แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
หลวงพ่อฝากไว้ ลำดับที่ 75
วันที่ 21 สิงหาคม 2557
เจริญธรรมญาติโยมทุกคนทุกท่าน ขอให้ญาติโยมจงเจริญสติ ตั้งแต่ตื่นเช้าขึ้นมา เราได้สร้างความรู้ตัวแล้วหรือยัง ถ้ายังก็พยายามเริ่มเสียนะ อย่าไปปล่อยโอกาสทิ้ง อย่าไปปล่อยเวลาทิ้ง นั่งตามสบาย วางกายให้สบาย ไม่ต้องพนมมือ ฟังไปด้วย น้อมสร้างความรู้ตัว
ลองสูดลมหายใจเข้าไปยาว ๆ ลึก ๆ แล้วก็ผ่อนลมหายใจออกมายาว ๆ อย่าไปบังคับลมหายใจ ความรู้สึกสัมผัสของลมหายใจที่กระทบปลายจมูกของเรา เวลาหายใจเข้า ก็มีความรู้สึกรับรู้อยู่ หายใจออก ก็มีความรู้สึกรับรู้อยู่ อันนี้เขาเรียกว่า ‘สติรู้กาย’ เราพยายามฝึกให้เกิดความเคยชิน เพื่อที่จะเอาไปใช้การใช้งาน ฝึกให้ต่อเนื่อง เพื่อที่จะเข้าไปรู้เท่าทันใจ รู้ลักษณะของใจ รู้การเกิดการดับของใจ รู้การเกิดการดับของอาการของใจ ซึ่งเรียกว่า ‘ขันธ์ห้า’ ว่าในกายของเรานี้ มีขันธ์ห้านี้เป็นอย่างไร ซึ่งมีวิญญาณตัวสุดท้าย หรือว่าตัวใจ บางคนบางท่านก็เรียกว่า ‘ใจ’ บางคนบางท่านก็เรียกว่า ‘วิญญาณ’
ใจของเราเป็นอย่างไร ใจของเรามีความทุกข์ หรือว่าใจของเราเกิดกิเลส ทำไมใจถึงเกิด ทำไมใจถึงปรุงแต่งส่งออกไปภายนอก ทำไมใจถึงหนีไปเที่ยว ทำไมความคิดซึ่งเราไม่ตั้งใจคิด หรือว่าอาการของขันธ์ห้า เขาเป็นลักษณะหน้าตาอาการเป็นอย่างไร เราก็จะได้เจริญสติเข้าไปสังเกต เข้าไปวิเคราะห์ เข้าไปอบรมใจของตัวเราอยู่ตลอดเวลา แต่เวลานี้กำลังสติของเรามีน้อย หรือแทบไม่มีเลย มีตั้งแต่ปัญญาของโลกีย์ ปัญญาของสมมติที่เขาปกปิดตัวเองเอาไว้ ก็เลยไม่เข้าใจความเป็นจริง
เพียงแค่การเจริญ กับการสร้างให้ต่อเนื่อง อันนี้ก็พากันไม่ค่อยจะสนใจกันทำให้ต่อเนื่อง จะรู้เท่าทันใจได้อย่างไร กิเลสมารต่าง ๆ เขาก็ไม่ย่อมแพ้ง่าย ๆ เขาก็หาเหตุหาผล มาต่อสู้เหมือนกัน ขันธ์ห้าก็หาเหตุหาผลมาต่อสู้เหมือนกัน
ถ้าเรารู้จักลักษณะของสติรู้ตัวอยู่ปัจจุบัน การเจริญสติเป็นอย่างนี้ การสร้างสติที่ต่อเนื่องกันเป็นอย่างนี้ การควบคุมใจกันป็นอย่างนี้ จนกว่าใจของเราจะคลายออกจากความคิด เพียงแค่คลาย เพียงแค่เริ่มต้นมองเห็นหนทางเท่านั้นเอง
