แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
หลวงพ่อฝากไว้ ลำดับที่ 80
วันที่ 2 กันยายน 2557
ขอให้ญาติโยมเราทุกคนทุกท่านจงเจริญสติ สร้างความรู้สึกรับรู้ สัมผัสของลมหายใจที่วิ่งเข้าวิ่งออกกระทบปลายจมูกของเราให้ชัดเจน นั่งตามสบาย วางกายให้สบาย ไม่ต้องพนมมือ หยุดความนึกคิดปรุงแต่งต่าง ๆ เอาไว้ชั่วครั้งชั่วคราว ถึงเราหยุดไม่ได้ ถึงเราละไม่ได้ ฟังไปด้วย น้อมสำเหนียก
สูดลมหายใจเข้าไปยาว ๆ ลึก ๆ แล้วก็ผ่อนลมหายใจออกมายาว ๆ การสูดลมหายใจยาว ผ่อนลมหายใจยาว อย่าไปบังคับลมหายใจ กายของเราก็สบายขึ้นเยอะ ความรู้สึกสัมผัสของลมหายใจที่กระทบปลายจมูกของเรานั่นแหละเขาเรียกว่า ‘สติรู้กาย’ เวลาหายใจเข้าก็มีความรู้สึกรับรู้อยู่ หายใจออกก็มีความรู้สึกรับรู้อยู่ เราพยายามสร้างความรู้สึกตรงนี้แหละ ตั้งแต่ตื่นขึ้นมา ให้ต่อเนื่อง ให้เชื่อมโยง ถ้าความรู้ตัวของเราต่อเนื่อง ลึกลงไปแล้วก็จะรู้ลักษณะของใจ เวลาใจก่อตัว เวลาใจเกิด ใจปรุงแต่ง ใจส่งไปภายนอก เราก็จะรู้ รู้จักวิธีการ ความคิดที่ผุดขึ้นมาปรุงแต่งใจอีก ซึ่งเรียกว่า ‘อาการของขันธ์ห้า’ มีกันทุกคน
แต่เวลานี้ ความรู้ตัวของเรามีน้อย จะเอาตั้งแต่ปัญญาไปนึก ไปคิด ไปแสวงหา แล้วก็มุ่งตั้งแต่ภายนอกอย่างเดียว ขาดการน้อมเข้าไปดูรู้ภายใน ว่าใจเกิดอย่างไร ทำไมใจถึงเกิด ทำไมใจถึงหลง ใจที่ไม่มีกิเลสเป็นอย่างไร ใจที่เกิดกิเลสเป็นอย่างไร ทำไมใจถึงหลงความคิด หลงอารมณ์ จนเกิดอัตตาตัวตน แต่อัตตาทางสมมตินั่นก็มีอยู่คือกายเนื้อของเรา อีกส่วนหนึ่งก็เป็นส่วนนามธรรม
ทำอย่างไรเราถึงจะวางกายตรงนี้ได้ เราก็ต้องเจริญสติเข้าไปรู้ รู้เท่าทันการเกิดของใจ จนใจคลายออกจากความคิดด้วยกัน ซึ่งเป็นฝ่ายนามธรรม เราถึงจะรู้เรื่องอัตตา รู้เรื่องอนัตตา แต่เวลานี้กำลังสติมีน้อยเต็มที เราก็ต้องพยายาม ความฝักใฝ่ ความขยันหมั่นเพียร ความขยันหมั่นเพียรระดับของสมมติ เราก็ต้องพยายามทำให้เต็มที่
เรามีความจริงใจ เรามีความขยัน มีความรับผิดชอบ มีความเสียสละ มีสัจจะกับตัวเอง ไม่เอารัดเอาเปรียบตัวเรา ไม่เอารัดเอาเปรียบคนอื่น มองโลกในทางที่ดี คิดดี ทำดีตั้งแต่ตื่นขึ้นมา แต่ต้องให้รู้ลักษณะความรู้ตัวให้ต่อเนื่อง ‘ความรู้สึกตัว’ นี้สำคัญ เราต้องพยายามสร้างขึ้นมาให้ได้เสียก่อน พลั้งเผลอเริ่มใหม่ ๆ เราอย่าไปเกียจคร้าน
