แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
หลวงพ่อฝากไว้ ลำดับที่ 76
วันที่ 23 สิงหาคม 2557
ขอให้ญาติโยมเราทุกคนทุกท่านจงเจริญสติ สร้างความรู้สึกรับรู้ สัมผัสของลมหายใจ ที่วิ่งเข้าวิ่งออกกระทบปลายจมูกของเราให้ชัดเจน นั่งตามสบาย วางกายให้สบาย ไม่ต้องพนมมือ ฟังไปด้วย น้อมสำเหนียก
ลองสูดลมหายใจเข้าไปยาว ๆ ลึก ๆ ลองดูสิ แล้วก็ผ่อนลมหายใจออกมายาว ๆ อย่าไปบังคับลมหายใจ การหายใจเข้าออกยาว ๆ เป็นการผ่อนคลายกล้ามเนื้อของร่างกายได้เป็นอย่างดี กายของเราก็สบายขึ้นเยอะ สัมผัสของลมหายใจที่กระทบปลายจมูกของเรา ความรู้สึกรับรู้ว่าลมวิ่งเข้า นั่นแหละเขาเรียกว่า ‘สติรู้กาย’ ถ้ามีความรู้สึกรับรู้ว่าลมสัมผัสปลายจมูกของเขา เข้าก็รู้ ออกก็รู้ เขาเรียกว่า ‘ความต่อเนื่อง ความสืบต่อ’ เราพยายามรู้ สร้างความรู้สึกตรงนี้ ให้ต่อเนื่องให้สืบต่อ ให้ต่อเนื่อง ให้เกิดความเคยชิน
เพียงแค่เรื่องการหายใจเข้าออก รู้กายของเรา แล้วก็เราก็ไม่ค่อยจะสนใจกัน ปล่อยปละละเลย ก็เลยเอาตั้งแต่ความคิดเก่า ปัญญาเก่า ซึ่งเขาเกิดอยู่ เขาหลงอยู่ มาใช้ อาจจะถูกต้องอยู่ระดับของสมมติ แต่ยังไม่ถูกต้องในหลักของธรรม หลักของธรรมเราต้องเจริญสติ แล้วก็สร้างให้ต่อเนื่อง เอาไปใช้ เอาไปวิเคราะห์ใจของเรา รู้ไม่เท่าทันใจของเรา รู้จักควบคุม เขาเรียกว่า ‘สมถะ’ ควบคุมด้วยการอยู่กับลมหายใจบ้าง อยู่กับคำบริกรรมบ้าง พยายามฝึกให้เกิดความเคยชิน จนกว่ากำลังสติของเราจะเข้มแข็งต่อเนื่อง แล้วก็รู้ลักษณะการเกิดของใจ การก่อตัวของใจ การก่อตัวของขันธ์ห้า ของความคิดซึ่งมีอยู่ในกายเราทุกคน ความคิดเก่านั้นมีอยู่เดิม เรามาสร้างความรู้ตัวใหม่
ถ้าเราเห็นตั้งแต่การเกิด การเคลื่อนเข้าไปรวม ใจของเราก็จะดีดออกจากความคิด ซึ่งเรียกว่า ‘แยกรูปแยกนาม’ หรือเรียกว่า ‘สัมมาทิฏฐิ’ ความรู้แจ้งเห็นจริง เห็นการเกิดการดับ รู้ลักษณะของใจ รู้ลักษณะอาการของใจ ตามสติที่เราสร้างขึ้นมานี่ ตามดู เห็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ความไม่เที่ยงของความคิด เกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป นั่นแหละอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ในความหมายของพระพุทธองค์
