แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
หลวงพ่อฝากไว้ ลำดับที่ 97
วันที่ 12 ธันวาคม 2557
ขอให้ญาติโยมทุกคนทุกท่านจงเจริญสติ สร้างความรู้สึกรับรู้สัมผัสของลมหายใจของเราให้ชัดเจน นั่งตามสบาย วางกายให้สบาย อย่าไปเกร็งร่างกาย ฟังไปด้วย น้อมสำเหนียก
ลองสูดลมหายใจเข้าไปยาว ๆ ลึก ๆ แล้วก็ผ่อนลมหายใจออกมายาว ๆ การสูดลมหายใจยาว ผ่อนลมหายใจยาว ความนึกคิดปรุงแต่งต่าง ๆ ก็จะหยุดระงับลงได้ทันที ความรู้สึกสัมผัสของลมหายใจที่กระทบปลายจมูกของเรานั่นแหละ เขาเรียกว่า ‘สติรู้กาย’ ทีนี้เรารู้ให้ต่อเนื่องเขาเรียกว่า ‘สัมปชัญญะ’ ความพลั้งเผลอหลุดไป เราก็เริ่มขึ้นมาใหม่ พลั้งเผลอหลุดไป เราก็เริ่มขึ้นมาใหม่
การเกิดการดับของใจนั้นเขามีอยู่เดิม ถ้าเรามาสร้างความรู้ตัวตัวนี้ให้ต่อเนื่อง ใจมันก็จะคิดวิ่งไปที่โน้นที่นี่เราก็จะรู้ทัน เราก็พยายามหยุดควบคุมเอาไว้เสียก่อน จนกว่าเราจะเห็นการก่อตัว ดับตั้งแต่การเกิด มีความคิดผุดขึ้นมาโดยที่ไม่ตั้งใจคิด เขาเรียกว่า ‘อาการของใจ’ ใจจะเคลื่อนเข้าไปรวมเองจนเป็นตัวเดียวกัน ถ้าความรู้ตัวของเราต่อเนื่องประจวบเหมาะเราก็จะเห็น พอเราเห็นตรงนั้นปุ๊บ ใจมันก็จะพลิกออกความคิดตรงนั้น นี่แหละคือ ‘สัมมาทิฏฐิ’ ความเห็นถูก วิปัสสนา ความรู้จริงเปิดทาง ใจก็จะพลิกเหมือนกับหงายของที่คว่ำ ใจก็จะว่าง กายก็จะเบา
สติที่เราสร้างขึ้นมานี่ตามเห็นการเกิดการดับของความคิดที่ผุดขึ้นมาปรุงแต่งใจ บางทีก็เป็นเรื่องอดีต เขาเรียกว่า ‘อาการของสัญญา’ ความจำได้หมายรู้ ตามดู เห็นการเกิดขึ้นตั้งอยู่ดับไป ที่ท่านเปรียบเอาไว้เหมือนกับพยับแดด เวลาเราเดินตามถนนหนทางแดดร้อน ๆ เหมือนกับเปลวเพลิง เหมือนกับมีตัวมีตน เวลาเราเข้าไปใกล้ ๆ มันก็ไม่มีตัวมีตน ความคิดตัวนี้ก็เหมือนกัน เกิดขึ้น ตั้งอยู่ เวลามันดับไป อนัตตาความว่างเปล่าเข้ามาปรากฏ เรื่องใหม่ก็เกิดขึ้นมาอีก เกิดขึ้นตั้งอยู่ดับไป แต่ใจของเรานี่แหละ เขาเข้าไปรวมกันโดยที่สติที่เราสร้างขึ้นมานี้รู้ไม่ทัน เราก็รู้อยู่ตั้งแต่เขารวมกันไปแล้ว คิดไปแล้ว บางทีไม่รู้เลย ส่งเสริมกันไปเลย มันก็เลยไปทั้งก้อน
