แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
หัวข้อการบรรยายวันนี้อยู่ในชุดเรื่องศีลธรรมกลับมา ระยะหลังนี้ได้ยินหลายคนพูดทำนองบ่นว่า นับวันจะอยู่ยากยิ่งขึ้น เพราะไหนจะมีปัญหาเรื่องสิ่งแวดล้อม ฤดูกาลแปรปรวน อากาศวิปริต มลภาวะที่เพิ่มมากขึ้น ปัญหาเศรษฐกิจที่ผันผวน รวมถึงความเป็นอยู่ที่ต้องแข่งขันกัน ซึ่งก็มีการเอารัดเอาเปรียบกันมากขึ้น ผู้คนดิ้นรนเห็นแก่ตัวกัน มิหนำซ้ำก็ยังมีข่าวคราวเกี่ยวกับเรื่องความรุนแรง ทั้งในบ้านเราเอง แล้วล่าสุดก็มีเหตุสะเทือนขวัญ การก่อการร้ายที่เกิดขึ้นในสถานที่ที่เราคิดว่าน่าจะปลอดภัย อย่างที่เป็นข่าวกันเมื่ออาทิตย์ที่แล้ว อันนี้ก็ทำให้หลายคนรู้สึกเป็นห่วง อันที่จริง ถ้าจะว่าไปแล้วปัญหาที่พูดมาเหล่านี้ล้วนแล้วแต่เป็นภาพสะท้อนของวิกฤต ไม่ใช่แค่วิกฤตด้านสิ่งแวดล้อม ไม่ใช่แค่วิกฤตด้านการเมือง แต่เป็นวิกฤตด้านจิตวิญญาณเลยทีเดียว ในความหมายที่ว่ามันเป็นอาการที่เกิดจากทัศนคติ มุมมอง และพฤติกรรมของมนุษย์ ที่ถ้าจะว่าไปแล้วก็โยงไปถึงเรื่องของประเด็นเรื่องศีลธรรม
ปัญหาความไม่มีศีลธรรมนี้ สะท้อนออกมาได้หลายประการ เช่น การเอารัดเอาเปรียบ การคดโกง การเบียดเบียน การคอรัปชั่น อันนี้เป็นข้อที่ 1 ส่วนข้อที่ 2 คือการทำให้เกิดความรุนแรงถึงขั้นทำร้ายจนกระทั่งบาดเจ็บ พิกลพิการหรือเสียชีวิต ซึ่งบางครั้งอาจจะมาในรูปของสงคราม การก่อการร้าย หรือที่เกิดขึ้นในชีวิตประจำวัน ก็คืออาชญากรรม การประหัตประหารกัน ที่เป็นข่าวกันทุกวัน อันนี้คือปรากฏการณ์ 2 ประเภทใหญ่ๆ ที่สะท้อนให้เห็นถึงปัญหาทางด้านศีลธรรม ถ้าว่าเฉพาะที่เป็นประเด็นที่สร้างความตื่นตระหนกกับผู้คนในช่วงระยะหลัง ก็คือเรื่อง“ความรุนแรง”ที่ทำร้ายถึงขั้นเอาชีวิต เลือดตกยางออก หลายคนรู้สึกว่าปัญหาความรุนแรงมันเกิดขึ้นถี่ขึ้นเรื่อยๆ ไม่ใช่แค่ในระดับประเทศ แต่เป็นระดับโลกเลย
ที่จริงเมื่อย้อนถอยหลังไปประมาณเกือบ 30 ปีที่แล้ว หรือถ้าจะระบุปี ก็คือปี 2532 หรือปีคริสตศักราช 1989 เดือนพฤศจิกายน มีเหตุการณ์ใหญ่เกิดขึ้น ก็คือเหตุการพังทลายของกำแพงเบอร์ลิน ซึ่งนำไปสู่การล่มสลายของระบอบคอมมิวนิสต์เป็นส่วนใหญ่ ที่เหลือก็เป็นคอมมิวนิสต์แต่ในนาม เช่น ประเทศจีนหรือว่าเวียดนาม ตอนนั้นก็มีความหวังกันมากว่า โลกจะกลับคืนสู่ความสงบสุขสักที เพราะว่าตราบใดที่ยังเกิดสงครามเย็นระหว่างค่ายประชาธิปไตยกับค่ายคอมมิวนิสต์ มันก็จะเกิดสงครามไปแทบทุกหนแห่งทั่วโลก บ้านเรานี่ก็เกิดการต่อสู้เช่นกัน เป็นการต่อสู้ด้วยกำลังอาวุธของขบวนการคอมมิวนิสต์ ซึ่งก็ทำให้ผู้คนล้มตายกันเป็นพัน บาดเจ็บกันเป็นหมื่น คนที่โตมาอายุ 20 อาจจะไม่เข้าใจว่า เมื่อ 30 ปีที่แล้วโลกมันวุ่นวายอย่างไรบ้าง มีความรุนแรงอย่างไรบ้าง และพอค่ายคอมมิวนิสต์ล่มสลายก็มีความหวังว่าโลกจะกลับคืนสู่ความสงบสุขเสียที เพราะว่าสงครามที่ผ่านมาจนกระทั่งแนวโน้มจะเกิดสงครามโลกครั้งที่ 3 ก็เกิดจากการต่อสู้กันระหว่างสหรัฐกับรัสเซีย ซึ่งทั้ง 2 ประเทศต่างก็มีอาวุธนิวเคลียร์กันเป็นพันๆ ลูก อันนี้พอรัสเซียกลับมาเป็นประชาธิปไตย อย่างน้อยในรูปแบบ ก็เชื่อว่าโลกจะกลับคืนสู่ความสงบสุข
มีนักวิชาการชื่อดังชาวอเมริกันถึงกับเขียนหนังสือชื่อว่า The End of History จุดจบของประวัติศาสตร์ ความหมายก็คือว่าการทะเลาะเบาะแว้งกันเชิงอุดมการณ์มันเป็นอันยุติแล้ว จบแล้ว เป็นชัยชนะของประชาธิปไตย เป็นชัยชนะของเสรีนิยม แต่อย่างที่เราทราบ หลังจากเหตุการณ์นั้นเป็นต้นมา ถึงแม้ไม่มีการต่อสู้กันระหว่างคอมมิวนิสต์กับประชาธิปไตยอีกแล้ว หรือการต่อสู้กันเบาบางมาก แต่โลกก็ยังไม่มีความสงบ แล้วก็ยังมีความรุนแรงเกิดขึ้น คราวนี้ความรุนแรงที่เกิดขึ้นไม่ใช่เป็นความรุนแรงเพราะความขัดแย้งทางอุดมการณ์การเมือง แต่กลายเป็นว่ามีเรื่องศาสนาเข้ามาเกี่ยวข้อง มีเรื่องชาตินิยมหรือชาติพันธุ์เข้ามาเกี่ยวข้อง อย่างเช่นในคาบสมุทรบอลข่าน สงครามในยูโกสลาเวีย โครเอเชีย บอสเนีย อันนี้ถ้าจำได้เมื่อ 20 กว่าปีที่แล้ว มันก็เป็นสิ่งที่ทำให้คนเริ่มจะไม่ค่อยแน่ใจแล้วว่า สันติภาพจะกลับมามีจริงได้หรือ แล้วตอนหลังก็เกิดเหตุการณ์ถล่มตึกเวิลด์เทรด ที่อเมริกา(11 กันยายน) เกิดเหตุการณ์สงครามที่อัฟกานิสถาน ที่อิรัก แล้วก็ลามมาถึงตะวันออกกลาง ซีเรีย แล้วก็เกิดการก่อการร้ายหลายจุด ขยายมาถึงภาคใต้ประเทศไทย ตอนนี้ไม่มีใครคิดแล้วว่าสันติภาพจะกลับมาโดยเร็ว กลับห่วงวิตกว่า โลกจะเกิดสงครามโลกอีกครั้งหรือเปล่า
ที่พูดมาทั้งหมดนี้จะว่าไปแล้ว มันก็เป็นปรากฏการณ์ที่สะท้อนปัญหาในเชิงศีลธรรมด้วยเหมือนกัน คราวนี้ถามว่าความรุนแรงที่เกิดขึ้นทั้งในระดับท้องถิ่น ในระดับประเทศ แล้วก็ในระดับโลก ซึ่งทำให้หลายคนปริวิตก เพราะมันไปโยงถึงเรื่องของปัญหาเศรษฐกิจ แล้วก็ปัญหาอะไรต่างๆ ตามมา ถามว่าเราจะมองปัญหาเหล่านี้อย่างไร ถ้าเราต้องการให้ศีลธรรมกลับมาจะทำได้อย่างไร