แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
หลวงพ่อฝากไว้ ลำดับที่ 81
วันที่ 29 สิงหาคม 2557
ขอให้พี่น้องเราทุกคนจงเจริญสติ สร้างความรู้สึกรับรู้สัมผัสข-องลมหายใจของเราให้ชัดเจน ให้ต่อเนื่องกันสักพักนึง ถึงเราทำไม่ต่อเนื่อง เราก็ขอให้ทำขณะที่กำลังนั่งฟังอยู่นี่แหละ หยุดความนึกคิดปรุงแต่งต่าง ๆ เอาไว้ ชั่วครั้งชั่วคราว ฟังไปด้วยแล้วก็น้อมสำเหนียก ไม่ต้องพนมมือ วางกายของเราให้สบาย
ลองสูดลมหายใจเข้าไปยาว ๆ ลึก ๆ แล้วก็ผ่อนลมหายใจออกมายาว ๆ การสูดลมหายใจยาวๆ กายของเราก็สบายขึ้นเยอะ ความรู้สึกสัมผัสของลมหายใจที่กระทบปลายจมูกของเราก็จะชัดเจน เราพยายามสร้างความรู้สึกตรงนี้แหละตั้งแต่ตื่นขึ้นมา ความรู้สึกพลั้งเผลอเริ่มใหม่ ความรู้สึกพลั้งเผลอเริ่มใหม่ ก็จะกลายเป็นสติรู้ตัวอยู่ปัจจุบัน แล้วก็สัมปชัญญะ มีความรู้ตัวทั่วพร้อม เป็นรากฐานในการวิเคราะห์ใจของเรา
ก่อนที่จะรู้ใจของเรา เรารู้หรือเปล่าว่า ความรู้สึกตัวของเราต่อเนื่องหรือไม่ ถ้าพลั้งเผลอเราก็เริ่มใหม่ ถ้าพลั้งเผลอเราก็เริ่มใหม่ ถ้ากำลังสติของเรามีมากขึ้น ๆ ๆ จนกลายเป็นความระลึกรู้ จนกลายเป็นสัมปชัญญะ แล้วก็ไปรู้เท่าทันการเกิดของใจ หรือว่าวิญญาณในกายของเรา ว่าเขาเกิดตรงไหน เขาเริ่มก่อตัวอย่างไร ไปรู้เท่าทันการเกิดของความคิดที่ผุดขึ้นมาปรุงแต่งใจ ซึ่งเรียกว่า ‘อาการของขันธ์ห้า’ ซึ่งเป็นส่วนนามธรรม
ถ้าใจของเราเคลื่อนเข้าไปรวม ถ้าเรารู้เท่าทัน ใจของเราก็จะดีดออก ในหลักธรรมท่านเรียกว่า ‘แยกรูปแยกนาม’ ‘สัมมาทิฏฐิ’ ความเห็นถูก เพียงแค่แยกได้ เห็นถูกได้ ความรู้ตัวที่เราสร้างมานี่จะตามดู เห็นการเกิดการดับ เขาเรียกว่าเห็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตาในกายของเรา รู้ เห็น ไม่ใช่ไปนึกเอา ต้องรู้ด้วย เห็นด้วย แล้วก็ตามทำความเข้าได้ด้วยทุกเรื่อง ไม่ว่าเรื่องเล็กเรื่องใหญ่ เรื่องเป็นกุศลหรือว่าอกุศล สารพัดเรื่อง เราต้องพยายามหัดตามดู รู้เห็นตามความเป็นจริง
ถ้าเราแยกได้ สังเกตได้ รู้เท่าทันจิตคลายออกได้ เราก็จะเข้าใจในคำสอนของพระพุทธองค์ ว่าท่านสอนเรื่องอะไร สอนเรื่องอัตตา สอนเรื่องอนัตตา อนิจจัง ทุกขัง อนัตตาในกายของตัวเรา วิญญาณในกายของเรา สอนเรื่องวิธีการดำเนินที่จะเข้าถึง สอนเรื่องการละกิเลส จะเอาไปแก้ไขกิเลสได้อย่างไร
แต่เวลานี้กำลังสติของเรามีน้อย มีตั้งแต่บุญ มีตั้งแต่ศรัทธา กับการทำบุญให้ทาน กับปัญญาของโลกียะ ก็เลยปิดกั้นตัวจิตเอาไว้ ทั้งที่ใจก็เป็นบุญนั่นแหละ เราพยายามมาเจริญสติให้ต่อเนื่อง ให้เชื่อมโยงทุกอิริยาบถ
