักเอาใจอยู่กับสิ่งที่กำลังทำในปัจจุบัน ไม่ว่าจะเป็นกิจวัตรประจำวันเล็กๆ น้อยๆ หรือว่างานการที่สำคัญ วางเรื่องราวในอดีต สิ่งที่จะต้องทำในอนาคตหรือลำดับถัดไปไว้ก่อน อันนี้ก็เรียกว่าเป็นการภาวนา เป็นการทำบุญที่ใจ เพราะว่ามันช่วยลดคราบไคลออกไปจากใจ แล้วก็ไม่เติมความทุกข์ ความกลัดกลุ้มมาให้ใจ แถมยังเปิดโอกาสให้ใจได้พบกับความสดชื่น เวลาเราอาบน้ำ ถ้าใจเราอยู่กับการอาบน้ำ ความสดชื่นเวลาอาบน้ำ เวลาน้ำผ่านตัวเรา มันสดชื่น มันจะไม่ใช่แค่สดชื่นที่กาย มันสดชื่นที่ใจด้วย อันนี้เรียกว่าเป็นการเติมสุขเล็กๆ น้อยๆ ให้กับใจ ก็เป็นการเริ่มต้นวันใหม่ที่ดี เวลาเราล้างจาน ถ้าเราเอาใจมาอยู่กับการล้างจานนี้ มันจะไม่ใช่แค่ทำให้จานสะอาด ใจเราก็สะอาดด้วย เช่นเดียวกันเวลาเรากวาดบ้าน ถ้าใจเราอยู่กับการกวาดบ้าน วางอดีต วางอนาคตลง ก็เท่ากับกวาดสิ่งสกปรกไปจากใจด้วย ใจก็จะสะอาด เรียกว่า ‘ทำบุญที่ใจ’ บางทีเราก็เรียกว่า ‘อยู่กับปัจจุบัน’
ดังนั้นถ้าอยู่กับปัจจุบันเป็น คืออยู่ด้วยใจเต็มร้อย เราก็เรียกว่าเป็นการทำปัจจุบันให้ดีที่สุด
‘ทำปัจจุบันให้ดีที่สุด’ ก็คือว่าใจอยู่กับสิ่งที่กำลังทำเต็มร้อย ไม่ใช่ครึ่งๆ กลางๆ อย่างที่ว่ากินข้าวปากก็เคี้ยว แต่ใจก็นึกถึงสิ่งที่จะทำข้างหน้า หรือบางคนขณะที่กำลังฟังอยู่นี้ ตัวนั่งฟัง แต่ใจไปแล้วนึกถึงงาน งานที่จะทำ เรื่องที่จะประชุมตอนเช้าตอนบ่าย บางทีก็ฟังแบบครึ่งๆ กลางๆ อันนี้เรียกว่าไม่ได้ทำปัจจุบันให้ดีที่สุด ทำปัจจุบันให้ดีที่สุด อีกความหมายหนึ่ง ก็คือเอาใจมาอยู่กับสิ่งที่กำลังทำ คือมีสติ มีความรู้สึกตัวเต็มร้อย รวมทั้งสิ่งที่ควรจะทำก็ไม่ลืมเลือน เช่น การออกกำลังกายคือสิ่งที่ควรทำ การทำความดี การสร้างบุญสร้างกุศล การให้เวลากับครอบครัว คือสิ่งที่ควรทำ แล้วควรทำเมื่อมีโอกาส ที่เดี๋ยวนี้ได้ยิ่งดี ฉะนั้นถ้าเราไม่ทิ้งสิ่งเหล่านี้ ใส่ใจในการทำ ก็เรียกว่าเป็นการทำปัจจุบันให้ดีที่สุด ไม่ใช่ว่าทำแต่งาน จนลืมอีกหลายสิ่งหลายอย่างที่ควรทำ หรือบางทีหนักกว่านั้นเพลิดเพลินกับความสนุกสนาน ความบันเทิงเริงรมย์ จมดิ่งอยู่กับความสนุกสนานเหล่านั้น จนลืมหน้าที่การงาน ลืมสิ่งที่ควรทำ ไม่ว่ากับตนเอง กับร่างกายของตัว กับจิตใจของตัว หรือกับครอบครัว รวมทั้งคนที่เกี่ยวข้อง
ถ้าเราทำปัจจุบันให้ดีที่สุด ด้วยการที่เราไม่ลืมเลือนสิ่งที่ควรทำ ด้วยการที่เรามีสติอยู่กับสิ่งที่กำลังทำ อันนี้ก็เรียกว่าเป็นการทำบุญที่ใจ มันต้องอาศัย การรู้จักปล่อยรู้จักวาง สิ่งที่ไม่ใช่เวลา ไม่ใช่โอกาส หรือสิ่งที่ทำความทุกข์ให้กับใจ แล้วขณะเดียวกันก็ขวนขวายทำสิ่งที่สมควรทำ ไม่ปล่อยปละละเลย ฉะนั้น อยู่ที่บ้าน อยู่ที่ทำงาน ก็ทำบุญที่ใจได้ ไม่ใช่ว่าต้องมาวัด แล้วยิ่งมาวัดด้วยแล้ว ยิ่งต้องทำบุญที่ใจด้วย ไม่งั้นก็ได้ประโยชน์น้อย อานิสงส์ก็น้อย.