เพื่อที่จะทำให้สันติภาพหรือสันติสุขกลับคืนมาสู่โลก สู่ประเทศ สู่วิถีชีวิตของเรา ถ้าจะพูดไปแล้ว ปรากฏการณ์ทั้งหลายซึ่งเรียกรวมว่า“ความรุนแรง” มันก็มีที่มาจากความโกรธ ความเกลียด อันนี้พูดแบบฟันธงเลย ไม่ว่าจะมีสาเหตุจากประการใดก็ตาม แต่ปัญหาต่างๆ เหล่านี้ ถ้ามันไม่นำมาซึ่งความโกรธ ความเกลียดต่อกันและกัน การที่จะจับอาวุธทำลายหรือฆ่าฟันกัน ก็แทบเป็นไปไม่ได้เลย แต่อาจจะตายเพราะอุบัติเหตุ ตายเพราะความเมา ตายเพราะความประมาท แต่ว่าไม่ใช่เพราะความโกรธ ความเกลียด
ทีนี้ความโกรธ ความเกลียด ซึ่งเป็นที่มาของความรุนแรง มันเกิดจากอะไร ถ้ามองในมุมของพุทธศาสนา ความโกรธ ความเกลียด ก็มีที่มามาจากรากเหง้า 3 ตัวใหญ่ๆ อันแรกคือ“ตัณหา” อันที่สองคือ“มานะ” อันที่สามคือ“ทิฐิ” บางทีเราก็ใช้ 3 ตัวนี้ “โลภะ โมหะ โทสะ” แต่ว่า“ตัณหา มานะ ทิฐิ”นี้ อธิบายปรากฏการณ์ต่างๆ ได้ดี
“ตัณหา”คือความอยาก ความอยากเสพ อยากมี อยากได้ ก็คือ“ความโลภ”นั่นแหละ เมื่อมันเกิดขึ้นแล้ว ถ้าไม่ได้อย่างที่อยาก ก็เกิดความไม่พอใจ และความไม่พอใจนั้นก็นำไปสู่ความโกรธ นำไปสู่ความเกลียดได้เหมือนกัน ตัณหาจึงอาจจะนำไปสู่การแย่งชิง ขัดแข้งขัดขา นำมาสู่ความอิจฉาริษยา ซึ่งในที่สุดก็มาลงเอยที่ความโกรธ ความเกลียด “มานะ” มานะในที่นี้ไม่ได้แปลว่าความขยัน คนไทยเราไปเข้าใจว่ามานะคือความขยัน เราจึงมักใช้คำนี้“มานะพยายาม” ที่จริงมานะนี้ก็เป็นกิเลส หลายคนไม่รู้ มาตั้งชื่อลูกว่า“มานะ” เพราะคิดว่ามานะแปลว่าพยายาม ที่จริงมานะมันคือความถือตัว ซึ่งสามารถจะทำให้เกิดความพยายามได้ เช่น เห็นคนอื่นเขาขยัน พ่ออาจจะบอกลูกว่า เราก็มีมือมีเท้าทำไมเราสู้เขาไม่ได้ อันนี้เขาเรียกกระตุ้นมานะของลูกว่า เขาก็คนเราก็คน หรือว่าเขาเป็นผู้หญิง เราเป็นผู้ชาย ทำไมเราสู้เขาไม่ได้ ก็เกิดความเพียรเกิดความพยายาม อันนี้ก็มานะ กระตุ้นมานะ เพื่อให้เกิดความพยายาม “ขัตติยมานะ”ก็เหมือนกัน แต่จริง ๆ มานะนี้ มันคือความ…มันเป็นกิเลส เรียกง่ายๆ คือ “อัตตา” “อีโก้” มานะหรือความถือตัวก็สามารถนำไปสู่ความโกรธความเกลียดได้ ที่ชัดๆ คือเวลาเราถูกด่า เราถูกต่อว่า เราโกรธใช่ไหม เพราะเรารู้สึกว่าอัตราเราถูกกระทบ เรารู้สึกว่ามานะของเรามันถูกกระแทก เมื่อใดก็ตามที่เราโกรธเมื่อถูกต่อว่า ถูกติฉินนินทา ความโกรธนี่แหละที่เกิดจากมานะ ความเสียหน้า หรือรู้สึกว่าอัตตามันถูกกระทบ มานะนี้สละยาก จำเพาะพระอรหันต์เท่านั้นถึงสละได้ พระอนาคามียังสละไม่ได้เลย เรียกเป็น“สังโยชน์”ตัวหนึ่ง แต่ว่าเราทำให้มันเบาบางได้ คือถ้าคนเราไม่ตระหนักในโทษของมานะ พอมีคนเก่งกว่าเราก็เกลียดเขาละ ไม่ต้องให้เขาด่าว่าเรา แค่เขาเก่งกว่าเรา เขาขยันกว่าเรา หรือเขาดีกว่าเรา บางทีเราก็ไม่ชอบขี้หน้าเขา เราไม่ชอบเขาเพราะเขาทำให้เรารู้สึกว่า เรานี่ด้อยกว่า ด้อยกว่าคนอื่น ธรรมชาติของมานะนี่มันต้องการบอกว่า กูเก่ง กูดี กูแน่ และต้องแน่กว่าคนอื่น ต้องดีกว่าคนอื่นด้วย ถ้ามีใครดีกว่า เก่งกว่า และถ้าเราไม่ระวังใจให้ดี มันจะเกิดมานะ คือเกิดความไม่พอใจ เกิดความอิจฉา เวลาถูกดูถูกเราโกรธ อันนี้ก็มานะ
มานะทำให้เกิดความโกรธไม่ใช่เพียงเพราะว่าถูกต่อว่าด่าทอหรือถูกดูถูก บางทีเพียงแค่รู้สึกว่าเราเหนือกว่าคนอื่น เราเลิศกว่าคนอื่น มันก็ทำให้เราโกรธเราเกลียดคนที่ต่ำกว่าเราได้ ยกตัวอย่างง่ายๆ ในสมัยฮิตเลอร์ เยอรมัน มีมานะเกิดขึ้นในระดับชาติ คือว่าคนเยอรมันถือว่าตัวเองเป็นพวกอารยัน พวกอารยันถือว่าประเสริฐ เลิศกว่าพวกยิว ซึ่งเป็นพวกเชื้อโรค เป็นพวกชั้นต่ำ ความถือตัวของคนเยอรมันว่าเป็นอารยันนี้ ก็ทำให้เกิดความเกลียดและความโกรธคนยิว ถือว่ามาทำให้เลือดอารยันไม่บริสุทธิ์ ฮิตเลอร์จึงปลุกความสำนึกเรื่องอารยันขึ้นมา เพื่อใช้เป็นเครื่องมือในการกำจัดพวกยิว สงครามก็เกิดขึ้นจากทัศนคติเช่นนี้ การทำลายคนยิว การฆ่าจำนวน 6 ถึง 8 ล้านคน ก็เกิดจากมานะความถือตัวนี้
เพราะฉะนั้นนอกจากตัณหา มานะแล้ว “ทิฐิ”ก็เหมือนกัน ทิฐิแปลว่าความเชื่อ ทิฐิในที่นี้เนี่ย ท่านไม่ได้หมายถึงทิฐิธรรมดา แต่หมายถึงความยึดมั่นถือมั่นในทิฐิความเห็นของตัว ตรงนี้เป็นรากเหง้าของความรุนแรงที่เกิดขึ้นทั้งในบ้านเมืองเราในช่วงเวลาหลายปีที่ผ่านมา แล้วก็ในระดับโลก ความขัดแย้งระหว่างสีเสื้อจนกระทั่งเกิดการปะทะ เกิดการใช้ความรุนแรงต่อกัน มันก็เป็นเรื่องของทิฐิ เหตุการณ์ความรุนแรงในภาคใต้ก็เป็นเรื่องทิฐิ มีความเชื่อเรื่องศาสนาเข้ามาเกี่ยวข้อง เมื่อยึดมั่นในทิฐิ ยึดมั่นในความเห็น ยึดมั่นในอุดมการณ์ทางการเมืองก็ดี ทางศาสนาก็ดี มันสามารถจะนำไปสู่ความโกรธความเกลียดได้ คือโกรธหรือเกลียดคนที่เห็นต่างจากเรา ไม่ต้องอื่นไกลคนในบ้านเดียวกัน พ่อกับลูก พี่กับน้อง ถ้ามีอุดมการณ์คนละอย่าง ชูธงคนละสี ก็อาจจะถึงขั้นโกรธ ทีแรกโกรธก่อน แล้วก็นำไปสู่ความเกลียด เกลียดแล้วก็ไม่พูดไม่จากัน บางทีตัดพ่อตัดลูกเลยใช่ไหม