ช่วงใหม่ ๆ ก็อาจจะมีการพลั้งเผลอ พลั้งเผลอเราก็เริ่มขึ้นมาใหม่ กายวิเวกเป็นอย่างนี้นะ ใจวิเวกเป็นอย่างนี้นะ การเจริญสติเป็นอย่างนี้นะ การทำให้ต่อเนื่อง อยู่คนเดียวเราก็พยายามทำ อยู่หลายคนเราก็พยายามทำ ถ้าเรารู้ เราเห็น ตามทำความเข้าใจให้ได้ทุกเรื่อง เราก็จะมองเห็นทางเดิน ว่าเราจะละกิเลสได้หรือไม่ กิเลสหยาบเป็นไง กิเลสละเอียดเป็นไง กิเลสเกิดขึ้นที่กายของเราเป็นยังไง ใจส่งเสริมหรือไม่ เราดับความเกิดที่ใจของเราได้รึเปล่า
ในคำสอนของพระพุทธองค์ มีอยู่ในกายของเราหมดเลย แต่เราขาดการทำความเข้าใจที่ต่อเนื่องเท่านั้นเอง ถ้าเรารู้เห็นต่อเนื่องแล้วตามทำความเข้าใจ กำลังสติของเราก็จะกลายเป็นมหาสติ จากมหาสติก็จะกลายมาเป็นมหาปัญญา ขัดเกลากิเลส แม้แต่ความอยาก แม้แต่นิดเดียวก็ไม่ให้เกิดขึ้นที่ใจ
ความอยาก ความยินดียินร้าย หรือว่าความเกิดนั่นแหละ ความเกิดของตัววิญญาณ ถ้าไม่หลงเขาไม่เกิด เพียงแค่การเกิดเขาก็หลง แต่เขาหลงมาเกิดมาสร้างภพของมนุษย์ มาสร้างกายเนื้อซึ่งเรียกว่า ‘ขันธ์ห้า’ ขันธ์ทั้งห้าเป็นก้อนทุกข์ ท่านว่าอย่างนั้น
เราต้องทำความเข้าใจ เหมือนกับเชือกมีอยู่ห้าเกลียว เกลียวไหนเป็นเกลียวไหน เราต้องเจริญสติเข้าไปรู้ จิตวิญญาณของเราก็เหมือนกัน กายของเราก็เหมือนกัน มีอยู่ห้ากอง ซึ่งท่านเรียกว่า กองของขันธ์ทั้งห้า ถึงพวกท่านอาจจะฟังไม่รู้เรื่อง แต่ต้องพยายามศึกษา
ถ้าเห็นได้ แยกแยะได้ ทำความเข้าใจได้นั่นแหละ เราจะเข้าใจในคำพูดของหลวงพ่อเอง ก็จะเข้าใจ แล้วไปอ่านหนังสือเล่มไหนก็จะเข้าใจ การได้ยิน ได้ฟัง ได้อ่าน การอ่านจากตำราจากครูบาอาจารย์ ก็เป็นแค่เพียงแผนที่ การพูด การสื่อความหมายก็เป็นแค่เพียงสื่อความหมายของสมมติเท่านั้นเอง
เราจงเจริญสติเข้าไปรู้กาย รู้ใจของเรา จากน้อย ๆ ไปหามาก ๆ จนเต็มรอบ อะไรเราควรละ อะไรเราควรเจริญ อะไรเราควรดำเนิน ประโยชน์ใกล้ ประโยชน์ไกล ประโยชน์ภายใน ประโยชน์ภายนอก
ประโยชน์ภายในคือ ทำใจของเราให้สะอาด ให้บริสุทธิ์ แล้วก็ยังประโยชน์ภายนอก ประโยชน์สมมติให้เกิดประโยชน์ให้มากที่สุด เท่าที่โอกาสเอื้ออำนวยให้ อยู่ก็มีความสุข ไปก็มีความสุข มองเห็นหนทางเดิน
ทุกคนเกิดมานี้ตายหมด ไม่ตายช้าก็ตายเร็ว ขณะที่ยังมีลมหายใจอยู่ เราต้องพยายามศึกษาให้ละเอียด ทำความเข้าใจให้ละเอียดว่า พระพุทธองค์ท่านสอนเรื่องอะไร ก็สอนเรื่องชีวิตของเรานั่นแหละ สอนเรื่องการดำเนินชีวิตของเรา สอนวิธีการที่จะเข้าถึง แต่คนทั่วไปนี่จะมีตั้งแต่หาสิ่งมาปกปิดตัวใจของเราเอาไว้ แม้แต่บุญ ก็ยังเป็นสิ่งที่ดี เป็นหนทางที่ดี แต่ก็ยังไม่พ้นในการดับทุกข์ได้
เราต้องมาขัดเกลา มาละกิเลส มาดับความอยาก ความอยาก ความไม่อยาก ก็มีค่าเท่ากัน แต่เราก็ดำเนินด้วยเหตุด้วยผล ด้วยสติ ด้วยปัญญา อยู่ด้วยปัญญาล้วน ๆ ถึงจะมีความสุข ก็ต้องพยายามกัน
เอาล่ะวันนี้ขอเจริญธรรมเพียงเท่านี้ พากันไหว้พระพร้อม ๆ กัน