เวลาเขาดับไป ความว่างเปล่าก็เข้ามาปรากฏ เรื่องใหม่ก็เกิดขึ้นมาอีก แล้วเขาก็รวมกันไป หลงกันไป เหมือนกับอยู่เป็นวงกลม หมุนปรุงแต่งไป ถ้าเราแยกได้ ก็เหมือนกับตัดวงกลม เพียงแค่ตัด เพียงแค่รู้แจ้งเห็นจริงตั้งแต่เริ่มแรก ถ้าขาดการตามทำความเข้าใจ เขากลับคืนสู่สภาพเดิมอีก กิเลสมารต่าง ๆ เขาก็ไม่ยอมแพ้ เขาก็หาเหตุหาผลมาโต้แย้ง กำลังสติของเราต้องตามดู ตามรู้ ตามเห็น ทุกเรื่อง จนไม่สงสัยอะไรเลยนั่นแหละ จนใจยอมรับ ยอมจำนนได้ นั่นแหละ เขาถึงจะปล่อยจะวาง ปล่อยวางได้ยังไม่พอ เราต้องมาดับความเกิดของใจ มาละกิเลสที่ใจอีก กิเลสหยาบ กิเลสละเอียด ความกังวล ความฟุ้งซ่าน ความทะเยอทะยานอยาก ทุกอย่างในชีวิตของเรา ทุกเรื่อง ส่วนมากก็จะไปมองข้าม เหมารวมกันไปทั้งกอง ไปทั้งก้อน ทั้งสติ ทั้งปัญญา ทั้งกิเลส ทั้งทุกอย่างเขาเหมารวมกันไปหมด
เราต้องมาเจริญสติเข้าไปชี้เหตุชี้ผล เห็นเหตุเห็นผล จำแนกแจกแจงให้ชัดเจน เหมือนกับเชือก มันมีอยู่ห้าเกลียว เกลียวไหนเป็นเกลียวไหน ให้มองให้ชัดเจน กายของเราก็มีอยู่ห้าขันธ์ห้ากองเหมือนกัน ซึ่งมีกองวิญญาณ ตัววิญญาณเป็นตัวขับเคลื่อน กับอาการของวิญญาณอีก รวมกันหลายสิ่งหลายอย่าง
พระพุทธองค์ท่านสอนเรื่องเหตุ สอนเรื่องผล
การพูดการจา การอ่าน การศึกษา อันนี้ก็เป็นแค่เพียงสื่อ สื่อความหมาย อุบายวิธีการเท่านั้นเอง การเจริญสติเป็นลักษณะอย่างนี้ การละกิเลสเป็นลักษณะอย่างนี้ การทำความเข้าใจ การดำเนินให้ถึงวิธีการเป็นอย่างนี้ มีหมด เราได้ยินได้ฟังกันมานาน แต่การกระทำ การดำเนินนี่ต้องทุกลมหายใจเข้าออก จนเป็นอัตโนมัติ จนไม่ได้สร้าง จนเอาไปใช้การใช้งานได้ จบกิจเราก็มีตั้งแต่ความสุข ดูแล รักษาธาตุขันธ์ของเราไปจนกว่าจะแตกจะดับ
แต่เวลานี้กำลังสติของเรามีน้อย ศรัทธาในการทำบุญนั้นมีกันเต็มเปี่ยม การฝักใฝ่ การสนใจมีกันเต็มเปี่ยม แต่การเจริญสตินี่มีบ้างไม่มีบ้าง มันจะไปรู้ได้ยังไง จะไปเข้าใจในธรรมได้ยังไง เพราะว่ามันลุ่ม ๆ ดอน ๆ อยู่ เราต้องสำรวจ ตรวจตรา แก้ไข ปรับปรุง อดทนอดกลั้น ควบคุมใจ แก้ไขใจของเรา สร้างตบะ บารมีอย่างแรงกล้า ทุกอย่าง ถึงจะถึงจุดหมายปลายทางได้ แต่ไม่เหลือวิสัย
ล้มแล้วลุกขึ้นมาใหม่ แก้ไขใหม่ ปรับปรุงตัวเราใหม่ บอกตัวเองให้ได้ ใช้ตัวเองให้เป็นอยู่ตลอดเวลา อยู่คนเดียวเราก็พยายามวิเคราะห์ใจของเรา อยู่หลายคนก็วิเคราะห์ใจของเรา บุคคลเช่นนี้แหละจะถึงฝั่งได้เร็วได้ไว สร้างความรู้สึกรับรู้ สัมผัสของลมหายใจให้ชัดเจน ให้ต่อเนื่องกันสักพักนะ
พากันไหว้พระพร้อม ๆ กัน พากันไปสร้างสานต่อ ทำความเข้าใจกันนะ