นี่ก็เป็นความรุนแรงแบบหนึ่ง อันนี้เห็นเลยว่ามันเกิดจากทิฐิ และเดี๋ยวนี้ความยึดติดในทิฐิ มันแรงถึงขั้นว่าแม้กระทั่งสายสัมพันธ์ระหว่างพ่อกับลูก พี่กับน้อง สามีกับภรรยา ก็ถูกตัดให้ขาดสะบั้นได้ มันแรงมาก ทั้งที่สมัยก่อนเขาว่าเลือดต้องข้นกว่าอยู่แล้ว เลือดมันต้องข้นกว่าน้ำ สายสัมพันธ์ต้องเข้มข้นกว่าอุดมการณ์หรือความเชื่อ แต่เดี๋ยวนี้มันตรงข้าม ความเชื่อมันแรงกว่าสายสัมพันธ์ ดังนั้นจึงมีข่าวว่า พ่อตัดลูก เพราะมีความเห็นทางการเมืองไม่ตรงกัน เพื่อนตัดเพื่อน พี่น้องตัดขาดจากกันเพราะความเห็นต่างกัน
นี่แค่ความเห็นทางการเมือง ยิ่งเป็นความเห็นหรือความเชื่อทางศาสนา มันก็ถึงขั้นทำร้ายกันได้ อันนี้เป็นรากเหง้าของความโกรธเกลียดที่นำไปสู่ความรุนแรง และเป็นตัวที่ผู้คนตระหนักถึงอันตรายของมันน้อยมาก เพราะเวลาเรามีความเชื่อ เวลาเรามีอุดมการณ์ใดหรือศาสนาใด เราก็เชื่อว่ามันคือสิ่งที่ถูกต้อง คนเวลาไปขโมยของ เขาก็รู้ว่ามันไม่ถูก คนเวลาโกงคอรัปชั่นด้วยอำนาจของตัณหา เขาก็รู้ว่ามันผิด แต่ห้ามใจไม่ได้ แต่พอเรามีความเชื่อเรื่องทิฐิ หรือเรามีความยึดติดในทิฐิแล้ว เรามั่นใจเลยว่าเราถูก มันผิด หรือว่ากูถูก มึงผิด ความคิดว่าเราถูกมันยิ่งไปเสริมไปย้ำให้เรายิ่งยึดมั่นถือมั่น แล้วก็ยิ่งเห็นอีกฝ่ายที่คิดต่างจากเรา เป็นตัวร้ายเป็นคนเลวได้ง่ายมากขึ้น และความเห็นต่างแบบนี้ แม้ศาสนาเดียวกันแต่คนละนิกาย ก็สามารถจะนำไปสู่การทำลายกันได้ ในปากีสถาน ในอิรัก คนมุสลิม 2 นิกายห้ำหั่นกัน สุหนี่กับชีอะห์ บางทีเอาระเบิดไปวางไว้ในมัสยิดของฝ่ายชีอะห์ ไอเอสก็เป็นสุหนี่ อิหร่านก็ส่งกำลังมาช่วยซีเรีย ประธานาธิบดีซึ่งเป็นชีอะห์ ซีเรีย อิหร่านก็รุมถล่มไอเอส ไอเอสก็รุมถล่มพวกชีอะห์ มุสลิมเหมือนกัน แต่ว่าพอคนละนิกายแล้วก็เห็นเป็นศัตรู อันนี้ก็เป็นตัวอย่างหนึ่งนะของความรุนแรงที่เกิดจากทิฐิ สงครามไม่ได้เกิดจากการแย่งชิงน้ำมัน แย่งชิงทรัพยากรเท่านั้น แต่อาจจะเกิดจากความเห็นหรือความเชื่อที่ต่างกันได้ ไม่ใช่แต่ความเชื่อทางการเมือง แต่รวมถึงความเชื่อทางศาสนา เพราะฉะนั้นเวลาเราพูดถึงความรุนแรง เวลาเราพูดถึงเรื่องอยากจะให้ศีลธรรมกลับมา บางทีก็ต้องกลับมาใคร่ครวญด้วยว่า ความยึดมั่นถือมั่นในศาสนาจะเป็นตัวการ หรือสามารถเป็นตัวการทำให้เกิดความไม่มีศีลธรรมได้หรือเปล่า ทิฐิ เราจะเรียกอีกอย่างหนึ่งก็ได้ว่า ความคิดคับแคบ ความคับแคบทางความคิด หรือว่าถ้าพูดให้ถูกต้อง ก็คือ “ความยึดติดถือมั่นในความคิด”