การตามทำความเข้าใจที่ต่อเนื่อง ให้รู้เรื่องทุกเรื่องอีก อันนี้ก็ยิ่งยากเข้าไปอีก ถ้าเราเห็นแล้ว แยกแยะได้แล้ว ตัวจิตวิญญาณเขาก็ยังหาเหตุหาผลมาโต้แย้ง ขันธ์ห้าก็ยังหาเหตุหาผลมาโต้แย้ง กำลังฝ่ายไหนจะมาก ฝ่ายกุศลหรืออกุศลจะมาก ถ้าแยกได้แล้ว ถ้ากำลังสติของเรา ตามดูรู้เหตุรู้ผลทุกเรื่อง จะมีตั้งแต่ความสนุกสนานในการดู ในการรู้ ว่ากิเลสตัวไหนเขาจะมาหลอกเรา
กิเลสหยาบ กิเลสละเอียด กิเลสเกิดขึ้นที่กาย หรือเกิดขึ้นที่ใจ เราตามดู รู้ เห็น ตามความเป็นจริง ถ้าเราเห็นไม่ได้ แยกไม่ได้ ก็อยู่ในระดับการสร้างบุญ สร้างบารมี มีศรัทธากันเต็มเปี่ยม แต่ปัญญาที่จะทำความเข้าใจ แล้วละกิเลสให้ถึงจุดหมาย ตรงนี้ไม่ค่อยจะมีกัน แต่ก็ไม่เหลือวิสัย ก็ต้องพยายาม
ต้องให้รู้ทุกเรื่อง ทั้งอยากทั้งไม่อยาก ทั้งการเกิดของจิตวิญญาณในกายของเรา ซึ่งเป็นส่วนของนามธรรม เราก็มองเห็นว่า ตั้งแต่เป็นรูป เป็นก้อน ก็เลยยังแยก ยังแจงไม่ได้ มันก็เลยยังยอมรับความเป็นจริงไม่ได้ ก็ยอมรับอยู่ในระดับของสมมติเท่านั้นเอง
อย่าไปทิ้งในการสำรวจใจของเรา แต่ละวันตื่นขึ้นมา ความเสียสละของเราเต็มเปี่ยมหรือไม่ สัจจะความจริง ความตั้งใจ ที่ว่าตั้งสติ อะไรคือสติ อะไรคือใจ สติใหม่ ๆ เราก็ต้องสร้าง สร้างมาเพื่อที่จะไปใช้งาน เพียงแค่การสร้างกับการทำให้ต่อเนื่อง อันนี้ก็ต้องยาก เพราะความไม่เคยชิน เวลาจะดู จะทำทีนี้ อึดอัดไปหมด ปิดกั้นตัวเองไปหมด เราต้องศึกษาให้ละเอียด
อยู่คนเดียวเราก็พยายามสังเกตใจของเรา อยู่หลายคนเราก็พยายามสังเกตใจของเรา กายของเราทำหน้าที่อย่างไร วิญญาณทำหน้าที่อย่างไร มีไม่มากหรอก ถ้าเราสนใจ ส่วนมากก็มีตั้งแต่ปัญญาของโลกีย์สนใจ ไม่ทำความเข้าใจ อยากจะได้ธรรม อยากจะรู้ธรรม มีแต่วิ่งหา มันก็ปิดกั้นตัวเองหมด ถ้าเราสร้างสติ ลักษณะของการเจริญสติเป็นอย่างนี้ กายวิเวกเป็นอย่างนี้ ใจวิเวกเป็นอย่างนี้ ใจวิเวกจากการเกิด วิเวกจากอารมณ์ วิเวกจากกิเลสเป็นอย่างนี้ ใจเกิดกิเลส เรารู้จักละ รู้จักดับได้ในระดับไหน เราจะเจริญพรหมวิหารเข้าไปทดแทนได้หรือไม่ ทุกเรื่อง ต้องทำ ไม่ใช่ว่าไม่ทำ
เพียงแค่ระดับของสมมติ เราก็พยายามทำให้ดี ในสิ่งที่เราเข้าไปยุ่งเกี่ยว ปัจจัยในสิ่งที่เราเข้าไปยุ่งเกี่ยว ที่พักที่อาศัย ที่หลับที่นอน ที่อยู่ที่กิน เราก็ต้องดูแลให้เรียบร้อย ให้บริบูรณ์ ถึงวาระเวลาเราก็ได้วางหมด แม้แต่กายเราก็ต้องได้ทิ้ง