เราก็ต้องพยายามมาสังเกต มาวิเคราะห์ รู้ไม่ทันต้นเหตุก็หยุดเอาไว้ ไม่ต้องไปกลัวว่าจะไม่ได้คิด ไม่ต้องไปกลัวว่าจะไม่เห็น ไม่ต้องไปกลัวว่าจะไม่รู้ ปัญญาของเรามีทั้งร้อย ปัญญาโลก ปัญญาสมมติ อย่าเพิ่งเอามาคิด อย่าเพิ่งเอามาคิดหาเหตุหาผล เขาปิดกั้นตัวเองหมด เราต้องมาสร้างความรู้ตัวเข้าไปสังเกต เข้าไปวิเคราะห์ รู้เห็นตามทำความเข้าใจจากน้อย ๆ เปลี่ยนจากปัญญาโลกให้เป็นปัญญาธรรม คือถ้าแยกได้นี่ก็จะเป็นปัญญาธรรม
ถ้าเราทำความเข้าใจได้ตลอด นี่ก็เป็นวิปัสสนา รู้แจ้งเห็นจริง ถ้าเราละกิเลสได้ จากกิเลสหยาบกิเลสละเอียดได้ ใจของเราก็จะพัฒนาขึ้นไปเรื่อย ๆ จนกระทั่งถึงพระนิพพาน คือดับความเกิดไม่เหลือ ก็ต้องค่อยพัฒนากันไป
แต่เวลานี้กำลังสติของเราส่วนมากก็จะพลั้งเผลอ หรือไม่ค่อยจะสร้างกันเลย ทั้งที่ศรัทธาจากตัวใจนั้นเต็มเปี่ยม ปัญญาจากตัวใจจากขันธ์ห้านั้นเต็มเปี่ยม ถึงจะพิจารณาในธรรมก็ยังเป็นกิเลสธรรม ใจยังเกิดอยู่ ใจยังหลงอยู่ เราก็ต้องพยายามอดทน อดกลั้น สังเกตวิเคราะห์ทำความเข้าใจ พลั้งเผลอเริ่มใหม่ อย่าไปเกียจคร้าน ทำบ่อย ๆ ยิ่งเจริญสติไปเท่าไหร่ ยิ่งเห็นกิเลสเยอะ ยิ่งเห็นเยอะเท่าไหร่ เรายิ่งทำความเข้าใจ ทำความเข้าใจให้รู้ทุกเรื่อง
แม้แต่การเกิดของใจ การปรุงแต่งของใจนั่นแหละ เราดับตั้งแต่การก่อตัว กำลังที่ส่งจากใจก็จะเหือดแห้งไป เหือดแห้งไป เราละกิเลสบ่อย ๆ ด้วยการเจริญพรหมวิหารในสิ่งตรงกันข้าม ใจเกิดความโลภ เราก็พยายามละความโลภด้วยการให้ ด้วยการเอาออก ใจเกิดความโกรธ เราก็พยายามดับความโกรธด้วยการให้อภัย อโหสิกรรม อย่าเอามากักมาขังเอาไว้ในใจของเรา ทำให้สิ่งตรงกันข้ามกับกิเลส
ใจเราเกิด เราก็พยายามดับความเกิด ความคิดผุดขึ้นมาปรุงแต่งใจ สติตามดู ให้ใจรับรู้ ชี้เหตุชี้ผล เห็นเหตุเห็นผล ใจจะเกิดความเบื่อหน่ายเอง จนเบื่อหน่ายแล้วจนหาทางหลบหลีก หลบหลีกไม่ได้ ใจก็จะอยู่อุเบกขา เจริญสติเข้าไปอบรมใจ ชี้เหตุชี้ผล มีหมดเลย แนวทางที่พระพุทธองค์ท่านได้ค้นพบมีหมดเลย ท่านยังไม่บอกให้เชื่อด้วย ท่านว่าความคิดเก่า ๆ ที่เรามีอยู่อย่าเพิ่งเอามาคิด ให้ทำหน้าที่ตรงนี้ ให้เดินอย่างนี้เสียก่อน ให้รู้ให้เห็นเสียก่อน ท่านถึงบอกให้เชื่อ ค่อยพัฒนาสติปัญญาให้รู้แจ้งเห็นจริง ชี้เหตุชี้ผลให้รู้แจ้งเห็นจริง ว่ากายของเรานี้มีอะไรบ้างที่ท่านเรียกว่า ‘ขันธ์ห้า’ เป็นกองเป็นขันธ์ ขันธ์ของวิญญาณเป็นอย่างไร ขันธ์ของโลกเป็นอย่างไร ขันธ์ของความคิดเป็นอย่างไร ทำไมท่านถึงบอกว่าไม่เที่ยง ทำไมท่านถึงว่าทุกสิ่งทุกอย่างจบลงที่อนัตตา ความว่างเปล่า