ที่จริงแล้วมัน ยังมีความ… มันยังมีทิฐิอีกหลายตัว ที่นำไปสู่ความโกรธความเกลียด เช่น การไม่เห็นโทษของความโกรธความเกลียด หรือบางทีเห็นด้วยซ้ำว่าความโกรธความเกลียดเป็นของดี อันนี้ก็เป็นทิฐิอีกแบบหนึ่ง ความเห็นหรือความเชื่อว่าถ้าจุดหมายดีจะใช้วิธีการอะไรก็ได้ อันนี้ก็เป็นทิฐิหรือความเห็นที่แพร่หลายในสังคมมาก และเป็นที่มาของความรุนแรงในสังคม จุดหมายดีจะใช้วิธีการอะไรก็ได้ จะใช้วิธีการที่ไม่ถูกต้องหรือผิดศีลก็ได้ เช่น จะจับโจรผู้ร้าย จะปราบโจรผู้ร้าย หลายคนก็มีความคิดเลยว่า ถ้ายิงมันตายโดยที่ไม่ต้องสอบสวนหรือวิสามัญฆาตกรรมไปเลย อันนี้ทำได้ คนชั่วนี่สมควรตาย การกำจัดคนชั่วเป็นความดี เป็นความถูกต้อง เพราะฉะนั้นใช้วิธีการอะไรก็ได้ ก็คือจับไปทรมานก็ได้ ยัดข้อหาก็ได้ ยัดของกลางก็ได้ หรือฆ่าไปเลยก็ได้ หลายคนก็เห็นว่าวิธีนี้ การกระทำแบบนี้ถูก ดี แต่นี่แหละคือที่มาของความรุนแรง ของความไม่มีศีลธรรมในสังคมด้วยเหมือนกัน เวลาจับโจรหรือผู้ต้องหาฆ่าข่มขืน เอาผู้ต้องหาเหล่านี้มาทำแผน ก็มีประชาชนจำนวนไม่น้อย หลายที่เลยที่เข้าไปรุมสกรัมกระทืบ บางทีกระทืบจนเขาตายเลย หลายคนก็รู้สึกว่าทำถูก เพราะคนนี้มันชั่ว มันไม่ควรอยู่ในโลกนี้ เพราะฉะนั้นกำจัดมันก็เป็นสิ่งที่ถูกต้อง ...แต่ถูกต้องจริงหรือในเมื่อไปกระทืบเขาตาย หรือไปกระทืบเขาจนบาดเจ็บ อันนี้ถูกศีลธรรมหรือผิดศีลธรรม ถ้าเราชัดเจนในเรื่องศีลธรรม เราก็จะรู้ว่าวิธีการแบบนี้ไม่ถูก ถึงแม้ว่าเขาเป็นแค่ผู้ต้องหาหรือเป็นถึงฆาตกรจริงๆ ก็ตาม การที่จะกำจัดเขาโดยวิธีใดก็ตาม โดยวิธีใดก็ได้ มันไม่ใช่เป็นความคิดที่จะนำไปสู่การส่งเสริมสันติสุขในสังคม
อันนี้เป็นตัวอย่างของความคิดแบบที่ว่า เมื่อจุดมุ่งหมายถูก ใช้วิธีการใดก็ได้ มันเป็นความคิดที่ทำให้เกิดความรุนแรงในสังคมมากที่เดียว บิลลาเดนก็คิดว่าที่เขาทำนี้จุดมุ่งหมายถูกต้อง เขาทำเพื่อพระเจ้า เพราะฉะนั้นใช้วิธีการอะไรก็ได้เพื่อทำให้จุดมุ่งหมายเขาบรรลุผล ไอเอสก็เหมือนกัน เขาเชื่อว่าจุดมุ่งหมายเขาถูกต้อง คือทำให้พระเจ้า คือทำให้ผู้คนหันมานับถือสมาทานพระเจ้าของเขา มีอาณาจักรของพระเจ้า เพราะฉะนั้นจะใช้วิธีการใดก็ได้ จะฆ่าตัดคอ จะทำร้ายใครก็ได้ เพราะว่าจุดมุ่งหมายถูกต้อง จุดมุ่งหมายนี้ดีสูงส่ง อันนี้เป็นความคิดที่เป็นรากเหง้าของความรุนแรงที่เกิดขึ้นในทุกหนแห่งในโลก