เราศึกษาให้ละเอียด ไม่ว่าจะอยู่ที่ไหน ทำกายให้เป็นวัด ทำใจให้เป็นพระ ยิ่งคนอยู่วัด ยิ่งเป็นคนขยันหมั่นเพียร ยิ่งขยันหมั่นเพียร ยิ่งเป็นบุคคลที่มีความเสียสละ ละวางทางบ้าน ทางสมมติก็ละวางได้ระดับหนึ่ง ทีนี้เราก็มาจัดการกับจิตวิญญาณของเรา ว่ามันเกิดยังไง ไปยังไง มายังไง รับผิดชอบด้วยปัญญา ขยันหมั่นเพียรด้วยสติด้วยปัญญา ด้วยเหตุด้วยผล ก็จะเกิดประโยชน์มากมายมหาศาล พยายามนะ พยายามทำ ไม่ว่าพระ ว่าโยม ว่าชี
พระเรา ชีเราก็ขยันหมั่นเพียรกัน แต่ละวัน ๆ ก็ยังประโยชน์ ประโยชน์ใกล้ ประโยชน์ไกล ประโยชน์ในวันนี้ ประโยชน์ในวันหน้า ประโยชน์ในโลกปัจจุบัน อนาคตก็จะออกมาดีเอง แต่ละวันก็จะช่วย ๆ กัน ไม่ว่าหนัก ไม่ว่าเบา ความสะอาด ความเป็นระเบียบเรียบร้อย อย่าไปเห็นแก่ตัว ส่วนมากก็รักสกปรก ทิ้งมันเกลื่อน ทิ้งมันทั่ว แต่ชอบสะอาด เราละความสกปรกได้ เราไม่อยากจะได้ความสะอาด มันก็ได้เองนั่นแหละความสะอาด
ถ้าเราขยันหมั่นเพียร รู้จักละกิเลส รู้จักดับความเกิด รู้จักอบรมใจของเรา เราไม่อยากได้ความสงบ มันก็ได้เองนั่นแหละ เราละกิเลสได้มาก ได้น้อย ได้ในระดับปลายเหตุ กลางเหตุ ต้นเหตุ ในหลักธรรมท่านให้เอาตั้งแต่ต้นเหตุโน่น ตั้งแต่ถอนรากถอนโคนโน่น การเกิดของจิตวิญญาณ เกิดยังไง ไปยังไง มายังไง ตัวสติปัญญาเป็นลักษณะยังไง เพียงแค่สร้างกับทำให้ต่อเนื่อง ตรงนี้ก็ยังทำกันไม่ได้ จะเอาไปควบคุมใจ ไปอบรมใจ ไปวิเคราะห์ใจ ไปละกิเลสออกจากใจ ก็ยิ่งยากเข้าไปอีก
ข้อวัตรปฏิบัติจะคร่ำเคร่งมากมายถึงขนาดไหน ก็เพื่อที่จะละกิเลสออกจากจิตจากใจของเราให้มันหมด คลายความหลง คำว่า ‘ความหลง’ หลงอะไรอีก ใจของเราหลงขันธ์ห้า คำว่า ‘ขันธ์ห้า’ เป็นยังไง ที่เรียกว่าเป็นกองเป็นขันธ์เป็นยังไง ก็อยู่ในกายของเราหมด สนามรบก็อยู่ที่นี่ แนวทาง ตำรา ครูบาอาจารย์ ชี้ไปหมด พระพุทธองค์ท่านค้นพบตั้งหลายพันปีแล้ว แต่พวกเราเข้าไม่ถึงกัน ก็เลยมองไม่เห็น ก็เลยอยู่แค่เปลือกแค่กระพี้ แต่ก็ต้องอาศัยกันอยู่นะ ทั้งเปลือกทั้งกระพี้ ทั้งแก่น
เราต้องทำความเข้าใจให้หมดทุกเรื่อง ทำความเข้าใจว่าอะไรคือสมมติ อะไรคือวิมุตติ อะไรคือคำว่า ‘อัตตา’ เป็นลักษณะอย่างไร ‘อนัตตา‘ เป็นลักษณะอย่างไร การละกิเลสเป็นยังไง จะไปนึกเอา ไปคิดเอา หมดหนทางปิดกั้นตัวเองหมดนั่นแหละ ก็ต้องพยายามนะ
เอาล่ะวันนี้ขอเจริญธรรมเพียงแค่นี้ พากันไหว้พระพร้อม ๆ กัน พากันไปสร้างสานต่อ ทำความเข้าใจกันเอา