อะไรคือสมมติ อะไรคือวิมุตติ เราต้องศึกษาให้ละเอียดในชีวิตของเรา ทุกคนเดินถึงจุดหมายได้ ถ้าถูกต้องถูกทาง หมดความสงสัยได้ แต่เวลานี้กำลังสติมันมีน้อย เพียงแค่สร้างก็ลำบาก จะเอาไปใช้ก็ลำบาก จะเอาไปประหัตประหารกิเลสมันก็ลำบาก
ตื่นขึ้นมานาทีเดียว 2 นาที 3 นาที ใจของเราส่งไปภายนอกสักกี่เรื่อง เหตุจากภายนอกมาทำให้ใจของเราเกิดสักกี่ครั้ง วันหนึ่งมีกี่ชั่วโมงล่ะ อาทิตย์หนึ่งมีกี่วันล่ะ เดือนหนึ่งมีกี่ชั่วโมง กี่วัน ปีหนึ่งล่ะ ใจมันเกิดมาตลอด มันหลงมาตลอด จะให้เขาปล่อยเขาวางได้สักนาที สองนาทีมันก็ยาก ต้องอบรม ต้องบ่ม ต้องชี้เหตุชี้ผล ขัดเกลาอยู่ตลอดเวลา จนเขามองเห็นความเป็นจริง ถ้าเขารู้ความเป็นจริงแล้ว จะให้เขาเกิดเขาก็ไม่เกิดหรอก เพราะว่าการเกิดเป็นทุกข์ การเป็นทาสของกิเลสก็เป็นทุกข์ เขาก็ไม่เอา เขาอยู่ในความสะอาด ความบริสุทธิ์ ความว่าง ว่างจากการเกิด ว่างจากขันธ์ห้า ว่างจากกิเลส ว่างอยู่ในความบริสุทธิ์ รับรู้อยู่ภายใน หนักแน่น
ในความสุข สุขภายในก็ได้ สุขข้างนอกเราก็ทำหน้าที่ของเรา บุญภายนอกบุญสมมติเราก็ทำ การชำระสะสางกิเลสเราก็พยายามละกิเลส เกิดขึ้นเมื่อไหร่เราก็พยายามละ มีอยู่เรื่องเดียวนี่แหละที่ทุกคนต้องศึกษาชีวิตของตัวเรา นอกนั้นก็เป็นอานิสงส์ผลของสมมติอาศัยอยู่ เรามาอาศัยแผนดินอยู่ ใจก็มาสร้างกายอาศัยอยู่ ก็มาหลงมายึดกายยังไม่พอ ก็ไปหลงยึด ข้างนอกอีก
สมมติก็เป็นของเรานั่นแหละ แต่ให้เป็นของเราด้วยสติด้วยปัญญา รับผิดขอบด้วยสติด้วยปัญญา อยู่ด้วยพรหมวิหารอยู่ด้วยความเมตตา ถึงวาระเราก็ต้องได้จากไป กายของเราก็ต้องได้ทิ้งลงสู่สภาพเดิม คือ ดินน้ำลมไฟ ก็ต้องพยายามกันนะ
เล็ก ๆ น้อย ๆ เราก็อย่าไปมองข้าม แม้แต่บุญน้อย ๆ เราก็อย่าไปมองข้าม คิดดี ทำดี การกระทำของเราก็ต้องถึงพร้อม การละกิเลสก็ต้องขึ้นอยู่กับตัวของเรา บอกตัวเองให้ได้ ใช้ตัวเองให้เป็น มันไม่เหลือวิสัยหรอก ถ้าไม่หลุดพ้นจริง ๆ ก็จะไปต่อเอาภพหน้าโน้น ก็ตราบใดที่ใจยังเกิดอยู่ ก็ต้องพยายามกัน
เอาล่ะวันนี้ขอเจริญธรรมเพียงเท่านี้ พากันไหว้พระพร้อม ๆ กัน พากันไปสร้างสานต่อ ทำความเข้าใจกันเอา หลวงพ่อเพียงแค่เล่าให้ฟัง