ถ้าการเจริญสติไม่มี ก็ได้แต่สร้างบารมี ทำบุญ อยู่ในระดับบุญ ความเสียสละ การขัดเกลา การละกิเลส ถ้าเราสังเกตจนใจของเราคลายออกจากขันธ์ห้าได้ ตามดู รู้ เห็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตาในขันธ์ห้าได้ทุกเรื่อง วิปัสสนาญาณถึงจะเกิด ความรู้แจ้งเห็นจริงถึงจะปรากฏ แล้วก็เกิดขึ้น เราก็ตามทำความเข้าใจ รู้ความจริงแล้วถึงจะรู้จุดปล่อย รู้จุดวาง แต่เวลานี้กำลังสติของเราต้องพยายาม
อานิสงส์ผลบุญมีกันทุกคน ถึงได้เกิดมาเป็นมนุษย์ แล้วก็มีโอกาส ได้สร้างตบะ สร้างบารมีกัน อย่าคิดว่าเราไม่มีโอกาส ทุกคนมีโอกาสถ้าเข้าใจ มีโอกาสตั้งแต่ตื่นขึ้นมา จนกระทั่งหมดลมหายใจ อะไรผิดพลาดก็รีบแก้ไข รีบแก้ไขขณะนี้ เดี๋ยวนี้ ทั้งสมมติก็รีบแก้ไข ทั้งทางด้านจิตใจก็รีบแก้ไข วิเคราะห์หาเหตุหาผล ชี้เหตุชี้ผล
แต่ละวันตื่นขึ้นมา เราทำอะไรบ้าง ใจของเราไปอย่างไรบ้าง เราสร้างประโยชน์อะไรบ้าง ประโยชน์ใกล้ ประโยชน์ไกล ประโยชน์ต่อตัวเอง ประโยชน์ต่อคนอื่น ประโยชน์ต่อส่วนรวม เราก็ต้องพยายามนะ ไม่ว่าพระ ว่าโยม ว่าชี ก็ต้องขยันหมั่นเพียรกัน หลวงพ่อก็พาทำอยู่ตลอดเวลา ทุกอย่างที่จะเป็นประโยชน์ เราก็ช่วยกันทำ
เราก็ต้องสำรวจ ตรวจตราดูตัวเราว่า แต่ละวัน ๆ ความเป็นอยู่ของเราเป็นอย่างไร จิตใจของเราเป็นอย่างไร เราขาดตกบกพร่องอะไร เรามีความรับผิดชอบอยู่ในระดับไหน รับผิดชอบต่อตัวเรา รับผิดชอบต่อส่วนรวม รับผิดชอบต่อส่วนกว้าง ทำอย่างไรถึงจะมีถึงจะเกิด เราก็ต้องขยัน เป็นคนขยันหมั่นเพียร อดทน ทุกสิ่งทุกอย่างก็จะส่งผลถึงวันข้างหน้า
ใหม่ ๆ ก็ต้องแก้ไขใจของเรา ครอบครัวของเรา จนสู่ที่ทำการทำงาน จนสู่หัวหน้าบริวารต่าง ๆ มันจะต่อเนื่องเชื่อมโยง อย่าไปปิดกั้นตัวเรา อย่าเห็นแก่ตัว จงเป็นคนขยัน ขยันแล้วก็อดทน อยู่ที่ไหน อยู่ที่วัดก็มาแก้ไขตัวเรา ตื่นเช้า นอนดึก ตื่นเช้า ขยัน หมั่นเพียร จะได้ติดเป็นนิสัย ไม่ว่าจะอยู่ที่ไหน ถ้าความเกียจคร้านเข้าครอบงำ ก็ครั้งหนึ่ง สองครั้ง สามครั้ง ช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ บอกตัวเองไม่เป็น ไปที่ไหนก็ลำบาก หนักตัวเรา หนักคนอื่น หนักสถานที่ ถ้าเรารู้จักฝักใฝ่ ขวนขวาย รู้จักสร้าง รู้จักทำ ไปที่ไหนก็มีตั้งแต่ความเจริญ ไม่ว่าจะอยู่ที่ไหน
พยายามสร้างความรู้สึกรับรู้การหายใจเข้าออกให้ชัดเจน ให้ต่อเนื่องกันสักพักนะ สักนาที สักคืบ สัก 2-3 นาที ก็ยังดี ดีกว่าไม่ได้ทำ
พากันไหว้พระพร้อม ๆ กัน พากันไปสร้างศึกษาให้รู้ทุกอิริยาบถ